ผู้เขียน หัวข้อ: ตื่นรู้ที่ภูหลง : ฝนใจจนไร้ตัวตน  (อ่าน 1720 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



ฝนใจจนไร้ตัวตน

   วันนี้ป็นวันสุดท้ายที่พวกเราจะอยู่ที่นี่ อย่าได้ถือว่าการปฏิบัติของเรายุติเมื่อออกจากวัด ขอให้การปฏิบัติของเรายังดำเนินต่อไป เพราะว่าการปฏิบัติธรรมนั้นจะว่าไปแล้วไม่มีการกำหนดช่วงเวลา แต่จะต้องทำไปเรื่อย ๆ ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่เราก็ควรปฏิบัติธรรม เพราะเป็นสิ่งที่มีความสำคัญสำหรับชีวิตพอ ๆ กับที่เราต้องกินข้าวทุกวันและต้องหายใจทุกวินาที อาหารและอากาศจำเป็นสำหรับร่างกายฉันใด ธรรมะก็จำเป็นสำหรับจิตใจของเราฉันนั้น การบ่มเพาะดูแลจิตใจของเราให้เจริญอุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมะ เป็นสิ่งที่เราควรจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอ ถือเป็นหน้าที่ต่อชีวิต

หน้าที่ต่อชีวิตไม่ใช่มีเพียงแค่รักษาชีวิตให้รอดหรือเผยแพร่เผ่าพันธุ์เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการทำให้ชีวิตนั้นเป็นชีวิตที่ดีมีคุณภาพ มีจิตที่เป็นสุขและปลอดพ้นจากความทุกข์ ปลอดพ้นจากภัยอันตรายที่เข้ามาคุกคาม ภัยนั้นไม่ได้มีแค่ภัยทางกายแต่ยังรวมถึงภัยทางจิตใจด้วย ภัยทางจิตใจถ้าเราไม่ระมัดระวัง อาจจะเป็นอันตรายยิ่งกว่าภัยทางกาย คนเดี๋ยวนี้ถูกทำร้ายด้วยภัยทางจิตใจเยอะมาก

ภัยทางจิตใจไม่ได้เกิดจากอะไร แต่เกิดจากใจที่ไม่มีเครื่องคุ้มกันนั่นเอง คือไม่มีสติ ไม่มีสัมปชัญญะ ไม่มีปัญญา ตลอดจนคุณธรรมอื่น ๆ ขอให้เราระลึกว่าการปฏิบัติธรรมนั้นไม่ใช่การเก็บตัวอยู่แต่ในวัดหรืออยู่แต่ในการปฏิบัติตามรูปแบบเท่านั้น ที่เราปฏิบัติตามรูปแบบเป็นเพียงแค่การฝึกฝนเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการบรรลุผล แต่ว่าเรายังต้องปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ในชีวิตจริง และในโลกกว้างด้วย

นี้ก็เช่นเดียวกับการศึกษาหาความรู้ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ภายในโรงเรียน โรงเรียนเป็นสถานที่ที่จัดทำขึ้นมาเพื่อให้การเรียนรู้ของเราเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการจัดชั้นเรียน มีการจัดหลักสูตร มีการกำหนดเวลาเรียน แต่อย่าไปเข้าใจว่าจะศึกษาหาความรู้ได้เราต้องอยู่ในโรงเรียนเท่านั้น หรือต้องอยู่ในที่ที่มีการกำหนดเวลาเรียนที่แน่นอน มีหลักสูตรที่เป็นแบบแผน ผู้ที่เป็นบัณฑิตย่อมทราบดีว่าการศึกษาหาความรู้มีความหมายกว้างกว่านั้น เราสามารถศึกษาหาความรู้ได้ในทุกที่ทุกสถานทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องมีการกำหนดเวลาหรือรูปแบบที่ชัดเจนตายตัว และไม่ได้จำกัดว่าเราจะศึกษาหาความรู้เฉพาะตอนที่ยังอยู่ในวัยเรียนหรือเป็นหนุ่มเป็นสาวเท่านั้น แต่สามารถทำได้ตลอดเวลาและทุกวัย นั่นคือทำตลอดชีวิต อย่างที่มีคำกล่าวว่าการศึกษาเป็นกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต

การปฏิบัติธรรมก็เช่นเดียวกันเป็นเรื่องที่ต้องกระทำกันไปตลอดชีวิต และต้องทำตลอดเวลา ตั้งแต่ตื่นจนหลับ หรือแม้แต่ในยามหลับด้วยซ้ำ ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญเพราะว่าคนเราใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนน้อยกว่าอยู่นอกโรงเรียน ในทำนองเดียวกันคนเราใช้เวลาอยู่ในวัดปฏิบัติธรรมน้อยกว่าเวลาอยู่นอกวัด

ไม่ว่าอยู่บนท้องถนน อยู่กับบ้าน อยู่ในที่ทำงาน ล้วนเป็นสถานที่และโอกาสสำหรับการปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น ปฏิบัติธรรมก็ไม่ใช่อะไรคือการพัฒนาคุณภาพชีวิตจิตใจของตน ที่จริงต้องรวมไปถึงร่างกายด้วย เพราะว่าการปฏิบัติธรรมมีความหมายรวมไปถึงการพัฒนากายที่เรียกว่ากายภาวนา พระพุทธเจ้าได้สอนเรื่องการพัฒนาชีวิตซึ่งครอบคลุมไปถึงเรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ การเกี่ยวข้องกับอาหารหรือปัจจัยสี่ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของธรรมะทั้งสิ้น ในทางตรงกันข้ามการบริโภคตามใจปากแต่กลับเป็นโทษต่อร่างกาย หรือการบริโภคอย่างไม่รู้จักประมาณ อย่างนี้เรียกว่าไม่ได้ปฏิบัติธรรม แม้จะเป็นเรื่องทางกายล้วน ๆ ก็ตาม ดังนั้นถ้าเราเข้าใจธรรมะในความหมายนี้แล้ว ทุกเวลาทุกนาทีและทุกสถานที่ล้วนเป็นโอกาสสำหรับการปฏิบัติธรรมทั้งสิ้น

การปฏิบัติธรรมอย่างที่เรียกว่าการเจริญสติมีหลักการใหญ่ ๆ อยู่สองอย่าง คือหนึ่งเพิ่มสติให้มีมากขึ้น สองรักษาสติที่มีอยู่เดิมไม่ให้รั่วไหลหรือว่าหดหายไป เปรียบได้เหมือนกับการเติมน้ำใส่โอ่ง น้ำในโอ่งจะเต็มได้ช้าหรือเร็ว ไม่ได้อยู่ที่ว่าเติมน้ำเข้าไปมากน้อยแค่ไหน แต่ยังรวมไปถึงการรักษาน้ำในโอ่งไม่ให้ซึมหายหรือว่ารั่วไหลไปด้วย โอ่งที่มีรูรั่วแม้จะเติมน้ำเข้าไปเท่าไหร่ ๆ ก็ไม่มีวันเต็ม เราจำเป็นต้องอุดรูรั่วและระวังไม่ให้มันซึมหายไปด้วย เพราะโอ่งทำด้วยดิน น้ำซึมออกได้ วันนี้เราอาจจะเติมน้ำไปได้ครึ่งหรือค่อนโอ่ง แต่ตกค่ำนอกจากไม่ได้เติมน้ำแล้ว ยังปล่อยให้น้ำรั่วหรือซึมออก ถึงตอนเช้าโอ่งอาจไม่มีน้ำเหลือเลยก็ได้ สติก็เช่นเดียวกัน เวลามาวัดเราอาจเติมสติใส่ใจได้เยอะ แต่พอกลับบ้าน นอกจากไม่ได้ปฏิบัติธรรมเพิ่มแล้ว ยังไม่ได้ดูแลรักษาใจให้มีสติอยู่เสมอในชีวิตประจำวัน กลับปล่อยใจไปตามความรู้สึกนึกคิดที่ปรุงแต่งหรือหลงไปตามสิ่งเร้าภายนอก นั่นแหละคือการทำให้สติค่อย ๆ รั่ว ไหลหรือซึมหายไปจนเหลือเพียงนิดเดียว

เพราะฉะนั้นในชีวิตประจำวันของเราต้องทำสองอย่างนี้ควบคู่กัน นั่นคือ การเติมสติอยู่เสมอ ด้วยการปฏิบัติธรรมทั้งตามรูปแบบและนอกรูปแบบ เราอาจจะไม่มีโอกาสทำได้อย่างต่อเนื่องหรือเข้มข้นเหมือนตอนมาวัด แต่เราก็ยังสามารถเติมสติได้ในชีวิตประจำวัน เช่น ทำงานอย่างมีสติ ขับรถอย่างมีสติ อาบน้ำถูฟันอย่างมีสติ กินอาหารอย่างมีสติ ทำอะไรก็ตามให้ใส่ใจลงไปในงานนั้น อย่าทำสองอย่างพร้อม ๆ กัน คือกายทำอย่างหนึ่ง ใจไปทำอีกอย่างหนึ่ง หรือตากำลังมองรถ ส่วนปากกลับพูดโทรศัพท์ การทำสองอย่างหรือหลายอย่างพร้อม ๆ กันทำให้จิตของเราไม่สามารถมีสมาธิจดจ่ออะไรได้ บางทีมือล้างจานแต่ใจไปจดจ่ออยู่กับวิทยุ ตาดูโทรทัศน์ ปากพูดคุย ก็ทำให้ยากที่จะมีสติกับการล้างจาน หรือไม่เวลาล้างจานทีไรก็ชอบปล่อยใจลอย ทีแรกก็ตั้งใจคิด แต่นาน ๆ ไปกลายเป็นคนมีนิสัยใจลอย แม้ไม่อยากคิดมันก็คิดฟุ้งขึ้นมาโดยควบคุมไม่ได้ ถ้าทำอย่างนี้บ่อย ๆ ก็จะกลายเป็นนิสัย จนกลายเป็นคนที่มีสมาธิได้ยาก

การทำอะไรเป็นอย่าง ๆ ให้ถือหลักว่ากายอยู่ไหนใจอยู่นั่น เวลาทำอะไรก็ไม่ได้ทำด้วยกายอย่างเดียว แต่ยังทำด้วยใจด้วย อันนี้แหละจะช่วยทำให้สติของเราเพิ่มพูนขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการป้องกันไม่ให้สติรั่วไหลด้วย เวลาเจออารมณ์มากระทบก็อย่าให้มันกระแทกไปถึงใจ ให้มันหยุดที่กายเท่านั้นให้มันหยุดที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย เท่านั้นอย่าให้มันกระแทกไปถึงใจ จนจิตใจหวั่นไหวเกิดอารมณ์พลุ่งพล่าน เราสามารถฝึกใจแบบนี้ได้ในชีวิตประจำวัน แม้แต่การงานก็เป็นโอกาสสำหรับการปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี

มีเรื่องเล่าว่ามีชายหนุ่มคนหนึ่งมาหาเจ้าสำนัก ซึ่งเป็นสำนักที่ขึ้นชื่อในเรื่องการปฏิบัติธรรม เจ้าสำนักถามว่ามาทำไม ชายหนุ่มตอบว่ามาปฏิบัติธรรม เจ้าสำนักบอกว่า “ ดีแล้ว งั้นไปเข้าครัวผ่าฟืน หาบน้ำ เดี๋ยวนี้เลย” ชายหนุ่มผู้นั้นพอได้ยินอย่างนี้ก็ผิดหวัง ไม่พอใจ นึกในใจว่าฉันตั้งใจจะมาปฏิบัติธรรมแต่ทำไมให้ไปเป็นจับกัง เลยเดินออกจากสำนักไป
ชายคนที่สองมาด้วยเหตุผลเดียวกันคือจะมาปฏิบัติธรรม หลวงพ่อก็ให้ไปผ่าฟืน หาบน้ำ ทำครัว สำนักนี้การผ่าฟืน หาบน้ำ ทำครัว เป็นเรื่องใหญ่เพราะว่ามีคนเยอะมาก เขาทำได้สองสามวันก็เลิก ไปปฏิบัติธรรมในสำนักอื่นแทน

คนที่สามทำได้นานหน่อย หลังจากผ่านไปได้อาทิตย์หนึ่งก็ถามหลวงพ่อว่าเมื่อไหร่ผมจะได้ปฏิบัติธรรมเสียที หลวงพ่อก็ยังยืนยันให้เขาผ่าฟืน หาบน้ำ ทำครัวเหมือนเดิม อาทิตย์ที่สองเขาก็ถามอีก หลวงพ่อก็ยังยืนยันเหมือนเดิม เขาทำไปได้หนึ่งเดือนก็ไม่ไหว ลาจากไปด้วยความผิดหวังที่ไม่ได้ปฏิบัติธรรม

ไม่นานก็มีชายหนุ่มคนที่สี่มาที่วัด หลวงพ่อก็ถามว่ามาทำไม เขาบอกว่าไม่มีงานทำ ขอมาทำงานที่วัดจะได้มีกินมีที่คุ้มหัวนอนอยู่ หลวงพ่อก็บอกว่างั้นก็ไปผ่าฟืน หาบน้ำ ทำครัว ชายหนุ่มก็ทำตามที่หลวงพ่อบอก และช่วยงานสารพัดเท่าที่มีด้วยความตั้งใจเพราะถือว่ามาแลกข้าว แลกน้ำ แต่ในระหว่างที่ทำงานนั้นหลวงพ่อก็มาเยี่ยม แล้วบอกสั้น ๆ ว่าให้ทำด้วยความใส่ใจ กายอยู่ไหนใจอยู่นั่น ชายหนุ่มก็ทำด้วยความใส่ใจจดจ่ออย่างที่หลวงพ่อสอน ทำได้ไม่กี่เดือนก็ปรากฏว่าบรรลุธรรม เข้าใจธรรมะจากการทำงานอย่างมีสติรู้ตัวเต็มที่นั่นเอง ชายหนุ่มคนนี้ไม่ได้ตั้งใจมาปฏิบัติธรรม แต่ความที่เป็นคนซื่อ หลวงพ่อสั่งอะไรก็ทำ โดยที่เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าที่กำลังทำอยู่นั้นเป็นการปฏิบัติธรรม จึงบรรลุธรรมในที่สุด

ที่จริงหลวงพ่อไม่ได้แนะคนนี้คนเดียว สามคนก่อนหน้านี้หลวงพ่อก็แนะนำด้วย แต่สามคนนี้วางใจผิดตั้งแต่แรก เขาไม่เข้าใจว่าตอนที่หลวงพ่อบอกให้ไปหาบน้ำ ผ่าฝืน ทำครัวนั้น หลวงพ่อกำลังแนะนำให้ไปปฏิบัติธรรมแล้ว แต่สามคนแรกคิดว่าการปฏิบัติธรรมคือการนั่งหลับตาทำสมาธิอยู่ในห้องภาวนา พอหลวงพ่อพูดอย่างนั้นจึงเข้าใจว่าหลวงพ่อกำลังใช้งานเขา และตอนที่ทำงานอยู่นั้น หลวงพ่อก็แนะนำทุกคนเหมือนกันหมดว่า ว่าให้มีสติอยู่กับงาน กายอยู่ไหนใจอยู่นั่น แต่ส่วนใหญ่ยังไม่รู้อีกว่าหลวงพ่อกำลังแนะนำการปฏิบัติอยู่แล้ว จึงไม่ได้ตั้งใจทำงาน แต่ทำด้วยความทุกข์ เพราะไปวาดภาพเอาเองว่าการปฏิบัติธรรมต้องนั่งหลับตาทำสมาธิ พอไม่ได้ทำอย่างนั้นก็เลยไม่พอใจ นี่เป็นเพราะเขาไม่เข้าใจว่าทุกอิริยาบถและการทำงานทุกอย่างทุกเวลานาทีคือการปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว

การปฏิบัติธรรมนั้นจริง ๆ แล้วไม่ได้อยู่ที่ว่าทำอะไร แต่อยู่ที่ว่าทำอย่างไร ทำอะไรไม่สำคัญเท่ากับว่าทำอย่างไร ทำด้วยจิตแบบไหน จิตฟุ้งซ่านหรือจิตที่จดจ่อใส่ใจ แม้ว่านั่งขัดสมาธิหลับตาแต่ว่าทำด้วยความอยาก เช่น อยากเป็นคนวิเศษ หรือทำด้วยความรู้สึกว่าฉันนั้นแน่ ฉันเป็นคนที่ดีเลิศประเสริฐศรีกว่าไอ้พวกที่ไม่ปฏิบัติธรรม ถ้าคิดแบบนั้นก็แสดงว่าปฏิบัติผิดแล้ว ถ้ามานะหรือตัณหายังเต็มเปี่ยมล้นหัวใจ อัตตาฟูฟ่อง โดยไม่คิดจะลดจะทอนเลย อันนั้นมันก็ไม่ใช่การปฏิบัติธรรมแล้ว ในทางตรงข้ามหากทำงานอะไรก็ตาม อันนี้หมายถึงงานที่เป็นสัมมาอาชีวะนะ ถ้าทำอย่างมีสติ รู้เท่าทันตัณหา ทำด้วยความถ่อมตน ไม่เปิดช่องให้มานะหรือตัวตนฟูฟ่อง ทำด้วยความเสียสละ ก็เท่ากับว่าเป็นการปฏิบัติธรรมแล้ว ดังนั้นจึงขอให้เราเข้าใจการปฏิบัติธรรมให้ถูกต้อง และรู้จักวางใจให้เป็นไม่ว่าจะทำงานอะไรก็ตาม รวมทั้งเวลาเกี่ยวข้องกับผู้คนและวัตถุสิ่งของด้วย ถ้าวางใจได้ถูกต้องก็เป็นการปฏิบัติธรรมในตัว

จะว่าไปแล้ว ในความรู้สึกของคนทั่วไปสุขทุกข์ของคนเราก็ขึ้นอยู่กับสองอย่างนี้ คือการเกี่ยวข้องกับวัตถุและผู้คน ว่าเราเกี่ยวข้องถูกต้องหรือเปล่า ในเรื่องวัตถุคนเราจะทุกข์หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่ามีความอยากมากน้อยเพียงใด หรือว่าพลัดพรากจากสิ่งที่พึงปรารถนา ประสบกับสิ่งไม่พึงปรารถนา กับผู้คนก็เหมือนกัน การพบปะหรือพลัดพรากจากคนรักก็เป็นเหตุให้สุขหรือทุกข์ได้ แต่ความจริงแล้วไม่ใช่เฉพาะแต่วัตถุและบุคคลเท่านั้น ตัวเราเองก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ วัตถุ บุคคล และตนเอง สามอย่างนี้เป็นปัจจัยสามประการที่กำหนดสุขทุกข์ของคนเรา แต่ส่วนใหญ่แล้วมักคิดว่ามีแค่วัตถุและบุคคลเท่านั้นแหละที่ทำให้เราทุกข์ อยากได้แต่ไม่ได้ ครั้นได้แล้วพอสูญเสียไปก็ทุกข์ ต่อเมื่อได้มามาก ๆ ถึงจะเป็นสุข ถ้าได้พบปะคนที่เรารักถึงจะเป็นสุข ถ้าเจอหน้าคนที่เกลียดก็ทุกข์ หรือพลัดพรากจากคนที่เรารักก็ทุกข์ เขาชื่นชมยินดีเราก็สุข เขาตำหนิเราก็ทุกข์

แต่ว่าจริง ๆ แล้วปัจจัยที่สามนี้สำคัญมาก คือตนเอง เราเกี่ยวข้องกับตนเองอย่างไร เรารู้สึกรักตัวเองไหม เรารู้สึกดูถูกตัวเองหรือเปล่า เราเกิดความลำพองใจ เกิดความสำคัญมั่นหมายว่าฉันแน่หรือเปล่า อันนี้สำคัญ แต่ทั้งหมดทั้งปวงเมื่อสรุปรวม ๆ ไปแล้วก็คือมันเป็นเรื่องของการยึดติดว่าเรามีมากน้อยแค่ไหน ยึดติดนี่มีความหมายหลายแง่ หมายถึงการยึดติดในสิ่งนั้น ๆ ในคน ๆ นั้นว่าเป็นของเรา เมื่อสิ่งนั้นหรือคนนั้นไม่เป็นไปตามใจเราก็ทุกข์ หรือการไปยึดติดกับสิ่งที่เรายังไม่มี เห็นว่าสิ่งที่คนอื่นมีนั้นดีกว่าสิ่งที่เรามี เขามีบ้านสวยกว่า เขามีเงินมากกว่า เมื่อเอาใจไปจดจ่ออยู่แต่ตรงนั้นก็เลยรู้สึกว่าตัวเองด้อย ตัวเองมีน้อยไป ไม่มากพอ ก็เป็นทุกข์ ไปยึดติดกับพฤติกรรมของคนซึ่งสร้างความกระทบกระทั่งแก่จิตใจของเราก็ทุกข์ เกิดความโกรธไม่สามารถที่จะปล่อยวาง หรือไม่พยายามที่จะปล่อยวางเหตุการณ์ซึ่งเป็นอดีตไปแล้วก็ทุกข์ ทั้งหมดนี้เรียกว่ายึดติดกับสิ่งที่ผ่านพ้นไปแล้ว แต่บางทีก็ไปกังวลกับเรื่องที่ยังมาไม่ถึง นึกกลัวกับเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น นี่ก็ทุกข์ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นความติดยึด คือยึดติดในอดีต ในอนาคต ในวัตถุสิ่งของ หรือผู้คน
แต่ที่ลึกไปกว่านั้นคือ ความยึดติดในตัวตน ความยึดติดในตัวตนว่าเราเป็นนั่น เราเป็นนี่ มีเวทนาเกิดขึ้น ก็เสวยเวทนานั้น ไปยึดเอาว่าฉันเป็นผู้เสพเสวยเวทนานั้น แทนที่จะเห็นเวทนา แทนที่จะเห็นอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ว่ามันเกิดกับใจ ก็ไปเสพเสวย ไปยึดว่ามันเป็นเราเป็นของเรา ตรงนี้แหละเป็นตัวการที่ทำให้ทุกข์ และน่ากลัวยิ่งกว่าการพลัดพรากสูญเสียจากคนรัก จากของรัก หรือพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นรูปธรรมเสียอีก

การยึดติดสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ยึดติดเวทนาที่ไม่น่าพึงปรารถนาว่าเป็นเราเป็นของเรา ตลอดจนการยึดว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่ อันนี้เป็นตัวการสำคัญก คนอื่น สิ่งอื่นเป็นแค่ส่วนประกอบ หรือปัจจัยรอง ถ้าใจของเราไม่มีสติ ไม่มีปัญญา ลืมตัว มันก็เข้าไปยึดอะไรต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นวัตถุ บุคคล หรือตนเอง ดังนั้นเราจึงต้องมีความรู้ตัวอยู่เสมอและก็รู้เท่าทันสิ่งต่าง ๆ ที่เราเกี่ยวข้อง มีปัญญาที่จะเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เที่ยง ไม่ใช่สิ่งที่น่ายึดถือเป็นเราของเรา แม้ว่ามันจะทำให้เราเกิดความพอใจในตอนแรก แต่ก็ทำให้เกิดทุกข์ตามมา ทุกข์ไม่ได้อยู่ที่ไหน แต่แฝงเร้นอยู่ในสุขที่เรากำลังเสพนั่นเอง วันนี้อาจเป็นสุขที่ได้เสพ แต่พรุ่งนี้ก็กลับเป็นทุกข์

มีผัสสะอะไรเกิดขึ้นก็ตามให้มีสติรู้ทัน อย่าให้ปรุงเป็นเวทนาทางใจ เมื่อมีเวทนาแล้วก็อย่าเผลอเข้าไปยึดติดในเวทนานั้น หรือปรุงแต่งตัวตนเข้าไปเป็นผู้เสพเสวยเวทนานั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่าเมื่อตาเห็นรูป และมีสติในผัสสะนั้น จิตย่อมคลายกำหนัดในรูป เมื่อคลายกำหนัดไม่ยึดติดในรูป ทุกข์ที่สะสมก็สิ้นไป เมื่อไม่สั่งสมความทุกข์ บัณฑิตย่อมกล่าวว่า อยู่ใกล้นิพพาน

การมีสติรู้ในเวทนา สัญญา สังขาร ก็เช่นเดียวกัน ตลอดจนรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ธรรมารมณ์ ถ้าเราคลายกำหนัดไม่ยึดติดในอารมณ์เหล่านั้น ทุกข์ที่มีอยู่ก็สิ้นไปและไม่มีการสั่งสมทุกข์ใหม่เพิ่มเติม นี่เป็นทางแห่งพระนิพพานเลย ดังนั้นเราอย่าไปดูแคลนการเจริญสติว่าเป็นสิ่งพื้น ๆ อย่าไปคิดว่าฉันก็มีสติอยู่แล้ว จะไปปฏิบัติเพิ่มทำไม ที่จริงสติที่เรามีอยู่นั้นยังไม่พอเพียง อาจจะพอเพียงสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวันทั่ว ๆ ไป คือเมื่อไม่มีเรื่องร้ายแรงมากระทบ แต่พอคนเราเกิดวิกฤต เกิดความพลัดพราก ผันผวนปรวนแปร เจ็บไข้ได้ป่วย สติที่มีอยู่ย่อมไม่พอที่จะรับมือ ก็เลยทรุดเพราะไม่สามารถทำใจได้ หลายคนดูมีความสุขดีกับชีวิตครอบครัวและการทำงาน แต่พอคนรักตายไป ไม่ว่าจะเป็นสามี ภรรยา พ่อแม่หรือลูก หรืองานการล้มเหลว กิจการล้มละลาย เนื่องจากไม่เคยเตรียมใจไว้เลย จึงทุกข์จนแทบจะเสียผู้เสียคนไป

อันนั้นเป็นเพราะเขามีสติเพียงแค่ใช้งานได้ในชีวิตประจำวันที่ดำเนินไปตามปกติเท่านั้น แต่ว่าชีวิตของคนเราไม่ใช่ว่าจะเป็นปกติเสมอไป ความไม่ปกติมันพร้อมที่จะเกิดขึ้นทุกเวลา ดังนั้นเราจึงต้องเตรียมตัวและเรียนรู้ที่จะเผชิญกับความไม่ปกติที่เกิดขึ้นกับชีวิต ขณะเดียวกันแม้ในยามที่ชีวิตดำเนินไปตามปกติ ก็พยายามเรียนรู้และศึกษาจิตใจของตนเอง ว่าสุขทุกข์เพราะอะไร แม้จะทุกข์ไม่ถึงขั้นเสียผู้เสียคนก็ตาม แต่ถ้าเราเรียนรู้ว่า ที่เราทุกข์เป็นเพราะเราไม่มีสตินั่นเอง เป็นเพราะเราไปสำคัญมั่นหมายในตัวตนนั่นเอง เราทุกข์เพราะไปเอาความทุกข์ทั้งหลายมาเป็นของตน หรือไปยึดเอาสิ่งทั้งหลายมาเป็นของตนทั้ง ๆ ที่มันไม่เที่ยงและพร้อมที่จะขัดใจเรา ดังนั้นจึงควรรู้จักปล่อยวาง ไม่ใช่แค่ปล่อยวางสิ่งของเท่านั้น การปล่อยวางตัวตนนั่นแหละสำคัญยิ่งกว่าอะไรอื่น

เมื่อไม่มีตัวตนเสียแล้ว มันก็ไม่มีทุกข์อะไรที่จะมากระทบกระแทกได้ ถ้าเรายังยึดมั่นสำคัญหมายในตัวตน มีตัวตนเกิดขึ้น มันก็เป็นเป้านิ่งให้ทุกข์เข้ามากระทบกระแทก ถ้าไม่มีตัวตนแล้วความทุกข์มันจะไปกระแทกกับอะไร ท่านเว่ยหล่างเคยกล่าวว่า ตราบใดที่มีกระจก ก็ต้องมีฝุ่นมาเกาะกระจกอยู่ร่ำไป ถ้ามีกระจก ก็ต้องขัดถูอยู่เรื่อยไป อาตมาขอแถมอีกหน่อยว่า ถ้ามีกระจก หากหินตกลงมาก็กระแทกกระจกให้แตกได้ แต่ถ้าไม่มีกระจกล่ะ ฝุ่นก็ไม่รู้จะจับกับอะไร หินจะตกลงมาก็ไม่เดือดร้อนเพราะมันไม่มีกระจกตั้งแต่แรกแล้ว ท่านเว่ยหล่างจึงแนะให้เราฝึกจิตจนไม่มีกระจกหลงเหลือให้ฝุ่นจับ นั่นคือฝึกจิตจนไม่ปรุงแต่งตัวตนอีกต่อไป อันที่จริงตัวตนมันไม่มีตั้งแต่แรกแล้ว ที่มีก็เพราะใจหลงปรุงแต่งไปเอง


คนเราทุกวันนี้มีความสำคัญมั่นหมายในตัวตนเหมือนกับว่ามันมีอยู่จริง พอมีอะไรมากระทบก็เลยถูกตัวตนจนเป็นทุกข์ จะพยายามป้องกันไม่ให้สิ่งต่าง ๆ มาตก มากระทบ มากระแทก ก็ไม่เคยทำได้สำเร็จสักที อาจจะสำเร็จเป็นบางครั้ง แต่ในที่สุดก็หนีการกระทบกระแทกไม่พ้น เช่น เจอคำพูดที่ไม่เพราะ เจอเวทนาที่ไม่น่ายินดี เจอความพลัดพรากสูญเสีย สิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนก้อนหินที่เข้ามากระทบกระแทกตัวตนของเรา แต่ถ้าเราเห็นชัดกระจ่างจนกระทั่งไม่ปรุงแต่งตัวตนขึ้นมา มันก็ไม่มีอะไรจะมากระทบกระแทกได้ ความทุกข์มีอยู่แต่ไม่มีผู้ทุกข์ ความโกรธอาจจะมีอยู่แต่ไม่มีผู้โกรธ อารมณ์เหล่านั้นมันไม่มีที่ตั้ง มันมาแล้วก็วูบหายไป มันมาแล้วก็วูบหายไป

ขอให้เราพยายามศึกษาดูจิตดูใจของเรา จนกระทั่งเห็นต้นตอของความทุกข์ว่าอยู่ตรงนี้ มันไม่ใช่วัตถุ ไม่ใช่บุคคล แต่เป็นตัวตนต่างหากที่เป็นต้นตอของความทุกข์ เป็นเพราะความหลงก็เลยไปสำคัญมั่นหมายในตัวตน ไปยึดถือตัวตนว่ามีอยู่จริง ความยึดติดอย่างนี้เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน แปลว่าความยึดถือในความคิดว่ามีตัวตน เรียกสั้น ๆ ว่ายึดถือในตัวตนก็แล้วกัน

ตัวตนนั้นไม่มีแต่เราไปสร้างขึ้นมา แล้วก็ไปยึดถือในสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาว่ามีอยู่จริง แล้วเลยพลอยทุกข์เพราะมัน แต่ว่าขณะที่เรายังไม่สามารถที่จะคลาย ปล่อยวางจากสิ่งเหล่านี้ได้เพราะปัญญาเรายังมีไม่พอ ก็พยายามใช้สิ่งเหล่านี้ให้เป็นประโยชน์คือใช้ตัวตนให้เป็นประโยชน์ ใช้ตัณหามานะให้เป็นประโยชน์ เพราะว่าถ้าใช้เป็นประโยชน์มันก็ละตัณหา ละมานะ ละตัวตนได้ ใช้เป็นแรงขับเคลื่อนที่จะช่วยให้เราเกิดความเพียรในการปฏิบัติธรรม เกิดความตั้งใจในการทำความดี แม้กระทั่งมีมานะว่าเขาทำได้ฉันก็ทำได้ ถ้าใช้ให้เป็นก็เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะถ้าเป็นการทำความดี

เราต้องมีอุบายในการใช้สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ให้เป็นประโยชน์ ใช้กิเลสให้เป็นประโยชน์ จะทำอย่างนั้นได้เราต้องมีสติและปัญญาเข้ามาประกอบด้วย ที่จริงต้องใช้ธรรมะหลายอย่างเข้ามาประกอบกัน จะใช้สติล้วน ๆ บางทีก็เอาไม่อยู่ เวลามีคนมาด่าว่า สติอาจจะรับมือไม่ทัน ก็เลยโกรธขึ้นมา แต่ถ้าเรารู้จักให้อภัย มีเมตตาหรือความปรารถนาดี หรือเข้าใจเขา ว่าเขาอาจจะมีความกลุ้มอกกลุ้มใจ หรือมีปัญหาที่บ้าน ตกงาน เขาอาจเจ็บป่วย หรือว่าอาจจะเคยถูกกระทำไม่ดีมาก่อน เขาเลยมีความระแวงไม่ไว้ใจผู้คน หรือก้าวร้าวต่อคนอื่น ถ้าเราเข้าใจหรือเห็นใจเขาได้ เราก็ไม่ถือโทษโกรธเคืองเขา ทำให้เราปล่อยวางไม่ยึดถือในคำพูดในการกระทำของเขา ก็ทำให้เกิดเมตตามากขึ้น

เมตตาก็ดี การให้อภัยก็ดี ความอดกลั้นก็ดี ตลอดจนความเข้าใจในเหตุที่ทำให้เขาเป็นอย่างนั้น เหล่านี้เป็นธรรมะที่ช่วยลดทอนความโกรธได้ ช่วยให้เรามีสติกลับมา พอเรามีเมตตา หรือให้อภัยเขา ความโกรธลดลง สติก็ตั้งหลักได้ การจะรับมือกับเหตุการณ์เหล่านี้ เราต้องใช้ธรรมะหลายอย่างเข้ามาประกอบกัน ที่นี่ถึงแม้เราจะพูดเรื่องสติมากแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธรรมะข้ออื่นไม่สำคัญ เราต้องรู้จักเอาธรรมะข้อต่าง ๆ มาหนุนช่วยสติเพื่อให้มีพลังในการรับมือกับสิ่งที่มากระทบกระทั่ง แล้วก็เอาคุณธรรมเหล่านั้นมาใช้ในการจัดการกับตัวตนจนกระทั่งสามารถที่จะจางคลายหรือว่าปล่อยวางไม่ปรุงแต่งต่อไปได้

สิ่งเหล่านี้เราจะเรียนรู้ได้มากเลยจากชีวิตประจำวัน ไม่ว่า เมตตา การให้อภัย การรู้จักเข้าใจผู้อื่น การอยู่แต่ในห้องหรืออยู่ในกุฏิ บางทีก็ไม่เปิดโอกาสหรือกระตุ้นเร้าให้เราเอาธรรมะต่าง ๆ มาใช้กันอย่างทั่วถึงเท่าไหร่ แต่พอเราออกไปข้างนอกจะเห็นความจำเป็นของธรรมะเหล่านี้มากขึ้น

ขอฝากข้อคิดเหล่านี้เพื่อส่งเสริมการปฏิบัติธรรมของเราให้เจริญก้าวหน้ามั่นคง จนสามารถที่จะปล่อยวางความทุกข์ได้ ขอให้เป็นการปฏิบัติธรรมที่นำพาเราเข้าใกล้พระนิพพานเป็นลำดับ จนกระทั่งบรรลุถึงความสิ้นทุกข์กันทุกคน

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
Re: ตื่นรู้ที่ภูหลง : ฝนใจจนไร้ตัวตน
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 20, 2010, 10:02:50 pm »
:13: อนุโมทนาครับ ขอบคุณครับพี่มด
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~