เหนือตัวตน พ้นสมมุติ เวลาตีระฆังทำวัตรเช้า – เย็น หมาทุกตัวในวัดจะหอนเป็นจังหวะตามจังหวะระฆัง พอหยุดตีมันก็หยุดหอนไปด้วย แต่ถ้าตีเมื่อไหร่ก็หอนอีก มันคุมตัวเองไม่ได้ เห็นแล้วก็อดขำและอดสมเพชไม่ได้ที่มันกลายเป็นทาสของระฆังไปแล้ว
แต่มานึกดูให้ดีบ่อยครั้งเราก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกันนะ เพียงแต่ว่าเราอาจไม่ได้มีปฏิกิริยากับเสียงระฆัง แต่มีปฏิกิริยากับเสียงอย่างอื่นแทน เช่นเสียงดัง เสียงตำหนิ พอได้ยินคนต่อว่าเราก็ตอบโต้หรือต่อว่ากลับไปทันที มันเป็นกิริยาโดยอัตโนมัติ หรือถึงแม้ไม่พูดตอบโต้ให้ได้ยินแต่ความรู้สึกขุ่นเคืองก็ผุดขึ้นมาทันที ได้ยินปุ๊บก็โกรธปั๊บเลย เห็นไหมว่าคนเราก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน ไม่ใช่เป็นกับสัตว์เท่านั้น
ถามว่าเราเลือกที่จะไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้เสียงที่มากระทบทันทีได้ไหม เราทำได้นะถ้าฝึกใจไว้ดี เวลาหูได้ยินเสียงก็เกิดเวทนาขึ้นมา จะเป็นสุขเวทนาหรือทุกขเวทนาก็ตาม ตรงนั้นแหละถ้ามีสติ มันก็หยุดอยู่แค่เวทนา ไม่ปรุงแต่งออกไปเป็นความโกรธ ความฉุนเฉียว มันไม่ปรุงแต่งออกไปเป็นพฤติกรรมต่อว่า ผลักไส ทำร้าย
การมีสติกำกับจิตโดยเฉพาะเวลาเกิดผัสสะขึ้นมา ตอนที่ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น กายได้สัมผัส อย่างมากก็มีแค่เวทนาทางกายเกิดขึ้น แต่ไม่ปรุงแต่งเป็นเวทนาทางใจ หรือแม้ว่าจะมีเวทนาทางใจ พอมีสติเข้าไปรู้ มันก็หยุดแค่นั้น หลวงพ่อเทียนท่านเปรียบเหมือนกับเอาดินร่วนขว้างไปที่ข้างฝา พอกระทบกับข้างฝา มันก็ตกลงมา แต่ถ้าเป็นคนธรรมดา พอมีผัสสะเกิดขึ้นก็เปรียบเหมือนกับเอาดินเหนียวขว้างไปที่ข้างฝา มันก็ติดข้างฝาเลย คนส่วนใหญ่เป็นอย่างนั้นคือเมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น ก็ปรุงต่อไปเป็นตัณหา อุปาทาน เวลาได้ยินเสียงต่อว่า แทนที่จะปล่อยผ่านเลยไป ปรากฏว่าเสียงด่าก็ยังติดแน่นที่ใจ ผ่านไปเป็นวันเป็นอาทิตย์ ก็ยังไม่หลุด เก็บเอามาคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า นึกถึงทีไรเสียงก็ยังดังชัดเจนในความรู้สึกเหมือนกับเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อกี้
ไม่ใช่คำต่อว่าเท่านั้น เหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา เช่น ความพลัดพรากสูญเสีย การประสบกับสิ่งไม่น่าพอใจ เมื่อเกิดผัสสะขึ้นมาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ มันไม่ได้เกิดขึ้นแล้วดับ แต่ยังค้างคาติดตรึงในจิตใจ ผ่านไปเป็นวันก็ยังประทับแน่นอยู่ นี่แหละที่เขาเรียกว่าอุปาทานหรือความยึดติด หลวงพ่อเทียนจึงเปรียบเหมือนดินเหนียวที่ขว้างไปแล้วติดข้างฝา
แต่ถ้าเรามีสติกำกับจิต เมื่อมีผัสสะแล้ว ก็ไม่มีการปรุงแต่งยืดยาวต่อไป เมื่อตาเห็นรูป ก็สักแต่ว่าเห็น หูได้ยินเสียง ก็สักแต่ว่าได้ยิน มีอยู่แค่นั้น ไม่ปรุงแต่งเป็นความยินดีหรือยินร้าย อยากได้หรืออยากผลักไส ถ้าเป็นดิน ก็เป็นดินทรายที่พอกระทบข้างฝาก็ตกลงมาเท่านั้นเอง
ความปรุงแต่งของจิตมันเกิดขึ้นเมื่อไม่มีสติกำกับใจ โดยเฉพาะเมื่อมีผัสสะเกิดขึ้น ผัสสะเป็นขั้นตอนสำคัญไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ ย่อมเกิดเวทนาหรือความรู้สึกตามมา เช่น รู้สึกสบาย ไม่สบาย เมื่อกายเจอลมเย็นก็รู้สึกสบาย เรียกว่าสุขเวทนา เจอแดดเผาก็รู้สึกไม่สบายคือเกิดทุกขเวทนา นึกถึงคนที่เรารักก็เกิดความชื่นใจ นี่คือสุขเวทนา นึกถึงคนที่เราโกรธเกลียด ก็รู้สึกเร่าร้อนหรือเจ็บปวด นี่คือทุกขเวทนา ปัญหาคือคนเราไม่ได้ยุติแค่นี้ เมื่อไม่มีสติเข้าไปรู้ทันในเวทนา ก็จะปรุงแต่งต่อไปเป็นตัณหาคือความอยาก อะไรที่ทำให้เราชื่นใจก็อยากได้หรืออยากครอบครอง อะไรที่ทำให้เราเจ็บปวดไม่สบาย ก็อยากผลักไสออกไป หรืออยากให้สภาพเช่นนั้นหมดไป ถือว่าเป็นตัณหาด้วยเหมือนกัน เรียกว่าวิภวตัณหา
พอเกิดตัณหาแล้ว ถ้าปล่อยเลยตามเลย ก็จะปรุงแต่งต่อไปเป็นอุปาทานคือความยึดติด เช่น อยากได้อะไร ก็เฝ้านึกถึงสิ่งนั้น คิดหาหนทางให้ได้มา บางทีหลับไปแล้วก็ยังฝันถึงสิ่งนั้น ชอบใครก็นึกถึงแต่คนนั้น พยายามทุกอย่างเพื่อจะได้อยู่ใกล้เขา เห็นหน้าเขา หรือแม้แต่เห็นหลังคาบ้านเขาก็ยังดี ในทางตรงกันข้าม เกลียดใครก็เฝ้าแต่นึกคิดถึงคนนั้น ทั้ง ๆ ที่ทุกข์แต่ก็ยังวนเวียนคิดถึงคนนั้น โกรธใคร เศร้าโศกเสียใจเรื่องอะไร ก็จะวนคิดถึงเรื่องนั้น อุปาทานมันทำให้ติดแน่นในใจ กินข้าวก็คิด อาบน้ำก็คิด นอนก็คิด นี่คืออาการของอุปาทานหรือความยึดติด
กระบวนการปรุงแต่งของจิตเริ่มต้นมาจากการที่ไม่มีสติเมื่อเกิดผัสสะขึ้นมา แต่ถ้าเรามีสติทันทีที่เกิดผัสสะ มันก็ไม่ปรุงแต่งเป็นเวทนาโดยเฉพาะเวทนาทางใจ หรือเมื่อเวทนาเกิดขึ้นแล้วถึงค่อยมีสติ มันก็หยุดอยู่แค่นั้น ไม่ปรุงต่อ เหมือนกับว่าสะเก็ดไฟเกิดขึ้นแล้ว้ แต่ไม่มีเชื้อ ก็เลยไม่ลามต่อไปหรือลุกเป็นเปลว มันหยุดแค่นั้น ปล่อยไว้ไม่นานก็ดับ แต่ถ้ามีเชื้อ สะเก็ดไฟก็จะลามหรือลุกเป็นเปลว ตอนนี้แหละที่อารมณ์เกิดขึ้นต่อจากเวทนา ถ้ายังมีเชื้ออีก ไฟก็จะโหมไหม้ เวลาเกิดอารมณ์ขึ้นแล้ว โดยเฉพาะอารมณ์ที่เป็นอกุศล ถ้าปล่อยให้มันปรุงแต่งหรือลุกลามต่อไป ก็จะกลายเป็นพายุอารมณ์ที่เผาไหม้จิตจนไม่อยากจะอยู่ในโลกนี้ นี่เป็นเพราะไม่มีสติรักษาใจ
ทีนี้ถ้าไม่มีสติ มันก็จะปรุงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเกิดความรู้สึกยึดมั่นเป็นตัวเป็นตนขึ้น ความรู้สึกยึดมั่นเป็นตัวตนหมายความว่าอย่างไร ก็หมายความว่า เกิดความรู้สึก “ตัวกู ของกู”ขึ้นมา เช่น เมื่อความโกรธเกิดขึ้น แทนที่จะมีสติเห็นความโกรธ เราลืมตัวก็เลยไปสำคัญมั่นหมายว่า ฉันโกรธ หรือฉันเป็นผู้โกรธ นี่เรียกว่าตัวตนเกิดขึ้นแล้ว ตรงนี้แหละที่ทางพระเรียกว่า “ชาติ” เกิดขึ้นแล้ว คือเกิดความรู้สึกว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ นี้เป็นเพราะไม่มีสติเห็นอารมณ์ที่เกิดขึ้น เลยเข้าไปยึดและปรุงจนเกิดตัวตนขึ้นมาว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ หรือมีตัวฉันเข้าไปเป็นเจ้าของอารมณ์เหล่านั้น แต่ถ้ามีสติ ก็เพียงแค่เห็นเฉย ๆ การปรุงว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ก็ไม่เกิดขึ้น ถ้าเห็นความโกรธ ผู้โกรธก็ไม่เกิดขึ้น เห็นความโกรธกับเป็นผู้โกรธต่างกันมากนะ เห็นความเศร้ากับเป็นผู้เศร้าก็ต่างกันมากเช่นกัน
มีผู้หญิงคนหนึ่งปฏิบัติกับหลวงพ่อคำเขียน พอทำไปได้สองสามวันก็มาปรึกษาหลวงพ่อว่า “ทำอย่างไรดี หนูเครียดจังเลย” เธอทำด้วยความตั้งใจมากจึงเครียด หลวงพ่อไม่ตอบแต่บอกว่า “ ถามไม่ถูก ให้ถามใหม่ ” เธอได้คิดขึ้นมาเพราะว่าฟังเทศน์หลวงพ่อมาหลายวันแล้ว จึงถามใหม่ว่า “ทำอย่างไรดี ในใจหนูมีความเครียดมากเลย”
มันต่างกันนะ “หนูเครียดจังเลย” กับ “ในใจหนูมีความเครียดมากเลย” ประโยคแรกแสดงว่าเข้าไปเป็นผู้เครียดแล้ว แต่ประโยคที่สองแสดงว่าเขาเห็นความเครียด แต่อาจเป็นเพราะยังเห็นไม่ตลอด เห็นแล้วยังเผลอเข้าไปเป็น เป็นเช่นนี้บ่อย ๆ ก็เลยทุกข์ แต่ก็ยังดีที่พอเห็นอยู่บ้าง แต่ถ้าเห็นล้วน ๆ ไม่เข้าไปเป็นเลยก็จะไม่ทุกข์เท่าไหร่ นี่แหละ “ผู้เห็น” กับ “ผู้เป็น” มันต่างกัน ถ้าเราเข้าไปเป็นแล้วแสดงว่าตัวกูเกิดขึ้นแล้ว ความรู้สึกยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าตัวกูเกิดขึ้นแล้ว พอตัวกูเกิดขึ้น ความรู้สึกว่าเป็นของกูก็ตามมา เช่น เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ปรุงไปเป็นผู้โกรธ ทีนี้ก็จะไปยึดเอาความโกรธเป็นของฉันด้วย
การเกิดที่ว่ามาเป็นการเกิดทางจิตใจซึ่งเกิดขึ้นได้มากมายวันละหลายครั้ง ตรงข้ามกับการเกิดเป็นรูปเป็นร่างซึ่งเกิดได้เพียงครั้งเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือการเกิดทางกายและทางใจต้องอาศัยพ่อและแม่ พระพุทธเจ้าเรียกตัณหาและมานะว่าเป็นพ่อและแม่ มีพระรูปหนึ่งบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ แล้วมาทูลลาพระพุทธเจ้า เมื่อพระรูปนั้นเดินออกไปก็มีพระกลุ่มใหม่เข้ามาเฝ้าพระพุทธเจ้า พระองค์ตรัสกับพระกลุ่มนี้ว่า พระที่เพิ่งเดินผ่านไปนั้นบรรลุธรรมแล้วเพราะได้ฆ่าพ่อฆ่าแม่ พระที่ได้ยินก็ตกใจว่าฆ่าพ่อฆ่าแม่แล้วจะบรรลุธรรมได้หรือ พระพุทธเจ้าก็อธิบายว่าท่านได้ฆ่าตัณหาและมานะแล้ว
ตัณหาและมานะเปรียบเสมือนพ่อและแม่ เพราะเป็นปัจจัยทำให้เกิดตัวตนขึ้นมา เป็นเพราะตัณหาและมานะ จึงเกิดความรู้สึกเป็นตัวกูของกูขึ้นมา เกิดความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ และถือเอาสิ่งนั้นสิ่งนี้มาเป็นของฉันตลอดเวลา นอกจากความรู้สึกว่าเป็นผู้ทุกข์ ผู้เศร้า แล้ว ความรู้สึกฉันเป็นพ่อเป็นแม่ เป็นนักปฏิบัติ เป็นพระ เป็นผู้ชนะหรือเป็นผู้แพ้ ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับความรู้สึกเป็นตัวกูของกู และขึ้นชื่อว่าตัวกูของกู เกิดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็เป็นทุกข์เมื่อนั้น ทุกข์ก็เพราะว่าความรู้สึกสำคัญมั่นหมายนั้นมีกิเลสเจือปนอยู่เสมอ คืออยากให้เป็นไปตามใจฉัน พอมันไม่เป็นไปตามใจฉันก็ทุกข์ เช่นเป็นผู้ชนะ ดูเผิน ๆ ก็มีความสุขดี แต่ลึก ๆ ก็มีความหวั่นกลัวว่าความเป็นผู้ชนะจะถูกแย่งชิงไป เห็นใครเก่งกว่าก็ทุกข์ขึ้นมาทันทีเพราะรู้สึกถูกคุกคาม รู้สึกว่าตัวเองจะสูญเสียความเป็นผู้ชนะไป เห็นไหมว่าไม่ใช่ผู้แพ้เท่านั้นที่ทุกข์ เป็นผู้ชนะก็ทุกข์
เป็นพ่อเป็นแม่ก็ทุกข์เวลาลูกพูดจาไม่ดีกับตน หรือเป็นทุกข์เมื่อลูกไม่เป็นไปตามใจตน นี่เป็นเพราะยังมีกิเลสและอุปาทานของความเป็นแม่อยู่ บางคนถึงกับฆ่าตัวตายเพราะลูกไม่พูดไม่คุยด้วย ลูกเอาแต่อยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ แม่จะพูดอย่างไรก็ไม่สนใจ แม่ขู่ว่าจะโดดตึกลูกก็ยังไม่สนใจ แม่ก็เลยน้อยใจโดดตึกตาย ตายเพราะว่ายึดมั่นในความเป็นแม่มาก จึงมีความอยากจะให้ลูกปฏิบัติกับตนอย่างนั้นอย่างนี้ แต่พอลูกไม่ทำตาม ความเป็นแม่ก็ถูกกระทบอย่างแรง จนทนไม่ได้อีกต่อไป
เป็นอะไรก็ตามก็ทุกข์ได้ทั้งนั้น เป็นพระก็ทุกข์เวลาญาติโยมพูดจาไม่มีสัมมาคารวะ แค่เขาไม่กราบไม่ไหว้เราก็ไม่พอใจแล้ว นึกในใจว่า เอ๊ะ ฉันเป็นพระนะ เธอเป็นฆราวาสทำไมไม่ไหว้ฉัน อาการอย่างนี้เกิดขึ้นเพราะไปยึดมั่นสำคัญหมายในความเป็นพระโดยมีกิเลสเจือปนอยู่ด้วย และถ้าสังเกตให้ดีความยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นนั่นเป็นนี่ มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา อยู่ในวัดฉันเป็นนักปฏิบัติธรรม พอออกไปในหมู่บ้าน เจอชาวบ้าน ก็เกิดความรู้สึกว่าฉันเป็นคนเมือง แต่ถ้าไปเจอฝรั่งหรือญี่ปุ่น ความรู้สึกว่าฉันเป็นคนไทยก็เกิดขึ้นแทนที่ กลับไปบ้านเจอลูก ก็เกิดความรู้สึกว่าเป็นพ่อแม่ เห็นไหมว่า ความรู้สึกเป็นนั่นเป็นนี่มันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ความเป็นฉันมันไม่เที่ยง และไม่ใช่ตัวตนก็เพราะเหตุนี้
ที่ว่าตัวตนเป็นสิ่งที่สมมุติขึ้นมาก็เพราะเหตุนี้ แต่เราไม่รู้ เรานึกอยู่เสมอว่าตัวฉันนั้นมันเที่ยง หรือมีอยู่จริง ๆ แต่ความจริงแล้วมันเป็นสิ่งที่ถูกปรุงขึ้นในใจเราสุดแท้แต่เหตุปัจจัย เช่น ไปเจอคนต่างชาติต่างภาษา ความรู้สึกว่าฉันเป็นคนไทยก็เกิดขึ้น แต่พอเจอคนใต้ ความรู้สึกว่าฉันเป็นคนกรุงเทพ ฯ หรือคนอีสานก็เกิดขึ้น แม้แต่คนอีสาน พอมาเจอกัน ความรู้สึกว่าฉันเป็นคนชัยภูมิก็เกิดขึ้น หากว่าอีกคนเป็นคนขอนแก่น เราปรุงเราสร้างความเป็นตัวฉันอยู่ตลอดเวลาสุดแท้แต่เหตุปัจจัย อันนี้แหละที่เราเรียกว่าตัวตนเป็นสิ่งสมมุติ เพราะมันไม่ได้มีอยู่จริง แต่เกิดจากการปรุงแต่ง ความปรุงแต่งเหล่านี้เราไม่รู้ทัน ก็เลยไปยึดด้วยความหลงว่าตัวฉันนี้มีอยู่จริง แล้วยังยึดต่อไปด้วยความอยากว่าตัวฉันเป็นของเที่ยง ต้องคงอยู่ตลอดไป เราจึงยอมรับความตายไม่ได้
มีนายทหารคนหนึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้กล้าหาญ เป็นวีรบุรุษชายแดน เขาเคยพูดว่าทหารที่ฆ่าตัวตายไม่ใช่ชายชาติทหาร เขายังบอกอีกว่าคนอย่างเขาไม่มีวันฆ่าตัวตาย ความรู้สึกว่าฉันเป็นชายชาติทหารฝังแน่นในใจจนเขามั่นใจว่าจะไม่มีวันฆ่าตัวตายเด็ดขาด แล้ววันหนึ่งเขาก็เป็นมะเร็ง เจ็บปวดทรมานมาก เขาทนความเจ็บปวดอยู่หลายปี ในที่สุดก็ยิงตัวตาย ทีแรกใคร ๆ ก็นึกว่าเป็นฆาตกรรม เพราะไม่คิดว่าคนอย่างเขาจะฆ่าตัวตายได้ เพราะเคยลั่นวาจาว่าคนที่ฆ่าตัวตายไม่ใช่ชายชาติทหาร แต่ในที่สุดหลักฐานก็บ่งชี้ว่าเขาฆ่าตัวตายจริง ๆ คำถามคือชายชาติทหารอย่างเขาฆ่าตัวตายได้อย่างไร คำตอบก็คือว่าตอนนั้นเขาไม่รู้สึกว่าตัวเป็นชายชาติทหารแล้ว แต่ป็นผู้ป่วย เป็นผู้เจ็บปวดทรมาน ความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นชายชาติทหารได้หมดไป ความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นคนป่วยที่ทุกข์ทรมานมาแทนที่ ความสำคัญมั่นหมายอย่างหลังนี้เองที่ทำให้เขาตัดสินใจยิงตัวตาย
กรณีนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าความสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นนั่นเป็นนี่ไม่มีความเที่ยงแท้ แม้เขาจะเคยมั่นใจอย่างแรงกล้าว่าตัวตนของฉันคือชายชาติทหาร แต่ตัวตนนี้ไม่ได้มีอยู่จริง เป็นเรื่องที่ปรุงขึ้นมาตามเหตุปัจจัย ถึงเวลาเหตุปัจจัยเปลี่ยน ตัวตนที่ว่าก็เปลี่ยนไปด้วย และอาจเปลี่ยนไปเป็นตรงกันข้ามก็ได้ และพอรู้สึกว่าตัวฉันคือผู้ป่วยที่เจ็บทรมาน อย่างเดียวที่ต้องการก็คือพ้นจากความเจ็บปวดทุกวิถีทาง แม้จะต้องฆ่าตัวตายก็ยอม