บล็อก > บทความ (Blog)
ไหว้พระเก้าวัด
สายลมที่หวังดี:
ไปล่องเรือไหว้พระเก้าวัดมาค่ะ Supplier เชิญไปร่วมกิจกรรม
นัดเจอกันที่ื้ท่าเรือสาทร ออกเดินทางกันแต่เช้าเลย
เอาภาพมาฝาก
ส่วนข้อมูลต้องนำมาจากแต่ละเว็บมาฝากเพิ่มเติมเพียงบางส่วนนะค่ะ
วัดแรกที่ไปถึงคือวัดบุคคโล
วัดบุคคโล ตั้งอยู่เลขที่ 142 ถนนเจริญนคร ซอย 63 แขวงบุคคโล เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย บริเวณวัดตั้งอยู่บนเนื้อที่ 7 ไร่ เป็นที่ราบลุ่มติดแม่น้ำเจ้าพระยาทางด้านทิศตะวันออก นับเป็นวัดเก่าแก่มีคุณค่าทางพระพุทธศาสนา อายุกว่า 237 ปี เป็นวัดที่สร้างขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณปี พ.ศ. 2310 ไม่ปรากฏนามผู้สร้างวัด และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในปี พ.ศ.2320 ไม่ปรากฏนามเจ้าอาวาส ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ในรัชสมัยรัชกาลที่ 4 โดยเจ้าฟ้าหญิงอุบลวรรณา ทรงเรือทอดพระเนตรเห็นวัดบุคคโลทรุดโทรมมาก จึงทรงปฏิสังขรณ์อุโบสถและวิหาร กุฏิสงฆ์ แล้วจึงได้มีการเปลี่ยนชื่อวัดใหม่ เรียกว่า วัดอุบลวัน
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แต่ชาวบ้านทั่วๆ ไป ยังเรียกติดปากว่าวัดบุคคโล วัดบุคคโลเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่มีประวัติความเป็นมา อันสำคัญ เป็นที่เคารพสักการะบูชาของสาธุชนทั่วไป อาทิ หลวงพ่อแพ พระพุทธประทานพร พระพุทธชินราช หลวงพ่อพุทธโสธร หลวงพ่อวัดไร่ขิง พระสีวลีมหาลาภ พระสังกัจจายนะ พระพาคุระ พระพุทธมงคลทศพลมุนี(พระนาคปรก) ฯลฯ ประดิษฐานอยู่ ณ ศาลาจตุรมุขของวัด
ภายในบริเวณวัดได้มี แหล่งทรัพยากรทางธรรมชาติ ซึ่งเป็นเขตอภัยทาน อันมี วังมัจฉา ซึ่งมีปลามาอาศัยอยู่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เหมาะแก่การพาลูกหลานไปพักผ่อนหย่อนใจ ให้อาหารปลา ชมปลาสวย ปลาสังกะวาด ปลาดุก นับล้านๆ ตัว ศึกษาชีวิตธรรมชาติ ของปลาเป็นการเสริมสร้างปัญญาแก่เยาวชน
ข้อมูลจาก http://www.bukkhalo.com/history.php
วัดยานนาวา
วัดยานนาวา ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ติดถนนเจริญกรุง เขตยานนาวา เป็นวัดโราณ มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ วัดคอกควาย ในสมัยกรุงธนบุรีได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวง เรียกชื่อใหม่ว่า วัดคอกกระบือ ต่อมารัชกาลที่ ๑ ทรงสร้างพระอุโบสถใหม่
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และสร้างสำเภาพระเจดีย์แทนพระสถูปเจดีย์ทั่วไป เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นรูปแบบเรือสำเภาซึ่งกำลังจะหมดไปจากเมืองไทย วัดคอกกระบือ จึงกลายเป็นวัดยานนาวา
สำเภายานนาวา มีความยาววัดจาดหงอนข้างบนถึงท้ายบาหลี ๒๑ วา ๒ ศอก ความยาวส่วนล่างวัดที่พื้นดิน ๑๘ วา ๑ ศอกเศษ ส่วนกว้างตอนกลางลำ ๔ วา ๓ ศอก ส่วนสูงตอนกลางลำ ๒ วา ๓ ศอก มีพระเจดีย์องค์ใหญ่และเล็กอยู่ในลำสำเภารวม ๒ องค์ ที่ห้องบาหลีมีรูปหล่อของพระเวสสันดรกับพระกัญหาชาลีประดิษฐานอยู่ ซึ่งสืบเนื่องมาจากเนื้อความในมหาชาติคำหลวง ที่พระเวสสันดรโน้มน้าวใจโอรสธิดา ให้อุทิศตนเพื่อร่วมกับพระบิดาสร้างมหากุศล อันจักเป็นเสมือนเรือสำเภาใหญ่พามนุษยชาติข้ามโอฆสงสารไปสู่พระนิพพาน
ในพระอุโบสถซึ่งสร้างในสมันรัชกาลที่ ๑ ด้านหลังบานประตูมีภาพจิตรกรรมสำคัญที่รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้วาดขึ้น คือรูปกระทงใหญ่ตามแบบที่ทำในพระราชพิธีลอยพระประทีป และโถยาคูตามแบบอย่างที่ทำเลี้ยงพระในพระราชพิธีสารทในรัชสมัยของพระองค์
ข้อมูลจาก http://www.dhammathai.org/watthai/bangkok/watyanawa.php
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร (วัดประยูร , วัดรั้วเหล็ก ) ตั้งอยู่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ (ดิศ บุญนาค) หรือ สมเด็จเจ้าพระยาองค์ใหญ่ ทรงสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๑
พระอุโบสถเป็นแบบไทย หน้าบันเป็นลายดอกบุนนาค พระวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธนาคน้อย ซึ่งนัยว่าอัญเชิญมาจากสุโขทัยและมีสิ่งก่อสร้างที่น่าชมอีกหลายอย่าง เช่น รั้วเหล็กรูปหอก ดาบและขวาน ซึ่งสั่งมาจากอังกฤษ
นอกจากนี้ยังมีพระเจดีย์ใหญ่เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุและอัฐิคนในตระกูลบุนนาค ภูเขาจำลองหรือเขาเต่าก่อด้วยหินอยู่ข้างประตูทางเข้าวัด มีโบสถ์และเจดีย์ขนาดเล็กบนยอด บริเวณข้างล่างมีสระน้ำเป็นที่อาศัยของเต่าจำนวนมาก ข้างสระน้ำมีอนุสาวรีย์รูปปืนใหญ่ เป็นอนุสรณ์ถึงเหตุการณ์คราวฉลองวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๐ ครั้งนั้นพระรูปหนึ่งเอาปืนชำรุดไปทำไฟพะเนียง ปืนแตกระเบิดทำให้พระและชาวบ้านตายถึง ๘ คน
วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร ชาวบ้านมักนิยมเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า วัดรั้วเหล็ก เพราะมีรั้วเหล็กล้อมเป็นกำแพงตอนหน้าพระอุโบสถ พระวิหาร และศาลาการเปรียญด้านเหนือ รั้วเหล็กมีความสูง ๓ ศอกเศษ ทำเป็นรูปอาวุธโบราณ คือหอก ดาบ และขวาน มีลักษณะเป็นกำแพงและซุ้มประตูเล็ก ๆ เป็นตอน ๆ วัดจากมุมวิหารคดข้างพระอุโบสถไปจรดกำแพงประตูวัดด้านตะวันออกยาว ๑๔๘ เมตร ล้อมบริเวณภูเขาจำลองอีก ๒ ด้าน ด้านตะวันตกยาว ๔๘ เมตร ด้านใต้ยาว ๔๓ เมตร ล้อมเป็นกำแพงหน้าวัด ตอนขวามือเข้ามายาว ๔๐ เมตร ตอนซ้ายมือเข้ามายาว ๒๐ เมตร มีเรื่องเล่าว่า รั้วเหล็กนี้เดิมสมเด็จพระเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ สั่งเข้ามาจากประเทศอังกฤษเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อใช้ล้อมเป็นกำแพงในพระราชวัง แต่พระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงโปรด สมเด็จเจ้าพระยาจึงขอรับพระราชทาน มาใช้ล้อมป็นกำแพงในวัด โดยใช้น้ำตาลทรายแลกเอาหนักต่อหัก คือเหล็กหนักเท่าใด น้ำตาลทรายก็หนักเท่านั้น เจ้าพระยาภานุวงศ์มหาโกษาธิบดี ( ท้วม บุญนาค ) เดินทางไปกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในฐานะเป็นอัครราชทูตพิเศษเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา ใน พ.ศ. ๒๔๒๓ เมื่อกลับถึงเมืองไทยในปีเดียวกัน ได้เล่าว่าตนพบรั้วเหล็กเป็นกำแพงเมืองหลายแห่งในกรุงลอนดอน รั้วเหล็กเหล่านั้นมีรูปลักษณะเช่นเดียวกับรั้วเหล็กที่วัดประยุรวงศาวาส
http://bhumibol.panyathai.or.th/wiki/index.php/วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร
วัดกัลยาณมิตร
"ไหว้พระวัดกัลยาณมิตร โชคดีมีมิตรที่ดี เดินทางปลอดภัย"
วัดกัลยาณมิตรวรมหาวิหาร(วัดกัลยา) พระอารามหลวง ชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งธนบุรี บริเวณปากคลองบางกอกใหญ่ เจ้าพระยานิกรบดินทร์(โต กัลยาณมิตร) ได้อุทิศบ้านและซื้อที่ดินข้างเคียงเพิ่มเติม สร้างเป็นวัดขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๖๘ แล้วน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ พระราชทานนามว่า วัดกัลยาณมิตร และทรงสร้างพระราชทานทั้งพระวิหารหลวงและพระประธานสำหรับพระวิหารหลวง คือ หลวงพ่อโตหรือพระพุทธไตรรัตนนายก โดยทรงมีพระราชประสงค์ให้เป็นพระพุทธรูปใหญ่อยู่ริมแม่น้ำแบบเดียวกันกับที่วัดพนัญเชิง กรุงเก่า หลวงพ่อโตเป็นที่เคารพสักการะอย่างสูงโดยเฉพาะในหมู่ชาวจีน เรียกชื่อแบบจีนว่า ซำปอฮุดกง หรือ ซำปอกง ภายในพระอุโบสถซึ่งมีขนาดเล็กกว่าพระวิหาร มีจิตรกรรมฝาผนังเรื่อง พุทธประวัติที่แทรกเรื่องราวชีวิตชาวบ้านชาวเมืองสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งนอกจากจะมีคุณค่าทางวัฒนธรรมแล้ว ยังมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์สังคมอย่างยิ่งอีกด้วย
ข้อมูลจาก http://www.lib.ru.ac.th/journal/wat/kanlayanamithhome.html
วัดอรุณราชวราราม
" ไหว้พระวัดอรุณ ชีวิตรุ่งเรืองทุกคืนวัน"
วัดอรุณราชวรรามราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่ถนนอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกใหญ่ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ชนิดราชวรมหาวิหาร ๑ ใน ๖ ของไทย
วัดอรุณฯ เดิมชื่อ " วัดมะกอก" สร้างในสมัยอยุธยา ต่อมา สมเด็จพระเจ้าตากสิน โปรดให้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า " วัดแจ้ง" ล่วงถึงสมัยรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๔ โปรดเกล้าให้อัญเชิญพระบรมราชสรีรางคารของรัชกาลที่ ๒ มาบรรจุที่พุทธอาสน์ของพระพุทธธรรมมิศรราชโลกธาตุดิลก พระประธานในอุโบสถ และพระราชทานนามวัดใหม่ว่า " วัดอรุณราชวราราม" จึงได้ถือว่าเป็นวัดประจำรัชกาลที่ ๒
วัดอรุณฯ มีสิ่งที่โดดเด่นคือพระปรางองค์ใหญ่ สูงประมาณ 70 เมตร ถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของกรุงเทพฯ องค์พระปรางประกอบด้วยกระเบื้องเคลือบด้วยสีต่างๆ หลากลวดลายนับล้านชิ้น สอดสลับไว้อย่างเป็นระเบียบ ตั้งตระหง่านหันหน้าออกแม่น้ำเจ้าพระยา
ข้อมูลจาก http://www.lib.ru.ac.th/journal/wat/arunpagetwo.html
สายลมที่หวังดี:
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร
"ไหว้พระวัดระฆัง มีชื่อเสียงโด่งดังตลอดปี"
วัดระฆังโฆสิตารามวรมหาวิหาร (วัดระฆัง) ตั้งอยู่ทางฝั่งธนบุรี ตรงข้ามกับท่าช้างวังหลวง เดิมชื่อวัดบางหว้าใหญ่ เป็นวัดโบราณมีมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้สังคยาพระไตรปิฏกที่นี่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ มีการขุดพบระฆังโบราณในเขตวัด ประชาชนจึงเรียกว่า วัดระฆังตั้งแต่นั้นมา แต่ตัวระฆังซึ่งมีเสียงดี รัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
สิ่งสำคัญในวัดได้แก่ ตำหนักทอง ซึ่งเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีและสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พระอุโบสถกับหอพระไตรปิฏกที่รัชกาลที่ ๑ ทรงสร้าง ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังประดับทั้งสองหลัง สถาปัตยกรรมไทยในวัดที่มีชื่อเสียงเลื่องลือว่างามยิ่ง คือ หอพระไตรปิฏก เดิมอยู่กลางสระที่ขุดขึ้นด้านหลังพระอุโบสถ สร้างเป็นเรือนแฝด ๓ หลัง ด้วยไม้ที่รื้อพระตำหนักและหอนั่งเดิมของรัชกาลที่ ๑ เมื่อครั้งยังทรงรับราชกาลอยู่กรุงธนบุรี ฝาผนังด้านนอกทาสีดินแดง ด้านในเขียนภาพฝีมืออาจารย์นาค เป็นภาพแสดงวิถีชีวิตประจำวันของคนสมัยนั้น บานประตูตกแต่งด้วยการเขียนลายรดน้ำและแกะสลักอย่างงดงาม นอกจากนั้นยังมี ตู้พระไตรปิฏก ลายรดน้ำขนาดใหญ่สมัยกรุงศรีอยุธยา อยู่ในห้องด้านเหนือและห้องด้านใต้
ข้อมูลจาก http://www.lib.ru.ac.th/journal/wat/rakungpagetwo.html
วัดอมรินทราราม
วัดอมรินทราราม เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ 566 แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร
ประวัติความเป็นมา
วัดนี้เป็นวัดโบราณ ชื่อว่า "วัดบางหว้าน้อย" สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้โปรดให้ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงคู่กันกับวัดระฆังโฆสิตาราม เดิมเป็นชั้นตรีชนิดราชวรวิหาร ต่อมาได้ถูกจัดเป็น ชั้นตรีชนิดวรวิหาร ตามประกาศลงวันที่ 30 กันยายน 2548
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโ่ลกมหาราชทรางสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว กรมพระราชวังหลังได้โปรดสถาปนาวัดนี้ขึ้นใหม่หมดทั้งพระอาราม คือ สร้างพระอุโบสถ พระระเบียง วิหาร กำแพงแก้ว ศาลาราย หอระฆัง หอไตร หอสวดมนต์ ศาลาการเปรียฐ กุฏิ เสนาสนะ และ ถนนในพระอาราม รัชกาลที่ 1 ได้พระราชทานนามใหม่ว่า "วัดอมรินทราราม" และทรงสร้างพระอุโบสถที่สร้างค้างอยู่ต่อไปจนสำเร็จ ต่อมารัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถ พระระเบียง พระวิหาร และสิ่งอื่น ๆ รวมทั้งทรงสร้างกุฏิเพิ่มเติมอีกหลายห้อง การปฏิสังขรณ์ได้กระทำกันต่อเนื่องมาทุกยุคของเจ้าอาวาส แต่ละรูปรวมทั้งพระบรมราชวงศ์ ข้าราชบริพาร และ ราษฏรผู้มีจิตศรัทธา บริจาคทรัพย์บูรณะปฏิสังขรณ์วัดอมรินทรารามมาด้วยดีจนถึงปัจจุบันนี้
ข้อมูลจาก http://203.155.220.217/bangkoknoi/travel/watamarintaram.htm
วัดราชาธิวาสวรวิหาร
ไปถึงวัดปิดแล้ว แป๊วววววววววววว
วัดนี้ปิด 4 โมงเย็นนะค่ะ
เลยกลับลำเรือไปวัดคฤหบดีแทน
วัดราชาธิวาสวิหาร เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งที่ได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ พัฒนาโดยพระบรมราชูปถัมภ์ จากพระมหากษัตริย์ไทยในราชจักรีวงศ์มาโดยลำดับ เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย และเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ไทยในราชวงศ์จักรีมาโดยตลอด มีสถานะเป็นพระอารามหลวงชั้นโทชนิดราชวรวิหาร และเป็นพระอารามหลวงฝ่ายธรรมยุต สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๘๒๐ และผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๑๐ (กองพุทธสถาน)
เขตและอุปจาร
วัดราชาธิวาสวิหาร ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันออกหรือฝั่งพระนคร ห่างจากสนามหลวงสองกิโลเมตรเศษไปทางเหนือ ลักษณะพื้นที่เป็นที่ราบ น้ำท่วมถึงเป็นบางส่วน มีถนนใหญ่ผ่านกลางวัด (ถนนสามเสน ๙ หรือซอยวัดราชา) จากถนนสามเสนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในบริเวณวัดมีเสนาสนะ ถนนเชื่อมเสนาสนะ มีต้นไม้ปกคลุมร่มรื่น มีสนามหญ้าเขียวขจีที่จัดไว้เป็นสัดส่วน มีเนื้อที่ตั้งวัดทั้งสิ้น ๓๔ ไร่ ๒ งาน ๖๓ ตารางวา และมีอาณาเขตวัดดังนี้
ทิศตะวันตก (ด้านหน้าวัด) จรดแม่น้ำเจ้าพระยา
ทิศตะวันออก (ด้านหลังวัด) จรดที่ธรณีสงฆ์ของวัด ถัดไปเป็นถนนสามเสน และสถาบันราชภัฏสวนสุนันทา
ทิศใต้ จรดคลองท่อ และท่าวาสุกรีและหอสมุดแห่งชาติ
ทิศเหนือ จรดคูคลองจากแม่น้ำเจ้าพระยาถึงถนนสามเสน (คลองวัดราชา) ถัดไปเป็นโรงเรียนเซ็นต์คาเบรียลและบ้านญวน
ข้อมูลจาก http://www.watraja.org/index.php?option=com_content&task=category§ionid=5&id=20&Itemid=50
วัดคฤหบดี
ประวัติความเป็นมา
วัดคฤหบดี เป็นวัดที่พระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่) ต้นสกุล “ภมรมนตรี” เป็นผู้สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้โปรดพระราชทานนามวัด และพระราชทานพระแซกคำไว้เป็นพระประธานในพระอุโบสถด้วย แต่เดิมนั้นพระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่) มีบ้านอยู่ริมฝั่งตะวันตกแม่น้ำเจ้าพระยา เหนือบ้านปูน ตำบลบางพลัด (แขวงบางยี่ขันปัจจุบัน) ได้ถวายตัวเข้ารับราชการตั้งแต่ครั้งสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ยังทรงกรมเป็นพระเจ้าลูกยาเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ ในสมัยรัชกาลที่ ๒ (บ้านเดิมคือ บริเวณวัดคฤหบดีทุกวันนี้) ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ได้โปรดตั้งนายภู่จางวางเป็นพระยาราชมนตรีบริรักษ์ จางวางมหาดเล็ก และได้เลื่อนตำแหน่งขึ้นว่าการพระคลังมหาสมบัติ ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานบ้านที่พระศรีสุนทรโวหาร (สุนทรภู่) อาศัยอยู่ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของท่าพระ (ท่าช้างวังหลัง) ให้พระยาราชมนตรีบริรักษ์ (ภู่) ได้อยู่อาศัยใหม่ พระยาราชมนตรีฯ จึงได้ยกบ้านเดิมของท่านให้สร้างเป็นวัด และนำความน้อมเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ พระองค์ได้ทรงรับไว้เป็นพระอารามหลวง พร้อมกับพระราชทานนามว่า “วัดคฤหบดี” และได้พระราชทานพระแซกคำไว้เป็นพระประธานในพระอุโบสถด้วย ในสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดให้ทำการปฏิสังขรณ์วัดคฤหบดีครั้งใหญ่ ทำให้อาคารเสนาสนะต่าง ๆ มีสภาพถาวรมั่นคงเป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้ทรงพระราชทานตราประจำรัชกาลพระองค์ท่านประดิษฐานไว้จนกระทั่งบัดนี้
สิ่งศักดิ์สิทธิ์
หลวงพ่อแซกคำ สมัยเชียงแสน ปางมารวิชัย เป็นพระพุทธรูปทองคำโบราณ
ข้อมูลจาก http://wadkaruhabodee.wetpaint.com/page/ประวัติวัดคฤหบดี
วัดเทวราชกุญชร
ความศักดิ์สิทธิ์แห่งพระพุทธเทวราชปฏิมากร
การกราบนมัสการและถวายเครื่องสักการะแด่องค์พระพุทธเทวราชปฏิมากร พระประธานในพระอุโบสถของวัดเทวราชกุญชรนับว่าแปลกกว่าวัดอื่นใด เนื่องจากพุทธศาสนิกชนนิยมถวาย “ผ้าไตร” แทนดอกไม้ธูปเทียน ได้สร้างความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่การกราบขอพรพระศักดิ์สิทธิ์องค์นี้เป็นเท่าทวีคูณ และนับเป็นวัดแรกในประเทศไทยที่นำผ้าไตรมาเป็นเครื่องสักการะที่ได้รับความศรัทธาสูงสุดมาจนทุกวันนี้
ความศักดิ์สิทธิ์แห่งการถวายผ้าไตรแด่องค์พระพุทธเทวราชปฏิมากร มีเรื่องเล่ามาว่าเมื่อครั้งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์พระวรชายา ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จทรงเป็นองค์ประธานประกอบพิธีพุทธาภิเสกพระพุทธเทวราชปฏิมากร ขนาดบูชา ๙ นิ้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ เวลา ๑๕.๐๐ น. ณ พระอุโบสถวัดเทวราชกุญชร สมเด็จพระมหาธีราจารย์วัดชนะสงครามประธานสงฆ์จุดเทียนชัย
รุ่งขึ้นวันจันทร์ที่ ๑๔ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๘ เวลา ๑๖.๐๐ น. มีการสมโภชพระพุทธเทวราชปฏิมากร พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถาและอธิษฐานจิต ต่อมามีผู้นำผ้าไตรจีวรมาถวาย เพราะประสบความสำเร็จตามที่อธิษฐานขอพรไว้ อาศัยเหตุอันเป็นมงคลนี้ จึงเริ่มต้นถวายผ้าไตรจีวรพระพุทธเทวราชปฏิมากร ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๙ ถึงปัจจุบัน
พุทธศาสนิกชนสามารถถวายผ้าไตรจีวรแด่พระพุทธเทวราชปฏิมากรได้ทุกวันโดยทางวัดได้จัดเตรียมผ้าไตรไว้สำหรับสาธุชนได้ทำบุญตามกำลังศรัทธาในเวลา ๐๘.๐๐-๑๘.๐๐ น.
ข้อมูลจาก http://www.watdevaraj.com/index.php?mo=10&art=108997
ได้ไปไหว้พระขอพรเสริมศิริมงคลก่อนปีใหม่ สุขใจไม่ใช่น้อยเลยค่ะ
เอาบุญมาฝากเพื่อนๆทุกคนด้วยนะค่ะ
ใกล้ปีใหม่แล้วก็ขอให้ทุกท่านโชคดีมีความสุข พบเจอแต่สิ่งที่ดี
สุขภาพแข็งแรง รวยๆกันถ้วนหน้านะค่ะ
แก้วจ๋าหน้าร้อน:
:25: โหพี่ต้อง สวยทั้งทิวทัศน์ สวยทั้งศรัทธาธรรม สวยทั้งคนที่ร่องเรือไปทำบุญด้วยครับ
:45: อนุโมทนาครับผม ไม่ธรรมดา ไม่ธรรมดาจริงๆครับ ถ่ายภาพนิ่งมากๆเลยครับ มีแต่ภาพสวยๆ
ชอบภาพนี้ครับ
^^ เจ้าแม่กวนอิม โปรดประทานพรให้ผู้ได้พบเจอได้อิ่มบุญบารมีครับผม
ภาพนี้สวยดีครับเจดีย์ 7 ชั้น
อนุโมทนาครับพี่ต้อง สาธุๆ
rain....:
อนุโมทนา วันทามิด้วยคนงับ
สายลมที่หวังดี:
:43:ขอบคุณนะค่ะ ได้กำลังใจมาโขเลย :47:
ไม่ค่อยชำนาญเรื่องถ่ายภาพซะเท่าไหร่ แฮะๆ
แต่ทุกภาพตั้งใจถ่ายเอามาฝากให้ชมกัน
บ้านของเรามีที่วัดสวยงามและมีประวัติน่าเลื่อมใสศรัทธากันมายาวนานมากมาย
ได้มีโอกาสได้ไปสักการะบูชา เป็นศิริมงคลดีจริงๆเลยค่ะ :13:
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version