คนในสมัยปัจจุบันนี้อาจจะคิดว่าการประพฤติธรรมนั้นเป็นเรื่องล้าสมัย เป็นเรื่องที่ไม่ทันสมัย อะไรต่างๆนานา นั่นคือคิดด้วยความไม่รู้ไม่เข้าใจ ไม่ได้เคยชิมรสของพระธรรมคำสอนในทางพระศาสนา เลยเกิดความหลงผิดไปด้วยประการต่างๆ และเมื่อเกิดความหลงผิดอย่างนั้นแล้ว ก็ไม่สนใจศึกษา ไม่สนใจปฏิบัติ ไม่แนะนำคนอื่นให้ปฏิบัติ ทีนี้มันก็เกิดปัญหาขึ้นในครอบครัว ปัญหายุ่งยากเกิดขึ้นแล้ว เพราะว่าไม่มีธรรมะเป็นเครื่องคุ้มครองรักษา เหมือนเราอยู่ที่บ้านไม่มีหลังคาฝนตกก็เปียก แดดออกก็ร้อน อันตรายร้อยแปดเข้ามา เพราะไม่มีหลังคาคุ้มกัน อันนี้มันไม่เป็นความสุขในชีวิตฉันใด ชีวิตของเราไม่มีธรรมะเป็นเครื่องคุ้มกัน มันก็ไปไม่รอดเหมือนกัน
คนสมัยใหม่บางคนก็เขวไป หลงไป เพราะว่าไปนิยม กันแต่ในเรื่องสิ่งที่เป็นวัตถุ แต่ไม่ได้คิดว่าวัตถุนั้นจะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อมีธรรมะเข้าไปกำกับ ถ้าเรามีธรรมะเราใช้เป็นประโยชน์ เช่น เงินทอง เป็นต้น ทรัพย์สมบัติที่เรียกว่าเงินทองข้าวของ เพชรนิลจินดา เรามีไว้ ถ้าเรามีธรรมะเราก็ใช้เป็นประโยชน์ ไม่ใช้ในทางที่เสียหาย เช่น มีเงินก็ใช้เงินในทางที่เป็นคุณเป็นค่า ไม่เอาเงินไปทำในสิ่งที่เป็นความทุกข์เป็นความเดือดร้อนแก่ใครๆ ไม่ส่งเสริมความฟุ้งเฟ้อทะเยอทะยานของใครๆ เรียกว่าเป็นผู้ใช้เงินเป็น แม้การกินการอยู่ก็เรียกว่า เพียงพอประมาณ ไม่ให้มากเกินไปจนกระทั่งว่าให้คนอื่นทำตามตัวอย่างในทางที่สุรุ่ยสุร่าย ช่วยกันประหยัดช่วยกันอดออม ก็เพราะอาศัยคุณธรรม เป็นหลักพื้นฐานในทางจิตใจ จึงเกิดการเหนี่ยวรั้งเกิดการบังคับตัวเอง อยู่กันด้วยความสุขสงบ แต่คนมักจะมองไม่เห็น เพราะคนเรานั้นไม่ค่อยคิดถึงความสุขทางใจ มักคิดถึงความสุขทางร่างกาย เอาความสบายกันในทางวัตถุ ให้มีสิ่งนั้นสิ่งนี้ไว้เป็นเครื่องประกอบความสุข
ท่านจึงกล่าวว่า สุขในชีวิต มนุษย์มี 2 อย่าง คือ
อามิสสุข สุขเนื่องด้วยอามิส ได้แก่วัตถุ และ
นิรามิสสุข สุขที่ไม่ต้องอาศัยวัตถุเป็นเครื่องล่อเครื่องจูงใจ คนเราสมัยนี้ โดยมากก็มุ่งหาวัตถุเป็นเครื่องประกอบความสุขด้วยกันทั้งนั้น แล้วบางทีก็มีมากจนเกินไป จนเกิดเป็นปัญหาเกิดความลำบากขึ้นมา ในสมัยหนึ่งอาจจะไม่ลำบาก แต่มาอีกสมัยหนึ่งมันเกิดปัญหาขึ้นมาแล้ว เพราะว่าอะไรๆ มันอยู่ในขั้นที่เรียกว่าคับขัน มันไม่พอกินพอใช้ มีการขาดแคลน เราจะใช้สิ่งที่เคยใช้มากเกินไปมันก็ไม่ได้ เพราะมันไม่มีจะใช้ จะเกิดเป็นความทุกข์ในภายหลัง นี่ก็เพราะว่าเราใช้วัตถุมากเกินไป จึงได้เกิดเป็นปัญหา
แต่ถ้าเราใช้วัตถุนั้นอย่างผู้มีธรรมะ ผู้มีธรรมะนั้นก็ต้องมี
มัตตัญญุตา แปลว่า รู้จักประมาณในการแสวงหา ในการเก็บ ในการใช้ เพื่อให้เกิดความพอดีๆ ไม่ให้มากเกินไป ชีวิตก็จะไม่ยุ่งยากลำบากเดือดร้อน ไม่ใช่ว่าทางศาสนาจะไม่ให้มีเสียเลย หามิได้ แต่ให้มีพอสมควร ไม่ใช่ว่ามากมายเกินไป หรือว่าส่วนเกินมากไป ให้มีแต่พอดีๆ อย่างนี้มันก็ไม่ยุ่งไม่สร้างปัญหา แต่ว่าคนเราคิดไม่ค่อยได้ เพราะว่าเคยมาในรูปวัตถุตั้งแต่เป็นเด็กตัว น้อยๆ พ่อแม่ก็หาวัตถุให้ตลอดเวลา หานั่นหานี่ให้ โดยไม่คิดว่า สิ่งเหล่านั้นมัน จะมากเกินไป จะเป็นการพอกพูนนิสัยทะเยอทะยานให้เกิดขึ้นในจิตใจของเด็ก เราไม่ค่อยคำนึงถึงเรื่องอย่างนี้ ก็เลยเกิดเป็นปัญหาเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่
เมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็มีแต่ความปรารถนาที่จะมีสิ่งนั้นสิ่งนี้สิ่งโน้น แล้วใครเป็นคนเดือดร้อน ก็คุณพ่อคุณแม่นั่นแหละเป็นผู้เดือดร้อนต้องควักสตางค์จ่ายเรื่อยไป ไม่รู้จักจบไม่รู้จักสิ้น แสวงหาให้เขา ถ้าไม่ให้ เขาแสดงอาการเป็นทุกข์เป็นร้อน พ่อแม่ไม่อยากเห็นลูกเป็นทุกข์ ก็เลยต้องหาให้ เขาต้องการวัตถุเราก็ให้วัตถุ เพื่อให้เขาไม่เป็นทุกข์ แต่ลืมนึกไปว่ายิ่งให้มันยิ่งเพิ่มความทุกข์ขึ้นแก่เขา เพราะว่าเขาไม่อิ่มไม่พอในสิ่งเหล่านั้น เหมือนไฟไม่เคยอิ่มด้วยเชื้อ มหาสมุทรก็ไม่เคยอิ่มด้วยน้ำ
ความอยากของคนก็ไม่เคยอิ่มในเรื่องวัตถุสิ่งของ ที่ตนจะมีจะได้อยู่ตลอดเวลา จึงเกิดเป็นปัญหา
ฉะนั้น เรื่องวัตถุต้องมีอะไรมาคุมอีกทีหนึ่ง สิ่งที่คุมวัตถุก็คือธรรมะ ร่างกายของเรานี้มันมีใจอยู่ภายใน ถ้าลองปล่อยตามเรื่องตามราวแล้วก็ไปกันใหญ่ เพราะฉะนั้นใจต้องคุมร่างกาย แต่ว่าใจธรรมดามันก็คุมไม่ได้ เพราะไม่มีเครื่องมือประกอบ ธรรมะเป็นเครื่องมือประกอบกันกับจิตใจ เพื่อให้สภาพจิตใจนั้นมีปัญญามีสติ มีความรอบคอบในเรื่องต่างๆ มีความคิดว่าอะไรเป็นอะไร อะไรควรอะไรไม่ควร ยับยั้งชั่งใจ ไม่ปล่อยไปตาม อารมณ์ รู้จักหยุดรู้จักยั้ง ถ้าไม่รู้จักหยุดรู้จักยั้งแล้วก็ไปกันใหญ่
สัมมาทิฏฐิบุคคลนั้นเขามีความคิดความเห็นในทางที่ถูกที่ชอบในสิ่งนั้นๆ อยู่ตลอดเวลา จึงไม่มีการกระทำอะไรที่จะเป็นเรื่องเหลวไหลออกไปจากเส้นทางอันถูกอันชอบ เพราะมีตัวสัมมาทิฏฐิคอยกำกับ ธรรมะมีอยู่ในใจย่อมได้ประโยชน์ได้คุณได้ค่า ทำให้ชีวิตมีราคาขึ้นอย่างนี้
คนไม่มีศีลธรรมนั่นแหละเป็นคนล้าสมัย แต่คนมีศีลธรรมจะไม่เป็นคนล้าสมัย ไม่เก่า เป็นคนที่เรียกว่าทันเหตุทันการณ์ เพราะเขามีธรรมคุ้มครองจิตใจ มีสติปัญญาคุ้มครองจิตใจ อะไรเกิดขึ้นก็รู้ฉับพลันทันท่วงที ว่านี้ดี นี้ชั่ว อันนี้เป็นทางเกิดแห่งความเสื่อม อันนี้เป็นทางเกิดแห่งความเจริญ อันนี้เป็นทางเกิดทุกข์ อันนี้เป็น ทางเกิดสุข อันนี้เป็นเหตุให้เกิดความรักความพอใจ อันนี้จะเป็นเหตุให้คนเกลียดชัง ไม่อยากมองดูหน้าเราต่อไป รู้เท่ารู้ทันในเรื่องนั้นๆ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นมันก็น้อยเป็นธรรมดา (จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 119 ตุลาคม 2553 โดย พระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) วัดชลประทานรังสฤษฎ์ จ.นนทบุรี)
http://www.manager.co.th/Dhamma/ViewNews.aspx?NewsID=9530000139376