ผู้เขียน หัวข้อ: ทฤษฎี เครือข่ายใยชีวิต ของ คาปร้า กำลังมาแรง  (อ่าน 5365 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



ฟริตจ๊อฟ คาปร้า เป็นชาวออสเตรียเกิด และใช้ชีวิตวัยเยาว์ในชนบทอย่างใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดของเขาในเวลาต่อมาเป็นอย่างมาก

คาปร้าจบการศึกษาปริญญาเอกด้านทฤษฎีฟิสิกส ์จากมหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นโอกาสให้เขาได้ศึกษา และรับอิทธิพลทางความคิดจาก เวอร์เนอร์ ไฮเซนเบอร์ก นักฟิสิกส์ชาวออสเตรียผู้มีชื่อเสียง และเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ ฟิสิกส์และปรัชญา (Physics and Philosophy) อันกระตุ้นให้คาปร้าเกิดความสนใจวิชาฟิสิกส์ในปริบท ที่กว้างไกล และหลากหลายกว่าวิทยาศาสตร์ตามกระแสหลักโดยทั่วไป

1.จากเต๋าแห่งฟิสิกส์

ฟริตจ๊อฟ คาปร้า เป็นชาวออสเตรียเกิดและใช้ชีวิตวัยเยาว์ในชนบทอย่างใกล้ชิดธรรมชาติ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความคิดของเขาในเวลาต่อมาเป็นอย่างมาก คาปร้าจบการศึกษาปริญญาเอกด้านทฤษฎีฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นโอกาสให้เขาได้ศึกษาและรับอิทธิพลทางความคิดจาก เวอร์เนอร์ ไฮเซนเบอร์ก นักฟิสิกส์ชาวออสเตรียผู้มีชื่อเสียงและเป็นผู้เขียนหนังสือชื่อ ฟิสิกส์และปรัชญา (Physics and Philosophy) อันกระตุ้นให้คาปร้าเกิดความสนใจวิชาฟิสิกส์ในปริบทที่กว้างไกลและหลากหลายกว่าวิทยาศาสตร์ตามกระแสหลักโดยทั่วไป คือเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาสู่มิติทางสังคม ชีวิต สิ่งแวดล้อมและมีความสนใจในปรัชญาต่างๆ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปรัชญาตะวันออกของจีนโบราณ ลัทธิเต๋า พุทธศาสนานิกายเซน ฮินดู

เขาศึกษาปรัชญาตะวันออกจากคัมภีร์จำนวนมาก เช่น ภควทคีตา คัมภีร์อี้จิงของจีนโบราณ คัมภีร์เต๋าเจอจิง ฯลฯ เมื่อสำเร็จการศึกษาได้เป็นผู้สอนและวิจัยสาขาฟิสิกส์ในสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียงทั้งในยุโรป อเมริกา ปัจจุบันเขาสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กเลย์ สหรัฐอเมริกา และเป็นผู้ก่อตั้ง-อำนวยการศูนย์เพื่อความรอบรู้ทางนิเวศวิทยา(Center for Ecoliteracy )

คาปร้าเป็นนักวิทยาศาสตร์ซึ่งมีผลงานคิดและเขียนที่ทำให้เขามีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในระดับโลก โดยเฉพาะในแวดวงผู้สนใจแนวคิด-ทฤษฎีใหม่ วิธีคิดอย่างใหม่ และการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ไม่ว่าในทางวิทยาศาสตร์หรือสังคม เขามีชื่อเสียงทั้งในฐานะของนักฟิสิกส์ นักนิเวศวิทยาแนวลึก และนักทฤษฎีระบบ(Systems Theorist) ผลงานเขียนของเขาเป็นหนังสือติดอันดับขายดี และได้รับการแปลออกเป็นภาษาสำคัญต่าง ๆ เกือบ 10 ภาษา

ผลงานทางความคิดที่สำคัญในระยะเริ่มต้นของเขา คือหนังสือชื่อ The Tao of Physics (1975) หรือเต๋าแห่งฟิสิกส์(1) ที่เป็นการศึกษาอย่างละเอียดลุ่มลึกในเชิงเปรียบเทียบเพื่อประสานให้เห็นความสอดคล้องของปรัชญาในศาสนาตะวันออกกับความรู้ในวิชาฟิสิกส์ใหม่จากทฤษฎีสัมพัทธ์ (Relativity Theory)ของไอนสไตน์ และทฤษฎีควอนตัม (Quantum Theory) อันเป็นการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่ถือกันว่ายิ่งใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติยุคใหม่ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 เกี่ยวกับสสาร พลังงาน ลักษณะการดำรงอยู่ของอะตอมและองค์ประกอบ ซึ่งช่วยให้มนุษย์เข้าใจความเป็นไปและลักษณะการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งและธรรมชาติมากขึ้น รวมทั้งเกิดทัศนะใหม่ในการมอง"ความจริง"(Reality)ที่แตกต่างไปจากความเข้าใจของวิชาฟิสิกส์แบบเดิมตามทฤษฎีกลศาสตร์ของนิวตันซึ่งวิทยาศาสตร์สาขาอื่น และสังคมศาสตร์ด้านต่างๆ ได้ยึดถือเป็นกระบวนทัศน์ในการพัฒนาทฤษฎีมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18 จนกระทั่งปัจจุบัน

คาปร้าได้ศึกษาค้นคว้ามาเปรียบเทียบให้เห็นอย่างละเอียดในเต๋าแห่งฟิสิกส์ว่า การค้นพบความจริงเกี่ยวกับธรรมชาติในศตวรรษที่ 20 นี้ เป็นความรู้ที่มีอยู่แล้วในวัฒนธรรมตะวันออกมานานนับพัน ๆปี และอยู่ในรูปของศาสนาซึ่งเป็นแกนหลักของระบบวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิต ระบบคิด วิธีคิดแบบเดิมของโลกตะวันออก(และชุมชนดั้งเดิมในโลกตะวันตก เช่น อินเดียแดง อินคา ฯลฯ)

แต่สังคมตะวันตกในช่วง 200 ปีมานี้ได้หันหลังให้ หลังจากการปฏิวัติวิทยาศาสตร์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 ซึ่งมีฟิสิกส์แบบเดิมหรือกลศาสตร์ของนิวตัน เป็นแกนหรือฐานหลักของกระบวนทัศน์ ทำให้วิทยาศาสตร์สาขาอื่น รวมทั้งมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ที่ตั้งอยู่บนฟิสิกส์แบบกลศาสตร์นิวตันนี้ ขาดสิ่งที่คาปร้าเรียกว่าหัวใจ หรือจิตวิญญาณ อันขัดแย้งกับสภาพความเป็นจริงของธรรมชาติที่ค้นพบใหม่โดยทฤษฎีสัมพัทธ์และทฤษฎีควอนตัม

กระบวนทัศน์ในการมองความจริงของเอกภพ โลก ธรรมชาติ มนุษย์แบบฟิสิกส์กลศาสตร์นี่เอง ทำให้มนุษย์จัดการกับชีวิต สังคม และธรรมชาติอย่างบกพร่อง จนกระทั่งนำมาสู่วิกฤตการณ์ที่เป็นทางตัน คาปร้าเห็นว่าความบรรสานสอดคล้องกันระหว่างฟิสิกส์ใหม่และศาสนาจะนำไปสู่กระบวนทัศน์ใหม่ในการมองความจริงของโลกแบบองค์รวม (Holistic) เป็นการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ไปจากกระแสหลักซึ่งมีลักษณะแบบกลศาสตร์ คือ กลไก (Mechanistic) ลดส่วน แยกส่วน (Reductionist)

จากผลงานคิดในเชิงปรัชญาของงานเขียนเล่มแรก คาปร้าได้นำเสนอในเชิงการวิเคราะห์รูปธรรม และเสนอทฤษฎีใหม่เพื่อเป็นกระบวนทัศน์ในการมองความจริงของโลก มนุษย์ ฯลฯในหนังสือเล่มสำคัญต่อมาคือ The Turning Point (1985) หรือจุดเปลี่ยนแห่งศตวรรษ(2) เขาแสดงทัศนะและข้อมูลจากการศึกษาค้นคว้าอย่างละเอียดข้ามสาขาวิชา (Transdisciplinary) โดยอาศัยปรัชญา โลกทัศน์ตะวันออกและฟิสิกส์ยุคใหม่ มาชี้ให้เห็นว่า วิกฤตการณ์ทั้งหลายในโลกปัจจุบัน มิได้เป็นปัญหาเฉพาะด้านหรืออยู่ที่สาระทางความคิดของเรื่องนั้น ๆ เช่น ด้านการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา สุขภาพ จิตวิทยา สิ่งแวดล้อมฯลฯ หากปรากฏการณ์ทั้งหลายเป็นตัวสะท้อนวิกฤตการณ์ด้านวัฒนธรรม กล่าวคือเป็นปัญหาระดับกระบวนทัศน์ คือทัศนะที่มนุษย์มีต่อ"ความจริง" (Reality) ของธรรมชาติแล้วไปกำหนดระบบคิด วิธีคิด การจัดการที่มนุษย์มีต่อสรรพสิ่งทั้งหลาย และดำรงชีวิตไปตามกระบวนทัศน์ดังกล่าว จนกระทั่งนำมาสู่ทางตันของการพัฒนา ที่เป็นวิกฤตการณ์ของมนุษยชาติและโลกทั้งหมด อันแก้ไขได้ยากหากไม่มีการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ในการมองความจริงแบบใหม่ ซึ่งค้นพบโดยฟิสิกส์แบบใหม่และปรัชญาตะวันออก

โดยสรุปคือคาปร้าเห็นว่ารากเหง้าของปัญหามาจากการที่ศาสตร์ และความรู้ทั้งหลายที่มนุษย์ใช้ในการพัฒนาชีวิต สังคม ในด้านจิตวิทยา สุขภาพ เศรษฐกิจ การจัดระเบียบสังคม ฯลฯ ตั้งอยู่บนทัศนะ ความเชื่อหรือกระบวนทัศน์ที่ยังคงตั้งอยู่บนฟิสิกส์แบบเดิมที่มีข้อบกพร่องและได้ถูกหักล้างไปแล้วด้วยฟิสิกส์ใหม่ในช่วง 3 ทศวรรษแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 20

แนวคิดของคาปร้าในงานเขียนทั้ง 2 เล่ม มาจากการย้อนไปศึกษาปรัชญา โลกทัศน์ตั้งแต่สมัยกรีก ซึ่งปรากฏว่า วิชาฟิสิกส์หรือศัพท์เดิมว่า Physis คือวิชาซึ่งว่าด้วยการค้นหาธรรมชาติแท้จริงของสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง (Physics แปลว่า ธรรมชาติ) มิได้แยกออกเป็นวิทยาศาสตร์ ปรัชญา ศาสนา หากเป็นศาสตร์ของการศึกษากฎเกณฑ์ องค์ประกอบของธรรมชาติทั้งในเชิงรูปธรรม-กายภาพ (ดิน น้ำ ลม ไฟ ฯลฯ) และในเชิงนามธรรม ไม่มีการแยกสิ่งมีชีวิต-ไม่มีชีวิต จิตวิญญาณและวัตถุ ถือว่าสรรพสิ่งเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน ไม่มีแม้คำเรียก"วัตถุ"เพราะถือว่าทุกสิ่งเป็นการปรากฏแสดงของ"Physis"หรือธรรมชาติซึ่งเต็มไปด้วยชีวิต จิตวิญญาณ ที่มีการเปลี่ยนแปลงและเคลื่อนไหวตลอดเวลา จากการขับเคี่ยวกันของสิ่งซึ่งตรงกันข้ามกัน หากแต่คู่แห่งการขับเคี่ยวกันนั้น แท้จริงเป็นสิ่งเดียวกันหรือเป็นเอกภาพ(องค์รวม) ปรัชญาธรรมชาตินี้ตรงกับปรัชญาโบราณของอินเดียและจีน(โดยเฉพาะลัทธิเต๋า )

อย่างไรก็ตาม พื้นฐานความเชื่อนี้ มีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่อง และออกมาเป็นสำนักความเชื่อต่าง ๆ เช่น เชื่อว่ากฎธรรมชาติเป็นตัวบุคคล (เทพเจ้า พระเจ้า ฯลฯ) และกลายเป็นลัทธิทวิภาวะ (Dualism) การแบ่งแยกขั้ว ที่เป็นกระบวนทัศน์ของตะวันตกในเวลาต่อมา ในการแยกวัตถุ-จิต ปัจจัยภายใน-ภายนอก ฯลฯ ให้แยกกันเป็นคนละสิ่ง มิใช่เอกภาพของสิ่งเดียวกัน(องค์รวม) อีก

อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์อย่างสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่ในด้านวิทยาศาสตร์ การเมือง (การปฏิวัติฝรั่งเศส) เศรษฐกิจ(การปฏิวัติอุตสาหกรรม) โดยเฉพาะการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 17 ซึ่งพัฒนาการมาเป็นกระบวนทัศน์กระแสหลักของโลกปัจจุบัน โดยแกนหลักหรือรากฐานมาจากการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ในด้านฟิสิกส์ของนักวิทยาศาสตร์ผู้มีอิทธิพลสำคัญ 2 คน คือกาลิเลโอ และไอแซค นิวตัน โดยคนแรกเชื่อว่า มนุษย์สามารถเข้าถึง"ความจริง"และหลักเกณฑ์ของธรรมชาติ จักรวาลทั้งหมดได้ด้วยการทดลองและสังเกตโดยประจักษ์(Empirical) โดยอาศัยคณิตศาสตร์คำนวณได้อย่างแม่นยำไม่ผิดพลาด
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
แต่ผู้มีอิทธิพลอย่างสูงสุดต่อกระบวนทัศน์กระแสหลักคือ เซอร์ไอแซค นิวตัน ผู้วางรากฐานวิชาฟิสิกส์ด้วยทฤษฎีกลศาสตร์ ที่วางกฎเกณฑ์เกี่ยวกับวัตถุและการเคลื่อนที่ของสรรพสิ่ง และสามารถที่จะคำนวณการเคลื่อนที่ของวัตถุทั้งหลายได้อย่างแม่นยำ (การเคลื่อนที่ของดวงดาว น้ำขึ้นน้ำลง) และเห็นจักรวาล โลก ธรรมชาติเป็นวัตถุที่รวมกันอยู่ภายใต้กฎทางกลศาสตร์ด้วย ความรู้และโลกทัศน์ของกาลิเลโอและนิวตันได้เป็นรากฐานของการศึกษาวิทยาศาสตร์สาขาอื่น ไม่ว่าดาราศาสตร์ ชีววิทยา แพทย์ศาสตร์ ฯลฯ นอกจากนี้วิทยาศาสตร์ในช่วงดังกล่าว ยังมีอิทธิพลต่อปรัชญาสมัยใหม่ ซึ่งพัฒนาขึ้นโดย เรเน เดคาร์ต(Rene Dascartes) นักคณิตศาสตร์ซึ่งถือกันว่าเป็นบิดาแห่งปรัชญายุคใหม่ ผู้พัฒนาปรัชญาขึ้นใหม่ทั้งระบบโดยละทิ้งปรัชญาสมัยเดิมทั้งหมด

โดยเขาเห็นว่า"ความจริง" คือสิ่งที่รับรู้ได้อย่างแจ่มชัดและแน่นอนเท่านั้น ดังนั้น ความแม่นยำคงที่ของคณิตศาสตร์จึงช่วยให้มนุษย์เข้าถึงความจริงของโลก จักรวาล และสรรพสิ่งทั้งปวงได้ ในทัศนะของเขา จักรวาล โลก ธรรมชาติ มนุษย์เป็นเสมือนวัตถุที่สามารถแยกเป็นชิ้นส่วนได้ เดคาร์ตเป็นผู้สร้างวิธีวิทยา (Methodology)ในการหาความรู้ ความจริงอย่างใหม่ ด้วยการจำแนกแยกแยะความคิดและปัญหาที่ต้องการศึกษาออกเป็นชิ้นส่วน แล้วจัดเรียงใหม่ตามวิธีการทางตรรกะ และกล่าวด้วยว่า"วิทยาศาสตร์ทั้งหลายคือความแน่นอน เป็นความรู้ที่มีหลักฐาน เราปฏิเสธความรู้ทุกชนิดที่เป็น"ความเป็นไปได้" และจะตัดสินว่าสิ่งที่รู้อย่างแจ่มแจ้งแล้วเท่านั้นที่เชื่อถือได้ และความรู้นั้นจะต้องไม่มีข้อสงสัยใด ๆ อีก"( พระประชา ปสันนธมโมและคณะ , เพิ่งอ้าง, น. 56)

กระบวนทัศน์ที่เกิดขึ้นจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์และโลกทัศน์ของกาลิเลโอ นิวตัน เดคาร์ต ได้เปลี่ยนแปลงความเชื่อในเรื่องของจักรวาล โลก ธรรมชาติ วิธีวิทยาในการหาความรู้ ความจริง และระบบคิดของมนุษย์ไปจากเดิมอย่างมากมาย คาปร้าเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ เกิดการมองสรรพสิ่งต่างๆ ด้วยทัศนะแบบกลไก-ลดส่วน-แยกส่วน ซึ่งสรุปได้ดังนี้(พระประชา ปสันนธัมโม และคณะ. เพิ่งอ้าง , บทที่ 2)

(1) ธรรมชาติดำเนินไปหรือเคลื่อนไหวไปอย่างต่อเนื่องเหมือนเครื่องจักร ที่ถูกควบคุมด้วยกฎอันคงที่ และทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในโลกของวัตถุ สามารถจะอธิบายได้ในรูปของการจัดลำดับอย่างเป็นระเบียบ สรรพสิ่งต่าง ๆ ไม่ว่ามนุษย์ วัตถุ ธรรมชาติ ฯลฯ สามารถที่จะวัดและคำนวณค่าออกมาเป็นตัวเลขหรือผลทางคณิตศาสตร์ได้ และวิธีการดังกล่าวมีความแม่นยำ น่าเชื่อถือ เพราะคณิตศาสตร์ไม่มีความลำเอียงหรืออคติ แนวคิดนี้สนใจการศึกษาเฉพาะสิ่งที่สามารถวัดและหาปริมาณได้ คุณสมบัติอื่น เช่น สี เสียง รส หรือกลิ่น เป็นเพียงปรากฏการณ์ของความนึกคิดแบบอัตวิสัย (subjective) ซึ่งจะถูกแยกออกไปจากอาณาเขตของวิทยาศาสตร์ ความเป็นเหตุเป็นผลทั้งหลาย จึงถูกกำหนดไว้แล้วอย่างตายตัว สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจึงมีสาเหตุอันแน่นอน และนำไปสู่ผลที่เที่ยงตรงแน่นอน เราจึงสามารถคำนวณและคาดการณ์สิ่งต่าง ๆ ออกมาได้อย่างเที่ยงตรงแน่นอน หากเราสามารถรู้ชัดถึงรายละเอียดของสภาวะของส่วนนั้น ๆ ในเวลานั้นได้

(2) วัตถุเป็นพื้นฐานของสรรพปรากฏการณ์ โลกทางวัตถุถูกมองว่าเป็นเครื่องจักรขนาด ใหญ่ที่ประกอบขึ้นจากวัตถุเป็นชิ้น ๆ จำนวนมากมายที่สามารถแยกจากกันได้ เชื่อกันว่ากลไกของเอกภพก็เป็นเหมือนเครื่องจักรที่มนุษย์สร้างขึ้น คือประกอบด้วยหน่วยย่อยพื้นฐานต่าง ๆ ดังนั้นปรากฏการณ์อันสลับซับซ้อนต่าง ๆ สามารถทำความเข้าใจได้โดยการลดส่วนแยกซอยลงมาศึกษาหน่วยย่อยพื้นฐานของมัน และมองหากลไกการทำงานของหน่วยย่อยเหล่านี้ และส่วนย่อยสามารถจะกำหนดความเป็นไปของส่วนทั้งหมดได้

(3) โลกเป็นเครื่องจักรกลเครื่องหนึ่ง ไม่ได้มีชีวิต ดังนั้นธรรมชาติหรือระบบนิเวศ และข้อจำกัดของธรรมชาติที่เคยกำหนดและจำกัดมนุษย์ไว้ และความลึกลับต่าง ๆ ของธรรมชาติ เป็นสิ่งที่มนุษย์จะต้องเอาชนะและพิชิตให้ได้ เพื่อนำธรรมชาติมารับใช้มนุษย์

(4) มนุษย์มีร่างกายและจิตใจที่แยกจากกันเป็นคนละส่วน สามารถแยกศึกษาและจัด การได้แบบเครื่องกล เรื่องของร่างกาย ไม่มีจิตมาปนอยู่ และความคิดเกี่ยวกับจิตใจ ก็ไม่มีเรื่องของร่างกายมาเกี่ยวข้อง

ในงานเขียนของเขา คาปร้าได้ยกตัวอย่างศาสตร์ที่มีกระบวนทัศน์แบบกลไก แยกส่วน ลดส่วน เพื่อวิเคราะห์ให้เห็นว่า กระบวนทัศน์ดังกล่าวได้ก่อผลกระทบต่อมนุษย์และสิ่งที่สัมพันธ์กับมนุษย์อย่างไรบ้าง เช่น ในด้านการแพทย์ กระบวนทัศน์แบบกลไก แยกส่วน ลดส่วน มีอิทธิพลให้เกิดทัศนะ ความเชื่อ ที่เห็นว่าร่างกายมนุษย์ทำงานแบบกลไก ร่างกายมนุษย์(สัตว์)สามารถแยกย่อยออกมาศึกษาเป็นส่วน ๆได้ ความเจ็บป่วยถูกลดทอนให้เกิดจากเชื้อโรค หรือความผิดปกติของอวัยวะหนึ่ง ๆ การแสวงหาความรู้และการรักษาจึงมุ่งไปที่การกำจัด ควบคุม เชื้อโรค และเซลล์ที่ผิดปกติ เช่น มะเร็ง หรือมุ่งไปที่การศึกษาเจาะลึกความรู้เกี่ยวกับอวัยวะนั้นๆ (หัวใจ ตับ ไต กระดูก ฯลฯ) เพื่อสร้างวิธีการรักษา แม้จะมีการศึกษากายวิภาค เพื่อศึกษาระบบการทำงานของร่างกายทั้งหมด แต่ก็อยู่บนความเชื่อแบบกลไกที่ว่า ร่างกายเกิดจากการรวมกันของอวัยวะต่าง ๆ ประกอบกันเข้า จึงสามารถแยกส่วนออกมาศึกษาเจาะลึก ซอยแยกให้ลึกลงไปเป็นลำดับได้จนถึงเซล เนื้อเยื่อ DNA ฯลฯ เสมือนหนึ่งเครื่องยนต์กลไก การแพทย์สมัยใหม่ มิได้มองร่างกายในทัศนะองค์รวม หรือหน่วยหนึ่งเดียวกัน ที่แยกซอยออกไม่ได้ เพราะมีระบบความสัมพันธ์ระหว่างส่วนย่อยทั้งหมด

ในวิชาเศรษฐศาสตร์ คาปร้าได้ชี้ให้เห็นว่า กระบวนทัศน์แบบกลไก แยกส่วน ลดส่วน ได้ทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์เกี่ยวข้องอยู่แต่เพียงการผลิต การบริโภค กำไร ขาดทุนฯลฯ โดยไม่ได้คิดว่า เศรษฐกิจเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งของมนุษย์ ซึ่งขึ้นอยู่กับโครงสร้างของสิ่งแวดล้อมและสังคมทั้งหมด เขาเห็นว่าอิทธิพลของกระบวนทัศน์แบบกลไก ลดส่วน แยกส่วนได้ละเลยระบบชีวิตของมนุษย์ซึ่งสัมพันธ์กันและกัน และสัมพันธ์กับระบบธรรมชาติหรือนิเวศด้วย และทำให้"คุณค่า"(Value)ในทางเศรษฐศาสตร์ลดทอนเหลือเพียงเงินตรา วัตถุที่สามารถวัดได้ อิทธิพลของ"วิธีวิทยาศาสตร์"ปรากฎในทฤษฎีและการศึกษาทางเศรษฐศาสตร์มากที่สุด ทำให้เศรษฐศาสตร์เป็นศาสตร์ที่เป็นกลไก ลดส่วน แยกส่วน มีความแคบ ตายตัว และละทิ้งมิติอื่น ๆ ทั้งหมด รวมทั้งคุณค่าทางจริยธรรม และความคิดในเชิงคุณภาพ (เช่น การวัดพลังงานออกมาในรูปของกิโลวัตต์ โดยไม่สนใจว่าพลังงานนั้นมาจากไหน) ความต้องการในทางเศรษฐกิจของมนุษย์ไม่ว่าในการผลิต การบริโภค และผลตอบแทนหรือมูลค่า(ทางวัตถุ)จากการนั้น คือศูนย์กลางของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหมดในโลกปัจจุบัน ทำให้เกิดวิกฤตการณ์ในด้านต่าง ๆ ที่เศรษฐศาสตร์ละทิ้งไม่สนใจ คือ ระบบนิเวศ ความสัมพันธ์ของมนุษย์ วัฒนธรรม ฯลฯ

นอกจากการวิพากษ์การแพทย์ เศรษฐศาสตร์แล้ว เขาได้วิจารณ์จิตวิทยาแบบนิวตันด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญของคาปร้าในการวิพากษ์วิจารณ์กระบวนทัศน์ มิได้มุ่งไปที่ตัวเนื้อหาสาระเพียงเท่านั้น หากจุดสำคัญอยู่ที่การชี้ให้เห็นถึงรูปธรรมของปัญหาที่เกิดขึ้นจากกระบวนทัศน์ วิธีคิดของมนุษย์ที่มีต่อความจริงและความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งต่าง ๆ ในแบบกลไก แยกส่วน ลดส่วน ตามอิทธิพลของความเชื่อในฟิสิกส์แบบนิวตัน จนกระทั่งมีอิทธิพลเหนือความรู้ของศาสตร์อื่นทั้งหมดในรอบ 2-3 ศตวรรษที่ผ่านมา

ดังที่เดคาร์ตเปรียบเทียบว่า ปรัชญาคือต้นไม้ มีอภิปรัชญาเป็นราก ฟิสิกส์เป็นลำต้น และศาสตร์อื่นทั้งหมดคือกิ่งก้านที่แตกออกไปจากลำต้น(ฟิสิกส์) กระแสแห่งกระบวนทัศน์นี้มีอิทธิพลต่อระบบคิด วิธีคิด ของผู้คนในสังคมตะวันตกในรอบ 200 ปีที่ผ่านมามากที่สุด หล่อหลอมจนกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ ที่ปฏิเสธกระบวนทัศน์ที่มีต่อความจริงในระบบความเชื่อ ปรัชญาในระบบวัฒนธรรมอื่น รวมถึงปฏิเสธวิธีวิทยา(Methodology) ในการหาความจริงด้วยวิธีการอื่น ๆ ที่มิอาจทดลองให้เห็นได้ในเชิงประจักษ์ หรือชั่ง ตวง วัด คำนวณได้

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
กระบวนทัศน์ดังกล่าวได้ทำให้"วิธีการทางวิทยาศาสตร์" (Scientific Method) และวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ (Scientific Thinking) กลายเป็นฐานในการกำหนดความน่าเชื่อถือของศาสตร์อื่น ๆ หมายความว่าหากต้องการให้ศาสตร์และความรู้ใดน่าเชื่อถือ ศาสตร์นั้นจะต้องตั้งอยู่บนกระบวนทัศน์ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งยังคงเป็นแบบกลไก ลดส่วน แยกส่วน แม้ว่าฟิสิกส์แบบเดิมนี้จะถูกหักล้างด้วยฟิสิกส์ใหม่เมื่อช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ไปแล้วก็ตาม

คาปร้าเห็นว่า การหลุดพ้นจากวิกฤตการณ์คือการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ใหม่ ที่จะนำไปสู่"การคิดใหม่-ทำใหม่"อย่างแท้จริงได้ คือการมองจักรวาล โลก มนุษย์ ธรรมชาติด้วยกระบวนทัศน์ใหม่ที่แตกต่างสิ้นเชิงกับกระบวนทัศน์ของฟิสิกส์แบบนิวตันและปรัชญาเดคาร์ต ทฤษฎีของฟิสิกส์ใหม่โดยไอน์สไตน์และกลุ่มนักฟิสิกส์ทฤษฎีควอนตัม มีหัวใจสำคัญของการค้นพบ คือ การดำรงอยู่ของสรรพสิ่งในจักรวาล โลก และวัตถุ ฯลฯทั้งหลาย รวมถึงอะตอม มิได้ดำรงอยู่ในรูปแบบของกลไก ตายตัว แยกส่วน สามารถคำนวณได้แม่นยำ หากดำรงอยู่ในลักษณะผสมผสานกลมกลืนในขณะเดียวกันก็ผกผันขัดแย้งกัน (Paradox) ด้วย ทฤษฎีของฟิสิกส์ใหม่เกิดขึ้นจากการศึกษาและทดลองเกี่ยวกับอะตอมซึ่งเคยเชื่อกันว่าเป็นหน่วยเล็กที่สุดของวัตถุมีความแข็งแกร่ง ไม่สามารถทำลายหรือเปลี่ยนแปลงได้ มีความคงที่ ตายตัว (โลกทัศน์ต่อ"ความจริง"ทางวัตถุนี้จึงสร้างกระบวนทัศน์ ระบบคิด วิธีวิทยาแบบกลไก แยกส่วนขึ้น)

แต่ฟิสิกส์ใหม่ในต้นศตวรรษที่ 20 พบว่า แท้จริงยังมีอนุภาคที่เล็กกว่าอะตอม ภายในมีอิเลคตรอน(-) โปรตรอน(+) วิ่งอยู่รอบนิวเคลียส และอนุภาคเหล่านี้มิใช่เป็นวัตถุแข็งตัน ตามความคิดของฟิสิกส์แบบนิวตัน หากแต่อนุภาคเหล่านี้มีการแปรเปลี่ยนตลอดเวลา อย่างมีความสัมพันธ์กันระหว่างสองขั้วที่ต่างกันนั้น และแปรเปลี่ยนไปในลักษณะต่าง ๆ กัน บางครั้งเป็นคลื่น เป็นแสง ฯลฯ ขึ้นกับการทดลองจัดบริบทที่ต่างกัน แสดงว่าการดำรงอยู่ เปลี่ยนแปลงของอนุภาคเหล่านี้ ไม่ตายตัว คงที่ หากขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างอนุภาค และระหว่างอนุภาคกับสิ่งแวดล้อม ที่ไม่อาจอธิบายได้อย่างแจ่มแจ้งเสมอไป ดังที่นักทฤษฎีควอนตัมพบว่า ไม่สามารถจะกำหนดการเปลี่ยนแปลงอย่างตายตัวของอิเล็คตรอนได้เสมอไป เนื่องจากการแปรเปลี่ยนบางครั้งมิได้เกิดจากสาเหตุที่อยู่ใกล้ชิดกัน แต่ถูกกำหนดขึ้นจากความสัมพันธ์ที่อยู่ห่างไกลออกไป ซึ่งอาจทราบหรือไม่ทราบ ทำให้นักฟิสิกส์ใหม่พบว่า สัมพันธภาพของสรรพสิ่งดำรงอยู่อย่างเป็นองค์รวมกัน ดังเช่นที่การเปลี่ยนแปลงของอิเล็คตรอนที่คาดเดาไม่ได้นั้น เกิดจากการเคลื่อนไหวของระบบทั้งหมดเป็นผู้กระทำ กระบวนทัศน์ของฟิสิกส์ใหม่จึงเป็นแบบองค์รวม และเห็นว่าองค์รวมเป็นตัวกำหนดการแปรเปลี่ยนของส่วนย่อย มิใช่ส่วนย่อยกำหนดความเป็นไปของส่วนทั้งหมด ดังเช่นกระบวนทัศน์แบบกลไก ลดส่วน แยกส่วนเชื่อเช่นนั้น

การค้นพบธรรมชาติของฟิสิกส์ใหม่นี้ ยังได้กระทบต่อวิธีวิทยาในการศึกษาธรรมชาติและปรากฏการณ์ทางสังคมด้วย เนื่องจากสรรพสิ่งดำรงอยู่อย่างสัมพันธ์ เปลี่ยนแปลงอย่างเป็นองค์รวม ความถูกต้องแม่นยำ คำนวณได้ไม่สามารถกระทำได้ในทุกกรณี ดังเช่นที่คาปร้าเห็นว่าฟิสิกส์แบบนิวตันมีประโยชน์ในการคำนวณปรากฏการณ์ธรรมชาติบางอย่างได้ เช่นการเคลื่อนที่ของดวงดาว น้ำขึ้นน้ำลง ฯลฯ และเป็นฐานที่มีประสิทธิภาพของการพัฒนาเทคโนโลยีจำนวนไม่น้อย

อย่างไรก็ตามฟิสิกส์แบบนิวตันมีปริมณฑลของความจริง ดังนั้นวิทยาศาสตร์จึงมิใช่เรื่องของสัจธรรมหากเป็นการอธิบายความจริงอย่างมีขอบเขต โดยการประมาณการ และฟิสิกส์ใหม่ทำให้พบว่าสิ่งที่ผู้ศึกษาจะทำได้มากที่สุดคือการคาด"ความเป็นไปได้"เท่านั้น นอกจากนี้ จากการทดสอบอนุภาคในทฤษฎีควอนตัมพบว่า ผู้ศึกษาเองก็เป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทดสอบและสังเกตด้วย ตลอดเวลา จึงไม่อาจแยกมนุษย์ออกไปได้ นั่นหมายความว่า ทัศนะสภาวะวิสัย(Objective) และ"ปลอดค่านิยม" (Value Free) เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

จากความรู้ในวิชาฟิสิกส์ใหม่และการศึกษาศาสนธรรมตะวันออก คาปร้าได้เสนอทัศนะใหม่ในการมองโลก ชีวิต และสรรพสิ่ง ในทฤษฎีกระบวนระบบ "Systems View of Life" ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้ (เสน่ห์ จามริก : "บทวิเคราะห์ว่าด้วยการศึกษากับการวิจัยและพัฒนา"ในการศึกษากับการวิจัยเพื่ออนาคตของประเทศไทย. กรุงเทพฯ: สำนักงานกองทุนสนับสนุนเพื่อการวิจัย, 2538. น.172-173 )

(1) ให้ความตระหนักรับรู้รวมถึงระบบนิเวศ เพราะฉะนั้นจึงมองโลกและชีวิตในความหมายที่เป็นความสัมพันธ์เกี่ยวโยง และการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของมวลปรากฏการณ์ทั้งหลาย

(2) ความตระหนัก และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ถึงคุณค่าความสำคัญของระบบนิเวศไม่อาจบังเกิดขึ้นได้โดยลำพังของความคิด หรือความรู้ที่ยึดแต่หลักความเป็นเหตุเป็นผล หากต้องประสานไปด้วยกันกับปัญญาหยั่งรู้อันเป็นลักษณะโดดเด่นของวัฒนธรรมแบบประเพณีที่ไม่ได้มีการสื่อกันด้วยภาษาหนังสือ (Non-literate)

(3) สิ่งมีชีวิตทุก ๆ หน่วย ตั้งแต่แบคทีเรียที่เล็กที่สุดขึ้นไปจนถึงพืช สัตว์ และมนุษย์ ต่างเป็นมวลรวม และระบบชีวิต และทั้งหมดประกอบกันขึ้นเป็นมวลรวม ในรูปของระบบสังคมอันมีโครงสร้างเฉพาะ ที่เกิดจากกระบวนการปฏิสัมพันธ์ และการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันของส่วนต่าง ๆ โดยนัยนี้ มวลรวมจึงมีธรรมชาติและความหมายที่แตกต่าง และนอกเหนือไปจากผลรวมของส่วนต่าง ๆ ทั้งหมด

(4) อย่างไรก็ดี โครงสร้างที่ว่านี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่กำหนดไว้ตายตัว หากแต่เป็นเครื่องแสดงออกของกระบวนการพื้นฐานที่ยืดหยุ่น แต่ทว่ามั่นคง("ธรรมชาติมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักรกลที่จะสร้างกันขึ้นมาให้ตรงตามต้นแบบอย่างหนึ่ง และก็กำหนดให้ทำงานไปตามที่ถูกสั่งเอาไว้ แต่(ธรรมชาติมนุษย์) เป็นเสมือนต้นไม้ที่ต้องเติบโต และพัฒนาตนเองในทุก ๆ ด้าน ตามความโน้มเอียงของพลังภายใน ซึ่งทำให้ธรรมชาติมนุษย์เป็นสิ่งที่มีชีวิต") และโดยนัยนี้เอง ความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตจึงเป็นเรื่องของกระบวนการ ในขณะที่การทำงานของเครื่องยนต์กลไกถูกกำหนดขึ้นจากโครงสร้าง แต่โครงสร้างของสิ่งมีชีวิตถูกกำหนดมาจากกระบวนการต่าง ๆ ทั้งหลาย

(5) ในทฤษฎีวิวัฒนาการของชาร์ล ดาร์วิน ปัญหาความอยู่รอดเป็นเรื่องของแต่ละชนิดพันธ์ทั้งหลายในโลกชีวภาพ แต่มาในปัจจุบัน เป็นที่ชัดเจนกันแล้วว่า ปัญหาจริง ๆ เป็นเรื่องความอยู่รอดของ"สิ่งมีชีวิตในสภาพแวดล้อมของตนเอง" สิ่งมีชีวิตใดที่คิดถึงแต่ความอยู่รอดของตนเองโดยลำพังเป็นสำคัญ ก็จะทำลายสภาพแวดล้อมของตน แล้วก็จะทำลายตนเองในที่สุด โดยนัยนี้ หน่วยของความอยู่รอดจึงมิใช่เรื่องของสิ่งมีชีวิตโดยตรง หากเป็นปัญหาเกี่ยวกับแบบแผนของการจัดองค์การ ซึ่งสิ่งมีชีวิตจัดตั้งขึ้นในการปฏิสัมพันธ์ต่อสภาพแวดล้อมของตน

(6) วิวัฒนาการของชีวิตประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรก เป็นการสืบพันธุ์ทางเพศ ขั้นตอนต่อมาเป็นการบังเกิดขึ้นของจิตสำนึกเป็นสื่อสร้างกลไกทางสังคมบนพื้นฐานของความนึกคิดและภาษา สัญลักษณ์ องค์การทางสังคม จึงเป็นระบบที่มีการจัดการของตัวเอง ระบบที่มีการจัดการของตัวเอง ย่อมมีความเป็นอิสระในระดับหนึ่ง แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า สิ่งมีชีวิตแยกออกจากสภาพแวดล้อม หากมีการปฏิสัมพันธ์ต่อสภาพแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ว่า ปฏิสัมพันธ์ที่ว่านี้ ไม่ใช่เป็นตัวกำหนดการจัดองค์กรของสิ่งมีชีวิต

(7) ในการทำความเข้าใจธรรมชาติมนุษย์ เราจึงต้องทำการศึกษาไม่เฉพาะแต่มิติด้านกายภาพและจิตวิทยาเท่านั้น หากรวมถึงด้านการแสดงออกทางสังคมและวัฒนธรรมด้วย เหนือชนิดพันธุ์อื่นใด มนุษย์เรารู้จักการมีการคิดร่วมกัน และเพราะฉะนั้นจึงได้สร้างสรรค์โลกของวัฒนธรรมและคุณค่าขึ้นมาเป็นองค์ประกอบส่วนหนึ่งของธรรมชาติแวดล้อมของมนุษย์ ด้วยเหตุนี้ลักษณะเฉพาะทางชีวภาพและวัฒนธรรมในธรรมชาติมนุษย์ จึงไม่อาจแบ่งแยกออกจากกันได้ มนุษยชาติก่อเกิดขึ้นมาโดยอาศัยกระบวนการสร้างสรรค์วัฒนธรรม และต้องอาศัยวัฒนธรรมที่ว่านี้ เพื่อความอยู่รอดและวิวัฒนาการสืบต่อไป

กล่าวโดยสรุป ความคิดหลักในกระบวนทัศน์นี้ คือการมองโลกในทางตรงข้ามกับแบบกลไก แยกส่วน ลดส่วน คือ เชื่อว่า สรรพสิ่งไม่ว่าตัวของมนุษย์ ธรรมชาติ ดำรงอยู่ในระบบความสัมพันธ์แบบองค์รวม ( Holism) ที่มีความเชื่อมโยงอันหลากหลายมิติ ซับซ้อน ไม่สามารถแยกส่วนหรือลดส่วนออกมาศึกษา จัดการได้ เนื่องจากคุณสมบัติขององค์รวมมีลักษณะเฉพาะมิใช่เกิดจากการรวมกันของส่วนย่อย ลักษณะเฉพาะดังกล่าวคือ เป็นกระบวนการ มีมิติที่เกินกว่าขอบเขตที่มองเห็นในทางวัตถุ
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
2.สู่ทฤษฎีข่ายใยชีวิต (The Web of Life)
(Capra , Fritjof . The Web of Life. London : Flamingo , 1997)

จากทฤษฎีกระบวนระบบนี้ คาปร้าได้พัฒนาทฤษฎีของเขาต่อเนื่องมาหลังจากนั้นอีก10 ปี ให้มีความชัดเจน เข้าใจในด้านรูปธรรมได้มากขึ้น ด้วยการศึกษาทฤษฎีจำนวนมากในทางวิทยาศาสตร์และอื่น ๆ อาทิ แนวคิดของกลุ่มนิเวศแนวลึก(Deep Ecology) ที่เชื่อว่ามนุษย์เป็นองค์ประกอบหนึ่งในระบบความสัมพันธ์ของนิเวศ มิได้เป็นศูนย์กลางของโลก(Anthropocentric) ตามความเชื่อเดิม , ทฤษฎีกายา (Gaia Theory) ของจอห์น เลิฟล็อค ที่เชื่อว่าโลกเป็นหน่วยชีวิต มิได้เป็นเพียงวัตถุ , ทฤษฎีคณิตศาสตร์ของความซับซ้อน (The Mathematics of Complexity) , โดยเฉพาะการศึกษาทฤษฎีระบบ (Systems Theory) ในยุคคลาสสิกของลุดวิก ฟอน แบลันโทรฟี นักชีววิทยาผู้ริเริ่มความคิดว่าระบบเป็นองค์รวมและเป็น"ระบบเปิด"(Open System) ,ทฤษฏีไซเบอร์เนติคส์ (Cybernatics)ที่ค้นพบวงจรป้อนกลับ(Feedback Loops) , ทฤษฎีซานติเอโกว่าด้วยพุทธิภาวะ (The Santiago Theory of Cognition) ,ทฤษฎีไร้ระเบียบ (Chaos Theory) เป็นต้น

เมื่อรวมกับความรู้ความเข้าใจในกระบวนทัศน์ของศาสนธรรมตะวันออก คาปร้าได้สังเคราะห์แนวคิดทฤษฎีต่างๆ ดังกล่าว เป็นทฤษฎีที่เรียกว่า "ข่ายใยแห่งชีวิต" หรือ The Web of Life(1996) หรือทฤษฎีของระบบชีวิต (The Theory of Living System)

หัวใจหรือความคิดหลักของทฤษฎีใหม่ที่คาปร้านำเสนอคือ ชีวิตทั้งหลายในระดับต่าง ๆ ล้วนดำรงอยู่อย่างเป็นระบบ ในลักษณะของระบบชีวิตที่โยงใยอยู่ด้วยกันเป็นข่ายใย โดยที่ระบบนิเวศเป็นระบบที่ใหญ่และสำคัญมากที่สุด คาปร้าเชื่อว่า การเข้าถึงความจริงในระบบนิเวศ จะทำให้เข้าใจในระบบชีวิตทั้งหลายด้วย เนื่องจากเขาเชื่อว่าการจัดระบบองค์กรของระบบนิเวศ คือหลักการจัดองค์กรของระบบชีวิตทุกระบบ มนุษย์ในฐานะระบบชีวิตหนึ่งของระบบใหญ่ จึงต้องจัดแบบแผนชีวิต ระเบียบสังคมให้สอดคล้องกับแบบแผนของระบบนิเวศ ในทัศนะของคาปร้า การพูดถึงระบบนิเวศก็คือการพูดถึง"ชุมชน" (Community)

วิกฤตการณ์ทั้งหลายในสังคมมนุษย์เกิดจากกระบวนทัศน์ การจัดการ ที่ขัดแย้งกับระบบใหญ่ที่ตนเองเชื่อมโยงอยู่ ปัญหาทั้งหลายจึงไม่อาจแก้ไขหรือคลี่คลายอย่างยั่งยืนได้ หากมนุษย์ไม่ทำความเข้าใจและจัดแบบแผนของระบบมนุษย์ทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นระบบชีวิตของปัจเจกบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กร สังคมโดยรวมให้สอดคล้องโยงใยกับระบบใหญ่หรือระบบนิเวศ เขาเชื่อว่าทฤษฎีข่ายใยชีวิตจะนำไปสู่ระบบคิด วิธีคิดแบบใหม่ ที่จะเปลี่ยนกระบวนทัศน์และแก้ไขวิกฤตการณ์ทั้งหลาย ตลอดจนนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้จริง คือ การคิดเชิงระบบ (Systems Thinking)ซึ่งเขาเชื่อว่าการเรียนรู้อย่างรอบรู้ในระบบนิเวศ(Ecoliteracy) จะทำเกิดการคิดอย่างเป็นระบบได้ ในทางกลับกันการเรียนรู้จากระบบชีวิต ชุมชนของตนเอง ก็เป็นหนทางที่ทำให้เกิดระบบคิดอย่างเป็นระบบได้ด้วยเช่นกัน ความเข้าใจในกฎของระบบนิเวศ (Principal of Ecology) จึงมีความสำคัญและเป็นพื้นฐานของการเข้าใจระบบชีวิตในระดับอื่น ๆ ทั้งหมด

กฎของระบบนิเวศ (Principles of Ecology)

http://www.ecoliteracy.org/pages/principlesofecology.html




1. เป็นเครือข่าย (Networks)

สมาชิกของระบบหรือชุมชนทั้งหมด ติดต่อเชื่อมโยงกันและกัน (Interconnected) เป็นเครือข่ายอันกว้างใหญ่ไพศาล ประณีตซับซ้อน ในลักษณะของความสัมพันธ์แห่งข่ายใยชีวิต (The Web of Life) คุณสมบัติของระบบชีวิต กำหนดจากระบบความสัมพันธ์แบบนี้





2.เป็นระบบซับซ้อน (Nested Systems)

ระบบของธรรมชาติทั้งหมด มีโครงสร้างของระบบซ้อนระบบ ที่หลากหลายระดับรวมอยู่ด้วยกันอย่างเป็นบูรณาการ(integrated) หรือองค์รวมเดียว เป็นระบบย่อยอิสระที่สัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่ใหญ่กว่าด้วย





3.เป็นวัฏ ( Cycles)

การปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างสมาชิก เกี่ยวข้องกับการแลก เปลี่ยนแปลงพลังงาน ทรัพยากรในวงจรที่ต่อเนื่องหมุนเวียน วงจรจะผ่านกันไปมา กับวงจรที่ใหญ่กว่าในระบบนิเวศ






4.เป็นระบบเลื่อนไหล (Flows)

ระบบชีวิตทั้งหมดเป็นระบบเปิด ซึ่งต้องการการหล่อเลี้ยงอย่างต่อเนื่องของพลังงาน และทรัพยากรเพื่อความอยู่รอด พลังงานแสงอาทิตย ์คือพลังธำรงชีวิตและขับเคลื่อนวงจรของนิเวศทั้งหมด
 



5.การพัฒนา (Development)

ชีวิตมีการพัฒนาและการเรียนรู้ เพื่อวิวัฒนาการทั้งในระดับปัจเจก และในระดับวงศ์ (species) มีการเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันในการสร้างสรรค์และการดัดแปลงกัน และกันของของหน่วยชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่มีวิวัฒนาการร่วมกัน






6. สมดุลอย่างพลวัต (Dynamic Balance)

ทุกวงจรในระบบนิเวศมีวงจรป้อนกลับ (Feedback Loops) ซึ่งทำให้ระบบสามารถควบคุมและจัดการกับตนเองได้ และรักษาสภาพสมดุลอย่างเป็นพลวัต (Dynamic) จากการแกว่งไหวอย่างต่อเนื่อง

__________________
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
ในทัศนะของคาปร้า การเข้าใจกฎแห่งระบบนิเวศหรือกฎธรรมชาตินี้ แม้จะมีความสำคัญแต่สิ่งที่เขาเห็นว่าสำคัญและเน้นมากกว่า คือการเข้าใจว่า ระบบนิเวศจัดการตนเองอย่างไร เขาย้ำถึงความสำคัญของการทำความเข้าใจกับแบบแผนของการจัดการ หรือ Pattern of Organization มากกว่าพยายามจดจำข้อหรือลำดับของกฎธรรมชาติ เพราะเขาเห็นว่า เมื่อใดที่เรากล่าวถึงกฎธรรมชาติ เป็นการยากที่จะระบุว่ามันเริ่มต้นที่ข้อใด จากไหนไปไหน เนื่องจากทั้งหมดเป็นองค์รวมเดียวกัน ต้องทำความเข้าใจไปพร้อมกันทั้งหมดในเวลาเดียวกัน ไม่สามารถจะแยกเป็นส่วน ๆ ในการสร้างกรอบทฤษฎีเพื่อการศึกษาระบบชีวิตระดับต่างๆ (มนุษย์ ครอบครัว ชุมชน สังคม) และทำความเข้าใจวิกฤตของระบบชีวิตทั้งหลายจากแบบจำลองของระบบนิเวศนี้

คาปร้าเรียกแบบจำลองนี้ว่า ข่ายใยชีวิต หรือ Web of life ที่มีความคิดหลัก (Main Idea / Key Concept) ในคำหลัก(Key Word) คือสัมพันธภาพ(Relationship),เครือข่าย (Network),แบบแผน (Pattern),โครงสร้างกระจาย(Dissipative Structure),กระบวนการ(Process),วงจรป้อนกลับ(Feedback Loop), การจัดการตนเอง (Self Organization) , การเรียนรู้และการสร้างสรรค์ (Learning and Creativity) โดยที่คำทั้งหมดเหล่านี้เป็นองค์รวมของคุณสมบัติหรือคุณลักษณะของระบบชีวิตทุกระดับ เป็นคุณสมบัติและลักษณะที่เชื่อมโยงอิงกันและกัน หมายความว่าคุณสมบัติจะดำรงอยู่ต่อเมื่อมันรวมกันอยู่เป็นองค์รวม ดังนั้น การแยกส่วนออกไปเท่ากับเป็นการทำลายคุณสมบัติของมันด้วย หรือการนำส่วนย่อยมารวมกันก็ไม่อาจเกิดคุณสมบัติเหมือนองค์รวมได้เช่นกัน

ความคิดหลัก
สัมพันธภาพ (Relationship)หรือความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน คือกุญแจสำคัญของระบบชีวิต ระบบนิเวศช่วยให้เราเข้าใจสัมพันธภาพของระบบชีวิตทั้งหลายว่า

(1) มีสัมพันธภาพระหว่างองค์ประกอบย่อย ๆ ทั้งหมดที่อยู่ภายในระบบใดระบบหนึ่ง


(2) มีสัมพันธภาพระหว่างระบบนั้นและระบบใหญ่กว่าที่แวดล้อมอยู่ ซึ่งคาปร้าบอกว่า สัมพันธภาพระหว่างตัวระบบกับสิ่งแวดล้อมของมัน คือสิ่งที่เราหมายถึงคำว่าบริบทหรือ"Context" โดยคำว่า Context นี้มาจากภาษาละติน แปลว่า"ถักทอเข้าด้วยกัน"


(3) บริบทจึงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ และการถักทอเข้าด้วยกันนี้เอง ทำให้เกิดความ สัมพันธ์แบบ"เครือข่าย" ที่เชื่อมโยงระบบต่างๆ ทั้งหลายเข้าด้วยกันทั้งหมด สัมพันธภาพแบบเครือข่ายจึงเป็นหัวใจสำคัญของทฤษฎีข่ายใยชีวิต เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่มิได้เป็นเส้นตรง (Nonlinear) หากแต่เป็นสัมพันธภาพที่ไปในทุกทิศทาง เอื้อให้เกิดการเวียนกลับ การเรียนรู้ และการพัฒนาขึ้น

การจัดรูปของสัมพันธภาพที่เกิดขึ้นซ้ำๆทำให้เกิดสิ่งที่คาปร้าเรียกว่าแบบแผน( Pattern ) คือการจัดรูปของสัมพันธภาพระหว่าง องค์ประกอบของระบบทั้งหลาย และ ระหว่างระบบในระดับต่างๆ กันด้วย เขาเห็นว่าแบบแผนดังกล่าว มีทั้งส่วนที่เป็นโครงสร้างทางวัตถุที่เห็นได้ทางกายภาพ แต่แบบแผนเป็นมากกว่าโครงสร้างทางวัตถุ (Material Embodiment) คือมีส่วนของสัมพันธภาพระหว่างรูปธรรม นามธรรมด้วย ดังนั้น ทั้งโครงสร้างและแบบแผนจึงเป็นสิ่งเดียวกันเนื่องจากแบบแผนการจัดองค์กรจะปรากฏได้เมื่อมันอยู่ในส่วนประกอบของโครงสร้างทางกายภาพ

ในทฤษฎีข่ายใยชีวิต คาปร้าศึกษาและให้ความเข้าใจใหม่ในเรื่องของโครงสร้างของระบบชีวิตว่าเป็น"โครงสร้างกระจาย" (Dissipative Structures) ที่มีลักษณะเอื้อต่อการเลื่อนไหลของความสัมพันธ์กับระบบอื่น ในขณะที่รักษาความสมดุลของระบบตนเองไว้ด้วย พร้อมกันนั้น หากมีการเลื่อนไหลของพลังงานหรือสสารเกิดขึ้นในระดับมาก จนกระทั่งถึงจุดที่ไร้เสถียรภาพ โครงสร้างจะแปรตัวเป็นโครงสร้างใหม่ แบบแผนใหม่ ที่สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มีสภาพ ระเบียบ พฤติกรรมใหม่ที่แตกต่างจากคุณสมบัติเดิม คาปร้าเรียกว่าเป็นการบังเกิด (Emergence) หรือเป็น"ความสร้างสรรค์" (Creativity) ของระบบชีวิต เป็นการจัดองค์กรด้วยตนเองของระบบชีวิต ที่ทำให้มีการพัฒนา การเรียนรู้และวิวัฒนาการ

จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าระบบชีวิตมีการเคลื่อนไหว แปรเปลี่ยนตลอดเวลา จึงมีลักษณะ "กระบวนการ"(Process) ดังนั้น โครงสร้าง แบบแผน กระบวนการ จึงแยกกันไม่ออก และจากผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ของ "ทฤษฎีซานติเอโกว่าด้วยพุทธิภาวะ" ( The Santiago Theory of Cognition) คาปร้าเห็นว่าช่วยทำให้เกิดแนวคิดใหม่ ความเข้าใจใหม่ในเรื่องจิตของระบบชีวิตด้วย โดยทฤษฎีดังกล่าวพบว่ากระบวนการของการรู้ เป็นสิ่งเดียวกับกระบวนการของระบบชีวิต มีความเกี่ยวข้องกับการสร้างตนเอง การรักษาไว้ซึ่งเครือข่ายของระบบชีวิต และรวมการรับรู้ (Perception) อารมณ์ความรู้สึก (Emotion) และพฤติกรรม (Behavior) ด้วย พุทธิภาวะจึงมิได้เกิดจากสมองและระบบประสาทเพียงเท่านั้น

ระบบชีวิตมีกระบวนการที่เคลื่อนไหวเป็นวงจรหรือวัฏ มีวงจรป้อนกลับ (Feedback Loops) อยู่ในเครือข่าย แบบแผน โครงสร้าง ทำให้เกิดการจัดการด้วยตนเอง (Self Organization) และควบคุมตนเอง (Self Regulation)ได้ ระบบจึงพัฒนาได้เองด้วย อย่างไรก็ตาม การที่ทุกส่วนเป็นเรื่องของสัมพันธภาพโดยรวม การจัดการด้วยตนเองจึงมิได้หมายถึงความอิสระอย่างสิ้นเชิงหรือสัมบูรณ์ แต่หมายถึงการจัดการด้วยตนเองเกิดขึ้นได้ เพราะสัมพันธภาพที่มีร่วมเป็นองค์รวมกันองค์ประกอบอื่นภายในระบบเองและกับระบบอื่นทั้งหมด ระบบทั้งหลายจึงเป็นระบบเปิด(Open Systems) และการที่ระบบสามารถจัดการตนเองได้ ระบบจึงมีประสบการณ์ที่คาปร้าเรียกว่าเป็นการเรียนรู้ที่สะสมจากประสบการณ์ในระบบชีวิตทำให้เกิดการพัฒนา (Development)ขึ้นด้วย และความสัมพันธ์แบบเครือข่ายทำให้ความร่วมมือ(Cooperation) และการเป็นหุ้นส่วน (Partnership) ความเป็นหมู่คณะ (Collective) ขององค์กรมีความสำคัญอย่างยิ่งยวดมากกว่าการแข่งขัน ( Competition)

คุณสมบัติต่าง ๆ ของระบบชีวิตดังที่กล่าว คาปร้าเห็นว่า ไม่อาจเข้าถึงหรือทำความเข้าใจได้ด้วยการใช้ตรรกะหรือเหตุผล (Rational) ซึ่งมีลักษณะเส้นตรง (Linearity)แต่การเข้าถึงความจริงของระบบชีวิตต้องอาศัยประสบการณ์ที่เป็นญาณทัสนะ (Intuition) เป็นการหยั่งรู้แบบเชื่อมโยงสรรพสิ่งในเวลาเดียวกัน เชื่อมการรับรู้ภายในเข้ากับความเป็นไปของภายนอกให้เป็นเอกภาพเดียวกัน ซึ่งเขาเห็นว่าคนในสังคมตะวันตกไม่เข้าใจและคุ้นเคย หากแต่เป็นสิ่งที่ปกติสามัญในกระบวนการเรียนรู้ของศาสนาตะวันออก (สมาธิ)

จากความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศนี้ ทำให้รู้ถึงคุณสมบัติสำคัญอีก 2 ประการของทุกระบบชีวิตในทุกระดับ คือ ความยืดหยุ่น (Flexibility) และความหลากหลาย (Diversity) การที่แบบแผน โครงสร้าง กระบวนการมีพลวัต ระบบชีวิตจึงมีการแกว่งไหว (Fluctuation)อย่างต่อเนื่องจึงมีความยืดหยุ่นสูง ไม่ตึง เข้มงวด ทำให้ระบบชีวิตฟื้นฟูสภาพหรือจัดระเบียบตนเองได้ง่าย และการที่สัมพันธภาพมีความหลากหลายย่อมเอื้อต่อการพัฒนาระบบชีวิต แต่คาปร้าได้ชี้ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับความหลากหลาย ซึ่งเป็นคำที่มีการกล่าวถึงและให้ความสำคัญในระยะหลังมานี้ว่า หากเข้าใจไม่ถูกต้อง อาจทำให้ระบบชีวิตเกิดวิกฤตมีความรุนแรงขึ้นในระบบได้

กล่าวคือ ความหลากหลายจะเป็นประโยชน์แก่เครือข่าย ต่อเมื่อมีการเลื่อนไหลของข้อมูลข่าวสาร(Information)อย่างทั่วถึงตลอดเครือข่าย ทำให้ความหลากหลายนั้นเป็นการเรียนรู้ความต่างของกันและกัน เพื่อปรับการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสม นำไปสู่วิวัฒนาการใหม่ ๆ ในทางตรงข้ามความหลากหลายจะกลายเป็นอุปสรรค หากการเลื่อนไหลของความแตกต่างถูกจำกัดไว้ ทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในระบบ กลายเป็นความรุนแรงได้

คาปร้ายกตัวอย่างสังคมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม จะได้ประโยชน์จากความหลากหลายต่อเมื่อมีการพึ่งพาอาศัยกัน มีการแลกเปลี่ยนและการไหลเลื่อนของข้อมูล การเรียนรู้ ฯลฯ ในทางตรงข้าม ความหวาดระแวงและความรุนแรงจะเกิดขึ้นสูง เมื่อความหลากหลายถูกสกัดกั้นในระบบ ปราศจากสัมพันธภาพ
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
แม้ระบบชีวิตจะมีคุณลักษณะสำคัญดังที่กล่าวมา แต่คาปร้าก็เห็นว่าสรรพสิ่งมิได้สัมพันธ์กันในแบบเดียวกันหมด และในระดับเท่ากันหมด โดยระบบชีวิตทุกระดับที่มีมนุษย์เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น โดยเฉพาะระดับสังคม(Social Systems) จะมีความแตกต่างอย่างสำคัญ คือ มีความสัมพันธ์ 3 ระดับ ได้แก่

ระดับวัตถุ (Material) เช่น เงิน ทรัพยากรธรรมชาติ ฯลฯ,

ระดับชีววิทยา คือชีวิตและจิตใจ (Life and Mind) และ

ระดับสุดท้าย คือจิตสำนึก อันเป็นเรื่องของการให้ความหมาย ค่านิยม จริยธรรม ซึ่งคาปร้าเห็นว่า เป็นระดับที่มีในมนุษย์เท่านั้น

การบริหารจัดการองค์กรของมนุษย์ จะต้องรู้และไปครบทั้ง 3 ระดับ จึงจะพัฒนาองค์กรที่มีมนุษย์เกี่ยวข้องอยู่ได้สำเร็จ นอกจากนี้มนุษย์ยังเป็นระบบชีวิตที่มีจุดมุ่งหมาย (Purpose) ซึ่งสร้างขึ้นจากความสามารถในการสร้างภาพของจิต(Mental Images) ซึ่งเป็นคุณลักษณะของจิตสำนึกมนุษย์ที่ไม่มีในพืชและสัตว์ที่อยู่ระดับต่ำกว่า และพุทธิภาวะของมนุษย์นั้นยังมีความคิดเชิงมโนทัศน์ (Conceptual Thought) สติสัมปชัญญะ (Self Awareness) และจิตสำนึก (Consciousness) ที่ไม่มีในระบบชีวิตอื่นด้วย และในอาณาบริเวณของสังคมมนุษย์ การสื่อสาร(Communication) ภาษาและการสนทนา (Conversation) เป็นสิ่งสำคัญในกระบวนการของระบบชีวิตมนุษย์

3.หัวใจข่ายใยชีวิต : การคิดเชิงระบบ
(Systems Thinking)

ด้วยกระบวนทัศน์ใหม่จากทฤษฎีข่ายใยชีวิตนี้ คาปร้าเชื่อว่า เป็นการสร้างความหมายใหม่แก่"ชีวิต"ในมิติวิทยาศาสตร์ และเป็นการเปลี่ยนวิทยาศาสตร์แบบกลจักรให้เป็นวิทยาศาสตร์แบบชีวิต (Life Science) ที่จิต วัตถุ และชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกันครั้งแรก เขาเชื่อว่ากระบวนทัศน์ที่เปลี่ยนย้ายนี้ จะก่อให้เกิดสิ่งที่เขาเรียกว่าการคิดเชิงระบบ ( Systems Thinking)ด้วย เป็นระบบคิด วิธีคิดชุดใหม่ของมนุษย์ที่มีต่อสรรพสิ่ง และจะเปลี่ยนวิถีที่มนุษย์สัมพันธ์กันทั้งหมด และสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทฤษฎีข่ายใยชีวิต ครอบคลุมทั้งชีวิต ชุมชน องค์กรธุรกิจ ระบบการศึกษา สถาบันทางสังคม การเมือง ระบบนิเวศฯลฯ

จากการศึกษา คาปร้าพบว่า ความคิดเชิงระบบเริ่มปรากฏและพัฒนามาในหลายสาขาวิชา จากการค้นพบใหม่ ๆ ทั้งในชีววิทยา จิตวิทยา นิเวศวิทยา แต่ที่ก่อผลเด่นชัดมากที่สุดคือ จากทฤษฎีควอนตัมในวิชาฟิสิกส์ ที่พบอย่างน่าตื่นใจว่า "ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าส่วนประกอบ(Part) อยู่เลย สิ่งที่เราเรียกว่า"ส่วนประกอบ"นั้น เป็นแบบแผน(Pattern) ของข่ายใยความสัมพันธ์ที่แยกออกจากกันไม่ได้"

ดังนั้น การเอาส่วนประกอบย่อยมาเชื่อมโยงเป็นองค์รวม จึงเหมือนการเอาวัตถุมาเชื่อมต่อให้สัมพันธ์กัน ซึ่งแน่นอนว่ามีปฏิสัมพันธ์และเกิดความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบเหล่านั้น แต่ความสัมพันธ์เกิดขึ้นเป็นอันดับที่ 2 หรือภายหลัง ในขณะที่ระบบองค์รวม เห็นว่าสิ่งต่าง ๆ โดยตัวมันเองเป็นเครือข่ายของความสัมพันธ์ที่อยู่ในเครือข่ายที่ใหญ่กว่า นักคิดเชิงระบบจึงเชื่อว่าความสัมพันธ์เชื่อมโยงเป็นสิ่งพื้นฐานหรืออันดับแรกสุด (เป็นตัวของระบบเอง) ส่วนขอบเขตของรูปแบบหรือวัตถุที่มองเห็นนั้น เกิดขึ้นเป็นที่สอง

ส่วนอีกทัศนะหนึ่ง คือกระบวนทัศน์แบบกลไก ลดส่วน แยกส่วน ที่เดคาร์ตสร้างขึ้นเป็นระบบคิดแบบวิเคราะห์ (Analytical Thinking) คือการแตกปรากฏการณ์ที่ซับซ้อนให้เป็นส่วน ๆ แล้วศึกษาคุณสมบัติของส่วนประกอบนั้น เพื่อเข้าใจในพฤติกรรมของทั้งหมด การเชื่อมโยงสัมพันธ์เกิดขึ้นภายหลัง ดังนั้นในขณะที่นักคิดเชิงระบบเห็นว่า "องค์รวมเป็นมากกว่าผลรวมขององค์ประกอบของมัน" ("The whole is more than the sum of its parts") ระบบคิดแบบกลไกจะคิดว่า "องค์รวมไม่ใช่อะไรอื่น นอกจากผลรวมขององค์ประกอบของมัน"

ในทัศนะของคาปร้า การคิดเชิงระบบ หมายถึงการเปลี่ยนย้ายมุมมองจากองค์ประกอบสู่องค์รวม และสิ่งที่องค์รวมมีมากกว่าคือ "สัมพันธภาพ" การคิดเชิงระบบจึงเป็นการคิดในมุมมองของสัมพันธภาพ เป็นการย้ายจุดเน้น (Focus) จากตัววัตถุมาอยู่ที่สัมพันธภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ชั่งตวงวัดไม่ได้ แต่จะศึกษาและทำความเข้าใจได้โดยการทำแผนที่ (Mapping) ความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ

คาปร้าเห็นว่าการปรากฏซ้ำ ๆ ของสัมพันธภาพ นำไปสู่"แบบแผน"(Pattern ) ดังนั้น การคิดเชิงระบบจึงเป็นการเปลี่ยนมุมมองจากตัวเนื้อหา (Contents) มาสู่การมองแบบแผน คือให้ความสำคัญแก่ระบบคิด วิธีการคิด มากกว่าเนื้อหา และกฎนิเวศทำให้เห็นว่า แบบแผนทั้งหมดสัมพันธ์อยู่กับบริบท สิ่งแวดล้อม หรือระบบที่ใหญ่กว่า เขาจึงเรียกการคิดเชิงระบบว่าเป็น "การคิดเชิงบริบท" (Contextual Thinking) และเป็นการคิดเชิงกระบวนการ (Process Thinking) ด้วย เพราะในตัวระบบ บริบทมีการเคลื่อนไหว เลื่อนไหลอยู่ตลอดเวลานั่นเอง อีกทั้งเห็นว่าการคิดเชิงระบบเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะสรรพสิ่งทั้งหลายดำรงอยู่เป็นระบบ การคิดของมนุษย์จึงต้องเป็นระบบด้วย คือ คิดแบบเชื่อมโยงกันและกัน มีสัมพันธภาพและบริบท (Interconnections Relationships and Context ) และถึงแม้ว่าโดยข้อเท็จจริง ความเชื่อมโยงกันหรือสัมพันธภาพของสรรพสิ่งจะมิได้เท่ากันหมด มีระดับแตกต่างกัน แต่มนุษย์ไม่สามารถแยกส่วนความคิด เลือกเฉพาะที่สำคัญมากสำหรับตนเอง แล้วทิ้งส่วนไม่สำคัญหรือสำคัญน้อย เพราะเท่ากับละเลยกฎความจริงของระบบชีวิต

จากความคิดหลักในทฤษฎีข่ายใยชีวิต คาปร้าเชื่อว่า การคิดเชิงระบบของมนุษย์ มิใช่เป็นเพียง"ความคิด"ล้วน ๆ แต่รวมค่านิยม (Values) ไว้ด้วย ดังนั้น ระบบคิด จะประกอบด้วย ความคิดและค่านิยม ตามแบบกระบวนทัศน์แต่ละแบบ ที่แสดงเปรียบเทียบได้ดังนี้

ระบบคิด-วิธีคิดของกระบวนทัศน์ 2 แบบ
ปรับปรุงจาก Capra , Fritjof. The Web of Life. op.cit. p10 และ Fritjof Capra 's Perspective : A Crisis of Perception . < http://freespace.virgin.net/steve.charter/big-picture/capra.html> 12 / 10 / 2000

กระบวนทัศน์แบบกลไก ลดส่วน ฯ ระบบคิดแบบเดี่ยว
(Self-Assertive)

ความคิด (Thinking)
- เหตุผล ( Rational)
- วิเคราะห์ ( Analysis)
- เส้นตรง ( Linear)
- ลดส่วน แยกย่อย (Reductionist)

- ค่านิยม (Value)
- การแข่งขัน ( Competition) การแผ่ขยาย (Expansion) การครอบครอง ( Domination)
- ปริมาณ (Quantity)


กระบวนทัศน์แบบนิเวศ /องค์รวม
ระบบคิดแบบบูรณาการ
Integrative(การคิดเชิงระบบ)

ความคิด (Thinking)
- ญาณทัศนะ ( Intuitive)
- สังเคราะห์ (Synthesis)
- ไม่เป็นเส้นตรง (Non-linear)
- องค์รวม ( Holistic)

ค่านิยม (Value)
- ความร่วมมือ ( Co-operation)
- การอนุรักษ์ (Conservation)
- ความเป็นภาคี (Partnership)
- คุณภาพ (Quality)

คาปร้าเห็นว่า ในทุกระบบชีวิต มีระบบคิดทั้ง 2 แบบ ทำหน้าที่แตกต่างกันเพื่อรักษาสัมพันธภาพภายในและภายนอกระบบให้สมดุล จึงไม่มีอันหนึ่งดีกว่าหรือเลวกว่าอีกอันหนึ่ง ในระบบชีวิตที่มนุษย์เกี่ยวข้องด้วย ปัญหาเกิดจากความไม่สมดุลในระบบคิด ซึ่งเสียดุลไปทางระบบคิดแบบเดี่ยวตามกระบวนทัศน์แบบกลไก โดยละทิ้งระบบคิดแบบบูรณาการตามกระบวนทัศน์นิเวศ

คาปร้าเห็นว่าการคิดแบบเดี่ยวไปในทางแข่งขัน แผ่ขยาย ครอบครอง เป็นระบบคิดที่มักเชื่อมโยงกับเพศชาย ดังนั้นในสังคมชายเป็นใหญ่จึงมีแนวโน้มการคิดแบบเดี่ยวมาก โดยเฉพาะเมื่อรวมกับผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ และอำนาจด้วย ทำให้การเปลี่ยนสู่สมดุลของระบบคิด 2 แบบ จึงเกิดขึ้นยาก โดยเฉพาะ"อำนาจ"ในความหมายของการครอบงำ สั่งการนั้น มักไม่เปิดโอกาสให้แก่ระบบคิดแบบบูรณาการ เพศหญิงซึ่งมีระบบคิดแบบนี้มากกว่า จึงมีโอกาสเปลี่ยนดุลของระบบคิดได้ยาก อย่างไรก็ตามคาปร้าเชื่อว่า การสร้างอำนาจขึ้นใหม่ด้วยระบบ"เครือข่าย" จะเป็นหนทางสำคัญของการปรับสมดุลของระบบคิดทั้ง 2 แบบได้
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
4.ทฤษฎีข่ายใยชีวิตและการศึกษาทางสังคมศาสตร์

คาปร้าเชื่อว่าทฤษฎีข่ายใยชีวิตที่เขาสังเคราะห์ขึ้น จากโลกทัศน์ ปรัชญา และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์จำนวนมากและหลายทฤษฎีได้ผ่านการแลกเปลี่ยนถกเถียงกับเจ้าของแนวคิด-ทฤษฎีด้วย เป็นทฤษฎีที่จะเป็นกระบวนทัศน์ใหม่ในการมองโลก สังคม มนุษย์ และสร้างระบบคิดแบบใหม่ที่มีขอบเขตการใช้ได้อย่างกว้างขวาง โดยไม่ติดอยู่กับศาสตร์ สาขา หรือเนื้อหา หรือระดับ(Level) ไม่ว่าระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน สังคมใหญ่ ไปกระทั่งระบบนิเวศ เขาได้นำทฤษฎีระบบชีวิตหรือข่ายใยชีวิตนี้ ไปจัดการศึกษาที่เรียกว่า Ecoliteracy สร้างการศึกษาใหม่ที่ให้ความคิดเชิงระบบจากการเรียนรู้ระบบนิเวศ และนำกรอบความคิดของทฤษฎีดังกล่าวไปวิเคราะห์ระบบชุมชน โดยการพิจารณาสัมพันธภาพ แบบแผน โครงสร้าง กระบวนการ วงจรป้อนกลับ การจัดการตนเอง ความหลากหลาย ฯลฯของระบบ ทำให้เห็นถึงปัญหาการดำรงอยู่ของระบบชุมชน สาเหตุของวิกฤตการณ์ในระบบ รวมทั้งเห็นทางออกของการจะไปสู่วิวัฒนาการหรือพัฒนาการของระบบที่มีความยั่งยืน รวมทั้งได้เสนอทฤษฎีระบบชีวิตนี้วิเคราะห์การจัดการระบบเกษตรกรรมที่มีความยั่งยืน สอดคล้องระหว่างระบบนิเวศ เกษตรกรรมและชุมชนด้วย

นอกจากนี้ คาปร้ายังได้นำทฤษฎีของเขาเข้าไปศึกษาร่วมกับกลุ่มนักธุรกิจในยุโรป เพื่อชี้ให้เห็นถึงวิฤตการณ์ของธุรกิจและสิ่งแวดล้อมจากกระบวนทัศน์และระบบคิดแบบเส้นตรง เป็นกลไก ลดส่วนแยกส่วนของธุรกิจกระแสหลัก ที่มักคิดจำกัดเพียงการผลิต การบริโภค การทิ้งฯลฯ ไปสู่การคิดใหม่อย่างมีสัมพันธภาพกับระบบอื่นด้วย และใช้ทฤษฎีข่ายใยชีวิตศึกษาการบริหารจัดการองค์กร ในฐานะของระบบชีวิต ที่มีระบบย่อยซ้อนอยู่มากมายในระบบหรือบริบทอื่นที่ใหญ่กว่า องค์กรมิได้เป็นเครื่องจักร กลไก จึงไม่สามารถจัดการด้วยการคิดถึงแต่ปัญหาการเงิน การตลาด การวิจัยและพัฒนา (R&D) ฯลฯ รวมทั้งศึกษาการบริหารองค์กรและบุคคลจากความคิดหลักของทฤษฎีข่ายใยชีวิตด้วย นอกจากนี้ ยังมีผู้นำกระบวนทัศน์แบบองค์รวมเข้าไปศึกษาการจัดการด้านการบัญชีอีกด้วย

ในทัศนะของคาปร้า การศึกษาปัญหาใหญ่ ๆ ทั้งหลายในโลกปัจจุบัน ไม่สามารถเข้าใจได้โดยการแยกเดี่ยว (Isolation) เพราะเป็นปัญหาเชิงระบบ ที่มีทั้งส่วนที่เชื่อมโยงต่อเนื่องกับส่วนอื่น (Interconnected) และส่วนที่พึ่งพาอาศัยกัน (Interdependent) เช่น เขาเห็นว่าปัญหาความมั่นคงของจำนวนประชากรโลกนั้น จะเป็นไปได้ต่อเมื่อความยากจนถูกทำให้ลดลงทั่วโลกเท่านั้น และปัญหาการสูญพันธุ์ของพืชสัตว์จำนวนมหาศาลจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป ตราบเท่าที่ซีกโลกใต้ยังมีภาระหนี้สินจำนวนมหาศาล

คาปร้าเห็นว่าการเปลี่ยนกระบวนทัศน์จะทำให้เราเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ต่อความยากจน เมื่อพูดถึงมาตรฐานชีวิต (Living Standard) ในซีกโลกใต้ที่ยากจน จะเป็นการพูดถึงคุณภาพของชีวิต คุณภาพของน้ำ ของอากาศ คุณภาพความสัมพันธ์ของบุคคลในชุมชน ฯลฯ ซึ่งการคิดใหม่ดังกล่าว จะนำไปสู่การจัดการที่เป็นรูปธรรมและมีขั้นตอนด้วย

และจากความคิดหลักในทฤษฎีข่ายใยชีวิต ทำให้คาปร้าเห็นว่า ขบวนการสังคม(Social Movements) เป็นองค์ประกอบสำคัญของระบบชีวิตในระดับสังคม โดยเฉพาะขบวนการสังคมด้านนิเวศและสตรี โดยเฉพาะในส่วนของสตรี เนื่องจากคาปร้าเห็นว่า ปัญหาสังคมทั้งหลาย มาจากวิกฤตการณ์ทางวัฒนธรรมที่มีผู้ชายเป็นใหญ่(Patriachy)เป็นการเสียสมดุลไปทางฝ่าย"หยาง" ตามความเชื่อในลัทธิเต๋า ซึ่งแบ่งสภาวะธรรมเป็น 2 ขั้วตรงข้ามกัน แต่เป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน (องค์รวม) เขาจึงเห็นว่า บทบาทของสตรี ("หยิน") มีความสำคัญและความหมายมากต่อการเปลี่ยนกระบวนทัศน์และการแก้ไขวิกฤตการณ์ทั้งหลาย

5.ข้อเด่นและข้อจำกัดทางทฤษฎี

ข้อเด่นของทฤษฎี :

(1) ทฤษฎีของคาปร้าเกิดขึ้นในทางตรงข้ามกับทฤษฎีสังคมศาสตร์จำนวนมาก ซึ่งเกิดขึ้น จากการที่นักสังคมศาสตร์ไปนำแนวคิดทางวิทยาศาสตร์เข้ามาประยุกต์ใช้อธิบายปรากฏการณ์ทางสังคม เช่น จอห์น ล็อค นักปรัชญาการเมืองคนสำคัญ ได้พัฒนาทัศนะแบบอะตอมในทางสังคมในการวิเคราะห์ธรรมชาติของมนุษย์ในฐานะปัจเจกชน ซึ่งได้กลายเป็นรากฐานของการพัฒนาทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ และการเมืองสมัยใหม่

นอกจากนี้มี การนำทฤษฎีระบบ (Systems Theory) ของ ลุดวิก ฟอน แบทาลันฟี (Ludwig Von Bertalanffy) นักชีววิทยาผู้ริเริ่มเสนอทัศนะแบบองค์รวมในชีววิทยา และเสนอแนวคิดระบบเปิด(Open Systems)ในระบบชีวิต มาใช้ในสังคมศาสตร์สาขาวิชาต่างๆ จำนวนมาก เช่น ทฤษฎีระบบในวิชารัฐศาสตร์ ของเดวิด อีสตัน ทฤษฎีระบบในการบริหารองค์การ ในทางสังคมสงเคราะห์เอง ทฤษฎีระบบได้มีการนำมาใช้เป็นทฤษฎีหลักอันหนึ่งในการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ อย่างไรก็ตามการนำมาใช้ของนักสังคมศาสตร์ มักเป็นการนำมาใช้ด้วยกระบวนทัศน์แบบกลไก ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช วิจารณ์ว่าเป็นการมองระบบแบบตัดขวาง-เป็นระบบที่ขาดมิติด้านเวลา ทฤษฎีวิวัฒนาการของดาร์วิน ก็ได้รับการนำมาใช้ทางสังคม (Social Darwinian) ซึ่งทำให้เกิดความเชื่อในเรื่องการแข่งขันเพื่อความอยู่รอด การมีอำนาจเหนือเผ่าพันธุ์อื่น เป็นต้น

งานของคาปร้าเกิดขึ้นในทางตรงข้าม คือ เป็นงานของนักวิทยาศาสตร์ที่เข้ามาศึกษาและสร้างแนวคิด ทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ โดยอาศัยพื้นฐานความรู้ทางปรัชญาตะวันตก ตะวันออก และความรู้ในวิชาฟิสิกส์ซึ่งถือเป็นฐานของวิทยาศาสตร์สาขาอื่น รวมทั้งการศึกษาอย่างต่อเนื่องในวิทยาศาสตร์แขนงอื่นอย่างยาวนาน แล้วสังเคราะห์เป็นทฤษฎี ที่มีลักษณะข้ามสาขาวิชา (Transdisciplinary) เป็นทฤษฎีในระดับกระบวนทัศน์ ที่อธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทั้งทางวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์, วัตถุ จิตวิญญาณ ชีวิต

นอกจากนี้ การที่คาปร้ามีความเข้าใจอย่างดียิ่งในปัญญาญาณตะวันออก มีผลให้ทฤษฎีข่ายใยชีวิตที่มาจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีลักษณะเด่นคือมี"ชีวิต" (ดังที่เขาเรียกว่าเป็นวิทยาศาสตร์ชีวิต/Life Science) ถึงแม้คาปร้าจะเป็นนักฟิสิกส์ แต่ก็เห็นข้อจำกัดของวิชาฟิสิกส์ แม้จะเป็นฟิสิกส์ใหม่ที่ไปพ้นแบบกลไก ลดส่วน แยกส่วนก็ตาม เพราะเขาก็เห็นว่า ฟิสิกส์ใหม่ก็ยังคงเป็นฟิสิกส์ ที่เกี่ยวข้องอยู่กับปรากฏการณ์ทางวัตถุเป็นสำคัญ ไม่มีที่ว่างให้กับเรื่องของจิตใจ จิตวิญญาณ จิตสำนึก (Mind , Spirit ,Consciousness) ดังนั้น แม้ฟิสิกส์ใหม่จะสำคัญแต่ก็เป็นเพียงส่วนเดียว เพื่อช่วยให้เกิดความเข้าใจในองค์ประกอบที่ไม่มีชีวิตที่อยู่ในในระบบชีวิตทั้งหมด แต่ความเข้าใจในเรื่องของชีวิต จิตวิญญาณมีความสำคัญต่อการทำความเข้าใจ"ระบบชีวิต"มากกว่า เขาเห็นว่าหากเข้าใจเรื่องชีวิตแล้ว ย่อมทำให้เข้าใจองค์ประกอบทุกส่วนของระบบด้วย

(2) ทฤษฎีข่ายใยชีวิตหรือระบบชีวิต มีระดับการวิเคราะห์ที่ใช้ได้หลายระดับ ตั้งแต่การวิเคราะห์ระบบนิเวศที่เป็นระบบชีวิตที่ใหญ่ที่สุดของโลก , ระบบใหญ่ของสังคมทั้งหมดและระบบย่อยในสังคม เช่น ระบบการเมือง เศรษฐกิจ การศึกษา , ระบบชุมชน , ระบบครอบครัว , ระบบองค์กร , ระบบชีวิตของปัจเจกบุคคล ตามแนวคิดของคาปร้า ระบบที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นระบบเดียวกัน มีสัมพันธภาพต่อกันทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม เขาเห็นว่า ในการศึกษาไม่จำเป็นจะต้องศึกษาหมดทุกระดับ เนื่องจากในความเป็นจริงนั้น ระดับสัมพันธภาพของแต่ละระบบชีวิตจะไม่เป็นแบบเดียวกัน และเท่ากันหมด ทฤษฎีนี้จึงเอื้อต่อการศึกษาปรากฏการณ์ในระดับต่าง ๆ ได้ดี โดยที่ผู้ศึกษาสามารถจะขยายหรือจำกัดระบบชีวิตที่ศึกษา อย่างตระหนักรู้ในองค์รวมของความสัมพันธ์ เช่นศึกษาระบบครอบครัวและระบบชุมชน โดยดูแบบแผน(Pattern)ของสัมพันธภาพ และคำหลักอื่นๆ ในทฤษฎีข่ายใยชีวิต โดยไม่ละเลยต่อบริบทที่ระบบทั้งสองมีสัมพันธภาพอยู่

ข้อวิจารณ์และข้อจำกัด

แนวคิดและทฤษฎีของคาปร้า ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ในกระแสหลัก แม้ในกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ฟิสิกส์เอง มีจำนวนไม่น้อยที่ไม่เข้าใจในช่วงต้นเมื่อเขานำเสนอเต๋าแห่งฟิสิกส์ แม้ในงานช่วงต่อมาก็เช่นกัน ส่วนมากเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มาจากความเห็นต่างทางกระบวนทัศน์ และความไม่เข้าใจในญาณวิทยาตะวันออก ซึ่งมีลักษณะนามธรรมและเป็นประสบการณ์ของการเข้าถึงความจริง ผ่านกระบวนการเรียนรู้และประสบการณ์ทางจิต ซึ่งคาปร้าเห็นว่าไม่สามารถเข้าใจได้จากการพูดเล่าประสบการณ์ หรือนำเสนอทางคำพูดใด ๆ ได้

ข้อวิจารณ์เหล่านี้ลดลงและมีความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น เมื่อศาสนธรรมจากตะวันออก เช่นพุทธศาสนานิกายเซน เต๋า ทิเบต ฯลฯ ได้รับความสนใจและแผ่ขยายอย่างกว้างขวางทั้งในยุโรป อเมริกาในครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา นอกจากนี้ หลายทฤษฎีที่เขาสังเคราะห์มาใช้ ยังเป็นทฤษฎีที่มีปัญหา และข้อถกเถียงอันไม่ยุติอยู่ ข้อจำกัดที่สำคัญอีกประการที่ได้รับการกล่าวถึงมาก คือ คาปร้าให้น้ำหนักน้อยแก่ปัจจัยหรือตัวแปรด้านอำนาจ และปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามากระทบต่อกระบวนทัศน์ในระบบชีวิตระดับต่าง ๆ เช่น โครงสร้างการเมือง ระบอบการปกครอง เศรษฐกิจ เทคโนโลยีฯลฯ เนื่องจากมุ่งน้ำหนักไปที่เรื่องของกระบวนทัศน์เป็นสำคัญ จนอาจทำให้การประยุกต์ใช้เกิดจุดอ่อนขึ้นได้ว่า กระบวนทัศน์เป็นปัจจัยเดี่ยวที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ ทั้ง ๆ ที่วิกฤตการณ์เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย โดยกระบวนทัศน์เป็นปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งเท่านั้น

นอกจากนั้น กระบวนทัศน์แต่ละแบบ และการเปลี่ยนย้ายกระบวนทัศน์ก็มีปัจจัยและตัวแปรต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง กระทำให้เกิดกระบวนทัศน์แต่ละแบบขึ้น และทำให้กระบวนทัศน์เปลี่ยนย้ายด้วย การใช้ทฤษฎีข่ายใยชีวิตโดยละเลยข้อจำกัดประการนี้ อาจทำให้การวิเคราะห์ปรากฏการณ์ วิกฤตการณ์ ถูกทำให้ง่ายเกินความจริง (Over Simplify) ว่าวิกฤตการณ์เกิดจากกระบวนทัศน์เท่านั้น และขาดการวิเคราะห์ปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวโยงกับกระบวนทัศน์

ปัจจุบัน คาปร้ากำลังขมักเขม้นกับการประยุกต์ทฤษฎีข่ายใยชีวิตไปศึกษาระบบโลกสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์ เพื่อให้เห็นรูปธรรมการเคลื่อนตัวและเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมทั้งใหม่และเก่าที่กำลังเกิดขึ้น นับเป็นงานความคิดที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่งอีกชิ้นหนึ่ง

อ้างอิงจาก
http://www.midnightuniv.org/miduniv2001/newpage11.html
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
 :13: อนุโมทนาครับพี่มด
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~