ผู้เขียน หัวข้อ: การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร  (อ่าน 2059 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร


คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ดีเยี่ยม
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้พระธรรม แล้วตรัสแสดงพระธรรมสั่งสอน เพื่อให้ทุกๆ คนเมื่อตั้งใจฟังแล้ว น้อมนำธรรมะที่ทรงสั่งสอนนั้น อันเป็นเหมือนอย่างกระจกเงาส่องเข้ามาดูตน เพื่อที่จะได้รู้จักตนตามความเป็นจริง และจะได้ละส่วนที่ชั่วที่ผิด ประกอบกระทำสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง เป็นการรักษาตน เป็นการฝึกตน เพื่อให้มีความสุขความเจริญ

ฉะนั้น เมื่อทุกๆ คนตั้งใจฟัง และปฏิบัติดั่งนี้ ก็ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติพระพุทธศาสนา มีศาสนาอยู่ที่ตนคือที่กายใจ หรือที่กายวาจาใจ หรือกล่าวโดยตรงก็คือที่จิตใจนี้ เพราะว่าการรักษาตน การฝึกตนนั้น โดยตรงก็คือการรักษาจิตใจ ปฏิบัติอบรมจิตใจ ให้ดีงาม ให้บริสุทธิ์นั้นเอง

เพราะฉะนั้น ในพระพุทธโอวาทสำคัญ ๓ ข้อ เมื่อได้ตรัสสอนให้ละบาปอกุศลทั้งปวง ให้บำเพ็ญกุศลความดีทั้งปวงแล้ว จึงได้ตรัสสอนให้ชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส เพราะฉะนั้น จึงมาถึงเรื่องจิตใจ เพราะว่าจิตใจนี้ที่เป็นจิตใจของสามัญชน ย่อมมีความโลภบ้างความโกรธบ้างความหลงบ้าง หรือมีราคะโทสะโมหะ อันเรียกว่ากิเลสที่แปลว่าเครื่องเศร้าหมองใจ เพราะทำจิตใจนี้ให้เศร้าหมองไม่บริสุทธิ์ และจิตใจที่มีโลภะโทสะโมหะนี้ ย่อมเป็นจิตใจที่ดิ้นรนกวัดแกว่งกระสับกระส่าย


ตัณหา

ฉะนั้นเมื่อมุ่งถึงอาการของจิตใจดั่งกล่าว ( เริ่ม ๑๖๐/๑ ) จึงเรียกว่าตัณหา ที่แปลว่าความดิ้นรน ความทะยานอยากไปต่างๆ ที่มีอาการเป็นความดิ้นรนทะยานอยากไป เพื่อจะได้สิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจต่างๆ บ้าง เพื่อจะเป็นนั่นเป็นนี่ไปตามที่อยากจะเป็นบ้าง เพื่อจะไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ ในภาวะที่ไม่อยากจะเป็นบ้าง

เพราะฉะนั้น เมื่อมีตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยากดั่งนี้ อันประกอบไปด้วยโลภโกรธหลงดังกล่าวแล้วนั้นเอง จึงมีความยึดถือในสิ่งที่อยากนั้น ว่าเป็นเราบ้าง เป็นของเราบ้าง หรือว่าเราเป็นนั่นเป็นนี่บ้าง และเมื่อมีความยึดถือดั่งนี้ จึงมีความเห็นแต่สิ่งที่ยึดถือนั้น อันเรียกว่าความเห็นแก่ตัว อันมีลักษณะคับแคบ และนอกจากเห็นแก่ตัวแล้ว ยังมีความเห็นแก่บุคคลที่เป็นที่รักของตัว หรือพวกของตัว จึงทำให้เกิดความแบ่งแยกเป็นฝ่ายอื่นเป็นคนอื่น

และความเห็นแก่ตัวดังกล่าวนี้ถ้าหากว่ามีมาก ก็จะทำให้การปฏิบัติต่างๆ เป็นไปในทางคับแคบ คือจะปฏิบัติเพื่อให้ตัวเองและพวกของตัวเอง หรือคนที่เป็นที่รักของตัวเองได้มาซึ่งสิ่งที่อยากได้ ได้เป็นซึ่งสิ่งที่อยากเป็น แม้ว่าจะได้มาโดยทางที่ไม่ชอบ

เมื่อลุอำนาจแห่งโลภโกรธหลง หรือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากดังกล่าว ก็จะแสวงหาเพื่อให้ได้มา เพื่อให้ได้เป็น แม้ในทางที่ผิด และในทางที่เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน

ความทะเลาะวิวาทกัน ความเบียดเบียนซึ่งกันละกัน ซึ่งทรัพย์สินบ้าง ซึ่งร่างกายบ้าง ซึ่งชีวิตบ้าง จึงได้บังเกิดขึ้นเป็นไปอยู่ในโลก ตั้งแต่กลุ่มน้อยจนถึงกลุ่มใหญ่ คือเบียดเบียนซึ่งกันและกันทั้งโลก ดั่งที่เป็นสงครามโลก ก็เพราะอำนาจของโลภโกรธหลง ของตัณหาในจิตใจของบุคคลนี้เอง ตั้งแต่บุคคลเดียว ไปจนถึงหลายบุคคล ชักจูงกันไปจนถึงเป็นทั้งโลก


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 13, 2012, 03:25:38 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 07, 2011, 07:59:50 pm »

ข้อว่าอาศัยตัณหาละตัณหา

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนธรรมะ มุ่งที่จะฝึกจิตอบรมจิตนี้เอง ไม่ให้เป็นทาสของกิเลสกองโลภกองโกรธกองหลง ไม่ให้เป็นทาสของตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก แต่ว่าเมื่อยังมีกิเลสมีตัณหาอยู่ เพราะเมื่อยังละไม่ได้ จะเอาไปโยนทิ้งที่ไหนก็ไม่ได้ ก็ติดอยู่ที่จิตใจนี้เอง แต่ว่าให้มีสติคือความระลึกได้ มีปัญญาคือความรู้จักควบคุมจิตใจ ควบคุมกิเลส ให้กิเลสเป็นทาส ให้ตัณหาเป็นทาส คือเมื่อมีโลภมีโกรธมีหลง มีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก ก็ให้ใช้ตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก กับโลภโกรธหลงที่มีอยู่นี้ไปเพื่อบำเพ็ญความดีต่างๆ คือให้อยากละชั่ว ให้อยากทำดี และให้อยากที่จะชำระจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส

และเมื่อสามารถเป็นนายควบคุมจิตใจของตัวเองได้ ควบคุมกิเลสได้ ควบคุมตัณหาได้ กิเลสตัณหาถึงจะมีอยู่ก็ไม่เป็นโทษเป็นภัย แต่จะช่วยให้มีกำลังใจประกอบคุณงามความดีต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น และความดีที่กระทำนี้เองก็เป็นเครื่องละโลภโกรธหลง ละตัณหาไปในตัว

เพราะฉะนั้นจึงได้มีพุทธศาสนสุภาษิตแสดงไว้ว่าให้อาศัยตัณหาละตัณหา ดั่งนี้ เพราะเมื่อยังมีตัณหาอยู่ จะไปโยนทิ้งก็ไม่ได้ ก็ต้องอาศัยตัณหาละตัณหา คืออาศัยตัณหาทำความดี ความดีที่ทำนั้นก็เป็นเครื่องละตัณหาไปในตัวได้เอง *และเมื่อทำความดีถึงจุดสุดยอด ก็คือละตัณหาได้หมดสิ้น เรียกว่าสุดดี ก็สุดชั่วไปพร้อมกัน เป็นผู้เสร็จกิจ แต่บุคคลทั่วไปในโลกนั้นยังไม่เสร็จกิจ เพราะยังมีกิเลสมีตัณหาที่จะต้องละ จึงมีความดีที่จะต้องทำ เพื่อละอยู่เรื่อยไป หยุดไม่ได้


[* คือหมายถึง ไม่มีกิจ ไม่มีผลที่จะทำความดี ให้ดียิ่งขึ้นไปกว่านี้อีกแล้ว และไม่มีกิจ ไม่มีการกระทำความชั่วๆ ใดๆอีกต่อไปแล้ว]

วิธีกำราบตัณหา

และนอกจากนี้พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสสอน ถึงวิธีที่จะกำราบความเห็นแก่ตัวของทุกคนลงไปด้วย คือมิให้อัตตาหรือตัวเราของเรา ที่กิเลสตัณหาอุปาทานสร้างขึ้นใหญ่โต เพราะว่า เมื่อตัวเราของเรานี้ใหญ่โต โลภโกรธหลงกับตัณหาอุปาทาน คือความอยากความยึดนี้ก็ใหญ่โตไปด้วย เมื่อเป็นดั่งนี้อัตตาหรือตัวนี้โตขึ้นมากเท่าไร โลภโกรธหลงตัณหาก็โตขึ้นมากเท่านั้น ความเห็นแก่ตัวก็มากขึ้นเท่านั้น และเมื่อตัวโตมากขึ้นก็ต้องกินมากด้วย กินจุขึ้น

เพราะตัวความหิวนั้นคือโลภโกรธหลง คือตัณหาความดิ้นรนทะยานอยาก เมื่อตัวซึ่งเป็นกิเลสนี้โตขึ้น กิเลสก็โตขึ้น ปากที่จะกินก็โตขึ้น กินนั่นกินนี่ กินรูปกินเสียงกินกลิ่นกินรสกินโผฏฐัพพะ ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอ ก็ต้องขวนขวายแสวงหามากิน มาป้อนตัณหาคือความอยากนี้ แต่ว่ายิ่งป้อนมากขึ้น อยากก็ยิ่งมากขึ้น ตัวก็โตมากขึ้น กินมากขึ้น

เพราะฉะนั้น จึงได้มีพระพุทธภาษิตตรัสเทียบเอาไว้ ว่า*แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี หรือมีข้อเปรียบเทียบเช่น ไฟไม่มีอิ่มด้วยเชื้อ เอาเชื้อใส่ให้แก่ไฟ ไฟก็ยิ่งกินเชื้อ

ไฟก็ยิ่งกองโตขึ้น เมื่อไฟกองโตขึ้นก็ต้องกินเชื้อมากขึ้น


[*แม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี คือแม่น้ำนั้นยังมีขึ้น มีลง มีสงบ แต่ตัณหานั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะพอใจ จะสงบ จะลดลงนั้นไม่มี]

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 07, 2011, 08:15:49 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 07, 2011, 09:30:27 pm »


อำนาจของสันโดษ

เพราะฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนที่จะปฏิบัติ เพื่อทำให้ตัวเราที่เป็นกองกิเลสนี้เล็กลง จะได้กินน้อยเข้า ด้วยการที่มาปฏิบัติให้มีสันโดษ คือความยินดีพอใจอยู่ในผลที่ได้ เท่าที่จะพึงได้โดยชอบ เป็นความยินดีตามที่ได้ เป็นความยินดีตามกำลัง เป็นความยินดีตามความสมควร แปลว่าให้จำกัดอาหารที่จะป้อนตัณหา ให้อยู่ในขอบเขตที่จะพึงหาได้ ตามกำลังหรือตามความสมควร ไม่ให้ออกไปนอกขอบเขต และเมื่อให้อยู่ในขอบเขตดั่งนี้ ก็เป็นอันว่าเป็นการระงับการเลี้ยงตัณหา เลี้ยงตัวที่เกิดจากตัณหานี้ให้โตใหญ่ กินจุกินมากดังกล่าวแล้ว มาเป็นกินน้อย ตามที่ได้ ตามกำลัง ตามที่สมควร

และเมื่อรู้สึกว่ายังไม่พอกับประโยชน์ที่ต้องการ ก็เพิ่มความเพียรแสวงหาในทางที่ชอบ และไม่ให้สันโดษคือพอใจในความดีทั้งหลาย เพราะว่าทุกคนยังต้องทำความดีเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ เพื่อละกิเลส เพื่อละส่วนที่ชั่ว อันยังละไม่ได้ จะไปยินดีว่าทำดีเพียงเท่านี้พอแล้วไม่ได้ ต้องทำดีให้มากขึ้น และทำดีต่อไปอยู่เสมอ เป็นความไม่อิ่มในเหตุดีที่จะทำต่อไป แต่ว่าให้อิ่ม รู้จักอิ่มในผลที่ได้ พอในผลที่ได้ เมื่อบังเกิดเป็นความพอขึ้นของใจดั่งนี้แล้ว ความอิ่มก็มีขึ้นเอง เพราะความอิ่มนั้นเกิดขึ้นจากความพอของจิตใจ ไม่ใช่เกิดจากวัตถุเป็นต้น ที่ทางตัณหาต้องการ ที่หามาป้อนตัณหา ตัณหานั้นจึงไม่อิ่มไม่พอ เหมือนไฟไม่อิ่มด้วยเชื้อ เมื่อเป็นดั่งนี้ทุกคนไม่สามารถจะหามาป้อนตัณหาให้พอได้

พระพุทธเจ้าจึงตรัสไว้ว่า แม้จะได้ภูเขาทอง คือภูเขาทั้งภูเขาเป็นทองทั้งหมด ก็ยังไม่สามารถที่จะทำให้ตัณหาพอได้ ได้ภูเขาทองสักลูกหนึ่งแล้ว
ก็จะต้องอยากจะได้ลูกที่สอง อยากจะได้ลูกที่สาม ไม่รู้จักพอ ป้อนไม่อิ่ม เพราะฉะนั้นจะหาป้อนตัณหาไม่ได้


เพราะฉะนั้น จึงต้องเป็นนายของตัณหาดังที่กล่าวมาแล้ว แต่ให้มีจิตใจรู้จักมีสันโดษ และเมื่อมีความพอใจขึ้นแล้ว ความอิ่มใจขึ้นแล้ว ความเต็มใจขึ้นแล้ว ก็เป็นความพอเป็นความอิ่ม จะได้น้อยก็ตาม จะได้มากก็ตาม ก็มีความอิ่ม ทำให้เป็นผู้ที่รู้จักอิ่ม รู้จักพอ รู้จักเต็ม ด้วย* อำนาจของสันโดษ

[* อำนาจของสันโดษ เป็นนายของตัณหา]

การปฏิบัติในเมตตา

อีกข้อหนึ่ง แม้จะยังมีความอยากยึดที่เป็นต้นเหตุแห่งความเป็นตัวที่โตขึ้นดังกล่าวแล้ว ยังไม่สามารถจะละได้ ก็ใช้เมตตาเข้ามาช่วยอีก คือให้คิดแผ่เมตตาไปในตัวเอง ว่าขอให้ตัวเองมีความสุข คิดแผ่เมตตาไปในคนที่เป็นที่รักขอให้คนที่รักเป็นสุข คิดแผ่เมตตาไปในคนที่เป็นปานกลาง ไม่รักไม่เกลียด ให้คนที่เป็นปานกลางมีความสุข คิดแผ่เมตตาไปในคนทั่วไปให้มีความสุข

จนถึงหัดคิดแผ่เมตตาไปในสัตว์ทั้งหลายทั่วโลกให้มีความสุข ดังที่ตรัสสอนไว้ให้แผ่เมตตาไปโดยเจาะจง และโดยไม่เจาะจง โดยเจาะจงก็คือขอให้สตรีทั้งปวง บุรุษทั้งปวง ผู้ที่เป็นอริยะคือผู้ประเสริฐทั้งปวง ผู้ที่ไม่เป็นอริยะคือผู้ที่ไม่ประเสริฐทั้งปวง เทพทั้งปวง มนุษ์ทั้งปวง ผู้ที่เกิดตกต่ำเช่นเป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์นรกเป็นเปรตเป็นอสุรกาย ทั้งปวงจงมีความสุข

และแผ่ไปโดยไม่เจาะจงคือทั่วไป
สพฺเพ สตฺตา ขอให้สัตว์ทั้งปวง
สพฺเพ ปาณา ขอให้สัตว์มีปราณผู้มีชีวิตทั้งปวง
สพฺเพ ภูตา ขอให้ภูตะคือสัตว์ทั้งหลายที่เกิดเป็นแล้วอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งปวง
สพฺเพ ปุคฺคลา บุคคลทั้งปวง
สพฺเพ อตฺตภาวปริยาปนฺนา สัตว์ที่นับเนื่องด้วยอัตภาพอย่างใดอย่างหนึ่งทั้งปวง
จงเป็นสุข ปราศจากทุกข์ ไม่มีการเบียดเบียน ไม่มีเครื่องเบียดเบียน มีสุขรักษาตนให้สวัสดี ทั่วกันเทอญ ดั่งนี้

แผ่ไปในทิศเบื้องหน้า แผ่ไปในทิศเบื้องหลัง แผ่ไปในทิศเบื้องซ้าย
แผ่ไปในทิศเบื้องขวา แผ่ไปในทิศน้อยในระหว่างแห่งทิศทั้งสี่นี้โดยรอบ
แผ่ไปในเบื้องล่าง แผ่ไปในเบื้องบน ตลอดโลกทั้งสิ้น แผ่ไปในอัตตภาพทั้งสิ้น

หรือว่าแผ่ไปเหมือนอย่างว่า * สัตว์ทั้งหลายทั้งโลกนี้กับตนเองรวมอยู่ในอัตภาพ หรือรวมอยู่ ในตัวเดียวกันทั้งหมด คือเมื่อจะเป็นตัวเป็นตนที่มุ่งสุขแสวงหาความสุข ** ก็ให้เป็นตัวเป็นตนใหญ่ครอบโลกไปเลย โดยที่มีจิตใจมุ่งให้ต่างมีความสุข ไม่มีทุกข์ รักษาตนให้สวัสดี เหมือนกันทั่วโลกทั้งหมด ตนเองฉันใด ผู้อื่นก็ฉันนั้น จนถึงเหมือนไม่มีผู้อื่น ไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวผู้อื่น แต่มีตัวอันเดียวกันทั้งหมดโตครอบโลกไปเลย และให้มุ่งความสุขทั่วกันหมด ดั่งนี้ เป็นการปฏิบัติในเมตตาที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้


[* "สัตว์ทั้งหลายทั้งโลกนี้กับตนเองรวมอยู่ในอัตภาพ หรือรวมอยู่ในตัวเดียวกันทั้งหมด"
คือ ทุกคนต่างก็มุ่งแสวงหาความสุข ไม่ต้องการความทุกข์เหมือนกันทั้งหมดทั้งโลก สัตว์ทั้งหลายในโลก มนุษย์ เทวดา ต่างก็มีความปราถนาเหมือนๆกัน]

[**  "ก็ให้เป็นตัวเป็นตนใหญ่ครอบโลกไปเลย"
คือเมตตาไปในทุกๆสรรพสิ่ง ไม่คับแคบ กว้างไปในที่สุดทั้งหมดแห่งโลก ครอบไปในทุกๆสิ่งทั้งในจิตและนอกจิต ไม่มีประมาณ]

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 07, 2011, 09:56:41 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: การปฏิบัติในพระพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: กุมภาพันธ์ 07, 2011, 11:19:06 pm »



กำหนดดูที่ตั้งของตัวเราของเรา

* และนอกจากนี้ยังได้ตรัสสอน ให้มากำหนดดูที่ตั้งของตัวเราของเราทั้งหลาย อันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ อันจะทำให้ตัวเราของเรานี้เบ่งโตเป็นตัวกิเลสใหญ่โตดังที่กล่าวมาแล้ว ให้เห็นว่านั่นคือเป็นตัวมานะ คือความสำคัญมั่นหมายยึดถือว่าเป็นตัวเราของเรา เป็นเหตุสร้าง อหังการ คือสร้างตัวเรา มมังการ สร้างของเราขึ้นมา ซึ่งโดยตรงก็คือเป็นตัวตัณหาเป็นตัวอุปาทานนั้นเอง  ** ไม่มีสัจจะคือความจริงอยู่ในตัณหาอุปาทาน

เพราะทั้งหมดที่ยึดถือนั้นล้วนเป็นสิ่งที่เป็นอนิจจะไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ เป็นสิ่งที่เป็นทุกข์ตั้งอยู่คงที่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป เป็นสิ่งที่เป็นอนัตตา คือไม่ควรที่จะมีความเห็นยึดถือว่า

เอตํ มม นี่เป็นของเรา
เอโสหมสฺมิ เราเป็นนี่เราเป็นนั่น
เอโส เม อตฺตา นี่มันเป็นอัตตาตัวตนของเรา ดั่งนี้



[ * "และนอกจากนี้ยังได้ตรัสสอน ให้มากำหนดดูที่ตั้งของตัวเราของเราทั้งหลาย"
ที่ตั้งของตัวเราก็คือกายกับใจ หรือ รูปกับนาม

** "ไม่มีสัจจะคือความจริงอยู่ในตัณหาอุปาทาน"
ไม่มีความเที่ยงแท้มั่นคง ให้น่ายึดถือ ให้น่ายินดีพอใจ มีแต่ความแปรปรวน
มีแต่ความเป็นทุกข์ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในความยินดี พอใจนั้นๆ ]


                   

ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง

เมื่อได้ปัญญารู้แจ้งเห็นจริงขึ้นดั่งนี้ อันนี้แหละเป็นตัววิปัสสนาปัญญา ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง ซึ่งเกิดจากจิตใจที่เพ่งพินิจ ดูให้รู้จักขันธ์ ๕ ให้รู้จักนามรูป ให้รู้จักกายที่มีวิญญาณมีใจครองนี้ ให้รู้จักนิมิตคือเครื่องกำหนดยึดถือในภายนอกทั้งหลายทั้งหมด ว่าตกอยู่ในไตรลักษณ์ คือลักษณะที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ดั่งนี้ เมื่อได้ปัญญารู้แจ้งขึ้นก็เป็นตัววิปัสสนาปัญญา จิตใจที่เพ่งพินิจก็เป็นตัวสมาธิ มีศีลเป็นภาคพื้นหรือเป็นฐานรองรับ เป็นอันว่าผู้ปฏิบัติธรรม เมื่อปฏิบัติอยู่ในหลักของศีลของสมาธิของปัญญา ย่อมจะทำให้ได้ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริง

และเมื่อได้ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงเป็นตัววิปัสสนาปัญญาขึ้นดั่งนี้ ก็ย่อมจะได้ วิมุติ คือความหลุดพ้น คือจิตจะพ้นจากความยึดถือ ก็จะดับตัวตัณหาได้ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วภาวะที่บริสุทธิ์ ก็ย่อมจะปรากฏเป็นความสงบ เป็นความหลุดพ้น และแม้ว่าจะยังไม่สามารถบรรลุถึงอย่างสูงสุดได้ ก็จะได้ไปโดยลำดับ จะทำให้รักษาตนได้โดยสวัสดีอยู่ในโลก คือจะพ้นโลกที่เป็นส่วนชั่วขึ้นโดยลำดับ จนถึงสุดโลก สุดโลกเมื่อใดก็จะทะลุโลกเป็นมรรคเป็นผลเป็นนิพพานขึ้นไปเอง โดยไม่ต้องไปกลัว โดยไม่ต้องไปขวนขวาย แสวงหา อยากจะได้ ปีนป่าย ให้ปฏิบัตินี่แหละไปโดยลำดับ แล้วก็ได้ก็ถึงเอง ตามภูมิชั้นของการปฏิบัติ ต่อจากนี้ขอๆ ให้ตั้งใจฟังสวด และตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป


จบบริบูรณ์



คัดลอกเนื้อความทั้งหมดจาก:
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-237.htm

ขอกราบนมัสการสมเด็จพระญาณสังวร ฯ
และขออนุโมทนากับสาธุชนและผู้มีส่วนร่วมทุกๆท่าน ขออนุโมทนาครับ




ขอบพระคุณ
ผู้รวบรวมข้อมูลนำมาแบ่งปัน : ใจพรานธรรม
http //www pantip.com/cafe/religious/topic/Y10212766/Y10212766.html
Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ