บทสัมภาษณ์ ชวนคิดเรื่องไอน์สไตน์ ต่อไปนี้
เกิดจากการที่ในปัจจุบันมีการนำวิทยาศาสตร์ไปเทียบเคียงกับศาสนา
โดยมักจะมี ไอน์สไตน์ (Einstein) เป็นสัญลักษณ์แทนวิทยาศาสตร์
อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเด็น วิทยาศาสตร์ vs ศาสนา นี้มีความละเอียดอ่อนและซับซ้อนมาก
จึงทำให้บ่อยครั้งที่เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
โดยเฉพาะแนวคิดและทฤษฎีต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกบิดเบือนไป
ซึ่งบางครั้งก็เห็นความผิดเพี้ยนได้ชัดเจน
แต่บ่อยครั้งก็แนบเนียน จนอาจทำให้เข้าใจวิทยาศาสตร์และศาสนาไขว้เขวไปได้
ผมจึงได้แสดงความคิดเห็นผ่าน นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2551 ในเซ็คชั่น กายใจ
ดังที่ปรากฏในบันทึกชุดนี้
สำหรับรายละเอียดอื่นๆ ที่อ้างถึง และที่หลายท่านอาจจะยังสงสัยนั้น
ผมจะหาโอกาสนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้ง GotoKnow ในโอกาสต่อไปครับ
ที่มา : นสพ. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอาทิตย์ที่ 27 เมษายน 2551 เซ็คชั่น กายใจ
URL :
http://www.bangkokbiznews.com/bodyheart URL :
http://bangkokbiznews.com/bodyheart/20080404/news.php?news=column_26260947.phpบัญชา ธนบุญสมบัติ ชวนคิดเรื่อง ไอน์สไตน์ เรื่อง : เพ็ญลักษณ์ ภักดีเจริญ
ภาพ : ธัชดล ปัญญาพานิชกุล
การนำทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มาเทียบเคียงกับศาสนา บางเรื่องราวมีการนำมาใช้ถูกต้องหรือไม่ เรื่องนี้น่าไตร่ตรอง
นี่เป็นอีกมุมมองความคิดของนักวิทยาศาสตร์ที่เขียนเรื่องแนววิทยาศาสตร์และอารยธรรม
ถ้าจะคุยเรื่องวิทยาศาสตร์หลากมุมมองเพื่อเชื่อมโยงในหลายๆ เรื่องทั้งเรื่องศาสนา หรือเรื่องใดก็ตาม
ก็ต้องเข้าใจหลักการให้ถูกต้อง และมีคำถามมากมายชวนให้เราคิดอย่างมีเหตุและผล
ไม่เช่นนั้นแนวทางวิทยาศาสตร์อาจเป็นได้แค่การรับใช้การตลาด หรือนำไปใช้สู่ความเชื่อบางอย่าง โดยมิได้ไตร่ตรอง
แม้นักเขียนบางคนจะบอกว่า ธรรมะพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ แต่นักวิชาการบางคนกลับบอกว่า ให้ยั้งคิดสักนิด
ถ้าจะสื่อสารเรื่องแบบนี้ต้องเข้าใจวิทยาศาสตร์ให้แตกฉานและรู้จริง ไม่เช่นนั้นอาจไม่ได้นำไปสู่การพัฒนาเชิงปัญญาอย่างแท้จริง
เรื่องนี้จึงต้องไปถามผู้รู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้วิเคราะห์วิจารณ์...
ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักวิชาการจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
เป็นคนหนึ่งที่สนใจศึกษาเรื่องวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง และพยายามโยงกับศาสตร์หลายๆ เรื่อง
เขามีผลงานหนังสือแนววิทยาศาสตร์ ทั้งแนวลึกและแนวเข้าใจง่ายๆ ไม่ซับซ้อนจนเกินไป
และพยายามทำความเข้าใจกับสังคมในมิติอื่นๆ ด้วย
และต่อไปนี้คือ แง่คิดเพื่อสร้างความเข้าใจในบางเรื่องระหว่างวิทยาศาสตร์และศาสนา
เพื่อให้เกิดวิวาทะทางปัญญา และนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น+การนำแนวคิดวิทยาศาสตร์มาอธิบายศาสนา หรือเรื่องทางจิตวิญญาณ อาจารย์มีความคิดเห็นเรื่องนี้อย่างไรคะ
ทั้งสองเรื่องคือ วิทยาศาสตร์และศาสนา ต่างก็มีความละเอียดอ่อนและลึกซึ้งทั้งคู่
ถ้าจะนำมาเปรียบเทียบกัน ก็ต้องเข้าใจทั้งสองเรื่องนี้อย่างถูกต้อง
อย่างหนังสือเรื่อง ‘พุทธศาสนา ในฐานะเป็นรากฐานของวิทยาศาสตร์’ ของท่านพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) ซึ่งสมณศักดิ์ในขณะเขียนหนังสือคือ พระเทพเวที ก็เป็นหนังสือที่เขียนได้อย่างมีเหตุมีผล มีข้อมูลถูกต้อง นำเสนอข้อเท็จจริงอย่างเป็นกลางและรอบด้าน เพราะท่านมีความเป็นปราชญ์ เป็นนักวิชาการ และยังมีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่น่านำไปคิดต่ออีก
หนังสือลักษณะนี้ผมอ่านแล้ว ก็เกิดศรัทธาครับ
อย่างไรก็ดี ถ้าเข้าใจวิทยาศาสตร์หรือศาสนาด้านใดด้านหนึ่งคลาดเคลื่อนไปมาก ก็ย่อมจะทำให้การเปรียบเทียบเกิดปัญหาความผิดเพี้ยนได้ ซึ่งหากผู้รู้มาพบเข้า ก็จะทำให้ความน่าเชื่อถือในการนำเสนอลดลงไป ถ้าผิดมาก ความน่าเชื่อถือก็ลดลงไปมากด้วย
ตัวอย่างที่เห็นกันในขณะนี้ก็คือ "ข้าพเจ้า (หมายถึง ผู้ที่นำวิทยาศาสตร์มาเทียบกับศาสนา โดยที่พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์อาจจะยังไม่แข็งแรงพอ) เป็นคนที่ใฝ่รู้ จึงได้พยายามศึกษาวิทยาศาสตร์จากแหล่งข้อมูลต่างๆ พออ่านไปถึงระดับหนึ่ง ก็เกิดความเข้าใจ สามารถเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนาและจิตวิญาณได้อย่างมีเหตุมีผล"
ผมมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการศึกษาวิทยาศาสตร์ หรือเรื่องใดๆ ก็ตาม โดยการอ่านอย่างนี้ครับ
คือหนังสือหรือแหล่งข้อมูลมีหลายระดับ ถ้าเป็นพวกมืออาชีพ คือ คนที่ร่ำเรียนมาทางนี้โดยตรง ก็จะอ่านจากตำราหรือบทความวิชาการลึกๆ ซึ่งเข้าใจได้ยาก เพราะเอกสารพวกนี้จะเขียนอย่างแม่นยำและรัดกุม เช่น มีสูตร มีสมการ มีผลการทดลองยุบยั่บ
ตัวอย่างหนังสือแนว Popular Science ชั้นดี (อ่านสนุก & ข้อมูลถูกต้อง) ในความคิดเห็นของผม
แต่สำหรับคนทั่วไป ก็จะอ่านจากหนังสือแนววิทยาศาสตร์ที่เรียกว่า Popular Science ซึ่งผู้เขียนจะพยายามสื่อสารเรื่องออกไปในวงกว้าง โดยนำเสนอและใช้ศัพท์แสงต่างๆ ให้ง่ายขึ้น ไม่ค่อยมีสูตรสมการที่แม่นยำ เรียกว่าการทำให้เรื่องง่าย (simplification) หนังสือแนวนี้หากเขียนได้ดี ก็จะเป็นประโยชน์ต่อคนที่สนใจอย่างยิ่ง
แต่ในข้อดีของหนังสือที่อ่านได้ง่ายนี้ก็มีจุดเสี่ยงแฝงอยู่ นั่นก็คือ บางครั้งผู้เขียนทำให้เรื่องง่ายเกินไป (oversimplification) ทำให้ผู้รับสารคิดว่าเข้าใจ แต่จริงๆ แล้วเป็นความเข้าใจอย่างหยาบมากๆ เท่านั้น หรือถ้าลงลึกไปในรายละเอียดแล้ว ข้อสรุปที่คิดว่าใช้ได้ อาจจะใช้ไม่ได้ เนื่องจากอยู่นอกเงื่อนไขที่กำหนด
ผลก็คือ มีการนำข้อมูลหรือข้อสรุปบางอย่างไปสนับสนุนความเชื่อโดยละเลยเงื่อนไขที่ใช้ได้ ส่วนข้อมูลที่ขัดแย้งอาจจะละเลยไม่กล่าวถึง
อย่างนี้ถ้าเรารู้เท่าทัน ก็จะทำให้เสียศรัทธาได้ แต่ถ้าไม่รู้เท่าทัน ก็อาจจะเชื่อ ไม่เชื่อ หรือเฉยๆ
พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับเรื่องสัมมาทิฐิไว้อย่างสูงนะครับ