เมื่อเอ่ยถึงกตัญญูเวทีแล้ว เราได้ยินกันจนชินหู แต่เมื่อมองในด้านปฏิบัติแล้ว ไม่ใช่ทำกันง่าย ๆ จนเรียกว่าชิน
เพราะเหตุไร ? เพราะคนโดยมากมักชอบกินเปล่า
ตัวอย่าง พ่อแม่กับลูก ลูกได้รับอุปการะจากพ่อแม่แล้วเป็นอย่างดี พอเติบโตขึ้นลูกมักทดแทนบุญคุณของพ่อแม่ไม่สมควรกัน หรือแม้แต่ครึ่งหนึ่งจากที่ท่านปฏิบัติต่อมาแล้ว ก็ยังหาได้ยาก กล่าวโดยหลักที่จะพึงตอบแทนตามหน้าที่ของลูกก็คือ
๑. เลี้ยงดูท่านให้เป็นสุข
๒. ช่วยทำการงานของท่าน
๓. ช่วยรักษาวงศ์สกุลมิให้มัวหมอง
๔. ประพฤติให้สมควรที่จะเป็นผู้รับมรดก
๕. เมื่อท่านตายไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ตามคติแห่งพุทธศาสนา
พ่อแม่บางคนไม่ขัดสนยากจน จนถึงต้องอาศัยลูกเลี้ยงทางกายก็จริงแต่ยังต้องการให้ลูก "เลี้ยงทางใจ" เช่นฟังโอวาทของท่านให้ท่านสบายใจไม่ฝ่าฝืนน้ำใจ นิยมในทางที่ดีที่น่าสอน หมั่นขยันทำตนให้เจริญด้วยวิชาความรู้และทรัพย์สินเงินทอง คราวท่านเจ็บใข้ได้ป่วย ก็เอาใจใส่รักษา พยาบาลหมั่นไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ พูดเอาใจให้ท่านชื่นบาน ถ้าอยู่ต่างบ้าน หมั่นไปเยี่ยมเยียนเนือง ๆ ถึงไม่มีเรื่องอะไรก็ไปให้ท่านเห็นหน้าบ่อย ๆ ก็ยังดี จะมีอะไรที่จะให้เกิดสุขใจเหมือนเห็นหน้าลูกของท่านเล่า ? ถึงไม่แสดงออกทางวาจา ในใจก็รู้สึกสดชื่น
อย่าลืมว่า พ่อแม่ที่เป็นคนแก่ทั่งหลาย เนื้อแท้ในใจของท่านยังต้องการความเอาใจใส่ เอาอกเอาใจจากพวกลูก ๆ อยู่ ไม่ควรปล่อยให้ท่านอยู่ตามประสาคนแก่ ตีตัวออกห่างประหนึ่งว่าเกลียดคนแก่หรือเกลียดการจู้จี้ขี้บ่นของท่านซึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องน่ารำคาญ จนรำคาญ จนนึกถึงตัวเมื่อยังเป็นเด็กอ่อน เคยทำให้ท่านต้องลำบากรำคาญมาแล้วสักเท่าไร ท่านสู้อุตส่าห์ประคบประหงมเรามาตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอยจนเติบโต ครั้นปีกกล้าขาแข็งแล้วจะมาทำให้ท่านต้องโทมนัสฐานเนรคุณ จึงผิดหลักสาธุนรธรรม หรือธรรมของคนดี นับว่าเป็นลูกอัปรีย์จัญไรไร้คุณธรรมโดยแท้
การที่ลูกจะเอาใจใส่ปรนนิบัติพ่อแม่ได้ดี ก็ด้วยมีกตัญญูกตเวทีเป็นหลักถ้าขาดคุณธรรมข้อนี้ แล้วไม่อาจทำลงไปได้ มักจะถือกินเปล่าเป็นสำคัญ ไม่ยอมเสียคราวต้องเสีย จึงมีคำที่ท่านกล่าวได้น่าฟังว่า
"แม่ไก่เลี้ยงลูกได้ทั้งฝูง แต่ลูกทั้งฝูงเลี้ยงแม่ไก่ตัวเดียวไม่ได้"
คนที่มีลูกลักษณะอย่างนี้ก็เหมือนกัน แม้จะมีลูกหลายคน ลูกเหล่านั้นก็ไม่อาจเลี้ยพ่อแม่คน เดียวได้เพราะความเกี่ยงงอนหรือรังเกียจกัน อันเนื่องมาจากความได้เปรียบเสียเปรียบอย่างนี้คนนั้นได้สมบัติมากคนนี้ได้น้อยคนโน้นไม่ได้ พี่คนนั้นเสียน้อยน้องคนนี้เสียมากอะไรทำนองนี้เป็นต้น หานึกไม่ว่า เวลาพ่อแม่ท่านเลี้ยงเรามา ท่านไม่เคยคิดเป็นราคาเท่านั้นเท่านี้เลย
อนึ่ง ผู้ที่เป็นลูกเนรคุณ หรือทำเข็ญแก่พ่อแม่ด้วยประการต่าง ๆ ครั้นถึงคราวที่ตนเป็นพ่อแม่ มักถูกลูกทำแก่ตัวเช่นนั้นบ้าง เป็นกำเกวียนกงเกวียน หรือกรรมสนองกรรม
เรื่องนี้มีตัวอย่างเห็น ๆ กันอยู่ในตำนานพระพุทธศาสนาเองเรื่องอื้อฉาวโด่งดังมาก ก็เห็นจะเป็นจะเป็นเรื่องพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อครั้งยังเป็นรัชยาทแห่งมคธรัฐ หลงเชื่อคารมพระเทวทัตนักบวชกาลีอยากเป็นพระเจ้าแผ่นดินเร็ว ๆ จับพระเจ้าพิมพิสาร ผู้เป็นพระราชบิดาบังเกิดเกล้าขังคุก ทรมานให้อดอาหารจนสวรรคต นับเป็นบาปมหันต์ ครั้นได้ราชสมบัติ ภาพพ่อมาเป็นอารมณ์หลอกหลอนใจให้เร่าร้อน กินไม่ได้นอนไม่หลับอยู่ตลอดเวลา ในที่สุดก็ถูกโอรสของตนฆ่าชิงราชสมบัติ เช่นเดียวกับที่ตนทำกับพระราชบิดา เพราะฉะนั้นผู้ปรารถนาจะให้ลูกตนเองปรนนิบัติดีแก่ตนอย่างไรต่อไปก็จงปรนนิบัติแก่ต่อแม่ของตนอย่างนั้นเถิด ทั้งยังจะได้ชื่อว่าเป็นคนดีมีศีลธรรม ซึ่งมนุษย์ด้วยกันก็เชิดชูบูชา เทวดาก็ชม พรหมก็สรรเสริญ ผู้ที่เป็นลูกที่ดีของพ่อแม่มาแล้ว ต่อไปก็เป็นศิษย์ที่ดีของครูบาอาจารย์ เป็นพุทธศาสนิกชนที่ดีของพระพุทธเจ้า และเป็นพลเมืองดีของชาติ เป็นพ่อแม่ที่ดีของลูกเป็นปู่ ย่า ตา ยาย ปู่ทวด ย่าทวด ตาทวด ที่ดีของหลานเหลนต่อไปภายหน้าเพราะเมื่อเริ่มต้นมาดีแล้วต่อไปก็ย่อมดีมีพักต้องสงสัยแล
http://www.dhammathai.org/dhammastory/story62.php