ผู้เขียน หัวข้อ: วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร : เสถียร โพธินันทะ  (อ่าน 4604 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร
พระสูตรมหายาน : พระสูตรสำหรับพระโพธิสัตว์
แปลโดย
: เสถียร โพธินันทะ
เรียบเรียง จีน—ไทย โดย เย็นเจี่ยวภิกขุ
เอื้อเฟื้อจาก สภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย

ข้าพเจ้า ได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ เชตวนารามวิหารของท่านอณาถบิณฑิกเศรษฐีแขวงเมืองสาวัตถี พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ 1250 รูป ก็โดยสมัยนั้นแลเป็นกาลแห่งภัตต์ พระผู้มีพระภาคทรงครองจีวรทรงบาตร เสด็จจาริกไปบิณฑบาตรในนครสาวัตถีโดยลำดับ ครั้นแล้วเสด็จกลับมายังเชตวนารามทรงกระทำภัตกิจเสร็จ เก็บบาตรขึ้น ชำระพระบาท ประทับนั่งสมาธิบัลลังก์
ครั้ง นั้นแล พระสุภูติผู้มีอายุได้ลุกขึ้นจากท่ามกลางประชุมสงฆ์ ทำจีวรเฉลียงบ่าด้วยการลดไหล่ขวา แล้วคุกเข่าขวาลงสู่พื้น ประคองอัญชลีมายังพระผู้มีพระภาค พลางกราบทูลถามขึ้นว่า

สุ “ หาได้ยากนักหนา ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ที่พระตถาคตทรงคอยระฤกในการตามคุ้มครอง และอบรมสั่งสอนปวงพระโพธิสัตว์อย่างดียิ่ง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กุลบุตรหรือกุลธิดาใดๆผู้บังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ควรจักปฏิบัติตั้งจิตของตนโดยสถานใด ควรจักควบคุมบำราบจิตของตนอย่างไรหนอพระเจ้าข้า
พ “ สาธุๆ สุภูติ เป็นความจริงดุจที่เธอกล่าว ตถาคตย่อมตามระฤกในการคุ้มครอง และอบรมสั่งสอนปวงพระโพธิสัตว์เป็นอย่างดี เธอจงตั้งใจฟัง เราจักแสดงแก่เธอ กุลบุตรหรือกุลธิดาใดๆ ผู้บังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ควรจักปฏิบัติตั้งจิตของตนอย่างนี้ ควรจักควบคุมบำราบจิตของตนอย่างนี้ “

สุ “ อย่างนั้น พระสุคต ข้าพระองค์มีความปลาบปลื้มยินดีเฝ้าคอยสดับอยู่ “
พ “ ดูก่อน สุภูติ ปวงพระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ควรจักควบคุมบำราบจิตของตนอย่างนี้ว่า สรรพสัตว์ไม่ว่าจักเป็นเหล่าใดๆ คือ จักเป็นอัณฑะชะกำเนิดก็ดี, จักเป็นชลาพุชะกำเนิดก็ดี, จักเป็นสังเสทชะกำเนิดก็ดี, จักเป็นอุปปาติกะกำเนิดก็ดี, หรือจักมีรูปก็ดี ไม่มีรูปก็ดี มีสัญญาหรือไม่มีสัญญาก็ดี มีสัญญาก็มิใช่ไม่มีสัญญาก็มิใช่ก็ดี เราจักโปรดสัตว์ทั้งหลายดังกล่าวนี้ ให้บรรลุสำเร็จแก่อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ โดยประการฉะนี้ ปราศจากขอบเขตแต่โดยความจริงแล้ว ก็ไม่มีสัตว์ใดๆเป็นผู้บรรลุสำเร็จแก่อนุปาทิเสสนิพพานธาตุเลย ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา สุภูติ ถ้าพระโพธิสัตว์ยังมีความยึดถือผูกพันในอาตมะลักษณะ ในปุคคละลักษณะ ในสัตวะลักษณะ ในชีวะลักษณะไซร้ นั้นหาชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ไม่

“ อนึ่ง สุภูติ ในการบำเพ็ญทานบารมี พระโพธิสัตว์จักต้องไม่ยึดติดอยู่ในธรรม กล่าวคือจักบำเพ็ญทานด้วยความไม่ยึดถือผูกพันในรูป ไม่ยึดถือผูกพันในเสียง กลิ่น รส สัมผัส และบำเพ็ญทานด้วยความไม่ยึดถือผูกพันในธรรมารมณ์ ดูก่อน สุภูติ พระโพธิสัตว์พึงบำเพ็ญทานด้วยความไม่ยึดถือผูกพันในการบำเพ็ญทานย่อมมีบุญ กุศล อันจักคิดประมาณมิได้เลย สุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน อากาศเบื้องทิศตะวันออกจักพึงคิดคำนวณประมาณได้อยู่ฤาหนอ
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ”
พ “ ดูก่อนสุภูติ ถ้าเช่นนั้น อากาศเบื้องทิศใต้ ทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตลอดจนอากาศเบื้องบนและเบื้องล่าง จักพึงคิดคำนวณประมาณได้อยู่ฤาหนอ

สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ”
พ “ ดูก่อน สุภูติ พระโพธิสัตว์ไม่เป็นผู้มีความยึดถือผูกพันในการบำเพ็ญทานย่อมมีบุญกุศลอัน ไม่พึงคิด คำนวณประมาณได้ดุจกัน สุภูติ พระโพธิสัตว์พึงปฏิบัติตามคำสอนอย่างนี้แล”
พ “ ดูก่อน สุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน พระตถาคตนั้นพึงจักเห็นได้ด้วยรูปลักษณะฤาหนอ”
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตเจ้ามิอาจจักเห็นได้ด้วยรูปลักษณะเลย ข้อนั้นเพราะเหตุใด ก็เพราะว่าพระตถาคตเจ้าตรัสแล้วว่า รูปลักษณะนั้น โดยความจริงแล้วมิได้มีสภาวะรูปลักษณะอยู่เลย
พ “ ดูก่อน สุภูติ สิ่งที่มีลักษณะทั้งปวง ย่อมเป็นมายา ถ้าสามารถเห็นแจ้งว่ารูปลักษณะทั้งปวง โดยความจริงแล้วไม่มีสภาวะแห่งรูปลักษณะ ก็ย่อมเห็นตถาคตได้

สุ “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังจักมีสัตว์ใดที่ได้สดับพระธรรมบรรยาย ฉะนี้แล้วแลบังเกิดศรัทธาอันแท้จริงขึ้นหรือหนอ “
พ “ อย่ากล่าวอย่างนั้นซิ สุภูติ เมื่อตถาคตดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว 500 ปี หากมีบุคคลผู้ถือศีลบำเพ็ญกุศลมาบังเกิดความศรัทธาอันแท้จริงในพระธรรม บรรยาย นี้แลเขาจักถือว่านั่นเป็นความจริงไซร้ เธอพึงสำเหนียกไว้เถอะว่า บุคคลนั้นหาได้ปลูกฝังกุศลมูลเพียงในพระพุทธเจ้า 1 พระองค์ หรือพระพุทธเจ้า 2 พระองค์ 3 พระองค์ 4 พระองค์ 5 พระองค์ไม่ แต่เขาได้ปลูกฝังกุศลในพระพุทธเจ้านับด้วยพัน เป็นอเนกนับด้วยหมื่นเป็นอเนกจักนับประมาณพระองค์มิได้

บุคคลใดได้สดับพระธรรมบรรยายนี้บังเกิดจิตศรัทธาอันบริสุทธิ์แม้เพียงชั่ว ขณะเดียว สุภูติ ตถาคตย่อมรู้อยู่ ย่อมเห็นอยู่ในเขาเหล่านั้น สัตว์ทั้งหลายนี้ได้บรรลุบุญกุศลอันจักประมาณมิได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา เพราะสรรพสัตว์เหล่านี้ย่อมจักไม่มีอาตมะลักษณะ ปุคคละลักษณะ สัตวะสักษณะ ชีวะลักษณะ ไม่มีธรรมลักษณะหรืออธรรมลักษณะ ด้วยเหตุเป็นไฉน ด้วยเหตุสรรพสัตว์เหล่านี้ ถ้ายังมีจิตยึดถือผูกพันในลักษณะ ก็ชื่อว่ายังมีความยืดถือในอาตมะ ปุคคละ สัตวะ และชีวะ หากยังมีความยึดถือในธรรมลักษณะ ก็ชื่อว่ายังมีความยึดถือในอาตมะ ปุคคละ สัตวะ และชีวะ ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา หรือหากมีความยึดถือในอธรรมลักษณะ ก็ยังชื่อว่ามีความยึดถือในอาตมะ ปุคคละ สัตวะ และชีวะดุจกัน เพราะเหตุฉะนั้นแล จึงไม่ควรยึดถือในธรรมและไม่ควรยึดถือในอธรรม นี้คือเหตุผลที่ตถาคตพร่ำสอนอยู่เสมอว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงกำหนดรู้ว่าธรรมะที่เราแสดงมีอุปมาดังผู้อาศัยพ่วงแพ แม้แต่ธรรมก็ยังต้องละเสีย จักกล่าวไปใยกับอธรรมเล่า*1

(*1 ธรรมของพระพุทธองค์ดุจยานพาหนะมีแพเป็นต้น สำหรับผู้ข้ามพ้นทุกข์อาศัยข้ามวัฏฏสงสารเมื่อบรรลุถึงฝั่งอมตนิพพานที่ปรารถนาแล้ว ผู้นั้นก็ย่อมไม่แบกหามแพให้เป็นภาระ คงปล่อยทิ้งไว้ที่ชายฝั่งนั่นเอง แต่ในขณะที่ยังไม่บรรลุถึงฝั่งก็จำต้องอาศัยไปพลางๆ ข้อความนี้เปรียบเทียบได้กับพุทธภาษิตในอลคัททูปมสูตรแห่งบาลีมัชฌิมนิกาย- ผู้แปล )

“ สุภูติเอย เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตได้บรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณฤา ตถาคตได้แสดงพระธรรมเทศนาอยู่ฤา”
สุ “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ตามความเข้าใจของข้าพระองค์ในธรรมอรรถอันพระสุคตได้ตรัสไว้ ก็ไม่มีสภาวะใดแน่นอนที่เรียกว่าพระอนุตตระสัมมาสัมโพธิ และก็ไม่มีสภาวะธรรมแน่นอนอันใดซึ่งพระองค์แสดง ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน เพราะว่าธรรมซึ่งพระผู้มีพระภาคตรัสทั้งหมดไม่ควรยึดถือ ไม่ควรกล่าว ไม่ใช่ธรรมและไม่ใช่อธรรมทั้งนี้ด้วยเหตุอันใด ด้วยเหตุว่า พระอริยะบุคคลทั้งหลายอาศัยอสังขตธรรมนี้แล้วจึงมีความแตกต่างกัน *2

( *2 ธรรมทั้งปวงมีความศูนย์เป็นลักษณะ จึงกล่าวไม่ได้ว่าเป็นธรรมหรืออธรรม และจากความศูนย์นี้ เราจึงแบ่งประเภทอริยบุคคลต่างๆ เช่นพระโสดา สกทาคามี อนาคามีและพระอรหันต์ ทั้งนี้เพราะธรรมทั้งปวงไม่มีสภาวะแน่นอนอยู่ได้โดยตัวมันเอง ถ้ามีสภาวะแน่นอนในตัวของมันเองไซร้ พระอริยบุคคลประเภทต่างๆนี้ก็เกิดขึ้นไม่ได้
)



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร : เสถียร โพธินันทะ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มีนาคม 01, 2011, 09:15:35 pm »



พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ถ้ามีบุคคลใดบำเพ็ญทานบริจาคด้วยสัปตรัตนะอันเต็มเปี่ยมทั่วมหาตรี สหัสโลกธาตุ บุคคลนั้นจักได้เสวยบุญกุศลอันมากมายกระนั้นฤาหนอ”
สุ “ มากมายนั้นแล้วพระเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าบุญกุศลนั้นโดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะอันใดที่เป็นกุศล ฉะนั้นพระตถาคตเจ้าจึงตรัสว่าได้บุญกุศลมากมาย” *3
(*3 โดยปรมัตถ์บุญกุศลก็เป็นอนัตตาหรือศูนยตา การที่ไม่ยึดถือบุญกุศลนั่นแหละ จึงนับว่าเป็นบุญกุศลโดยแท้ เพราะเป็นบุญกุศลชนิดวิวัฏฏะ-ผู้แปล)


พ “ ถ้ามีบุคคลได้อาศัยปฏิบัติตามพระสูตรนี้ แม้ที่สุดเพียงคาถา 4 บาท และประกาศสั่งสอนแก่ผู้อื่น บุญกุศลของผู้นั้นจักโอฬารยิ่งกว่าผู้ทำทานด้วยสัปตรัตนะข้อนั้นเพราะเหตุ ดังฤา สุภูติ พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ตลอดจนพระพุทธอนุตตรสัมมาสัมโพธิธรรมทั้งปวงล้วนมีกำเนิดจากพระสูตรนี้ สุภูติเอย สิ่งที่เรียกว่าพระพุทธธรรมนั้น โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะพระพุทธธรรมนั้นเลย”
“ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน พระโสดาบันจักสามารถมนสิการว่า เราได้บรรลุโสดาปัตติผลฤา”
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าพระโสดาบันบุคคลนั้นชื่อว่าเป็นผู้เข้าสู่กระแส แต่โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะใดที่เจ้าสู่กระแสเลย การไม่เข้าถึงรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและธรรมารมณ์ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าพระโสดาบัน”

พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน พระสกทาคามีจักสามารถมนสิการว่า เราได้บรรลุสกทาคามีผลฤา
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าพระสกทาคามีชื่อว่าเป็นผู้จักเวียนกลับมา(ในกามาวจรภพ) อีกครั้งเดียว แต่โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะใดเวียนกลับมาอีก เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า พระสกทาคามี”
พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน พระอนาคามีจักสามารถมนสิการว่า เราได้บรรลุอนาคามีผลฤา
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าพระอนาคามีชื่อว่าเป็นผู้ไม่กลับมาอีก(ในกามาวจรภพ) แต่โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะใดที่ไม่กลับมาอีก เป็นสักแต่ชื่อว่าพระอนาคามี”

พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน พระอรหันต์จักสามารถมนสิการว่า เราได้บรรลุอรหัตตมรรคผลฤา
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะโดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะใดที่เรียกว่าอรหันต์ ข้าแต่พระสุคต หากพระอรหันต์จักพึงมนสิการว่า เราบรรลุอรหัตตมรรคอย่างนี้ไซร้ ก็ชื่อว่าได้ยึดถือในอาตมะ ปุคคละ สัตวะ ชีวะเข้าแล้ว ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่าในหมู่ผู้บรรลุอารัณยิกสมาธิอันยอดเยี่ยมนั้น ได้แก่ตัวข้าพระองค์ ซึ่งเป็นพระอรหันต์ผู้ยอดเยี่ยมพ้นแล้วจากกิเลสราคะ ข้าแต่พระองค์ผู้ควรบูชา ข้าพระองค์ไม่มนสิการว่า ตัวเราได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ผู้ยอดเยี่ยมพ้นแล้วจากกิเลสราคะ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ถ้าข้าพระองค์ยังมนสิการว่า ตัวเราได้บรรลุอรหัตตมรรคอย่างนี้ไซร้ พระสุคตจักไม่ตรัสว่าสุภูติเป็นผู้ยินดีในอารัณยกปฏิปทาเลย โดยความจริงแล้วสุภูติมิได้ยึดถือในปฏิปทาเลย ฉะนั้นพระองค์จึงตรัสยกย่องว่า สุภูติเป็นผู้ยินดีในอารัณยกปฏิปทา

พ.” สุภูติเอย เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ณ เบื้องอดีตกาลโน้น เมื่อตถาคต(ยังเป็นพระโพธิสัตว์) อยู่ในสำนักของพระทีปังกรพุทธเจ้า ตถาคตได้บรรลุธรรมอันใดฤา”
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อพระตถาคต (ยังเป็นพระโพธิสัตว์)อยู่ในสำนักพระทีปังกรพุทธเจ้ามิได้ทรงบรรลุ ธรรมใดๆเลย” *4

( * 4 เมื่อครั้งพระศาสดาเรายังเสวยพระชาติเป็นโพธิสัตว์ในชาติหนึ่งเกิดเป็นดาบส ชื่อสุเมธ ได้ทอดองค์ลงต่างสะพานไปในลุ่มเลน พร้อมทั้งสยายเกศาปกคลุมสถานสกปรกนั้น เพื่อพระทีปังกรพุทธเจ้าและพระอรหันต์สาวกเสด็จผ่าน สุเมธดาบสได้ตั้งความปรารถนาพระโพธิญาณในขณะที่พระทีปังกรพุทธเจ้า เสด็จเหยียบบนร่างกายของตน และได้รับพุทธพยากรณ์ว่า จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคตการ-ผู้แปล)


พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน พระโพธิสัตว์บุคคลจักพึงกระทำตบแต่งอลังการพระพุทธเกษตรฤาหนอ”
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระสุคต ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะเหตุว่าการกระทำตบแต่งอลังการพระพุทธเกษตรนั้น โดยความจริงมิได้มีสภาวะการกระทำตบแต่งอลังการพระพุทธเกษตรเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่ากระทำตบแต่งอลังการพระพุทธเกษตรเท่านั้น”
พ “ เพราะฉะนั้นแล สุภูติ พระโพธิสัตว์ มหาสัตว์ทั้งปวงพึงยังจิตให้บริสุทธิ์สะอาดโดยประการอย่างนี้ กล่าวคือพึงยังจิตมิให้ยึดถือผูกพันในรูป พึงยังจิตมิให้ยึดถือผูกพันในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ พึงยังจิตมิให้บังเกิดมีความยึดถือผูกพันในสภาวะใดๆ
“ สุภูติ อุปมาดั่งบุคคลผู้มีรูปกายสัณฐานดุจขุนเขาพระสุเมรุ เธอจักมีความคิดเห็นเป็นไฉน รูปกายแห่งบุคคลนั้นมโหฬารฤาหนอแล”
สุ “มโหฬารนักแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นเพราะเหตุใดเล่า เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า รูปกายนั้นโดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า รูปกายอันมโหฬารเท่านั้น

พ “ ดูก่อนสุภูติ อุปมาดั่งจำนวนเมล็ดทรายในท้องคงคานทีแลมีแม่น้ำคงคาเป็นอันมากนับด้วย เมล็ดทรายเหล่านั้น เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน จำนวนแห่งเมล็ดทรายในคงคานทีทั้งหลาย จักนับได้ว่ามากมายอยู่ฤาหนอ”
สุ “ มากมายนักแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เพราะคงคานทีเองก็ยังมีปริมาณมากจนมิอาจคำนวนได้ จักป่วยกล่าวไปใยถึงเมล็ดทรายในนทีเหล่านั้น”
พ “ ดูก่อนสุภูติ เรากล่าวกับเธอโดยแท้จริงว่า ถ้ามีกุลบุตร กุลธิดาใดๆนำ สัปตรัตนะซึ่งมีปริมาณเต็มเปี่ยมดุจเมล็ดทรายในคงคานทีทั่วมหาตรสหัสโลกธาตุมาบริจาคทาน จักได้บุญกุศลมากอยู่ฤาหนอแล”
สุ “ มากมายนักแล้ว ข้าแต่พระผู้มีภาค”

พระสัมพุทธเจ้าตรัสกันพระสุภูติว่า
พ “ ถ้ากุลบุตร กุลธิดาใดๆหากได้ประพฤติปฏิบัติตามพระสูตรนี้ที่สุดแม้จะปฏิบัติคาถาเพียง 4 บาท หรือประกาศแสดงแก่คนอื่นๆข้อนั้นย่อมจะเป็นบุญกุศลวิเศษยิ่งกว่าบุญกุศลที่ กล่าวแล้วนั้นอีก
อนึ่ง สุภูติ ณ สถานที่ใดมีผู้ได้ประกาศแสดงพระสูตรนี้ แม้ที่สุดคาถาเพียง 4 บาท เธอพึงสำเหนียกไว้เถอะว่า ณ สถานที่ (ประกาศแสดง)นั้น ทวยเทพมนุษย์และอสูรในโลกทั้งหลายถึงกระทำสักการบูชาดุจพระพุทธสถูปวิหาร จักป่วยกล่าวไปใยกับบุคคลผู้ปฏิบัติประพฤติตามพระสูตรนี้ทั้งหมด ตลอดจนสามารถเจริญสาธยายได้เล่า สุภูติเอย เธอพึงสำเหนียกไว้เถอะว่า บุคคลดังกล่าวนั้นแลได้ยังความสำเร็จแล้วในธรรมอันเป็นยอดสูงสุดซึ่งหาได้ โดยยาก ถ้าพระสูตรนี้ประดิษฐานอยู่ ณ สถานที่ใด ณ สถานที่นั้นย่อมชื่อว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดับอยู่ และมีพระอัครสาวกสำนักอยู่”



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร : เสถียร โพธินันทะ
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มีนาคม 01, 2011, 10:36:08 pm »



ก็โดยสมัยนั้นแล พระสุภูติได้กราบทูลถามพระสัมพุทธเจ้าขึ้นว่า
สุ “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระสูตรนี้มีนามว่ากระไรพระเจ้าข้า และข้าพระองค์ทั้งหลายจักพึงรับปฏิบัติอย่างไรพระเจ้าข้า”
พระสัมพุทธเจ้าจึงตรัสกับพระสุภูติว่า
พ “ พระสูตรนี้ชื่อว่า วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร นี้แลเป็นนามอันเธอพึงรับปฏิบัติ ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา สุภูติ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ปรัชญาปารมิตานั้นโดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะแห่งปรัชญาปารมิตาเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า ปรัชญาปารมิตาเท่านั้น ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตได้แสดงพระธรรมเทศนาอยู่ฤา”
พระสุภูติกราบทูลสนองพระสัมพุทธเจ้าว่า
สุ “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตเจ้ามิได้แสดงพระธรรมเทศนาใดๆเลย”
พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ปรมาณูในมหาตรีสหัสโลกธาตุ มีปริมาณมากอยู่ฤาหนอแล”
สุ “ มากมายนักแล้ว ข้าแต่พระสุคต”

พ “ สภูติเอย ก็ปรมาณูเหล่านั้น ตถาคตกล่าวว่าโดยความจริงแล้วไม่มีสภาวะปรมาณูเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าปรมาณู ตถาคตกล่าวว่า โลกธาตุก็ไม่มีสภาวะแห่งโลกธาตุอยู่เลย เป็นสักแต่ชื่อว่าโลกธาตุเท่านั้น ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน จักถึงเห็นตถาคตได้ในมหาปุริสสลักษณะ 32 ประการฤาหนอ”
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค จักเห็นพระตถาคตเจ้าโดยมหาปุริสสลักษณะ 32 ประการมิได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าพระตถาคตเจ้าตรัสว่า ลักษณะ 32 ประการนั้น โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะแห่งลักษณะอยู่เลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าลักษณะ 32 ประการเท่านั้น”
พ “ ดูก่อนสุภูติ ถ้ามีกุลบุตร กุลธิดาใดๆได้สละร่างกายกอร์ปทั้งชีวิตอันมีประมาณดุจเมล็ดทรายในคงคานทีออก บริจาคทาน แต่หากมีบุคคลได้ปฏิบัติตามพระสูตรนี้แม้ที่สุดเพียงคาถา 4 บาท ประกาศแสดงอรรถแก่บุคคลอื่น ย่อมมีบุญกุศลมากมายยิ่งกว่า”

ครั้งนั้นแล พระสุภูติได้สดับพระสูตรนี้แล้ว เป็นผู้มีความซาบซึ้งแจ่มชัดในธรรมอรรถนั้น จึงบังเกิดอาการร้องไห้หลั่งน้ำตา (ด้วยความปิติ) แล้วกราบทูลพระสัมพุทธเจ้าว่า
สุ “ หาได้ยากนัก ข้าแต่พระผู้มีภาค ในการที่พระสัมพุทธเจ้าตรัสพระสูตรอันสุขุมล้ำลึกเป็นปานฉะนี้ ในอดีตกาลนับแต่ข้าพระองค์ได้บรรลุปัญญาจักษุเป็นต้นมา มิได้เคยสดับพระสูตรดั่งนี้เลย ข้าแต่พระสุคต ถ้ามีบุคคลผู้ได้สดับพระสูตรดังกล่านี้ มีศรัทธาอันบริสุทธิ์ แล้วบังเกิดลักษณะอันแท้จริง (กล่าวคือปัญญารู้แจ้งในสภาพตามเป็นจริง) ก็พึงสำเหนียกได้ว่าบุคคลนั้นได้บรรลุสำเร็จซึ่งคุณานิสงส์อันเยี่ยมยอดหา ได้โดยยาก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็ลักษณะอันแท้จริงนั้น โดยความจริงไม่มีลักษณะ ฉะนั้นพระตถาคตเจ้าจึงตรัสว่า นั่นเป็นลักษณะที่แท้จริง

ข้าแต่พระผู้มีภาค ข้าพระองค์ได้สดับพระสูตรนี้ ณ บัดนี้ มีความศรัทธาและซาบซึ้งในธรรมอรรถรับปฏิบัติตาม ย่อมไม่เป็นข้อยากเย็นอะไรเลย ก็แต่ว่าในอนาคตกาลจากนี้ 500 ปี หากมีสรรพสัตว์ใดได้สดับพระสูตรนี้ แล้วแลบังเกิดความศรัทธาซาบซึ้งในธรรมอรรถรับปฏิบัติตาม บุคคลนั้นนับว่าเป็นบุคคลอย่างเยี่ยมยอดชนิดหาได้โดยยากทีเดียวพระเจ้าข้า ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าบุคคลนั้นจักเป็นผู้ปราศจากความยึดถือผูกพันในอาตมะลักษณะ ไม่ยึดถือผูกพันในปุคคละลักษณะ ไม่ยึดถือผูกพันในสัตวะลักษณะ ไม่ยึดถือผูกพันในชีวะลักษณะ ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน เพราะว่าอาตมะลักษณะนั้นไม่มีสภาวะลักษณะเลย ด้วยเหตุดังฤา เมื่อละความยึดถือในสรรพลักษณะทั้งปวง ได้ชื่อว่าเป็นผู้รู้แจ้งตรัสรู้เช่นพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย”

พระสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระสุภูติว่า
พ “ อย่างนั้นอย่างนั้น ถ้ามีบุคคลผู้ได้สดับพระสูตรนี้แล้ว แลไม่บังเกิดความกลัว ไม่บังเกิดความครั่นคร้าม ไม่บังเกิดความระย่อ*5 เธอพึงสำเหนียกไว้เถอะว่าบุคคลนั้นเป็นผู้หาได้โดยยาก ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน สุภูติ ตถาคตกล่าวว่า บารมีอันยอดเยี่ยมนั้นโดยความจริงแล้ว ก็ไม่มีสภาวะแห่งบารมีอันยอดเยี่ยมนั้นเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า บารมีอันยอดเยี่ยมเท่านั้น ดูก่อนสุภูติ ขันติบารมีนั้นตถาคตกล่าวว่าแท้จริงไม่มีสภาวะแห่งขันติบารมีนั้นเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า ขันติบารมีเท่านั้น ทั้งนี้เพราะเหตุดังฤา สุภูติเอย ณ เบื้องอดีตกาลนานโพ้น เมื่อครั้งเราถูกพระเจ้ากลิราชาตัดหั่นสรีระ *6 ครั้งนั้นเราไม่ถือมั่นในอาตมะลักษณะ ไม่ถือมั่นในปุคคละสักษณะ ไม่ถือมั่นในสัตวะลักษณะ ไม่ถือมั่นในชีวะลักษณะ ข้อนั้นเพราะเหตุใด เพราะว่าสมัยนั้นขณะที่สรีระของเราถูกหั่นฉะเชือดออกเป็นส่วนๆ หากเรามีความถือมั่นในอาตมะลักษณะ ปุคคละลักษณะ สัตวะลักษณะ สัตวะลักษณะ ชีวะลักษณะไซร้ ก็จะพึงบังเกิดความโกรธแค้นอาฆาต

ดูก่อนสุภูติ อนึ่งเรายังตามระลึกถึงกาลที่ล่วงมาแล้ว 500 ชาติ เมื่อเราเป็นกษานติวาทีดาบส ในชาตินั้นเราปราศจากความถือมั่นในอาตมะลักษณะ ปราศจากความถือมั่นในปุคคลลักษณะ ปราศจากความถือมั่นในสัตวะลักษณะ ปราศจากความถือมั่นในชีวะลักษณะ ด้วยเหตุฉะนั้นแล สุภูติ พระโพธิสัตว์พึงเป็นผู้ละความยึดถือในลักษณะทั้งปวง แล้วบังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ พึงยังจิตมิให้ยึดถือผูกพันในรูป พึงยังจิตมิให้ยึดถือผูกพันในเสียง ในกลิ่น ในรส ในสัมผัส ในธรรมารมณ์ พึงยังจิตให้ปราศจากความยึดถือผูกพันใดๆ และถ้าจิตยังมีความยึดถือผูกพันอยู่ ก็ย่อมชื่อว่าจิตมิได้ตั้งอยู่ในสถานะที่ควร(แก่อนุตตรสัมมาสัมโพธิ กล่าวคือจิตที่ตั้งอยู่ในสถานะที่ความแก่อนุตตรสัมมาสัมโพธิ ต้องเป็นจิตชนิดที่ปราศจากความยึดถือผูกพัน) ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า พระโพธิสัตว์ไม่พึงบริจาคทานด้วยจิตซึ่งยึดถือผูกพันในรูป ดูก่อนสุภูติ พระโพธิสัตว์ผู้ยังประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์ พึงบริจาคทานอย่างนี้แล ตถาคตกล่าวว่าลักษณะทั้งปวง โดยความจริงแล้ว ก็ปราศจากสภาวะแห่งลักษณะ และกล่าวว่าสรรพสัตว์ โดยความจริงแล้ว ก็ปราศจากสภาวะแห่งสรรพสัตว์ดุจกัน

( *5 ทั้งนี้เนื่องด้วยพระสูตรนี้แสดงเรื่อง ศูนยตา อันเป็นปรมัตถ์สุดยอด ผู้ที่ยังมีความหลงไหลอยู่เมื่อฟังแล้วก็เข้าใจว่าเป็นมิจฉาทิฎฐิ หรือเกิดความกลัวในความว่างเปล่าขึ้น ทั้งนี้โดยสัญชาติญาณแห่งภวตัณหาของสัตว์ทั่วๆไป แม้จนกระทั่งพรหมชั้นสูง พากันคิดในความมีความเป็นเมื่อมาฟังคารมปฏิเสธในพระสูตรนี้ จึงอาจเกิดความกลัวความระย่อ-ผู้แปล)

( *6 ในชาดกกล่าวว่า เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นกษานติวาทีดาบส (บาลี คือขันติวาทีดาบส )ครั้งหนึ่งจาริกมาพักอยู่ในราชอุทยานของพระเจ้ากลาปุหรือ กลิราชาแห่งเมืองพาราณสี วันหนึ่งพระราชาพานางสนมกำนัลประพาสอุทยาน เสวยน้ำจัณฑ์เมาบรรทมหลับไป ครั้นตื่นขึ้นไม่เห็นนางสนมกำนัลเหล่านั้น จึงเสด็จเที่ยวหามาพบนางในเหล่านั้นห้อมล้อมฟังธรรมของดาบสอยู่ พระราชาบังเกิดความหึงหวงดำรัสให้ลงโทษดาบส และถามดาบสถือธรรมอะไร พระโพธิสัตว์ตอบว่าถือขันติ พระราชาก็ยิ่งให้ทำทรมานมากขึ้น จนถึงตัดมือตัดเท้า ทรมานจนพระโพธิสัตว์มรณะภาพแล้วพระราชาจึงเสด็จกลับ ครั้นเสด็จถึงประตูอุทยานก็ถูกธรณีสูบลงสู่อเวจีมหานรก – ผู้แปล)



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร : เสถียร โพธินันทะ
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มีนาคม 04, 2011, 10:51:43 am »



ดูก่อนสุภูติ ตถาคตเป็นสัจจวาที ภูตวาที ตถวาที อวิตถวาที อนัญญถวาที สุภูติ ธรรมอันตถาคตบรรลุ มิได้เป็นสิ่งมีอยู่จริงหรือเป็นสิ่งไร้แก่นสารก็หาไม่ *7 สุภูติ หากพระโพธิสัตว์มีจิตยึดถือผูกพันในธรรมแล้วแลบริจาคทาน อุปมาดั่งบุคคลผู้เข้าสู่สถานที่มือย่อมไม่อาจเห็นสิ่งอะไรได้เลย แต่ถ้าพระโพธิสัตว์มีจิตไม่ยึดถือผูกพันในธรรมแล้วและบริจาคทาน มีอุปมาดั่งบุคคลผู้มีจักษุสว่างและ (เข้าไปในสถาน)ที่ซึ่งมีแสงอาทิตย์สว่าง ย่อมจะเห็นชัดในรูปต่างๆได้

( * 7กล่าวคือจะว่ามีสภาวะโดยตัวมันเองอยู่อย่างจริงแท้ ก็ชื่อว่าตกเป็นฝ่ายอัตถิตาข้างสัสสตทิฎฐิไป จะว่าว่างเปล่าไร้สาระเสียเลยทีเดียวเป็นการปฏิเสธต่อสมมติบัญญัตก็ชื่อว่า ตกเป็นฝ่ายนัตถิตา ข้างนัตถิกทิฎฐิ ธรรมะของพระพุทธองค์ไม่เป็นทั้งอัตถิตาหรือนัตถิตา เพราะพระองค์แสดงโดยปรมัตถนัยและโลกิยนัย ทั้งมิให้ยึดถือทั้งในความมีอยู่หรือไม่มีอยู่ – ผู้แปล)

ดูก่อนสุภูติ ในอนาคตกาลเบื้องหน้า หากมีกุลบุตร กุลธิดาใดๆอาจสามารถรับปฏิบัติตามพระสูตรนี้ หรือเจริญสาธยายก็ดี อาศัยอำนาจแห่งพุทธปัญญาของตถาคตย่อมทราบชัดอยู่ซึ่งผู้นั้น ย่อมเห็นอยู่ซึ่งผู้นั้นจักสำเร็จบรรลุคุณานิสงส์อันจักประมาณมิได้และไม่ มีขอบเขต”

สุภูติเอย กุลบุตร กุลธิดาใดๆ ในยามเช้าจักบริจาคสรีระกายอันมีประมาณดุจเมล็ดทรายในคงคานทีออกเป็นทานก็ดี ในยามกลางวันยังจักบริจาคสรีระกายอันมีปริมาณดุจเมล็ดทรายในคงคานทีออกเป็น ทานก็ดี แม้ในยามเย็นก็ยังจักบริจาคสรีระกายอันมีปริมาณดุจเมล็ดทรายในคงคานทีออก เป็นทานก็ดี เขาจักสละสรีระตลอดกาลนับหลายร้อยพันหมื่นโกฏิกัลป์อันไม่มีประมาณ ออกบริจาคเป็นทานอยู่ตลอดก็ตาม แต่ถ้ามีบุคคลผู้ได้สดับพระสูตรนี้แล้วบังเกิดจิตศรัทธาไม่คัดค้าน บุญกุศลของเขาผู้นั้นยังประเสริฐกว่า จักป่วยกล่าวไปใยกับการที่เขาคัดลอก รับปฏิบัติ เจริญสาธยาย และอธิบายอรรถซึ่งพระสูตรนี้แก่บุคคลอื่นๆได้เล่า

อนึ่ง สุภูติ โดยสรุปความสำคัญแล้ว ก็กล่าวได้ว่าพระสูตรนี้มีคุณานิสงส์อันจักพึงคิดคาดคะเนมิได้ หรือจักประมาณก็มิได้ประกอบด้วยคุณานิสงส์อันไม่มีขอบเขต ตถาคตประกาศพระสูตรนี้ เพื่อบุคคลผู้มุ่งต่อมหายาน และประกาศพระสูตรนี้เพื่อบุคคลผู้มุ่งต่ออนุตตรยาน ถ้ามีบุคคลผู้สามารถรับปฏิบัติตามก็ดี เจริญสาธยายก็ดี ประกาศแสดงแก่บุคคลอื่นๆก็ดี

ตถาคตย่อมทราบชัดอยู่ซึ่งผู้นั้น ย่อมเห็นอยู่ซึ่งผู้นั้น บุคคลนั้นๆทั้งหมดจักบรรลุคุณานิสงส์ซึ่งประมาณมิได้ กล่าวมิได้ ปราศจากขอบเขต และเป็นอจินไตย บุคคลผู้เช่นนี้ชื่อว่าเป็นผู้แบกคอนพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิของพระตถาคต ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุดังฤา สุภูติ หากบุคคลใดเป็นผู้ยินดีในธรรมอันคับแคบ มีความยึดถือผูกพันเห็นว่ามีอาตมะ เห็นว่ามีปุคคละ เห็นว่ามีสัตวะ และเห็นว่ามีชีวะไซร้ เขาผู้นั้นย่อมไม่สามารถรับฟังและปฏิบัติตามพระสูตรนี้ได้ และไม่สามารถเจริญสาธยายหรือประกาศพระสูตรนี้แก่บุคคลอื่นๆได้เลย

ดูก่อนสุภูติ ในสถานที่ใดๆ ถ้ามีพระสูตรนี้ประดิษฐานอยู่สถานที่นั้นๆย่อมเป็นสถานอันทวยเทพ ตลอดจนมนุษย์และอสูรในโลกทั้งหลายจักพึงกระทำสักการบูชา เธอพึงสำเหนียกไว้เถอะว่า ณ.สถานที่ดังกล่าวนี้แลเป็นพระสถูปเจดีย์ ควรแก่การเคารพพนมไหว้กระทำการประทักษิณ และนำบุปผาชาตินานาพรรณมาเกลี่ยบูชา

อนึ่ง สุภูติ กุลบุตร กุลธิดาใดๆมารับปฏิบัติหรือเจริญสาธยายซึ่งพระสูตรนี้ แลแล้วถูกคนเขาดูหมิ่นย่ำยี บุคคลนั้น (คือผู้ปฏิบัติตามพระสูตรนี้) อันอกุศลกรรมแต่ปางหลังชาติก่อนสมควรแก่การจบลงสู่อบายทุคคติภูมิ แต่เมื่อเขาได้รับการดูหมิ่นย่ำยีจากคนอื่นในภพปัจจุบัน(มาชดเชย) อกุศลกรรมแต่ปางก่อนจึงดับศูนย์ บุคคลนั้นจักบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ
สุภูติเอย เรามาตามระฤกได้อยู่ซึ่งอดีตนับด้วยอสงไขยกัลป์อันจักประมาณมิได้ เบื้องหน้าแต่ก่อนที่จะได้เฝ้าพระทีปังกรพุทธเจ้า เราได้เฝ้าพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย นับจำนวนแปดร้อยสี่พันหมื่นองสไขยนิยุตะองค์ *8

( *8 ตอนนี้กล่าวถีงอานุภาพของการปฏิบัติพระสูตรนี้ ทำให้อกุศลกรรมแต่ก่อนซึ่งควรให้ผลในชาติต่อไป กลายเป็นย่นเวลาให้สั้นมาให้ผลในปัจจุบันเพียงแค่ได้รับการดูหมิ่นจากผู้อื่นเท่านั้น – ผู้แปล )


เราได้เฝ้าปฏิบัติบูชาพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลายเหล่านั้นโดยมิพลาดโอกาสแม้ สักพระองค์หนึ่งเลย อนึ่ง หากมีบุคคลกาลอนาคตสมัยปลายแห่งพระสัทธรรม อาจสามารถรับปฏิบัติ เจริญสาธยายซึ่งพระสูตรนี้ คุณานิสงส์ซึ่งเขาพึงได้นั้น เมื่อมาเปรียบเทียบกับคุณานิสงส์ซึ่งเราบูชาพระสัมพุทธเจ้าทั้งหลาย ในร้อยส่วนไม่ถึงหนึ่งส่วน (ในคุณานิสงส์ของผู้นั้น) นับด้วยพันหมื่นอสงไขยกัลป์ส่วนที่สุดจนเหลือคณานับซึ่งจะเปรียบเทียบมิได้ เลย

ดูก่อนสุภูติ กุลบุตร กุลธิดาใดๆในสมัยเบื้องปลายแห่งพระสัทธรรม ได้มาปฏิบัติและเจริญสาธยายพระสูตรนี้ คุณานิสงส์อันเขาได้นั้น ถ้าเราจักพึงอธิบายโดยละเอียดสมบูรณ์ซึ่งคุณานิสงส์นั้นแล้ว หากมีผู้ใดสดับเข้าก็จะพึงบังเกิดความวุ่นวายแห่งจิต มีวิจิกิจฉาไม่เชื่อถือเลย *9 สุภูติ เธอพึงสำเหนียกไว้เถอะว่าธรรมอรรถแห่งพระสูตรนี้เป็นอจินไตย แม้ผลานิสงส์ก็เป็นอจินไตยดุจกันอย่างนี้แล”
( *9 กล่าวคืออานิสงส์ซึ่งกล่าวมาแต่ต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ถ้ากล่าวอธิบายอานิสงส์ทั้งหมดจะเป็นการมโหฬารพันลึก เกรงผู้เข้าไม่ถึงจะไม่เชื่อ – ผู้แปล)



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร : เสถียร โพธินันทะ
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: มีนาคม 04, 2011, 11:46:56 am »


โดยสมัยนั้นแล พระสุภูติกราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค กุลบุตร กุลธิดาใดๆ ผู้บังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ควรจักปฏิบัติตั้งจิตของตนโดยสถานใด ควรจักบำราบจิตของตนอย่างไรหนอพระเจ้าข้า”
พระสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระสุภูติว่า
พ “ กุลบุตร กุลธิดาใดๆผู้บังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ควรจักปฏิบัติตั้งจิตของตนอย่างนี้ ควรจักควบคุมบำราบจิตของตนอย่างนี้ว่า เราจักเป็นผู้โปรดสรรพสัตว์ให้สำเร็จแก่อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ แลสรรพสัตว์เหล่านั้นได้สำเร็จแก่อนุปาทิเสสนิพพานธาตุแล้วก็จริง แต่โดยความจริงแล้วก็มิได้มีสัตว์ใดๆแม้สักผู้หนึ่งได้ดับขันธนิพพานเลย ข้อนั้นเพราะเหตุใดฤา สุภูติ ถ้าพระโพธิสัตว์ยังมีความยึดถือผูกพันในอาตมะลักษณะ ปุคคละลักษณะ สัตวะลักษณะ ชีวะลักษณะ นั่นก็หาใช่พระโพธิสัตว์ไม่ ทั้งนี้ด้วยเหตุเป็นไฉน สุภูติ โดยความจริงแล้ว ก็ไม่มีสภาวะธรรมที่จะ(เป็นผู้) บังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณนั่นเอง *10

( * 10 คือผู้ที่จะทำหน้าที่เป็นพระโพธิสัตว์ก็เป็นสภาพว่างเปล่าไร้ตัวตน แล้วจริยะธรรมอันเกิดจากสภาพว่างเปล่านั้นจักเป็นของมีอยู่ได้อย่างไร-ผู้ แปล)


ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน เมื่อตถาคตอยู่ในสำนักแห่งพระทีปังกรพุทธเจ้ามีธรรมอันใดที่เราพึงบรรลุ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิฤา”
สุ “ ไม่มีเลย ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ตามความเข้าใจของข้าพระองค์ในธรรมอรรถของพระสัมพุทธเจ้า เมื่อครั้งพระองค์อยู่ในสำนักพระทีปังกรพุทธเจ้า ปราศจากธรรมอันพึงบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิเลย”
พ “ อย่างนั้นอย่างนั้น สุภูติ โดยความจริงแล้ว ย่อมไม่มีธรรมใดซึ่งตถาคตจักบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิเลย ดูก่อนสุภูติ หากพึงมีธรรมใดซึ่งตถาคตบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิไซร้ พระทีปังกรพุทธเจ้าก็จักไม่พยากรณ์แก่เราว่า “ในอนาคตกาลท่านจักได้เป็นพระพุทธเจ้ามีนามกรว่า พระศากยมุนี “ แต่ที่แท้ย่อมไม่มีธรรมใดซึ่งจักบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ฉะนั้น พระทีปังกรพุทธเจ้าจึงตรัสพยากรณ์แก่เราว่า“ในอนาคตกาลท่านจักได้เป็น พระพุทธเจ้ามีนามกรว่า พระศากยมุนี “

ข้อนั้นเพราะเหตุใด ก็เพราะว่า “ตถาคต” นั้น คือสภาพความเป็นอย่างนั้นแห่งธรรมดาทั้งปวง ถ้ามีผู้กล่าวว่า ตถาคตบรรลุแก่พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิไซร้ สุภูติ โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสภาวะธรรมใดเลย ซึ่งพระพุทธเจ้าจักบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ สุภูติเอย โดยความจริงแล้วพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิอันตถาคตบรรลุนั้น ในพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ย่อมไม่มีสภาวะความมีอยู่และไม่มีอสภาวะความไม่มีอยู่เลย และด้วยเหตุดังกล่าวนั้นแล ตถาคตจึงกล่าวว่าธรรมทั้งหลายล้วนเป็นพระพุทธธรรม อนึ่ง สุภูติ ตามที่เรากล่าวว่าธรรมทั้งหลายล้วนเป็นพระพุทธธรรมนั้น โดยความจริงแล้ว ก็ไม่มีสภาวะแห่งธรรมทั้งหลายเลย เป็นสักแต่เรียกว่าธรรมทั้งหลายเท่านั้น

ดูก่อนสุภูติ อุปมาดั่งบุคคลผู้มีรูปกายสูงมหึมา”
สุ “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตตรัสว่า บุคคลผู้มีรูปกายสูงมหึมาโดยแท้จริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งรูปกายสูงมหึมา เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่ารูปกายสูงมหึมาเท่านั้น”
พ “ ดูก่อนสุภูติ โดยประการเดียวกัน ถ้าพระโพธิสัตว์ยังมีวาทะกล่าวว่าเราเป็นผู้โปรดสรรพสัตว์ให้บรรลุนิพพาน ธาตุไซร้ ก็หาชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ไม่ ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา สุภูติ โดยความจริงแล้วไม่มีสภาวะใดที่เรียกว่าพระโพธิสัตว์ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าธรรมทั้งหลายไม่มีอาตมะ ไม่มีปุคคละ ไม่มีสัตวะ และไม่มีชีวะ

อนึ่ง สุภูติ หากพระโพธิสัตว์มีวาทะกล่าวว่า เราจักกระทำการตบแต่งอลังการพระพุทธเกษตรอย่างนี้ไซร้ ก็หาชื่อว่าเป็นพระโพธิสัตว์ไม่ ทั้งนี้เพราะเหตุไฉน ตถาคตกล่าวว่า การตบแต่งอลังการพุทธเกษตรนั้น โดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งการตบแต่งอลังการ เป็นสักแต่ชื่อว่าตบแต่งอลังการเท่านั้น สุภูติ ถ้าพระโพธิสัตว์สามารถแจ่มแจ้งเข้าถึงความจริงว่าธรรมทั้งหลายว่างเปล่าจาก ตัวตนแลของๆตนอย่างนี้ ตถาคตจึงกล่าวว่านั่นเป็นพระโพธิสัตว์อย่างแท้จริง”
พ.”ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตมีมังสะจักษุฤา “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตมีมังสะจักษุ ”

พ.”ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตมีทิพจักษุฤา “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตมีทิพจักษุ “
พ.”ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตมีปัญญาจักษุฤา “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตมีปัญญาจักษุ “
พ.”ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตมีธรรมจักษุฤา “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตมีธรรมจักษุ “


พ.”ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ตถาคตมีพุทธจักษุฤา “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตมีพุทธจักษุ “
พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน อุปมาดั่งเมล็ดทรายในคงคานที ตถาคตกล่าว่านั่นเป็นเมล็ดทรายฤา “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พระตถาคตตรัสเรียกว่านั่นเป็นเมล็ดทราย “
พ.”ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน เปรียบดุจเมล็ดทรายในท้องคงคานที แลมีแม่น้ำคงคาเป็นอันมากนับด้วยเมล็ดทรายเหล่านั้น อนึ่ง มีพุทธเกษตรโลกธาตุอื่นๆอีกเท่าจำนวนเมล็ดทรายในคงคานทีทั้งปวงอีกเล่า ด้วยประการดั่งนี้พึงนับเป็นจำนวนมากหลายอยู่ฤาหนอแล “
สุ “ มากมายนักแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค “



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร : เสถียร โพธินันทะ
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: มีนาคม 04, 2011, 12:28:37 pm »



พระสัมพุทธเจ้าตรัสกับพระสุภูติว่า
“ สรรพสัตว์ในโลกธาตุทั้งปวงเหล่านั้นมีจิตประพฤติโดยประเภทต่างๆกัน ตถาคตย่อมรู้ชัดแจ่มแจ้งในจิตพฤตติต่างๆนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน ตถาคตกล่าวว่า สรรพจิตทั้งปวงนั้นโดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งจิต เป็นสักแต่ชื่อว่าจิตเท่านั้น ด้วยเหตุดังฤา สุภูติ จิตในอดีตปราศจากแก่นสารจะถือเอาก็ไม่ได้ จิตในปัจจุบันปราศจากแก่นสารจะถือเอาก็ไม่ได้ แม้จิตในอนาคตก็ปราศจากแก่นสารจะถือเอาก็ไม่ได้ดุจกัน*11

( * 11 ขณะจิตในอดีตดับไปแล้ววอดวายไปแล้วจึงไม่มีอยู่ ขณะจิตในอนาคตเล่าก็ยังไม่เกิดขึ้นไม่มีอยู่อีก ส่วนขณะจิตในปัจจุบันกำลังแปรไปไม่คงที่ อนึ่ง เพราะอาศัยอดีตกับอนาคตจึงมีปัจจุบัน ก็เมื่ออดีตไม่มีสภาวะ อนาคตก็ไม่มีสภาวะ ปัจจุบันจึงหมดความหมายไปด้วย – ผู้แปล)


ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน ถ้ามีบุคคลใดๆนำเอาสัปตรัตนะซึ่งมีปริมาณเต็มเปี่ยมเท่าเมล็ดทรายในคงคานที ทั่วมหาตรีสหัสสโลกธาตุมาบริจาคทาน บุคคลนั้นอาศัยเหตุปัจจัยดังกล่าวนี้ ได้รับบุญกุศลมากอยู่ฤาหนอแล “
สุ “ อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บุคคลผู้นั้นอาศัยเหตุปัจจัยดังกล่าวย่อมได้รับบุญกุศลมากมายพระเจ้าข้า “
พ “ ดูก่อนสุภูติ หากบุญกุศลจักพึงมีสภาวะอยู่จริงแท้แล้ว ตถาคตก็จักไม่กล่าวว่า เขาได้บุญกุศลมากมาย ทั้งนี้ด้วยเหตุว่าบุญกุศลนั้นปราศจากสภาวะ ตถาคตจึงกล่าวว่าผู้นั้นได้บุญกุศลมากมาย “ * 12
( * 12 กล่าวคือบุญกุศลที่แท้จริงนั้นเป็นศูนยตาซึ่งเป็นฝ่ายวัฏฏคามินี ถ้ายังมีความยึดถืออยู่ก็เป็นบุญกุศลชนิดฝ่ายวัฏฏคามินี - ผู้แปล)


พ “ อนึ่ง สุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน จักเห็นพระพุทธเจ้าได้ในรูปกายอันสมบูรณ์นี้ฤา “
สุ “ มิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เป็นการไม่สมควรเลยที่จะเห็นพระตถาคตเจ้าในรูปกายอันสมบูรณ์นี้ ทั้งนี้เพราะเหตุใด พระตถาคตตรัสว่า รูปกายอันสมบูรณ์นั้น โดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งรูปกายอันสมบูรณ์ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า รูปกายอันสมบูรณ์เท่านั้น”
พ “ ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน จักเห็นพระพุทธเจ้าได้ในสรรพลักษณะอันสมบูรณ์ได้อยู่ฤาหนอแล “
สุ “ มิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เป็นการไม่สมควรเลยที่จะเห็นพระตถาคตเจ้าในสรรพลักษณะอันสมบูรณ์นี้ ทั้งนี้เพราะเหตุใด พระตถาคตตรัสว่า สรรพลักษณะอันสมบูรณ์ โดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งสรรพลักษณะอันสมบูรณ์ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าสรรพลักษณะอันสมบูรณ์เท่านั้น “

พ “ สุภูติเอย เธออย่ากล่าวว่าตถาคตมีมนสิการว่า เราเป็นผู้แสดงธรรมแก่มวลสรรพสัตว์ เธออย่าเข้าใจอย่างนั้นเลย ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน หากมีบุคคลกล่าวว่า ตถาคตเป็นผู้แสดงธรรม ชื่อว่าเป็นผู้ติเตียนตู่พระพุทธเจ้า เขาผู้นั้นไม่เข้าใจในวจนะของเรา สุภูติ ที่เรียกว่าการแสดงธรรมนั้น โดยความจริงแล้วไม่มีธรรมใดที่แสดงเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าการแสดงธรรมเท่านั้น “
ก็โดยสมัยนั้นแลพระสุภูติเถระผู้มีปัญญาทูลถามพระบรมศาสดาขึ้นว่า
สุ “ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ยังจะมีสรรพสัตว์ใดในอนาคตกาล สดับธรรมนี้แล้วบังเกิดศรัทธาจิตขึ้นฤาหนอแล “
พ “ ดูก่อนสุภูติ เขา(ผู้สดับธรรมแห่งพระสูตรนี้) มิใช่สรรพสัตว์ แต่จักว่ามิใช่สรรพสัตว์เลยก็มิได้ *13 ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา ดูก่อนสุภูติ ที่ว่าสรรพสัตว์ สรรพสัตว์นั้น ตถาคตกล่าวว่าปราศจากสภาวะแห่งสรรพสัตว์ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าสรรพสัตว์เท่านั้น
( * 13 อรรกถากล่าวว่า ผู้ที่สดับพระสูตรนี้บังเกิดศรัทธาจิตขึ้น นับว่าเป็นสัตว์ประเภทพิเศษไม่เหมือนสรรพสัตว์ทั่วไป แต่ผู้นั้นก็ยังมีกิเลสไม่บรรลุโพธิญาณ จึงสงเคราะห์อยู่ในสรรพสัตว์ ข้าพเจ้ามีความเห็นตรงกันข้ามกับอรรกถา ข้าพเจ้าเข้าใจว่าตอนนี้แสดงว่าโดยปรมัตถ์แล้วไม่มีสัตว์ แต่โดยบัญญัติสมมติแล้วก็ยังชื่อว่าสัตว์ – ผู้แปล)

พระสุภูติกราบทูลกับพระบรมศาสดาว่า
สุ “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เมื่อพระสัมพุทธเจ้าบรรลุตรัสรู้แก่พระปรมาภิเษกสัมมาสัมโพธิญาณนั้น นับว่าเป็นการมิได้บรรลุเลยฤาหนอพระเจ้าข้า”
พ “ อย่างนั้น อย่างนั้น สุภูติ เมื่อเราบรรลุตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิ ไม่มีธรรมแม้สักส่วนเล็กน้อยส่วนหนึ่งเลยที่เราบรรลุได้ถึง เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ “

อนึ่ง สุภูติ ธรรมทั้งหลายมีความเสมอภาคเท่ากัน ไม่มีสูงหรือต่ำ นั่นแลชื่อว่าพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ เมื่อไม่มีความยึดถือในอาตมะ ไม่ยึดถือในปุคคละ ไม่ยึดถือในสัตวะ ไม่ยึดถือในชีวะ แล้วบำเพ็ญกุศลธรรมทั้งหมด ก็จักชื่อว่าพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ สุภูติ ที่กล่าวว่ากุศลธรรมนั้น ตถาคตกล่าวว่า โดยความจริงแล้วไม่มีสภาวะแห่งกุศลธรรมเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่ากุศลธรรมเท่านั้นแล
อนึ่ง สุภูติ ถ้ามีบุคคลผู้นำเอากองแห่งสัปตรัตนะเท่าขุนเขาพระสุเมรุทั้งหลายใน มหาตรีสหัสสโลกธาตุมาบริจาคทาน แต่หากมีบุคคลมารับปฏิบัติเล่าเรียนสาธยาย ประกาศชี้แจงแก่ผู้อื่นซึ่งธรรมในปรัชญาปารมิตาสูตรนี้ ที่สุดแม้เพียงคาถา 4 บาท เท่านั้น คุณานิสงส์ของบุคคลแรกในร้อยส่วนเปรียบด้วยมิได้สักหนึ่งส่วน แม้นับด้วยร้อยหมื่นอสงไขยส่วนที่สุดจนเหลือประมาณคณานับ ก็เอามาเปรียบเทียบด้วย(กับคุณานิสงส์ของบุคคลหลัง) ไม่เท่าเทียมถึงได้เลย

ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน เธออย่ากล่าวว่าตถาคตมีมนสิการว่า เราเป็นผู้โปรดสัตว์ สุภูติ เธอย่าเข้าใจอย่างนั้น ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา โดยความจริงแล้วก็ไม่มีสรรพสัตว์ใดเลยอันตถาคตจักโปรด ถ้าแลมีสรรพสัตว์อันตถาคตจักพึงโปรดไซร้ ตถาคตก็มีความยึดถือผูกพันในอาตมะ ปุคคละ สัตวะ ชีวะ สุภูติเอย การที่ตถาคตกล่าวว่า “ตัวเรา ตัวเรา” นั้น โดยความจริงแล้วก็ไม่มีตัวเราอยู่เลย ก็แต่ปุถุชนย่อมยึดถือว่ามีตัวเราอยู่ สุภูติ แม้ปุถุชนก็เถอะตถาคตยังกล่าวว่า โดยความจริงแล้ว ปราศจากสภาวะแห่งปุถุชน เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าปุถุชนเท่านั้น



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร : เสถียร โพธินันทะ
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: มีนาคม 04, 2011, 02:12:34 pm »



ดูก่อนสุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน จักพึงเห็นตถาคตได้ในมหาปุริสลักษณะ 32 ประการฤา “
สุ “ อย่างนั้น อย่างนั้น ข้าแต่พระผู้มีพระภาค พึงเห็นพระผู้มีพระภาคได้โดยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการ”
พ “ ดูก่อนสุภูติ ถ้าเห็นตถาคตได้โดยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการไซร้ พระจักรพรรดิราชก็ชื่อว่า ตถาคตซิหนอ”
พระสุภูติกราบทูลสนองพระสัมพุทธเจ้าว่า
สุ “ ข้าแต่พระสุคต ตามความเข้าใจของข้าพระองค์ในธรรมอรรถซึ่งพระสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ เป็นการไม่สมควรที่จะเห็นพระตถาคต โดยมหาปุริสลักษณะ 32 ประการเลย”
ในสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้กล่าวนิคมคาถาว่า

“ ผู้ใดจักเห็นเราในรูป ฤาจักหาเราในเสียง ผู้นั้นย่อมชื่อว่าดำเนินทางที่ผิด ย่อมไม่สามารถเห็นตถาคตได้”

อนึ่ง สุภูติ หากเธอพึงมนสิการว่าเพราะเหตุตถาคตมิได้มีสรรพรูปลักษณะอันสมบูรณ์ (คือมหาปุริสลักษณะ 32 ประการและอสีตยานุพยัญชนะ 80 )แล้วบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ สุภูติเอย เธออย่าเข้าใจอย่างนั้นเลยว่า เพราะเหตุตถาคตมิได้มีสรรพรูปลักษณะอันสมบูรณ์ แล้วบรรลุพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ สุภูติ หาเธอมีมนสิการอย่างนี้ไซร้ บุคคลผู้บังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ ก็จักกล่าวได้ว่าธรรมทั้งปวงขาดศูนย์ เธออย่าได้มนสิการอย่างนั้นเลย ทั้งนี้เพราะเหตุใดฤา โดยความจริงแล้ว บุคคลผุ้บังเกิดจิตมุ่งต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิจักไม่มีวาทะกล่าวว่าธรรม ทั้งปวงขาดศูนย์ได้ *14
( * 14 กล่าวคือยอมรับว่ามีสมมติบัญญัติตามโลกโวหาร ไม่ถือรั้นแต่ประมัตถ์อย่างเดียว เพราะการถือรั้นอย่างนั้นเป็นลักษณะของฝ่ายอุจเฉททิฏฐิไป – ผู้แปล)


ดูก่อนสุภูติ ถ้ามีพระโพธิสัตว์นำเอาสัปตรัตนะซึ่งมีปริมาณเต็มเปี่ยมเท่าจำนวนเมล็ดทราย ในคงคานทีทั่วมหาตรีสหัสสโลกธาตุออกบริจาคทาน แต่หากมีบุคคลมารู้แจ้งว่าธรรมทั้งปวงปราศจากตัวตน เขาผู้นั้นได้สำเร็จแก่ปัญญาความตรัสรู้ *15 พระโพธิสัตว์องค์หลังนี้ได้คุณานิสงส์ประเสริฐยิ่งกว่าพระโพธิสัตว์องค์แรก ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา ดูก่อนสุภูติ เพราะพระโพธิสัตว์ทั้งหลายย่อมไม่ยึดถือในสรรพบุญกุศลนั่นเอง”
( *15 แปลตามตัวอักษรจีนว่า สำเร็จความอดทน โดยอรรถหมายถึงดวงปัญญา – ผู้แปล)
พระสุภูติกราบทูลกันพระสัมพุทธเจ้าว่า
สุ “ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค เหตุไฉนเล่าพระโพธิสัตว์จึงไม่ยึดถือในบุญกุศลหนอพระเจ้าข้า”
พ “ ดูก่อนสุภูติ พระโพธิสัตว์บำเพ็ญกุศลแล้ว ไม่พึงบังเกิดความโลภยึดถือเอา เพราะเหตุฉะนั้นแลจึงกล่าวได้ว่าไม่ยึดถือในบุญกุศล
อนึ่ง สุภูติ หากมีผู้กล่าวว่า ตถาคตเสด็จมาอยู่ ตถาคตดำเนินอยู่ ตถาคตประทับอยู่ ฤาตถาคตบรรทมอยู่อย่างนี้ไซร้ บุคคลผู้กล่าวนั้นมิได้เข้าใจแจ่มแจ้งในธรรมอรรถอันเราแสดงไว้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา โดยความจริงแล้วพระตถาคตปราศจากที่มาและปราศจากที่ไป เหตุนั้นจึงชื่อว่าตถาคต
ดูก่อนสุภูติ กุลบุตร กุลธิดาใดๆถ้าพิจารณากระจายมหาตรีสหัสสโลกธาตุให้เป็นผุยผงละเอียด เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน กองแห่งปรมาณูเหล่านั้นมีจำนวนมากมายอยู่ฤาหนอแล “

สุ “ มากมายนักแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้อนั้นเพราะเหตุไฉน เพราะถ้ากองแห่งปรมาณูเหล่านี้จักพึงมีสภาวะอยู่จริงไซร้ พระสัมพุทธเจ้าก็จักไม่ตรัสว่ากองแห่งปรมาณูนั้น ทั้งนี้เพราะเหตุใดเล่า พระสัมพุทธเจ้าตรัสว่ากองแห่งปรมาณู โดยความจริงแล้ว ก็ไม่มีสภาวะแห่งกองปรมาณูเลย เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่ากองปรมาณูเท่านั้น
ข้าแต่พระสุคต มหาตรีสหัสสโลกธาตุซึ่งพระสัมพุทธเจ้าตรัสนั้น โดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งโลกธาตุ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าโลกธาตุเท่านั้น ข้อนั้น เพราะเหตุไฉน ถ้าโลกธาตุพึงมีสภาวะอยู่จริงไซร้ ก็ชื่อว่าเป็นเอกฆนลักษณะ พระตถาคตตรัสว่าเอกฆนลักษณะ โดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งเอกฆนลักษณะ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าเอกฆนลักษณะเท่านั้น” *16
( *16 อักษรจีนเขียนคำที่ให้ความหมายว่า รวมธรรมลักษณะหลายๆธรรมเข้าไว้ เช่น ในร่างกายของคนก็รวมประกอบด้วย ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ วิญญาณ ผู้ที่จะเห็นแจ้งในสรรพธรรมว่าเป็นอนัตตาต้องทำลายฆนสัญญาดังกล่าวนี้ – ผู้แปล)


พ “ ดูก่อนสุภูติ เอกฆนลักษณะนั้นไม่มีสภาวะโดยตัวของมันเองอยู่เลย ก็แต่ปุถุชนยึดถือว่ามีสภาวะโดยตัวของมันเองอยู่อย่างจริงแท้”
อนึ่งสุภูติ ถ้ามีบุคคลมากล่าวว่า พระสัมพุทธเจ้าตรัสว่ามีอาตมะทัศนะ มีปุคคละทัศนะ มีสัตวะทัศนะ มีชีวะทัศนะ ดั่งนี้ไซร้ สุภูติ เธอมีความคิดเห็นเป็นไฉน บุคคลนั้นเข้าใจแจ่มแจ้งในธรรมอรรถอันเราแสดงไว้ฤา”
สุ “ หามิได้ ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บุคคลนั้นไม่เข้าใจแจ่มแจ้งในธรรมอรรถอันพระตถาคตเจ้าแสดงไว้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุใด ก็พระสุคตตรัสแล้วว่า อาตมะทัศนะ ปุคคละทัศนะ สัตวะทัศนะ ชีวะทัศนะ โดยความจริงแล้ว ก็ปราศจากสภาวะแห่งอาตมะทัศนะ ปุคคละทัศนะ สัตวะทัศนะ ชีวะทัศนะ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่า อาตมะทัศนะ ปุคคละทัศนะ สัตวะทัศนะ ชีวะทัศนะเท่านั้น”
พ “ดูก่อนสุภูติ บุคคลผู้มีจิตปรารถนาต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิพึงมีความกำหนดรู้อย่างนี้ พึงมีทัศนะอย่างนี้ พึงมีศรัทธาและความเข้าใจแจ่มแจ้งในธรรมทั้งหลายไม่บังเกิดธรรมลักษณะขึ้น *17 สุภูติ ที่กล่าวว่าธรรมลักษณะนั้น ตถาคตกล่าวว่า โดยความจริงแล้วก็ปราศจากสภาวะแห่งธรรมลักษณะ เป็นสักแต่ชื่อเรียกว่าธรรมลักษณะเท่านั้น”

( *17 ความหมายตามอักษรจีนแปลว่า ธรรมลักษณะ แต่ในที่นี้โดยอรรถหมายถึงความไม่ยึดถือ สภาวะที่มีอยู่โดยตัวมันเอง – ผู้แปล)

อนึ่งสุภูติ หากมีบุคคลนำเอาสัปตรัตนะมีปริมาณเต็มทั่วอสงไขยโลกธาตุอันไม่มีประมาณมา บริจาคทาน แต่ถ้ามีกุลบุตร กุลธิดาใดๆตั้งจิตปรารถนาต่อพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิ มาปฏิบัติตามซึ่งพระสูตรนี้แม้ที่สุดคาถาเพียง 4 บาท เขารับปฏิบัติฤาเล่าเรียนสาธยายก็ดี ฤาประกาศแก่ผู้อื่นก็ดี ย่อมมีบุญกุศลวิเศษยิ่งกว่าผู้บริจาคทานนั้นเสียอีก ก็การประกาศแก่ผู้อื่นนั้นเป็นไฉน คือความไม่ยึดถือผูกพันในลักษณะ ตั้งมั่นอยู่ในตถาตาภาพธรรมดาโดยไม่หวั่นไหว ข้อนั้นเพราะเหตุดังฤา เพราะว่าสังขตธรรมทั้งปวง มีอุปมาดั่งความฝัน ดั่งภาพมายา ดั่งฟองน้ำ ดั่งเงา ดั่งน้ำค้าง และดั่งสายฟ้าแลบ พึงเพ่งพิจารณาโดยอาการอย่างนี้ “
เมื่อพระสัมพุทธเจ้าตรัสพระสูตรนี้อวสานลง พระสุภูติผู้มีอายุพร้อมด้วยเหล่าภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ตลอดจนปวงเทพ มนุษย์ อสูร ในโลกทั้งหลายได้สดับซึ่งพระพุทธพจน์แล้วก็พากันอนุโมทนาชื่นชมยินดี มีความศรัทธาน้อมรับไปปฏิบัติด้วยประการฉะนี้แล.


คัดลอกจาก หนังสือสารัตถธรรมมหายาน ของวัดโพธิ์แมนคุณาราม

ขอบพระคุณที่มาจาก : palungjit.com
นำมาเผยแพร่โดย : ธุดงค์อีสาน



Credit by : http://taradharma.exteen.com/20070410/entry-1
Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ