นักการศึกษานักวิชาการชาวตะวันตกอาจเพิ่งตระหนักว่าตนมัวเมาอยู่กับทฤษฎีทางจิตวิทยาพฤติกรรมศาสตร์ของฟรอยด์
ที่ตั้งบนหลักการทางกายภาพสองประการ - ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของจิตวิวัฒนาการแท้ๆ - คือวัตถุกับแยกส่วน ดังนั้น ฟรอยด์จึงมีส่วนอย่างสำคัญในการสรรค์สร้างจิตวิทยาที่ทำให้จิตกลายเป็นส่วนของกายเป็นส่วนของสมอง จิตวิทยาที่เน้นความแปลกแยกแตกต่างระหว่างสังคม พร้อมๆ กับตอกย้ำพฤติกรรมของกามกิเลสว่าเป็นนอร์มของมนุษย์ ที่ในเวลาต่อมานำความรู้ที่ขาดตกบกพร่องมาผลิตสร้างระบบและรูปแบบของสังคม โดยเฉพาะด้านการศึกษาที่สร้างจิตวิทยาทางการเมืองจนเกิดพฤติกรรมของมนุษย์และสังคมให้เห็นแก่ตัวจนผิดธรรมชาติจนพิกลพิการ - ที่มีผลต่อไปอีกที - ในการก่อวิกฤติและปัญหานานัปการให้กับสังคมโลก โดยเฉพาะกับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติดังที่เรากำลังประสบพบกับผลพวงของมันอยู่ในปัจจุบันนี้ - โดยไม่รู้ตัว
เมื่อจิตเป็นผลผลิตของวัตถุของสมอง เมื่อทุกสิ่งแปลกต่าง - ต่างคนต่างอยู่ - วิธีคิดกับการคิดของนักวิชาการเท่าที่ผ่านมาส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องของความพยายามทำเรื่องของจิตให้เป็นกายให้ได้ พยายามเอาอายตนะทางกายภายนอกไปจับไปอธิบายเรื่องของจิตวิญญาณให้ได้ - ด้วยการอาศัยหลักการและทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์คลาสสิก ที่ไม่รู้ว่าเป็นคลาสสิกที่ตรงไหน? - ตรงใช้จิตของมนุษย์ตัดสินธรรมชาติทั้งหมดกระนั้นหรือ? หรือว่าเพราะมนุษย์มีภาษาและพูดได้? หรือว่าตาและหูของมมุษย์คือเครื่องมือที่ถ่ายทอดความจริงแท้ให้มนุษย์เท่านั้นรับรู้? หรือเพราะกรอบของวัฒนธรรมกรอบของศาสนาที่ครอบงำความคิดของนักวิทยาศาสตร์ ที่จริงๆ แล้ว บางที่อาจจะเป็นผลของการแปลพระวาจา หรือการเปิดเผยของสวรรค์บนความรู้ความเข้าใจของผู้แปลในเวลานั้น จนทำให้คำแปลขาดความสมบูรณ์? ดังนั้นการที่พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์เช่นภาพลักษณ์ (image) ของพระองค์นั้น แม้ที่จริงอาจไม่ใช่เป็นภาพทางกายหากเป็นจิตเป็นสาระที่อยู่ภายในก็ได้? หรือบางทีที่คิดว่าสวรรค์บัญชาให้มนุษย์ครอบครองและเป็นเจ้าของ (dominion) ธรรมชาติ อาจไม่ได้เป็นเรื่องของการทำลายหรือทำอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ หากเป็นเรื่องของหน้าที่ของการดูแลปกป้องธรรมชาติก็ได้?
ดังนั้นเองงานค้นคว้าวิจัยในเรื่องต่างๆ ของนักวิชาการ แม้แต่เรื่องวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ฟิสิกส์แควนตัมเมคานิกส์เองที่พิสูจน์ความจริงทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างสมบูรณ์ยิ่ง แต่พอมาพบว่าความจริงทางแควนตัมนั้นเกิดไปสอดคล้องแนบขนานกับกระบวนการทางจิตเป็นอย่างยิ่ง นักวิชาการส่วนหนึ่งที่ติดวัตถุและแยกส่วนที่รับเรื่องจิตวิญญาณไม่ได้ก็พยายามทำให้มันเป็นเรื่องของกายทั้งหมดให้ได้ นักการศึกษาที่ศึกษาเรื่องของการจัดกลุ่มปัญญา (intelligent) ส่วนใหญ่ก็เช่นเดียวกันที่ติดวัตถุ ที่หากนักวิชาการเหล่านี้วิพากษ์จิตด้วยปรัชญาที่ต่อยอดบนฟิสิกส์แห่งยุคใหม่และบนวิทยาศาสตร์แห่งจิตวิญญาณบ้างก็จะสามารถมองเห็นได้ว่า ที่มาและกระบวนการสู่การรู้ (ontology and epistemology) ของปัญญาที่มีหลากหลายนั้นน่าจะมาจากจิตไร้สำนึกนอกสมองหรือจากจิตร่วมของจักรวาลที่เข้ามาทำงานในสมองมนุษย์ แต่กระนั้นนักวิชาการก็พยายามอธิบายให้เป็นวิวัฒนาการโผล่ปรากฏในทางกายภาพทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการอธิบายพหุปัญญาโดยเฮาวาร์ด การ์ดเนอร์ หรือปัญญาแห่งอารมณ์ของแดเนียล โคลแมน หรือแม้แต่การอธิบายจิตปัญญาสามหน้าของอีเลน เดอ โบพอร์ต เองที่พูดถึงจิตทั้งหมดแต่ก็อดไม่ได้ที่เอากายเข้าไปจับ
และทุกวันนี้ ทฤษฎีสไปรัลไดนามิกส์ (spiral dynamics) ที่มีแหล่งที่มาจากหลักการและกระบวนการโผล่ปรากฏที่เป็นวัฎจักรธรรมชาติ และเป็นเรื่องของจิตวิวัฒนาการที่แสดงด้วยรูปแบบก้นหอย (torus) เช่นพายุหมุนหรือวังน้ำวน (vortices and whirl pools) ที่เป็นกระบวนการของระบบธรรมชาติทั้งหมดนี้ ซึ่งก็คือรูปแบบพื้นฐานของวัฏสงสารนั้นเอง ทุกวันนี้มีนักวิชาการนำทฤษฎีนี้มาประยุกต์ใช้อธิบายกระบวนการของวัฒนธรรมหรือคุณค่าสังคม - ที่แม้จะมีเรื่องของจิตไร้สำนึกก่อประกอบเป็นเนื้อใน และมีนักปรัชญาสายจิตวิญญาณหรือนักวิทยาศาสตร์ทางจิตอธิบายไปในด้านของจิตที่อาจดูสอดคล้องกับอภิปรัชญาของศาสนาที่อุบัติจากทางตะวันออกเช่นศาสนาพุทธของเราอยู่บ้าง - แต่ก็มีนักวิทยาศาสตร์อีกฝ่ายหนึ่งพยายามอธิบายสไปรัลไดนามิกส์ในเชิงวิวัฒนาการของสังคม ให้มันเป็นเรื่องของกายเฉกเช่นเดียวกัน เหมือนกับความพยายามที่จะอธิบายวิวัฒนาการของปัญญาที่มีอยู่หลากหลายให้เป็นเรื่องของอุบัติการโผล่ปรากฏของการทำงานที่ซับซ้อนในสมองที่ซับซ้อนของมนุษย์ (epiphenomenon)
ในปี 1976 ริชาด ดอว์กินส์ นักชีวิทยาศาสตร์ที่สนใจด้านชีววิวัฒนาการได้เขียนหนังสือเล่มหนึ่ง (Richard Dawkins ; The Selfish Genes, 1976) ได้บัญญัติคำว่า "มีมส์" (memes) ขึ้นมาใช้อธิบายวิวัฒนาการของสังคมปัจจุบัน ที่เป็นพหุสังคม มีมส์ก็เหมือนกับยีนที่กำหนดพันธุกรรมในทางชีววิทยา แต่ในกรณีนี้เป็นประหนึ่งเมล็ดพันธุ์ทางวัฒนธรรมที่แพร่ความคิดหรือรูปแบบใหม่หนึ่งใดที่จะไปเปลี่ยนค่านิยมเดิมให้เป็นค่านิยมใหม่หรือสรรค์สร้างวัฒนธรรมใหม่ "หน่วยใหม่" ขึ้นมาแทนวัฒนธรรมเดิม (units of cultural transmission) แต่จะคงคุณสมบัติเดิมเอาไว้ในพื้นฐานของรูปแบบใหม่ ดอว์กินส์ได้ยกตัวอย่างการแพร่ระบาดของปรสิตที่ฝังเอาไว้ในสมองของคนผู้หนึ่งแล้วคอยเวลาให้คนหรือพาหะนำตัวปรสิตหรือเชื้อโรคแพร่ระบาดสู่สมองของคนอื่นๆ ต่อไป หรือยกตัวอย่างของยีนในระดับที่เราสามารถเห็นกันได้ง่ายๆ เป็นต้นว่าเรื่องของเพลง การละเล่นและกีฬา หรือรูปแบบของเสื้อผ้า • สายเดี่ยวเกาะอกหรือไมโครสเกิร์ต หรือไล่ไปถึงความคิดและอุดมการณ์ที่กลายเป็นค่านิยมหรือคุณค่าทางสังคมในเวลาหนึ่งใดนั้นๆ
แต่นั่นจะต้องอาศัยเครื่องมือหรือตัวช่วยที่จะเร่งเร้าให้มีมส์ ซึ่งเครื่องมือที่ว่าก็ไม่ได้แตกต่าง • โดยหลักการ • ไปจากตัวดึงดูดหรือตัวแอ็ตแทร็กเตอร์ที่ต้องอาศัยตัวแปรเร่งปฏิกิริยาให้การจัดองค์กรสำเร็จได้เร็วขึ้น หรือเป็นไปในทางที่สังคมปรารถนา มีมส์จึงขึ้นต่อตัวช่วยแพร่กระจายเหมือนการระบาดของโรคระบาด ที่ต้องอาศัยสภาพการณ์ของภูมิศาสตร์หรืออาหารการกินหรือโดยเฉพาะพึ่ง "พาหะ" ให้ช่วยทำให้โรคระบาดอย่างรวดเร็ว ดังที่แอรอน ลินช์ นำมาขยายในหนังสือ (Aaron Lynch ; Thought Contagion, 1996) ซึ่งในด้านของวัฒนธรรมนั้นตัวช่วยเร่งอาจเป็นพ่อแม่ หรือครู หรือผู้ปกครอง หรือผู้นำประเทศที่มีความสามารถเป็นพิเศษ เช่น เจ็งกิสข่าน หรือฮิตเลอร์
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้ ได้มีการพูดกันมากในเรื่องของสไปรัลไดนามิกส์หรือ (spiral dynamics) พลวัตรรูปก้นหอย (vortices) ซึ่งก็คือรูปแบบที่ได้มาจากกระบวนการจัดองค์กรทาง "วัฒนธรรม" ร่วมของมนุษยชาติ ที่สอดคล้องกับมีมส์ หรือที่เรียกว่าปัญญาร่วมของสังคมหรือจิตแห่งวัฒนธรรม โดยเจ้าทฤษฎีคนสำคัญในเรื่องนี้ ดอน เบ็ก (Don Beck and Christopher Cowan ; Spiral Dynamics, Mastering Values. Leaderships and Chance, 1996) แม้ว่าดอน เบ็ก จะอ้างว่าเขาได้ความคิดมาจากเพื่อนที่ทำงานเรื่องนี้ด้วยกันชื่อ แคลร์ เกรฟส์ (Clare Graves) ที่ล่วงลับไปแล้วที่พูดไว้ในขั้นตอนของวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ที่มี 8 ระดับนั้น - อาจมีเรื่องของวิญญาณที่ล้ำลึกเป็นแกนใน - "เรากำลังเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ และครั้งนี้ไม่ใช่เพียงก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่งของการดำรงอยู่ แต่เป็นเรื่องใหม่การเคลื่อนไหวใหม่เช่นบทเคลื่อนไหวใหม่ (movement) ของเพลงซิมโฟนีที่ชื่อประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ" ดอน เบ็ก ได้ศึกษาวิจัยลักษณะของระดับ หรือเกลียวทั้งแปดมีมส์ทางวัฒนธรรม และพบว่าแต่ละเกลียวแต่ละระดับที่วิวัฒนาการขึ้นมาใหม่จะมีเนื้อหาสาระหรือลักษณะของระดับเดิมม้วนซ่อนเร้นเป็นเนื้อใน พร้อมๆ กับที่จะมีลักษณะใหม่โผล่ปรากฏขึ้นมา (transcend and include) นอกจากนั้นดอน เบ็ก ยังพบว่าเกลียวหรือมีมส์แต่ละระดับให้รูปแบบของมีมส์หรือวัฒนธรรมที่สอดคล้องกับสีต่างๆ - ที่เป็นสัญลักษณ์ที่ส่อนิสัยค่านิยมหรือพฤติกรรมของคนให้มีความแตกต่างกันไล่ขึ้นมาตามขั้นตอนของวิวัฒนาการด้วย โดยจะมีสีทั้งหมด 8 สีด้วยกันไล่ขึ้นมาเป็นเกลียวก้นหอย ที่จะแบ่งเป็นช่วงตอนหรือสองลำดับ ตอนแรกหรือขั้นต่ำมีหกเกลียว ตอนบนหรือลำดับสูงมีเพียงสองเกลียว - ไล่ขึ้นมาจากเกลียวล่างสุดอันเป็นวัฒนธรรมเริ่มแรกของมนุษยชาติ - วัฒนธรรมแห่งการสนองตอบ หรือสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ดึกดำบรรพ์ที่มีเมื่อหนึ่งแสนปีก่อน ซึ่งจะมีมีมส์เป็นสีของดินปนทรายหรือสีน้ำตาลอ่อน (beige) เป็นสัญลักษณ์ ถัดขึ้นมาเป็นสีม่วงแก่ สีแดง สีส้มและสีเขียว ส่วนช่วงตอนที่สองที่มีเพียงเกลียวเท่านั้นจะเป็นเกลียวสีเหลืองกับสีหยกคราม (terquoise) ทั้งสองมีมส์นี้จะเป็นวัฒนธรรมสูงสุดของมนุษยชาติในอนาคต
ในวัฒนธรรมตะวันออก รวมทั้งวัฒนธรรมบุพกาลไม่ว่าของเผ่าพันธุ์ไหนที่ใดในโลกช่วงก่อนยุคอุตสาหกรรม เราสามารถจะพบกับรูปแบบของวิวัฒนาการของวัฒนธรรมหรือวิวัฒนาการของจิตร่วมของมวลชนในชุมชนสังคมของเผ่าพันธุ์นั้นๆ คล้ายๆ กับวิวัฒนาการทางจิตวิญญาณที่ยอมรับทางวิชาการ โดยนักจิตวิทยาหรือนักวิทยาศาสตร์ทางจิตจำนวนหนึ่งของปัจจุบัน เค็น วิลเบอร์ ในหนังสือเล่มแรกๆ ของเขา เขาได้จัดแบ่งระดับจิตของมนุษย์เป็นปัจเจกที่เป็นไปตามกระบวนการวิวัฒนาการ และกระบวนการจัดองค์กรตัวเองของธรรมชาติที่เรียกว่าระดับ หรือสเป็กตรัมของจิต (Ken Wilber ; Spectrum of Consciousness, 1977) ที่มีทั้งหมด 8 ระดับตามขั้นตอนของวิวัฒนาการไล่ขึ้นมาตามลำดับ (ในหนังสือเล่มหลังๆ เคน วิลเบอร์ จะพูดถึงจิตร่วมหรือวัฒนธรรม (the left hand or interior quadrants of emergence of human nature ที่มีมากกว่า 8 ระดับ) เช่นเดียวกันกับที่ดอน เบ็ก จัดสรร เคน วิลเบอร์ จะจัดระดับจิตวิญญาณของมนุษยชาติทั้ง 8 ระดับที่ว่าโดยจัดแบ่งออกเป็นสามช่วง ช่วงแรกมีสี่ระดับ ช่วงที่สองและช่วงที่สามจะมีช่วงละสองระดับ ซึ่งสี่ระดับสูงสุดท้ายนี้ เคน วิลเบอร์ เรียกชื่อตามระดับจิตในอรูปฌานของพุทธศาสนาสายทิเบต (นิรมานกาย สัมโภคกาย ธรรมกาย และอันติมะ หรือเสาวภาวิขกาย See Ken Wilber ; Uip form Eden, 1975)
แต่จริงๆ แล้ว เชื่อว่าเคน วิลเบอร์ ได้ความคิดในเรื่องระดับของจิตวิวัฒนาการมาจากมหายานพุทธศาสนาด้วยโดยเฉพาะจากเซ็นพุทธศาสนา ที่มีฮุยหนิน หรือเว่ยหล่าน สังฆราชองค์ที่หกในนิกายเซ็นหรือฌาน (Zen or Ch' an Buddhism) อ้างจากปัตฐานสูต (Platform Sutra) ที่ประกอบด้วยจิตหยาบทั้งห้าระดับ (5 vjinannas) มโนวิญญาณ มนัสและอาลัยวิญญาณ - สนามแห่งจิตบริสุทธิ์ - ที่เชื่อมโยงเป็นสิ่งเดียวกับ จิตพุทธะ หรือ จิตหนึ่ง (Buddha nature or Citta) ซึ่งระดับจิตทั้ง 8 ของเซ็นพุทธศาสนาที่กล่าวมานี้ หมุนวนเป็นเกลียวสว่านวิวัฒนาการสอดคล้องกับระดับจิตหรือสเป็กตรัมทั้ง 8 ของวิลเบอร์ (External World, Senses, Shadow, Ego, Biosocial, Existential, Transpersonal and Infinity)
วิวัฒนาการของมีมส์ หรือวัฒนธรรม ที่มีรูปลักษณ์เป็นเกลียวก้นห้อยหรือสไปรัลไดนามิกส์ของดอน เบ็ก ที่มี 8 มีมส์ ซึ่งดอน เบ็ก เองก็ได้นำความคิดของเคน วิลเบอร์ อย่างน้อยส่วนหนึ่ง มาอ้างอิงเอาไว้ในหนังสือของเขา ดังนั้น สไปรัลไดนามิกส์ของดอน เบ็ก แม้ว่าจะเป็นเรื่องของวิวัฒนการของวัฒนธรรมที่มีกลิ่นอายไปทางด้านกายภาพ แต่ในขณะเดียวกัน ก็เป็นวิวัฒนาการของคุณค่าและความหมายของสังคม - ที่แน่นอนต้องมีจิตวิญญาณเป็นเนื้อใน.
- ความทรงจำนอกมิติ จาก ไทยโพสต์ -