ผู้เขียน หัวข้อ: "บทเพ่งสมาธิในวิถีแห่งอนิจจัง" ธรรมนิพนธ์จากทิเบต  (อ่าน 2429 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




"บทเพ่งสมาธิในวิถีแห่งอนิจจัง" ธรรมนิพนธ์จากทิเบต

คำนำ

ธรรมนิพนธ์เรื่อง "บทเพ่งสมาธิในวิถีแห่งอนิจจัง" ที่คุณพัลลภ กฤตยานวัช
แปลมาจากบทประพันธ์ของท่านทะไลลามะองค์ที่เจ็ดแห่งทิเบตนี้
นับเป็นบทแปลที่มีเนื้อหาซาบซึ้งประทับจิตประทับใจแก่ผมอย่างที่สุด

ธรรมนิพนธ์นี้ สะท้อนใจให้เห็นสรรพสิ่งซึ่งรุมล้อมชีวิตอยู่
ล้วนแต่มีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน
มีการแปรเปลี่ยน มีขึ้นมีลง มีเกิดมีดับตลอดเวลา

ธรรมนิพนธ์นี้ จึงเป็นประโยชน์แก่ชนทั่วไปไม่เลือกหน้า ทุกเพศ ทุกวัย
ทั้งหนุ่ม และสาว ทั้งพ่อแก่ และแม่เฒ่าในวัยชรา
เพราะหากได้อ่านอย่างเพ่งพิจารณาแล้ว จะช่วยให้เกิดจิตสำนึก
ไม่ประมาทในการดำรงชีวิตในช่วงเวลาที่ยังเหลืออยู่

ดร. กรุณา กุศลาสัย
ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ๒๕๔๖

ขออนุโมทนากับคุณสาวิกา ผู้พิมพ์เผยแพร่ :ณ มรณา



อนุโมทนากถา
เรื่องมรณานุสสติ เป็นเรื่องสำคัญในพระพุทธศาสนาเรื่องหนึ่ง ถึงกับพระพุทธองค์
ทรงกล่าวสรรเสริญว่า ผู้เจริญมรณานุสสติ ผู้นั้นชื่อว่าได้บรรลุอมตธรรม

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า "พวกเธอได้ระลึกถึงความตายกันบ้างไหม?"
พระภิกษุกราบทูลว่า "ข้าพระองค์ได้ระลึกถึงความตายอยู่"
พระพุทธองค์ตรัสถามว่า "พวกเธอระลึกถึงความตายอย่างไรเล่า?"
พระภิกษุกราบทูลว่า "ข้าพระองค์อาจมีชีวิตอยู่เพียงคืนหนึ่ง กับวันหนึ่งเท่านั้น"

พระภิกษุอีกรูปหนึ่งกราบทูลว่า "ข้าพระองค์อาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงวันเดียว คือเช้าจนค่ำเท่านั้น"
อีกรูปหนึ่ง กราบทูลว่า "ข้าพระองค์อาจมีชีวิตอยู่ เพียงฉันข้าวมื้อเดียวเท่านั้น"
อีกรูปหนึ่ง กราบทูลว่า "ข้าพระองค์อาจมีชีวิตอยู่ เพียงฉันข้าวสี่ห้าคำเท่านั้น"
อีกรูปหนึ่ง กราบทูลว่า "ข้าพระองค์อาจมีชีวิตอยู่ เพียงฉันข้าวคำเดียวเท่านั้น"
อีกรูปหนึ่ง กราบทูลว่า "ข้าพระองค์อาจมีชีวิตอยู่ เพียงหายใจเข้า และหายใจออกเท่านั้น"

    พระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกษุผู้ระลึกถึงความตายว่าอาจมีชีวิตอยู่เพียงหายใจเข้า และหายใจออกเท่านั้น และภิกษุผู้ระลึกว่าอาจมีชีวิตอยู่เพียงฉันข้าวคำเดียวเท่านั้น ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท มีมรณสติเข้มแข็งว่องไว นอกจากนั้นยังชื่อว่าเป็นผู้ประมาท มีมรณสติอ่อนช้าอยู่ เนื่องจากว่าระยะกาลแห่งชีวิตนี้สั้นนัก จะไว้ใจว่าจะยังไม่ถึงที่ตายหาได้ไม่
    เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท ฝ่ายมหายาน หรือวัชรยาน ล้วนแต่สรรเสริญคุณแห่งการเจริญมรณานุสสติเท่านั้น

    ดังนั้น การที่คุณพัลลภ กฤตยานวัช ได้ใช้ความพยายามในการแปลธรรมนิพนธ์เรื่อง "บทเพ่งสมาธิในวิถีแห่งอนิจจัง" อันมีเนื้อหาที่ย้ำเน้นให้มีการเจริญมรณานุสสติ ที่ประพันธ์โดยท่านทะไลลามะองค์ที่เจ็ด ออกสู่สายตาประชาชน อาตมาเห็นว่ามีประโยชน์มาก จึงขออนุโมทนาสาธุในความอุตสาหะพยายาม

ขอให้ผู้ที่ได้อ่านธรรมนิพนธ์นี้ จงพยายามเจริญมรณานุสสติ
เพื่อเจริญก้าวหน้าในธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ยิ่งขึ้นไป

พระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร)
เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล (สวนโมกขพลาราม)
ตำบลเสม็ด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฏร์ธานี



นะโมตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่าธรรมชาติของจิตนั้นไหลลงต่ำ
จะขึ้นสูงต้องออกแรงทวนกระแส
เพราะฉะนั้นให้ถามตัวเองว่าเราคิดดีได้เป็นปกติหรือยัง
ถ้ายัง ก็ยอมรับตรงๆ ว่ายัง..
อย่าหลอกตัวเองว่าดีแล้ว
เพราะผลเสียหายไม่ใช่ใครอื่น นอกจากตัวเราเองที่ยังหลงวน
ไม่รู้ตัวว่าขาดเสบียงเพื่อความพร้อมตาย...

                                    ณ มรณา

คำนำของผู้แปลพากย์ภาษาไทย
ธรรมกวีนิพนธ์เรื่อง "บทเพ่งสมาธิในวิถีแห่งอนิจจัง" หรือ "อนิจจังสมมติ" ประพันธ์โดย คยาล-วา-คาล-ซัง คยา-ทโส ทะไลลามะองค์ที่เจ็ดแห่งทิเบต แปลเป็นภาษาอังกฤษโดย เกลน เอ็ช มูลลิน เป็นธรรมคีตาที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความตาย และความเป็นอนิจจังของชีวิต และสรรพสิ่ง โดยใช้ปรากฏการณ์รอบ ๆ ตัวเป็นนิทัศน์อุทาหรณ์ มีถ้อยสุนทร และสารัตถะลึกซึ้ง สร้างความดื่มด่ำสะเทือนใจก่อให้เกิดธรรมสังเวช เป็นเครื่องเจริญมรณานุสสติได้อย่างดียิ่ง

ธรรมนิพนธ์นี้ เป็นที่นิยม และโปรดปรานของชาวทิเบตจำนวนมาก แม้แต่ท่านเท็นสิน กยัตโช ทะไลลามะองค์ปัจจุบัน (องค์ที่สิบสี่) ก็ได้นำธรรมนิพนธ์นี้มาอ่านออกเสียง ให้เหล่าพุทธบริษัทจำนวนมากรับฟัง ณ ธรรมศาลา ประเทศอินเดีย เมื่อปี ๒๕๒๑

ผู้แปลมีโอกาสได้ไปพักแรม ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๘ ในบรรยากาศป่าที่เงียบสงบท่ามกลางต้นไม้ใหญ่ร่มรื่นเย็นสบาย จึงได้แปลธรรมนิพนธ์นี้ขึ้น และได้นำร่างบทแปลนี้อ่านถวาย ท่านอาจารย์โพธิ์ จันทสโร (พระภาวนาโพธิ์คุณ) เจ้าอาวาสวัดธารน้ำไหล - สวนโมกข์ ซึ่งท่านได้กรุณาเสนอแนะถ้อยคำสำนวนแปลในบางบท บางตอนให้ รวมทั้งได้กล่าวคำอนุโมทนาสาธุในการแปลธรรมนิพนธ์นี้ด้วย นับเป็นพระคุณอย่างสูงสุดแก่ผู้แปล

อนึ่ง ผู้แปลขอกราบขอบพระคุณ ท่านลามะเกลน เอ็ช มูลลิน ที่เมตตาอนุญาตให้ตีพิมพ์บทแปลภาษาอังกฤษ ท่านจันทร์ (สมณะเพาะพุทธ จันทเสฏโฐ) ที่กรุณาช่วยตรวจทานสำนวนแปลภาษาไทยเทียบกับต้นฉบับภาษาอังกฤษ พร้อมทั้งได้มอบบทนำอันล้ำค่าให้ด้วย สุดท้ายขอขอบคุณสำนักพิมพ์ Dharma Publishing ที่อนุญาตให้นำภาพศิลปะลายเส้นอันวิจิตรมาตีพิมพ์ในหนังสือฉบับนี้

ผู้แปลขอน้อมรำลึก และขออุทิศน้ำพักน้ำแรงในการแปลธรรมนิพนธ์เล่มน้อยนี้ เป็นอาจารยบูชา ท่านพุทธทาสภิกขุ ผู้เป็นพระธรรมาจารย์ และท่านปัญญานันทะภิกขุ ผู้เป็นพระอุปัชฌาจารย์ ผู้ส่องเส้นทางพุทธมรรคาแก่ผู้แปลมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๖

ขอผลบุญกุศลแห่งการแปลเพื่อเผยแพร่เป็นธรรมทานนี้ จงแผ่ไปถึงมารดาบิดาผู้ล่วงลับของผู้แปล กับทั้งเหล่าสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า ขอให้มีความสุขความเจริญในธรรมมรรคา และขอให้ท่านผู้อ่านธรรมนิพนธ์นี้ จงมีสำนึกในอนิจจังของสรรพสิ่ง และมีมรณสติกำกับตนอยู่ทุกเมื่อ ไม่ประมาทในชีวิตที่เหลือ ขอให้มีความสุขกายสบายใจ มุ่งหน้าก้าวไปตามแนวทางแห่งธรรมวิถี จวบจนบรรลุเป้าหมายแห่งอิสรภาวะจงทั่วทุกท่านเทอญ.

พัลลภ กฤตยานวัช
๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๘

ปล. สาวิกา ผู้พิมพ์เผยแพร่ ขอกราบขอบพระคุณคุณพัลลภ กฤตยานวัช ที่ได้มอบหนังสือเล่มนี้ให้แก่สาวิกา ทำให้ได้มีโอกาสนำมาพิมพ์เผยแพร่ ให้หลาย ๆ ท่านได้มีโอกาส ได้พิจารณาธรรมนิพนธ์บทนี้โดยถ้วนหน้ากันค่ะ




ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



รู้ธรรมะเอาชนะผู้อื่น เห็นธรรมะชนะตน

"บทเพ่งสมาธิในวิถีแห่งอนิจจัง"
Meditations on the Ways of Impermanence

นิพนธ์โดย ... คยาล-วา คาล-ซัง คยา-ทโส
ทะไลลามะองค์ที่เจ็ดแห่งทิเบต

แปลพากย์ภาษาอังกฤษโดย ... เกลน เอ็ช มูลลิน
แปลพากย์ภาษาไทยโดย ... พัลลภ กฤตยานวัช
ภาพประกอบลายเส้นโดย ... โรสาลิน ไวท์



ขอนอบน้อมแด่ท่านคุรุเทวะ ลามะ อิฮา ผู้เป็นพระบิดา และสรณะที่พึ่งของข้า
ผู้ซึ่งเมื่อข้าอนุสรณ์ถึงแล้ว ได้ขจัดปัดเป่าความโศกเศร้าทั้งปวง

ข้าจึงหวนกลับมา เพื่อขอรับอนุศาสนีทางจิตวิญญาณจากท่าน
ขอท่านได้โปรดเมตตาประทานพรแก่จิตข้า

ด้วยมหิทธิเดชาของท่าน ขอให้มรณานุสสติ อย่าได้พึงหลีกลี้หนีไปจากข้า
ขอให้ข้าได้ฝึกฝนปฏิบัติธรรมอันวิเศษได้อย่างเปี่ยมบริบูรณ์ด้วยเถิด ...

เหนือยอดสุวรรณบรรพต ไกลโพ้นออกไปสุดสายตา
สายหมอกเมฆาลอยละล่อง ... เป็นทิวแถวฟูฟ่องเหนือท้องทุ่งกว้างใหญ่
เวลานี้มองไปเห็นหนาแน่นชัดเจน ... แต่ไม่ช้าจะมลายสลายตัว
จิตข้า ... หวนคำนึงถึงความตายของข้า


ฤดูใบไม้ผลิ ช่วงกาลแห่งความอบอุ่น และงอกงาม
ก้านใบแมกไม้ พืชพันธ์ธัญญาเขียวขจีสีสด
มาบัดนี้ สู่ช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วง ไร่นาเปลือยเปล่าแห้งแล้ง

จิตข้า ... หวนคำนึงถึงความตายของข้า




บนกิ่งไม้ทุกกิ่งในสวนของข้า
มีพวงช่อผลไม้โตใหญ่ สุกงอม
แต่ท้ายที่สุด ไม่มีผลใดหลงเหลืออยู่เลย แม้น้อยนิด
จิตข้า ... หวนคำนึงถึงความตายของข้า



มองไปเบื้องหน้ายอดเขาโปตาลา
ดวงสุริยาผุดโผล่สู่ท้องนภา ประดุจร่มใหญ่
มาบัดนี้ ได้ลับล่วงหายไปจากทิวเขาตะวันตก
จิตข้า ... หวนคำนึงถึงความตายของข้า



ผู้คนบ้างก็ตายแก่ บ้างก็ตายหนุ่ม วันแล้ววันเล่า
ข้าได้รับการนิมนต์ให้ทำพิธีส่งดวงวิญญาณของพวกเขาเหล่านี้ สู่แดนสุขาวดี
หรือไม่ก็ขอให้ช่วยพยากรณ์ ถึงชะตาภาวะในปรภพของเขา
จิตข้า ... หวนคำนึงถึงความตายของข้า



เมฆเทาทึบปกคลุมทั่วท้องฟ้า บดบังแสงสุริยา
ฝนต้นฤดูกาล กำลังตกลงมา กระจายไปทั่วทุกหัวระแหง
ด้วยกระแสพัดแรงแห่งลมแดงดำ
จิตข้า หวนคำนึงถึงความตายของข้า


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 20, 2013, 10:23:20 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




ในหุบเขา ณ เบื้องล่างของข้า มีท้องทุ่งกว้างใหญ่ไพศาล
กองไฟของเหล่าพ่อค้าคาราวาน ส่องสว่างระยิบระยับประดุจดวงดารา
แต่รุ่งเช้าพวกเขาก็อำลาจากไป ทิ้งไว้แต่กองเถ้าธุลีฝุ่นอันไร้ค่า
จิตข้า หวนคำนึงถึงความตายของข้า



ในฤดูร้อนอันอบอุ่น พื้นปฐพีกรุ่นอวลด้วยชีวิตชีวาหลายหลาก
จิตใจของผู้คนหมู่มาก ต่างหลงระเริงบันเทิงสุข
บัดดลนั้น พายุแรงแห่งเหมันตฤดู ก็พัดกระหน่ำพวกเขาจนล้มคว่ำคะมำลง
จิตข้า หวนคำนึงถึงความตายของข้า



เหนือท้องนภากาศเบื้องบน หมู่มังกรฟ้ามรกต แผดก้องประสานเสียง
รอบตัวข้า มีนกดุเหว่าส่งสำเนียงแสนไพเราะเสนาะหู
แต่เมื่อฤดูกาลผ่านไป ณ บัดนี้ พวกเขาหายไปไหนกันหมดหนอ?
จิตข้า หวนคำนึงถึงความตายของข้า



พระธรรมคำสอนอันทรงคุณล้ำค่า
ของพระบรมศาสดาทั้งหลาย ผู้ตื่นแล้ว
คือธรรมโอสถอันเลิศ รักษาจิตที่ป่วยไข้ของปวงประชา
ณ วันเวลานี้ พระอรหันต์มากหลายที่ลับลา
ได้ทอดทัศนามาจากแดนสุขาวดี
จิตข้า หวนคำนึงถึงความตายของข้า



ยากนักที่จะละทิ้งมารดาผู้เลี้ยงดูเรามา
และยากยิ่งที่จะอำลา ... จากปวงญาติพี่น้อง และผองเพื่อน
กระนั้น เมื่อวันปีได้ผันผ่าน
พันธนาการกับท่านเหล่านั้น ก็พลันเสื่อมถอย
จิตข้า หวนคำนึงถึงความตายของข้า



เด็กน้อยเยาว์วัย จะมีซี่ฟันงอกใหม่ในอนาคต
มีแผนงานที่กำหนดในเดือน และปีข้างหน้า ... กลับม้วยมรณาไป
ทิ้งไว้เพียงร่องรอยน้อยนิด
ณ บัดนี้ เขาอยู่ที่ไหนหนอ? ลับล่วงไปแล้ว !
จิตข้า หวนคำนึงถึงความตายของข้า




ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด





พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ..ผู้ทรงบรรลุถึงซึ่งวัชรกายอันอมตะวิเศษยิ่ง
ถึงกระนั้น พระองค์ยังทรงมีฉากจริง ... แห่งการดับขันธปรินิพพาน
ร่างกายที่กอปร์สานด้วยเนื้อ เลือด และกระดูก ห่อหุ้มด้วยผิวหนัง
เปรียบประดุจดังฟองน้ำ จะต้องแตกดับสลายไป





นับแต่เกิดมา เด็กน้อยได้เห็นพ่อแม่ที่ค่อย ๆ แก่เฒ่าชราวัย
แต่ละวันจะเห็นท่านบ่ายหน้าไป สู่มรณสถาน
เจ้าจะกล่าวขานกับข้าได้ไฉนว่า "ข้าพเจ้ายังหนุ่มแน่นอยู่"
ข้าขอเตือนว่า ไม่มีหวังหรอกที่เจ้าจะหลบลี้ หนีจากความตาย






เมื่อเช้านี้เอง เหล่าชายหนุ่ม ... ผู้มีจิตใจ และอุดมการณ์อันสูงส่ง
ได้สนทนาหารือกันถึงเรื่องการสยบข้าศึก และการปกป้องมาตุภูมิ
แต่ ณ บัดนี้ เมื่อราตรีคืบคลานเข้ามา
หมู่นกสกุณา และเหล่าสุนัขต่างรุมกันจ่อจิก ... และกัดแทะซากศพของเขา
ใครเล่าจะเชื่อว่า พวกเขาเหล่านี้ ... ได้ม้วยมรณาลงแล้ว ณ ราตรีนี้เอง?





จงมองดู และถามไถ่ผู้คน ในพื้นถิ่นดินแดนของเจ้า
ถามใครก็ได้ ที่มีอายุยืนยาวกว่าร้อยปี
เจ้าคงจะโชคดีเหลือหลาย
หากจะพานพบใครคนนั้นสักคนหนึ่ง
เจ้าไม่เคยคิดคำนึงหรอกหรือว่า
ความตายของเจ้าเอง จะมาถึงเป็นแน่แท้?





หากเจ้าเฝ้าดูอย่างใกล้ชิด และครุ่นคิดอย่างลึกซึ้ง
ถึงผู้คน และสิ่งทั้งหลายที่ปรากฏรอบตัวเจ้า
เจ้าก็จะพบว่า สรรพสิ่งทั้งหลาย
เคลื่อนไหวแปรเปลี่ยนตลอดเวลา
ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นหนา คือ ครูผู้สอนอนิจจัง





ข้าจำร่างกายนี้ได้ตั้งแต่ยังเป็นเด็กน้อยเยาว์วัย
รวมทั้งเมื่อมันค่อยเติบใหญ่เป็นชายหนุ่ม
มาบัดนี้ ทุกกลุ่มสายใยแขนขาแห่งกายนี้
ได้บิดเบี้ยวฉีกขาด
มันยังคงเป็นร่างกายของข้า
แต่ก็หาได้สร้างความภูมิใจ แม้ในสายตาของข้าเอง




ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด





จิตใจนั้นเล่า ก็อยู่ในภาวะอนิจจัง
ฟูเฟื่อง และฝ่อแฟบตลอดเวลา
ในท่ามกลางเวทนาความรู้สึก ทั้งสุข ทุกข์ และอุเบกขา
อันเป็นผลานิสงส์แห่งวิบากกรรมที่เป็นกุศล
อกุศล และอัพยากตาที่มิใช่ทั้งกุศล และอกุศล





จงมองดูตัวเจ้าเอง หรือแม้แต่ผู้อื่น
จะเห็นว่าชีวิต ได้ผ่านล่วงเลยไป
รวดเร็วไวประดุจสายฟ้าแลบ
เมื่อเหล่าบริวารของพญายมราชได้รายล้อมเจ้า
มุ่งเข้าประหัตประหารเจ้า
เจ้าจะคิดว่า ความตายจะไม่บังเกิดขึ้นกับเจ้าหรือไฉน?





ญาติสนิท มิตรสหาย ความมั่งคั่ง และทรัพย์สินทั้งหลาย
ส่องสว่างโออ่า ในสายตาปวงประชาแห่งกามโลกีย์
ด้วยเหตุฉะนี้ เขาถึงถูกพันธนา
ด้วยโซ่ตรวนแห่งตัณหาอุปาทาน
ความน่าสมเพทเวทนาการเหล่านี้
ทำไฉนจึงจะมลายสิ้นไปได้หนอ?





ร่างกายที่นอนแผ่บนเตียงในวาระสุดท้าย
เสียงที่แผ่วกระซิบ ด้วยปัจฉิมวาจาไม่กี่คำ
จิตที่เฝ้าดูความทรงจำแห่งอดีตห้วงหลังสุด
คล้อยเคลื่อนผ่านไป
เมื่อใดหนอที่ภาพละครฉากสุดท้ายนี้ จะมีมาสู่เจ้า?




ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด





หากเจ้าไม่เร่งทำกรรมดี มีแต่ก่อ อกุศล
เจ้าจะสูญสิ้นผลบุญบารมี
ที่จะเกื้อประโยชน์ในโลกหน้า
เจ้าจะไปที่ไหนเล่า เมื่อเจ้าต้องตายไปจากโลกนี้?
เพียงแต่เจ้าหยุดคิดสักนิดหนึ่ง ... เจ้าก็จะพึงมีสติสำนึกได้





ดังนั้น ตัวข้า และปวงผู้คนเฉกเช่นข้า
จึงควรละทิ้งสลัดไป ซึ่งมรรคาวิถีที่ไร้แก่นสารคุณค่า
และหันกลับมาน้อมนบเคารพท่านคุรุ ทวยเทพ
และทักขิณีผู้บำเพ็ญฌาน
กราบขอพรท่านทั้งหลายเหล่านั้น
เพื่อให้ประทานความพร้อมแก่เราในการเข้าสู่มรณวิถี





เพื่อว่าเจ้าจะได้ตายดี มีมนัสปลื้ม และอาจหาญมั่นใจ
เข้าสู่รัศมีสุทธิใสแห่งสำนึกทางจิตวิญญาณ
จำเป็นยิ่งนักแล้ว ที่เจ้าจะต้องเตรียมการเสียแต่บัดนี้
ด้วยการศึกษาเรียนรู้คัมภีร์พระสูตร และตันตระอันละเอียดล้ำลึก





ด้วยธรรมคีตานี้ ขอท่านทั้งหลายเฉกเช่นข้า
รวมทั้งพวกไร้ศาสนาผู้ดีกว่าคนป่าดงดอยเพียงน้อยนิด
จงมีจิตเข้าสู่ธรรมกระแสแห่งการสลัดทิ้งโลกียวิสัย

ขอท่านทั้งหลาย จงจำเริญวัฒนาทางจิต
และบรรลุถึงซึ่งอิสรภาวะ จงทั่วทุกท่านเทอญ...





อวสานพจน์:
นี่คือ บทธรรมประพันธ์เพื่อการเพ่งสมาธิ
ในวิถีแห่งมรณะ และภาวะแห่งอนิจจัง
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจใฝ่กุศลแก่ตัวข้าเอง และแก่ผู้อื่น


คยาล-วา คาล-ซัง คยา-ทโส ...
ทะไลลามะองค์ที่ 7 แห่งทิเบต



-http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=27404&start=15