ไฮกุ แคนโต้ อุนนุน
ถึงท่านฟาร์
ท่านฟาร์สามารถหาข้อมูลการแต่งไฮกุได้จากวิกิพิเดียนะครับ ภาษาไทยก็มีอ่านได้ง่ายไม่ซับซ้อน เนื้อหาของไฮกุนั้น ดั้งเดิมจะกล่าวถึงปรัญชญาเซน
แน่นอนว่าภาษานั้นจะเรียบง่าย แต่แฝงด้วยแนวคิดอันลึกซึ้ง ปัจจุบันไฮกุมีคนนิยมแต่งกันมากขึ้นเนื้อหาก็หลากหลายขึ้น
สำหรับแนวทางของผมแล้ว ลักษณะที่ต้องการคือแฝงด้วยแง่คิดและปรัชญาเซน แม้ไม่มาก แต่ก็พยายามทำอยู่ครับ
ไปตามลิงค์นี้เลยก็ได้ครับ
ไฮกุ
ยกตัวอย่างไฮกุที่ผมเคยแต่งไว้
พระโพธิสัตว์ยิ้ม
เปี่ยมด้วยเมตตากรุณา
สั่งสอนด้วยความเงียบ
ตอนแต่งนึกถึงรูปสลักของพระโพธิสัตว์ ที่สวยงาม มีรอยยิ้มเปี่ยมด้วยเมตตากรุณา รอยยิ้มของพระโพธิสัตว์สอนเราถึงสิ่งใดกัน
คงมีแต่ความเงียบที่ทิ้งไว้เป็นปริศนาธรรม
ท่านอาจไม่สอนสิ่งใดเลย หรือสอนให้เราอดทนกันแน่ ทั้งนี้ผมเองก็ไม่ได้สรุปไว้ ปล่อยให้คนอ่านคิดเอาเอง
แบบนี้คือการแสดงปมขัดแย้งแล้วทิ้งคำถามให้ขบคิดครับ ไฮกุแบบนี้จบในบทเดียวนานๆถึงจะแต่งแบบนี้ออกมาได้ครับ
ยังมีอีกหลายแนวครับ ไฮกุชมธรรมชาติก็มี เช่น
มองดูรั้วเก่าๆ
เห็นตำลึงไต่ไปไต่มา
กายกรรมพืชน้อย
ไฮกุบทนี้ไม่ได้ซ่อนปริศนาธรรมใด แต่เป็นบทบรรยายธรรมชาติเฉยๆ ผมเลือกใช้คำว่ากายกรรมพืชน้อย เพราะมันสื่อให้เห็นภาพที่สนุกสนานดีครับ
อีกแบบผมเรียกว่าการบรรยายความทั่วไป เช่น
วัยเยาว์ไร้เดียงสา
เติบโตและเรียนรู้ชีวิต
จบลงด้วยการลืม
เป็นการบรรยาความอย่างธรรมดา แนวคิดก็ธรรมดา
สิ่งที่ท้าทายสำหรับการแต่งไฮกุ คือการเข้าถึงเซน การบรรยายความด้วยความเรียบง่ายและสั้นกระชับ แต่ให้อารมณ์ความรู้สึกที่ทรงพลัง
บางครั้งผมก็แต่งไฮกุหลายๆบทนำมาต่อกัน แต่ละบทก็จบความในบทนั้นแต่นำมาต่อกันหลายๆบทโดยมีความหมายเกี่ยวเนื่องกัน หรือไม่เี่กี่ยวเนื่องกันก็ได้ แต่หากลองสังเกตดู อารมณ์ของไฮกุจะไหลไปเหมือนจิตที่กำลังพิจารณาสิ่งเดียวกันอยู่
ผมจะลองยกตัวอย่างแคนโต้ ที่นำมาจากไทยแคนโต้ แต่งโดยผู้ใดผมจำไม่ได้แล้ว แต่ประทับตราตรึงอยู่ในใจของผมมาก
ผาแกร่ง
อ่อนโยน
ต่อรากไม้
อ่านแล้วทรงพลังมากๆด้วยคำไม่กี่คำ ไม่กี่พยางค์ ให้ความหมายได้ยิ่งใหญ่ขนาดนี้ หลายคนอาจสงสัยว่าแคนโต้คืออะไรไปตามนี้ครับ
ไทยแคนโต้
แคนโต้คือบทกวีสามบรรทัดครับ ไม่บังคับพยางค์เหมือนไฮกุ และไม่จำเป็นต้องกล่าวถึงเซน แคนโต้นั้นมีอะไรดีกว่าบทกวีบรรยายความรู้สึกธรรมดาก็ต้องลองแต่งดูครับ อย่างว่าผมไม่ใช่เจ้าตำรับแคนโต้คงอธิบายไม่ได้(ขออภัยจริงๆครับ)
ถามว่าแต่งไฮกุกับแคนโต้แล้วได้อะไร
สำหรับผมรู้สึกว่าการแต่งไฮกุเหมือนกับการรำดาบญี่ปุ่น ช่วงเวลาที่แต่งสมองจะโล่งว่าง มีอารมณ์สงบ เหมือนกำลังใช้สติปัญญาขบคิดบางสิ่งให้แตกออก
ส่วนแคนโต้นั้นต่างออกไป ถ้าให้ท่าน ฟ้า พูล วรลักษณ์มาอธิบายได้คงดีไม่น้อย
เวลาที่ผมแต่งเหมือนการหยิบฉวยอารณ์ที่ตราตรึงในจิตขณะนั้น บันทึกลงในกระดาษไม่ว่าจะเป็นสุขหรือเศร้าหรือใดๆ
แคนโต้ที่ผมเคยแต่งไว้
ทำไม
เสียงหัวเราะทีหลัง
ดังขึ้น
อ่านปุ๊บรู้ปั๊บว่าไม่ใช่ไฮกุ
หลังจากแคนโต้เกิดแล้ว อุนนุนก็เกิดขึ้นครับ
แล้วอุนนุนคืออะไรกันแน่เนี่ย
คงต้องให้ ท่านนิ้วกลมมาอธิบายผมเองก็เคยอ่านผ่านตาแต่ยังไม่เคยแต่งอุนนุนเลย หรือว่าเคยแต่ไม่รู้ว่ามันคืออุนนุน แต่เท่าที่รู้สึก สำหรับผมการแต่งแคนโต้ยากกว่าอุนนุนมั้งครับ(นานาจิตตังนะครับ)
ทั้งหลายทั้งปวงที่บรรยายมามิได้คิดที่จะมาอวดภูมิแต่อย่างใดครับ
แค่บรรยายความชอบส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็น ไฮกุ แคนโต้ หรืออุนนุน ก็ไพเราะต่างกันไป ว่าไปแล้วก็อย่าผูกขาดจินตนาการไว้กับชื่อเรียกเลยครับ
ใครถนัดอย่างไรก็แต่งแบบนั้น แล้วนำมาแบ่งบันกันอ่านบ้างนะครับ
ตอนนี้ขอไปทำธุระก่อนอาจจะมาเพิ่มเรื่องอุนนุนอีกนิดครับ
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=polarbee&month=04-2011&date=20&group=2&gblog=25