ผู้เขียน หัวข้อ: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร  (อ่าน 25645 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด


ขอบคุณที่มาภาพนี้จาก น้องต้องค่ะ

ลักษณะพุทธศาสนา
สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)

ครั้งที่ ๑ ทบทวนคำสอนนาค
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

วันนี้เป็นวันเริ่มต้นที่พระอุปัชฌายะพบกับสัทธิวิหาริกด้วยการแสดงโอวาท ในวันต้นนี้จะได้ทบทวนโอวาทสอนนาค อันเป็นโอวาทที่ประมวลหลักปฏิบัติทั้งปวงแก่ผู้เข้ามาขอบวช เช่นจะปฏิบัติตนให้เป็นผู้สมควรรับการบวช และเมื่อบวชแล้วจะพึงปฏิบัติอย่างไรต่อไป ตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงบรรลุวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของการบวช จึงจะขอกล่าวทบทวนและเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ยินได้ฟังพร้อมกันไปตามสมควร

พระรัตนตรัย

อันผู้เข้ามาขอบวชนั้น ในเบื้องต้นสมควรที่จะได้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ โดยพระคุณ เพื่อให้บังเกิดศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใส ตั้งมั่นในพระคุณแห่งพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ซึ่งรวมเรียกว่าพระรัตนตรัย อันพระคุณของพระรัตนตรัยนั้น กล่าวโดยย่อพระพุทธเจ้าคือพระองค์ผู้ตรัสรู้พระธรรม แล้วแสดงพระธรรมสั่งสอนตั้งพุทธศาสนาขึ้น พระองค์ทรงประกอบด้วยพระปัญญาคุณ คุณคือความรู้จริง พระวิสุทธิคุณ

คุณคือความบริสุทธิ์จริง พระกรุณาคุณ คุณคือความกรุณาจริง เพราะว่าพระองค์ได้ตรัสรู้พระธรรมที่เป็นสัจจะคือความจริงของจริง รวมเข้าในอริยสัจทั้ง ๔ คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เป็นเหตุทำกิเลสและกองทุกข์ในสันดานให้สิ้นไป จึงทรงเป็นผู้บริสุทธิ์กายบริสุทธิ์วาจาบริสุทธิ์ใจสิ้นเชิง และก็ได้มีพระมหากรุณาแผ่ไปในสรรพสัตว์ทุกถ้วนหน้า เสด็จจาริกไปทรงแสดงพระธรรมสั่งสอนโปรดเวไนยนิกร ให้บรรลุสุขประโยชน์ตามภูมิตามชั้น ได้ทรงแสดงธรรม บัญญัติพระวินัย ตั้งพุทธบริษัทคือภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา เป็นอันได้ทรงประดิษฐานพระพุทธศาสนาขึ้นในโลก นี้คือพระพุทธเจ้า

ธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ได้ทรงแสดงสั่งสอน โดยเป็นพระธรรมคำสอน พระวินัยคำสั่ง อันเรียกว่าสัตถุศาสน์ที่แปลว่าคำสอนหรือคำสอนสั่ง คำสั่งสอนของพระศาสดาสัตถุศาสน์นี้เรียกว่าปริยัติธรรม คือเป็นธรรมที่พึงเล่าเรียน อันได้แก่ฟัง อ่าน ทรงจำทำความเข้าใจ แล้วก็นำมาประพฤติปฏิบัติทางกายทางวาจาทางใจ ให้ตั้งขึ้นที่กายที่วาจาที่ใจ การปฏิบัติตามสัตถุศาสน์ คือพระธรรมพระวินัย ให้พระธรรมวินัยตั้งขึ้นที่กายที่วาจาที่ใจ นี้เรียกว่าปฏิบัติธรรม และเมื่อปฏิบัติก็ย่อมจะได้รับผลตามสมควรแก่ความปฏิบัติ ตั้งแต่เบื้องต้นยกตนให้พ้นจากโลกที่ชั่ว ขึ้นสู่โลกที่ดีโดยลำดับ จนถึงพ้นโลก เป็นมรรคเป็นผลเป็นนิพพานกำจัดกิเลสให้สิ้นไปหมดไปบางส่วนบ้างสิ้นเชิงบ้าง นี้คือปฏิเวธธรรม ธรรมคือปฏิเวธความรู้แจ้งแทงตลอด ปริยัติปฏิบัติปฏิเวธทั้ง ๓ นี้รวมเรียกว่าพระธรรม

หมู่ชนที่ได้ตั้งใจฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ได้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามที่ทรงสั่งสอน ทำกิเลสและกองทุกข์ในสันดานให้สิ้นไปบางส่วนบ้างสิ้นเชิงบ้าง รวมทั้งท่านผู้ที่ปฏิบัติเพื่อความสิ้นกิเลสและกองทุกข์ ซึ่งท่านได้นำพุทธศาสนาและพุทธบริษัทสืบต่อมา จนถึงเราทั้งหลายได้บวชเรียนกันอยู่ในบัดนี้ นี้ก็คือพระสงฆ์

พระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ ทั้ง ๓ นี้รวมเรียกว่าพระรัตนตรัย ที่แปลว่ารัตนะทั้ง ๓ เป็นสรณะคือที่พึ่งอันเอกอุดมในโลก ฉะนั้น พระอุปัชฌายะจึงได้เตือนนาคผู้เข้ามาขอบวช ตั้งใจว่า พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ ตั้งใจว่า ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ ตั้งใจว่า สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ ข้าพเจ้าถึงพระพุทธเจ้าเป็นสรณะ คือที่พึ่งอันเอกอุดม ถึงพระธรรมเป็นสรณะ คือที่พึ่งอันเอกอุดม ถึงพระสงฆ์เป็นสรณะ คือที่พึ่งอันเอกอุดม เมื่อได้ตั้งใจถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์ดั่งนี้แล้วจึงสมควรบวช นี้เป็นข้อความที่พระอุปัชฌายะสอนนาค ว่าให้ทำความตั้งใจถึงพระพุทธเจ้าพระธรรมพระสงฆ์เป็นสรณะ เป็นการกระทำตนให้เป็นผู้สมควรบวช

สิกขา ๓ หรือไตรสิกขา

ต่อจากนั้นก็ได้สอนให้รู้จักประโยชน์ของการบวชโดยย่อ ว่าประโยชน์ของการบวชนั้นเป็นโอกาสคือเป็นช่องว่างที่จะให้ได้ศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนา เพราะเป็นคฤหัสถ์มีกิจกังวลห่วงใยอาลัยมาก ยากที่จะปลีกตนออกมาศึกษาปฏิบัติเหมือนดังผู้ที่บวชได้ ฉะนั้นเมื่อบวชแล้วก็ให้ถือเอาโอกาสคือช่องว่างนี้ศึกษาพระพุทธศาสนา ปฏิบัติพระพุทธศาสนา โดยตรงก็คือปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญา อันเรียกว่าสิกขา ๓ หรือว่าไตรสิกขา สิกขานั้นก็คือศึกษาเป็นคำเดียวกัน ศึกษามาจากศึกษาที่เป็นภาษาสันสกฤต สิกขาเป็นภาษามคธหรือภาษาบาลี มีความหมายถึงทั้งภาคปริยัติและภาคปฏิบัติ ภาคปริยัตินั้นก็หมายถึงเล่าเรียนด้วยวิธีฟังด้วยวิธีอ่านทรงจำพิจารณาให้มีความรู้ความเข้าใจ ภาคปฏิบัตินั้นก็หมายถึงว่านำมาปฏิบัติทางกายทางวาจาทางใจดังที่กล่าวแล้ว

ศีลนั้นก็ได้แก่ความตั้งใจงดเว้นจากความประพฤติที่พระพุทธเจ้าได้ทรงห้าม คือทรงบัญญัติห้ามไว้ ปฏิบัติตามข้อที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาต คือทรงบัญญัติอนุญาตไว้ คือประพฤติตามวินัยที่บัญญัติไว้นั้นเอง เว้นข้อที่ทรงห้าม ทำตามข้อที่ทรงอนุญาต ศีลนี้เป็นเครื่องกำจัดกิเลสกองราคะโทสะโมหะ หรือโลภโกรธหลง ที่เป็นอย่างหยาบ หรือว่าห้ามกันไว้มิให้หยาบออกมาจนเป็นถึงก่อเจตนากรรมทางกายทางวาจาทางใจเป็นความละเมิดผิดต่างๆ สมาธินั้นได้แก่ความตั้งจิตมั่นอยู่ในอารมณ์ที่ดีที่ชอบอันเป็นอารมณ์กรรมฐาน เป็นเหตุกำจัดกิเลสที่เป็นนิวรณ์

อันบังเกิดขึ้นทำจิตให้กลัดกลุ้มวุ่นวายไม่สงบไม่ตั้งมั่นอยู่ในทางที่ชอบ ทั้งกำบังปัญญามิให้รู้แจ้งเห็นจริง ปัญญานั้นคือความเข้าถึงสัจจธรรม ธรรมที่เป็นตัวความจริง เป็นเครื่องกำจัดกิเลสทุกอย่างได้เป็นอย่างดี จนถึงกิเลสที่ดองจิตสันดานอันนับว่าเป็นอย่างละเอียด ศีลนั้นจะพึงมีได้ก็ด้วยการที่ตั้งใจสมาทานศึกษาตามพระวินัยบัญญัติ คือตามสิกขาบทบัญญัติที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ เว้นข้อที่พระองค์ทรงห้าม ทำตามข้อที่พระองค์ทรงอนุญาต สมาธินั้นจะพึงมีได้ก็ด้วยการที่มาตั้งใจปฏิบัติในสมถกรรมฐาน กรรมฐานเป็นอุบายสงบใจ ปัญญานั้นจะพึงมีได้ก็ด้วยการมาตั้งใจปฏิบัติในวิปัสสนากรรมฐาน กรรมฐานเป็นอุบายเกิดปัญญาให้เห็นแจ้งรู้จริง

สมณะ – ผู้สงบ

ตามที่กล่าวมานี้ เป็นข้อที่พระอุปัชฌายะสอนนาค ให้รู้ว่าเมื่อบวชแล้วจะพึงปฏิบัติอย่างไรโดยย่อ ซึ่งเมื่อสรุปแล้วก็เป็นการสอนให้รู้ ว่าการเข้ามาบวชนั้น อันประกอบด้วยการถือเพศเป็นบรรพชิตคือผู้บวช ครองผ้ากาสาวพัสตร์ โกนผม และพระสงฆ์ได้ประกอบสังฆกรรมให้อุปสมบทตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้ และเมื่อได้กระทำถูกต้องบริบูรณ์ด้วยคุณสมบัติของการอุปสมบท ก็สำเร็จเป็นภิกษุตามพระวินัยบัญญัติ นี้เรียกว่าเป็นการบวชกาย จึงต้องมีการปฏิบัติทางจิตใจ ให้จิตใจมีความสงบ สมกับที่ชื่อว่าเป็นสมณะคือเป็นผู้สงบ หรือที่เรียกว่าเป็นพระสมณะผู้สงบ หรือที่ไทยเราเรียกว่าพระก็มีความหมายเป็นอันเดียวกัน ก็จะต้องปฏิบัติให้จิตใจเป็นศีล จิตใจเป็นสมาธิ จิตใจเป็นปัญญา คือให้จิตใจนี้ปกติสงบ ตั้งมั่นและรู้เข้าถึงธรรม ดั่งนี้เป็นการบวชใจ เมื่อมีการบวชกายตามพระวินัยบัญญัติ และมีการบวชใจคือปฏิบัติอบรมจิตใจของตนพร้อมทั้งกายวาจา ให้เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญาดังกล่าว ก็เป็นการบวชใจ เมื่อมีการบวชกายมีการบวชใจสมบูรณ์ทั้งสองนี้ จึงจะเป็นการบวชที่สมบูรณ์ทั้งกายทั้งใจ

มูลกรรมฐาน

ต่อจากนั้นพระอุปัชฌายะก็ได้สอนกรรมฐานที่เรียกว่าเป็นมูลกรรมฐาน คือกรรมฐานที่เป็นมูลเป็นรากเหง้าของกรรมฐานทั้งปวง คือตจปัญจกรรมฐาน ที่แปลว่ากรรมฐาน ๕ ข้อ มีหนังเป็นข้อสุดท้าย โดยสอนให้พิจารณาเกศา ผม โลมา ขน นขา เล็บ ทันตา ฟัน ตโจ หนัง เริ่มต้นด้วยสอนให้รู้จักกำหนดผมขนเล็บฟันหนัง ว่าสิ่งที่เป็นเส้นๆ งอกอยู่บนศีรษะ เบื้องต้นจรดหน้าผาก เบื้องหลังจรดปลายคอต่อ เบื้องขวางจรดกกหูทั้ง ๒ ข้าง นี้เป็นผม สิ่งที่งอกอยู่เป็นเส้นๆ เว้นจากผม อยู่ทั่วสรรพางค์กายนอกจากฝ่ามือและฝ่าเท้า เรียกว่าขน สิ่งที่เป็นเกล็ดๆ งอกอยู่ที่ปลายนิ้วมือและนิ้วเท้าเรียกว่าเล็บ สิ่งที่เป็นซี่ๆ งอกอยู่ที่กระดูกตามเบื้องล่างเบื้องบนในปากเรียกว่าฟัน สิ่งที่เป็นผืนหุ้มห่ออยู่ทั่วสรรพางค์กายเรียกว่าหนัง ให้กำหนดดูให้รู้จักผมขนเล็บฟันหนัง ว่าทุกคนก็มีผมขนเล็บฟันหนัง อันเป็นอาการของร่างกายที่ตามองเห็นได้ จะเป็นกายตนกายผู้อื่นก็ย่อมมีผมขนเล็บฟันหนังที่ตามองเห็นได้อยู่ด้วยกัน แต่โดยปกตินั้นเมื่อมองเห็นร่างกายของกันและกัน ก็มักจะมีความยึดถือบางส่วนหรือทั้งหมด ว่าสวยงามน่ารักน่าชม

จึงบังเกิดกิเลสกองราคะความติดใจยินดีเป็นต้นขึ้นในกายตนในกายผู้อื่นเมื่อเกิดกิเลสขึ้นดั่งนี้ หากประพฤติพรหมจรรย์อยู่ก็ทำให้พรหมจรรย์เศร้าหมอง และไม่สามารถจะทำจิตให้เป็นสมาธิ ไม่สามารถที่จะปฏิบัติในไตรสิกขาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ และกิเลสกองราคะความติดใจยินดีแสดงเป็นหัวหน้าของกิเลสทั้งปวง คือนำหน้า อย่างอกุศลมูล ๓ ก็ราคะโทสะโมหะ หรือโลภโกรธหลง ราคะนำคือความติดใจยินดีนำ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องมีวิธีปฏิบัติทำใจของตัวเอง สงบกิเลสกองราคะคือความติดใจยินดีนี้ให้ได้ ก็โดยที่กายตนและกายผู้อื่นนี้เป็นที่ตั้งของกิเลสกองราคะเป็นต้น เพราะไม่ได้พิจารณาโดยแยบคาย คือมิได้พิจารณาจับเหตุจับผลให้รู้ตามเป็นจริง จึงได้บังเกิดความหลงรักหลงชังขึ้น

ฉะนั้นจึงต้องรู้วิธีที่จะปราบใจของตนเองคือปราบกิเลสตัวนี้จากใจของตัวเองลงให้ได้ โดยพิจารณาจับให้ถึงตัวต้นเหตุ ว่าตัวต้นเหตุนั้นก็คือผมขนเล็บฟันหนังนี้แหละ ทีแรกจึงต้องจับพิจารณาผมขนเล็บฟันหนัง ว่านี่เป็นผมนี่เป็นขนนี่เป็นเล็บนี่เป็นฟันนี่เป็นหนัง สิ่งที่ตามองเห็นทั้งหมดรวมเข้าก็เป็นผมขนเล็บฟันหนังทั้ง ๕ นี้ ซึ่งจิตใจนี้หลงยึดถือว่าสวยงามน่ารักน่าชมอยู่ แต่โดยที่แท้แล้วหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะว่าผมขนเล็บฟันหนังทั้ง ๕ ประการนี้เป็นสิ่งปฏิกูลไม่สะอาดไม่งดงาม จึงต้องมีการชำระมีการตกแต่งตามที่ตัวเองว่างดงามให้ดูงดงามอยู่เสมอ แต่ก็ไม่สามารถจะกระทำได้สำเร็จ จึงต้องกระทำอยู่ทุกวันทุกเวลา ดังจะพิจารณาเห็นได้ ว่าทุกคนเสียเวลาที่จะชำระที่จะตกแต่งร่างกายนี้ คือผมขนเล็บฟันหนังนี้ วันหนึ่งๆ สิ้นเวลาไปเป็นอันมาก แล้วก็ทิ้งไว้ไม่ได้ ก็ต้องชำระต้องตกแต่งกันอยู่เสมอๆ ความปฏิกูลความไม่งดงามนั้นย่อมปรากฏออกมาอยู่เสมอ

เมื่อพิจารณารวมๆ กันนี้หากยังไม่ปรากฏชัด ก็ให้พิจารณาแยกออกไปอีกโดยสี โดยสัณฐานคือทรวดทรง โดยกลิ่น โดยที่เกิด โดยที่อยู่ ว่าผมขนเล็บฟันหนังทั้ง ๕ ประการเหล่านี้ โดยสีก็ไม่สะอาดไม่งดงาม โดยสัณฐานหรือทรวดทรงก็ไม่สะอาดไม่งดงาม กลิ่นก็เหมือนกัน ที่เกิดก็เหมือนกัน เพราะเกิดอยู่กับปุพโพ โลหิต ซึ่งเป็นปฏิกูลไม่สะอาดให้พิจารณากลับไปกลับมาอยู่เสมอ ว่าผมขนเล็บฟันหนังปฏิกูลไม่สะอาดไม่งดงาม หนังฟันเล็บขนผมปฏิกูลไม่สะอาดไม่งดงามดั่งนี้ จนจิตสงบจากกิเลสกองราคะเป็นต้น ซึ่งจะเป็นกรรมฐาน เมื่อเป็นกรรมฐานก็ให้รักษากรรมฐานข้อนี้ไว้ ให้เป็นมูลกรรมฐานทั้งปวง ให้เป็นบาทของปัญญาที่จะอบรมปฏิบัติสืบต่อไป จนกระทั่งบรรลุวิชชาวิมุตติ ทำให้แจ้งนิพพานในที่สุด ท่านเรียกว่ามูลกรรมฐาน

คือเป็นมูลเป็นรากเหง้า ก็เพราะกำจัดกิเลสกองราคะ ซึ่งกิเลสกองราคะนี้ ก็กล่าวได้ว่าเป็นมูลหรือเป็นเบื้องต้นของบรรดากิเลสทั้งหลาย นำหน้ากิเลสทั้งหลายอยู่ จึงต้องกำจัดกิเลสกองนี้ให้ลงเสียก่อน เมื่อกำจัดลงได้แล้ว ก็จะทำให้มีความสุขอยู่กับการที่จะศึกษาพระธรรมพระวินัยยิ่งๆ ขึ้นไป เพราะฉะนั้นพระอาจารย์อุปัชฌาย์จึงได้สอนกันมาตั้งแต่โบราณจนบัดนี้แก่นาคที่เข้ามาขอบวช ให้ถือปฏิบัติอยู่ในกรรมฐานทั้ง ๕ ข้อนี้อยู่เป็นนิจ เพราะฉะนั้นจึงได้นำเอาข้อที่สอนนาคนี้มากล่าวทบทวนในวันนี้ เท่ากับว่าเป็นหลักที่จะต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำ อันจะทำให้จิตใจมีความสุข จะทำให้สามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ในพรหมจรรย์ตามกำหนดที่ตั้งใจ และทำให้มีกำลังใจที่จะศึกษาปฏิบัติพระธรรมวินัยยิ่งๆ ขึ้นไป


๓ สิงหาคม ๒๕๒๖



หมายเหตุ บทความนี้เป็นธรรมกถาจากจำนวนทั้งสิ้น ๓๖ ครั้ง
ที่เจ้าพระคุณสมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) บรรยายแก่พระนวกภิกษุวัดบวรนิเวศวิหาร
ในพรรษากาล ๒๕๒๖ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูถัมภ์
จัดพิมพ์เนื่องในงานบำเพ็ญกุศลชนมายุครบ ๖ รอบ ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
ในวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๒๘


คัดลอกจาก หนังสือลักษณะพุทธศาสนา ของ สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พิมพ์ที่ โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ

http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=visutthisiri&group=16&page=2
มีต่อค่ะ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 11, 2011, 04:13:54 pm »

                       

ครั้งที่ ๒ นิสสัย ๔
ลักษณะพุทธศาสนา

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

เมื่อวานนี้ได้อธิบายทบทวนคำสอนนาค วันนี้จะอธิบายอนุศาสน์ซึ่งเป็นโอวาทที่พระบรมศาสดาตรัสให้สอนภิกษุผู้บวชใหม่ ให้รู้จักนิสสัย ๔ อกรณียกิจ ๔ ในเมื่อได้รับอุปสมบทแล้วทีเดียว คือเป็นคำสอนที่ให้สอนในเวลาที่ถัดจากอุปสมบทเสร็จแล้ว ฉะนั้นเมื่ออุปสมบทเสร็จ พระอุปัชฌายะก็จะบอกอนุศาสน์เป็นภาษาบาลี และต่อมาพระอุปัชฌายะเองหรือพระอาจารย์ก็จะสอนเป็นคำไทยให้มีความเข้าใจ ซึ่งท่านผู้เข้ามาบวชแล้วก็ย่อมได้ฟังคำอธิบายมาแล้ว ในวันนี้จะทบทวนเพียงนิสสัย ๔ ซึ่งมีเหตุผลสืบเนื่องมาจากการบวช ฉะนั้นจึงจะอธิบายคำว่าการบวชตามถ้อยคำเสียก่อน

อธิบายนิสสัย ๔

คำว่า บวช นั้น มาจากคำว่า ปพฺพชฺชา หรือบรรพชา มีความหมายว่าการออก คือการออกจากเรือนมาเป็นผู้ไม่มีเรือน ดังที่เราทั้งหลายสวดกันอยู่ว่า สทฺธา อคารสฺมา อนคาริยํ ปพฺพชิตา แปลว่า มีศรัทธาบรรพชาคือบวช คือออกจากเรือน มาเป็นอนาคาริยะที่แปลว่า ผู้ไม่มีเรือนไม่มีบ้าน จึงมีเหตุผลสืบต่อมาถึงนิสสัย ๔ คำว่านิสสัยนั้น เป็นนิสสัยทางจิตใจอย่างหนึ่ง เป็นนิสสัยทางกายอีกอย่างหนึ่ง ทางจิตใจนั้น ดังที่พูดกันว่ามีนิสสัยดี นิสสัยไม่ดี ส่วนทางกายนั้น ก็หมายถึงเครื่องอาศัยดำรงชีวิตของร่างกาย อันชีวิตต้องอาศัยจึงดำรงอยู่ได้ และหมายเอาที่เป็นสิ่งจำเป็นอันชีวิตต้องอาศัยจริงๆ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ก็ได้แก่ปัจจัย ๔ นั้นเอง คำว่าปัจจัยนั้น ก็หมายถึงเครื่องอาศัยของชีวิตเหมือนกัน แต่ว่าเป็นคำกลางๆ จะเป็นสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ก็ได้ จะเป็นสิ่งที่ฟุ่มเฟือยอำนวยความสะดวกสบายยิ่งขึ้นก็ได้ ก็คือจีวร ผ้านุ่งห่ม บิณฑบาต อาหารสำหรับบริโภค เสนาสนะที่อยู่อาศัย และยาแก้ไข้ นี้คือปัจจัย ๔

ข้อที่หนึ่ง เที่ยวบิณฑบาต

เมื่อมาเรียกว่านิสสัย ๔ ก็มีความหมายถึงเครื่องดำรงชีวิตเหล่านี้ที่จำเป็นจริงๆ และที่จะพึงแสวงหาได้สำหรับผู้ที่ได้ออกบวช ออกจากเรือนมาเป็นผู้ไม่มีบ้านไม่มีเรือนแล้วจริงๆ แต่ว่ายกเอาอาหารมาเป็นที่ ๑ คือเที่ยวบิณฑบาต ก็หมายถึงว่าถือบาตรเดินออกไปสู่ละแวกบ้านรับอาหารที่ชาวบ้านเขาใส่บาตรถวายในละแวกบ้าน ฉะนั้นจึงมีคำเรียกผู้ที่ถือบาตรเที่ยวรับอาหารที่เขาใส่บาตรถวายว่าภิกษุ หรือภิกขุ ที่แปลว่าผู้ขอโดยปกติ อันหมายความว่าเที่ยวขออาหารด้วยวิธีถือบาตรอุ้มบาตรเดินออกไปในละแวกบ้าน ด้วยอาการที่มีความสำรวม

มิได้ออกปากขอเป็นแต่เพียงว่ากิริยาที่อุ้มบาตรเดินออกไปในละแวกบ้านนั้นก็เป็นอาการที่แสดงว่ารับอาหารที่เขาถวายเท่านั้น จึงเรียกว่าขอโดยปกติ คือเป็นผู้ขอโดยที่อุ้มบาตรออกเดินไปในละแวกบ้านเท่านั้น มิใช่แสดงอาการอย่างยาจกหรือวณิพก ยาจกหรือวณิพกก็คือผู้ที่เที่ยวขอทานดังที่เรียกกันกล่าววาจาขอ หรือไม่กล่าววาจา แต่แสดงอาการขออย่างคนขอทานทั่วไปทั้งหลาย หรือบางทีก็ขอโดยวิธีที่ร้องรำทำเพลง เอาการร้องรำทำเพลงนั้นแลกกับสิ่งที่เขาจะให้เป็นการตอบแทน แต่ว่าภิกษุซึ่งเป็นผู้ขอโดยปกตินั้นมิได้ขออย่างนั้น อุ้มบาตรด้วยกิริยาที่สำรวมระวังเดินผ่านบ้านเขาไป เมื่อเขาจะถวายเขาก็เอาอาหารออกมาใส่บาตรถวายให้

เพราะฉะนั้นจึงได้มีคำเรียกสำหรับผู้นับถือพุทธศาสนา ว่าอาการที่พระพุทธเจ้าและพระพุทธสาวกออกเที่ยวบิณฑบาตเป็นการเสด็จออกโปรดสัตว์ เป็นการเรียกด้วยความเคารพ แทนที่จะรู้สึกว่าผู้ที่ใส่บาตรเป็นผู้ที่สูงกว่า กลับยกย่องพระพุทธเจ้าและพระพุทธสาวกที่เสด็จออกบิณฑบาตว่าเป็นผู้ที่สูงกว่า คือเท่ากับว่าพระองค์และพระพุทธสาวกได้เสด็จออกไปโปรดพวกชาวบ้านชาวเมือง

นิสสัยข้อที่ ๑ คือการเที่ยวออกบิณฑบาตนี้ ก็สืบเนื่องมาจากการบวช คือการออกจากเรือนมาเป็นผู้ไม่มีเรือน เมื่อมาเป็นอนาคาริยะคือผู้ที่ไม่มีบ้านไม่มีเรือน จึงไม่มีผู้ที่จะประกอบอาหารให้และก็ไม่มีการประกอบอาหารเอง เพราะเมื่อไม่มีบ้านไม่มีเรือนก็ต้องไม่มีครัว แต่ว่าร่างกายนี้ต้องการอาหารสำหรับที่จะบำรุงเลี้ยง ชีวิตจึงจะดำรงอยู่ได้ ฉะนั้นวิธีที่จะได้อาหารมาสำหรับบำรุงเลี้ยงร่างกายก็คือออกบิณฑบาต อุ้มบาตรออกเดินไปในละแวกบ้านผู้มีศรัทธาเขาก็ใส่บาตรถวาย ได้มาก็นำมาฉัน นำมาบริโภค สำหรับที่จะดำรงชีวิต การออกบิณฑบาตจึงเป็นวิธีดำรงชีวิตของผู้ออกบวช แต่ว่าก็ทรงอนุญาตอดิเรกลาภ คืออาหารที่ผู้มีศรัทธานำมาถวายแก่สงฆ์ แล้วแจกกันไปก็ตาม หรือถวายส่วนบุคคลก็ตาม เมื่ออาหารที่เขานำมาถวายนั้นไม่ผิดวินัยข้อใดข้อหนึ่งแล้วก็รับฉันได้ ก็นับเป็นอดิเรกลาภ คือเป็นการได้อาหารที่เป็นอดิเรก คือที่เกินหรือที่ยิ่งไปกว่าอาหารที่จะพึงได้ด้วยการออกบิณฑบาตดังกล่าวนั้น

ข้อที่สอง นุ่งห่มผ้าบังสุกุล

มาถึงนิสสัยข้อที่ ๒ นุ่งห่มผ้าบังสุกุล ผ้าบังสุกุลนั้นแปลตามศัพท์ว่าผ้าเปื้อนฝุ่น หมายถึงผ้าเก่าที่เขาทิ้งไว้ในกองขยะก็ดี ในป่าก็ดี หรือแม้เป็นผ้าห่อศพก็ดี ผู้ที่ออกบวชก็จำเป็นที่จะต้องมีผ้านุ่งห่ม ดังที่ตรัสว่า ผู้ที่เข้ามาขอบวชนั้นจะต้องมีไตรจีวร และมีบาตรเอาไว้สำหรับออกบิณฑบาต ดังกล่าวในข้อ ๑ นั้น ไตรจีวรนั้นก็คือผ้านุ่ง เรียกว่าสบงหรืออันตรวาสก ผ้าห่มเรียกกันว่าจีวรหรืออุตตราสงค์ กับอีกผืนหนึ่งเรียกว่าผ้าสังฆาฏิ เป็นผ้าที่เย็บ ๒ ชั้นสำหรับเป็นผ้าห่มในฤดูหนาว แต่ว่ามาในบัดนี้พระสงฆ์ไทยเรามาใช้เป็นผ้าพาดบ่า สำหรับใช้ในสังฆกรรมและในพิธีทำบุญต่างๆ ในวัด

เพราะฉะนั้นเมื่อผ้าไตรจีวรชุดที่ใช้อยู่เก่าไปขาดไปก็จะได้มาจากไหน ภิกษุไม่มีทรัพย์ที่จะซื้อหาและจะซื้อหาก็ไม่ได้ รับเงินทองก็ไม่ได้ ซื้อหาก็ไม่ได้ ขอเงินทองจากคนที่มิใช่ญาติหรือที่มิได้ปวารณาก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็จำเป็นที่จะต้องไปเก็บผ้าเก่าที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ที่โคนไม้ หรือในกองขยะ หรือแม้เป็นผ้าห่อศพในป่าช้ามาซักเย็บย้อมเป็นผ้านุ่งห่ม พระพุทธเจ้าเองก็ได้มีประวัติเล่าไว้ ว่าได้เคยทรงไปนำผ้าห่อศพที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ซึ่งในครั้งนั้นเมื่อมีผู้ตายลงเขาก็นำเอาไปทิ้งไว้ในป่าช้า และมีผ้าห่อศพ

พระพุทธเจ้าก็เคยทรงนำเอาผ้าห่อศพมาซักเย็บย้อมเป็นผ้าที่ทรงนุ่งทรงห่ม และก็มานิยมเรียกกันว่าเป็นผ้ามหาบังสุกุล ซึ่งเป็นธรรมเนียมกันมาจนถึงในบัดนี้ เวลาจะเผาศพเจ้าภาพก็นำผ้ามาทอดที่หีบศพ นิมนต์พระไปชัก เรียกว่าชักมหาบังสุกุล แต่ว่าในครั้งโบราณนั้นท่านไปชักจริงๆ คือไปเปลื้องมาจากที่เขาห่อศพ เอามาทำเป็นผ้านุ่งห่มกันจริงๆ แต่ก็ทรงอนุญาตอดิเรกลาภ คือการได้ผ้าเป็นอดิเรก คือที่ยิ่งไปกว่าที่เกินไปกว่าผ้าบังสุกุลนั้น คือผ้าที่เขานำมาถวาย จะเป็นผ้าที่ยังไม่ได้เย็บย้อมเป็นสบงจีวรก็ตาม หรือจะเป็นผ้าที่เย็บย้อมมาแล้วก็ตาม ก็รับได้ ถ้าปฏิบัติตามพระวินัยที่ว่าด้วยการรับผ้าแล้วก็เป็นอันว่าใช้ได้

ข้อที่สาม อยู่โคนไม้

มาถึงนิสสัยข้อที่ ๓ คืออยู่โคนไม้ นี้ก็สืบเนื่องมาจากการบวชเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อการบวชเป็นการที่ออกจากเรือนมาเป็นผู้ไม่มีเรือน เมื่อไม่มีบ้านไม่มีเรือนจะอยู่ที่ไหน เพราะฉะนั้น ก็ต้องอาศัยอยู่ที่โคนไม้นั่นแหละ เพราะไม่มีบ้านไม่มีเรือน และเดิมก็ไม่มีวัดวาอาราม โคนไม้จึงเป็นนิสสัยข้อที่ ๓ แต่ก็ทรงอนุญาตให้รับที่อยู่อาศัยที่เป็นอดิเรกลาภได้ คือการได้ที่อยู่อาศัยที่เกินหรือที่ยิ่งไปกว่านั้น เป็นต้นว่ากุฏิ วิหาร ที่เขาสร้างถวาย ซึ่งเมื่อพระพุทธศาสนาได้แผ่กว้างออกไป ผู้มีศรัทธาก็ได้สร้างกุฏิวิหารให้พระอยู่อาศัย ตลอดจนถึงสร้างวัดวาอารามให้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นหลักเป็นฐาน หรือว่าอาศัยอยู่ในถ้ำ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยได้โดยธรรมชาติก็ใช้ได้

ข้อที่สี่ ฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า

มาถึงนิสสัยข้อที่ ๔ คือฉันยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า อันนี้ก็สืบเนื่องมาจากการบวชอีกเหมือนกัน เพราะเมื่อบวชก็ออกจากบ้านจากเรือน เป็นผู้ไม่มีบ้านไม่มีเรือน ต้องเที่ยวบิณฑบาตรับอาหารที่เขาใส่บาตรมาฉันเพื่อดำรงชีวิต ต้องนุ่งห่มผ้าบังสุกุล ต้องอยู่โคนไม้ ฉะนั้นเมื่อร่างกายมีการเจ็บป่วยลงจะได้หยูกยามาจากไหน ก็ต้องใช้ผลไม้ที่เป็นยา เช่นผลสมอ ผลมะขามป้อม มาดองด้วยน้ำมูตรเน่าสำหรับฉันบำบัดอาพาธ คือความป่วยไข้ และก็ทรงอนุญาตอดิเรกลาภคือการได้เภสัชคือยาที่ยิ่งหรือที่เกินไปกว่านั้น ที่ระบุไว้ก็คือเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย

ซึ่งทั้ง ๕ อย่างนี้ไม่ใช่เป็นยาโดยตรง ไม่ใช่เป็นอาหารโดยตรง แต่เมื่อร่างกายมีความอ่อนเพลีย เรียกว่ามีปัจจัย คือมีเหตุอันจะต้องใช้ในเวลากาลก็ดี ในเวลาวิกาลก็ดี ก็ใช้ได้ แต่ว่าเนยใสเนยข้นนี้ต้องเข้าใจ ว่าไม่ใช่เนยอย่างที่เราเรียกกันในปัจจุบันอย่างที่ฝรั่งทำมาจำหน่ายที่เรียกว่าชีส (cheese) เป็นต้น เรามาเรียกกันว่าเนย แต่ความจริงแล้วเป็นอาหารชนิดหนึ่ง มีส่วนผสมเป็นอาหาร พวกชีสเหล่านี้ไม่ใช่เนยใสเนยข้น ใช้ฉันเวลาหลังเที่ยงไม่ได้ เนยใสเนยข้นนั้นต้องเป็นเนยใสเนยข้นที่บริสุทธิ์ ไม่ใช่ชีสที่เป็นอาหารอย่างนั้น สิ่งที่ใช้ได้ทั้งในกาลทั้งในวิกาล คือ เนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อย และแม้ที่เป็นยาโดยตรงแก้ไขได้โดยตรงก็ใช้ได้

สรุปนิสสัย ๔

เพราะฉะนั้น คำว่านิสสัยนี้จึงหมายถึงปัจจัย ๔ นั่นแหละ แต่หมายเอาจำเพาะที่เป็นสิ่งจำเป็นจริงๆ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าอย่างแร้นแค้นจริงๆ อาหารก็ต้องขอเขา ที่เขาใส่บาตรนำมาฉัน ไม่ว่าดีไม่ว่าเลว เลือกไม่ได้ ผ้านุ่งห่มก็เป็นผ้าเก่า เอามาเย็บย้อมทำเป็นผ้านุ่งห่มอันเรียกว่าผ้าบังสุกุล ที่อยู่อาศัยก็โคนไม้ ยาแก้ไข้ก็ยาดองด้วยน้ำมูตรเน่า เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่านิสสัย ให้ต่างกับคำว่าปัจจัย และก็มีความหมายทำนองเดียวกันกับนิสัยทางจิตใจ ดังที่เรียกว่านิสัยทางจิตใจนั้น ก็หมายถึงภาวะทางจิตใจที่เป็นอย่างละเอียด ที่ปรากฏอยู่ในภายในเป็นตัวนิสัย

ซึ่งก็ไม่มีใครมองเห็น แต่อาการที่แสดงออกมาทางกายวาจานั้นส่องให้เห็นว่าภายในมีนิสัยอย่างไร นิสัยดีนิสัยเลวอย่างไร มาถึงเป็นนิสสัยที่เป็นวัตถุบำรุงกาย ก็เอาอย่างที่แร้นแค้นจำเป็นที่สุดที่ชีวิตจะพึงดำรงอยู่ได้ เพราะฉะนั้นนิสสัยทั้ง ๔ นี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสั่งว่าให้บอกเมื่อบวชแล้ว เพราะมีเรื่องว่ามีผู้เข้ามาขอบวช เมื่อยังไม่ได้บวช ภิกษุผู้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ก็บอก เมื่อผู้มาขอบวชรู้ว่าบวชแล้วจะเป็นอย่างไรก็ตกใจ ไม่บวช เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสสอนว่าให้บอกเมื่อบวชแล้ว ว่าบวชแล้วจะต้องเป็นอยู่อย่างไร แต่ก็ทรงอนุญาตอดิเรกลาภอย่างนั้น

ในบัดนี้ได้มีอดิเรกลาภมาก ดังที่ปรากฏว่าได้มีการสร้างวัดวาอารามสำหรับให้ภิกษุสงฆ์ได้อาศัย ได้มีการสร้างกันอย่างประณีตงดงามและดี ให้มีความผาสุกด้วยแรงศรัทธาของประชาชน อันจะพึงเห็นได้ว่าวัดทั้งหลายเป็นอันมากนั้นได้มีที่อยู่อาศัยสำหรับพระภิกษุสามเณรดียิ่งกว่าประชาชนที่อยู่รอบวัดโดยมาก ยิ่งในชนบทก็ยิ่งจะเห็นได้ง่าย ประชาชนที่อยู่รอบวัดนั้นเป็นชาวนาชาวไร่อยู่บ้านเล็กๆ น้อยๆ เป็นกระต๊อบหลังคามุงจากประกอบด้วยไม้เก่าๆ ที่ผุพังก็มี แต่ว่าวัดในหมู่บ้านนั้นแต่ละวัดได้สร้างกันอย่างดี ที่อยู่อาศัยของพระเณรก็ดี เป็นอย่างนี้โดยมากในเมืองไทย

จนถึงทำให้ผู้ที่มิได้นับถือพุทธศาสนาหรือไม่รู้จักพุทธศาสนาในเมืองไทย ไม่เข้าใจว่าทำไมจึงเป็นอย่างนี้ หรือบางทีก็เห็นไปว่าพระเป็นฝ่ายที่อยู่เป็นสุขมากกว่าชาวบ้าน และหาความไปต่างๆ แต่อันที่จริงนั้นเป็นความยินดีพอใจของประชาชนผู้นับถือพุทธศาสนาเองซึ่งการก่อสร้างวัดวานั้นโดยมากก็เกิดขึ้นจากกำลังศรัทธาของประชาชนผู้ที่เป็นชาวไร่ชาวนาเป็นต้นเหล่านี้นั่นแหละ พร้อมใจกันบริจาคคนละน้อยบ้างมากบ้างตามกำลังมาสร้างขึ้น และอาศัยความที่รวมกำลังกันนั้นเอง จึงทำให้สามารถสร้างวัดประกอบด้วยกุฏิวิหารที่เรียบร้อยและมีความผาสุกและผู้ที่ช่วยกันสร้างนั้นก็มีความสุข

มีความเบิกบานยินดีเมื่อเห็นว่าวัดในหมู่บ้านของตนนั้นเรียบร้อยงดงาม ไม่ได้มีความนึกคิดที่จะอิจฉาริษยาพระอย่างไร หรือที่จะเห็นพระว่าเป็นอย่างไรเกี่ยวกับความเป็นอยู่นั้น ก็เช่นเดียวกับที่กล่าวมาข้างต้น ว่าผู้ที่มีศรัทธานั้นเมื่อพระพุทธเจ้าและพระพุทธสาวกเสด็จออกบิณฑบาตก็กล่าวว่าเสด็จไปโปรดสัตว์ ก็กล่าวกันอย่างนี้ด้วยกำลังศรัทธาที่นับถืออย่างสูงสุดนั้นเอง แต่แม้เช่นนั้นบรรดาภิกษุสามเณรทั้งหลายก็ควรจะเป็นผู้ที่ไม่ประมาท และตั้งใจที่จะปฏิบัติตนให้ตั้งอยู่ในปาริสุทธิศีลทั้ง ๔

ปาริสุทธิศีล

ข้อที่ ๑ ปาฏิโมกขสังวรศีล ศีลคือความสำรวมระวังในพระปาฏิโมกข์ คือพระบัญญัติที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ อันเป็นหลักใหญ่ของความประพฤติ ดังที่เรียกกันว่าศีล ๒๒๗ นั้น และตลอดถึงปฏิบัติในพระบัญญัติที่เกี่ยวกับอาจารมารยาททั้งหลาย อันเรียกว่าอภิสมาจาร

ข้อที่ ๒ อินทรียสังวรศีล ศีลคือความสำรวมอินทรีย์ อันได้แก่มีสติที่จะสำรวมระวังตาหูจมูกลิ้นกายและใจ ทุกขณะที่ได้เห็นรูปอะไรทางตา ได้ยินเสียงอะไรทางหู ได้ทราบกลิ่นรสโผฏฐัพพะทางจมูกทางลิ้นทางกาย และได้รู้คิดเรื่องอะไรทางใจ มีสติสำรวมระวังจิตใจ ไม่ยึดถือสิ่งที่ตาเห็นสิ่งที่หูได้ยินเหล่านั้นเป็นต้น มาเป็นเครื่องก่อกิเลสกองราคะโทสะโมหะขึ้นในจิตใจให้สิ่งที่เห็นสิ่งที่ได้ยินนั้นตกอยู่แค่ตาแต่หูเป็นต้นนั้น ไม่ให้เข้ามาก่อกิเลสในใจ นี้เรียกว่าอินทรียสังวร

ข้อที่ ๓ อาชีวปาริสุทธศีล ศีลคือความบริสุทธิ์แห่งอาชีพ คือการเลี้ยงชีวิต เช่นว่าปฏิบัติในนิสสัย ๔ และรับอดิเรกลาภที่เขาถวาย หรือที่ได้มาโดยชอบ โดยที่ไม่ได้ไปแสวงหาหรือได้มาโดยไม่สมควรต่างๆ

ข้อที่ ๔ ปัจจยปัจเวขณศีล ศีลคือการพิจารณาปัจจัย ๔ แล้วจึงบริโภค ดังที่เราได้สวดบท ปฏิสงฺขา โย .... ในเวลาเช้า อชฺช มยา ...... ในเวลาเย็นหรือค่ำนั้น


๔ สิงหาคม ๒๕๒๖
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ตุลาคม 20, 2011, 05:50:32 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มกราคม 11, 2011, 04:45:50 pm »



ลักษณะพุทธศาสนา
ครั้งที่ ปาริสุทธิศีล

ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

พิจารณาขณะที่รับปัจจัยทั้ง ๔
จะว่าถึงปาริสุทธิศีล ๔ ที่ได้แสดงมาแล้ว ภิกษุผู้เข้ามาบวชในพระธรรมวินัยนี้พึงตั้งใจปฏิบัติให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ และจะได้แสดงขยายความในปัจจยสันนิสิตศีลข้อที่ ๔ ศีลที่อาศัยปัจจัย อันหมายความว่าตรัสสอนให้พิจารณาปัจจัยทั้ง ๔ คือ จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และยาแก้ไข้ ในขณะที่รับและในขณะที่บริโภค หากว่าในขณะที่บริโภคมิได้พิจารณา ก็ให้พิจารณาเป็นส่วนอดีตในวันนั้น อันหมายความว่าพิจารณาย้อนหลังในวันนั้น ดั่งนี้ก็ใช้ได้ พิจารณาในขณะที่รับนั้น คือในขณะที่รับปัจจัยทั้ง ๔ ให้พิจารณาโดยความเป็นธาตุ หรือโดยความเป็นปฏิกูล พิจารณาโดยความเป็นธาตุนั้นก็คือพิจารณาโดยความว่า ปัจจัยทั้ง ๔ สักแต่ว่าเป็นธาตุ คือเป็นธาตุดินน้ำไฟลม และบุคคลผู้บริโภคปัจจัยทั้ง ๔ ก็สักแต่ว่าเป็นธาตุ ไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา พิจารณาโดยเป็นของปฏิกูลนั้นก็คือพิจารณาว่า ปัจจัยทั้ง ๔ เมื่อยังไม่มาถึงกายอันนี้ก็ยังไม่ปฏิกูล แต่เมื่อมาถึงกายอันนี้ก็เป็นของปฏิกูลไม่สะอาด ในขณะที่รับปัจจัยทั้ง ๔ ตรัสสอนให้พิจารณาดั่งนี้

พิจารณาขณะที่บริโภคปัจจัยทั้ง ๔
ในขณะที่บริโภคนั้น คือในขณะที่บริโภคปัจจัยทั้ง ๔ คือในขณะที่นุ่งห่มผ้านุ่งห่มฉันภัตตาหาร นั่งนอนบนที่นั่งที่นอน และฉันยาแก้ไข้ ก็ให้พิจารณาว่า นุ่งห่มผ้านุ่งห่มก็เพื่อปกปิดส่วนที่พึงละอาย ป้องกันลมแดดหนาวร้อนเหลือบยุงเป็นต้น ฉันภัตตาหารหรือฉันบิณฑบาตก็มิใช่เพื่อเล่น มิใช่เพื่อเปล่งปลั่งประเทืองผิว บริโภคก็เพื่อที่จะดำรงกายให้เป็นไปได้เพื่อสงเคราะห์พรหมจรรย์ คือประพฤติพรหมจรรย์เป็นต้น นั่งนอนบนที่นั่งที่นอนก็เพื่อป้องกันแดดลมหนาวร้อนเหลือบยุง เพื่อหลีกเร้น เป็นต้น

บริโภคยาแก้ไข้ก็เพื่อระงับเวทนาที่เกิดจากอาพาธต่างๆ ดังนี้เป็นต้น ตามบทปฏิสังขาโยที่สวดกันในเวลาทำวัตรเช้ารวมความว่า บริโภคปัจจัยทั้ง ๓ ก็เพื่อที่จะทะนุบำรุงชีวิตร่างกายให้ดำรงอยู่ผาสุก เพื่อที่จะปฏิบัติความชอบ มิใช่เพื่อบำรุงกิเลสตัณหาเพื่อประพฤติชั่วต่างๆ และหากว่าในขณะที่บริโภคมิได้พิจารณา ก็ให้พิจารณาปัจจัยที่บริโภคแล้วในนั้นย้อนหลังไปว่าได้บริโภคแล้ว ก็เพื่อประโยชน์ที่ต้องการดังได้กล่าวมาข้างต้น ตามบทอัชชมยาที่สวดกันในเวลาทำวัตรเย็นหรือทำวัตรค่ำ

แสวงหาปัจจัยทั้ง ๔ โดยสมควร
ภิกษุผู้ที่ได้ปฏิบัติตามที่ได้ตรัสสอนไว้นี้ ก็ได้ชื่อว่าได้ปฏิบัติทำศีลอันอาศัยปัจจัย ๔ ข้อนี้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ จะเห็นได้ว่าศีลที่เกี่ยวด้วยปัจจัยทั้ง ๔ มีอยู่ถึง ๒ ข้อ คืออาชีวปาริสุทธิศีลอันเป็นข้อที่ ๓ กับปัจจยสันนิสิตศีลอันเป็นข้อที่ ๔ อาชีวปาริสุทธิศีลนั้นก็เกี่ยวด้วยการเลี้ยงชีพ ก็คือการที่แสวงหาปัจจัยทั้ง ๔ มาบริโภคใช้สอยโดยถูกต้อง เรียกว่ามีการแสวงหาอันสมควร มิใช่การแสวงหาอันไม่สมควร

เมื่อมีการแสวงหาอันสมควรก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติในอาชีวปาริสุทธิศีลข้อที่ ๓ และในขณะที่รับปัจจัยทั้ง ๔ ก็พิจารณา และในขณะที่บริโภคปัจจัยทั้ง ๔ ก็พิจารณา และแม้ว่ามิได้พิจารณาในขณะที่บริโภค พิจารณาปัจจัยทั้ง ๔ ที่บริโภคย้อนหลังไป เมื่อปฏิบัติดั่งนี้ก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติในปัจจยสันนิสิตศีลอันเป็นข้อที่ ๔ จึงจะพึงเห็นได้ว่าเกี่ยวด้วยปัจจัยทั้ง ๔ นี้เป็นเหตุให้ภิกษุเป็นผู้ที่มีศีลบริสุทธิ์หรือมีศีลไม่บริสุทธิ์ได้ทั้ง ๒ ข้อ เพราะฉะนั้นจึงเป็นข้อที่ภิกษุทั้งหลายเห็นควรที่จะมีสติระมัดระวังในเรื่องนี้ และหากพิจารณาดูให้กว้างออกไปแล้วก็จะเห็นว่า วัตถุที่ปรากฏในพุทธศาสนาเป็นวัดวาอารามเป็นวิหารเป็นกุฏิและทุกๆ อย่าง ย่อมเนื่องอยู่ในปัจจัยทั้ง ๔ นี้ และในบัดนี้ปัจจัยทั้ง ๔ นี้ได้มีมากมายเป็นอดิเรกลาภ ภิกษุพระเณรไม่จำเป็นที่จะต้องอาศัยนิสสัยทั้ง ๔ เท่าไรนัก

เพราะว่าได้มีประชาชนผู้มีศรัทธาได้จัดถวาย จนถึงสร้างเป็นวัดวาอารามเป็นกุฏิวิหารต่างๆ สำหรับให้พระเณรได้อยู่ผาสุก อันเป็นส่วนเสนาสนะ และยังมีการจัดอาหารจัดผ้านุ่งห่มจัดยาแก้ไข้ตลอดจนถึงสิ่งอื่นถวายอีกมากมาย เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าไม่หมั่นพิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ก็จะทำให้เกิดความประมาทมัวเมาเลินเล่อเผลอเพลิน และเมื่อเป็นดั่งนี้ก็เป็นเหตุให้เกิดกิเลสตัณหา แสวงหาปัจจัยลาภต่างๆ ในทางที่ไม่ถูกต้อง เป็นอเนสนาคือการแสวงหาอันไม่สมควร ก็เป็นอันว่าเสียปาริสุทธิศีลข้อที่ ๓ คืออาชีวปาริสุทธิ และในขณะที่รับ ในขณะที่บริโภค ในขณะที่บริโภคแล้ว ก็ไม่ได้พิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน

ทำให้จิตใจไม่สำนึกถึงประโยชน์ที่ต้องการของการที่บริโภคใช้สอยปัจจัยทั้ง ๔ ว่าเพื่ออะไร คือเพื่อดำรงกายดำรงชีวิต ดำรงกายดำรงชีวิตไว้ทำไม ก็ดำรงกายดำรงชีวิตไว้เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์ เพื่อที่จะปฏิบัติความดีความชอบ ไม่ใช่เพื่อเพิ่มกิเลสตัณหาเพื่อประพฤติความชั่วต่างๆ และก็จะทำให้ไม่หลงตน ทำให้ไม่ลืมนิสสัยทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้
และโดยที่แท้แล้วตรัสสอนให้รู้จักสิ่งที่จำเป็นต้องการจริงๆ สำหรับร่างกาย ซึ่งดูก็เป็นสิ่งที่แร้นแค้น แต่อันที่จริงก็เป็นสิ่งที่ร่างกายอาศัยได้ คือนิสสัยทั้ง ๔ นั้นสำหรับบุคคลซึ่งเป็นผู้บวช ออกจากเรือนเป็นผู้ไม่มีเรือน เพราะฉะนั้นความต้องการจริงๆ ก็คือนิสสัยทั้ง ๔ นั้นนั่นเอง ส่วนอื่นๆ นั้นเป็นอดิเรกลาภ ไม่ควรที่จะติดในอดิเรกลาภ และมีความหลงตนมัวเมาอยู่ในอดิเรกลาภนั้น

หากว่าได้ตั้งใจเพ่งพินิจในอาชีวปาริสุทธิศีลและในปัจจยสันนิสิตศีลทั้ง ๒ ข้อนี้ให้ดี และตั้งใจปฏิบัติควบคุมจิตใจแล้ว ก็จะทำให้เป็นผู้ที่รักษาใจตัวเองได้ ไม่ให้ประมาทมัวเมาเลินเล่อเผลอเพลินไปในอดิเรกลาภทั้งหลาย ไม่ให้ติดในอดิเรกลาภทั้งหลาย และจะมีความสำนึกตนอยู่
ว่าอันที่แท้แล้วสิ่งที่จำเป็นก็คือนิสสัยทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้นั้นเอง และเมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว แม้ว่าจะได้ปัจจัยทั้ง ๔ ดีก็ตามเลวก็ตาม ก็จะไม่ตื่นเต้นยินดีจะไม่ฟุบแฟบเสียใจ เพราะจะมีความสำนึกว่าถึงอย่างไรๆ ก็ยังดีกว่าที่เป็นนิสสัยทั้ง ๔ อันพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้ และก็จะทำให้มีความสำนึกตน เมื่อได้รับบำรุงอดิเรกลาภดีเท่าใด ก็ยิ่งที่จะตั้งใจปฏิบัติความดีความชอบให้ยิ่งขึ้นไปเท่านั้น

เพราะว่าอันสิ่งที่ผู้มีศรัทธาจัดถวายนั้นเขาต้องการจะถวายแก่ภิกษุสามเณรผู้ทรงศีล ผู้ตั้งใจศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่เพราะฉะนั้นเมื่อได้ใช้ปัจจัยของเขา ยิ่งเขาถวายดีเท่าไหร่ ก็ยิ่งต้องตั้งใจปฏิบัติดีเท่านั้นและก็ตั้งใจแผ่เมตตาจิตแก่ผู้ที่ถวายนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้แล้ว ก็ตรัสสอนไว้เหมือนกัน
ว่าการตอบแทนก้อนข้าวของชาวเมืองที่เขาถวายนั้นคือการตั้งใจแผ่เมตตาจิตไปให้เขา โดยตรงก็เมื่อฉันอาหารของเขาแล้วต้องตั้งใจศึกษาเล่าเรียนปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ

การบริโภค ๔ ประการ เพราะฉะนั้น จึงได้มีแสดงถึงการบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ ไว้ว่ามี ๔ อย่าง คือ
หนึ่ง เถยยบริโภค แปลว่าการบริโภคของผู้ที่ทุศีล ซึ่งเป็นเหมือนอย่างว่ามาขโมยของสงฆ์ไปบริโภค ก็เพราะว่าวัดวาอารามที่สร้างขึ้น กุฏิวิหารที่สร้างขึ้น ปัจจัยทั้งหลายมีอาหารผ้านุ่งห่มยาแก้ไข้และอื่นๆ ที่เขาถวายทั้งหมดนั้น ผู้มีศรัทธาต้องการถวายผู้ที่มีศีลตั้งใจรักษาศีล เพราะฉะนั้นเมื่อเป็นคนทุศีลคือมีศีลชั่วศีลขาดศีลด่างพร้อย ไม่ตั้งใจปฏิบัติศีลให้ดี มาครองผ้าเหลือง แล้วมาอยู่กุฏิที่เขาถวาย ฉันอาหารที่เขาถวาย อะไรเหล่านี้เป็นต้น ก็เท่ากับว่ามาขโมยของสงฆ์บริโภค จึงชื่อว่าเถยยบริโภค บริโภคโดยความเป็นขโมย หมายความว่า ผู้ทุศีลมาบริโภคใช้สอยของสงฆ์ของวัดของที่เขาถวายด้วยศรัทธา

สอง อิณบริโภค บริโภคโดยเป็นหนี้ ก็หมายความว่าถึงแม้ว่าไม่ใช่เป็นผู้ที่ทุศีลเหมือนอย่างนั้น ปฏิบัติดีอยู่ในศีล แต่ว่าในขณะที่รับก็ดี บริโภคก็ดี บริโภคแล้วมิได้พิจารณาในสิ่งที่ไม่ได้พิจารณาในขณะที่บริโภคก็ดี ก็ชื่อว่าบริโภคโดยความเป็นหนี้ คือเหมือนอย่างว่ากู้ยืมทรัพย์สินเขามาบริโภค

สาม ทายัชบริโภค บริโภคโดยความเป็นทายาท ท่านแก้ไว้สูง ว่าเป็นการบริโภคของพระเสขะทั้ง ๗ คือพระอริยบุคคล ๗ จำพวก ตั้งแต่พระผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค จนถึงพระผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค แต่เมื่อพิจารณาดูแล้ว แม้ว่าจะยังมิใช่เป็นพระเสขะ แต่ว่าเป็นผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามบทพระสังฆคุณ หรือปฏิบัติเพื่อบรรลุมรรคผลนิพพานเพื่อทำทุกข์ให้สิ้นไป ดั่งนี้ก็เป็นทายัชบริโภค บริโภคโดยความเป็นทายาทได้ คือพระเสขะดังกล่าวก็ดี สรุปเอาท่านที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ คือบวชมาแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนตั้งใจปฏิบัติในศีลสมาธิปัญญาหรือไตรสิกขาอยู่เพื่อสิ้นทุกข์ตามกำลังสามารถ ก็ชื่อว่าเป็นทายาทของพระพุทธเจ้า เมื่อเป็นทายาทของพระองค์ที่เป็นสมณศากยบุตร เป็นบุตรของพระพุทธเจ้า ก็มีสิทธิที่จะบริโภคใช้สอยสมบัติของบิดาได้

สี่ สามิบริโภค บริโภคโดยความเป็นเจ้าของ ท่านแสดงไว้อย่างสูง ก็คือว่า การบริโภคของพระอรหันตขีณาสพผู้สิ้นอาสวะแล้ว การบริโภคปัจจัยทั้ง ๔ ที่เขานำมาถวายนั้นเป็นการบริโภคอย่างเป็นเจ้าของโดยแท้ เพราะท่านเป็นผู้ที่บริสุทธิ์ด้วยประการทั้งปวง

ท่านแสดงการบริโภคไว้ ๔ ประการดั่งนี้ ก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจของพระเณรทั้งหลายให้มีความสำนึกรู้อยู่ เพื่อจะได้ตั้งใจปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และในขณะที่บริโภคก็ให้พิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ไม่ได้พิจารณาในขณะนั้นก็ให้พิจารณาย้อนหลัง คือพิจารณาถึงสิ่งที่ได้บริโภคไปแล้ว รวมความก็เป็นอย่างเดียวกัน

ศีลทั้ง ๔ ข้อนี้ ปาฏิโมกขสังวรศีล ศีลคือความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ สำเร็จได้ด้วยศรัทธาคือความเชื่อฟัง อินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์ สำเร็จได้ด้วยสติ คือความระลึกรู้ อาชีวปาริสุทธิ สำเร็จได้ด้วยความเพียร ส่วนข้อ ๔ ปัจจยสันนิสิตศีล ศีลที่อาศัยปัจจัยสำเร็จได้ด้วยปัญญาพิจารณา และสำหรับปาฏิโมกขสังวรศีลนั้น หากว่าจะมีการล่วงละเมิด เมื่อแสดงอาบัติ กระทำคืนอาบัติ หรือว่าอยู่กรรม ในเมื่ออาบัติที่ล่วงละเมิดนั้นไม่เป็นอันติมะ ถึงที่สุดแล้ว ก็กลับบริสุทธิ์ได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเทสนาสุทธิ บริสุทธิ์ได้ด้วยการแสดง ต้องอาบัติอะไรก็ไม่ปกปิดเอาไว้ แสดงเสียตามพระวินัยบัญญัติ อินทรียสังวร ความสำรวมอินทรีย์นั้น ก็อาจจะมีความบกพร่องบ้าง แต่แม้เช่นนั้นก็ให้ตั้งสำรวมขึ้นใหม่

เพราะฉะนั้นจึงเป็นศีลที่บริสุทธิ์ได้ด้วยสังวรคือความสังวร เรียกว่าสังวรสุทธิ ส่วนอาชีวปาริสุทธิ การเลี้ยงชีพที่บริสุทธิ์อันเป็นข้อที่ ๓ นั้น บริสุทธิ์ได้ด้วยการแสวงหา คือการแสวงหาที่เป็นเทศนา การแสวงหาที่เป็นไปโดยชอบ ส่วนข้อที่ ๔ ศีลข้อที่อาศัยปัจจัยนั้น บริสุทธิ์ได้ด้วยการพิจารณา เพราะฉะนั้นเมื่อได้ปฏิบัติตามหลักเหล่านี้ เมื่อต้องอาบัติอะไรบ้างก็แสดงเสีย และเมื่อหย่อนสังวรอินทรีย์ไปบ้างก็ให้กลับตั้งสังวร คือตั้งสติสำรวมระวังขึ้นใหม่ และเกี่ยวแก่ปัจจัยทั้ง ๔ ก็ให้แสวงหาในทางที่ชอบ และปัจจัยทั้ง ๔ ก็ให้พิจารณาตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ เมื่อเป็นดั่งนี้ก็จะทำให้การปฏิบัติถูกต้อง เป็นปาริสุทธิศีล คือศีลบริสุทธิ์ทั้ง ๔ ข้อ เมื่อตั้งใจปฏิบัติอยู่ดั่งนี้แล้ว ก็ได้ชื่อว่าทำการบวชให้เป็นบุญเป็นกุศล


๕ สิงหาคม ๒๕๒๖

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 23, 2012, 01:54:19 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มกราคม 11, 2011, 05:59:59 pm »


ครั้งที่ ๔ ลักษณะพุทธศาสนา

จะแสดงลักษณะพุทธศาสนา อันเกิดจากความศึกษาปฏิบัติเพ่งพิจารณา หากจะมีปัญหาถามว่าศึกษาพุทธศาสนาเพื่ออะไร ผู้ตอบก็คงจะได้ตอบต่างๆ กันตามที่แต่ละบุคคลได้ศึกษาปฏิบัติพินิจพิจารณา และการตอบนั้นอาจจะอ้างข้อธรรมข้อใดขอหนึ่งหรือหมวดใดหมวดหนึ่งก็ได้ อาจจะพินิจพิจารณาประมวลความเอาเองก็ได้ ได้มีคำตอบอันหนึ่งซึ่งจะนำมาแสดงในวันนี้ อันเป็นคำตอบของผู้ที่ได้ศึกษาปฏิบัติพินิจพิจารณาพุทธศาสนามาเป็นอย่างดียิ่ง ท่านได้ให้คำตอบไว้ว่า ศึกษาพุทธศาสนาเพื่อความจริง ความดี และความงาม จึงจะได้อธิบายไปตามความสำนึกพิจารณาว่า

๑. สัจจะ - ความจริง

ข้อแรกเพื่อความจริงนั้น ก็เพื่อให้รู้ความจริงตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน เพราะว่าคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่เป็นหลักสูตรแห่งการศึกษานักธรรม หรือธรรมศึกษาก็ดี เป็นคำแสดงเทศน์ต่างๆ บรรยายต่างๆ ก็ดี หรือจะรวมเข้าทั้งหมดเป็นพระวินัยพระสูตรพระอภิธรรมอันเป็นคัมภีร์พระไตรปิฏกทั้งสิ้นก็ดี ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้ ก็ล้วนเป็นความจริงแต่ละข้อที่ควรศึกษาให้มีความรู้ และควรทรงจำควรพิจารณาให้เข้าใจ เพื่อให้เห็นจริงตามที่ทรงสั่งสอนนั้น หรือแม้ว่าจะคิดค้านก็ต้องคิดพินิจพิจารณาแก้ แล้วก็จะพบความจริง

อันธรรมที่แสดงความจริงของทุกๆ ข้อ หากพิจารณาแล้วก็จะเห็นไปโดยลำดับ ว่าไม่มีใครจะแสดงได้จริงเหมือนพระพุทธเจ้าในทางทั้งหลาย เช่นว่าผู้ที่ศึกษาธรรมวิภาคในนวโกวาทตั้งแต่ทุกะหมวด ๒ หมวด ๒ คู่แรก มีธรรมมีอุปการะมาก ๒ อย่าง สติ ความระลึกได้ และสัมปชัญญะ ความรู้ตัว และต่อๆ ไป เมื่อฟังเผินๆ ก็จะไม่รู้สึกซาบซึ้งเท่าไรนัก แต่ถ้าหากว่าพินิจพิจารณาให้รู้จักว่าสติเป็นอย่างไร สัมปชัญญะเป็นอย่างไร มีอุปการะมากอย่างไร

ยิ่งเข้าใจก็จะยิ่งเห็นความจริง และธรรมอื่นๆ ทุกข้อก็เช่นเดียวกัน เมื่อยิ่งศึกษาคือฟังอ่านทรงจำพิจารณาให้เข้าใจ ก็จะยิ่งซาบซึ้ง เพราะจะยิ่งเข้าใจและได้เห็นความจริงในทุกๆ ข้อ อันจะพึงค้านตามเหตุผลมิได้ เพราะฉะนั้นยิ่งศึกษาดังกล่าวก็ยิ่งจะพบความจริงตามเหตุและผล จะพบเหตุและผลตามความจริง ซึ่งล้วนแต่เป็นเหตุผลในด้านชีวิต ในด้านพฤติกรรม คือการปฏิบัติของตนเองของแต่ละคน ตลอดจนถึงความจริงตามเหตุและผลของจิตใจ ของเจตนาของกรรม ที่ประกอบกระทำทางกายวาจาทางใจของตนเอง และในด้านอื่นๆ และเมื่อรวมเข้าโดยเหตุผลในทางกรรม

คือการที่กระทำทางกายทางวาจาทางใจของตนที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้ ว่าทำกรรมดีได้รับผลดี ทำกรรมชั่วได้รับผลชั่ว ซึ่งฟังดูทีแรกก็รู้สึกว่าผิวเผิน ไม่ค่อยจะรู้สึกรับรองเท่าไรนัก หรืออาจจะรู้สึกคัดค้าน แต่หากว่าได้ตั้งใจพินิจพิจารณายิ่งๆ ขึ้นไปแล้ว เมื่อยิ่งเข้าใจก็ยิ่งจะได้พบความจริง ว่าที่ตรัสสอนไว้นั้นเป็นจริงตามเหตุและผล กรรมเป็นเหตุ ผลดีหรือผลชั่วที่ได้รับเป็นผล ตลอดจนถึงความจริงที่เป็นอริยสัจ คือที่มิใช่สามัญสัจจะ ความจริงที่เป็นสามัญทั่วไป แต่เป็นความจริงที่ละเอียดสุขุมยิ่งขึ้นไปกว่านั้น

ซึ่งเป็นความจริงที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ดังแสดงไว้ในปฐมเทศนา ว่าพระองค์ได้ตรัสรู้อริยสัจทั้ง ๔ คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เมื่อได้ยิ่งพินิจพิจารณาให้มีความเข้าใจ ก็ยิ่งจะเห็นความจริง เพราะฉะนั้นประการแรกของผู้ศึกษาพุทธศาสนาจึงเพื่อจะรู้ความจริง เพื่อจะจับความจริงให้ได้ คือเพื่อความจริง ความจริงที่จับได้หรือที่รู้นี้ มิใช่หมายความว่าเป็นเพียงการฟังการอ่านและความจำ แต่หมายความว่าต้องพินิจพิจารณาให้เข้าใจ

เมื่อเข้าใจก็จะเห็นจริง จึงต้องการให้รู้จริงให้เห็นจริงแม้แต่ในข้อใดข้อหนึ่ง อันนี้เป็นหลักกำหนดให้รู้จักลักษณะพุทธศาสนาประการแรกของผู้มุ่งศึกษาพุทธศาสนา จะเป็นพระเก่าพระใหม่ จะเป็นเณรเป็นอุบาสกอุบาสิกาก็ตาม ประการแรกนั้นต้องให้พบความจริง ให้เห็นจริง ให้รู้จริง แม้ในธรรมข้อใดข้อหนึ่ง ซึ่งในข้อนี้ผู้ศึกษาจะต้องทำใจเป็นกลาง คือยังไม่คิดที่จะคัดค้าน ยังไม่คิดที่จะรับ แต่ว่าตั้งใจฟังตั้งใจอ่านตั้งใจที่จะทรงจำ แล้วก็ตั้งใจพิจารณาไปตามเหตุและผล ให้เข้าใจถูกต้อง และเมื่อได้ความเข้าใจถูกต้องแล้วก็จะเห็นจริง จะพบความจริงแม้ในข้อใดข้อหนึ่ง เช่นแม้ในข้อทุกกะหมวด ๒ ที่ยกมานั้น ให้เข้าใจจริงๆ ว่าสติเป็นอย่างไร สัมปชัญญะเป็นอย่างไร อุปการะมากอย่างไร ให้เห็นจริงให้เข้าใจจริงแม้ในข้อใดข้อหนึ่ง ก็จะได้พบลักษณะพุทธศาสนาประการแรก


๒. ความดี

มาถึงข้อที่ ๒ ความดี นี้เป็นข้อสำคัญ ความดีนั้นเป็นคำที่ทุกคนก็ได้ยินกันมาและก็น่าจะมีความเข้าใจพอสมควร อย่างน้อยก็จะต้องเข้าใจว่าความดีนั้นตรงกันข้ามกับความชั่ว และอะไรเป็นความดีอะไรเป็นความชั่วก็ได้ฟังอบรมกันมา ตั้งแต่จากบิดามารดาครูบาอาจารย์ มาจนถึงจากพระพุทธเจ้า คือที่พระเทศน์พระสอนต่างๆ และความดีความชั่วนี้ก็รู้กันอยู่ ว่าเกิดจากความประพฤติของบุคคลทุกๆ คนนี้เอง ความดีก็เกิดจากทำดี ความชั่วก็เกิดจากทำชั่ว

เมื่อทำดีก็ได้ความดี ทำชั่วก็ได้ความชั่ว เพราะฉะนั้นประการต่อมาจากข้อ ๑ คือความจริง จึงมาถึงความดี ที่เมื่อได้ศึกษาให้รู้จักความจริงแล้ว ก็ต้องศึกษาให้รู้จักความดีอันตรงกันข้ามกับความชั่ว ความดีอันตรงกันข้ามกับความชั่วนี้ก็สืบเนื่องมาจากความจริงข้อแรกนั้นแหละ เพราะเป็นข้อที่พุทธศาสนาได้สอนไว้ทั้งนั้น ว่าอะไรเป็นความดีอะไรเป็นความชั่ว เพราะฉะนั้นเมื่อได้ศึกษาให้รู้จักความจริง กล่าวจำเพาะที่สัมพันธ์กับความดีความชั่ว ก็คือความจริงของความดีและความจริงของความชั่ว พูดสั้นๆ ก็คือให้รู้จักว่าอะไรเป็นความดีจริงอะไรเป็นความชั่วจริง เพราะฉะนั้นจึงมาถึงว่าจะต้องปฏิบัติละความชั่ว กระทำความดีต้องทำความเข้าใจในความดี ว่าคือคุณที่เกื้อกูลตนเองและผู้อื่นให้เป็นสุขต่างๆ

ให้ได้รับสุขประโยชน์ต่างๆ ความชั่วก็คือโทษที่ทำให้ตนเองและผู้อื่นได้รับทุกข์โทษต่างๆ ความชั่วเป็นข้อที่ควรละ ความดีเป็นข้อที่ควรกระทำ เพราะฉะนั้นจึงต้องปฏิบัติละชั่วทำดี จับความดีให้ได้ แต่การจับความดีให้ได้นี้ต้องหมายถึงว่าทำดี อันที่จริงละชั่วก็นับว่าเป็นดีอย่างหนึ่งแต่ว่าจะต้องทำดีที่เป็นคุณเกื้อกูลยิ่งขึ้นไปอีก ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นว่า การฆ่า การทำร้ายร่างกาย การเบียดเบียนเขาให้เป็นทุกข์เดือดร้อน เบียดเบียนชีวิต เบียดเบียนร่างกาย นั่นเป็นชั่ว ก็ละชั่ว คือแปลว่าเว้นจากการที่จะเบียดเบียนทำร้ายชีวิตร่างกายของใคร เมตตาความมีจิตปรารถนาให้เป็นสุข และความประพฤติที่เกื้อกูลอนุเคราะห์ต่างๆ แก่เขา

คือแก่บุคคลและสัตว์นั้นๆ เพื่อให้ดำรงชีวิตร่างกายอยู่อย่างเป็นสุข เป็นความดี เพราะฉะนั้นจึงต้องศึกษาให้รู้จักความดีอันตรงกันข้ามกับความชั่ว สืบเนื่องมาจากความจริง คือตั้งต้นจากศึกษาว่าอะไรดีจริงอะไรชั่วจริง แล้วก็ตั้งใจละชั่วทำดีจริง ต้องจับเอาความดีให้ได้ ในวันหนึ่งๆ ก็ต้องพิจารณาตัวเอง ว่าเราได้ละความชั่วทำความดีอะไรบ้าง หรือแม้ว่าได้ทำความชั่วอะไรบ้างทำความดีอะไรบ้างก็ให้รู้ แล้วก็ตั้งใจละไม่ทำความชั่วอีกต่อไป ฝึกตัวอยู่เสมอดั่งนี้ หัดให้ละชั่วทำดีอยู่เสมอ ให้รู้จักความดี ให้รู้จักความชั่ว ให้รู้จักละชั่ว ให้รู้จักทำดีในด้านต่างๆ ทั้งทางกายทั้งทางวาจาทั้งทางใจ นี้เป็นข้อที่ ๒ คือความดี


๓. ความงาม

จึงมาถึงข้อที่ ๓ คือความงาม อันความงามนี้เป็นข้อที่ละเอียดอ่อนสักหน่อยหนึ่ง แต่ว่าถ้าทำความเข้าใจให้ดีแล้ว จะเห็นว่าเป็นข้อสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าข้อความจริง และข้อความดี อันสิ่งที่งามซึ่งเป็นวัตถุย่อมเป็นที่พอใจของชาวโลกทั้งหลายของคนทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจึงพอใจที่จะตกแต่งร่างกายกันให้สวยงาม พอใจที่จะหาเครื่องประดับที่สวยงามมีค่ามาตกแต่ง บ้านเมืองก็ต้องการที่จะปลูกสร้างกันให้สวยงามเรียบร้อย และอันความสวยงามหรือเรียกสั้นๆ ว่าความงามนี้ก็มิใช่หมายถึงเครื่องตกแต่งมีค่าเท่านั้น แต่ย่อมหมายความถึงความเป็นระเบียบเรียบร้อยต่างๆ รวมอยู่ด้วย

เช่นการจะตั้งวางสิ่งของในห้องในหับก็ตั้งวางให้เป็นระเบียบเรียบร้อย การที่จะนุ่งจะห่มก็ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย การที่จะลุกนอนก็ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย วาจาที่พูดก็ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย เหล่านี้เป็นความงามทั้งนั้น แม้สิ่งที่เรียกว่าศิลปะ วิธีที่จะทำให้เป็นระเบียบเรียบร้อยเรียกว่าเป็นความงามอย่างหนึ่งนั้นก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ดังเช่นพระพุทธเจ้าได้ตรัสสั่งพระอานนท์ให้ทำแบบอย่างจีวรสำหรับพระห่ม โดยที่เดิมนั้นพระองค์ได้ทรงบัญญัติให้ตัดผ้าเป็นชิ้นๆ มาเย็บต่อกันเข้า คล้ายผ้าผืนเดียว ถ้าใช้ผ้าผืนเดียวมักจะถูกขโมย

เพราะว่าเขามักจะขโมยไปตัดเป็นเสื้อผ้าสำหรับสวมของเขาได้ หรือเอาไปนุ่งห่มได้ทั้งที่เป็นผืนอย่างนั้น เปลี่ยนสีเสียใหม่ หรือซักสีที่เป็นผ้ากาสายะหรือกาสาวะผ้าย้อมน้ำฝาดออกเสีย เพราะฉะนั้นจึงได้โปรดให้ใช้ผ้าตัดเป็นชิ้นๆ เอามาเย็บต่อกันเข้าเพื่อกันขโมย
ถ้าขโมยเอาไปก็เอาไปใช้นุ่งห่มไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องการให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อย ท่านพระอานนท์จึงได้คิดแบบจีวรขึ้นแบบคันนาของชาวมคธ ซึ่งเมื่อเขาทำนาเขาทำเป็นคันนา เป็นกระทงเล็กเป็นกระทงใหญ่ จึงมาออกแบบตัดเป็นแบบจีวรเป็นกระทงๆ เป็นกระทงเล็กกระทงใหญ่อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย มิได้นำเอามาตัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วเอามาเย็บต่อกันเข้าอย่างไม่มีระเบียบ แต่ว่าทำอย่างมีระเบียบก็ดูเป็นของงาม คืองามด้วยความมีระเบียบเรียบร้อย พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรรเสริญพระอานนท์ ว่าเป็นผู้ที่มีศิลปะ ดั่งนี้ก็เป็นความงาม

แม้ที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยขึ้นนั้นก็เป็นความงามเหมือนกัน เพราะเมื่อภิกษุผู้อยู่รวมกันเป็นหมู่ได้มีความประพฤติปฏิบัติเรียบร้อยอยู่ในระเบียบอันเดียวกัน และเป็นระเบียบที่ดี ก็ดูเป็นหมู่ที่เรียบร้อยงดงามน่าเลื่อมใส นี่ก็เป็นความงาม เพราะฉะนั้นคำว่า ความงามนั้นจึงกินความกว้าง มิได้หมายถึงตกแต่งให้สวยสดงดงามดั่งแต่งร่างกายด้วยเสื้อผ้าด้วยเครื่องประดับอันมีค่าต่างๆ ที่สวยงาม บางทีเราก็เรียกกันนั่นเป็นความสวย แต่ความงามนั้นมีความลึกซึ้งกว่า และแม้ในทางพุทธศาสนาก็ต้องทำความงาม

เพราะฉะนั้นในข้อว่าความงามนี้ จึงมีความหมายถึงว่าความนิยมชมชอบ หรือว่าเป็นสิ่งหรือเป็นข้อที่พึงนิยมชมชอบ พึงพอใจชอบใจ พึงเลื่อมใส และก็มีความหมายสืบเนื่องมาจากความดี ก็คือนิยมชมชอบในความดี เห็นความดีว่าเป็นของงามทำให้เป็นสุข ใจเห็นว่างามนิยมชมชอบ เพราะฉะนั้นจึงได้มีพุทธศาสนสุภาษิตที่แสดงว่า ศีลเป็นอาภรณ์ที่ประเสริฐสุด ผู้ที่ได้เห็นงามในศีล ว่าศีลเหมือนอย่างเป็นอาภรณ์เครื่องประดับอันประเสริฐสุด ชื่อว่าเป็นผู้ที่เข้าถึงศีลจริงๆ ทำให้พอใจที่จะปฏิบัติอยู่ในศีลเป็นประจำขาดไม่ได้ และมีความสุขที่จะอยู่กับศีล อันนี้สำคัญ คนโดยมากนั้นรู้จักความดีกันอยู่ รู้จักความชั่วกันอยู่ แต่ว่าไม่เห็นงามในความดี แต่ไปเห็นงามในความชั่ว จึงละชั่วทำดีไม่ได้ถนัด ต่อเมื่อเห็นสกปรกในความชั่ว และเห็นงามในความดี จึงจะทำให้ปฏิบัติความดีกันยิ่งขึ้น พอใจที่จะอยู่กับความดี อันนี้สำคัญ

เพราะฉะนั้นต้องเข้าให้ถึงความงามของพุทธศาสนา คือข้อที่ ๓ นี้ จึงจะน้อมใจให้ละชั่วทำดีเห็นงามในความดี และปฏิบัติในความดี เพราะฉะนั้นจึงได้มีหมวดธรรมอันส่องให้เห็นความงามในพุทธศาสนาอยู่มาก ตั้งต้นแต่พระรัตนตรัย รัตนะก็คือแก้วรัตนะ เป็นสิ่งที่งดงามเป็นสิ่งที่มีค่ามาก เพราะฉะนั้นพูดกันเรื่อยๆ ว่าพระไตรรัตน์หรือพระรัตนตรัย แต่ว่าใจไม่ถึงฟังดูก็เผินๆ แต่ถ้าใจถึงแล้ว ก็จะเห็นพระพุทธเจ้างาม พระธรรมงาม พระสงฆ์งาม อันแสดงถึงความมีศรัทธา ความเชื่อ ปสาทะ ความเลื่อมใส ตลอดถึงปัญญาในพระพุทธคุณพระธรรมคุณพระสังฆคุณที่ซาบซึ้ง จนถึงนิยมชมชอบอย่างสูง ยกย่องขึ้นเป็นของสุดงาม คือเป็นรัตนะอันเป็นของมีค่ายิ่ง

ในทุกะหมวด ๒ ก็มีธรรมที่ทำให้งาม ๒ อย่าง ขันติ โสรัจจะ ต้องเห็นว่าขันติงาม โสรัจจะงาม จึงจะน้อมใจปฏิบัติในขันติโสรัจจะ และจะทำให้ทิ้งขันติทิ้งโสรัจจะไม่ได้ ปล่อยตัวเองไปกระโดดโลดเต้นด้วยอำนาจของโลภะโทสะโมหะไม่ได้ ไม่งาม ต้องอดทนเอาไว้ สงบเสงี่ยมเอาไว้ เพราะนี่งามกว่า เพราะเป็นสิ่งที่งามจริงๆ ธรรมที่สูงกว่านั้นก็เช่นว่าโพชฌงค์ ๗ ก็มียกย่องเรียกเป็นรัตนะทั้ง ๗ เหมือนกัน สติสัมโพชฌังครัตนะ เป็นต้น ก็แปลว่าจิตใจถึงงาม หรือเช่นที่สวดสรรเสริญว่า พระธรรมงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ใจต้องถึงพระธรรม เมื่อใจถึงพระธรรมจะไม่เบื่อที่จะฟังธรรม ไม่เบื่อที่จะปฏิบัติธรรม ธรรมจะเป็นสิ่งที่งดงามที่ไพเราะ อยากที่จะฟังอยากที่จะอ่าน ได้ฟังธรรมได้อ่านธรรมแล้วมีความเพลิดเพลินมีความสุข นี่แปลว่าใจถึงเห็นงามในพระธรรม งามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด และพอใจที่จะปฏิบัติธรรมเห็นงามในการปฏิบัติธรรม

เพราะฉะนั้นต้องศึกษาให้รู้จักความจริง รู้จักความดี รู้จักความงามอันเป็นข้อที่ ๓ จึงจะถึงพุทธศาสนาดังที่กล่าวมาโดยย่อ




« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 16, 2011, 08:28:49 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: มกราคม 11, 2011, 06:41:57 pm »



ครั้งที่ ๕ ลักษณะพุทธศาสนา ()

จะแสดงลักษณะพุทธศาสนา พุทธศาสนานั้นเป็นศาสนาที่บังเกิดขึ้นเมื่อ ๒๕๐๐ ปีเศษ และก็ได้บังเกิดขึ้นหลังจากที่ได้มีศาสนาอื่นๆ สั่งสอนมาแล้ว เช่นศาสนาพราหมณ์ ซึ่งบัดนี้มักจะเรียกกันว่าฮินดู และหลังจากพุทธศาสนาบังเกิดขึ้น ก็ได้มีศาสนาต่างๆ บังเกิดตามขึ้นในภายหลังอีกหลายศาสนา เช่นศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และยังมีลัทธิคำสอนต่างๆ ของบุคคลซึ่งเป็นที่นับถือกัน ในเมืองจีนก็เช่นขงจื้อเป็นต้น และในประเทศอื่นก็ยังมีอีก ซึ่งไม่ถึงกับเป็นศาสนา เพราะฉะนั้นจึงมีคำสั่งสอนของศาสนาต่างๆ ในโลก ซึ่งมักจะแตกต่างกัน

แม้ว่าในด้านสอนให้ทำดีทำชั่วทั่วๆ ไป คือสอนให้รู้จักความดีความชั่ว รู้จักการทำดีทำชั่ว ทั่วไปคือให้ละชั่วทำดี อะไรเป็นดีอะไรเป็นชั่ว ก็ยังมีแสดงต่างๆ กัน และนอกจากนี้ก็ยังมีแสดงถึงอดีตถึงอนาคตและปัจจุบันต่างๆ อันอีก เมื่อมาพิจารณาดูในแง่ของสัจจะคือความจริง เมื่อเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ว่าแสดงถึงสิ่งนั้นๆ ต่างกัน ก็น่าจะคิดว่าความจริงเป็นอย่างไร เพราะว่าความจริงนั้นถ้าเป็นสิ่งเดียว ก็ควรจะเป็นความจริงแต่เพียงสิ่งเดียว คือมีความจริงเพียงอย่างเดียวในสิ่งนั้น ฉะนั้นจึงจะต้องมีแสดงผิดแสดงถูก ใครจะแสดงผิดใครจะแสดงถูก เมื่อเป็นเรื่องอดีตเป็นเรื่องอนาคต

ก็เป็นเรื่องที่เมื่อต่างมีความเชื่อถือกันหลายฝ่าย การจะกล่าวหักล้างกันลงไปว่าใครผิดใครถูก แม้ว่าจะมีใครรู้จริงและกล่าวได้ก็ตาม ก็ย่อมเป็นที่ตั้งแห่งความทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน แม้ที่เป็นปัจจุบันเองที่แสดงต่างกันก็เช่นเดียวกัน แต่ว่าที่เป็นปัจจุบันนั้น ทุกคนสามารถที่จะรู้ได้ถ้าสิ่งนั้นอยู่ในวิสัยของปัญญาที่จะถึงรู้ได้ ถ้าเป็นปัจจุบันที่พ้นวิสัยของปัญญาที่จะพึงรู้ได้ ผู้ที่อ่อนปัญญานั้นก็จะรู้ไม่ได้ ฉะนั้นจึงควรจะทราบถึงลักษณะของพุทธศาสนาว่าแสดงอย่างไรในท่ามกลางของสิ่งที่เป็นปัญหาเหล่านี้

ไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาโลกแตก
เพราะฉะนั้นจึงได้มีปัญหาอยู่ ๒ อย่าง อย่างหนึ่งคือปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ คือไม่ตรัสตอบแก้ อีกอย่างหนึ่งคือปัญหาที่พระพุทธเจ้าทรงพยากรณ์ คือตรัสตอบแก้ ปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์นั้น คือเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันในครั้งพุทธกาลที่มีอยู่ ๑๐ ข้อ ที่มักจะยกขึ้นอ้างถึงในพระสูตรทั้งหลาย ปัญหา ๑๐ ข้อเหล่านี้คือ โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ชีวะก็อันนั้น สรีระก็อันนั้น ชีวะเป็นอย่างอื่น สรีระเป็นอย่างอื่น ถัดจากตายไปตถาคตมีอยู่ ถัดจากตายไปตถาคตไม่มี ถัดจากตายไปตถาคตมีด้วยไม่มีด้วย ถัดจากตายไปตถาคตมีก็ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่ ปัญหาเหล่านี้ได้มีผู้มากราบทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ตรัสพยากรณ์

คือไม่ตรัสตอบแก้ในปัญหาที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ทั้ง ๑๐ ประการนี้ พิจารณาดูความก็จะเห็นได้ ว่าเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับโลก โลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด คือโลกนี้ยั่งยืนอยู่ตลอดไปหรือไม่ยั่งยืนอยู่ตลอดไป มีที่สุดหรือไม่มีที่สุด ก็สืบมาจากยั่งยืนหรือไม่ยั่งยืนดังกล่าวนั้น ซึ่งได้มีอาจารย์หรือมีศาสดาแสดงไว้ต่างๆ กัน ดั่งในศาสนาที่บังเกิดขึ้นภายหลังพุทธกาลก็ดี ก่อนพุทธกาลก็ดี ได้มีแสดงถึงผู้สร้างโลก พราหมณ์หรือฮินดูก็มีแสดงถึงผู้สร้างโลก ศาสนาที่มีในภายหลังก็มีแสดงถึงผู้สร้างโลก ก็เป็นปัญหาเค้าเดียวกัน เรื่องชีวะกับเรื่องสรีระก็เหมือนกัน ชีวะนั้นก็คือความเป็นอยู่หรือตัวชีวิต สรีระนั้นก็คือร่างกาย ตัวชีวะหรือชีวิตหรือตัวร่างกายนั้นเป็นอันเดียวกันหรือว่าแยกกันอย่างไร ถ้าหากชีวะหรือสรีระเป็นอย่างเดียวกัน สรีระแตกสลายคือตาย ชีวะก็จะต้องดับ ถ้าหากว่าแยกกัน สรีระแตกสลาย ชีวะก็อาจจะไม่ดับ และชีวะหรือชีวิตนี้ก็รวมถึงอัตตาหรืออัตมัน อันเป็นปัญหาที่เกี่ยวพันไปถึงตายเกิดตายสูญ

คราวนี้มาถึงปัญหาของตถาคต ตถาคตนั้นที่ใช้ทั่วไปก็หมายถึงพระพุทธเจ้าเอง ซึ่งตรัสเรียกพระองค์เองว่าตถาคต ถ้าหมายถึงองค์พระพุทธเจ้าเองก็มีปัญหา ว่าถัดจากที่ตายไปคือดับขันธ์องค์ตถาคตมีหรือไม่มี หรือทั้งมีทั้งไม่มี หรือว่ามีก็ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่ อีกอย่างหนึ่งตถาคตพระอาจารย์แสดงว่าหมายถึงสัตว์ ดังที่เราเรียกว่าสัตวโลกหรือหมู่สัตว์ และคำว่าสัตว์นี้ก็มิได้หมายความว่าสัตว์เดียรัจฉานดังที่เราเรียกกันเท่านั้น แต่ว่าครอบหมดทั้งมนุษย์ทั้งเดียรัจฉานทั้งเทพดามารพรหมทั้งหมด หรือแม้ว่าสัตว์นรกเปรตอสุรกายทั้งหมด

ซึ่งยังมีความติดพันเกี่ยวข้องอยู่กับโลกก็ชื่อว่าสัตว์ทั้งหมด สิ่งที่เรียกว่าสัตว์นี้ถัดจากตายไปจะมีหรือไม่มี หรือว่าทั้งมีทั้งไม่มี หรือว่ามีก็ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่ ก็เป็นปัญหาที่พูดถกเถียงกัน ได้มีผู้มากราบทูลถามถึงปัญหาเหล่านี้ พระองค์ไม่ตรัสพยากรณ์ และก็ได้มีภิกษุรูปหนึ่งชื่อว่ามาลุงกยะได้คิดว่า ข้อที่พระพุทธเจ้าไม่ตรัสพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ตนเองไม่พอใจ ฉะนั้นก็คิดจะเข้าไปเฝ้ากราบทูลถามและคิดว่าถ้าตรัสพยากรณ์ตนก็จะบวชอยู่ต่อไป ถ้าไม่ตรัสพยากรณ์ก็จะลาสิกขา ท่านมาลุงกยะจึงได้เข้าไปเฝ้าและได้กราบทูลถามปัญหาเหล่านี้ และก็ได้กราบทูลว่า ขอให้พระองค์ตรัสตอบ ถ้าทรงทราบก็ให้ตรัสตอบแก้ ถ้าไม่ทรงทราบก็ให้ตรัสบอกตรงๆ ว่าไม่ทรงรู้ ไม่ทรงเห็น ถ้าไม่ตรัสตอบแก้อย่างใดอย่างหนึ่งก็จะลาสิกขาคือสึกไป

พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า พระองค์มิได้ทรงชักชวนให้ท่านมาลุงกยะเข้ามาบวช ว่าถ้าเข้ามาบวชแล้วจะตรัสพยากรณ์ปัญหาเหล่านี้ และเมื่อท่านมาลุงกยะเข้ามาบวช ท่านมาลุงกยะเองก็มิได้ขอให้พระองค์ทรงรับรองว่าจะตรัสแก้ปัญหาเหล่านี้ ตนจึงจะบวช เพราะฉะนั้นใครเล่าที่เป็นผู้ขอร้องและเป็นผู้รับรองในเรื่องนี้ และจะไปทวงเอาเรื่องนี้จากใครเล่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสต่อไป ว่าปัญหาที่พระองค์ไม่ทรงพยากรณ์เหล่านี้ ก็เป็นปัญหาที่ไม่พึงทรงพยากรณ์นั่นเอง ผู้ที่จะคิดคาดคั้นให้พระองค์ทรงพยากรณ์ก็จะตายเปล่า ไม่เป็นประโยชน์อะไร

ทรงพยากรณ์เรื่องทุกข์และการแก้ทุกข์
ต่อจากนั้นพระองค์ก็ตรัสต่อไป โดยตรัสแสดงถึงปัญหาที่จะทรงพยากรณ์แก้ไข โดยความก็คือเรื่องทุกข์และเรื่องแก้ทุกข์เป็นต้น ซึ่งเป็นไปอยู่ในปัจจุบัน อันเป็นปัญหาที่จะพึงแก้ไขในปัจจุบัน โดยตรัสยกเป็นข้ออุปมาขึ้นก่อน ว่าเหมือนอย่างว่ามีบุรุษถูกยิงด้วยลูกศรที่มีพิษร้ายญาติมิตรได้นำบุรุษที่ถูกยิงนั้นไปหาหมอผ่าตัด ถ้าหากว่าหมอผ่าตัดนั้นจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักยังไม่ผ่าตัดนำลูกศรนี้ออกเยียวยารักษา จนกว่าเราจะรู้ว่าบุรุษนั้นถูกใครยิง คนยิงนั้นเป็นใคร คนยิงนั้นชื่ออะไร โคตรสกุลอะไร คนยิงนั้นเป็นคนสูง เป็นคนต่ำ หรือเป็นคนท่ามกลาง คนยิงนั้นมีผิวดำหรือผิวคล้ำหรือผิวสองสี และคนยิงนั้นอยู่ที่ไหน บ้านไหน นิคมไหน นครไหน และลูกศรที่ยิงนั้นเล่าเป็นแบบลูกศรมีแล่งหรือเป็นแบบเกาทัณฑ์ สายที่ใช้ยิงเป็นสายที่ทำด้วยอะไร เหล่านี้เป็นต้น

 ถ้าหากว่าหมอผ่าตัดนั้นจะพึงกล่าวดั่งนี้ ให้สอบสวนค้นคว้าไปถึงเรื่องคนยิงถึงเรื่องลูกศรเป็นต้นดังกล่าวนั้น บุรุษผู้ถูกยิงด้วยลูกศรนั้นก็จะพึงตายเสียก่อนที่จะรักษา เพราะฉะนั้นพระองค์จึงไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาที่ไม่พึงพยากรณ์เหล่านี้ แต่ว่าพระองค์จะตรัสพยากรณ์ปัญหาที่พึงพยากรณ์อันจะเป็นปัญหาที่แก้ทุกข์ถอนทุกข์ทั้งปวงได้ในปัจจุบัน คือชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์ ทุกข์คือโศกะ ความแห้งใจ ปริเทวะ ความคร่ำครวญรัญจวนใจ ความไม่สบายกายไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ และในปัญหาที่ไม่ทรงพยากรณ์เหล่านั้น แม้ว่าใครจะมีความเห็นอย่างไรในปัญหาเหล่านั้น คือใครจะมีความเห็นว่าโลกเที่ยงก็ตาม โลกไม่เที่ยงก็ตาม ก็คงมีชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์ โสกะ ปริเทวะ ดังกล่าวนั้นอยู่นั่นเอง จะมีความเห็นอย่างไรก็ถอนทุกข์เหล่านี้ไม่ได้ พระองค์จึงต้องการที่จะแก้ปัญหาที่จะถอนทุกข์เหล่านี้ได้ในปัจจุบันนี่แหละ

ฉะนั้นปัญหาที่ไม่ทรงพยากรณ์เหล่านั้นจึงเป็นปัญหาที่ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ ไม่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อความหน่ายความสิ้นติดใจยินดี เพื่อความดับทุกข์ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้พร้อม เพื่อนิพพานคือความดับ แต่ว่าปัญหาที่ทรงพยากรณ์อันจะเป็นเครื่องแก้ทุกข์ในปัจจุบันนั้น ย่อมเป็นการแก้ที่ประกอบด้วยประโยชน์ที่เป็นเบื้องต้นของพรหมจรรย์ ที่เป็นไปเพื่อความหน่าย เป็นไปเพื่อความสิ้นติดใจยินดี เพื่อความดับ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความรู้พร้อม เพื่อนิพพานคือความดับ ปัญหาที่ทรงพยากรณ์นั้นก็คือปัญหาที่ทรงพยากรณ์ว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์ นี้ทุกขนิโรธ ความดับทุกข์ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ดั่งนี้

ทรงแสดงปัจจุบันธรรม
ท่านมาลุงกยะได้ฟังพระพุทธภาษิต ก็มีความอภินันท์ยินดีในภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็เป็นอันว่าท่านก็พอใจในพระพุทธภาษิตที่ตรัสนี้ เพราะฉะนั้นพระสูตรนี้จึงเป็นพระสูตรที่แสดงลักษณะของพุทธศาสนา ว่าพุทธศาสนานั้นไม่แสดงถึงเรื่องต่างๆ อันเป็นปัญหาที่ไม่ตรัสพยากรณ์ และปัญหาที่ไม่ตรัสพยากรณ์นี้ก็กล่าวได้ว่าเป็นปัญหาโลกแตก ถึงจะตรัสพยากรณ์ไปก็ไม่มีใครที่จะไปตามรู้ได้ เช่นปัญหาว่าโลกเที่ยง โลกไม่เที่ยง โลกมีที่สุด โลกไม่มีที่สุด ถึงแม้จะตรัสพยากรณ์ว่าอย่างไร ดังที่มีศาสดาหรือศาสนาก่อนพุทธศาสนาก็ตาม หลังก็ตาม ได้กล่าวเอาไว้ถึงเรื่องสร้างโลกต่างๆ ก็ไม่มีใครที่จะตามไปรู้ได้ ได้อย่างเดียวคือเชื่อหรือไม่เชื่อเท่านั้น และก็เป็นความเชื่อที่ไม่ประกอบด้วยปัญญาคือความรู้

เชื่ออย่างเดียวจะเรียกว่าเชื่ออย่างหลับตาเชื่อก็ได้เพราะไม่รู้ เชื่อด้วยศรัทธาในศาสดาผู้แสดงนั้นอย่างเดียวเท่านั้น หรือไม่เช่นนั้นก็ไม่เชื่อเอาทีเดียว เพราะว่าไม่สามารถจะตามไปรู้ได้ และแม้ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อก็ตาม ก็ไม่อาจจะแก้ทุกข์อะไรได้ที่เป็นปัจจุบันดังกล่าว ก็คงยังมีความทุกข์อยู่นั่นเอง แก้อะไรไม่ได้ และหากทรงแสดงไปก็อาจจะเป็นที่ตั้งแห่งความวิวาทขัดแย้งแก่บรรดาผู้แสดงอื่นๆ ที่ต่างก็แสดงกันไปต่างๆ และก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร ยิ่งเพิ่มความทุกข์เข้าไปอีกเพราะความวิวาทขัดแย้งนั้น เพราะฉะนั้นพระองค์จึงได้ตัดประเด็นเสียทีเดียว

คือไม่แสดงไม่แก้ไขการที่ไม่แสดงนั้นก็มีความหมายว่าไม่เข้าไปพาดพิงเกี่ยวข้องถึงทั้งในด้านรับรองทั้งในด้านปฏิเสธแปลว่านอกเรื่องที่จะยกขึ้นมาวินิจฉัยว่าอย่างไร เพราะว่าในปัจจุบันนี้ทุกๆ คนต่างก็เพียบกันด้วยความทุกข์ต่างๆ อยู่แล้ว มีชาติทุกข์ ชราทุกข์ มรณทุกข์ มีโสกะ ความโศก ปริเทวะ ความคร่ำครวญรำพันรัญจวนใจ ทุกขะ ความไม่สบายกาย โทมนัสสะ ความไม่สบายใจ อุปายาส ความคับแค้นใจ ความประจวบกับสัตว์และสังขารที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสัตว์และสังขารที่เป็นที่รัก ความปรารถนาไม่สมหวัง และกล่าวโดยย่อขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการเป็นทุกข์ ดังที่เราสวดกันอยู่ ต่างก็มีทุกข์กันอยู่เต็มแปร้แล้วในปัจจุบัน จึงเหมือนอย่างว่าทุกคนเป็นบุรุษถูกยิงด้วยลูกศร ถูกลูกศรเสียบใจกันอยู่เสียบกายกันอยู่

เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าซึ่งเปรียบเหมือนอย่างหมอที่ผ่าตัดลูกศร พระองค์ก็มีหน้าที่ที่จะผ่าตัดเอาลูกศรออกโดยเร็ว เพื่อให้ดับทุกข์อันเกิดจากลูกศรเสียบแทงนั้นได้ ไม่จำเป็นจะต้องเสียเวลาไปสอบค้นว่าใครยิง คนยิงชื่ออะไรเป็นต้น หรือว่าลูกศรที่ยิงนั้นทำด้วยอะไร สายธนูนั้นทำด้วยอะไร เหล่านี้เป็นต้น เป็นการเสียเวลาและไม่เกิดประโยชน์อะไร หน้าที่ของพระองค์ก็คือผ่าตัดเอาลูกศรออก เพราะฉะนั้นจึงได้ทรงแสดงธรรมเป็นการผ่าตัดลูกศร ชี้ให้เห็นทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ คำสั่งสอนที่ทรงพยากรณ์นี้ก็คืออริยสัจจ์ทั้ง ๔ ซึ่งเป็นปัจจุบันธรรม ธรรมที่เป็นปัจจุบัน


๙ สิงหาคม ๒๕๒๖

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 19, 2016, 01:21:24 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ แก้วจ๋าหน้าร้อน

  • สิ่งใดคือธรรมะ สิ่งนั้นย่อมดีแล้วสูงสุด
  • ทีมงานกวาดลานดิน
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 6503
  • พลังกัลยาณมิตร 1741
  • ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครอง
    • kaewjanaron
    • facehot
    • ดูรายละเอียด
    • ใต้ร่มธรรม
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #5 เมื่อ: มกราคม 12, 2011, 12:02:38 am »
 :13: อนุโมทนาครับพี่แป๋ม ขอบคุณครับ
การโพสภาพโดยใช้เว็บฝากไฟล์ภาพ imageshack.us/ (เว็บกบ)
การปรับแต่งห้องสมาชิกไร้ขีดจำกัด Ultimate Profile + ห้องเพลงส่วนตัว
การตั้งกระทู้และการโพสกระทู้ในเว็บใต้ร่มธรรมครับ
การแก้ไข้ข้อมูล ชื่อ ระหัส ส่วนตัวของสมาชิกใต้ร่มธรรมครับ
การใส่รูปประจำตัวเรา Avatar รวมทั้งลายเซ็นต์ ในกระทู้หรือโพสของเราครับ
เพิ่มไอคอน ทวิสเตอร์ เฟชบุ๊ค ยูทูบ ในโปรโปรไฟล์ของเรา
การสร้างอัลบั้มภาพส่วนตัวในห้องสมาชิก Profile Pictures
การเพิ่มเพื่อน กัลยาณมิตรใต้ร่มธรรม ในห้องสมาชิกส่วนตัว
การดูกระทู้ทั้งหมดที่เรายังไม่ได้อ่านครับ
โค้ดสี bb color code ไว้สำหรับโพสกระทู้ครับ
*วิธีเคลียร์แคชในทุกเว็บเบราว์เซอร์ครับ เมื่อคอมอืด*

ห้องประชุมของทีมงาน
~ธรรมะอวยพรความดีคุ้มครองครับ~

ออฟไลน์ สายลมที่หวังดี

  • ทีมงานกัลยาณมิตร
  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • *
  • กระทู้: 840
  • พลังกัลยาณมิตร 319
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #6 เมื่อ: มกราคม 13, 2011, 08:59:21 pm »
 :45: อนุโมทนา ขอบคุณค่ะพี่แป๋ม :19:

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #7 เมื่อ: มกราคม 16, 2011, 06:58:13 am »

           

ครั้งที่ ๖ ลักษณะพุทธศาสนา - อริยสัจ

ว่าถึงอริยสัจ ๔ ก็มีข้อที่จะพึงพูดต่อไป แต่เพื่อให้มีความอนุสนธิ คือว่าต่อเนื่องกันจึงจะได้ทบทวนข้อที่พูดมาแล้วสักเล็กน้อยว่า พระพุทธเจ้าไม่ทรงพยากรณ์ปัญหาที่ไม่ควรหรือไม่พึงพยากรณ์ ทรงพยากรณ์แต่ปัญหาที่ควรพยากรณ์ คำว่าพยากรณ์นั้น เดี๋ยวนี้ภาษาไทยก็นำมาใช้เหมือนกัน เช่นหมอดูพยากรณ์ว่าอย่างนั้นว่าอย่างนี้ แต่ที่นำมาใช้สำหรับพระพุทธเจ้าในที่นี้ไม่ใช่หมายความว่าพระพุทธเจ้าเป็นหมอดู แต่พยากรณ์ของพระพุทธเจ้านั้นหมายความว่าทรงกระทำให้แจ้ง

ถ้าเป็นปัญหามาก็ทรงตอบปัญหานั้นให้แจ้งชัด และก็ทรงตอบให้แจ้งชัดด้วยพระญาณที่หยั่งรู้ ไม่ใช่ด้วยตำรา อย่างหมอดูที่พยากรณ์นั้นก็พยากรณ์ด้วยตำราพยากรณ์ แต่อันที่จริงหมอดูก็ไม่มีญาณหยั่งรู้เหมือนกัน วินิจฉัยและก็ว่าไปตามตำราพยากรณ์และที่หมอดูวินิจฉัย แต่พระพุทธเจ้านั้นทรงพยากรณ์คือกระทำให้แจ้ง ทรงตอบให้แจ่มแจ้งชัดเจน ทรงแสดงให้แจ่มแจ้งชัดเจนด้วยพระญาณคือความหยั่งรู้ อันที่จริงคำว่าพยากรณ์นั้น ก็ได้มีใช้มาในพุทธศาสนา ดังที่ได้แสดงถึงเรื่องนี้ และข้อที่พยากรณ์นั้นที่ท่านแสดงไว้ในพระสูตรเกี่ยวกับท่านมาลุงกยะนี้ ก็แสดงไว้ว่า ทรงพยากรณ์คือกระทำให้แจ่มแจ้ง ตอบให้แจ่มแจ้ง แสดงให้แจ่มแจ้งในข้อว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ในพระสูตรนี้ไม่ได้ใช้คำว่า อริยสัจ หรืออริยสัจจะ แต่ว่าโดยปกตินั้น เมื่อเป็นหมวดธรรม ๔ ข้อนี้ ก็มักจะพูดว่าอริยสัจกันทีเดียว แต่สำหรับที่แสดงในพระสูตรนั้น บางแห่งท่านก็ใช้คำว่าอริยสัจ บางแห่งท่านก็ไม่ได้ใช้คำนี้

ปัญหาของสัตวโลก

คราวนี้มาพิจารณาดูว่า ทั้ง ๔ ข้อนี้มาเกี่ยวกับอุปมาว่าพระพุทธเจ้าเป็นเหมือนดังหมอผ่าตัดอย่างไร ซึ่งตามอุปมานั้นคนไข้ที่ญาติมิตรนำไปหาหมอผ่าตัดเป็นคนไข้ที่ถูกลูกศรยิงกำลังต้องบาดเจ็บ เรียกว่าอาการปางตายกันทีเดียว และเมื่อจะเป็นข้ออุปไมย คือว่าเป็นสิ่งที่ถูกเปรียบเทียบ หรือบุคคลที่ถูกเปรียบเทียบ ก็จะต้องหมายถึงบุคคลทั่วไปทั้งหลายในโลก ซึ่งเป็นผู้ที่ถูกลูกศรเสียบแทงกันอยู่แล้ว เรียกว่ามีอาการปางตายกันอยู่แล้ว คราวนี้ในข้ออุปมานั้น ก็ได้กล่าวถึงว่า ถ้าหมอผ่าตัดจะไต่ถามสอบสวนถึงคนยิง ถึงลูกศรที่ใช้ยิง เพื่อให้ทราบรายละเอียดต่างๆ เสียก่อน แล้วจึงจะลงมือรักษาก็ย่อมจะไม่ทันการ คนไข้นั้นก็น่าจะต้องถึงแก่ความตายเสียก่อนก็ได้ หรืออาการก็จะมากขึ้น ยากแก่การที่จะเยียวยารักษา

ฉะนั้นหน้าที่ของหมอผ่าตัดก็ไม่ต้องมัวชักช้าไต่ถามสอบสวน หมอควรที่จะต้องรีบผ่าตัดนำลูกศรออกทันทีนี่เป็นอุปมา ทีนี้ข้ออุปไมยคือสิ่งที่ถูกเปรียบเทียบ ก็มาถึงบุคคลและสัตว์ทั้งหลายเรียกว่าสัตวโลกทั่วๆ ไปนั้น ก็เท่ากับว่าเป็นคนที่ถูกลูกศรเสียบด้วยกันทั้งนั้น มีอาการปางตายอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ฉะนั้นหน้าที่ของพระพุทธเจ้าซึ่งเป็นเสมือนหมอผ่าตัดนั้น ก็จะต้องทรงรีบเยียวยารักษาทันที ไม่ต้องมัวไปสอบสอนไต่ถามถึงรายละเอียดต่างๆ ก็มาถึงเรื่องปัญหาโลกแตก ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ๑๐ ข้อนั้น

เพราะฉะนั้นจึงไม่ทรงพยากรณ์ให้ชักช้า จึงได้ตรัสปฏิเสธไม่ทรงพยากรณ์และก็ได้ตรัสรับรองในข้อที่ทรงพยากรณ์ว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุแห่งทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ จึงเป็นข้อที่ควรจะทำความเข้าใจ ว่าบัดนี้ทุกๆ บุคคลกำลังถูกลูกศรเสียบแทงกันอยู่ อาการปางตายด้วยกันทั้งหมดหรือ ในข้อนี้จึงควรจะทราบลักษณะพุทธศาสนาว่าเป็นจริงอย่างนั้น ทุกๆ คนในบัดนี้ซึ่งเป็นสามัญชนสามัญสัตว์นั้น ก็กำลังถูกลูกศรเสียบแทงกันอยู่ทั้งนั้น และมีอาการปางตายด้วยกันทั้งนั้น

ตัณหา - ลูกศรเสียบแทงใจ

อะไรเป็นลูกศรเสียบแทง และเสียบแทงอะไร โดยปริยายคือทางอันหนึ่งที่ท่านยกขึ้นแสดงไว้ ลูกศรเสียบแทงนั้นก็คือตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากของใจ และเสียบแทงอะไร ก็คือเสียบแทงจิตใจ ต่างมีตัณหาเสียบแทงจิตใจอยู่ด้วยกันทั้งนั้น ดังที่ได้ตรัสแจกเอาไว้เป็นกามตัณหา ความดิ้นรนปรารถนาไปในกาม คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่ารักใคร่ปรารถนา พอใจบ้าง ภวตัณหา ความดิ้นรนทะยานอยากไปในภพ คือความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ต่างๆ บ้าง วิภวตัณหา คือความดิ้นรนทะยานอยากไปในวิภพ คือความไม่เป็นนั่นเป็นนี่

คือต้องการให้สิ่งที่ไม่พอใจอยากจะได้ไม่พอใจอยากจะเป็นสิ้นไปหมดไป นี้ยกขึ้นมาเพียงข้อเดียว แต่อันที่จริงนั้น กิเลสที่เป็นเครื่องเสียบแทงจิต จำแนกออกไปเป็นอาการต่างๆ อีกมากมาย แต่ว่าเอาข้อเดียวเท่านี้ก่อน นี่เป็นลูกศรที่เสียบแทงจิตใจบุคคลอยู่ และที่ว่ามีอาการปางตายนั้นก็เป็นอย่างนั้น ก็เพราะว่ายังต้องถูกความทุกข์ต่างๆ ครอบงำอยู่ตลอดเวลา ดังที่ตรัสชี้ไว้ในทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์นั้นแหละ ความเกิดเป็นทุกข์ ความแก่เป็นทุกข์ ความตายเป็นทุกข์ เรียกว่าต้องเกิด ต้องแก่ ต้องตาย ซึ่งเป็นธรรมดาของชีวิตสังขาร

และยังต้องประสบทุกข์ทางจิตใจอีกมาก เป็นความแห้งใจ เป็นความคร่ำครวญไม่สบายกายไม่สบายใจ ความไม่สบายกายนี้ก็รวมเอาอาพาธเจ็บป่วยต่างๆ เข้าด้วย ความไม่สบายใจความคับแค้นใจ รวมเข้าก็เป็นความประจวบกับสัตว์สังขารที่ไม่เป็นที่รัก ความพลัดพรากจากสัตว์สังขารที่เป็นที่รัก รวมเข้าก็เป็นความปรารถนาไม่ได้สมหวัง และเมื่อรวมเข้าอีก ก็รวมอยู่ในขันธ์เป็นที่ยึดถือทั้ง ๕ ประการนี้คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งอันนี้ก็จะต้องศึกษาให้เข้าใจให้ชัดเจนกันต่อไป แต่วันนี้จะยังไม่อธิบายในตอนนี้


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 16, 2011, 08:53:58 am โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: มกราคม 16, 2011, 07:16:08 am »



นิพพาน - ความสิ้นตัณหา

ก็แปลว่าต้องอยู่ในอาการที่ปางตายด้วยกันทั้งนั้น ต้องเป็นทุกข์อยู่ด้วยเกิดแล้วก็แก่แล้วก็ไม่สบายกาย ไม่สบายจิตต่างๆ ต้องพบกับสิ่งที่ไม่ชอบ ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่ชอบปรารถนาไม่ได้สมหวังต่างๆ รวมเข้าก็ต้องมีขันธ์ ๕ ย่อเป็นกายใจนี้เอง เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่าอยู่ในอาการปางตายด้วยกันทั้งนั้น และก็จะต้องแก่ต้องตายด้วยกันทั้งนั้น และชีวิตก็ดำเนินไปสู่ความแก่ความตายอยู่ทุกเวลาไม่มีหยุด

เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงได้ทรงเป็นหมอถอนลูกศร ผ่าตัดลูกศร ด้วยใช้เครื่องมือก็คือมีดผ่าตัด อันได้แก่ปัญญา โดยตรัสเทศนาสั่งสอนให้ทุกคนได้เข้าถึงสัจจะที่เป็นตัวความจริง ก็รวมอยู่ในเรื่องความจริงความดีความงามที่กล่าวมาในวันแรกๆ นั้นนั่นแหละ และปัญญานี้เองที่บังเกิดขึ้นในจิตใจของบุคคล ก็จะผ่าตัดถอนลูกศรคือตัณหาออกจากจิตใจได้

และเมื่อถอนตัณหาคือลูกศรออกจากจิตใจได้ด้วยปัญญาแล้ว ทุกข์ก็จะดับไปหมด บุคคลก็จะเป็นผู้ที่พ้นทุกข์ เพราะว่าลูกศรออกจากจิตใจได้ เพราะฉะนั้นท่านจึงเรียกธรรมหรือสภาพธรรมที่จิตใจถอนลูกศรออกได้แล้ว แปลว่าสิ้นตัณหาหมดแล้ว และก็สิ้นทุกข์หมดแล้ว ว่านิพพาน อันเป็นธรรมที่มุ่งจะบรรลุสำหรับพุทธศาสนาที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน และพระพุทธเจ้าเองก็ได้ทรงค้นคว้าด้วยพระองค์เอง จนได้ปัญญาเป็นมีดผ่าตัดถอนลูกศรออกจากพระหทัยของพระองค์เองได้แล้ว สิ้นตัณหาแล้วก็สิ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวงแล้ว ทรงบรรลุนิพพานแล้ว

เพราะฉะนั้นจึงมาทรงสั่งสอนเพื่อที่จะโปรดสัตว์โลกที่กำลังถูกลูกศรเสียบแทงใจอยู่นี้ ได้ปัญญาที่จะถอนลูกศรออกแล้ว ก็พ้นทุกข์อย่างพระองค์บ้าง นี้เป็นพระมหากรุณา เป็นพระมหากรุณาจริงๆ เพราะรู้สึกว่ามันเป็นทุกข์ และก็กำลังถูกลูกศรเสียบแทงใจอยู่ เพราะฉะนั้นท่านจึงอธิบายคำของนิพพาน ว่าออกจากวาณะ ภาษาสันสกฤตว่านิรวานะ ภาษาบาลีว่านิพพาน เป็นคำเดียวกัน วาณะนั้น แปลว่าเครื่องเสียบแทง แปลว่าลูกศร นิรวานะ แปลว่าออกจากเครื่องเสียบแทง ออกจากลูกศรคือถอนลูกศรเสียได้ ไม่มีลูกศรเสียบใจ เพราะฉะนั้นก็ให้เข้าใจคำว่านิพพานง่ายๆ ดั่งนี้ว่า ที่ว่าเป็นนิพพานนั้น

ก็คือว่าสภาพธรรมของจิตใจที่ถอนวาณะคือลูกศรอันเป็นเครื่องเสียบแทงของจิตใจได้แล้ว ออกจากเครื่องเสียบแทง ออกจากลูกศรได้แล้ว ไม่มีลูกศร ไม่มีเครื่องเสียบแทงจิตใจ เพราะฉะนั้นจึงเป็นอิสระเสรี มีความสบายคล่องตัวเป็นสุข ไม่ต้องเป็นทุกข์เดือดร้อน พ้นทุกข์ด้วยประการทั้งปวง พ้นจากอาการปางตาย อาการที่เป็นทุกข์ทั้งหลายหมดสิ้น


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 18, 2012, 06:48:42 pm โดย ฐิตา »

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร
« ตอบกลับ #9 เมื่อ: มกราคม 16, 2011, 07:28:32 am »

ทรงสอนให้ใช้ปัญญาถอนลูกศรหรือตัณหา

เพราะฉะนั้นนิพพานมิได้อยู่ที่ไหน แต่ว่าอยู่ที่ถอนลูกศรออกจากจิตใจนี้แหละ ก็ด้วยปัญญาที่พระพุทธเจ้าได้ประทานให้ จากการสั่งสอน พระปัญญานี้แหละช่วยผ่าตัดเอาตัณหาที่เป็นลูกศรเสียบใจออกได้ ก็พ้นทุกข์ได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นกิจของพระพุทธเจ้าที่จะทรงปฏิบัติหน้าที่อันนี้ ซึ่งจะต้องรีบกระทำ และพระพุทธเจ้าก็ทรงปฏิบัติหน้าที่นี้เป็นเวลาถึง ๔๕ ปี หน้าที่เป็นหมอถอนลูกศรนี้แหละ ทรงแสดงธรรมสั่งสอนก็เป็นการประทานปัญญาอันเป็นมีดผ่าตัด

เพื่อให้ผ่าตัดลูกศรถอนลูกศรออกจากจิตใจของตนเอง และเมื่อเป็นดั่งนี้ ก็นำเข้าสรุปใน ๔ ข้อนั้นได้ ทุกข์ก็คือว่าอาการเป็นทุกข์ถึงปางตาย นี่เป็นตัวทุกข์ทั้งทางกายทั้งทางจิตใจที่โลกต้องพบอยู่ตลอดเวลา ที่บุคคลทุกๆ คนต้องพบอยู่ตลอดเวลา และสิ่งที่เป็นลูกศรนั้นก็คือตัณหา ซึ่งเป็นตัวทุกขสมุทัย เหตุเกิดทุกข์ และก็ถอนลูกศรเสียได้ก็เป็นความดับทุกข์หรือทุกขนิโรธ และมีดสำหรับที่จะผ่าตัดพร้อมกับอุปกรณ์ต่างๆ ก็คือมรรคมีองค์ ๘ อันเป็นทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อันมีดที่จะผ่าตัดนั้นก็ขอให้เข้าใจว่าก็จะต้องมีตัวมีด ที่ส่วนหนึ่งคม ผ่าตัดได้ และก็จะต้องมีส่วนของเหล็กอันประกอบกันอยู่ที่เป็นสันของมีดเป็นส่วนของมีด เพราะว่าความคมที่สำหรับผ่าตัดนั้นจะอยู่อย่างเดียวไม่ได้ แล้วก็จะต้องมีด้ามมีด เหล่านี้เป็นอุปกรณ์ของมีดต่างๆ สำหรับที่จะผ่าตัดลูกศรที่เสียบแทงจิตใจ

ซึ่งพระพุทธเจ้าได้จำแนกสำหรับที่จะทรงผ่าตัดสะดวกก็คือมรรคมีองค์ ๘ คือ
สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ
สัมมาสังกัปปะ ความดำริชอบ นี่คือเป็นตัวคม

และก็ยังมีส่วนประกอบอื่นของมีด เช่นว่าสันมีด ด้ามมีด อะไรเหล่านี้
ก็เป็นสัมมาวาจา เจรจาชอบ
สัมมากัมมันตะ การงานชอบ
สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตขอบ
สัมมาวายามะ เพียรชอบ
สัมมาสติ สติระลึกได้ชอบ
สัมมาสมาธิ สมาธิตั้งใจมั่นชอบ

รวมเข้าเป็นมีดเล่มเดียวนี่แหละ ส่วนที่คมสำหรับผ่าตัดจริงๆ ก็คือสัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะ ซึ่งเป็นตัวปัญญา ซึ่งจะต้องประกอบด้วยเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ ดังที่กล่าวมานี้จึงจะใช้ได้

ทรงจำแนกไว้ดั่งนี้สำหรับที่ทุกคนจะปฏิบัติได้สะดวก แต่แล้วก็ต้องรวมเป็นมีดเล่มเดียวนี่แหละ ใช้สำหรับที่จะผ่าตัดจิตใจ ถอนเอาลูกศรออกจากจิตใจ และการปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ นี้ก็ปฏิบัติไปโดยลำดับ ก็เป็นการรักษาเยียวยาการถอนลูกศรออกจากจิตใจไปโดยลำดับ เพราะว่าทีแรกนั้นจะถอนพรวดออกไปจากจิตใจทีเดียวย่อมไม่ได้ ก็จะต้องมีวิธีขั้นตอนของการผ่าตัดไปตั้งแต่ต้น แล้วก็ค่อยๆ ถอนออก จนถึงถอนได้หมดสิ้นแล้วก็รักษาเยียวยาแก้ไขแผลให้หาย เหล่านี้เป็นขั้นตอนของการรักษา

ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ปฏิบัติหน้าที่รักษาโรคทางจิตใจนี้ได้อย่างสมบูรณ์แล้วก็ทรงกระทำทันที ไม่เสียเวลาไปทรงแสดงเรื่องโน้นเรื่องนี้อะไรต่างๆ หน้าที่ของพระองค์ก็ต้องรีบทำดั่งนี้ และรีบช่วยให้บุคคลพ้นจากความพ้นทุกข์ทันที ได้ทรงปฏิบัติอยู่เป็นเวลาถึง ๔๕ ปี รวมเข้าก็ในข้อนี้เท่านั้น


๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๖

« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 16, 2011, 09:56:59 am โดย ฐิตา »