อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ลักษณะพุทธศาสนา สมเด็จพระญาณสังวร

<< < (5/12) > >>

ฐิตา:



อารมณ์คืออาการที่ปรากฏของจิต
ถ้า หากพิจารณาดูแล้วโดยรอบคอบ ทุกคนก็จะรู้ว่าทุกคนมีธาตุรู้หรือวิญญาณธาตุอยู่คือรู้อะไรๆ ทางตาทางหูเป็นต้นได้ ซึ่งเป็นความรู้ทางประสาท สัตว์เดียรัจฉานทั้งหลายก็มีความรู้ทางประสาททางตาทางหูเป็นต้นเหมือนกัน และเมื่อว่าถึงความรู้ทางประสาทตาประสาทหูเป็นต้นนั้น ประสาทหูประสาทตาบางอย่างของสัตว์เดียรัจฉานดีกว่าของมนุษย์ อย่างเช่นตามองเห็นอะไรในความมืด หูฟังเสียงอะไรที่ละเอียด ตาหูของสัตว์เดียรัจฉานบางจำพวกดีกว่าตาหูของมนุษย์ แต่ว่ามีอยู่สิ่งหนึ่งที่สู้มนุษย์ไม่ได้ ก็คือปัญญา ซึ่งเรามักจะเรียกกันว่าสมอง สมองของมนุษย์นั้นดีกว่าของสัตว์เดียรัจฉาน สมองอันเป็นสิ่งที่เป็นที่ตั้งของปัญญา แต่ว่าสิ่งที่เรียกว่าสมองนั้นเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายซึ่งมีสรีรสัณฐาน มีอีกอย่างหนึ่งคือจิตหรือวิญญาณธาตุซึ่งอาศัยอยู่ในร่างกายอันนี้ และก็อาศัยสมองอันนี้เป็นที่ตั้งของประสาทรับรู้ต่างๆ และเป็นที่ตั้งของปัญญาต่างๆ สมองนั้นก็เป็นเครื่องมือของจิตคือธาตุรู้ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีสรีรสัณฐาน ควรจะต้องพิจารณาว่า บรรดาร่างกายนั้นล้วนเป็นเครื่องมือของจิตหรือวิญญาณธาตุที่เป็นธาตุรู้ทั้งนั้น เพราะว่าจิตหรือวิญญาณธาตุที่เป็นธาตุรู้นั้นไม่มีสรีรสัณฐาน อาศัยร่างกายนี้ซึ่งเป็นตัวสรีรสัณฐานสำหรับปฏิบัติงานการต่างๆ ไปตามต้องการ เช่นเกี่ยวแก่ประสาททั้งหลายก็ต้องอาศัยสมอง

และเมื่อต้องการจะหยิบจับอะไรก็ใช้มือ จิตหรือวิญญาณธาตุรู้นั้นจะเดินเองก็ไม่ได้ต้องอาศัยร่างกายอันนี้ ซึ่งรวมเข้าแล้ว จะดูอะไรก็ต้องอาศัยจักขุประสาท จะฟังอะไรก็ต้องอาศัยโสตประสาทเป็นต้น ซึ่งเป็นปรกติธรรมดา และอาการที่แสดงออกว่าเป็นอาการของจิตและธาตุรู้นั้น ก็คืออาการที่ปรากฏเป็นอารมณ์คือเรื่องที่ปรากฏเป็นกิเลส ที่ปรากฏเป็นอารมณ์คือเรื่องนั้นก็คือเรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตครุ่นคิดถึงทั้งหลาย เมื่อเป็นเรื่องรูปก็เรียกว่ารูปารมณ์ อารมณ์คือรูป เรื่องเสียงก็เรียกว่าสัททารมณ์ อารมณ์คือเสียง เรื่องกลิ่นก็เรียกว่าคันธารมณ์ อารมณ์คือกลิ่น เรื่องรสก็เรียกว่ารสารมณ์ อารมณ์คือรส เรื่องที่กายถูกต้องก็เรียกว่าโผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์คือโผฏฐัพพะ

เรื่องของเรื่องเหล่านั้นที่รู้ที่คิดอยู่ในใจก็เรียกว่าธรรมารมณ์ อารมณ์คือธรรม คือเรื่องราวของเรื่องเช่นรูปเป็นต้นเหล่านั้น ที่ประสบพบผ่านมาแล้วและก็นำมาคิดนำมาระลึกถึง และอารมณ์บางอย่างที่เป็นที่ตั้งของราคะหรือโลภะ ก็เกิดเป็นราคะ ความกำหนัดยินดีติดอยู่ เป็นความโลภอยากได้ เรื่องที่เป็นที่ตั้งของโทสะ ก็เกิดความขัดแค้นโกรธเคืองอันเป็นตัวโทสะ เรื่องที่เป็นที่ตั้งของความหลง ก็เกิดความหลงที่เป็นตัวโมหะขึ้น บรรดาอารมณ์และกิเลสเหล่านี้ก็ไม่มีสรีรสัณฐาน ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ และในด้านปฏิบัติธรรม ที่เรียกว่าปฏิบัติก็ดี ที่เรียกว่าศึกษาก็ดี ที่เป็นเมตตาเป็นกรุณา เป็นศีลเป็นสมาธิเป็นปัญญา ก็ไม่มีสรีรสัณฐานอีกเหมือนกัน แต่ก็เป็นสิ่งที่มีอยู่ แม้ว่าการศึกษาเล่าเรียนในทางคดีโลกก็ตามในทางคดีธรรมก็ตาม ก็เป็นความรู้ดังที่ได้เคยกล่าวแล้ว ก็ไม่มีสรีรสัณฐาน

อารมณ์เป็นอาหารอย่างหนึ่งของจิต
ใน ตอนนี้จะพิจารณาเห็นความแตกต่างกันได้ระหว่างสมองกับภาวะที่เรียกว่าจิตหรือ วิญญาณธาตุ อาการของอารมณ์และกิเลสเหล่านี้เป็นเรื่องของจิตและวิญญาณธาตุ ไม่ใช่เป็นเรื่องของสมอง เรื่องของสมองนั้น สมองต้องการอาหารสำหรับเลี้ยงสมองเป็นแบบอาหารสำหรับเลี้ยงรูปกาย และเมื่อสมองป่วยก็เป็นอาการป่วยทางรูปกาย ซึ่งต้องใช้หยูกยาทางรูปกายรักษา แต่ว่าอาหารของจิต หรือวิญญาณธาตุคือธาตุรู้นั้น ก็คืออารมณ์ จะพึงกล่าวได้ว่า จิตย่อมมีอารมณ์เป็นอาหารอย่างหนึ่ง และจิตที่มีกิเลส กิเลสก็มีอารมณ์ที่เป็นอาหาร มีสิ่งที่กิเลสต้องการเป็นอาหาร อันนับว่าเป็นอาหารของอารมณ์และอาหารของกิเลส และเมื่อจิตมีกิเลส กิเลสนั้นเองต้องการ

เช่นว่าเมื่อโลภเกิดขึ้น อยากจะได้เงินอยากจะได้ทอง ก็ทำให้อารมณ์ในเงินในทองนั้นมาเป็นอาหารโลภ ของจิตที่โลภ เมื่อได้เงินได้ทองก็รู้สึกว่าอิ่มใจสบายใจ โทสะก็เหมือนกันต้องการอาหาร เมื่อโกรธขึ้นมาก็ต้องการทุบตีเขาทำลายเขา การที่ได้ทุบตีเขาก็เป็นอาหารแก้หิวของโทสะ โมหะก็เหมือนกันหลงสยบติดอยู่ ก็เพลิดเพลินสบายอยู่กับสิ่งที่หลงสยบติดอยู่ นั่นก็เป็นอาหารของโมหะคือความหลง แต่อันที่จริงไม่ได้เป็นอาหารของจิตหรือธาตุรู้โดยตรง แต่เป็นอาหารของกิเลส เหมือนดังว่าตัวพยาธิที่อาศัยอยู่ในท้องของบุคคล ตัวพยาธิก็ต้องการอาหารที่บุคคลบริโภคอาหารเข้าไป ตัวพยาธิก็แย่งบริโภค อาหารก็ไม่ได้บำรุงเลี้ยงร่างกายเท่าไหร่ จิตก็เหมือนกัน โดยมากนั้นก็ต้องการอาหารที่เป็นอาหารของกิเลสดังกล่าวนั้น เหล่านี้เป็นเรื่องของจิต เป็นเรื่องของธาตุรู้ที่เกี่ยวแก่กิเลส เป็นอาหารอีกอย่างหนึ่งที่ต่างจากอาหารของสมอง

ฐิตา:



ธัมมะเป็นอาหารของจิตโดยตรง
คราวนี้อาหารที่เป็นของจิตโดยตรงนั้น ก็คือธรรมที่เป็นคุณเกื้อกูล เมื่อจิตได้ดูดดื่มธรรมที่เป็นคุณเกื้อกูล เช่นว่าเมื่อได้ทำทานก็ได้ปีติได้สุขในทาน จิตก็ดื่มปีติสุขที่เกิดจากทานและเมื่อทานที่บริจาคที่ทำนั้นไปขัดเกลาโลภะ มัจฉริยะในจิต เมื่อโลภะมัจฉริยะเบาบางลง จิตก็บริสุทธิ์ผ่องใส ก็เกิดสุขเกิดปีติอันเกิดจากความบริสุทธิ์ จิตก็ได้ดูดดื่มปีติสุขอันเกิดจากความบริสุทธิ์นั้น ปฏิบัติในศีลในสมาธิในปัญญาก็เช่นเดียวกัน จิตบริสุทธิ์จิตก็ได้ดื่มปีติสุขอันเกิดจากความบริสุทธิ์นั้น ก็ได้ความปีติได้ความสุขที่บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น คือธรรมปีติ ปีติในธรรมนั้นเอง นี่เป็นอาหารของจิตโดยตรง ทำให้จิตมีความสุขมีความอิ่มเอิบ เป็นความสุขเป็นความอิ่มเอิบยิ่งกว่าที่ได้อาหารของกิเลสเข้ามา เช่นได้อาหารของกิเลสเป็นความโลภเป็นต้นดังที่กล่าวนั้นเป็นความสุขเป็นความ อิ่มเอิบที่บริสุทธิ์กว่า ที่สงบกว่า ที่เย็นกว่า ซึ่งบุคคลผู้ปฏิบัติธรรมได้รับก็ย่อมจะรู้สึก ธรรมนี้แหละเป็นอาหารของจิตโดยตรง และยังเป็นธรรมโอสถหรือยาธรรมสำหรับที่จะแก้โรคกิเลส แก้โรคโลภหรือราคะ แก้โรคโกรธ แก้โรคหลง ได้ด้วย ดังที่ได้เคยกล่าวแล้ว ฉะนั้นยาสำหรับแก้โรคทางจิตคือโรคกิเลสดังที่ได้กล่าวแล้วก็คือธรรมโอสถ ซึ่งต่างจากยาแก้โรคสมองที่เป็นเวชโอสถ โอสถของหมอทางร่างกายนั้นเอง เพราะฉะนั้น เมื่อพิจารณาดูแล้วดั่งนี้จะเห็นได้ว่า ในบุคคลทุกๆ คนนี้มีสภาพที่เรียกว่าจิตหรือธาตุรู้ หรือว่าภาวะเป็นเราหรือว่าภาวะเป็นสัตว์ อันเป็นสิ่งที่ยังดำรงอยู่แม้เมื่อร่างกายอันนี้แตกสลาย แล้วก็เคลื่อนไปสู่ที่บ้านใหม่ภพใหม่ต่อไป

พุทธศาสนาไม่แสดงว่าตายเกิดหรือตายสูญ
ตาม ที่กล่าวนี้ก็กล่าวเป็นทำนองว่าตายเกิด แล้วก่อนเกิดนั้นเล่าก็มีชาติภพในอดีตมาก่อนจึงมาถึงชาติภพนี้ และก็ต่อไปชาติภพอื่น เพราะเหตุว่ามีตัวที่เรียกว่าจิตหรือธาตุรู้หรือว่าตัวที่เป็นเราหรือที่ เป็นสัตตภาวะหรือภาวะเป็นสัตว์อันเป็นสิ่งที่ไม่ตายไปตามกาย เป็นสิ่งที่ยังดำรงอยู่เมื่อกายแตกสลาย คือบ้านอันนี้พัง สภาพที่กล่าวนี้ที่เป็นตัวเรา เป็นสัตตภาพ เป็นจิตหรือเป็นธาตุรู้ก็จุติเคลื่อนออกไป ไปถือภพชาติใหม่ต่อไป ก็เป็นอันกล่าวไปในเค้าว่าตายเกิด และก่อนเกิดมาก็เคยเกิดในชาติภพอื่นมาก่อน สืบต่อมาถึงชาตินี้ภพนี้ แล้วก็จะสืบต่อไปถึงชาติหน้าภพหน้า ไม่ใช่ตายสูญ แต่อันที่จริงนั้นตายเกิดตายสูญนี้เป็นทิฏฐิที่มีมาก่อนพุทธกาล และในบัดนี้ก็ยังมีอยู่ คือบางลัทธิแสดงว่าตายสูญคือไม่มีอะไรไปเกิดอีก เรียกว่าอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ อีกลัทธิหนึ่งแสดงว่าตายเกิดเรียกว่าสัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยง เพราะฉะนั้นหากจะมีปัญหาว่าพระพุทธศาสนาแสดงอย่างไร ก็ตอบได้ว่า พระพุทธศาสนานั้นไม่แสดงว่าตายเกิด ไม่แสดงว่าตายสูญ คือปฏิเสธทั้งฝ่ายสัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าเที่ยงกับอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ แต่ว่าแสดงตามเหตุผลว่าเมื่อยังมีเหตุก็ยังเกิดอีก เมื่อสิ้นเหตุให้เกิดก็ไม่เกิด ซึ่งจะแสดงต่อไป

๒๔ สิงหาคม ๒๕๒๖

ฐิตา:




ครั้งที่ ๑๒ ลักษณะพุทธศาสนา - สังสารวัฏ (๒)
ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร

ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

พุทธวาทะ ไม่รับรองสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ

แสดงลักษณะพุทธศาสนามาถึงพุทธวาทะ ไม่รับรองสัสสตทิฏฐิและอุจเฉททิฏฐิ
จึงจะกล่าวอธิบายสืบต่อไป

ทิฏฐิคือความเห็นที่ถือกันมาตั้งแต่เก่าก่อนพุทธศาสนา เรื่องตายเกิดตายสูญ ฝ่ายที่มีความเห็นยึดถือว่าตายเกิดเรียกว่าสัสสตทิฏฐิ แปลว่าความเห็นเที่ยง คือมีความเห็นว่าในชาตินี้ก็มีอัตตาหรืออาตมันตัวตน และเมื่อตายไป อัตตาหรืออาตมันตัวตนก็ไปถือภพชาติใหม่เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด เรียกสั้นๆ ก็คือว่าตายเกิด ก็เกิดกันเรื่อยๆ ไป อีกฝ่ายหนึ่งตายสูญที่เป็นพวกอุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าขาดสูญ ก็คือมีความเห็นว่ามีอัตตาหรืออาตมันตัวตนอยู่ในชาตินี้เท่านั้น ตายไปแล้วก็สูญ ไม่มีอัตตาหรืออาตมันตัวตนสืบต่อไปอีก ส่วนพุทธวาทะ วาทะของพระพุทธเจ้านั้น ไม่รับรองทิฏฐิทั้ง ๒ นี้ และก็ถือว่าทิฏฐิทั้ง ๒ นี้เป็นมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิดโดยที่วาทะของพระพุทธเจ้านั้นแสดงว่าเป็นไปตามเหตุผล คือเมื่อยังมีเหตุให้เกิดก็เกิด เมื่อสิ้นเหตุให้เกิดก็ไม่เกิด แต่ว่าก็ไม่สูญ ฉะนั้นจึงจะต้องอ้างพุทธวาทะว่าตรัสไว้ที่ไหนอย่างนี้

กิเลส กรรม วิบาก

วาทะของพระพุทธเจ้าที่ตรัสไว้อย่างนี้ โดยตรงก็คืออริยสัจทั้ง ๔ และปฏิจจสมุปบาท อริยสัจทั้ง ๔ นั้นคือสภาพที่จริงคือทุกข์ เราทั้งหลายก็ได้สวดกันอยู่ทุกวันแล้วว่า ชาติปิ ทุกฺขา ความเกิดเป็นทุกข์เป็นต้น คือว่าทรงชี้ตัวทุกข์ตั้งแต่ชาติคือความเกิดเป็นต้นไป มาถึงสมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ก็ทรงชี้เอาตัณหาคือความดิ้นรนทะยานอยาก ฉะนั้นเมื่อยังมีสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์คือตัณหาอยู่ ก็ยังต้องมีทุกข์ อันเป็นส่วนผล ตั้งต้นแต่ชาติคือความเกิด ตามหลักอริยสัจนี้ จึงกล่าวได้ว่าวาทะของพระพุทธเจ้านี้ทรงแสดงว่าเมื่อยังมีตัณหาเป็นสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์อยู่ ก็ยังต้องมีชาติคือความเกิด ก็หมายความว่าเมื่อขันธ์ ๕ นี้แตกหรือว่าบ้านนี้พัง สัตว์ก็ต้องจุติคือเคลื่อนจากชาตินี้หรือว่าเคลื่อนออกจากบ้านที่พังนี้ ไปเข้าบ้านใหม่คือชาติภพใหม่หรือขันธ์เป็นที่ยึดถือใหม่ต่อไป เมื่อยังมีตัณหาอยู่ ขันธ์ ๕ นี้แตกสลาย จึงต้องไปถือชาติภพสืบต่อไป คราวนี้มาถึงทุกขนิโรธคือความดับทุกข์ ก็คือดับตัณหา เมื่อดับตัณหาเสียได้ อันเป็นส่วนเหตุก็ดับทุกข์เสียได้ ก็คือดับตั้งแต่ชาติคือความเกิด ไม่ไปเกิดอีก แต่ว่าก็ไม่สูญ อย่างไรจึงว่าไม่สูญนั้น ก็จะต้องอธิบายต่อไป แต่มากล่าวถึงตอนนี้ก่อน

เมื่อวาทะของพระพุทธเจ้าแสดงไว้ดังนี้ จึงกล่าวได้ว่าลักษณะของพุทธศาสนาที่แสดงเรื่องนี้ไม่แสดงว่าตายเกิด ไม่แสดงว่าตายสูญเพียงส่วนเดียว แต่แสดงว่าเมื่อยังมีกิเลสมีตัณหาเป็นต้นก็ต้องเกิด เมื่อสิ้นตัณหาสิ้นกิเลสก็ไม่เกิด แสดงตามเหตุผลดังนี้ และการที่เกิดนั้นก็เกิดตามกรรม พระพุทธเจ้าทรงได้พระญาณคือความหยั่งรู้ในเรื่องนี้ ตั้งแต่ก่อนตรัสรู้ทรงได้พระญาณที่ ๑ คือบุพเพนิวาสญาณตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ซึ่งได้ทรงระลึกรู้หรือว่ารู้ระลึกถึงบ้านหนหลังได้ คือระลึกชาติหนหลังได้มีจำนวนมาก ว่าเราเข้าถึงชาตินี้ เคลื่อนจากชาตินี้ก็เข้าถึงชาตินั้นต่อๆ กันมา พร้อมทั้งรายละเอียดต่างๆ ของชาตินั้นๆ มาถึงญาณที่ ๒ ก็ทรงได้พระญาณคือความหยั่งรู้ ว่าสัตว์ทั้งหลายเข้าถึงชาติหนึ่งๆ ตามกรรมที่ได้กระทำไว้ ทำกรรมชั่วก็เข้าถึงชาติที่ชั่วมีทุกข์ ทำกรรมดีก็เข้าถึงชาติที่ดีมีสุขดั่งนี้ พร้อมทั้งรายละเอียดต่างๆ จนถึงญาณที่ ๓ ที่เรียกว่าอาสวักขยญาณ คือความหยั่งรู้เป็นเหตุสิ้นอาสวะ กิเลสที่ดองจิตสันดาน คือได้ตรัสรู้เข้าไปถึงว่าที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดไปในชาติทั้งหลายตามกรรมซึ่งได้กระทำไว้นั้น ก็เพราะยังมีกิเลสอันเป็นเหตุให้กระทำกรรม กิเลสที่ดองสันดานก็เรียกว่าอาสวะ คือมีกิเลสที่ดองสันดานอยู่ จึงเป็นเหตุให้กระทำกรรม เมื่อกระทำกรรม กรรมก็ส่งวิบากคือผล ตั้งต้นแต่ให้ไปถือชาติภพได้วิบากขันธ์ คือกายใจที่เป็นส่วนวิบากคือผลของกรรม ดังที่ทุกคนได้อยู่นี้

เพราะฉะนั้นเมื่อยังมีกิเลสที่ดองสันดานอยู่ก็ต้องประกอบกรรม กรรมก็ส่งผลตั้งแต่ให้ไปเกิดถือชาติภพ เกิดแล้วก็ต้องแก่ต้องตาย คือขันธ์เป็นที่ยึดถือได้แก่ตัววิบากขันธ์นี้เป็นสิ่งที่ต้องแก่ต้องตาย และขันธ์อันเป็นวิบากขันธ์นั้นก็เท่ากับเป็นตัวบ้านอันเป็นที่อาศัยอยู่ของจิตที่เป็นตัวเดิม หรือว่าอหภาวะคือตัวเรา หรือที่ยึดถือว่าเป็นอัตตาตัวตน หรือที่เรียกว่าสัตว์คือเป็นผู้ที่ยังข้องติดอยู่นี้ และเพราะกิเลสนี้เองจึงทำให้จิตที่เป็นตัวเดิมนี้เป็นจิตที่แปลว่าคิดนึกรู้ ที่แปลว่าเก็บสั่งสม ที่แปลว่าวิจิตรหลายหลากต่างๆ ดังที่ได้แสดงอธิบายแล้ว และก็ทำให้มีอหภาวะคือความเป็นเรา ตลอดจนเป็นอหังการมมังการ อหังการก็คือว่าเครื่องกระทำให้เป็นเรา มมังการก็แปลว่าเครื่องกระทำให้เป็นของเรา หรือว่ามีตัวเราของเรา หรือว่ามีสัตตภาวะคือความเป็นผู้ข้องเป็นผู้ติดอยู่ และสภาพที่เรียกว่าจิตอันเป็นตัวเดิม สภาพที่เรียกว่าอหภาวะความเป็นเรา หรือสภาพที่เรียกว่าสัตว์ หรือสัตตภาวะความเป็นสัตว์ผู้ข้องผู้ติดนี้ ก็เป็นคำที่สมมติบัญญัติเรียกขึ้นมาถึงสภาพอันหนึ่งซึ่งมีอยู่ในบุคคลทุกๆ คนนี้ อันไม่มีสรีรสัณฐาน อาศัยอยู่ในกายซึ่งเหมือนกับเป็นตัวบ้าน กายสร้างขึ้นก่อขึ้นก็เข้าอาศัย กายพังบ้านพังก็เคลื่อนออก แล้วก็ไปถือเอากายใหม่บ้านใหม่ตราบเท่าที่ยังมีกิเลสที่เป็นอาสวะดองจิตสันดานอยู่ ก็แปลว่าสภาพที่กล่าวมานี้ไม่ตาย ส่วนที่ตายนั้นก็คือตัวกายหรือตัวขันธ์รูปขันธ์นามขันธ์กายใจ ซึ่งเหมือนอย่างตัวบ้านดังที่กล่าวมานั้นสร้างขึ้นแล้วในที่สุดก็พัง แล้วสร้างขึ้นใหม่เป็นบ้านใหม่ แล้วบ้านใหม่นั้นก็เก่าไปๆ แล้วก็พัง แล้วก็สร้างบ้านขึ้นใหม่อีก แล้วเก่าไปๆ แล้วก็พัง และบ้านที่สร้างขึ้นนี้ บางคราวก็ลักษณะเป็นมนุษย์ก็เรียกว่ามนุษยโลก บางคราวก็ลักษณะเป็นเดียรัจฉาน เป็นช้างเป็นม้าเป็นวัวเป็นควาย ก็เรียกว่าเดียรัจฉานโลก ก็เป็นอบายอันหนึ่ง บางคราวก็เป็นพวกโอปปาติกะพวกลอยเกิด เช่นเป็นเปรตเป็นอสุรกายเป็นผีเป็นสัตว์นรกซึ่งเป็นอบาย เป็นฝ่ายดีก็เป็นเทพพวกกายทิพย์หรือเป็นพรหม บ้านก็มีต่างๆ เหล่านี้ จะเป็นชนิดไหนก็ตามกรรม ถ้าทำชั่วไว้บ้านก็เป็นสัตว์เดียรัจฉาน เป็นช้างเป็นม้าเป็นวัวเป็นควายเป็นต้น หรือว่าเป็นเปรตเป็นอสุรกาย ถ้าทำกรรมดีก็เป็นบ้านมนุษย์ ก็มีหน้ามีตาเป็นมนุษย์อย่างนี้ หรือมีกายทิพย์เป็นเทพเป็นพรหมซึ่งคติทางพุทธศาสนานั้น จะเป็นเทพเป็นพรหมเป็นมนุษย์หรือเป็นพวกอบายต่างๆ ก็ต้องมีชาติ เมื่อมีชาติความเกิดก็จะต้องมีความตายในที่สุด ต้องแตกสลายทั้งนั้น ไม่มีที่จะยั่งยืนตลอดไป

เพราะฉะนั้นเมื่อยังมีชาติมีภพอยู่ คติทางพุทธศาสนาจึงแสดงว่ายังมีกิเลสมีตัณหายังเป็นสัตว์โลก ก็เป็นไปอยู่ดั่งนี้ เพราะฉะนั้นเมื่อพระญาณของพระพุทธเจ้าได้ทรงเห็นปรุโปร่งดั่งนี้ก่อนตรัสรู้ จึงได้ทรงมองเห็น อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา ชัดเจน ว่าบรรดาชาติภพทั้งหลายนับไม่ถ้วน ที่พระองค์เองก็ได้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ จะเลวที่สุดหรือเลวปานกลางหรือเลวน้อย หรือดีน้อยดีปานกลางดีที่สุดก็ตาม ก็ล้วนอนิจจะคือไม่เที่ยง ต้องเกิดต้องดับ ทุกขะเป็นทุกข์ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงทนอยู่คงที่ไม่ได้ เป็นอนัตตามิใช่อัตตาตัวตนแท้จริง ล้วนไปยึดถือทั้งนั้น เพราะบังคับให้เป็นไปตามปรารถนามิได้ เพราะฉะนั้นจึงทรงหน่ายในทุกข์คือหน่ายในชาติภพทั้งหมด ไม่ว่าจะมีชาติภพเป็นมนุษย์เป็นเทพเป็นพรหม ซึ่งยึดถือกันว่ามีความสุขน้อยมีความสุขปานกลางมีความสุขมากก็ตาม ก็ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดดับทั้งนั้น ต้องวนเวียนไปตามกรรมที่ตนเองได้กระทำนั้น ทำกรรมดีก็ต้องไปเข้าถึงชาติภพที่ดี ทำกรรมชั่วก็ต้องไปเข้าถึงชาติภพที่ชั่ว กรรมจึงเท่ากับเป็นผู้สร้าง เรียกว่าชนกกรรม กรรมที่ให้เกิด ไม่มีอะไรมาสร้างให้เกิด แต่กรรมนี้เองเป็นผู้สร้างให้เกิด และกรรมนั้นก็ตนเองเป็นผู้กระทำไม่ใช่ผู้อื่นกระทำ กรรมดีก็ตนเองกระทำ กรรมชั่วก็ตนเองกระทำ ไม่ใช่ผู้อื่นกระทำ

เพราะฉะนั้นตัวเองจึงเป็นผู้กระทำสร้างกรรมให้สร้างตัวเองขึ้นมาอีกในชาติภพต่อไป เพราะฉะนั้นตัวเองจึงเท่ากับเป็นผู้สร้างตัวเอง เพราะสร้างกรรมขึ้นให้เป็นผู้สร้างตัวเองต่อไป ไม่ใช่ผู้อื่น แต่ว่าญาณที่ทรงระลึกได้ถึงชาติหนหลังและถึงกรรมที่ได้กระทำไว้อันเป็นเหตุให้เข้าถึงชาติทั้งหลาย ของพระองค์เองด้วย และของสัตว์ทั้งหลายด้วยก็เช่นเดียวกัน ยาวนักหนา เรียกว่าระลึกย้อนหลังขึ้นไปๆ ก็ไม่รู้จักจบจึงเรียกว่าอนมตัคคะ ที่แปลว่ามียอดหรือเบื้องต้นที่ไม่ตามไปรู้แล้ว คำว่าไม่ตามไปรู้แล้วนี้ ไม่ใช่หมายความว่าตามไปรู้ไม่ได้ แต่ว่าตามไปรู้ได้ คราวนี้เมื่อตามไปรู้แล้วก็ไม่รู้สิ้นสุด เพราะว่าเบื้องต้นอันเป็นส่วนอดีตนั้นยาวไกลและมากมายนักหนา เพราะฉะนั้นเมื่อทรงระลึกได้มีจำนวนมากนักหนาแล้วแต่ยังไม่หมด ก็เป็นอันว่ายุติได้ เพราะว่าได้ความรู้ที่เป็นสัจจะจริงแท้แล้วว่ามีความเวียนว่ายตายเกิดตามกรรมมาแล้วนานนักหนา แล้วก็เป็นความเวียนว่ายตายเกิดจริงๆ ตามกรรมจริงๆ

ฐิตา:



ดับตัณหา ดับทุกข์
และก็สรุปได้แล้ว ว่าความที่เวียนว่ายตายเกิดตามกรรมไปนานนักหนานั้น รวมกันเข้าคำเดียวว่าเป็นตัวทุกข์ คือเป็นสิ่งที่ไม่ดำรงอยู่คงที่ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป มีความแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา ซึ่งเมื่อแยกทุกข์ออกไปแล้ว ย่อมจะได้ลักษณะเป็นอนิจจะคือไม่เที่ยง ต้องเกิดดับ และลักษณะที่เป็นตัวทุกข์เอง คือเป็นทั้งสิ่งที่ทนอยู่คงที่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปเหมือนอย่างถูกความเกิดความดับบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา และเมื่อเป็นสัตว์บุคคลก็เหมือนอย่างเป็นของร้อนอยู่ตลอดเวลา ต้องถูกเผาอยู่ตลอดเวลา สรุปเข้าก็รวมอยู่ในคำเดียวว่าทุกข์ ทุกขสัจจะ สภาพที่จริงคือทุกข์ และที่มีทุกขสัจจะสภาพที่จริงคือทุกข์อยู่ดั่งนี้ เพราะมีสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์ คือยังมีตัณหาความดิ้นรนทะยานอยากนี้เองที่จับพิจารณาดูได้ที่จิตใจ มีลักษณะที่เป็นความอยากความดิ้นรน ที่ปรากฏออกมาเป็นราคะหรือโลภะ เป็นโทสะเป็นโมหะ แต่ก็รวมอยู่ในลักษณะที่เป็นความดิ้นรนเป็นความอยาก ราคะเองก็เป็นตัวดิ้นรน โทสะก็ดิ้นรน โมหะก็ดิ้นรน ไม่สงบทั้งนั้น เพราะฉะนั้นจึงยกเอาตัณหาขึ้นเป็นตัวสมุทัย แต่ในปฏิจจสมุปบาทธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้นนั้น ได้ทรงพิจารณาจับตั้งแต่ทุกข์ทั้งหลาย มีชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ เป็นต้นที่เราสวดกันทุกวันอยู่

จับเหตุปัจจัยย้อนขึ้นไป ก็ได้ทรงพบเหตุปัจจัยขึ้นไปโดยลำดับ ซึ่งรวมทั้งตัวตัณหานั้นด้วยขึ้นไปถึงอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง คือจิตนี้เองที่เป็นธาตุรู้ แต่ยังมีอวิชชาคือความไม่รู้ในสัจจะที่เป็นตัวความจริง จึงเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดตัณหาเป็นต้นเรื่อยไปจนถึงชาติชราโสกะปริเทวะเป็นต้น นี้เป็นสมุทัยคือเหตุให้เกิดทุกข์ จึงทำให้เกิดความหน่าย หน่ายในทุกข์ด้วย หน่ายในสมุทัยในตัวตัณหาทั้งปวงด้วย ก็แปลว่าเกิดคลายความติดใจยินดีคลายความรักในตัวทุกข์ คือหน่ายในชาติภพทั้งหลาย คลายความรักในสมุทัยในตัณหาอวิชชา ก็เปลี่ยนเป็นวิชชาคือความรู้ขึ้น เมื่อเป็นดั่งนี้ตัณหาก็ดับ เมื่อตัณหาดับทุกข์ก็ดับ ความดับทุกข์ก็ปรากฏขึ้น ตัววิชชานี้เองซึ่งเมื่อเกิดขึ้นทำให้อวิชชาดับ ก็เพราะเหตุว่าทรงได้มัชฌิมาปฏิปทา ข้อปฏิบัติที่เป็นหนทางกลางดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้นรวมเข้าแล้วจึงเป็นตัวอวิชชา เมื่อวิชชาเกิดขึ้นอวิชชาก็ดับ กิเลสก็ดับหมดพร้อมทั้งตัณหา ทุกข์ก็ดับ จึงทรงเป็นพุทโธ ผู้ตรัสรู้แล้วผู้ตื่นแล้ว ดังที่ตรัสเล่าไว้ในปฐมเทศนา ว่าเมื่อญาณความหยั่งรู้ผุดขึ้นในธรรมที่มิได้สดับฟังมาก่อนคืออริยสัจทั้ง ๔ ก็ทรงปฏิญญาพระองค์ได้ว่าตรัสรู้ยิ่งแล้วซึ่งพระสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธะ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบในโลก ดั่งนี้

เมื่อพุทธภาวะปรากฏสัตตภาวะก็ดับ
เพราะฉะนั้น ภาวะเป็นสัตว์ซึ่งเป็นผู้ข้องติดจึงได้หายไปดับไป ปรากฏเป็นพุทธภาวะ ภาวะเป็นพุทธะคือผู้ตรัสรู้ แม้เมื่อเป็นพระพุทธะขึ้นแล้วก็ยังต้องทรงใช้สมบัติของโลก ว่าเราว่าเขาหรือว่าตัวว่าตน ตลอดจนถึงว่าจิตใจวิญญาณมโนเป็นต้น แต่ว่าคำเหล่านี้เป็นสมมติบัญญัติสมมติธรรมบัญญัติธรรมทั้งนั้น เพราะฉะนั้นเมื่อเสด็จดับขันธปรินิพพาน คือว่าพระพุทธสรีระซึ่งเป็นวิบากขันธ์ดับคือแตก ที่คนสามัญเรียกกันว่าตาย จึงไม่เกิดอีกตามที่ตรัสเอาไว้ และสิ่งที่เรียกว่าจิตตัวเดิมก็ดี ตัวเราก็ดี อัตตาตัวตนก็ดี หรือสัตตภาวะคือภาวะเป็นสัตว์ ก็สิ้นสุดไปแล้วตั้งแต่ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ทั้งหมดนี้ก็เป็นอันว่าเลิกพูดกัน เพราะเมื่อไม่เกิดอีกก็สิ้นสมมติบัญญัติ สมมติบัญญัติว่าเป็นจิตเป็นบุคคลเป็นเทพเป็นมารเป็นพรหมหรืออะไรก็ไม่มีทั้งนั้น เลิกพูดถึง แต่ว่าแม้จะเลิกพูดถึงก็ไม่ใช่หมายความว่าสูญ

๒๖ สิงหาคม ๒๕๒๖

ฐิตา:




ครั้งที่ ๑๓ ลักษณะพุทธศาสนา - สังสารวัฏ (๓)

ลักษณะพุทธศาสนา
ธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร
ในการอบรมนวกภิกษุพรรษา ๒๕๒๖
ณ สว.ธรรมนิเวศ วัดบวรนิเวศวิหาร

แสดงลักษณะพุทธศาสนามาถึงว่าพระอรหันต์ดับขันธ์แล้วไม่สูญ
ก่อนที่จะกล่าวต่อไปถึงเรื่องนี้
ก็จะได้ทบทวนเรื่องที่กล่าวมาข้างต้นในข้อที่ควรทบทวน

สุคติและทุคติตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ว่าการเวียนว่ายตายเกิดของสัตวโลก รวมทั้งองค์พระพุทธเจ้าเมื่อก่อนตรัสรู้ เป็นระยะเวลาที่นานนักหนา และชาติภพที่เวียนว่ายตายเกิดก็มากมายนับไม่ถ้วนที่เรียกว่าอสงไขยหรืออสังเขยยะ ที่แปลว่านับไม่ถ้วน ฉะนั้นจึงเป็นเรื่องที่ญาณของพระพุทธเจ้าไม่ตามไปรู้จนหมดสิ้น จึงเรียกว่าอนมตัคคะ ที่แปลว่ามีที่สุดในเบื้องต้นที่ไม่ตามไปรู้ ตามศัพท์นั้นแปลว่าไม่มีที่สุดที่ตามไปรู้ มีที่สุดที่ไม่ตามไปรู้ และคำว่าที่สุดนี้ อันที่จริงก็มีที่สุดอยู่ ๒ อย่างคือที่สุดเบื้องต้น กับที่สุดเบื้องปลาย คติทางพุทธศาสนานั้น ที่สุดเบื้องต้นอันหมายความว่าอดีตก็ยืดยาวและมากชาติมากภพมากมาย จนถึงญาณของพระพุทธเจ้าไม่ตามไปรู้ พิจารณาดูแล้วว่าพระพุทธเจ้านั้นทรงได้พระสัพพัญญุตาญาณคือความรู้ธรรมทั้งปวง ซึ่งเข้าใจกันคลุมว่าทรงรู้ทั้งหมด ฉะนั้นจึงพิจารณาเห็นว่า หากว่าพระญาณของพระองค์จะตามไปรู้ คือระลึกย้อนหลังไปถึงชาติภพในอดีต ก็ย่อมจะรู้ได้เรื่อยๆ ไป แต่ว่าก็ไม่หมดสักทีหนึ่ง เพราะฉะนั้นจึงเป็นอันว่าได้ทรงระลึกรู้ย้อนหลังไปมากมาย เพียงพอที่จะยุติได้แล้ว ก็เป็นอันว่ายุติ ไม่ตามไปรู้ต่อไปอีก และพิจารณาดูว่าจะมีหลักเกณฑ์อะไรที่จะยุติได้ ก็พิจารณาเห็นว่าเมื่อทรงสรุปได้ว่าจะมีกี่ภพชาติ ๑๐ ชาติ ๒๐ ชาติ ๑๐๐ ชาติ ๑๐๐๐ ชาติ ๑๐๐๐๐ ชาติ แสนชาติ ล้านชาติ โกฏิชาติ จนถึงนับไม่ถ้วนก็ตาม ทั้งหมดนั้นก็สรุปลงได้เป็นสอง คือสุคติ ไปดีอย่างหนึ่ง ทุคติไปชั่วอย่างหนึ่ง สุคติไปดีก็คือชาติที่เป็นมนุษย์ ชาติที่เป็นเทพ ชาติที่เป็นพรหม ทุคติไปชั่วก็คือ ชาติที่เป็นเดียรรัจฉาน เป็นสัตว์นรก เป็นเปรตอสุรกายบรรดาที่เป็นอบายภูมิทั้งหลาย สรุปลงก็เป็นสุคติและทุคติดังที่กล่าวมานี้ นี้ข้อหนึ่ง

และทรงจับเหตุได้แล้วแน่นอนว่าอะไรเป็นเหตุให้ไปสุคติ อะไรเป็นเหตุให้ไปทุคติ ก็คือกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้ กรรมดี กรรมชั่ว กรรมดีก็ให้ไปบังเกิดดีเป็นสุคติ กรรมชั่วก็ให้บังเกิดชั่วเป็นทุคติ ก็ทรงจับเหตุได้ว่าคือกรรม และเมื่อได้ทรงระลึกย้อนดูมากมายก็ทรงเห็นกรรมชัดเจน เพราะเหตุว่าทรงทราบรายละเอียดว่าเกิดในชาตินั้นๆ ทำอะไร และเมื่อตายไปแล้วไปเกิดเป็นอะไร ก็จับได้ชัดเจนว่าไม่มีใครที่ไหนมาสร้าง เป็นไปตามกรรมที่ตนเองได้กระทำไว้เท่านั้น และในการที่จะรู้กรรมนี้ จำเป็นที่จะต้องระลึกรู้ไปได้มากๆ เหมือนอย่างว่าได้ตรวจทำสถิติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งไว้มากๆ มากจนสามารถจะพิจารณาวิจัยได้ ซึ่งก็เป็นหลักปฏิบัติในทางที่จะค้นคว้าแม้สิ่งที่เป็นวัตถุ จึงจำเป็นที่จะต้องมีสถิติที่เป็นมาแล้ว และเพราะเหตุนี้จึงได้มีตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่งว่า คนที่ระลึกชาติได้เพียงหนเดียวนั้น ยังมีมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิดได้ เพราะว่าบุคคลบางพวกทำดีในชาตินี้ ตายแล้วไปเกิดในทุคติ เช่นไปนรกหรือไปเกิดเป็นเปรตอสุรกาย บุคคลบางพวกทำชั่วในชาตินี้ ตายแล้วไปเกิดในสุคติ เช่นว่าไปเกิดเป็นมนุษย์ในตระกูลที่มีสุข หรือไปเกิดในสวรรค์ เมื่อเป็นดั่งนี้คนที่ระลึกชาติได้เพียงหนึ่งหนนั้นอาจมีความเห็นผิดได้ ว่าทำชั่วได้ดี ทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดีคือว่าทำชั่วในชาตินี้ ตายแล้วไปเกิดในสุคติดังกล่าว ทำดีได้ชั่วก็คือทำดีในชาตินี้ ตายแล้วไปเกิดในทุคติดังกล่าว ระลึกชาติได้หนเดียว จึงอาจมีมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิดได้ แต่ว่าพระพุทธองค์นั้นทรงรู้ระลึกชาติได้มากมายดังกล่าวแล้ว นับว่าทรงได้สถิติที่ยืดยาวและมากมายเพียงพอ จนสรุปได้ว่ากรรมนั้นมีผลเป็น ๓ อย่าง

สรุปผลของกรรม
หนึ่ง กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน
สอง กรรมที่ให้ผลในภพชาติต่อไป
สาม กรรมที่ให้ผลในภพชาติที่สืบต่อไปอีกจากภพชาติหน้า

ทรงสรุปผลของกรรมได้เป็น ๓ ดั่งนี้ อันหมายความว่า เช่นคนทำดีในชาตินี้ ชาติหน้าก็ได้รับผลดีต่อไป แต่บางคนนั้นทำดีในชาตินี้ ในชาติหน้ายังไม่ได้รับผลของความดี เพราะว่าต้องรับผลของความชั่วที่ทำไว้แล้วในชาติก่อนจากชาตินี้ก่อน และในชาติภพต่อๆ ไปอีกจึงจะได้รับผลดีที่ทำไว้ในชาตินี้ เพราะเหตุที่ได้ทรงระลึกรู้ถึงความเวียนว่ายตายเกิดของสัตวโลกมากมาย จึงสรุปผลการให้ผลของกรรมได้เป็น ๓ ดั่งนี้ ซึ่งเป็นความรู้ที่แน่นอน เพราะสถิติที่ทรงได้นั้นมากมายเพียงพอ และยังได้ตรัสรู้ถึงกรรมและการให้ผลของกรรมซึ่งมีรายละเอียดอย่างอื่นๆ ซึ่งทรงวางเป็นหลักสั่งสอนได้อย่างแน่นอน และก็มิใช่ว่าจะต้องรอไปถึงชาติหน้า กรรมและการให้ผลของกรรมนั้นก็ปรากฏตั้งแต่ชาตินี้ ซึ่งก็ทรงแสดงสั่งสอนไว้อีกที่จะพิจารณาเห็นได้ก็เป็นอันว่าทรงจับเหตุของความเวียนว่ายตายเกิดในสุคติและในทุคติได้ว่าคือกรรม แล้วก็ทรงจับได้ว่าการให้ผลของกรรมย่อลงก็เป็น ๓ ดั่งนี้ และก็ทรงจับเหตุได้อีกว่า ทำไมจึงต้องทำกรรมอันเป็นเหตุให้เวียนว่ายตายเกิดในสุคติบ้างในทุคติบ้าง ก็เพราะยังมีกิเลส ตั้งต้นแต่อวิชชาคือความไม่รู้ และเป็นปัจจัยให้เกิดผล

แล้วก็เป็นปัจจัยให้เกิดเหตุสืบต่อกัน จนถึงเป็นภพเป็นชาติ เป็นภพต่างๆ เป็นทุกข์ต่างๆ วนเวียนกันอยู่ ดังที่เรียกว่าปฏิจจสมุปบาท ธรรมที่อาศัยกันบังเกิดขึ้น ซึ่งสรุปเข้าก็ในอริยสัจทั้ง ๔ อันทำให้ได้ตรัสรู้ว่านี้ทุกข์ นี้เหตุเกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี้อาสวะ กิเลสที่ดองสันดาน นี้เหตุเกิดอาสวะ นี้ความดับอาสวะ นี้ทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ วิชชาที่ทำให้รู้แจ่มแจ้งขึ้นตามความเป็นจริงในอริยสัจทั้ง ๔ เรียกว่า ๒ สาย สายหนึ่งก็คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ อีกสายหนึ่งก็คืออาสวะ เหตุเกิดอาสวะ ความดับอาสวะ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ จึงได้ทรงเป็นพุทโธ คือเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้เห็นแล้ว เป็นความตรัสรู้ขึ้นในธรรมที่มิได้ทรงสดับมาก่อน เป็นความรู้ที่ผุดขึ้นเอง จึงได้พระนามว่าสัมมาสัมพุทธะ พระผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ ที่เรียกว่าไม่มีครูบาอาจารย์สั่งสอนก็หมายถึงตอนนี้ ตอนที่พระญาณที่อริยสัจทั้ง ๔ นี้ผุดขึ้นในธรรมที่มิได้ตรัสรู้มาก่อน คือไม่ได้สดับฟังมาก่อน จึงทรงปฏิญญาพระองค์ว่า เป็นอภิสัมพุทธะ ตรัสรู้เองชอบ พระสัมมาสัมโพธิญาณ ความหยั่งรู้ ตรัสรู้เองโดยชอบ เมื่อทรงจับเหตุแห่งความเวียนว่ายตายเกิดที่ทรงระลึกรู้ในพระญาณที่ ๑ จนถึงที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นก็เป็นอันว่ายุติได้ ไม่ต้องไปหาสถิติต่อไปอีก สถิติคือชาติภพในอดีตมากมายนั้น ทรงระลึกรู้ไปๆ ก็ไม่หมด แต่ว่าเมื่อมากจนมีสถิติเพียงพอให้ทรงจับเหตุได้ดังกล่าว ก็เป็นอันยุติได้แล้ว ไม่ต้องตามรู้ต่อไปอีก

เพราะฉะนั้นความเวียนว่ายตายเกิดในอดีตคือในเบื้องต้น จึงเรียกว่าอนมตัคคะ คือมียอดหรือมีที่สุดที่ไม่ตามไปรู้ แม้พระพุทธญาณเองก็ไม่ตามไปรู้ ไม่ใช่หมายความว่าตามไปรู้ไม่ได้ ตามไปรู้ได้ แต่ว่าไม่จบ คงมีเรื่อยๆ เมื่อระลึกก็รู้ไปๆ และเมื่อมีสถิติจับเหตุได้แน่นอนดังกล่าว ก็เป็นอันว่ายุติได้ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่ามีที่สุดที่ไม่ตามไปรู้ คือแม้พระพุทธญาณก็ไม่ตามไปรู้ และเพื่อให้ชัดจึงเติมคำว่าในเบื้องต้น มีที่สุดในเบื้องต้นที่ไม่ตามไปรู้ แต่ว่าในที่สุดในเบื้องปลายคือในอนาคตนั้นก็อาจตามไปรู้ได้ ไม่ยาวนักก็ได้หรือยาวก็ได้ คือผู้ที่ได้ตั้งอธิษฐานจิตที่จะตรัสรู้ธรรมเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นเอง คือที่ปรารถนาพุทธญาณ ปรารถนาความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า แล้วก็จับบำเพ็ญบารมี ก็อาจจะทำนายถึงที่สุดเบื้องปลายได้ และแม้ผู้ที่บำเพ็ญบารมีในส่วนที่จะเป็นสาวก คือฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วก็ปฏิบัติไปในมรรคมีองค์ ๘ ก็ทำกิเลสและกองทุกข์ให้สิ้นไปจริงๆ มีความก้าวหน้าไปในทางปฏิบัติ ก็อาจจะทำนายรู้อนาคตในเบื้องปลายได้ว่าจะถึงที่สุดในเมื่อไหร่ อย่างสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายทรงปรารถนาพุทธภูมิ ทรงบำเพ็ญพระบารมี พระพุทธเจ้าในอดีตที่ทรงปรารถนาพุทธภูมิด้วยนั้น ก็ได้เคยมีพุทธทำนายไว้ ว่าเมื่อนั้นๆ ท่านผู้นี้จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าก็เป็นอันว่ารู้ถึงที่สุดเบื้องปลายได้ แม้พระสาวกทั้งหลายก็เหมือนกัน เมื่อได้ปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ จริงๆ ก็สามารถที่จะกำหนดเบื้องปลายได้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อใด หมายความว่ากำจัดกิเลสและอาสวะได้สิ้นเชิงเป็นพระอรหันต์ ก็เป็นอันสิ้นชาติสิ้นภพไม่เกิดอีก ก็เป็นถึงที่สุด คือที่พระอรหันต์ดับขันธ์แล้วไม่เกิด แต่ว่าก็ไม่สูญ ดังที่ได้กล่าวถึงไว้แล้ว

ตามที่กล่าวมานี้ ก็มาทบทวนทำความเข้าใจในคำว่าอนมตัคคะ ที่หมายถึงสังสารวัฏความเวียนว่ายตายเกิด มีที่สุดในเบื้องต้นที่ไม่ตามไปรู้แล้ว แม้พระพุทธญาณก็ไม่ตามไปรู้ แต่ในเบื้องปลายนั้นอาจจะรู้ได้ ยาวก็ได้สั้นก็ได้ แต่ผู้ที่ไม่ได้ปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ นั้น ก็คงยาวมากคล้ายๆ หรือเหมือนในเบื้องต้นเหมือนกัน แต่ถ้าปฏิบัติในมรรคมีองค์ ๘ แล้ว ก็ยังอยู่ในเขตที่เรียกว่าตามไปรู้ได้ ยิ่งเป็นพระโสดาบันแล้วยิ่งมีกำหนดไว้ชัดเจนทีเดียวว่า จะเกิดอีกไม่เกินเท่านั้นชาติเท่านี้ชาติ จึงเป็นระยะเวลาไม่มาก ก็นับว่าถึงที่สุด พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่เรียกว่าธรรมนั้นก็เป็นคำสั่งสอนที่คล้ายๆ อย่างนี้เป็นอันมาก ดังบรรดาโรคทั้งหลายมีมากมายโรคนั้นโรคนี้ พระพุทธเจ้าได้สรุปไว้ ๓ อย่าง คือ

๑. โรคบางอย่างไม่รักษาก็หาย รักษาก็หาย
๒. โรคบางอย่างรักษาก็ไม่หาย ไม่รักษาก็ไม่หาย
๓. โรคาบางอย่างรักษาหายได้ ไม่รักษาก็ไม่หาย

ทรงสรุปไว้ ๓ อย่าง และธรรมที่ทรงแสดงถึงบุคคลประเภทต่างๆ ทรงแสดงถึงธรรมมีข้อเดียว สองข้อเป็นต้น ต่างก็ล้วนเป็นข้อสรุปทั้งนั้น ตั้งแต่ทุกะ หมวด ๒ ธรรมมีอุปการะมาก ๒ อย่าง คือบรรดาธรรมคือคุณอันจะเป็นเครื่องเกื้อกูลอุปการะมากทั่วๆ ไปนั้น ก็สรุปเข้ามา ๒ อย่าง คือ ๑. สติ ความระลึกได้ ๒. สัมปชัญญะ ความรู้ตัว ในข้ออื่นอีกก็เหมือนกัน เช่นเป็นบุคคลก็บุคคลหาได้ยากสอง คือ ๑. บุพการี ผู้กระทำอุปการะก่อน ๒. กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านได้กระทำแล้ว และประกาศอุปการะของท่านที่ทำแล้วให้ปรากฏคือตอบแทน ดั่งนี้ก็เป็นข้อที่สรุปเข้ามา สรุปเข้ามาให้บุคคลรู้และจะได้ปฏิบัติ

ทรงตรัสรู้เหตุและผลในอริยสัจ

ดังเช่นพระญาณของพระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ระลึกถึงชาติหนหลังต่างๆ ได้มากมายดังกล่าวแล้ว ก็เป็นความระลึกรู้ที่รู้ไปว่าชาติไหนเกิดเป็นอะไรทำอะไร และชาติต่อไปเป็นอะไรทำอะไรระลึกไปก็รู้ไปๆ เป็นสถิติที่ทรงจับได้ว่ารวมเข้าก็เป็นสุคติเป็นทุคติ และรวมเข้าก็เพราะกรรมรวมเข้าก็เพราะยังมีกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้ทำกรรม และกิเลสนั้นก็ทรงจับเริ่มต้นแต่อวิชชาเป็นเหตุปัจจัยเรื่อยไป จนถึงชาติภพต่างๆ รวมเข้าก็เป็นอริยสัจ ๔ สองสาย รวมเข้าก็เป็นข้อสรุปทั้งนั้น และเมื่อได้ข้อที่สรุปเข้าดั่งนี้แล้ว ก็เป็นอันว่าสิ้นปัญหาทั้งหมด แม้จะมีปริมาณมากมายนับไม่ถ้วน แต่ก็สรุปเข้าในหลักการในหัวข้อที่ตรัสรู้นั้น

ยกตัวอย่างดังเช่นว่า เมื่อยังมีทุกขสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ก็จะต้องมีทุกข์อันเป็นตัวผล และเมื่อมีเหตุคือสมุทัย ก็ต้องมีผล มีทุกขสมุทัยก็ต้องมีทุกข์ ทุกขสมุทัยเป็นเหตุ ทุกข์ก็เป็นผล และทุกข์นั้นก็ตั้งต้นเป็น ชาติปิ ทุกฺขา ชาติความเกิดเป็นทุกข์ ดังที่เราสวดกัน เพราะฉะนั้นในชาติเดียวสองชาติสามชาติหมื่นชาติแสนชาติล้านชาติโกฏิชาติหรือนับไม่ถ้วนชาติ ก็รวมเข้าเป็น ชาติปิ ทุกฺขา ทั้งนั้น ไม่มีที่จะเป็น ชาติปิ สุขา ต้องเป็น ชาติปิ ทุกฺขา ทั้งนั้น แล้วก็เกิดทุกขสมุทัยที่ตัณหา ซึ่งสืบขึ้นไปถึงอวิชชาเป็นต้นทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นเมื่อจับหลักอันแน่นอนได้ดั่งนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นจะต้องไปกังวลว่ากี่ชาติๆ เมื่อยังมีทุกขสมุทัยอยู่ก็ต้องมีชาติทุกข์ อดีตก็เหมือนกัน อนาคตก็เหมือนกัน ปัจจุบันก็เหมือนกัน เป็นหลักอันเดียวกันหมด เหมือนอย่างวิชาการปัจจุบัน เช่นว่าฝนตก หากว่าจะค้นหาสถิติว่าปีหนึ่งมีฝนตกกี่หน แล้วก็นับย้อนขึ้นไปว่าปีที่แล้วมีฝนตกกี่หน แล้วก็นับย้อนขึ้นไปๆ อีก ๑๐ ปี ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๕๐ ปี ๑๐๐ ปี ๑๐๐๐ ปี แสนปี ว่าปีหนึ่งๆ มีฝนตกกี่หน ก็ไม่สิ้นสุดอีกเหมือนกัน หรือแม้ว่าจะย้อนไปในอนาคตว่าปีหน้าฝนตกกี่หนก็เหมือนกัน แต่ว่าเมื่อพิจารณาหาเหตุว่าฝนตกเพราะอะไร เมื่อจับเหตุได้ดังหลักของวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันที่จับเหตุของฝนตกได้ว่าเพราะอะไรฝนจึงตก เมื่อจับเหตุได้ว่าเพราะอะไร เพราะเหตุนี้ฝนจึงตก ดังนี้ฝนซึ่งเป็นตัวผลจึงบังเกิดขึ้น ก็เป็นอันว่าไม่จำเป็นจะต้องไปทำสถิติว่าปีที่แล้วๆ มาย้อนหลังไปฝนตกกี่หนเพราะว่าจับเหตุได้แล้ว และเมื่อจับเหตุได้แล้วจึงสามารถทำฝนเทียมได้ ทำฝนหลวงได้ ดังที่ทำกันอยู่ ก็ต้องการที่จะรู้เหตุรู้ผล นี้แหละซึ่งเป็นตัวหลัก

พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้นั้นก็คือตรัสรู้เหตุและผลซึ่งเป็นตัวหลัก ดูตรงที่จิตซึ่งเป็นตัวเดิมของอหังการที่เป็นตัวเรา หรือของสัตวโลกหรือของอัตตาตัวเราตัวเขาที่เป็นภายในนี้แหละ ทรงจับเหตุจับผลได้ และทรงแสดงเหตุผลที่ทรงจับได้นั้นมาสั่งสอน เพราะว่าเมื่อทรงรู้ได้แน่นอนแล้ว ว่าเมื่อยังมีตัวทุกขสมุทัยอยู่ ก็ต้องมีความเวียนว่ายตายเกิด มี ชาติปิ ทุกฺขา กันอยู่เรื่อยไปนั่นแหละ แล้วก็ที่จะมาถึงชาติภพอันนี้ที่มาเกิดเป็นมนุษย์ ก็นับว่าเป็นสุคติ ก็เพราะกรรมดี ฉะนั้นจึงได้ทรงสั่งสอนให้ทำกรรมดี ละกรรมชั่ว ดังโอวาทปาฏิโมกข์ว่า สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง กุสลสฺสูปสมฺปทา การยังกุศลให้ถึงพร้อมคืออุปสมบทกุศล พระพุทธเจ้าก่อนที่จะทรงตั้งวินัยนั้น ก็ทรงสอนให้อุปสมบทแล้วตั้งแต่ต้น ให้อุปสมบทกุศลคือการทำกุศลให้ถึงพร้อม แล้วก็ สจิตฺตปริโยทปนํ การทำจิตของตนให้ผ่องใส ก็ให้ผ่องใสจากบรรดากิเลสทั้งหลาย เมื่อผ่องใสได้หมด จิตบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว ก็เป็นอันว่าบรรลุถึงที่สุด คือว่าถอนลูกศรคือกิเลสออกจากจิตได้หมดแล้ว จิตสิ้นกิเลสสิ้นอาสวะที่ดองสันดาน ก็เป็นพระอรหันต์ก็สิ้นชาติสิ้นภพกัน ก็ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป จึงเอาธรรมที่ตรัสรู้แล้วนี้แหละมาสั่งสอนและธรรมที่ตรัสรู้นั้นก็ทรงจับเหตุจับผลจากความตรัสรู้นั้นเองไปโดยลำดับ จนถึงสรุปยอดสุดคือทำกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวงให้สิ้นไปหมด จึงทรงเป็นพุทโธขึ้นที่ตรงจุดนั้น

๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๖

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version