ผู้เขียน หัวข้อ: องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา (๑. สัมมาทิฏฐิ)  (อ่าน 13649 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 06:11:01 am »

ถ้าแม้นบุรุษมีความเห็นที่ถูกใจ...มีการเรียนต่อกันมา...มีการคิดตรองตามเหตุผล...มีความเห็นที่ตรงกับทฤษฎีของตนอยู่ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) เมื่อเขากล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความเห็นที่ถูกใจอย่างนี้...มีการเล่าเรียนมาอย่างนี้...มีสิ่งที่คิดตรองตามเหตุผลได้อย่างนี้...มีความเห็นตามทฤษฎีของตนว่าอย่างนี้” ก็ยังชื่อว่าเขาอนุรักษ์สัจจะอยู่ แต่จะลงความเห็นเด็ดขาดลงไปเป็นอย่างเดียวว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหล (ทั้งนั้น)” ไม่ได้ก่อน

 ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ชื่อว่ามีการอนุรักษ์สัจจะ และคนผู้นั้นก็ชื่อว่าอนุรักษ์สัจจะ อีกทั้งเราก็บัญญัติการอนุรักษ์สัจจะด้วยการปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการหยั่งรู้สัจจะ

 ท่าทีนี้ปรากฏชัด เมื่อตรัสเจาะจงเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา คือ ในคราวที่มีคนภายนอกกำลังพูดสรรเสริญบ้าง ติเตียนบ้าง ซึ่งพระพุทธศาสนา พระภิกษุสงฆ์นำเรื่องนั้นมาสนทนากัน พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า

 ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีคนพวกอื่นมากล่าวติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์ เธอทั้งหลายไม่ควรอาฆาต ไม่ควรเศร้าเสียใจ ไม่ควรแค้นเคือง เพราะคำติเตียนนั้น ถ้าเธอทั้งหลายโกรธเคือง หรือเศร้าเสียใจ เพราะคำติเตียนนั้น ก็จะกลายเป็นอันตรายแก่พวกเธอทั้งหลายเองนั่นแหละ (คือ) หากคนพวกอื่นติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์ ถ้าเธอทั้งหลายโกรธเคือง เศร้าเสียใจ เพราะคำติเตียนนั้นแล้ว เธอทั้งหลายจะรู้ชัดถ้อยคำนี้ของเขาว่า พูดถูก พูดผิด ได้ละหรือ?”

 ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ไม่อาจรู้ชัดได้”

 ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีคนพวกอื่นกล่าวติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์ ในกรณีนั้น เมื่อไม่เป็นจริง พวกเธอก็พึงแก้ให้เห็นว่าไม่เป็นจริงว่า “ข้อนี้ไม่เป็นจริง เพราะอย่างนี้ๆ ข้อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะอย่างนี้ๆ สิ่งนี้ไม่มีในพวกเรา สิ่งนี้หาไม่ได้ในหมู่พวกเรา”

 ภิกษุทั้งหลาย  ถ้ามีคนพวกอื่นกล่าวชมเรา ชมธรรม ชมสงฆ์  เธอทั้งหลายไม่ควรเริงใจ ไม่ควรดีใจ ไม่ควรกระหยิ่มลำพองใจ ในคำชมนั้น ถ้ามีคนมากล่าวชมเรา ชมธรรม ชมสงฆ์ หากเธอทั้งหลาย เริงใจ ลำพองใจแล้วไซร้  ก็จะเป็นอันตรายแก่พวกเธอเองนั่นแหละ  ถ้ามีคนมากล่าวชมเรา ชมธรรม ชมสงฆ์ ในกรณีนั้น เมื่อเป็นความจริง พวกเธอก็ควรรับรองว่าเป็นความจริงว่า “ข้อนี้เป็นจริง เพราะอย่างนี้ๆ ข้อนี้ถูกต้องเพราะอย่างนี้ๆ  สิ่งนี้มีในพวกเรา สิ่งนี้หาได้ในหมู่พวกเรา”

 ต่อจากการอนุรักษ์สัจจะ พระพุทธเจ้าทรงแสดงข้อปฏิบัติเพื่อให้หยั่งรู้และเข้าถึงสัจจะ และในกระบวนการปฏิบัตินี้ จะมองเห็นการเกิดศรัทธา ความหมาย ความสำคัญ และขอบเขตความสำคัญของศรัทธาไปด้วย ดังนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #11 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 06:28:07 am »

ด้วยข้อปฏิบัติเท่าใด จึงจะมีการหยั่งรู้สัจจะ และบุคคลจึงจะชื่อว่าหยั่งรู้สัจจะ ?

 เมื่อได้ยินข่าวว่า มีภิกษุเข้าไปอาศัยหมู่บ้าน หรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ คฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดี เข้าไปหาภิกษุนั้นแล้ว ย่อมใคร่ครวญดูในธรรมจำพวกโลภะ ธรรมจำพวกโทสะ ธรรมจำพวกโมหะว่า ท่านผู้นี้ มีธรรมจำพวกโลภะที่จะเป็นเหตุครอบงำจิตใจ ทำให้กล่าวได้ทั้งที่ไม่รู้ว่า “รู้” ทั้งที่ไม่เห็นว่า “เห็น” หรือทำให้เที่ยวชักชวนคนอื่นให้เป็นไปในทางที่จะก่อให้เกิดทุกข์ชั่วกาลนานแก่คนอื่นๆ หรือไม่ ?

 เมื่อเขาพิจารณาตัวเธออยู่ รู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมจำพวกโลภะที่จะเป็นเหตุครอบงำจิตใจ ทำให้กล่าวได้ทั้งที่ไม่รู้ว่า “รู้” ทั้งที่ไม่เห็นว่า “เห็น” หรือทำให้เที่ยวชักชวนคนอื่นให้เป็นไปในทางที่จะก่อให้เกิดสิ่งที่มิใช่ประโยชน์เกื้อกูลและเกิดทุกข์ชั่วกาลนานแก่คนอื่นๆได้เลย อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกายสมาจาร วจีสมาจาร อย่างคนไม่โลภ ธรรมที่ท่านผู้นี้แสดง ก็ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก หยั่งรู้ได้ยาก เป็นของสงบ ประณีต ไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยตรรก ละเอียดอ่อน บัณฑิตจึงรู้ได้ ธรรมนั้นมิใช่สิ่งที่คนโลภจะแสดงได้ง่ายๆ

 เมื่อใด เขาพิจารณาตรวจดู มองเห็นว่าเธอเป็นผู้บริสุทธิ์จากธรรมจำพวกโลภะแล้ว เมื่อนั้นเขาย่อมพิจารณาตรวจดูเธอยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ในธรรมจำพวกโทสะ ในธรรมจำพวกโมหะ ฯลฯ

 เมื่อใด เขาพิจารณาตรวจดู มองเห็นว่าเธอเป็นผู้บริสุทธิ์จากธรรมจำพวกโมหะแล้ว คราวนั้น เขาย่อมฝังศรัทธาลงในเธอ
 เขาเกิดศรัทธาแล้ว ก็เข้าหา เมื่อเข้าหา ก็คอยนั่งอยู่ใกล้ (คบหา) เมื่อคอยนั่งอยู่ใกล้ ก็เงี่ยโสตลง (ตั้งใจคอยฟัง) เมื่อเงี่ยโสตลง ก็ได้สดับธรรม ครั้นสดับแล้ว ก็ทรงธรรมไว้ ย่อมพิจารณาไตร่ตรองอรรถแห่งธรรมที่ทรงไว้ เมื่อไตร่ตรองอรรถอยู่ ก็เห็นชอบด้วยกับข้อธรรมตามที่ (ทนต่อการ)คิดเพ่งพิสูจน์ เมื่อเห็นชอบด้วยกับข้อธรรมดังที่คิดเพ่งพิสูจน์ ฉันทะก็เกิด เมื่อเกิดฉันทะ ก็อุตสาหะ ครั้นอุตสาหะแล้ว ก็เอามาคิดทบทวนเทียบเคียง ครั้นเทียบเคียงแล้ว ก็ย่อมลงมือทำความเพียร เมื่อลงมือทำทุ่มเทจิตใจให้แล้ว
ก็ย่อมทำปรมัตถสัจจะให้แจ้งกับตัว และเห็นแจ้งแทงตลอดปรมัตถสัจจะนั้นด้วยปัญญา

ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้ ชื่อว่ามีการหยั่งรู้สัจจะ และบุคคลชื่อว่า หยั่งรู้สัจจะ และเราย่อมบัญญัติการหยั่งรู้สัจจะ (สัจจานุโพธ) ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงสัจจะก่อน

ด้วยข้อปฏิบัติเท่าใด จึงมีการเข้าถึงสัจจะ และคนจึงชื่อว่าเข้าถึงสัจจะ?
การอาเสวนะ การเจริญ การกระทำให้มาก ซึ่งธรรมเหล่านั้นแหละ
ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงสัจจะ (สัจจานุปัตติ) ฯลฯ

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #12 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 07:05:31 am »



-3 สร้างศรัทธาด้วยการใช้ปัญญาตรวจสอบ

สำหรับคนสามัญทั่วไป ศรัทธาเป็นธรรมขั้นต้นที่สำคัญยิ่ง เป็นอุปกรณ์ชักนำให้เดินหน้าต่อไป เมื่อใช้ถูกต้องจึงเป็นการเริ่มต้นที่ดี ทำให้การก้าวหน้าไปสู่จุดหมายได้ผลรวดเร็วขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงปรากฏว่า บางคราวผู้มีปัญญามากกว่า แต่ขาดความเชื่อมั่น กลับประสบความสำเร็จช้ากว่าผู้มีปัญญาด้อยกว่าแต่มีศรัทธาแรงกล้า  ในกรณีที่ศรัทธานั้นไปตรงกับสิ่งที่ถูกต้องแล้ว จึงเป็นการทุ่นแรงทุ่นเวลาไปในตัว ตรงกันข้าม ถ้าศรัทธาเกิดในสิ่งที่ผิดก็เป็นการทำให้เขว ยิ่งหลงชักช้าหนักขึ้นไปอีก

 อย่างไรก็ดี ศรัทธาในพุทธธรรม มีเหตุผลเป็นฐานรองรับ มีปัญญาคอยควบคุม จึงยากที่จะผิด นอกจากพ้นวิสัยจริงๆ และก็สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ ไม่ดิ่งไปในทางที่ผิด เพราะคอยรับรู้เหตุผล ค้นคว้า ตรวจสอบและทดลองอยู่ตลอดเวลา

 การขาดศรัทธา เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ชะงัก ไม่ก้าวหน้าต่อไปในทิศทางที่ต้องการ ดังพุทธพจน์ว่า :-
 ภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ยังสลัดทิ้งตอในใจ ๕ อย่างไม่ได้ ยังถอนสิ่งผูกรัดใจ ๕ อย่างไม่ได้ ข้อที่ว่าภิกษุนั้นจักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้

 ตอในใจที่ภิกษุนั้นยังสลัดทิ้งไม่ได้ คือ :-

๑. ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในพระศาสดา...
๒. ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในธรรม...
๓. ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในสงฆ์...
๔. ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในสิกขา...
๕. ภิกษุโกรธเคือง น้อยใจ มีจิตใจกระทบกระทั่ง เกิดความกระด้าง
    เหมือนเป็นตอเกิดขึ้นในเพื่อนพรหมจรรย์...


 จิตของภิกษุผู้ยังสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในพระศาสดา...ในธรรม...ในสงฆ์...ในสิกขา...โกรธเคือง ฯลฯ ในเพื่อนพรหมจรรย์ ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความหมั่นฝึกฝนอบรม เพื่อความพยายามอย่างต่อเนื่อง เพื่อการลงมือทำความพยายาม ภิกษุผู้มีจิตที่ยังไม่น้อมไปเพื่อความเพียร...ชื่อว่ามีตอในใจซึ่งสลัดทิ้งไม่ได้...

 โดยนัยนี้ การขาดศรัทธา มีความสงสัย แคลงใจ ไม่เชื่อมั่น จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาปัญญาและการก้าวหน้าไปสู่จุดหมาย สิ่งที่ต้องทำในกรณีนี้ก็คือ ต้องปลูกศรัทธา และกำจัดความสงสัยแคลงใจ แต่การปลูกศรัทธาในที่นี้ มิได้หมายถึงการยอมรับและมอบความไว้วางใจให้โดยไม่เคารพในคุณค่าแห่งการใช้ปัญญา แต่หมายถึงการคิดพิสูจน์ทดสอบด้วยปัญญาของตนให้เห็นเหตุผลชัดเจน จนมั่นใจ หมดความลังเลสงสัย

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #13 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 07:24:37 am »

วิธีทดสอบนั้น นอกจากที่กล่าวในพุทธพจน์ตอนก่อนแล้ว ยังมีพุทธพจน์แสดงตัวอย่างการคิดสอบสวนก่อนที่จะเกิดศรัทธาอีก เช่นในข้อความต่อไปนี้ ซึ่งเป็นคำสอนให้คิดสอบสวนแม้แต่องค์พระพุทธเจ้าเอง ดังต่อไปนี้ :-

 “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อไม่รู้วิธีกำหนดวาระจิตของผู้อื่น พึงกระทำการพิจารณาตรวจสอบในตถาคต เพื่อทราบว่า พระองค์เป็นสัมมาสัมพุทธ หรือไม่”

 “ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อไม่รู้วิธีกำหนดวาระจิตของผู้อื่น พึงพิจารณาตรวจสอบตถาคตในธรรม ๒ อย่าง คือ ในสิ่งที่พึงรู้ได้ด้วยตา และ หู ว่า

 - เท่าที่พึงรู้ได้ด้วยตาและหู ธรรมที่เศร้าหมอง มีแก่ตถาคต หรือหาไม่ เมื่อเธอพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้น ก็ทราบได้ว่า ธรรมที่พึงรู้ได้ด้วยตาและหู ที่เศร้าหมองของตถาคต ไม่มี

 - จากนั้น เธอก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า เท่าที่พึงรู้ได้ด้วยตาและหู ธรรมที่ (ชั่วบ้าง ดีบ้าง) ปนๆ กันไป มีแก่ตถาคต หรือหาไม่ เมื่อเธอพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้น ก็ทราบได้ว่า เท่าที่พึงรู้ได้ด้วยตาและหู ธรรมที่ (ดีบ้าง ชั่วบ้าง) ปนๆ กันไปของตถาคต ไม่มี

 - จากนั้น เธอก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า เท่าที่รู้ได้ด้วยตาและหู ธรรมที่สะอาดหมดจด มีแก่ตถาคตหรือหาไม่...เธอก็ทราบได้ว่า เท่าที่รู้ได้ด้วยตาและหู ธรรมที่สะอาดหมดจดของตถาคตมีอยู่

 - จากนั้น เธอก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ท่านผู้นี้ประกอบพร้อมบูรณ์ซึ่งกุศลธรรมนี้ ตลอดกาลยาวนาน หรือประกอบชั่วเวลานิดหน่อย...เธอก็ทราบได้ว่า ท่านผู้นี้ประกอบพร้อมบูรณ์ซึ่งกุศลธรรมนี้ ตลอดกาลยาวนาน มิใช่ประกอบชั่วเวลานิดหน่อย

 - จากนั้น เธอก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ท่านภิกษุผู้นี้ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศแล้ว ปรากฏข้อเสียหายบางอย่างบ้างหรือไม่ (เพราะว่า) ภิกษุ (บางท่าน) ยังไม่ปรากฏมีข้อเสียหายบางอย่าง จนกว่าจะเป็นผู้มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ ต่อเมื่อใดเป็นผู้มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เมื่อนั้นจึงปรากฏมีข้อเสียหายบางอย่าง...เธอก็ทราบได้ว่า ท่านภิกษุผู้นี้ เป็นผู้มีชื่อเสียง มีเกียรติยศแล้ว ก็ไม่ปรากฏมีข้อเสียหายบางอย่าง (เช่นนั้น)

 - จากนั้น เธอก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ท่านผู้นี้ เป็นผู้งดเว้น (อกุศล) โดยไม่มีความกลัว มิใช่ผู้งดเว้นเพราะกลัว ไม่เสวนากามทั้งหลาย ก็เพราะปราศจากราคะ เพราะหมดสิ้นราคะ หรือหาไม่...เธอก็ทราบได้ว่า ท่านผู้นี้ เป็นผู้งดเว้นโดยไม่มีความกลัว มิใช่ผู้งดเว้นเพราะกลัว ไม่เสวนากามทั้งหลาย ก็เพราะปราศจากราคะ เพราะหมดราคะ...

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #14 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 07:50:33 am »

หากมีผู้อื่นถามภิกษุนั้นว่า ท่านมีเหตุผล (อาการะ) หยั่งทราบ (อันวยา) ได้อย่างไร จึงทำให้กล่าวได้ว่า ท่านผู้นี้ เป็นผู้งดเว้นโดยไม่มีความกลัว มิใช่ผู้งดเว้นเพราะกลัว ไม่เสวนากามทั้งหลาย ก็เพราะปราศจากราคะ หมดราคะ

ภิกษุเมื่อจะตอบแก้ให้ถูกต้อง พึงตอบแก้ว่า จริงอย่างนั้น ท่านผู้นี้ เมื่ออยู่ในหมู่ก็ตาม อยู่ลำพังผู้เดียวก็ตาม ในที่นั้นๆ ผู้ใดจะปฏิบัติตนได้ดีก็ตาม จะปฏิบัติตนไม่ดีก็ตาม จะเป็นผู้ปกครองหมู่คณะก็ตาม จะเป็นบางคนที่ติดวุ่นอยู่ในอามิสก็ตาม จะเป็นบางคนที่ไม่ติดด้วยอามิสก็ตาม ท่านผู้นี้ไม่ดูหมิ่นคนนั้นๆ เพราะเหตุนั้นๆ เลย ข้าพเจ้าได้สดับ ได้รับฟังถ้อยคำมา จำเพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคทีเดียวว่า   “เราเป็นผู้งดเว้นโดยไม่มีความกลัว เรามิใช่ผู้งดเว้นเพราะกลัว เราไม่เสวนากามทั้งหลาย ก็เพราะปราศจากราคะ เพราะหมดราคะ”

 ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนั้น พึงสอบถามตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า เท่าที่รู้ได้ด้วยตาและหู ธรรมที่เศร้าหมองมีแก่ตถาคตหรือหาไม่ ตถาคตเมื่อตอบแก้ ก็จะตอบแก้ว่า...ไม่มี

 ถามว่า ธรรมที่ (ดีบ้าง ชั่วบ้าง) ปนๆ กันไป มีแก่ตถาคตหรือหาไม่ ตถาคตเมื่อตอบแก้ ก็จะตอบแก้ว่า...ไม่มี
 ถามว่า ธรรมที่สะอาดหมดจด มีแก่ตถาคตหรือหาไม่ ตถาคตเมื่อตอบแก้ ก็จะตอบแก้ว่า...มี เรามีธรรมที่สะอาดหมดจดนั้นเป็นทางดำเนิน และเราจะเป็นผู้มีตัณหาเพราะเหตุนั้นก็หาไม่

 - ศาสดาผู้กล่าวได้อย่างนี้แล สาวกจึงควรเข้าไปหาเพื่อสดับธรรม
 - ศาสดาย่อมแสดงธรรมแก่สาวกนั้น สูงยิ่งขึ้นไปๆ ประณีต (ขึ้นไป)ๆ ทั้งธรรมดำ ธรรมขาว เปรียบเทียบให้เห็นตรงกันข้าม
 - ศาสดาแสดงธรรมแก่ภิกษุ...อย่างใดๆ ภิกษุนั้นรู้ยิ่งธรรมบางอย่างในธรรมนั้นอย่างนั้นๆ แล้ว ย่อมถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย ย่อมเลื่อมใสในศาสดาว่า “พระผู้มีพระภาค เป็นสัมมาสัมพุทธ ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว สงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดี”


 หากจะมีผู้อื่นถามภิกษุนั้นต่อไปอีกว่า “ท่านมีเหตุผล (อาการะ) หยั่งทราบ (อันวยา) ได้อย่างไร  จึงทำให้กล่าวได้ว่า  พระผู้มีพระภาคเป็น สัมมาสัมพุทธ ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว สงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดี?” ภิกษุนั้น เมื่อจะตอบให้ถูก ก็พึงตอบว่า

“ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพื่อฟังธรรม พระองค์ทรงแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า... พระองค์แสดง...อย่างใดๆ ข้าพเจ้ารู้ยิ่ง...อย่างนั้นๆ จึงถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย จึงเลื่อมใสในพระศาสดา...”

 ภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาของบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง ฝังลงในตถาคต เกิดเป็นเค้ามูล เป็นพื้นฐานที่ตั้ง โดยอาการเหล่านี้ โดยบทเหล่านี้ โดยพยัญชนะเหล่านี้ เรียกว่า ศรัทธาที่มีเหตุผล (อาการวตี) มีการเห็นเป็นมูลฐาน (ทัสสนมูลิกา)  มั่นคง อันสมณะ หรือพราหมณ์ หรือเทพเจ้า หรือมาร  หรือพรหม หรือใครๆในโลก ทำให้เคลื่อนคลอนไม่ได้

 การพิจารณาตรวจสอบธรรมในตถาคต เป็นอย่างนี้แล และตถาคต ย่อมเป็นอันได้รับการพิจารณาตรวจสอบดีแล้ว โดยนัยนี้”

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #15 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 09:56:59 am »


-4 ศรัทธาแม้จะสำคัญ แต่จะติดตันถ้าอยู่แค่ศรัทธา

พึงสังเกตว่า แม้แต่ความสงสัยเคลือบแคลงในพระพุทธเจ้า ก็ไม่ได้ถูกถือว่าเป็นบาปหรือความชั่วเลย ถือว่าเป็นเพียงสิ่งที่จะต้องแก้ไขให้รู้แน่ชัดลงไปจนหมดสงสัย ด้วยวิธีการแห่งปัญญา และยังส่งเสริมให้ใช้ความคิดสอบสวนพิจารณาตรวจสอบอีกด้วย เมื่อมีผู้ใดประกาศตัวเองแสดงความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธเจ้า ก่อนที่พระองค์จะประทานความเห็นชอบ จะทรงสอบสวนก่อนว่า ศรัทธาปสาทะของเขามีเหตุผลเป็นมูลฐานหรือไม่ เช่น

 พระสารีบุตรเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลว่า:

 พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคอย่างนี้ว่า สมณะก็ดี พราหมณ์ก็ดี อื่นใด ที่จะมีความรู้ยิ่งไปกว่าพระผู้มีพระภาค ในทางสัมโพธิญาณได้นั้น ไม่เคยมี จักไม่มี และไม่มีอยู่ในบัดนี้

 พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า: สารีบุตร เธอกล่าวอาสภิวาจา (วาจาอาจหาญ) ครั้งนี้ยิ่งใหญ่นัก เธอบันลือสีหนาทถือเด็ดขาดลงไปอย่างเดียวว่า...ดังนี้นั้น เธอได้ใช้จิตกำหนดรู้จิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ เท่าที่มีมาในอดีตแล้วหรือว่า พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นมีศีลอย่างนี้ เพราะเหตุดังนี้ๆ ทรงมีธรรมอย่างนี้ มีปัญญาอย่างนี้ มีธรรมเครื่องอยู่อย่างนี้ หลุดพ้นแล้ว เพราะเหตุดังนี้ๆ ?

 ส.   มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า

 พ. เธอได้ใช้จิตกำหนดรู้จิตของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ที่จักมีในอนาคตแล้วหรือว่า พระผู้มีพระภาคเหล่านั้นจัก...เป็นอย่างนี้ เพราะเหตุดังนี้ๆ ?
 ส.   มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า

 พ. ก็แล้วเราผู้เป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ เธอได้ใช้จิตกำหนดรู้จิตแล้วหรือว่า พระผู้มีพระภาคทรง...เป็นอย่างนี้ เพราะเหตุดังนี้ๆ ?
 ส. มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า

 พ. ก็ในเรื่องนี้ เมื่อเธอไม่มีญาณเพื่อกำหนดรู้จิตใจพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในอดีต อนาคต และปัจจุบันเช่นนี้แล้ว ไฉนเล่า เธอจึงได้กล่าวอาสภิวาจาอันยิ่งใหญ่นักนี้ บันลือสีหนาทถือเป็นเด็ดขาดอย่างเดียว (ดังที่กล่าวมาแล้ว) ?
 ส. พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่มีญาณกำหนดรู้จิตในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งในอดีต อนาคต และปัจจุบัน ก็จริง แต่กระนั้น ข้าพระองค์ทราบการหยั่งแนวธรรม

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #16 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 11:17:38 am »

พระองค์ผู้เจริญ เปรียบเหมือนเมืองชายแดนของพระราชา มีป้อมแน่นหนา มีกำแพงและเชิงเทินมั่นคง มีประตูๆ เดียว คนเฝ้าประตูพระนครนั้น เป็นบัณฑิต เฉียบแหลม มีปัญญา คอยห้ามคนที่ตนไม่รู้จักยอมให้แต่คนที่รู้จักเข้าไป เขาเที่ยวตรวจดูทางแนวกำแพงรอบเมืองนั้น ไม่เห็นรอยต่อ หรือช่องกำแพง แม้เพียงที่แมวลอดออกได้ ย่อมคิดว่า สัตว์ตัวโตทุกอย่างทุกตัว จะเข้าออกเมืองนี้ จะต้องเข้าออกทางประตูนี้เท่านั้น ฉันใด

 ข้าพระองค์ก็ทราบการหยั่งแนวธรรม ฉันนั้นเหมือนกันว่า พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ เท่าที่มีมาแล้วในอดีต ทรงละนิวรณ์ ๕ ที่ทำจิตให้เศร้าหมอง ทำปัญญาให้อ่อนกำลังได้แล้ว มีพระหฤทัยตั้งมั่นดีในสติปัฏฐาน ๔  ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗  ตามเป็นจริง จึงได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ  แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมา- สัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ที่จะมีในอนาคต ก็จัก (ทรงทำอย่างนั้น) แม้พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในบัดนี้ ก็ทรงละนิวรณ์ ๕...มีพระทัยตั้งมั่นในสติปัฏฐาน ๔ ทรงเจริญโพชฌงค์ ๗ ตามเป็นจริง  จึงได้ตรัสรู้ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ (เช่นเดียวกัน) ฯลฯ

 ความเลื่อมใสศรัทธาต่อบุคคลผู้ใดผู้หนึ่งนั้น ถ้าใช้ให้ถูกต้อง คือเป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยให้ก้าวหน้าต่อไป ก็ย่อมเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ แต่ในเวลาเดียวกัน ก็มีข้อเสีย เพราะมักจะกลายเป็นความติดในบุคคล และกลายเป็นอุปสรรคบั่นทอนความก้าวหน้าต่อไป ข้อดีของศรัทธาปสาทะนั้น เช่น

 อริยสาวกผู้ใด เลื่อมใสอย่างยิ่งแน่วแน่ถึงที่สุดในตถาคต อริยสาวกนั้นจะไม่สงสัย หรือแคลงใจ ในตถาคต หรือ ศาสนา (คำสอน) ของตถาคต  แท้จริง สำหรับอริยสาวกผู้มีศรัทธา เป็นอันหวังสิ่งนี้ได้ คือ เขาจักเป็นผู้ตั้งหน้าทำความเพียร เพื่อกำจัดอกุศลธรรมทั้งหลาย (และ) บำเพ็ญกุศลธรรมทั้งหลายให้พร้อมบูรณ์ จักเป็นผู้มีเรี่ยวแรง บากบั่นอย่างมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย

 ส่วนข้อเสียก็มี ดังพุทธพจน์ว่า
 ภิกษุทั้งหลาย ข้อเสีย ๕ อย่างในความเลื่อมใสบุคคลมีดังนี้ คือ

 ๑. บุคคลเลื่อมใสยิ่งในบุคคลใด บุคคลนั้นต้องอาบัติอันเป็นเหตุให้สงฆ์ยกวัตร เขาจึงคิดว่า บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ ถูกสงฆ์ยกวัตรเสียแล้ว...
 ๒. บุคคลเลื่อมใสยิ่งในบุคคลใด บุคคลนั้นต้องอาบัติอันเป็นเหตุให้สงฆ์บังคับให้นั่ง ณ ท้ายสุดสงฆ์เสียแล้ว...
 ๓. ...บุคคลนั้น ออกเดินทางไปเสียที่อื่น...
 ๔. ...บุคคลนั้น ลาสิกขาเสีย...
 ๕. ...บุคคลนั้น ตายเสีย...

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #17 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 11:48:47 am »

เขาย่อมไม่คบหาภิกษุอื่นๆ เมื่อไม่คบหาภิกษุอื่นๆ ก็ย่อมไม่ได้สดับสัทธรรม
เมื่อไม่ได้สดับสัทธรรม ก็ย่อมเสื่อมจากสัทธรรม

 เมื่อความเลื่อมใสศรัทธากลายเป็นความรัก ข้อเสียในการที่ความลำเอียงจะมาปิดบังการใช้ปัญญาก็เกิดขึ้นอีก เช่นภิกษุทั้งหลาย  สิ่ง ๔ ประการนี้ ย่อมเกิดขึ้นได้  คือ

ความรักเกิดจากความรัก
โทสะเกิดจากความรัก

ความรักเกิดจากโทสะ
โทสะเกิดจากโทสะ ฯลฯ

โทสะเกิดจากความรักอย่างไร? บุคคลที่ตนปรารถนา รักใคร่ พอใจ ถูกคนอื่นประพฤติต่อด้วยอาการที่ไม่ปรารถนา ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าพอใจ เขาย่อมมีความคิดว่า บุคคลที่เราปรารถนา รักใคร่พอใจนี้ ถูกคนอื่นประพฤติต่อด้วยอาการที่ไม่น่าปรารถนา ไม่น่ารักใคร่ ไม่น่าพอใจ ดังนี้ เขาย่อมเกิดโทสะในคนเหล่านั้น ฯลฯ


 แม้แต่ความเลื่อมใสศรัทธาในองค์พระศาสดาเอง เมื่อกลายเป็นความรักในบุคคลไป ก็ย่อมเป็นอุปสรรคต่อความหลุดพ้น หรืออิสรภาพทางปัญญาในขั้นสูงสุดได้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้ละเสีย แม้บางครั้งจะต้องใช้วิธีค่อนข้างรุนแรง ก็ทรงทำ เช่น ในกรณีของพระวักกลิ ซึ่งมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระองค์อย่างแรงกล้า อยากจะติดตามพระองค์ไปทุกหนทุกแห่ง เพื่อได้อยู่ใกล้ชิด ได้เห็นพระองค์อยู่เสมอ ระยะสุดท้ายเมื่อพระวักกลิป่วยหนักอยากเฝ้าพระพุทธเจ้า ส่งคนไปกราบทูล พระองค์ก็เสด็จมา และมีพระดำรัสเพื่อให้เกิดอิสรภาพทางปัญญาแก่พระวักกลิตอนหนึ่งว่า

 พระวักกลิ: ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นเวลานานนักแล้ว ข้าพระองค์ปรารถนาจะไปเฝ้า เพื่อจะเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ร่างกายของข้าพระองค์ ไม่มีกำลังเพียงพอที่จะไปเฝ้าเห็นองค์พระผู้มีพระภาคเจ้าได้

 พระพุทธเจ้า: อย่าเลย วักกลิ ร่างกายอันเน่าเปื่อยนี้ เธอเห็นไปจะมีประโยชน์อะไร ดูกรวักกลิ ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นชื่อว่าเห็นธรรม เมื่อเห็นธรรมนั่นแหละ วักกลิ จึงจะชื่อว่าเห็นเรา เมื่อเห็นเรา (ก็คือ) เห็นธรรม

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #18 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 12:04:03 pm »

นอกจากนี้ ความก้าวหน้าเพียงในขั้นศรัทธา ยังไม่เป็นการมั่นคงปลอดภัย เพราะยังต้องอาศัยปัจจัยภายนอก จึงยังเสื่อมถอยได้ ดังพุทธพจน์ว่า

 ดูกรภัททาลิ เปรียบเหมือนบุรุษมีตาข้างเดียว พวกมิตรสหายญาติสายโลหิตของเขา  พึงช่วยกันรักษาตาข้างเดียวของเขาไว้  ด้วยคิดว่า อย่าให้ตาข้างเดียวของเขานั้นต้องเสียไปเลย  ข้อนี้ฉันใด  ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ ก็ฉันนั้นเหมือนกัน เธอประพฤติปฏิบัติเพียงด้วยศรัทธา เพียงด้วยความรัก

 ในกรณีนั้น ภิกษุทั้งหลายย่อมดำริกันว่า ภิกษุรูปนี้ ประพฤติปฏิบัติอยู่เพียงด้วยศรัทธา  เพียงด้วยความรัก  พวกเราจักช่วยกันเร่งรัดเธอ ยํ้าแล้วยํ้าอีกให้กระทำการณ์ โดยหวังว่า อย่าให้สิ่งที่เป็นเพียงศรัทธา เป็นเพียงความรักนั้น เสื่อมสูญไปจากเธอเลย  นี้แล ภัททาลิ คือเหตุ คือปัจจัย ที่ทำให้ (ต้อง) คอยช่วยกันเร่งรัดภิกษุบางรูปในศาสนานี้ ยํ้าแล้วยํ้าอีกให้กระทำการณ์”

ลำพังศรัทธาอย่างเดียว เมื่อไม่ก้าวหน้าต่อไปตามลำดับจนถึงขั้นปัญญา ย่อมมีผลอยู่ในขอบเขตจำกัดเพียงแค่สวรรค์เท่านั้น ไม่สามารถให้บรรลุจุดหมายของพุทธธรรมได้ ดังพุทธพจน์ว่า

 ภิกษุทั้งหลาย ในธรรมที่เรากล่าวไว้ดีแล้ว ซึ่งเป็นของง่าย เปิดเผย ประกาศไว้ชัด ไม่มีเงื่อนงำใดๆ อย่างนี้

 - สำหรับภิกษุผู้เป็นอรหันตขีณาสพ...ย่อมไม่มีวัฏฏะเพื่อจะบัญญัติต่อไป
 - ภิกษุที่ละสังโยชน์เบื้องตํ่าทั้งห้าได้แล้ว ย่อมเป็นโอปปาติกะ ปรินิพพานในโลกนั้น ฯลฯ
 - ภิกษุที่ละสังโยชน์สามได้แล้ว มีราคะ โทสะ โมหะเบาบาง ย่อมเป็นสกทาคามี ฯลฯ
 - ภิกษุที่ละสังโยชน์สามได้ ย่อมเป็นโสดาบัน ฯลฯ
 - ภิกษุที่เป็นธัมมานุสารี เป็นสัทธานุสารี ย่อมเป็นผู้มีสัมโพธิเป็นที่หมาย
 - ผู้ที่มีเพียงศรัทธา มีเพียงความรักในเรา ย่อมเป็นผู้มีสวรรค์เป็นที่หมาย

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
« ตอบกลับ #19 เมื่อ: กรกฎาคม 28, 2010, 12:43:47 pm »



-5 เมื่อรู้เห็นประจักษ์ด้วยปัญญา ก็ไม่ต้องเชื่อด้วยศรัทธา


ในกระบวนการพัฒนาปัญญา ที่ถือเอาประโยชน์จากศรัทธาอย่างถูกต้อง ปัญญาจะเจริญขึ้นโดยลำดับ จนถึงขั้นเป็นญาณทัสสนะ คือเป็นการรู้การเห็น ในขั้นนี้ จะไม่ต้องใช้ความเชื่อและความเห็นอีกต่อไป เพราะรู้เห็นประจักษ์แก่ตนเอง จึงเป็นขั้นที่พ้นขอบเขตของศรัทธา ขอให้พิจารณาข้อความในพระไตรปิฎกต่อไปนี้

ถาม: ท่านมุสิละ โดยไม่อาศัยศรัทธา ไม่อาศัยความถูกกับใจคิด ไม่อาศัยการเรียนรู้ตามกันมา ไม่อาศัยการคิดตรองตามแนวเหตุผล ไม่อาศัยความเข้ากันได้กับการทดสอบด้วยทฤษฎี ท่านมุสิละมีการรู้จำเพาะตน (ปัจจัตตญาณ) หรือว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชรามรณะ ?

 ตอบ: ท่านปวิฏฐะ ผมย่อมรู้ ย่อมเห็นข้อที่ว่า เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงมีชรามรณะนี้ได้ โดยไม่ต้องอาศัยศรัทธา...ความถูกกับใจคิด...การเรียนรู้ตามกันมา...การคิดตรองตามแนวเหตุผล...ความเข้ากันได้กับการทดสอบด้วยทฤษฎีเลยทีเดียว


 (จากนี้ถามตอบหัวข้ออื่นๆ ในปฏิจจสมุปบาท ตามลำดับ ทั้งฝ่ายอนุโลม ปฏิโลม จนถึงภวนิโรธ คือนิพพาน)
 อีกแห่งหนึ่งว่า

ถาม: มีปริยายบ้างไหม ที่ภิกษุจะใช้พยากรณ์อรหัตตผลได้ โดยไม่ต้องอาศัยศรัทธา ไม่ต้องอาศัยความถูกกับใจชอบ ไม่ต้องอาศัยการเรียนรู้ตามกันมา ไม่ต้องอาศัยการคิดตรองตามแนวเหตุผล ไม่ต้องอาศัยความเข้ากันได้กับการคิดทดสอบด้วยทฤษฎี ก็รู้ชัดว่า “ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว สิ่งที่ต้องทำได้ทำแล้ว สิ่งอื่นที่ต้องทำเพื่อเป็นอย่างนี้ ไม่มีเหลืออยู่อีก”? ฯลฯ

 ตอบ: ปริยายนั้นมีอยู่...คือ ภิกษุเห็นรูปด้วยตา ย่อมรู้ชัดซึ่งราคะ โทสะ โมหะ ที่มีอยู่ในตัวว่า “ราคะ โทสะ โมหะ มีอยู่ในตัวของเรา” หรือย่อมรู้ชัดซึ่งราคะ โทสะ โมหะ ที่ไม่มีอยู่ในตัวว่า “ราคะ โทสะ โมหะ ไม่มีในตัวของเรา

 ถาม: เรื่องที่ว่า...นี้ ต้องทราบด้วยศรัทธา หรือด้วยความถูกกับใจชอบ หรือด้วยการเรียนรู้ตามกันมา หรือด้วยการคิดตรองตามแนวเหตุผล หรือด้วยความเข้ากันได้กับการคิดทดสอบด้วยทฤษฎี หรือไม่ ?
 ตอบ: ไม่ใช่อย่างนั้น

 ถาม: เรื่องที่ว่า...นี้ ต้องเห็นด้วยปัญญาจึงทราบมิใช่หรือ ?
 ตอบ: อย่างนั้น พระเจ้าข้า

 สรุป: นี้ก็เป็นปริยาย (หนึ่ง) ที่ภิกษุจะใช้พยากรณ์อรหัตตผลได้ โดยไม่ต้องอาศัยศรัทธา ฯลฯ (จากนี้ถามตอบไปตามลำดับอายตนะอื่นๆ ในทำนองเดียวกัน จนครบทุกข้อ)