วิถีธรรม > แนวทางปฏิบัติธรรม
องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา (๑. สัมมาทิฏฐิ)
ฐิตา:
ถ้าแม้นบุรุษมีความเห็นที่ถูกใจ...มีการเรียนต่อกันมา...มีการคิดตรองตามเหตุผล...มีความเห็นที่ตรงกับทฤษฎีของตนอยู่ (อย่างใดอย่างหนึ่ง) เมื่อเขากล่าวว่า “ข้าพเจ้ามีความเห็นที่ถูกใจอย่างนี้...มีการเล่าเรียนมาอย่างนี้...มีสิ่งที่คิดตรองตามเหตุผลได้อย่างนี้...มีความเห็นตามทฤษฎีของตนว่าอย่างนี้” ก็ยังชื่อว่าเขาอนุรักษ์สัจจะอยู่ แต่จะลงความเห็นเด็ดขาดลงไปเป็นอย่างเดียวว่า “อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหล (ทั้งนั้น)” ไม่ได้ก่อน
ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ ชื่อว่ามีการอนุรักษ์สัจจะ และคนผู้นั้นก็ชื่อว่าอนุรักษ์สัจจะ อีกทั้งเราก็บัญญัติการอนุรักษ์สัจจะด้วยการปฏิบัติเพียงเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการหยั่งรู้สัจจะ
ท่าทีนี้ปรากฏชัด เมื่อตรัสเจาะจงเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา คือ ในคราวที่มีคนภายนอกกำลังพูดสรรเสริญบ้าง ติเตียนบ้าง ซึ่งพระพุทธศาสนา พระภิกษุสงฆ์นำเรื่องนั้นมาสนทนากัน พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า
ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีคนพวกอื่นมากล่าวติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์ เธอทั้งหลายไม่ควรอาฆาต ไม่ควรเศร้าเสียใจ ไม่ควรแค้นเคือง เพราะคำติเตียนนั้น ถ้าเธอทั้งหลายโกรธเคือง หรือเศร้าเสียใจ เพราะคำติเตียนนั้น ก็จะกลายเป็นอันตรายแก่พวกเธอทั้งหลายเองนั่นแหละ (คือ) หากคนพวกอื่นติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์ ถ้าเธอทั้งหลายโกรธเคือง เศร้าเสียใจ เพราะคำติเตียนนั้นแล้ว เธอทั้งหลายจะรู้ชัดถ้อยคำนี้ของเขาว่า พูดถูก พูดผิด ได้ละหรือ?”
ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า “ไม่อาจรู้ชัดได้”
ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีคนพวกอื่นกล่าวติเตียนเรา ติเตียนธรรม ติเตียนสงฆ์ ในกรณีนั้น เมื่อไม่เป็นจริง พวกเธอก็พึงแก้ให้เห็นว่าไม่เป็นจริงว่า “ข้อนี้ไม่เป็นจริง เพราะอย่างนี้ๆ ข้อนี้ไม่ถูกต้อง เพราะอย่างนี้ๆ สิ่งนี้ไม่มีในพวกเรา สิ่งนี้หาไม่ได้ในหมู่พวกเรา”
ภิกษุทั้งหลาย ถ้ามีคนพวกอื่นกล่าวชมเรา ชมธรรม ชมสงฆ์ เธอทั้งหลายไม่ควรเริงใจ ไม่ควรดีใจ ไม่ควรกระหยิ่มลำพองใจ ในคำชมนั้น ถ้ามีคนมากล่าวชมเรา ชมธรรม ชมสงฆ์ หากเธอทั้งหลาย เริงใจ ลำพองใจแล้วไซร้ ก็จะเป็นอันตรายแก่พวกเธอเองนั่นแหละ ถ้ามีคนมากล่าวชมเรา ชมธรรม ชมสงฆ์ ในกรณีนั้น เมื่อเป็นความจริง พวกเธอก็ควรรับรองว่าเป็นความจริงว่า “ข้อนี้เป็นจริง เพราะอย่างนี้ๆ ข้อนี้ถูกต้องเพราะอย่างนี้ๆ สิ่งนี้มีในพวกเรา สิ่งนี้หาได้ในหมู่พวกเรา”
ต่อจากการอนุรักษ์สัจจะ พระพุทธเจ้าทรงแสดงข้อปฏิบัติเพื่อให้หยั่งรู้และเข้าถึงสัจจะ และในกระบวนการปฏิบัตินี้ จะมองเห็นการเกิดศรัทธา ความหมาย ความสำคัญ และขอบเขตความสำคัญของศรัทธาไปด้วย ดังนี้
ฐิตา:
ด้วยข้อปฏิบัติเท่าใด จึงจะมีการหยั่งรู้สัจจะ และบุคคลจึงจะชื่อว่าหยั่งรู้สัจจะ ?
เมื่อได้ยินข่าวว่า มีภิกษุเข้าไปอาศัยหมู่บ้าน หรือนิคมแห่งใดแห่งหนึ่งอยู่ คฤหบดีก็ดี บุตรคฤหบดีก็ดี เข้าไปหาภิกษุนั้นแล้ว ย่อมใคร่ครวญดูในธรรมจำพวกโลภะ ธรรมจำพวกโทสะ ธรรมจำพวกโมหะว่า ท่านผู้นี้ มีธรรมจำพวกโลภะที่จะเป็นเหตุครอบงำจิตใจ ทำให้กล่าวได้ทั้งที่ไม่รู้ว่า “รู้” ทั้งที่ไม่เห็นว่า “เห็น” หรือทำให้เที่ยวชักชวนคนอื่นให้เป็นไปในทางที่จะก่อให้เกิดทุกข์ชั่วกาลนานแก่คนอื่นๆ หรือไม่ ?
เมื่อเขาพิจารณาตัวเธออยู่ รู้อย่างนี้ว่า ท่านผู้นี้ไม่มีธรรมจำพวกโลภะที่จะเป็นเหตุครอบงำจิตใจ ทำให้กล่าวได้ทั้งที่ไม่รู้ว่า “รู้” ทั้งที่ไม่เห็นว่า “เห็น” หรือทำให้เที่ยวชักชวนคนอื่นให้เป็นไปในทางที่จะก่อให้เกิดสิ่งที่มิใช่ประโยชน์เกื้อกูลและเกิดทุกข์ชั่วกาลนานแก่คนอื่นๆได้เลย อนึ่ง ท่านผู้นี้มีกายสมาจาร วจีสมาจาร อย่างคนไม่โลภ ธรรมที่ท่านผู้นี้แสดง ก็ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก หยั่งรู้ได้ยาก เป็นของสงบ ประณีต ไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยตรรก ละเอียดอ่อน บัณฑิตจึงรู้ได้ ธรรมนั้นมิใช่สิ่งที่คนโลภจะแสดงได้ง่ายๆ
เมื่อใด เขาพิจารณาตรวจดู มองเห็นว่าเธอเป็นผู้บริสุทธิ์จากธรรมจำพวกโลภะแล้ว เมื่อนั้นเขาย่อมพิจารณาตรวจดูเธอยิ่งๆ ขึ้นไปอีก ในธรรมจำพวกโทสะ ในธรรมจำพวกโมหะ ฯลฯ
เมื่อใด เขาพิจารณาตรวจดู มองเห็นว่าเธอเป็นผู้บริสุทธิ์จากธรรมจำพวกโมหะแล้ว คราวนั้น เขาย่อมฝังศรัทธาลงในเธอ
เขาเกิดศรัทธาแล้ว ก็เข้าหา เมื่อเข้าหา ก็คอยนั่งอยู่ใกล้ (คบหา) เมื่อคอยนั่งอยู่ใกล้ ก็เงี่ยโสตลง (ตั้งใจคอยฟัง) เมื่อเงี่ยโสตลง ก็ได้สดับธรรม ครั้นสดับแล้ว ก็ทรงธรรมไว้ ย่อมพิจารณาไตร่ตรองอรรถแห่งธรรมที่ทรงไว้ เมื่อไตร่ตรองอรรถอยู่ ก็เห็นชอบด้วยกับข้อธรรมตามที่ (ทนต่อการ)คิดเพ่งพิสูจน์ เมื่อเห็นชอบด้วยกับข้อธรรมดังที่คิดเพ่งพิสูจน์ ฉันทะก็เกิด เมื่อเกิดฉันทะ ก็อุตสาหะ ครั้นอุตสาหะแล้ว ก็เอามาคิดทบทวนเทียบเคียง ครั้นเทียบเคียงแล้ว ก็ย่อมลงมือทำความเพียร เมื่อลงมือทำทุ่มเทจิตใจให้แล้ว ก็ย่อมทำปรมัตถสัจจะให้แจ้งกับตัว และเห็นแจ้งแทงตลอดปรมัตถสัจจะนั้นด้วยปัญญา
ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้ ชื่อว่ามีการหยั่งรู้สัจจะ และบุคคลชื่อว่า หยั่งรู้สัจจะ และเราย่อมบัญญัติการหยั่งรู้สัจจะ (สัจจานุโพธ) ด้วยข้อปฏิบัติเท่านี้ แต่ยังไม่ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงสัจจะก่อน
ด้วยข้อปฏิบัติเท่าใด จึงมีการเข้าถึงสัจจะ และคนจึงชื่อว่าเข้าถึงสัจจะ?
การอาเสวนะ การเจริญ การกระทำให้มาก ซึ่งธรรมเหล่านั้นแหละ
ชื่อว่าเป็นการเข้าถึงสัจจะ (สัจจานุปัตติ) ฯลฯ
ฐิตา:
-3 สร้างศรัทธาด้วยการใช้ปัญญาตรวจสอบ
สำหรับคนสามัญทั่วไป ศรัทธาเป็นธรรมขั้นต้นที่สำคัญยิ่ง เป็นอุปกรณ์ชักนำให้เดินหน้าต่อไป เมื่อใช้ถูกต้องจึงเป็นการเริ่มต้นที่ดี ทำให้การก้าวหน้าไปสู่จุดหมายได้ผลรวดเร็วขึ้น ด้วยเหตุนี้ จึงปรากฏว่า บางคราวผู้มีปัญญามากกว่า แต่ขาดความเชื่อมั่น กลับประสบความสำเร็จช้ากว่าผู้มีปัญญาด้อยกว่าแต่มีศรัทธาแรงกล้า ในกรณีที่ศรัทธานั้นไปตรงกับสิ่งที่ถูกต้องแล้ว จึงเป็นการทุ่นแรงทุ่นเวลาไปในตัว ตรงกันข้าม ถ้าศรัทธาเกิดในสิ่งที่ผิดก็เป็นการทำให้เขว ยิ่งหลงชักช้าหนักขึ้นไปอีก
อย่างไรก็ดี ศรัทธาในพุทธธรรม มีเหตุผลเป็นฐานรองรับ มีปัญญาคอยควบคุม จึงยากที่จะผิด นอกจากพ้นวิสัยจริงๆ และก็สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ ไม่ดิ่งไปในทางที่ผิด เพราะคอยรับรู้เหตุผล ค้นคว้า ตรวจสอบและทดลองอยู่ตลอดเวลา
การขาดศรัทธา เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง ซึ่งทำให้ชะงัก ไม่ก้าวหน้าต่อไปในทิศทางที่ต้องการ ดังพุทธพจน์ว่า :-
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ยังสลัดทิ้งตอในใจ ๕ อย่างไม่ได้ ยังถอนสิ่งผูกรัดใจ ๕ อย่างไม่ได้ ข้อที่ว่าภิกษุนั้นจักถึงความเจริญงอกงามไพบูลย์ ในธรรมวินัยนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ตอในใจที่ภิกษุนั้นยังสลัดทิ้งไม่ได้ คือ :-
๑. ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในพระศาสดา...
๒. ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในธรรม...
๓. ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในสงฆ์...
๔. ภิกษุสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในสิกขา...
๕. ภิกษุโกรธเคือง น้อยใจ มีจิตใจกระทบกระทั่ง เกิดความกระด้าง
เหมือนเป็นตอเกิดขึ้นในเพื่อนพรหมจรรย์...
จิตของภิกษุผู้ยังสงสัย เคลือบแคลง ไม่ปลงใจ ไม่เลื่อมใสแนบสนิทในพระศาสดา...ในธรรม...ในสงฆ์...ในสิกขา...โกรธเคือง ฯลฯ ในเพื่อนพรหมจรรย์ ย่อมไม่น้อมไปเพื่อความเพียร เพื่อความหมั่นฝึกฝนอบรม เพื่อความพยายามอย่างต่อเนื่อง เพื่อการลงมือทำความพยายาม ภิกษุผู้มีจิตที่ยังไม่น้อมไปเพื่อความเพียร...ชื่อว่ามีตอในใจซึ่งสลัดทิ้งไม่ได้...
โดยนัยนี้ การขาดศรัทธา มีความสงสัย แคลงใจ ไม่เชื่อมั่น จึงเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาปัญญาและการก้าวหน้าไปสู่จุดหมาย สิ่งที่ต้องทำในกรณีนี้ก็คือ ต้องปลูกศรัทธา และกำจัดความสงสัยแคลงใจ แต่การปลูกศรัทธาในที่นี้ มิได้หมายถึงการยอมรับและมอบความไว้วางใจให้โดยไม่เคารพในคุณค่าแห่งการใช้ปัญญา แต่หมายถึงการคิดพิสูจน์ทดสอบด้วยปัญญาของตนให้เห็นเหตุผลชัดเจน จนมั่นใจ หมดความลังเลสงสัย
ฐิตา:
วิธีทดสอบนั้น นอกจากที่กล่าวในพุทธพจน์ตอนก่อนแล้ว ยังมีพุทธพจน์แสดงตัวอย่างการคิดสอบสวนก่อนที่จะเกิดศรัทธาอีก เช่นในข้อความต่อไปนี้ ซึ่งเป็นคำสอนให้คิดสอบสวนแม้แต่องค์พระพุทธเจ้าเอง ดังต่อไปนี้ :-
“ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อไม่รู้วิธีกำหนดวาระจิตของผู้อื่น พึงกระทำการพิจารณาตรวจสอบในตถาคต เพื่อทราบว่า พระองค์เป็นสัมมาสัมพุทธ หรือไม่”
“ภิกษุผู้ตรวจสอบ เมื่อไม่รู้วิธีกำหนดวาระจิตของผู้อื่น พึงพิจารณาตรวจสอบตถาคตในธรรม ๒ อย่าง คือ ในสิ่งที่พึงรู้ได้ด้วยตา และ หู ว่า
- เท่าที่พึงรู้ได้ด้วยตาและหู ธรรมที่เศร้าหมอง มีแก่ตถาคต หรือหาไม่ เมื่อเธอพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้น ก็ทราบได้ว่า ธรรมที่พึงรู้ได้ด้วยตาและหู ที่เศร้าหมองของตถาคต ไม่มี
- จากนั้น เธอก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า เท่าที่พึงรู้ได้ด้วยตาและหู ธรรมที่ (ชั่วบ้าง ดีบ้าง) ปนๆ กันไป มีแก่ตถาคต หรือหาไม่ เมื่อเธอพิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้น ก็ทราบได้ว่า เท่าที่พึงรู้ได้ด้วยตาและหู ธรรมที่ (ดีบ้าง ชั่วบ้าง) ปนๆ กันไปของตถาคต ไม่มี
- จากนั้น เธอก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า เท่าที่รู้ได้ด้วยตาและหู ธรรมที่สะอาดหมดจด มีแก่ตถาคตหรือหาไม่...เธอก็ทราบได้ว่า เท่าที่รู้ได้ด้วยตาและหู ธรรมที่สะอาดหมดจดของตถาคตมีอยู่
- จากนั้น เธอก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ท่านผู้นี้ประกอบพร้อมบูรณ์ซึ่งกุศลธรรมนี้ ตลอดกาลยาวนาน หรือประกอบชั่วเวลานิดหน่อย...เธอก็ทราบได้ว่า ท่านผู้นี้ประกอบพร้อมบูรณ์ซึ่งกุศลธรรมนี้ ตลอดกาลยาวนาน มิใช่ประกอบชั่วเวลานิดหน่อย
- จากนั้น เธอก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ท่านภิกษุผู้นี้ มีชื่อเสียง มีเกียรติยศแล้ว ปรากฏข้อเสียหายบางอย่างบ้างหรือไม่ (เพราะว่า) ภิกษุ (บางท่าน) ยังไม่ปรากฏมีข้อเสียหายบางอย่าง จนกว่าจะเป็นผู้มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ ต่อเมื่อใดเป็นผู้มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ เมื่อนั้นจึงปรากฏมีข้อเสียหายบางอย่าง...เธอก็ทราบได้ว่า ท่านภิกษุผู้นี้ เป็นผู้มีชื่อเสียง มีเกียรติยศแล้ว ก็ไม่ปรากฏมีข้อเสียหายบางอย่าง (เช่นนั้น)
- จากนั้น เธอก็พิจารณาตรวจสอบตถาคตนั้นให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า ท่านผู้นี้ เป็นผู้งดเว้น (อกุศล) โดยไม่มีความกลัว มิใช่ผู้งดเว้นเพราะกลัว ไม่เสวนากามทั้งหลาย ก็เพราะปราศจากราคะ เพราะหมดสิ้นราคะ หรือหาไม่...เธอก็ทราบได้ว่า ท่านผู้นี้ เป็นผู้งดเว้นโดยไม่มีความกลัว มิใช่ผู้งดเว้นเพราะกลัว ไม่เสวนากามทั้งหลาย ก็เพราะปราศจากราคะ เพราะหมดราคะ...
ฐิตา:
หากมีผู้อื่นถามภิกษุนั้นว่า ท่านมีเหตุผล (อาการะ) หยั่งทราบ (อันวยา) ได้อย่างไร จึงทำให้กล่าวได้ว่า ท่านผู้นี้ เป็นผู้งดเว้นโดยไม่มีความกลัว มิใช่ผู้งดเว้นเพราะกลัว ไม่เสวนากามทั้งหลาย ก็เพราะปราศจากราคะ หมดราคะ
ภิกษุเมื่อจะตอบแก้ให้ถูกต้อง พึงตอบแก้ว่า จริงอย่างนั้น ท่านผู้นี้ เมื่ออยู่ในหมู่ก็ตาม อยู่ลำพังผู้เดียวก็ตาม ในที่นั้นๆ ผู้ใดจะปฏิบัติตนได้ดีก็ตาม จะปฏิบัติตนไม่ดีก็ตาม จะเป็นผู้ปกครองหมู่คณะก็ตาม จะเป็นบางคนที่ติดวุ่นอยู่ในอามิสก็ตาม จะเป็นบางคนที่ไม่ติดด้วยอามิสก็ตาม ท่านผู้นี้ไม่ดูหมิ่นคนนั้นๆ เพราะเหตุนั้นๆ เลย ข้าพเจ้าได้สดับ ได้รับฟังถ้อยคำมา จำเพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคทีเดียวว่า “เราเป็นผู้งดเว้นโดยไม่มีความกลัว เรามิใช่ผู้งดเว้นเพราะกลัว เราไม่เสวนากามทั้งหลาย ก็เพราะปราศจากราคะ เพราะหมดราคะ”
ภิกษุทั้งหลาย ในกรณีนั้น พึงสอบถามตถาคตให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า เท่าที่รู้ได้ด้วยตาและหู ธรรมที่เศร้าหมองมีแก่ตถาคตหรือหาไม่ ตถาคตเมื่อตอบแก้ ก็จะตอบแก้ว่า...ไม่มี
ถามว่า ธรรมที่ (ดีบ้าง ชั่วบ้าง) ปนๆ กันไป มีแก่ตถาคตหรือหาไม่ ตถาคตเมื่อตอบแก้ ก็จะตอบแก้ว่า...ไม่มี
ถามว่า ธรรมที่สะอาดหมดจด มีแก่ตถาคตหรือหาไม่ ตถาคตเมื่อตอบแก้ ก็จะตอบแก้ว่า...มี เรามีธรรมที่สะอาดหมดจดนั้นเป็นทางดำเนิน และเราจะเป็นผู้มีตัณหาเพราะเหตุนั้นก็หาไม่
- ศาสดาผู้กล่าวได้อย่างนี้แล สาวกจึงควรเข้าไปหาเพื่อสดับธรรม
- ศาสดาย่อมแสดงธรรมแก่สาวกนั้น สูงยิ่งขึ้นไปๆ ประณีต (ขึ้นไป)ๆ ทั้งธรรมดำ ธรรมขาว เปรียบเทียบให้เห็นตรงกันข้าม
- ศาสดาแสดงธรรมแก่ภิกษุ...อย่างใดๆ ภิกษุนั้นรู้ยิ่งธรรมบางอย่างในธรรมนั้นอย่างนั้นๆ แล้ว ย่อมถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย ย่อมเลื่อมใสในศาสดาว่า “พระผู้มีพระภาค เป็นสัมมาสัมพุทธ ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว สงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดี”
หากจะมีผู้อื่นถามภิกษุนั้นต่อไปอีกว่า “ท่านมีเหตุผล (อาการะ) หยั่งทราบ (อันวยา) ได้อย่างไร จึงทำให้กล่าวได้ว่า พระผู้มีพระภาคเป็น สัมมาสัมพุทธ ธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว สงฆ์เป็นผู้ปฏิบัติดี?” ภิกษุนั้น เมื่อจะตอบให้ถูก ก็พึงตอบว่า
“ข้าพเจ้าเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค เพื่อฟังธรรม พระองค์ทรงแสดงธรรมแก่ข้าพเจ้า... พระองค์แสดง...อย่างใดๆ ข้าพเจ้ารู้ยิ่ง...อย่างนั้นๆ จึงถึงความตกลงใจในธรรมทั้งหลาย จึงเลื่อมใสในพระศาสดา...”
ภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาของบุคคลผู้ใดผู้หนึ่ง ฝังลงในตถาคต เกิดเป็นเค้ามูล เป็นพื้นฐานที่ตั้ง โดยอาการเหล่านี้ โดยบทเหล่านี้ โดยพยัญชนะเหล่านี้ เรียกว่า ศรัทธาที่มีเหตุผล (อาการวตี) มีการเห็นเป็นมูลฐาน (ทัสสนมูลิกา) มั่นคง อันสมณะ หรือพราหมณ์ หรือเทพเจ้า หรือมาร หรือพรหม หรือใครๆในโลก ทำให้เคลื่อนคลอนไม่ได้
การพิจารณาตรวจสอบธรรมในตถาคต เป็นอย่างนี้แล และตถาคต ย่อมเป็นอันได้รับการพิจารณาตรวจสอบดีแล้ว โดยนัยนี้”
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version