วิถีธรรม > แนวทางปฏิบัติธรรม
องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา (๑. สัมมาทิฏฐิ)
ฐิตา:
สำหรับภิกษุผู้เสขะ ยังไม่บรรลุอรหัตตผล ปรารถนาความเกษมจากโยคะ อันยอดเยี่ยม เราไม่เล็งเห็นองค์ประกอบภายในอย่างอื่น แม้สักอย่าง ที่มีประโยชน์มาก เหมือนโยนิโสมนสิการเลย ภิกษุผู้ใช้โยนิโส-มนสิการ ย่อมกำจัดอกุศลได้ และบำเพ็ญกุศลให้เกิดขึ้น
เราไม่เล็งเห็นธรรมอย่างอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้สัมมาทิฏฐิ ที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น หรือให้สัมมาทิฏฐิที่เกิดขึ้นแล้ว เจริญยิ่งขึ้น เหมือนโยนิโสมนสิการเลย เมื่อมีโยนิโสมนสิการ สัมมาทิฏฐิที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และสัมมาทิฏฐิที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญยิ่งขึ้น
เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้โพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น หรือให้โพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ถึงความเจริญเต็มบริบูรณ์ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย เมื่อมีโยนิโสมนสิการ โพชฌงค์ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น และโพชฌงค์ที่เกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีความเจริญเต็มบริบูรณ์
เราไม่เล็งเห็นธรรมอื่น แม้สักข้อหนึ่ง ที่จะเป็นเหตุให้ความสงสัยที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถูกกำจัดได้ เหมือนโยนิโสมนสิการเลย
เมื่อโยนิโสมนสิการอสุภนิมิต ราคะที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ราคะที่เกิดแล้ว ก็ถูกละได้ เมื่อโยนิโสมนสิการเมตตาเจโตวิมุตติ โทสะที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น โทสะที่เกิดแล้ว ก็ถูกละได้ เมื่อโยนิโสมนสิการ (โดยทั่วไป) โมหะที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น และโมหะที่เกิดแล้ว ก็ถูกละได้
เมื่อโยนิโสมนสิการ …(นิวรณ์ ๕)… ที่ยังไม่เกิด ก็ไม่เกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถูกกำจัดได้ …(โพชฌงค์ ๗)… ที่ยังไม่เกิด ก็เกิดขึ้น และที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ถึงความเจริญเต็มบริบูรณ์
ธรรม ๙ อย่างที่มีอุปการะมาก ได้แก่ ธรรม ๙ อย่าง ซึ่งมีโยนิโสมนสิการเป็นมูล กล่าวคือ เมื่อโยนิโสมนสิการ ปราโมทย์ย่อมเกิด เมื่อปราโมทย์ ปีติย่อมเกิด เมื่อมีใจปีติ กายย่อมผ่อนคลายสงบ (ปัสสัทธิ) เมื่อกายผ่อนคลายสงบ ย่อมได้เสวยสุข ผู้มีสุข จิตย่อมเป็นสมาธิ ผู้มีจิตเป็นสมาธิ ย่อมรู้เห็นตามเป็นจริง เมื่อรู้เห็นตามเป็นจริง ย่อมนิพพิทาเอง เมื่อนิพพิทา ก็วิราคะ เพราะวิราคะ ก็วิมุตติ
ฐิตา:
ตามนัยพุทธพจน์นี้ เขียนให้ดูง่าย เป็น
โยนิโสมนสิการ-ปราโมทย์-ปีติ-ปัสสัทธิ-สุข-สมาธิ-ยถาภูตญาณทัสสนะ-นิพพิทา-วิราคะ-วิมุตติ
กล่าวโดยสรุป สำหรับคนทั่วไป ผู้มีปัญญายังไม่แก่กล้า ยังต้องอาศัยการแนะนำชักจูงจากผู้อื่น การพัฒนาปัญญา นับว่าเริ่มต้นจาก องค์ประกอบภายนอก คือ ความมีกัลยาณมิตร (กัลยาณมิตตตา) สำหรับให้เกิดศรัทธา (ความมั่นใจด้วยเหตุผลที่ได้พิจารณาเห็นจริงแล้ว) ก่อน
จากนั้น จึงก้าวมาถึงขั้น องค์ประกอบภายใน เริ่มแต่นำความเข้าใจตามแนวศรัทธาไปเป็นพื้นฐาน ในการใช้ความคิดอย่างอิสระ ด้วยโยนิโสมนสิการ ทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ และทำให้ปัญญาเจริญยิ่งขึ้น จนกลายเป็นญาณทัสสนะ คือ การรู้การเห็นประจักษ์ในที่สุด
เมื่อกระจายลำดับขั้นในการพัฒนาปัญญาตอนนี้ออกไป จึงตรงกับลำดับอาหารของวิชชาและวิมุตติ ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ
การเสวนาสัตบุรุษ-การสดับเล่าเรียนสัทธรรม-ศรัทธา-โยนิโส-มนสิการ ฯลฯ
เมื่อสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นแล้ว ก็จะเจริญเข้าสู่จุดหมายด้วยการอุดหนุนขององค์ประกอบต่างๆ อย่างพุทธพจน์ที่ว่า
ภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฏฐิ อันองค์ประกอบ ๕ อย่างคอยหนุน (อนุเคราะห์) ย่อมมีเจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ เป็นผลานิสงส์ องค์ประกอบ ๕ อย่างนั้น คือ
๑. ศีล (ความประพฤติดีงาม สุจริต)
๒. สุตะ (ความรู้จากการสดับ เล่าเรียน อ่านตำรา การแนะนำสั่งสอนเพิ่มเติม)
๓. สากัจฉา (การสนทนา ถกเถียง อภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น สอบค้นความรู้)
๔. สมถะ (ความสงบ การทำใจให้สงบ การไม่มีความฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ การเจริญสมาธิ)
๕. วิปัสสนา (การใช้ปัญญาพิจารณาเห็นสิ่งต่างๆ ตามสภาวะของมัน คือตามที่มันเป็นจริง)
โดยสรุป สัมมาทิฏฐิ ก็คือความเห็นที่ตรงตามสภาวะ คือ เห็นตามที่สิ่งทั้งหลายเป็นจริง หรือตามที่มันเป็น
การที่สัมมาทิฏฐิจะเจริญขึ้น ย่อมต้องอาศัยโยนิโสมนสิการเรื่อยไป เพราะโยนิโสมนสิการช่วยให้ไม่มองสิ่งต่างๆ อย่างผิวเผิน หรือมองเห็นเฉพาะผลรวมที่ปรากฏ แต่ช่วยให้มองแบบสืบค้นแยกแยะ ทั้งในแง่การวิเคราะห์ส่วนประกอบที่มาประชุมกันเข้า และในแง่การสืบทอดแห่งเหตุปัจจัย ตลอดจนมองให้ครบทุกแง่ด้าน ที่จะให้เห็นความจริง และถือเอาประโยชน์ได้ จากทุกสิ่งทุกอย่างที่ประสบหรือเกี่ยวข้อง
การมองและคิดพิจารณาด้วย โยนิโสมนสิการ ทำให้ไม่ถูกลวง ไม่กลายเป็นหุ่นที่ถูกยั่วยุ ปลุกปั่น และเชิด ด้วยปรากฏการณ์ทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และคตินิยมต่างๆ จนเกิดเป็นปัญหาทั้งแก่ตนและผู้อื่น แต่ทำให้มีสติสัมปชัญญะ เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง คิดตัดสินและกระทำการต่างๆ ด้วยปัญญา ซึ่งเป็นขั้นที่สัมมาทิฏฐิส่งผลแก่องค์มรรคข้อต่อๆไป เริ่มทำลายสังโยชน์ อันมีสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา และสีลัพพตปรามาส เป็นต้น
จบ ความหมายขององค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา
หัวข้อที่ ๑. สัมมาทิฏฐิ
องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา (๒.สัมมาสังกัปปะ)
http://www.tairomdham.net/index.php/topic,7785.0.html
องค์ประกอบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา(๓.สัมมาวาจา ๔.สัมมากัมมันตะ ๕.สัมมาอาชีวะ)
http://www.tairomdham.net/index.php/topic,7866.0.html
: http://portal.in.th/i-dhamma/pages/8195/
อ้างอิง หนังสือพุทธธรรม โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต)
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ
(〃ˆ ∇ ˆ〃):
อนุโมทนาสาธุค่ะพี่แป๋ม :13:
แก้วจ๋าหน้าร้อน:
:13: อนุโมทนาครับพี่แป๋ม
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version