แสงธรรมนำใจ > หยาดฝนแห่งธรรม

พุทธวัจน์...คำสอนจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า

<< < (5/7) > >>

lek:
มนุษย์เป็นอันมาก...
ได้ยึดถือเอาที่พึ่งผิดๆ

มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก...
ถูกความกลัวคุกคามเอาแล้ว
ย่อมยึดถือเอาภูเขาบ้าง...
ป่าไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง...
สวนศักดิ์สิทธิ์บ้าง...
รุกขเจดีย์บ้าง...ว่าเป็นที่พึ่งของตนๆ

นั้นไม่ใช่ที่พึ่งอันทำความเกษมให้ได้เลย,
นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงนสุด
ผู้ใดถือเอาสิ่งนั้นๆเป็นที่พึ่งแล้ว
ย่อมไม่หลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวงได้

ส่วนผู้ใด ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง
แล้วเห็นอริยสัจทั้ง 4  ด้วยปัญญาอันถูกต้อง...
คือ เห็นทุกข์, เห็นเหตุ เป็นเครื่องให้เกิดขึ้นของทุกข์,
เห็นความก้าวหน้าล่วงเสียได้ซึ่งทุกข์,
และเห็นมรรคประกอบด้วยองค์ 8 อันประเสริฐ
ซึ่งเป็นเครื่องให้ถึงความเข้าไปสงบรำงับแห่งทุกข์

นั่นแหละ คือ ที่พึ่งอันเกษม,
นั่นคือ ที่พึ่งอันสูงสุด
ผู้ใดถือเอาที่พึ่งนั้นแล้ว
ย่อมหลุดพ้นไปจากทุกข์ทั้งปวง ได้แท้

lek:
ภิกษุ ท. ! กิจอันใด
ที่ศาสดาผู้เอ็นดูแสวงหาประโยชน์
เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแล้ว
จะพึงแก่สาวกทั้งหลาย,
กิจอันนั้น เราได้ทำแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย

ภิกษุ ท. ! นั่น 
โคนไม้ทั้งหลาย,
นั่น เรือนว่างทั้งหลาย

ภิกษุ ท. ! พวกเธอทั้งหลาย
จงเพียรเผากิเลส,
อย่าได้ประมาท

พวกเธอทั้งหลาย
อย่าได้เป็นผู้ที่ต้องร้อนใจ ในภายหลังเลย

นี่แล เป็นวาจาเครื่องพร่ำสอนพวกเธอทั้งหลายของเรา

lek:
นันทิ คือ ความเพลิน

สัมมาปัสสัง นิพพินทะติ
เมื่อเห็นอยู่โดยถูกต้อง ย่อมเบื่อหน่าย

นันทิกขะยา ราคักขะโย
เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิ จึงมีความสิ้นไปแห่งราคะ

ราคักขะยา นันทิกขะโย
เพราะความสิ้นไปแห่งราคะ จึงมีความสิ้นไปแห่งนันทิ

นันทิราคักขะยา จิตตัง สุวิมุตตันติ วุจจะติ
เพราะความสิ้นไปแห่งนันทิและราคะ

กล่าวได้ว่าจิตหลุดพ้นด้วยดี

lek:
ทรงเป็นผู้เอ็นดูเกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ทั้งปวง

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! พระผู้มีพระภาค
ทรงเป็นผู้เอ็นดูเกื้อกูลสัตว์ทั้งปวง
มิใช่หรือพระเจ้าข้า"

คามณิ! ถูกแล้ว,
ตถาคตเป็นผู้เอ็นดูเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่,

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ถ้าอย่างนั้น
ทำไมพระองค์จึงทรงแสดงธรรมแก่คนบางพวก
โดยเอื้อเฟื้อ และแก่คนบางพวก
โดยไม่เอื้อเฟื้อเล่า พระเจ้าข้า? "

คามณิ !   ถ้าอย่างนั้น
เราขอย้อนถามท่านในข้อนี้ ท่านจงตอบเราตามที่ควร

คามณิ !  ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน
ในถิ่นแห่งเรานี้  ชาวนาผู้คหบดีคนหนึ่ง
มีนาอยู่ 3 แปลง...
แปลงหนึ่งเป็นนาชั้นเลิศ,
แปลงหนึ่งเป็นนาชั้นกลาง,
แปลงหนึ่งเป็นนาเลว มีดินเป็นก้อนแข็ง มีรสเค็ม พื้นที่เลว

คามณิ!  ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร
ชาวนาผู้คหบดีนั้น เมื่อประสงค์จะหว่านพืช
เขาจะหว่านในนาแปลงไหนก่อน...
คือว่าแปลงที่นาชั้นเลิศ, นาปานกลาง,
หรือว่านาเลว มีดินเป็นก้อนแข็ง มีรสเค็ม พื้นที่เลว เล่า?

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ชาวนาคหบดีผู้ประสงค์จะหว่านพืชคนนั้น
ย่อมหว่านในนาเลิศก่อน, แล้วจึงหว่านในนาปานกลาง,
สำหรับนาเลว ซึ่งดินเป็นก้อนแข็ง รสเค็ม พื้นที่เลวนั้น
เขาก็หว่านบ้าง ไม่หว่านบ้าง เพราะเหตุว่า อย่างมากที่สุด
ก็หว่านไว้ให้โคกิน พระเจ้าข้า!"

คามณิ!  นาเลิศนั้น เปรียบเหมือนภิกษุภิกษุณีของเรา
เราย่อมแสดงธรรม งดงามในเบื้องต้น
งดงามในท่ามกลาง งดงามในที่สุด
ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง
พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ แก่ภิกษุภิกษุณีเหล่านั้น

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? คามณี! เพราะเหตุว่า
ภิกษุภิกษุณีทั้งหลายเหล่านั้น มีเราเป็นประทีป
มีเราเป็นที่ซ่อนเร้น มีเราป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นที่พิงอาศัยอยู่

คามณี! นาปานกลางนั้น เปรียบเหมือนอุบาสกอุบาสิกาของเรา
เราย่อมแสดงธรรม งดงามในเบื้องต้น งดงามในท่ามกลาง
งดงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ บริบูรณ์สิ้นเชิง
พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ แก่อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายเหล่านั้น

ข้อนั้นเป็นอย่างไรเล่า? คามณี! เพราะเหตุว่า
ชนทั้งหลายเหล่านั้นมีเราเป็นประทีป มีเราเป็นที่ซ่อนเร้น
มีเราเป็นที่ต้านทาน มีเราเป็นที่พิงอาศัยอยู่

คามณี!  นาเลว มีดินเป็นก้อนแข็ง รสเค็ม  พื้นที่เลวนั้น
เปรียบเหมือนสมณพราหมณ์ปริพพาชกทั้งหลาย
ผู้เป็นเดียรถีย์อื่นต่อเรา เราก็ย่อมแสดงธรรม งดงามในเบื้องต้น
งดงามในท่ามกลาง งดงามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์
บริบูรณ์สิ้นเชิง พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ
แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า? เพราะเหตุว่า
ถึงแม้ว่าเขาจะเข้าใจธรรมที่เราแสดง สักบทเดียว
นั่นก็ยังเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลและความสุข
แก่ชนทั้งหลายเหล่านั้น ตลอดกาลนาน

lek:
ดับตัณหา คือ ปลงภาระหนักลงได้

ภิกษุทั้งหลาย!  การปลงภาระหนักลงเสียได้ เป็นอย่างไรเล่า?
ภิกษุทั้งหลาย ! ความดับสนิทเพราะความจางคลาย...
โดยไม่เหลือของตัณหานั้นนั่นเทียว, ความละไปของตัณหานั้น,
ความสลัดกลับคืนของตัณหานั้น, ความหลุดออกไปของตัณหานั้น,
และความไม่มีที่อาศัยอีกต่อไปของตัณหานั้นอันใด

ภิกษุทั้งหลาย! อันนี้เราเรียกว่า การปลงภาระหนักลงเสียได้ ดังนี้

พระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสพุทธวจนะนี้ ซึ่งเป็นคำร้อยกรองสืบต่อไป

"ขันธ์ทั้งห้า...เป็นของหนัก!
บุคคลแหละ...เป็นผู้แบกของหนักพาไป
การแบกถือของหนัก...เป็นความทุกข์ในโลก
การปลงภาระหนักเสียได้...เป็นความสุข
พระอริยเจ้าปลงภาระหนักลงเสียแล้ว...
ทั้งไม่หยิบฉวยเอาของหนักอันอื่นขึ้นมาอีก
ก็เป็นผู้ถอนตัณหาขึ้นได้กระทั่งราก(อวิชชา)
เป็นผู้หมดสิ่งปรารถนา...ดับสนิท...ไม่มีส่วนเหลือ" ดังนี้

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version