ผู้เขียน หัวข้อ: .คุณมารดา บิดา...(หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม  (อ่าน 2721 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ แปดคิว

  • ทีมงานก้านแก้วเกล็ดใบทอง
  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • *
  • กระทู้: 797
  • พลังกัลยาณมิตร 389
    • ดูรายละเอียด
    • http://www.blogger.com/home

มารดา บิดา เป็นบุคคลที่รู้จักกันทั่วโลก
คนเราเกิดมาเห็นโลกอันกว้างใหญ่นี้ได้
เพราะมารดาบิดาเป็นผู้ให้กำเนิด
เป็นผู้ให้อวัยวะทุกส่วนของร่างกายแก่ลูก
ซ้ำมารดาบิดายังบำเพ็ญตนเป็นยอดนักบุญ
สำหรับชีวิตของลูกอีกด้วย
เป็นผู้เสียสละความสุขของตนเองทุกๆ อย่าง
เฝ้าทะนุถนอมเอาใจใส่ลูกทุกเวลา
ทำทุกอย่าง เพื่อความผาสุขของลูก
ลูกต้องการปรารถนาสิ่งใด อันเป็นสิ่งที่ไม่เหลือวิสัย
ก็พยายามจัดหาให้ทุกอย่าง เป็นผู้ใกล้ชิดลูกยิ่งกว่าใครๆ
ทุกคนจึงรู้จักมารดาบิดาดี

ส่วนลูกส่วนมาก หารู้จักและซึ้งถึงพระคุณของผู้เป็นมารดาบิดาไม่
คงรู้จักแต่เพียงว่าชายผู้ให้กำเนิดแก่คนเรียกว่า บิดา
หญิงผู้ให้กำเนิดแก่ตนเรียกว่า มารดา เท่านั้น
แท้จริงแล้ว ท่านผู้ให้กำเนิดทั้งสองนั้น เป็นผู้มีพระคุณมากมาย
สุดที่ลูกผู้กตัญญูรู้คุณ จะทดแทนพระคุณให้สิ้นสุดได้

เพราะเหตุนี้เอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นนาถของโลก
ทรงซึ้งถึงพระคุณของผู้เป็นมารดาบิดาผู้อนุเคราะห์บุตร
ว่าเป็นพระพรหม เป็นบุรพเทวดา
เป็นบุรพาจารย์ เป็นอาหุเนยยบุคคล ของบุตรดังนี้

มารดา บิดา เป็นผู้ที่มั่นคงในพรหมวิหารธรรม
โดยไม่ยอมทิ้ง เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ในลูกของตน
ย่อมมีเมตตารักใคร่ในลูก
ปรารถนาจะเห็นลูกของตนปราศจากโรคภัยเบียดเบียน
มีความสุข ร่าเริง แจ่มใส
มีกรุณา สงสาร เมื่อลูกของตนต้องประสบความทุกข์
คิดแต่จะช่วยให้พ้นจากความทุกข์ความเดือดร้อน
มีความสุขความเจริญ เมื่อเห็นว่าลูกของตนมีความสุข
สามารถเลี้ยงและปกครองตนเองและครอบครัวให้มีความสุขได้
ก็พลอยมีมุทิตายินดีด้วย ไม่อิจฉาริษยาในความสุขของลูก
เมื่อเห็นลูกต้องประสบทุกข์เดือดร้อน ก็ไม่ซ้ำเติม
วางจิตมัธยัสถ์เป็นกลางเสมอ
มารดาบิดา จึงเป็นดุจท้าวมหาพรหมที่ไม่เคยละภาวนา ๔ ในหมู่สัตว์
จึงได้รับนามบัญญัติว่าเป็น “พระพรหมของลูก”

มารดา บิดา เป็นผู้พิทักษ์รักษาลูกก่อนเทวดาทั้งปวง
นับตั้งแต่ลูกในครรภ์ เมื่อลูกเกิดมาแล้ว ก็เอาใจใส่ดูแล
แม้บางคราวลูกทุบตีตน เพราะไม่รู้เดียงสา
แทนที่มารดาบิดาจะเกลียดและโกรธ
กลับยกโทษให้และยังเพิ่มความรักใคร่ในลูกของตนเสียอีก
ไม่คำนึงถึงความผิดใดๆ ของลูกทั้งสิ้น
บางครั้งลูกทำผิด มารดาบิดาก็ดุว่ากล่าวหรือลงโทษ
แต่ด้วยใจริงแล้ว ไม่ปรารถนาจะให้ลูกของตนเดือดร้อน
ทำไปด้วยความรักความหวังดี
ปรารถนาให้ลูกของตนมีความสุขความเจริญ
มารดาบิดาจึงชื่อว่าเป็นเทวดา คือ ผู้ประเสริฐสุดสำหรับลูก
ท่านไม่พยายามที่จะทำความชั่วให้ปรากฏแก่ลูก
เกรงลูกจะถือเอาแนวปฏิบัติสร้างตนในทางที่ผิด
เมื่อลูกรู้จักคุณแล้ว ทำปฏิการะตอบแทน
จึงเป็นบุญเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่
เพราะเหตุที่ท่านทั้งสองบำเพ็ญตน เป็นเหมือนพระวิสุทธิเทพผู้ประเสริฐ
ซึ่งท่านไม่ปรารภถึงความผิดใดๆ ที่พวกคนพาลก่อขึ้น
มุ่งแต่ให้พวกเขามีความสุขความเจริญฝ่ายเดียว
คุณความดีของมารดาบิดาข้อนี้เอง
ท่านจึงได้นามว่า “บุรพเทวดาของลูก”

มารดา บิดา เป็นทั้งครูอาจารย์ก่อนกว่าครูอาจารย์อื่นๆ
เป็นผู้แนะนำอบรมสั่งสอนให้ลูกรู้จักกิน นอน พูด ทำ
รู้จักดีชั่ว ควรไม่ควร เป็นทั้งผู้สอนและผู้ฝึกหัดให้ทุกอย่าง
ท่านจึงสงเคราะห์มารดาบิดาว่าเป็นบุรพทิศในทิศ ๖
คุณความดีข้อนี้เอง ท่านจึงได้นามว่า “บุรพาจารย์ของลูก”

มารดา บิดา เป็นผู้มีพระคุณหลายประการดังกล่าวมาแล้ว
เป็นทั้งผู้ให้กำเนิด เป็นทั้งผู้เลี้ยงดูให้อุปการะและสั่งสอน
จนเป็นผู้สมควรอย่างยิ่งที่ลูกผู้กตัญญูรู้คุณ จะพึงนำสักการะ
มีอาหารและผ้าผ่อนท่อนสไบ เป็นต้น
มาบูชาเป็นการตอบแทนพระคุณท่าน
เพราะเมื่อสักการะบูชาท่านแล้ว ย่อมได้ผลานิสงส์มาก
เหมือนได้สักการะบูชาแด่พระอรหันต์ขีณาสพ
ท่านจึงได้นามว่าเป็น “อาหุเนยยบุคคลของลูก"

มารดา บิดา เป็นทั้งผู้สร้าง และผู้อุปถัมภ์ เป็นผู้ให้กำเนิดแก่ลูกแล้ว
ก็ต้องรับภาระเป็นผู้อนุเคราะห์เลี้ยงดูอีก ไม่ทอดทิ้ง
พยายามที่จะเสกสรรปั้นแต่งลูกของตนให้เป็นคนดี
เพราะเหตุนี้เอง พระมหามุนีศาสดาจารย์
จึงตรัสแก่คฤหบดีบุตรชื่อ สิคาลกะว่า ดูกร คฤหบดีบุตร
มารดาบิดาพึงอนุเคราะห์บุตรของตนโดยสถาน ๕ คือ

๑. ป้องกันบุตรธิดามิให้ทำความชั่ว
๒. ส่งเสริมให้ตั้งอยู่ในความดี
๓. ให้ศึกษาศิลปวิทยา
๔. หาคู่ครองที่สมควรให้
๕. มอบทรัพย์ให้ในสมัย

เพราะมารดาบิดา มีพระคุณอันใหญ่หลวงดังกล่าวมานี้
ผู้เป็นลูกจึงต้องคำนึงระลึกถึงเสมอ และหาทางตอบแทนพระคุณ
แม้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงสนองพระคุณของพระชนนี
เพื่อชดใช้ค่าข้าวป้อนและค่าน้ำนม
โดยเสด็จไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์พิภพ
แล้วทรงแสดงพระอภิธรรมโปรด จึงเป็นเนตติแบบอย่างอันดี
สำหรับพุทธบริษัทผู้เคารพนับถือในพระองค์ จึงพึงปฏิบัติตาม
ถ้าหวังจะบำเพ็ญตนเป็นลูกที่ดี
จึงเป็นการสมควรแล้ว ที่จะหาทางสนองพระคุณท่าน
ตามฐานะและโอกาส ด้วยการเลี้ยงดูท่านให้ได้รับความสุข
เป็นการแสดงกตัญญูกตเวทิตาธรรมต่อท่านผู้ดำรงอยู่ในฐานะบุพการี
ผู้ทำอุปการให้แก่ตนก่อน
ข้อนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสแก่คฤหบดีบุตร ชื่อ สิคาลกะ ว่า
ดูกร คฤหบดีบุตร เมื่อมารดาบิดา
ได้อนุเคราะห์บุตรธิดาโดยสถาน ๕ แล้ว
บุตรธิดาพึงปฏิการะตอบแทนโดยสถาน ๕ เช่นเดียวกัน คือ

๑. ท่านเลี้ยงมาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
๒. ช่วยทำกิจของท่าน ไม่ดูดาย
๓. ดำรงวงศ์สกุล ไม่ให้เสื่อม
๔. ประพฤติตนให้เป็นคนควรได้รับมรดก
๕. เมื่อท่านล่วงลับไป ทำบุญอุทิศให้แก่ท่าน

ทั้ง ๕ สถานนี้ สถานต้นเป็นข้อที่ผู้เป็นลูกควรทำ
เพราะเราเจริญเติบโตได้ก็อาศัยที่ท่านมีเมตตาจิตให้การเลี้ยงดู
เมื่อท่านแก่เฒ่าลงจึงเป็นหน้าที่ที่ลูกจะพึงเลี้ยงดูท่าน
เป็นการตอบแทน เป็นการชดใช้หรือทดแทนพระคุณท่านที่ทำไว้ก่อน
มีภาษิตบทหนึ่งสำหรับเตือนใจผู้เป็นลูก
ให้ทดแทนพระคุณท่านด้วยการเลี้ยงดูว่า
อันทิศเบื้องหน้า บิดามารดาพึ่งอาศัย
อย่าได้ดูถูก หมั่นปลูกอาลัย หมั่นเลี้ยงท่านไป ตราบม้วยชีวา
การเลี้ยงท่านนั้น ท่านแสดงไว้ ๒ ประการ คือ

๑. การเลี้ยงภายนอก ได้แก่ การอุปฐากอย่างต่ำ
๒. การเลี้ยงภายใน ได้แก่ การอุปฐากอย่างสูง

การเลี้ยงภายนอกนั้น ได้แก่ การจัดหาข้าวปลาอาหาร
และผ้าผ่อนท่อนสไบให้แก่ท่าน
เป็นการเลี้ยงและให้ความสุขทางกายแก่ท่าน
อันนับว่า เป็นอามิสบูชา เป็นส่วนการอุปฐากอย่างต่ำ

ส่วนการเลี้ยงดูภายในนั้น ได้แก่ การเลี้ยงดูน้ำใจท่าน
โดยเป็นผู้เชื่อฟังตั้งอยู่ในคำสั่งสอนไม่ขัดข้อง
ทั้งเป็นผู้หาโอกาส ทำให้ท่านเป็นผู้มีจิตใจ เป็นผู้เจริญด้วยคุณธรรม
หาทางนำท่านผู้ไม่มีศรัทธาให้มีศรัทธา
ผู้ไม่มีศีลให้มีศีล ผู้ไม่มีจาคะการบริจาค ให้มีจาคะการบริจาค
ผู้ไม่มีปัญญาให้มีปัญญา
ดังพระสารีบุตรเถระเจ้าแนะนำมารดาผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ ให้เป็นสัมมาทิฏฐิ
นับว่าเป็นปฏิบัติบูชา เป็นส่วนแห่งการอุปฐากอย่างสูง

ลูกบางคนเลี้ยงมารดาบิดา เพราะเห็นแก่ทรัพย์สมบัติ
ไม่คำนึงถึงพระคุณเป็นส่วนใหญ่
การทำเช่นนั้นไม่ชื่อว่าเป็นการสนองพระคุณท่าน
อันเป็นส่วนกตัญญูกตเวทีเลย
หากมารดาบิดาไม่มีทรัพย์สมบัติแล้ว
ลูกก็ไม่เลี้ยงดูนำพาปล่อยให้เป็นอยู่ตามยถากรรม
ลูกเช่นว่านี้เป็นลูกอกตัญญู ไม่รู้จักคุณ

เพราะเหตุนั้นการเลี้ยงดูท่าน
จึงเป็นหลักอันสำคัญที่ลูกผู้กตัญญูกตเวทีจะพึงทำ
เพราะเป็นเหตุนำมงคลคือความเจริญมาให้
ดังพระศาสดาตรัสไว้ในมงคลสูตรว่า

มาตาปิตุอุปฏฐานํ เอตมฺมํคลมุตฺตมํ
การเลี้ยงดูมารดาบิดา เป็นมงคลอย่างสูงสุด
พระพุทธเจ้าทรงยกย่องและสรรเสริญผู้เลี้ยงมารดาบิดาไว้มาก
แม้ภิกษุผู้บวชในพระธรรมวินัย ก็ยังทรงอนุญาตให้เลี้ยงมารดาบิดาได้
เที่ยวบิณฑบาตได้อาหารมา แม้ตนเองมิยังไม่ได้ฉันก็ให้แก่มารดาบิดาได้
ไม่ชื่อว่าทำศรัทธาไทยของทายกให้เสียไป ทั้งไม่มีโทษทางพระวินัยด้วย
การช่วยเหลือทำกิจการงานของท่านนั้น เป็นหน้าที่ที่ลูกจะพึงกระทำ
เพราะเป็นการผ่อนแรงท่าน ที่ตรากตรำหาเลี้ยงเรามา
ไม่ทำตนเป็นคนดูดาย เอาแต่เที่ยวเตร่หาความสนุกสนาน
ปล่อยให้ท่านทั้งสองทำงานอาบเหงื่อต่างน้ำไปตามลำพัง
อย่างน้อยผู้เป็นลูกต้องนึกบ้างว่า มารดาบิดาของลูกทุกคน
เมื่อมีลูกก็ย่อมปรารถนาหวังพึ่งพาอาศัยบ้าง
โบราณภาษิตบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า

“มีลูกเหมือนปลูกต้นโพธิ์ เมื่อใหญ่เมื่อโตจะได้อาศัย
ยามเจ็บไข้จะได้ฝากไข้ ยามตายจะได้ฝากผี เวลาดีๆ เอาไว้ใช้สอย”

ฉะนั้น จึงเป็นหน้าที่ที่ลูกไม่พึงละเลย
ในการช่วยเหลือทำกิจการงานของท่าน
ส่วนการประพฤติตนเป็นคนดี
เมื่อรักษาวงศ์สกุลของตนไม่ให้เสียหาย
และการประพฤติตนให้เป็นคนสมควรรับ
และปกครองทรัพย์มรดกของท่านนั้น ก็ล้วนเป็นหลักสำคัญทั้งนั้น
นอกจากจะเป็นการทำตนให้เจริญแล้ว
ยังเป็นการทำให้ท่านพอใจและเกิดความสุข
อันเป็นการเลี้ยงน้ำใจท่านด้วย

ส่วนประการหลังนั้น เป็นการสนองพระคุณครั้งสุดท้าย
แม้จะเป็นการทำลับหลังก็ตาม ก็เป็นการแสดงออกให้เห็นว่า
ตนเป็นลูกกตัญญูกตเวที ไปลืมความดีที่ท่านทำไว้แก่ตน
ขวนขวายที่จะทำตอบแทนในเมื่อมีโอกาส
เป็นการประกาศให้ทราบว่าเป็นคนหน้าคบหาสมาคม
แม้ฝ่ายหนึ่งล่วงลับไปแล้ว ก็ยังระลึกถึงและหาทางสนองคุณ
ฉะนั้นเมื่อมารดาบิดาล่วงลับไปจึงเป็นหน้าที่
ที่ลูกต้องทำบุญอุทิศให้โดยแท้
ถ้าอยากเป็นลูกดี ก็ควรนึกถึงภาษิตเตือนใจบทหนึ่งที่ว่า

ลูกไม่ดี มีเท่าไร ไม่คุ้ม
ดุจลูกตุ้ม แกว่งไกว ไพร่สถุล
แต่ลูกดี มีหลัก รู้จักคุณ
หมั่นทำบุญ อุทิศให้ เมื่อวายปราณ.

การทดแทนพระคุณมารดาบิดานั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้
ในมาตาปิตุคุณสูตรทุตนิบาต อังคุตตรนิกาย ความว่า

ภิกษุทั้งหลาย เราไม่กล่าว การทำตอบแทนได้ง่ายแก่ท่านทั้งสอง
ท่านทั้งสองนั้นคือใคร? คือมารดาบิดา
บุตรพึงประคับประคองมารดาบิดาด้วยบ่าขวาบิดาด้วยบ่าซ้าย
เขามีชีวิตอยู่ถึง ๑๐๐ ปี และเขาพึงบำรุงมารดาบิดานั้น
ด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการดัด
และท่านทั้งสองนั้นพึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะรดบนบ่าทั้งสอง
นั่นแหละภิกษุทั้งหลาย อนึ่งบุตรพึงสถาปนามารดาบิดาไว้
ในราชสมบัติอันเป็นอิสราธิปัตย์แห่งแผ่นดินใหญ่นี้
อันมีรัตนะ ๗ ประการมากมาย
กิจอย่างนั้นยังไม่เป็นอันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแล้วแก่มารดาบิดานั้นเลย
ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร? ภิกษุทั้งหลาย เพราะมารดาบิดา
เป็นผู้มีอุปการะมาก เป็นผู้บำรุงเลี้ยง
แสดงโลกนี้แก่บุตรทั้งหลาย

ภิกษุทั้งหลาย
ก็บุตรใดและยังมารดาบิดาผู้ไม่มีศรัทธาให้ดำรงมั่นอยู่ในศรัทธา
ยังมารดาบิดาที่ทุศีลให้สมาทานดำรงมั่นอยู่ในศีล
ยังมารดาบิดาตระหนี่เหนียวแน่น ให้ดำรงมั่นอยู่ในจาคะ
ยังมารดาบิดาผู้ไร้ปัญญา ให้สมาทานดำรงมั่นอยู่ในปัญญา
ภิกษุทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้มีประมาณเท่านี้แหละ
กิจนั้นจึงชื่อว่า เป็นอันบุตรทำแล้ว ทำตอบแทนแล้ว
ทำยิ่งแล้วแก่มารดาบิดา ดังนี้
เมื่อลูกทำได้ดังแสดงมานี้ จึงชื่อว่าเป็นการทดแทนพระคุณท่าน
เป็นเหตุให้บุตรได้รับผลานิสงส์หลายประการคือ

๑. เป็นมงคล คือมีความสุขความเจริญแก่ชีวิต

๒. เป็นที่สรรเสริญของนักปราชญ์

๓. เป็นเหตุให้ปฏิบัตินั้นพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
เพื่อจะแสดงอานิสงส์ของบุตรเพื่อเลี้ยงมารดาบิดานั้น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเรื่องพญานกแขกเต้า
บรมโพธิสัตว์ เป็นอุทาหรณ์ ความว่า

ดังได้ยินมาแต่กาลก่อน พระบรมโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็นพญานกแขกเต้า
อาศัยอยู่ป่าไม้งิ้ว แถบไหล่เขา
วันหนึ่งพาบริวารไปหาอาหารยังป่าหิมพานต์
เพื่อเลี้ยงมารดาบิดาของตน
ครั้งนั้นมีพราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่าโกสิยะพราหมณ์ อาศัยอยู่ในสาลิยะคาม
พราหมณ์ได้ใช้บริวารไปหว่านข้าวสาลี
ในเนื้อที่ประมาณ ๗๐๐๐ ไร่ แล้วให้บริวารอยู่รักษา
พระโพธิสัตว์ก็พาบริวารไปลงในนาของโกสิยะพราหมณ์
ฝูงนกแขกเต้าทั้งหลาย กินอิ่มแล้วบินมาแต่ปากเปล่า
ส่วนพระโพธิสัตว์เจ้ากินแล้วก็คาบรวงข้าวมาเลี้ยงมารดาบิดาทุกๆ วัน
บุรุษที่รักษานาข้าวสาลี จึงไปบอกแก่โกสิยะพราหมณ์ พ
ราหมณ์ก็สั่งให้จับพญานกแขกเต้าทั้งเป็น อย่าฆ่าให้ตาย
บุรุษผู้รักษานาก็ทำบ่วงแล้วดักพระโพธิสัตว์ จับพระโพธิสัตว์ได้
มัดมาให้แก่พราหมณ์ พราหมณ์จึงไต่ถามว่า ดูกรท่านผู้เป็นปักษี
ท่านมาคาบรวงข้าวสาลีของเราไปทุกๆ วัน
ท่านมีความโกรธเคืองเราหรือๆ
ท่านนำไปใส่ยุ้งใส่ฉางไว้เป็นประการใด

พระโพธิสัตว์จึงแจ้งว่า เรามิได้โกรธเคืองท่าน ยุ้งฉางสำหรับใส่ก็ไม่มี
เรานำข้าวสาลีของท่านไปเพราะเหตุ ๓ ประการ คือ

๑. เอาไปใช้หนี้เก่า
๒. เอาไปฝังไว้
๓. เอาไปให้เขายืม

พราหมณ์จึงถามว่า เอาไปใช้หนี้เก่าก็ดี เอาไปฝังไว้ก็ดี
เอาไปให้เขายืมก็ดี ท่านทำอย่างไร? พระโพธิสัตว์บอกว่า

เอาไปใช้หนี้เก่า นั้นคือเอาไปเลี้ยงมารดาบิดาที่ชราหากินไม่ได้
ท่านเลี้ยงเรามาไว้เติบใหญ่
เหมือนหนึ่งเป็นเจ้าหนี้เราควรเลี้ยงดูท่านเหมือนเป็นลูกหนี้
เพราะฉะนั้น เราจึงคาบรวมข้าวสาลีไปให้แก่มารดาบิดาทุกวัน

เอาไปฝังไว้ นั้นคือไปให้นกทั้งหลายที่เจ็บไข้
และมีขนปีกยังอ่อนหากินไม่ได้ ให้เป็นทานการกุศล

เอาไปให้เขายืม นั้นคือเอาไปให้ลูกยังอยู่ในรังยังหากินไม่ได้
นานไปเขาโตใหญ่ เขาจะเลี้ยงเราเมื่อแก่ชรา

พราหมณ์ทราบดังนั้น มีความโสมนัสยินดี
บอกแก่พระโพธิสัตว์ว่า นับแต่นี้ไป
เราจะมอบนาข้าวสาลีให้ท่าน จงพาบริวารมากินเถิด
แล้วแก้เชือกที่มัดเท้าออกให้
ฝ่ายพระโพธิสัตว์ก็รู้จักประมาณ รับเอาเพียงเนื้อที่ ๘ ไร่เท่านั้น
แล้วให้โอวาทแก่พราหมณ์ ให้ตั้งอยู่ในธรรมสุจริต
ลงพราหมณ์ไปสู่ป่าไม้งิ้วอันเป็นที่อยู่แห่งตน

เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า การเลี้ยงมารดาบิดานั้น เป็นมงคล
คือ เป็นความดีสำหรับผู้ปฏิบัติ ดังเช่นพระยานกแขกเต้า
ได้รับนาข้าวสาลีจากพราหมณ์ ไม่ต้องเดือดร้อนอีกต่อไป
เป็นที่สรรเสริญของนักปราชญ์ คือ ผู้รู้
ดังเช่นพญานกแขกเต้าได้รับการสรรเสริญจากโกสิยะพราหมณ์
เป็นเหตุทำตนให้พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง
เหมือนพญานกแขกเต้าได้รับอิสระ
พ้นจากเครื่องพันธนาการของพราหมณ์

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายหญิงชายที่เกิดมาจงอย่าได้ประมาท
จงปฏิบัติมารดาบิดาให้มีความสุข ทั้งส่วนที่เป็นอามิสบูชา และปฏิบัติบูชา
เพราะเหตุว่ามารดาบิดา เป็นผู้มีคุณมาก
จะเอาแผ่นดินและน้ำ ท้องฟ้าอากาศและเขาสุเมรุราช
มาชั่งด้วยคุณมารดาบิดาเบากว่า
และยังชื่อว่าผู้ปฏิบัติย่อมได้รับประโยชน์ทั้งชาตินี้และชาติหน้าด้วย

แข่งบุญวาสนาเราแข่งกันไม่ได้
ภาษิตท่านกล่าวไว้ว่า ยามบุญมากาไก่กลายเป็นหงษ์
ยามบุญลงหงษ์เป็นกาหน้าฉงน
น้ำไม่เซาะเกาะไม่พังพึงวังวน
วิสัยผลที่จะผลิตเพราะเหตุมี
หรือดังคำพังเพยที่กล่าวว่า
เวลาบุญมา ปัญญาก็ช่วย ที่ป่วยก็หาย ที่หน่ายก็รัก
เวลาบุญไม่มา ปัญญาก็ไม่ช่วย ที่ป่วยก็หนัก ที่รักก็หน่าย
สิ่งทั้งหมดที่มันปรากฏการณ์อยู่แก่ตัวเราในปัจจุบัน
มันเป็นผลที่ไหลมาจาเหตุจากภพก่อนทั้งนั้น
สมดังคำพระอัสสชิเถระกล่าวแก่อุปติสสะมาณพว่า

เยธมฺมาเหตุปพฺพวา เตสํเหตุ ํ ตถาคตโต
ธรรมทั้งหลายย่อมไหลมาจากเหตุ
คือ มีเหตุเป็นแดนเกิด
 http://variety.teenee.com/saladharm/33318.html
*8q*

ก่อนเกิดใครเป็นเรา
เมื่อเกิดแล้วเราเป็นใคร

สิ่งที่ทำอยู่คือกรรมใหม่
ผลที่ได้รับคือกรรมเก่า

ฟังในสิ่งที่ไม่ได้ยิน
มองในสิ่งที่ไม่เห็น
ทำในสื่งที่ไม่มี