พระพุทธศาสนากับฟิสิกส์ควอนตัม "ความเหมือนที่แตกต่าง"เรียบเรียงจากปาฐกถา แสดงที่สถาบันการต่างประเทศเทวะวงศ์วโรปการ กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๑
พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)
พระพุทธศาสนาไม่เคยทะเลาะกับวิทยาศาสตร์
การค้นพบทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมามีส่วนช่วยให้เราเกิดความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น เพราะว่าหลักของพระพุทธศาสนานั้นถือว่า พระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบสัจธรรมซึ่งมีอยู่แล้ว พระพุทธเจ้าเพียงนำสัจธรรมนั้นมาประกาศแก่ชาวโลก ดังพุทธพจน์ที่ว่า
“อุปฺปาทา วา ภิกฺขเว ตถาคตานํ อนุปฺปาทา วา”เป็นต้น แปลความว่า “ภิกษุทั้งหลาย พระตถาคตเจ้าทั้งหลายจะอุบัติขึ้นหรือไม่ก็ตาม ธาตุนั้นคือ ธรรมฐิติ (ความดำรงอยู่ตามธรรมชาติ)ธรรมนิยาม (กฎธรรมชาติ)อิทัปปัจจยตา (ภาวะที่สรรพสิ่งเกิดดับตามเหตุตามปัจจัย)ก็ยังมีอยู่ พระตถาคตเจ้าย่อมตรัสรู้ทั่วถึงซึ่งธาตุอันนั้นแล้วบอก แสดง บัญญัติ แต่งตั้ง เปิดเผย จำแนก ทำให้เข้าใจง่าย”
พระพุทธเจ้าได้ทรงค้นพบและประกาศเปิดเผยกฎธรรมชาติไว้เมื่อสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว ต่อมาวิทยาศาสตร์สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ได้ค้นพบกฎธรรมชาติเดียวกันนั้นหรือเพิ่มเติมอื่นใด สิ่งที่ศาสตร์ทั้งหลายค้นพบย่อมจะนำไปสู่ความจริงเดียวกัน นั่นคือสัจธรรม พระพุทธศาสนาไม่เคยทะเลาะกับวิทยาศาสตร์เพราะพระพุทธศาสนาไม่ได้ผูกขาดความจริงเรื่องสัจธรรม ดังนั้นสัจธรรมที่ศาสตร์ต่างๆ ค้นพบจะคลี่คลายขยายตัวมาส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจพระพุทธศาสนาดียิ่งขึ้น
มีข้อความตอนหนึ่งในพระไตรปิฎกที่แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นธรรมวาทีคือผู้กล่าวสัจธรรม ผู้ที่เป็นธรรมวาทีย่อมไม่ขัดแย้งกับพวกธรรมวาทีด้วยกันเพราะต่างฝ่ายต่างพูดถึงสัจธรรมหรือความจริง ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า
“นาหํ ภิกฺขเว โลเกน วิวทามิ” เป็นต้น แปลความว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตย่อมไม่ขัดแย้งกับชาวโลก แต่ชาวโลกย่อมขัดแย้งกับเรา ธรรมวาทีย่อมไม่ขัดแย้งกับใครๆในโลก”
เมื่อพระพุทธเศาสนาและวิทยาศาสตร์ต่างก็เป็นธรรมวาทีที่กล่าวถึงสัจธรรมความจริงด้วยกัน จึงไม่มีอะไรที่จะต้องขัดแย้งกัน มีแต่จะส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดความเข้าใจกันดียิ่งขึ้น หากจะมีความแตกต่างอยู่บ้างก็เพราะมีเป้าหมายที่ต่างกันในการแสวงหาความจริง วิทยาศาสตร์แสวงหาความจริงเพื่อเป็นนายเหนือโลกที่ควบคุมสภาวการณ์ต่างๆไว้ได้ ขณะที่พระพุทธศาสนาแสวงหาความจริงเพื่อความเป็นผู้พ้นโลกคือดับทุกข์ เมื่อเข้าใจวัตถุประสงค์ที่ต่างกันอย่างนี้แล้ว เราจะมาลองเปรียบเทียบสัจธรรมในพระพุทธศาสนากับความจริงที่วิทยาศาสตร์แขนงหนึ่งคือฟิสิกส์ควอนตัมได้นำเสนอว่ามีความเหมือนหรือความต่างกันอย่างไร
ฟิสิกส์ดั้งเดิม ปัจจุบันวิทยาศาสตร์เสนอทฤษฎีฟิสิกส์ไว้ ๒ สำนักใหญ่คือ ฟิสิกส์ดั้งเดิม (Classical physics)กับฟิสิกส์ควอนตัม (Quantum physics) ถ้าเปรียบเทียบกันระหว่างฟิสิกส์ดั้งเดิมกับฟิสิกส์ควอนตัม ฟิสิกส์ทั้ง ๒ สำนักมีแนวความคิดบางอย่างที่ขัดแย้งกัน แต่กลายเป็นว่าฟิสิกส์ควอนตัมกลับช่วยอธิบายหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาได้ดีกว่าฟิสิกส์ดั้งเดิมหรือฟิสิกส์นิวตัน (Newton physics) ในเรื่องที่สำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนา ๒ เรื่องคือ ปฏิจสมุทปบาทและไตรลักษณ์
ปฏิจสมุทปบาทหรืออิทัปปัจจยตาเป็นคำสอนที่ว่าด้วยการที่สิ่งต่างๆอาศัยกันและกันเกิดขึ้นที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบด้วยการตรัสรู้ ส่วนเรื่องไตรลักษณ์ ซึ่งก็คือคำสอนว่าด้วยลักษณะ ๓ ประการของสิ่งทั้งหลาย ได้แก่ “อนิจจัง (ไม่เที่ยง) ทุกขัง (เป็นทุกข์) อนัตตา (ไม่มีแก่นสาร) ”อันเป็นหัวใจของการปฏิบัติธรรมเพื่อความหลุดพ้น
เราปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเพื่อให้เห็นไตรลักษณ์ รู้แล้วละ รู้แล้ววาง ทุกวันนี้เราเข้าใจเรื่องไตรลักษณ์ได้ยากขึ้นเพราะมีแนวคิดของฟิสิกส์ดั้งเดิมมาขวางกั้นเป็นอุปสรรคของการเข้าถึงธรรม เพราะฟิสิกส์ดั้งเดิมหรือฟิสิกส์นิวตันมีแนวคิดหลักอยู่ที่ ๔ หัวข้อคือ ๑.อะตอม ๒.กาละ ๓.เทศะ และ ๔.แรงโน้มถ่วงหรือแรงดึงดูดของโลกเซอร์ไอแซก นิวตัน (Sir Isaac Newton) ถือว่าสรรพสิ่งมีมวลสารที่แบ่งแยกไม่ได้และตั้งอยู่ด้วยตัวของมันเอง ซึ่งเรียกว่าอะตอม(Atom) จริงๆ แล้วความคิดเรื่องอะตอมเป็นแนวคิดหลักของฟิสิกส์ดั้งเดิมที่ถือว่าหน่วยที่เล็กที่สุดของสสาร(Matter)ในโลกที่ถูกแบ่งย่อยให้เล็กลงๆ ในที่สุดจะถึงจุดที่เล็กที่สุดซึ่งแบ่งย่อยต่อไปไม่ได้อีก ซึ่งทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบเล็กที่สุดสำหรับสร้างจักรวาล เราเรียกว่า “Building blocks” ก็เหมือนกับก้อนอิฐแต่ละก้อนสำหรับสร้างบ้านนั่นเอง เพราะฉะนั้นหากเราแบ่งอะไร
ต่อมิอะไรจนไปถึงหน่วยที่เล็กที่สุดแล้วมันจะถึงจุดที่แบ่งแยกไม่ได้ ในเชิงสสารจุดที่แบ่งแยกไม่ได้นี้เรียกว่า “อะตอม”
อะตอม(Atom)เป็นภาษากรีก แปลว่า “ตัดแบ่งไม่ได้ (Uncuttable)”อะตอมคือสิ่งที่เราไม่สามารถจะแบ่งย่อยต่อไปได้อีก หลักของเรื่องนี้ก็คือไม่ว่าเราแบ่งอะไรก็ตาม ในที่สุดมันต้องไปถึงจุดสุดท้าย จุดสุดท้ายที่แบ่งต่อไปไม่ได้นั่นแหละคือ “อะตอม”ซึ่งเป็นอนุภาคที่เล็กที่สุดของสสาร ความคิดอย่างนี้เราเรียกว่าเป็น “paradigm” หรือความเชื่อพื้นฐานของวิทยาศาสตร์โลกตะวันตกมากว่า ๒,๐๐๐ ปี จนมาถึงสมัยนิวตันก็ยังเชื่อว่ามีอะตอม
นิวตันเชื่อว่าสสารซึ่งมีองค์ประกอบที่เล็กที่สุดคืออะตอมได้สร้างจักรวาล สร้างดวงดาว สร้างอะไรต่างๆ ที่เคลื่อนไหวก่อให้เกิดแรงโน้มถ่วงที่กระทำต่อกันในกล่องใบใหญ่ซึ่งเป็นที่ว่างคือเทศะในจักรวาลอันว่างเปล่าใหญ่โตและขึ้นอยู่กับกาลเวลา อีกประเด็นหนึ่งที่ฟิสิกส์ดั้งเดิมของนิวตันเห็นขัดแย้งกับพระพุทธศาสนาก็คือเรื่องกาลเวลา นิวตันเชื่อว่ากาลเวลาเป็นเรื่องที่มีอยู่ในตัวของมันเอง แต่พระพุทธศาสนาถือว่ากาละหรือเวลา เป็นสิ่งที่เราคิดขึ้น ในพระอภิธรรมเราเรียกว่าบัญญัติ คือคนเราคิดขึ้นมาโดยที่กาลเวลาไม่ได้มีอยู่ในตัวมันเอง แต่นิวตันถือว่ากาละหรือเวลาเป็นความจริงอีกมิติหนึ่งมีอยู่จริง มวลสารของจักรวาลที่เรียกว่าอะตอมหรืออนุภาคที่เล็กที่สุดมารวมตัวกันเป็นสิ่งต่างๆ เช่นดวงดาวแล้วเคลื่อนไหวในเทศะหรือที่ว่างในอวกาศ ที่ว่างหรือเทศะนี้ก็เป็นความจริงอีกมิติหนึ่งเช่นเดียวกับกาละ สิ่งต่างๆในจักรวาลที่เคลื่อนไหวนั้นได้สร้างแรงที่กระทำต่อกันเรียกว่าแรงดึงดูดหรือแรงโน้มถ่วง สิ่งทั้งหลายเคลื่อนไหวและมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันภายใต้กฎที่ชัดเจนแน่นอน เหมือนกับเครื่องจักรกลของนาฬิกาที่เดินอย่างเที่ยงตรงจนเราคาดเวลาล่วงหน้าได้ ในทำนองเดียวกัน ถ้าเรารู้ความสัมพันธ์ที่เป็นแบบแผนของสิ่งต่างๆว่าอะไรกระทำต่ออะไร ณ จุดไหนในจักรวาล เราก็สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นที่ไหนเมื่อไร
เพราะฉะนั้น ฟิสิกส์ดั้งเดิมของนิวตันจึงถือว่า ถ้าเรารู้เทศะคือจุดที่สสารตั้งอยู่ และรู้แรงทั้งหมดที่มากระทำต่อสสารนั้นๆในเวลานั้น เราก็จะสามารถพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ดังที่นักคณิตศาสตร์ฝรั่งเศสชื่อปิแอร์ ซีโมน ลาปลาซ (Pierre Simon Laplace)กล่าวอย่างมั่นใจว่า
“ในขณะใดขณะหนึ่งที่กำหนดให้ปัญญาซึ่งรู้แรงทุกแรงที่กระทำอยู่ในธรรมชาติ และรู้ตำแหน่งของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งประกอบกันขึ้นเป็นโลก สมมติว่าปัญญาดังกล่าวนั้นกว้างขวางพอที่จะนำเอาข้อมูลเหล่านี้ไปวิเคราะห์ มันย่อมจะรวมสูตรการเคลื่อนที่ของก้อนวัตถุที่ใหญ่ที่สุดในจักรวาลและของอะตอมที่เล็กที่สุดเอาไว้ด้วย ไม่มีสิ่งที่ไม่แน่นอนสำหรับมัน และเช่นเดียวกับอดีต อนาคตจะปรากฏแก่สายตาของมัน”
คนเราทุกวันนี้ตกอยู่ใต้อิทธิพลความคิดของฟิสิกส์ดั้งเดิมแบบนี้ เพราะเราเชื่อว่าวิทยาศาสตร์จะสามารถบอกอดีต ทำนายอนาคต ทำให้เกิดการป้องกันต่างๆ เพราะเชื่อว่าสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นภายใต้การควบคุมของกฎจักรวาล เมื่อเรารู้กฎวิทยาศาสตร์แล้วเราก็สามารถที่จะควบคุมตัวแปรต่างๆ โดยใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ได้ และสามารถที่จะปรับตัวให้สอดคล้องกับอนาคตที่จะตามมาได้
ดังนั้น ฟิสิกส์ดั้งเดิมได้สร้างภาพของจักรวาลให้เป็นเหมือนเครื่องจักรกลมโหฬารที่ค่อนข้างจะมีความแน่นอน มั่นคงและปลอดภัยจนมนุษย์สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ด้วยเหตุนี้ฟิสิกส์ดั้งเดิมจึงส่งเสริมความเชื่อแบบนิยัตินิยม (Determinism) คือแนวคิดที่ว่าทุกเหตุการณ์ในโลกนี้ถูกกำหนดล่วงหน้าไว้แล้วว่าต้องเกิดขึ้นเมื่อนั้นเมื่อนี้
ฟิสิกส์ควอนตัม อย่างไรก็ตาม ฟิสิกส์ควอนตัมได้เข้ามาทำให้ความเชื่อเรื่องความแน่นอน มั่นคงและปลอดภัยแบบนี้หมดไป เปรียบเหมือนกับการที่เรากำลังยืนอยู่บนพรมแห่งความมั่นคงปลอดภัยของฟิสิกส์ดั้งเดิมของนิวตันแล้วอยู่ๆ ก็มีคนมากระตุกพรมออกจากใต้เท้าของเราจนเราล้มทั้งยืน ฟิสิกส์ควอนตัมทำลายความมั่นใจของฟิสิกส์ดั้งเดิมให้หมดไป
คำว่า “ควอนตัม (Quantum)”เป็นภาษาลาตินแปลว่า “ขนาดไหน”หรือ “จำนวนเท่าไร”เป็นคำที่ใช้พูดถึงจำนวนหรือขนาดพลังงานของอะตอม คล้ายกับคำว่า “นาโน (Nano)”ซึ่งเป็นภาษากรีก แปลว่า “คนแคระ”เป็นคำที่ใช้วัดขนาดของสิ่งที่เล็กมากๆ เช่น อะตอม ดีเอ็นเอ ในนาโนเทคโนโลยี
ฟิสิกส์ควอนตัมเสนอภาพใหม่ของจักรวาลที่มีความไม่เที่ยงแท้แน่นอน ความคิดที่ว่าจักรวาลมีความเป็นเหตุเป็นผลที่เราพยากรณ์ล่วงหน้าได้กลายเป็นความไม่แน่นอน จนกระทั่งอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein)เจ้าของทฤษฎีสัมพัทธ์ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดทฤษฎีควอนตัมขึ้นมาก็ได้พยายามปฏิเสธทฤษฎีควอนตัมในบั้นปลายชีวิต โดยที่ไอน์สไตน์กล่าวว่าถ้าทฤษฎีควอนตัมเป็นจริง โลกใบนี้ก็จะไม่มีกฎระเบียบอะไรเลย ซึ่งเขาใช้คำว่าเพี้ยน (Crazy) ดูเหมือนว่าตอนนี้โลกเพี้ยนจริงๆ คือบางครั้งดูจะไร้กฎ ไร้ระเบียบ ไม่มีความแน่นอนอะไรเลย ดังที่เรามักจะพูดว่าไม่มีอะไรแน่นอนนอกจากความไม่แน่นอน
ทฤษฎีควอนตันจึงโยงไปถึงคำสอนเรื่อง ‘อนิจจัง ความไม่ที่ยง’ในพระพุทธศาสนา ทั้งนี้เพราะว่าทฤษฎีควอนตันได้เปิดเผยสภาวะที่เรียกว่าความไม่แน่นอน (Uncertainty)เนื่องจากว่า แนวคิดสำคัญประการหนึ่งของฟิสิกส์ควอนตัมก็คือหลักการที่ว่าด้วยความไม่แน่นอน (Uncertainty Principle) ในฟิสิกส์ดั้งเดิมของนิวตัน จักรวาลมีกฎระเบียบแน่นอนจนเราพยากรณ์ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น โลกนี้มีกฎธรรมชาติที่แน่นอน แต่ฟิสิกส์ควอนตันกลับเสนอว่าโลกนี้มีความไม่แน่นอน ดังนั้นไอน์สไตน์จึงกล่าวว่า ถ้าทฤษฏีของฟิสิกส์ควอนตัมเป็นจริง มันจะไม่มีความเป็นเหตุเป็นผล ไม่มีความเป็นกฎที่แน่นอน แสดงว่าเราจะไม่สามารถบอกได้ว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อไปเพราะมันเป็นไปตามหลักการที่ว่าด้วยความไม่แน่นอนของฟิสิกส์ควอนตัมเสียแล้ว
ควรทราบว่า การที่ทฤษฏีควอนตัมทำให้ภาพของจักรวาลเปลี่ยนไป เพราะฟิสิกส์ควอนตัมไม่ได้ไปสนใจเรื่องกฎของจักรวาลแบบมหภาค ฟิสิกส์ควอนตัมไม่ได้สนใจเรื่องการโคจรดวงดาว เรื่องดวงจันทร์ หรือเรื่องน้ำขึ้นน้ำลงอะไรต่างๆ เหล่านี้ แต่ฟิสิกส์ควอนตัมกลับสนใจศึกษาโครงสร้างของอะตอมที่เป็นอนุภาคพื้นฐานสำหรับสร้างจักรวาล ซึ่งถ้าเราเข้าใจองค์ประกอบพื้นฐานตรงนี้ เราจะเข้าใจภาพรวมของจักรวาลทั้งหมด ดังนั้น ฟิสิกส์ควอนตัมจึงเป็นการกลับไปหาจุดเริ่มต้นดั้งเดิมของจักรวาล
ภาพรวมของจักรวาลอย่างที่เราศึกษากันอยู่ในทุกวันนี้นั้นส่วนใหญ่เป็นแนวคิดแบบฟิสิกส์ดั้งเดิมของนิวตัน ซึ่งเป็นการพูดถึงเรื่องใหญ่แบบมหภาค แต่ฟิสิกส์ควอนตัมหันมาศึกษาเรื่องที่เล็กมาก แบบจุลภาค (Micro)นั่นคือโครงสร้างของอะตอมหรือปรมาณู จึงกล่าวได้ว่า ฟิสิกส์ควอนตัมสนใจส่วนที่เล็กที่สุดของจักรวาล
นักวิทยาศาสตร์ในอดีตเชื่อว่า อะตอมไม่มีโครงสร้างอะไรเพราะมันเป็นอนุภาคที่เล็กที่สุดในจักรวาล คนสมัยก่อนเชื่อว่าอะตอมแบ่งแยกไม่ได้ตามที่นักปรัชญากรีกเชื่อกันมาเป็นพันๆ ปี แม้แต่ในอินเดีย ปรัชญาฮินดูสำนักไวเศษิกะก็สอนว่ามีอะตอมหรือปรมาณู ตรงกับที่เรียกว่า “อัตตา” หรือ “อาตมัน” นั่นคือ มีสิ่งที่แบ่งแยกย่อยต่อไปไม่ได้ เรียกว่า ปรมาณู อะตอม อัตตาหรืออาตมัน ในบรรดาศาสนาสำคัญของโลกมีเพียงศาสนาเดียวเท่านั้นที่ปฏิเสธอะตอม ปฏิเสธอัตตาหรืออาตมัน นั่นก็คือพระพุทธศาสนา พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวที่ยืนยันว่าไม่มีแก่นสารทั้งในฝ่ายจิตและฝ่ายสสาร แก่นสารในฝ่ายจิตเรียกว่าอาตมันหรือวิญญาณอมตะ (Immortal soul)ส่วนแก่นสารในฝ่ายสสารเรียกว่าอะตอมหรือปรมาณู ศาสนาคริสต์ อิสลาม พราหมณ์-ฮินดูต่างสอนว่ามีอาตมันหรือวิญญาณอมตะในมนุษย์และมีอะตอมหรือปรมาณูในสสาร