อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > หลวงพ่อชา สุภทฺโท

คุณลักษณะเด่นในการเผยแผ่ศาสนาของ หลวงปู่ชา สุภัทโท

(1/3) > >>

ฐิตา:



คุณลักษณะเด่นในการเผยแผ่ศาสนา
ของ หลวงปู่ชา สุภัทโท

ในการสอนธรรมะของพระแต่ละท่านย่อมมีความแตกต่างกันออกไป
ตามอุปนิสัยและประสบการณ์ของแต่ละท่าน
การสอนธรรมะของหลวงปู่ชา สุภัทโท เป็นกรณีหนึ่งที่มีความแตกต่าง และเป็นที่โดดเด่น
เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป  ถึงแม้ว่าหลักการสอนของท่าน
จะเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน แต่เมื่อกล่าวถึงคำสอนแล้ว ก็อยู่ภายใต้กรอบ
ของพระพุทธศาสนา เป็นแบบอย่างที่ควรค่าแก่การศึกษาหลวงปู่ชา ถ่ายทอดธรรมะ

ด้วยการพูดสั้น ๆ ง่าย ๆ ในการอธิบายธรรมะซึ่งเป็นนามธรรมให้ผู้ฟังเห็นเป็นรูปธรรม
ด้วยการเปรียบเทียบโดยจะยกตัวอย่างจากสิ่งต่าง ๆ ใกล้ตัวมนุษย์
ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เพื่อเปรียบเทียบกับธรรมะ นอกจากนั้นท่านยังมีวิธีการสอน
โดยผ่านการปฏิบัติตนของท่านเอง ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
ปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน การสอนด้วยการทำให้ดู
การสอนด้วยการบรรยาย การสอนด้วยการตอบปัญหา และอีกหลายวิธีจะได้นำมาฝาก

ฐิตา:

เสฐียรพงษ์ วรรณปก (2536) ได้แสดงทัศนะว่า หลวงปู่ชา เป็นพระปฏิบัติที่น่าสนใจ ท่านใช้ชีวิตแบบที่บาลีเรียกว่า สุตวา สาวโก (พระสาวกผู้ใฝ่สดับ) คือท่านมีวิญญาณของผู้ใฝ่รู้ใฝ่ปฏิบัติจริงขณะที่ท่านเรียนนักธรรมบาลีเริ่ม แปลธรรมบท ท่านคิดว่า ทำไมเราต้องมานั่งแปลวิธีปฏิบัติจากตำรา ทำไมเราไม่ออกไปแสวงหาทดลองด้วยตนเอง ความคิดเหล่านี้กระตุ้นให้ท่านออกเดินธุดงค์เพื่อฝึกปฏิบัติทดลองด้วยตนเอง ท่านทดลองและทดสอบอะไรบ้าง ท่านได้เล่าให้ลูกศิษย์ฟังในภายหลังล้วนแต่เรื่องผู้ที่มีใจไม่เด็ดเดี่ยว มั่นคงไม่สามารถทำได้ แต่ท่านก็ผ่านมาแล้วทั้งสิ้น เราไม่รู้ว่าท่านได้เข้าถึงธรรมะระดับไหนแต่อ่านคำสอนของท่านแล้ว ทุกถ้อยคำล้ำลึกกินใจกระจ่าง ชี้ตรงไปยังการดับทุกข์ หลวงพ่อท่านบอกสานุศิษย์ว่า คำสอนของผมนอกตำรา แต่อยู่ในขอบเขตอาจไม่ถูกคัมภีร์ แต่มันถูกสัจธรรม

คนึงนิตย์ จันทบุตร (2532) ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับคำสอนของหลวงปู่ชาดังนี้ หลวงปู่ชาไม่ได้เน้นการศึกษาด้านปริยัติมาก ท่านพิจารณาว่าคนที่เรียนปริยัติแต่ไม่ปฏิบัติก็เหมือนกับทัพพีตักแกงที่ อยู่ในหม้อมันตักแกงทุกวันแต่ไม่รู้รสของแกง ทัพพีไม่รู้รสแกงก็เหมือนกับคนเรียนปริยัติที่ไม่ได้ปฏิบัติ ถึงแม้จะเรียนอยู่จนหมดอายุก็ไม่รู้จักรสของธรรมะ ธรรมะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วตามธรรมชาติ ในสมัยพุทธกาลไม่มีใครศึกษาพระไตรปิฎก พระบวชใหม่จะมีอุปัชฌาย์เป็นผู้สอนส่วนพระไตรปิฎกเป็นเรื่องรู้ร่วมกันที่ พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้คล้ายแผนที่นำทาง เราอาจจะอ่านแผนที่ก็ได้หรือมีคนบอกทางโดยไม่มีแผนที่ก็ได้ แต่มีข้อแม้ว่าเป็นอาจารย์ผู้มีปัญญาสามารถไว้ใจได้

ส.ศิวรักษ์ (2538 : 51) ได้แสดงทัศนะเกี่ยวกับการเผยแผ่เอาไว้ว่า ขอให้ดูกรณีของท่านอาจารย์ชา สุภัทโท ซึ่งเป็นกระแสที่น่าสนใจมาก ท่านอาจารย์ชา ท่านเป็นกระแสที่รับแบบปฏิบัติและเข้าใจในเรื่องปริยัติ สามารถสื่อกับคนรุ่นใหม่และคนต่างประเทศได้ ผู้ที่สืบสายจากท่านอาจารย์เวลานี้ไปมีผลในต่างประเทศมากกว่าในประเทศ โดยเฉพาะท่านอาจารย์สุเมธาจารย์

ฐิตา:

วิธีการสอนแบบใช้คำพูดสั้น ๆ

วิธีการสอนของหลวงปู่ชา เป็นคำสอนที่สั้น ๆ เรียบง่าย ในระยะแรกฆราวาสมีจำนวนน้อย ท่านจะใช้ภาษาท้องถิ่น(ภาษาถิ่นอีสาน)ต่อมาเมื่อมีผู้คนเป็นจำนวนมากในการสอน ท่านจึงใช้ภาษากลาง และใช้คำพูดที่สั้นฟังแล้วเข้าใจง่าย การสอนของท่านเน้นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ถึงแม้คำสอนจะเป็นประโยคที่สั้น แต่ก็ได้ใจความ เช่น

หลวงพ่อได้รับ นิมนต์ไปฉันในพระบรมมหาราชวัง ขณะลงจากรถ ได้พบกับพระเถระท่านหนึ่ง พระเถระท่านนั้นมองเห็นหลวงปู่ชาสะพายบาตรไปด้วย และถามแบบเยาะเย้ยว่า
“คุณ ชา ไม่อายในหลวงหรือสะพายบาตรเข้าวัง”
“ท่านเจ้าคุณ ไม่อายพระพุทธเจ้าหรือครับ ไม่สะพายบาตรเข้าวัง”
(คณะศิษย์, 2536: 113)

บริขาร ที่จำเป็นสำหรับพระภิกษุสงฆ์ควรนำติดตัวเมื่อเดินทางมี 4 อย่าง คือ สบง จีวรสังฆาฏิ และบาตร เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าบาตรและไตรจีวร เป็นธรรมเนียมที่พระพุทธเจ้าเคยปฏิบัติมิได้ขาด และเป็นวัตรปฏิบัติอย่างหนึ่งของพระป่า ที่นิยมฉันอาหารที่ผสมทุกอย่างลงในบาตร

ฐิตา:

ครั้งหนึ่งหลังจากหลวงปู่ชาแสดงธรรมจบ อุบาสกได้กล่าวว่า
ท่านเทศน์ถูกใจเหลือเกิน พรุ่งนี้เช้าจะต้มไก่มาถวาย
รุ่งเช้าอุบาสกคนนั้น ได้นำแกงไก่มาถวาย
พระที่ติดตามไม่นึกเฉลียวใจว่าสัตว์ที่ถูกฆ่าทำเป็นอาหารเจาะจงถวาย
ถ้าพระฉันจะต้องอาบัติจึงฉันแกงไก่นั้น แต่หลวงปู่ชาไม่ฉันและกล่าวว่า
“อร่อย ไหมแกงไก่ ช่างไม่คิดอ่าน ไม่รู้สึกอะไรเลย แต่ไม่เป็นไรหรอกเพราะ ท่านไม่รู้
ผมนะ เห็นแกงไก่ รู้สึกเสียววาบเลย” (คณะศิษย์ , 2536: 138)

สาเหตุ ที่หลวงปู่ชาไม่ฉันแกงไก่ เนื่องจากมีพระวินัยบัญญัติห้ามไม่ให้พระภิกษุ
ฉันเนื้อสัตว์ที่บุคคลฆ่า ทำเป็นอาหารเจาะจงถวายแด่พระภิกษุโดยตรง

ในขณะที่หลวงปู่ชาอาศัยจำพรรษาที่วัด แห่งหนึ่ง มีเรื่องการสอนพระวินัยที่เคร่งครัด
ตอนเช้ามีอุบาสกนำข้าวหมากมาถวาย พระทุกรูปลงมือฉัน
แต่หลวงปู่ชาไม่ฉันเพียงรับประเคนแล้ววางไว้ หลวงตาท่านหนึ่งถามว่า

“ ไม่ฉันข้าวหมากหรือ " หลวงปู่ชาบอกว่า " ผมเห็นว่ามันมีกลิ่นและรสคล้าย เหล้า ”
(นามกาย, 2538: 100)

ในพระ วินัยว่าด้วยเรื่องสุรา และเมรัย สิกขาบทที่ 1 ในสุราปานวรรค บัญญัติไว้ว่า
 ภิกษุต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะดื่มสุราและเมรัย (วิ.น.ย. 2/327/465)
ข้าวหมากจัดเป็นของหมักดอง ถือเป็นเมรัยชนิดหนึ่งถ้าฉันเป็นจำนวนมาก
อาจทำให้มึนเมาได้ หลวงปู่ชา พิจารณาเห็นว่าเป็นสิ่งไม่ควรจึงไม่ฉัน

ฐิตา:

อีกเหตุการณ์หนึ่ง ที่วัดแห่งหนึ่ง ชาวบ้านทำข้าวหลามอยู่ที่วัด หลวงตาได้จับกระบอกข้าวหลามก่อนได้รับประเคน เมื่อถึงเวลาฉัน หลวงปู่ชาไม่ฉันข้าวหลามนั้น เพราะการฉันอาหารที่พระภิกษุแตะต้องก่อนได้รับประเคนเป็นอาบัติ หลังจากฉันเสร็จหลวงตารูปนั้น ขอแสดงอาบัติกับหลวงปู่ชา หลวงปู่ชา ได้บอกว่า ไม่ต้องแสดงก็ได้ขอให้สำรวมต่อไป (นามกาย, 2538: 102)

ในพระวินัยว่าด้วยเรื่องการรับประเคนอาหาร สิกขาบทที่ 10 ใน โภชนวรรค บัญญัติไว้ว่า ภิกษุใดกลืนกินอาหารที่ไม่ได้รับประเคนให้ล่วงลำคอ ต้องอาบัติปาจิตตีย์ (วิ.น.ย 2/263/415) วิธีการสอนในลักษณะเช่นนี้แม้เป็นประโยคคำสั้น ๆ แต่เป็นการสอนที่อาศัยไหวพริบปฏิภาณของผู้สอน ในการอยู่ร่วมกันถ้าไม่หมั่นสังเกตจะไม่รู้ว่าใครมีความประพฤติเรียบร้อยดีงาม และต้องใช้ระยะเวลาจึงจะรู้ถึงความรู้ และความประพฤติได้

พระวิสุทธิสังวรเถร สัมภาษณ์ กล่าวว่า วิธีสอนของหลวงปู่ชาจะใช้คำพูดที่เรียบง่าย โดยจะสอนตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า ทั้งนี้คำสอนอาจแตกต่างกันตามความเหมาะสมกับบุคคลนั้น โดยผู้สอนไม่ได้เตรียมคำสอนไว้ล่วงหน้า และต้องอาศัยจังหวะและโอกาสที่เหมาะสม

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version