อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > หลวงพ่อชา สุภทฺโท

ประวัติและปฏิปทา ของ หลวงพ่อชา สุภทฺโท

<< < (4/5) > >>

ฐิตา:


๐ ภาษาคน ภาษาธรรม

เป็นที่น่าแปลกใจว่า บุคคลผู้มีความรู้ทางโลกเพียงแค่ ป.๑ อย่างหลวงพ่อ ทำไม่จึงมีลูกศิษย์ลูกหาชาวต่างประเทศ ที่อุทิศตนเป็นพุทธสาวกอย่างจริงจังจำนวนมากขนาดนั้น และลูกศิษย์ชาวตะวันตกของหลวงพ่อยังได้เป็นตัวแทนที่เข้มแข็ง และมีประสิทธิภาพในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ให้กว้างไกลออกไปยังต่างประเทศด้วย

เกี่ยวกับเรื่องการสอนพระชาวต่างประเทศนี้นี้ มีคนตั้งคำถามกับหลวงพ่อหลายครั้งหลายครา ทำนองว่า ท่านพูดภาษาฝรั่งไม่ได้ แล้วเขาก็พูดภาษาเราไม่ได้ แล้วท่านสอนเขาอย่างไร หลวงพ่อตอบในเชิงถามย้อนว่า

“ที่บ้านโยมมีสัตว์เลี้ยงไหม ? อย่างหมาแม่ หรือวัวควายอย่างนี้ เวลาพูดกับมัน โยมต้องรู้ภาษาของมันด้วยหรือเปล่า ? ” หรือไม่ก็ตอบอย่างคมคายว่า

“น้ำร้อนก็มี น้ำฮ้อนก็มี ฮอทวอเตอร์ก็มี มันเป็นแต่ชื่อภายนอก ถ้าเอามือจุ่มลงไปก็ไม่ต้องใช้ภาษาหรอก คนชาติไหนก็รู้ได้เอง” เป็นต้น

เคล็ดลับในการสอนของหลวงพ่อ ก็คือท่านสอนด้วยการกระทำ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาอะไรมาก ท่านบอกว่า ถึงแม้มีลูกศิษย์เมืองนอกมาอยู่ด้วยมากๆ อย่างนี้ ก็ไม่ได้เทศน์ให้เขาฟังมากนัก พาเขาทำเอาเลย ทำดีได้ดี ถ้าทำไม่ดีก็ได้ของไม่ดี พาเขาทำดู เมื่อเขาทำจริงๆ เขาจึงได้ดีไป เขาก็เลยเชื่อ ไม่ใช่มาอ่านหนังสือเท่านั้น ทำจริงๆ จังๆ สิ่งใดไม่ดีก็ละมัน อันไหนไม่ดีก็เลิกมันเสีย มันก็เป็นความดีขึ้นมา

การสอนแบบ “พาเขาทำเอาเลย” นี้ บางทีหลวงพ่อก็เปรียบเทียบให้ฟังว่า “ไม่ยากหรอก ดึงไปดึงมาเหมือนควาย เดี๋ยวมันก็เป็นเท่านั้นล่ะ” และที่หลวงพ่อนำมาใช้ผลได้เป็นอย่างดีนี้ ก็เพราะเป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่หลวงพ่อท่านทำอยู่แล้วปฏิบัติอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นลูกศิษย์ถิ่นไหนชาติไหน ท่านก็สอนด้วยการพาทำเอาเลยมาแต่เดิมอยู่แล้ว ดังนั้นวิธีการสอนของท่านแบบนี้จึงเป็นไปอย่างธรรมชาติและสมบูรณ์ ในตัว


ฐิตา:


๐ สตรี

เกี่ยวกับเรื่องสตรี หลวงพ่อท่านจะเข้มงวดเอากับลูกศิษย์ของท่านมาก เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า กามราคะ เป็นมารตัวสำคัญที่ทำให้พระต้องสึกหาลาเพศ เป็นอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ต่อการประพฤติปฏิบัติ ในพระวินัยบัญญัติก็มีหลายสิกขาบทที่วางหลักไว้อย่างเข้มงวด เพื่อกำกับการติดต่อกับมาตุคาม ป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นก่อนที่จะสายเกินแก้

การที่ท่านเข้มงวดกับเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ ก็เนื่องจากว่าท่านเคยต้องผจญกับพญามารตัวนี้มาแล้วอย่างยากลำบาก อย่างที่ท่านเล่าไว้ เมื่อไปจำพรรษากับท่านอาจารย์กินรี กามราคะก็เล่นงานท่านอย่างรุนแรงกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ขณะที่มีความเพียรปฏิบัติธรรมอย่างเคร่งครัด ในวาระหนึ่งกามราคะก็เข้ามารุมเร้าอย่างรุนแรง ไม่ว่าจะเดินจงกรม นั่งสมาธิ หรืออยู่ในอิริยาบถก็ใดก็ตาม ปรากฏว่ามีอวัยวะเพศของผู้หญิงลอยปรากฏเต็มไปหมด เกิดความรู้สึกรุนแรงจนแทนทำความเพียรไม่ได้ ต้องอดทนต่อสู้กับความรู้สึกและนิมิตเหล่านั้นอย่างลำบากยากเย็น หลวงพ่อเล่าว่า ความรู้สึกต่อกามราคะในครั้งนั้นย่ำยีจิตใจรุนแรงพอๆ กับความกลัวที่เกิดขึ้นในคราวที่ไปป่าช้าครั้งแรก เดินจงกรมก็ไม่ได้ เพราะองค์กำเนิดถูกผ้าเข้าก็มีอาการไหวตัว ต้องให้เข้าไปทำที่จงกรมในป่าทึบเพื่อเดินเฉพาะในเวลาค่ำมืด และเวลาเดินต้องถลกสบงพันเอวไว้ การต่อสู้กับกามราคะเป็นไปอย่างทรหดอดทน ขับเคี่ยวกันอยู่นานถึง ๑๐ วัน ความรู้สึกและนิมิตเหล่านั้นจึงสงบและขาดหายไป

เนื่องด้วยเรื่องนี้ หลวงพ่อเห็นว่าเป็นคติธรรมที่ดี โดยเฉพาะแก่พระหนุ่มวัยฉกรรจ์ เมื่อลูกศิษย์ทำการรวบรวมชีวประวัติของท่าน ก็รู้สึกไม่แน่ใจว่าสมควรจะเผยแผ่ต่อสาธารณชนหรือไม่ แต่หลวงพ่อก็ได้กำชับว่า

“ต้องเอาลง ถ้าไม่เอาตอนนี้ในหนังสือด้วย ก็ไม่ต้องพิมพ์ประวัติเลย”

หลวงพ่อเองก็ระวังตัวมาก ใต้ถุนกุฏิท่านซึ่งใช้เป็นที่รับแขกก็โล่ง ถ้ามีแขกผู้หญิงมา ต้องมีพระหรือเณร หรือโยมผู้ชายเป็นพยานรู้เห็นสิ่งที่หลวงพ่อสนทนากับผู้หญิงนั้นด้วย และท่านก็เตือนพระภิกษุสามเณรอยู่เสมอว่า “ระวังเถอะผู้หญิง อย่าไปใกล้มัน ไม่ใช่ใกล้ไม่ใช่ไกล แค่สายตาไปผ่านพริบเท่านั้นแหละ มันเป็นพิษเลย”

ท่านกล่าวอธิบายพุทธพจน์ เกี่ยวกับเรื่องที่พระอานนท์ถามพระพุทธเจ้าในเรื่องการติดต่อกับผู้หญิง ว่า ไม่ให้เห็นดีกว่า ถ้าเหตุจะต้องเห็นมีอยู่ ก็ไม่ต้องพูดด้วย เหตุจะต้องพูดมีอยู่จะทำยังไง ต้องมีสติให้มาก นี่คือการปฏิบัติต่อสตรีเพศ



ฐิตา:


๐ การตอบปัญหา

การตอบปัญหาของหลวงพ่อนั้น ท่านพยายามหาคำที่เข้าใจง่ายๆ คำพูดที่ชาวบ้านเขาใช้กันรู้จักกันดีนั้นแหละเป็นสื่อ และถ้าเป็นปัญหาที่ถามเพราะสงสัยอยากรู้เฉยๆ ท่านจะตอบแบบตัดปัญหา คือจะตอบแบบสั้นๆ ไม่อธิบายให้ยืดยาว เพราะการตอบปัญหาคนพวกนี้ ถ้าอธิบายมากย่อมไม่อาจจบลงได้ง่ายๆ แต่ถ้าเป็นข้อสงสัยในเรื่องของการปฏิบัติ ท่านจึงจะพยายามอธิบายจนผู้ถามหายสงสัยเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป

เคยมีคนถามเรื่องปฏิจจสมุปบาท (คนที่ถามปัญหาแบบนี้ ไม่ต้องสงสัยว่าจะต้องเป็นผู้ทรงภูมิความรู้ในด้านปริยัติอย่างมากทีเดียว) ท่านตอบว่า

“คุณเคยตกต้นไม้ไหม พอมือหลุดจากที่ มันจะไปถึงพื้น มันจะไปถึงทุกข์ วาระจิตจากนี้มาจะไม่รู้เลย อันนี้เราลืมหมดเลย ไม่มีสติในช่วงนี้ นั่นมันเร็วถึงขนาดนั้น มันไปถึงทุกข์นี้ ทุกข์มันจะเกิดได้เพราะเหตุนี้ เรียกว่า อิทัปปัจจยตา...”

อีกตัวอย่างหนึ่ง คนที่นับถือพระเจ้าไม่ยอมรับคำสอนเรื่องอนัตตา ของศาสนาพุทธ เหตุผลของเขา ก็คือ “จะเอาอะไรมารู้อนัตตาเล่า ถ้าไม่ใช่อัตตา” จึงมีชาวคริสต์ถามหลวงพ่อว่า “ใครรู้อนัตตา”

หลวงพ่อจึงตอบกลับไปแบบปฏิปุจฉาพยากรณ์ว่า “แล้วใครรู้อัตตา”

ต่อคำตอบนี้ คนถามถึงกลับนิ่งอึ้งไป เพราะไม่คาดคิดว่าจะโดนย้อมถามแบบนั้น และการย้อนถามดังนี้ ย่อมแสดงให้เห็นถึงภูมิธรรมของผู้ตอบด้วย ถ้าถามต่อไปอีกก็มีแต่จะเพลี่ยงพล้ำเป็นแน่

การตอบปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่ควรจะต้องพูดถึงในที่นี้ ก็คือท่าทีต่ออัพยากตปัญหา หรือปัญหาอันไม่ทรงพยากรณ์ ซึ่งท่านก็วางตัวได้เหมาะเสมอย่างยิ่งกับการต้องตอบปัญหาดังกล่าว เพราะท่านไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เลย เหมือนไม่สนใจ ท่านไม่กล่าวถึง ถ้ามีคนไปถามเรื่องนี้ท่านก็จะตัดบท หรือพูดชักนำออกไปในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติเพื่อการพ้นทุกข์เสีย ตัวอย่างเช่นครั้งหนึ่งมีคนไปถามท่านว่า

“เขาว่าหลวงพ่อเป็นพระอรหันต์ เป็นจริงเหาะได้หรือเปล่า”
หลวงพ่อตอบได้อย่างน่าชม โดยทำให้เรื่องเหาะเป็นเรื่องน่าขันไปเสียว่า
“เรื่องเหาะเรื่องบินนี่ไม่สำคัญหรอก แมงกุดจี่มันก็บินได้”

มีครูคนหนึ่งถามท่านเกี่ยวกับการเหาะเหินเดินอากาศ ของพระอรหันต์ในสมัยพุทธกาล ซึ่งเคยอ่านพบว่าเป็นความจริงหรือไม่ ท่านตอบง่ายๆ ว่า

“ถามไกลตัวเกินไปแล้วล่ะครู มาพูดถึงตอสั้นๆ ที่จะตำเท้าเรานี่ดีกว่า”

หรือ เคยมีโยมถามเกี่ยวกับชาติหน้ามีจริงหรือไม่ หลวงพ่อได้ให้คำตอบไว้ค่อนข้างชัดเจนดังนี้

โยม “ชาติหน้ามีจริงไหมครับ ?”
หลวงพ่อ “ถ้าบอกจะเชื่อไหมล่ะ ?”
โยม “เชื่อครับ”
หลวงพ่อ “ถ้าเชื่อคุณก็โง่”
คำพูดดังกล่าวของหลวงพ่อเล่นเอาคนถามงง ไม่รู้จะพูดอะไรต่อ

“หลายคนถามอาตมาเรื่องนี้ อาตมาก็ถามเขาอย่างนี้เหมือนกันว่า ถ้าบอกแล้วจะเชื่อไหม ถ้าเชื่อก็โง่ เพราะอะไร ? ก็เพราะมันไม่มีหลักฐานพยานอะไรที่จะหยิบมาให้ดูได้ ที่คุณเชื่อเพราะคุณเชื่อตามเขา คนเขาว่าอย่างไร คุณก็เชื่ออย่างนั้น คุณไม่รู้ชัดด้วยปัญญาของคุณเอง คุณก็โง่อยู่ร่ำไป ทีนี้ถ้าอาตมาตอบว่า คนตายแล้วเกิดหรือว่าชาติหน้ามี อันนี้คุณต้องถามต่อไปอีกว่า ถ้ามีพาผมไปดูหน่อยได้ไหม เรื่องมันเป็นอย่างนี้ มันหาที่จบลงไม่ได้ เป็นเหตุให้ทะเลาะทุ่มเถียงกันไปไม่มีที่สิ้นสุด

ทีนี้ ถ้าคุณถามว่าชาติหน้ามีไหม อาตมาก็ถามว่า พรุ่งนี้มีไหม ถ้ามีพาไปดูได้ไหม อย่างนี้คุณก็พาไปดูไม่ได้ ถึงแม้ว่าพรุ่งนี้จะมีอยู่ แต่ก็พาไปดูไม่ได้ อย่างนี้เป็นต้น ถ้าวันนี้มี พรุ่งนี้ก็ต้องมี แต่สิ่งนี้มันเป็นของที่จะหยิบยกมาเป็นวัตถุตัวตนให้เห็นไม่ได้

ความจริงแล้ว พระพุทธองค์ท่านไม่ให้เราตามไปดูถึงขนาดนั้น ไม่ต้องสงสัยว่า ชาติหน้ามีหรือไม่มี ไม่ต้องถามว่า คนตายแล้วจะเกิดหรือไม่เกิด อันนั้นมันไม่ใช่ปัญหา มันไม่ใช่หน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือ เราจะต้องรู้เรื่องราวของตนเองในปัจจุบัน เราต้องรู้ว่า เรามีทุกข์ไหม ถ้าทุกข์ มันทุกข์เพราะอะไร นี้คือสิ่งที่เราต้องรู้ และเป็นหน้าที่โดยตรงที่เราจะต้องรู้ด้วย พระพุทธเจ้าท่านสอนให้เราถือเอาปัจจุบันเป็นเหตุของทุกอย่าง เพราะว่าปัจจุบันเป็นเหตุของอนาคต คือถ้าวันนี้ผ่านไป วันพรุ่งนี้มันก็กลายมาเป็นวันนี้ นี่เรียกว่าอนาคตคือพรุ่งนี้ มันจะมีได้ก็เพราะวันนี้เป็นเหตุ ทีนี้อดีตก็เป็นไปจากปัจจุบัน หมายความว่า ถ้าวันนี้ผ่านไป มันก็กลายเป็นเมื่อวานเสียแล้ว นี่คือเหตุที่มันเกี่ยวเนื่องกันอยู่ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้เราพิจารณาเหตุทั้งหลายในปัจจุบัน เท่านี้ก็พอแล้ว ถ้าปัจจุบันเราสร้างเหตุไว้ดี อนาคตมันก็จะดีด้วย อดีตคือวันนี้ที่ผ่านไป มันย่อมดีด้วย และที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าเราหมดทุกข์ได้ในปัจจุบันนี้แล้ว อนาคตคือชาติหน้าก็ไม่จำเป็นที่จะต้องพูดถึง”

รูปแบบการสอนของหลวงพ่อ สอดคล้องสมดุลเป็นอย่างยิ่งกับข้อวัตรปฏิบัติของท่าน กล่าวคือการยึดเอาหลักความถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยเป็นหลักเท่านั้น นอกจากนี้ท่านยังเน้นความเป็นพระเอาไว้ว่าต้องทรงวินัยอย่างเคร่งครัด เพราะวินัยเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติในจุดที่สูงขึ้นไป และในความเป็นพระนั้นต้องประกอบเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาไว้เป็นอารมณ์เสมอด้วย



ฐิตา:


๐ การปกครองและนิกาย

เรื่องข้องใจต่อความเป็นนิกายนี้ หลวงพ่อเคยสงสัยและก็ได้รับความกระจ่างจากหลวงปู่มั่นมาแล้ว หลังจากนั้นท่านก็ไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องนี้ แต่พอได้เป็นเจ้าอาวาสวัดใหญ่ที่มีพระภิกษุสามเณรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก จึงมีปัญหาเรื่องนี้ให้หลวงพ่อต้องสะสาง

ครั้งหนึ่ง มีพระสายธรรมยุติมาขอจำพรรษาที่วัดหนองป่าพง หลวงพ่อได้ถามความเห็นของที่ประชุมสงฆ์ว่า จะรับให้พระอาคันตุกะเข้าร่วมลงอุโบสถด้วยหรือไม่ ซึ่งพระส่วนมากก็ลงความเห็นว่าไม่ควร ด้วยเหตุผลว่า “ทางฝ่ายเขาก็ปฏิเสธฝ่ายเราอยู่” หลวงพ่อได้ให้เหตุผลแย้งที่ประชุมด้วยมุมมองที่เฉียบคมอย่างยิ่งว่า

“การทำอย่างนั้นมันก็ดีอยู่ แต่มันยังไม่เป็นธรรมเป็นวินัย มันยังเป็นทิฏฐิ สักกายทิฏฐิ มีความถือเนื้อถือตัวมาก มันไม่สบาย เอาอย่างพระพุทธเจ้าจะได้ไหม คือเราไม่ถือธรรมยุติไม่ถือมหานิกาย แต่เราถือพระธรรมพระวินัย ถ้าปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจะเป็นธรรมยุติหรือมหานิกายก็ให้ลงได้ ถ้าไม่ดี ไม่มีความละอายต่อบาป ถึงเป็นธรรมยุติก็ไม่ให้ร่วม เป็นมหานิกายก็ไม่ให้ร่วม ถ้าเราเอาอย่างนี้ก็จะถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติ

จากแนวคิดที่ยึดพระธรรมวินัยหรือความถูกต้องเป็นใหญ่นี้ ถือได้ว่าเป็นรูปแบบการปกครองที่จะต้องถือเอาเป็นตัวอย่างทีเดียว และนี่ก็คือการปกครองที่เรียกกันว่าธรรมาธิปไตย ซึ่งเป็นระบบที่นักปกครองทั้งหลายต้องหยิบยกขึ้นมาขบคิดกัน



ฐิตา:


๐ ธรรมาธิปไตย

ในยุคที่ประชาธิปไตยเฟื่องฟู ใครๆ ก็มักเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นระบบการปกครองที่เหมาะสมที่สุดและยุติธรรมที่สุด อาจจะเป็นระบบที่สามารถประสานผลประโยชน์ของกลุ่มต่างๆ ในสังคมได้ดีกว่าระบบอื่นๆ แต่สำหรับชุมชนนักบวชที่เรียกว่า สงฆ์ นั้น มีความแตกต่างจากชุมชนอื่นๆ ในสังคมมนุษย์อยู่หลายประการ ด้วยเหตุที่เป็นชุมชนอิสระ ไม่ขึ้นกับระบบและทั้งไม่ยุ่งเกี่ยวกับผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคม ทั้งสมาชิกของชุมชนไม่รับผลประโยชน์จากการทำงานของตน แต่เป็นอยู่ด้วยปัจจัยเฉพาะที่เกื้อกูลแก่การประพฤติปฏิบัติ ที่คนในสังคมอุทิศถวายด้วยศรัทธาเท่านั้น ฉะนั้น ในวัดหรือในชุมชนสงฆ์จึงไม่มีกลุ่มผลประโยชน์ และที่สำคัญสมาชิกทุกคนของชุมชนอยู่ด้วยความสมัครใจ ด้วยจุดมุ่งหมายอันเดียวกัน คือการปฏิบัติเพื่อพ้นจากความทุกข์ ทุกคนเต็มใจประพฤติตามกฎระเบียบของสงฆ์ด้วยความพอใจ และมีสิทธิที่จะออกจากการเป็นสมาชิกของชุมชน (ลาสิกขา) เมื่อไรก็ได้

เมื่อโครงสร้างของสังคมสงฆ์อยู่ในลักษณะนี้ ตราบใดที่ผู้บริหารปกครองหมู่คณะตามแนวทางที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ ที่เรียกว่าปกครองโดยชอบธรรม หรือด้วยระบบธรรมาธิปไตยแล้ว ท่านก็ไม่จำเป็นต้องฟังเสียงข้างมากเสมอไป และการที่ลูกศิษย์มาขออาศัยในอาวาสก็ได้มอบฉันทะไว้กับท่านเจ้าอาวาสด้วยศรัทธาในสติปัญญา จึงต้องยอมรับการตัดสินของท่าน เสมือนหนึ่งลูกยอมอยู่ในโอวาทของพ่อแม่ฉันนั้น

อย่างไรก็ตาม พระภิกษุสามเณรทุกๆ รูป รวมทั้งเจ้าอาวาส ต้องปวารณาตัวไว้กับสงฆ์ว่า ถ้ามีการกระทำที่ไม่เหมาะสมด้วยประการใดก็ตาม ทุกรูปพร้อมที่จะรับฟังคำตักเตือนว่ากล่าวอยู่เสมอ และการประชุมสงฆ์อยู่เนืองนิตย์ก็เป็นโอกาสที่พระทุกรูป จะได้ยกปัญหาที่เกิดขึ้นมาปรึกษาพระสงฆ์

สรุปได้ว่า สงฆ์ต้องเป็นใหญ่ในกิจทั้งปวง แต่ต้องไม่ใช่พวกมากลากไป กรณีตัวอย่างของระบบธรรมาธิปไตยที่ชัดเจนที่สุดคือ กรณีที่มีโยมมาขอถวายรถยนต์แก่วัด

วันหนึ่ง หลังจากประชุมสวดปาฏิโมกข์แล้ว ก็เป็นโอกาสที่ได้พูดคุยปรึกษาหารือกันตามธรรมเนียม หลวงพ่อได้เล่าเรื่องที่มีโยมมาขอถวายรถยนต์ ซึ่งท่านยังมิได้ให้คำตอบแก่เขาว่าจะรับหรือไม่ และได้ถามความเห็นที่ประชุมสงฆ์ พระสงฆ์ทุกรูปต่างก็เห็นพ้องต้องกันว่าควรจะรับ ด้วยเหตุผลที่ว่าจะสะดวกเวลาที่หลวงพ่อจะไปเยี่ยมสำนักสาขาต่างๆ ซึ่งมีมากมายกว่า ๔๐ สาขา อีกทั้งเวลาพระเณรอาพาธเจ็บป่วยก็จะได้นำส่งหมอได้ทันท่วงที หลวงพ่อรับฟังข้อเสนอของบรรดาสานุศิษย์อย่างสงบ ในที่สุดท่านก็ได้ให้โอวาทแก่ที่ประชุมว่า

“สำหรับผมมีความเห็นไม่เหมือนกับพวกท่าน ผมเห็นว่าเราเป็นพระ เป็นสมณะ คือผู้สงบระงับ เราต้องเป็นคนมักน้อย สันโดษ เวลาเช้าเราอุ้มบาตรออกไปเที่ยวบิณฑบาต รับอาหารจากาชาวบ้านมาเลี้ยงชีวิตเพื่อยังอัตภาพนี้ให้เป็นไป ชาวบ้านส่วนมากเขาเป็นคนยากจน เรารับอาหารมาจากเขา เรามีรถยนต์ แต่เขาไม่มี นี่ลองคิดดูซิว่า มันจะเป็นอย่างไร เราอยู่ในฐานะอย่างไร เราต้องรู้จักตัวเอง เราเป็นลูกศิษย์ของพระพุทธเจ้า เมื่อพระพุทธเจ้าไม่มีรถ เราก็อย่ามีเลยดีกว่า ถ้ามี สักวันหนึ่งก็จะมีข่าวว่ารถวัดนั้นวัดนี้คว่ำที่นั่น รถวัดนี้ไปชนคนที่นี่...อะไรวุ่นวาย เป็นภาระยุ่งยากในการรักษาเมื่อก่อนนี้จะไปไหนแต่ละทีมีแต่เดินไปทั้งนั้น ไปธุดงค์สมัยก่อนไม่ได้นั่งรถไปเหมือนทุกวันนี้ ถ้าไปธุดงค์ก็ธุดงค์กันจริงๆ ขึ้นเขาลงห้วยมีแต่เดินทั้งนั้น เดินกันจนเท้าพองทีเดียว แต่ทุกวันนี้พระเณรเขาไปธุดงค์มีแต่นั่งรถกันทั้งนั้น เขาไปเที่ยวดูบ้านนั้นเมืองนี้กัน ผมเรียกว่า ทะลุดง ไม่ใช่ ธุดงค์ เพราะดงที่ไหนมีทะลุกันไปหมด นั่งรถทะลุมันเลย ไม่มีรถก็ช่างมันเถอะ ขอแต่ให้เราประพฤติปฏิบัติให้ดีเข้าไว้ก็แล้วกัน เทวดาเห็นเข้าก็เลื่อมใสศรัทธาเองหรอก ผมไม่รับรถยนต์ที่เขาจะเอามาถวายก็เพราะเหตุนี้ ยิ่งสบายเสียอีก ไม่ต้องเช็ดไม่ต้องล้างให้เหนื่อย ขอให้ท่านทั้งหลายจงจำไว้ อย่าเห็นแก่ความสะดวกสบายกันนักเลย”

หลักธรรมาธิปไตย จึงไม่ยึดติดอยู่ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไม่ยึดติดที่หัวหน้าชุมชน ไม่ยึดติดที่เสียงข้างมาก ไม่ยึดติดที่ธรรมเนียมประเพณี แต่ต้องยึดความถูกต้องดีงามเป็นหลักใหญ่ ซึ่งวัดค่าได้โดยการตรวจสอบว่าถูกต้องตรงกับหลักพระธรรมวินัยหรือไม่ ถ้าเอนเอียงหรือบิดเบือนออกนอกกรอบแห่งพระธรรมวินัย ย่อมถือได้ว่าผิดหลักธรรมาธิปไตย แม้ว่าจะตรงกับความต้องการของคนส่วนใหญ่ หรือตรงกับขนบธรรมเนียมค่านิยมของสังคมก็ตามที




นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version