ผู้เขียน หัวข้อ: Tokyo Sonata ดนตรีที่เราเล่น ยากที่จะเห็นในบั้นปลาย  (อ่าน 1865 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
Tokyo Sonata (2008) Trailer [ENG SUB]


ขณะที่บ้านเมืองไทย ยังไม่รู้ว่าสถานการณ์จะออกหัวออกก้อย
หรือจะออกติ๊กต่างลูกควบลูกครึ่ง อีกทั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ
ก็ทำท่าว่าจะแท้งตั้งแต่เริ่มต้นเสนอตัว เพราะหัวของอีกฝ่าย
คงจะคิดมากเอาการ เพียงเพราะคณะกรรมการฯนั้น
ไม่รู้จักการเรียกแขก เลยต้องเตลิดไปหาอีกฝ่ายถึงยังค่าย
ซึ่งก็คงจะเป็นเรื่องที่แปลกน่าดู
ถ้าคณะกรรมการชุดดังกล่าว จะออกไปหาถึงอีกฝ่าย
ด้วยการตีตั๋วเครื่องบิน ไปถึงถิ่นประเทศที่เพิ่งเกิดใหม่
หรือไม่ก็ไปยังประเทศที่ขัดเคือง ในการที่จะส่งผู้ร้ายมาข้ามแดน
ความจริงทางออกของเวทีสมานฉันท์ มันมีอยู่ใกล้ๆตามสไตล์วัฒนธรรมตะวันออก
ซึ่งก็ไม่เข้าใจอีกเช่นกันว่า ทำไมต้องลำบากลำบน ออกรอบตีกอล์ฟให้เหงื่อท่วมตัว
เพื่อหาจุดเชื่อมกึ่งกลางผลประโยชน์ของบางสิ่งบางอย่าง
อย่างโต๊ะทานข้าวในห้องครัว เวทีสมานฉันท์ประจำบ้าน ปรากฎให้เห็นออกไป
อย่างน้อยๆ ก็จากภาพยนตร์เรื่อง Tokyo Sonata นี้ไง เป็นต้น

Tokyo Sonata เป็นหนังที่ผู้เขียนได้รับชมมานานพอควร สักปีกว่าๆเห็นจะได้
ได้ยินชื่อ่เรื่องนี้ครั้งแรก ก็จากรายการวิทยุเมาท์แตกรอบดึกวันอาทิตย์
อย่างรายการหนังหน้าไมค์ ที่มีทั้งคำสรรเสริญปนเหน็บแหนมอยู่หน่อยๆ
แต่ก็ไม่อาจทลายซึ่งความดีของหนังเรื่องนี้ลงไปได้ แม้จะเอ่ยในสำบัดสำนวนไว้ว่า
"เป็นหนังที่เหมือนจะเถลไถลลอยทะเลเท้งเต้ง หรือไปสู่การเข้ารกเข้าพงอย่างไรทางออก
แต่สุดท้ายมันก็วกกลับเข้าหาฝั่งหรือทะลุกลับมาจุดเดิมอย่างที่ควรจะเป็นได้ทันเวลาท่วงที"
ความน่าสนใจในจุดนี้ เลยทำให้ผู้เขียนริจะลองวิชา
แม้ว่าทางคณะผู้จัด จะไม่กล้ารับประกันเงินเหรียญห้าบาท
หากปรากฎว่าดูแล้ว ไม่ถูกใจ ตามคำโฆษณาชวนเชื่อที่ได้โปรย
แต่นั่นก็ทำให้ผู้เขียนปล่อยไก่โทริยากิตัวเขื่อง
เมื่อไปถามหาจากร้านเช่าวีดีโอ ว่ามีหนังเรื่อง Tokyo Toyota รึเปล่า?
จนโดนพนักงานตอกหน้าหงาย เเซวเอาว่า "ก็จอดอยู่หน้าร้านไงละเพ่!"



Tokyo Sonata เป็นหนังดีที่ผู้เขียนปฏิญาณกับตัวเองไว้ว่าจะขอดูแค่เพียงครั้งเดียว
เพราะหนังเรื่องนี้ ได้เล่าถึงชีวิตครอบครัวชนชั้นกลางครอบครัวหนึ่ง
ที่มีองค์ประกอบของความเป็นครอบครัวเดียว อันได้แก่ ผู้เป็นพ่อ คนเป็นแม่
และบุตรชายต่างวัยอีกสองคน ที่ถ้านับถึงองค์ประกอบที่ว่าแล้ว
มองด้วยสายตาคนนอกข้างบ้านแบบสอดรู้สอดเห็น อาจหลงนึกไปว่า
ก็เป็นครอบครัวที่น่าจะอบอุ่นตามคาด ที่มีบ้านเป็นของตนเอง
ครอบครัวก็อยู่กันพร้อมหน้า ไม่ได้มีปัญหาหย่าร้าง
บุตรชายทั้งสอง ต่างก็ได้รับการศึกษาแบบไม่ต้องง้อการเรียนฟรีจากรัฐบาล
คุณแม่บ้านก็มีเงินสะสมเข้าบ้าน จากน้ำเหงื่อคุณ สามีในทุกๆปลายเดือน เป็นต้น
ถ้าถือตามหน้าฉากเหล่านั้น ก็อาจดูจะไม่ใช่เรื่องแปลก
แต่ความระหองระแหงภายในและการเก็บซ่อนในปัญหาของสมาชิกในครอบครัวนี้สิ
ที่เป็นสิ่งนำพาต่อสถานการณ์ ที่มีตัวบ่งชี้สัญญาณความผุกร่อนของสถาบันครอบครัว
อันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญ ที่จะส่งผลกระทบต่อสถานภาพในส่วนอื่นๆของสมาชิก
ที่ต่างคนก็เก็บงำปัญหาคนละอย่างสองอย่างไว้เต็มอก
ที่รอวันเพียงอาการจะปะทุออก จากความไม่เข้าใจหัวอกของกันและกัน
เหมือนกับคำโปรยหัวเรื่อง ที่บอกลักษณะพิเศษของแต่ละคนก็น่าสนใจแล้ว



Father who can't tell the family about the layoff
(ป๋าผมแกไม่อาจจะบอกกับครอบครัวได้ว่า แกเพิ่งถูกเจ้านายเฉดหัวไล่ออก)

Mother who can't get anyone to eat her donut.
(ส่วนม๊าผมเวลาแกเรียกใครให้ลงมาทานโดนัทฝีมือแก ก็ไม่ค่อยจะมีใครลงมา)

Brother who join the US Army.
(พี่ผมแกก็ดันทะลึ่งอยากจะจอยกับกองทัพของพวกมะกัน)

But l
(ส่วนผม.....)

ความผุกรอ่นในสัญญาณดังกล่าว ของครอบครัวสกุลซาซากิ
หนังเริ่มต้นถ่ายทอดจากผู้เป็นพ่อ ริวไฮอิ ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะการเลิกจ้าง
ด้วยกระบวนการของความเป็นโลกาภิวัฒน์ ที่ศัพท์ในหนังสือที่ชื่อ World is Flat
ให้นิยามของคำว่า Outsourcing มันเป็นอย่างไรนั่นเหรอ?
ถ้าใครเคยดู slamdog millonaire หรือ Die hard 4 หนังก็มีการฉายความเป็น
outsource แต่ในสองเรื่องนั้น เขายกตัวอย่างเกี่ยวกับศูนย์เชื่อมสัญญาณโทรศัพท์
ที่เรียกว่า Call Center กล่าวง่ายๆเลย คือ แทนที่จะจ้างคนในประเทศตัวเอง
ที่มีรายได้เงินเดือนที่แพงกว่าสู้เอาเงินส่วนนี้ แล้วไปโยกฐานการบริการยังต่างประเทศ
ที่มีประสิทธิภาพใกล้เคียง แต่กินเงินเดือนรายได้ที่น้อยกว่ามาก
บริษัทที่ริวไฮอิทำงานด้วย จึงเลือกที่จะจ้างชาวจีนที่พอพูดญี่ปุ่นได้
แทนที่จะชาตินิยมจ๋า อย่างธรรมเนียมเศรษฐกิจของคนรุ่นพ่อรุ่นแม่
งานนี้ตัวพ่อริวไฮอิก็เจอสึนามิทางเศรษฐกิจเล่นงานชนิดที่ทำงานอยู่ดีๆ
ก็โดนเรียกว่า ถูกไล่ออกแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เดินมึนโซซัดโซเซ
กลับบ้านแบบไม่ได้เตรียมรับกับคำตอบที่จะบอกเล่าแก่ครอบครัวของตัวเอง
มึนชนิดที่ว่า ไม่กล้าเดินกลับเข้าทางประตูหน้าบ้าน
อย่างที่เคยเป็นอยู่ทุกวี่ทุกวัน แต่เลี่ยงเส้นทางแม้จะไม่มีม็อบ
เดินเลาะย่องเข้าทางช่องหน้าต่าง ที่ประจำอยู่หลังบ้านเป็นการแทน
ไร้เสียงตามธรรมเนียมปฏิบัติของคนญี่ปุ่น แม้จะกลับบ้านด้วยความที่มีอารมณ์ขุ่นเคือง
ก็ต้องส่งสัญญาณเสียงเพื่อบอกให้สมาชิกได้รับรู้ว่า
ตนกลับมาถึงแล้วนะ ประมาณว่า วันนี้ยังเอาตัวรอดจากโลกภายนอกมาได้
หรือสุดท้าย คือ ยังไม่ตาย



จากนั้นหนังก็ค่อยๆไล่กระทบ ไปถึงตัวตนของปัญหาเดิมๆในสมาชิกของแต่ละคน
อย่างตัวแม่ เมกูมิ ที่ดูจะมีความสุขของการมีชีวิตแบบแม่บ้าน
ที่คอยดูแลอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน ให้ความรักและเอาใจใส่แก่ลูกชายทั้งสอง
แต่ลึกๆแล้ว ก็มีความโหยหาในอิสรภาพและการมีชีวิตส่วนตัว
เที่ยวไปเรียบๆถูๆ รถสปอร์ตคันงามตามโชรูม แล้วก็ถอนหายใจเมื่อได้สัมผัส
จนรู้สึกว่าสาแก่ใจแม่แล้ว ก็กลับสู่โลกของความเป็นจริงเช่นเดิม
ส่วนตัวคุณลูกชายก็มีปัญหาส่วนตัว ที่ไม่แพ้คนผู้เป็นพ่อและเป็นแม่
อย่างลูกคนโตทากาชิ ที่โตเกินหมาจะเลียก้น เป็นเด็กหนุ่มวัยปัญญาชน
ที่กำลังจะขอเลือกชีวิตในเส้นทางของตัวเอง โดยเลี่ยงแนวทางการอุปถัมภ์
ของผู้บังเกิดกล้าว แต่สุดท้ายแล้ว ต้องมาติดกับกรอบกติกาทางสังคม
ที่แม้ใจตัวเองอยากจะเป็นทหารในหน่วยฟื้นฟูสันติในอิรัก แต่ทว่า
ก็ต้องได้รับการเซ็นยินยอมจากตัวผู้ปกครองของตน ซึ่งทากาชิ
เองก็รู้ปัญหาในเงื่อนไขตรงจุดนี้ ว่าคำตอบจะออกมาในรูปแบบใด
ส่วนลูกชายคนสุดท้อง เคนจิ เป็นเด็กที่มีพรสวรรค์ทางดนตรี
ดีดเปียโนไม่กี่ที ก็ได้รับเสียงชื่นชมจากครูฝึกแถวบ้าน สุโค่ยย์เน่ๆ
แต่เป็นคนละเสียงกับผู้เป็นพ่อ ที่มองว่าเป็นเพียงกิจกรรมฆ่าเวลา
เล่นไปสักพัก เดี๋ยวมันก็เบื่อไปเอง เจ้าหนูเคนจิจึงสู้อุตสาห์อดอาหารกลางวัน
เพื่อเอาเงินในส่วนนี้ ไปเป็นค่าครูในการที่จะได้ฝึกเล่นเปียโนเป็นชิ้นเป็นอัน
อันนี้ยังไม่ต้องไปนับกับการที่จะให้ทางบ้านสละทรัพย์ เพื่อมีเครื่องเปียโน
ไว้ประจำสถาน แทนการที่จะทนจิ้มคียบอร์ดของเล่นเพื่อสร้างจินตนาการ
ในโลกส่วนตัว ว่ามันคือเปียโนตัวเบ้อเร้อ แบบไม่ให้ผู้เป็นแม่รับรู้
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



l'm not against piano.l like men who can play the piano.
(แม่ไม่ห้ามลูกหรอกที่คิดจะเล่นเปียโน ชายที่เล่นเปียโนได้ แม่ชอบดีออก)

ขณะที่สถานการณ์ปัญหาเดิมที่กำลังผุดขึ้น ไม่ได้รับการคลี่คลาย
ปัญหาของผู้เป็นพ่อในฐานะเสาหลักทางเศรษฐกิจ ที่ไม่มีช่องทางของรายได้
อีกทั้งมีความติดยึดในทัศนคติ ทั้งของความเป็นชาย ความเป็นพ่อ
และสถานของผู้มีอำนาจสูงสุดในครอบครัว ริวโฮฮิจึงเลือกที่จะเก็บซ่อนปัญหา
การถูกเลิกจ้าง ให้กับสมาชิกในครอบครัวให้ได้รับทราบอย่างที่บอกไว้ข้างต้น
ยังคงปฏิบัติตัวเหมือนเช่นทุกเช้า อาบน้ำ แต่งตัว ผูกเน็คไท แบกกระเป๋าเอกสาร
อันเป็นกิจวัตรอันสมบูรณ์แบบ ขาดอย่างเดียว คือ ไม่มีงานทำ
แต่ด้วยความที่ศักดิ์ศรีจัด ระดับที่อีโก้ยังเรียกพ่อ จึงพยายามที่จะเสาะแสวงหางานใหม่
แต่ก็ไม่หลงลืมตำแหน่งความเป็นอดีตหัวหน้างานผู้ทรงเกียรติ์
และยังหลงเชื่อโลกทัศน์เก่าๆ ตามสูตรนิยมที่ว่าจะมีการจ้างงานตลอดชีพ
แต่สมัครงานที่นั้นก็แล้ว ที่นี้ก็แล้ว ระดับของความเป็นอีโก้ส่วนตัวที่เกาะแน่น
ก็ค่อยๆลดระดับรองลงในแต่ละวัน ลงในระดับที่ว่า ให้ต่อแถวทานข้าวฟรี
ก็พร้อมทำตามด้วยความยินยอม เคยดูในซีรีย์ shiroi haru เห็นอ.สุวินัยเล่าว่า
ส่วนใหญ่คนที่มาแจก มักจะเป็นในรูปมูลนิธิของเครือคริสตจักรเสียส่วนใหญ่
ฟังดูก็แปลกๆ เพราะถ้าย้อนไปในปี ๘๐ ถ้าคนญี่ปุ่นหงายหน้าไปมองตึกแถววอร์สตรีท
สักตึกนึง นั่นเป็นการส่งสัญญาณว่า ในไม่ช้าคงได้มีการซื้อกิจการตึกสักหลัง
ภายใต้ทรัพย์สินที่เป็นเงินเยนโดยแน่
สุดท้าย ตัวพ่อคงต้องรับสภาพของโลกการแข่งขันตามระบบทุนเสรี
ยอมรับในอาชีพคนทำความสะอาดตามห้างสรรพสินค้า ที่เป็นช่วงตกต่ำของชีวิต
เพื่อแลกกับการประคับประคองสถานภาพปกติของความเป็นครอบครัว
ให้กลับคืนมาอีกครั้ง แม้จะเป็นครั้งที่เจ็บปวดที่สุดของชีวิต
ที่สุดท้ายก็ยังไม่กล้าที่จะเปิดเผยความจริงนี้แก่ครอบครัวตัวเองอยู่ดี
แม้จะปาเข้าไปท้ายเรื่องแล้วก็ตาม



เหมือนว่าจะสังเวชใจอย่างเพียงพอแล้ว หนังยังคงราวีอย่างไม่เลิกลาวาศอก
ยังชวนคนดูให้สังเวชใจยิ่งกว่า เมื่อตัวพ่อริวไฮอิที่กำลังต่อคิวรอรับอาหารแจกฟรี
แก่เหล่าพวกคนเร่ร่อน เลยมีโอกาสทำให้ริวไฮอิได้พบกับเพื่อนสมัยมัธยมแบบบังเอิญ
เป็นดวงสมพงษ์ชนิดที่ว่า ก็ใส่สูทผูกไทเข้าแถวต่อรับอาหารฟรีด้วยสีหน้าท่าทางเฉยเมย
ตามประสาคนสายแข็ง ที่มียถากรรมก่อนหน้ามาเนินนานหลายเดือน
แถมเพื่อนคนนี้ยังชวนริวไฮอิให้มาแวะที่บ้าน เพื่อเสริมการจัดฉากให้ดูแนบเนียนมากยิ่งกว่าเดิม
หลังจากที่ทางครอบครัวของเพื่อนพ่อ เริ่มระแคระคายว่าตัวพ่อของเรา
น่ากำลังจะตกงานแบบมาราธอน เพราะมีสัญญาณแทรกซ้อนเข้ามาหลายอย่าง
ให้สมควรพอที่จะเป็นบุคคลที่น่าต้องสงสัย
ริวไฮอิจึงกลายเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด ที่ปกติแล้วการเก็บซ่อนความลับอะไร
ก็เล่นได้ไม่เนียนตา แถมยังทำหน้าตาได้เหรอหรา จนลูกเพื่อนจำทางได้
เล่นเอาตัวพ่อริวไฮอิสีหน้าถอดสี และคาดเดาอนาคตได้เลยว่า
ในไม่ช้า ครอบครัวของเราก็คงจะจับไต๋ได้ ในสิ่งที่ควรรู้แต่ยังไม่ได้รับรู้
ขึ้นกับว่า ช้าหรือเร็วเท่านั้น ที่คำตอบนั้นจะถูกเพ่งพาย
อันจะนำมาซึ่งความสั่นครอนทางอำนาจ ในสถานภาพของผู้เป็นพ่อ
ที่เป็นเสาหลักของครอบครัวในที่สุด ที่วันๆนึกแต่เรื่องการบริหารศูนย์กลางอำนาจของบ้าน
โดยไม่สนใจใยดี ว่าสมาชิกลูกบ้านจะมีความรู้สึกเช่นใด



Dad,You say you protect us ,but what do you do everyday?
l am joining the Us Army becauce l want to protect all of you.
(ไหนป๋าบอกว่าป๋าจะปกป้องพวกเรา แต่วันๆป๋าคิดสิว่าป๋าได้ทำอะไรลงไปบ้าง
ผมจะสมัครเข้าร่วมกองกำลังสหรัฐ เพราะว่าผมต้องการที่จะปกป้องทุกๆคน)


หนังได้นำพาผู้ชมไปไกล ชนิดที่ไม่คิดว่าจะมีหนทางกลับมาได้
เมื่อคนเป็นแม่ ที่อยู่มาวันหนึ่ง ดันมีโจรเข้ามาปล้นในฐานะตัวเยือน
และดูท่าว่าจะเป็นโจรมือใหม่ ที่มาปล้นโดยไม่รู้จักเลือกเจ้าทุกข์
เลยต้องมาเจอเจ้าทรัพย์ ในสถานการณ์ที่ตกอับไร้ทรัพย์สินเหลือแต่ความเป็นเจ้า
แถมยังจี้เอาตัวประกันที่มีแม่อยู่เพียงคนเดียวในบ้าน ติดสอยห้อยตามไปด้วย
ไม่รู้ว่าจะโชคดีหรือโชคร้ายกันแน่ เพราะก่อนหน้าที่พี่โจรแกจะมาปล้นบ้านนี้
ก็ได้โจรกรรมรถเก๋งสปอร์ตคันงาม เป็นรุ่นเดียวกันกับที่คนเป็นแม่ได้ถูๆไถๆ
ณ โชรูม แบบได้มาไม่ถูกต้องแต่ก็ขับได้ถูกทาง จนได้รับความเชื่อใจจากคุณโจร
ที่ขับรถไม่ชำนาญเท่า สุดท้ายปลายเหตุก็หนีไกลจากจุดเกิดเหตุพอสมควร
ยิมยอมที่จะปล่อยตัวมิโฮะให้เป็นอิสระ แต่คราวนี้ตัวแม่ไม่ยอมเชื่อคำสั่งของผู้เป็นโจร
ถึงขั้นแสดงกำลังภายในในสถานที่มิดชิด จนทำท่าว่าหนังเตลิดไปจนได้ที่
ค่านิยมทางสัมคมของคนที่เป็นศรีภรรยา ที่มีลูกมีเต้าอยู่กับเหย้าเฝ้ากับเรือน
ที่ดูท่าว่าน่าจะเป็นความใฝ่ฝันสูงสุดของผู้หญิงโดยส่วนใหญ่
จะแก้แค้นแก่ผู้เป็นพ่อที่ไม่ยอมบอกเล่าความจริง หรือปลดปล่อยอิสรภาพที่เก็บอั้น
มานานก็ไม่ทราบได้ แต่ที่ผู้เขียนรับรู้ คือ เป็นความแตกสลายโดยสมบูรณ์
ของครอบครัวๆหนึ่ง ที่ไม่มีโอกาสกลับมาแก้ไขให้เหมือนเดิมได้อีกครั้ง
พ่อไปทาง แม่ไปทาง ส่วนลูกก็หนีออกจากบ้านกลายเป็นเด็กเร่ร่อน
แต่สุดท้าย ผู้กำกับก็สร้างปาฏิหาริย์อย่างเหลือเชื่อในสิบนาทีสุดท้าย
เมื่อดึงสมาชิกแต่ละคน ให้วกกลับมาจุดเดิมของความเป็นครอบครัวนี้อีกครั้ง
ทั้งๆที่ ไม่ได้มีตัวกลางสมานฉันท์อย่างคนหนึ่งคนใด เป็นผู้ชักนำให้กลับคืนมา
กลับกลายเป็นเรื่องสำนึกของความเป็นสถาบันทางครอบครัวเฉพาะบุคคล
จะด้วยต้นทุนเดิมที่เคยอบอุ่นก่อนที่ครอบครัวซาซากิจะประสบด้วยนานาปัญหา
เพราะหนังไม่ได้ฉายความรู้สึกนึกคิดของตัวละครและบทย้อนก่อนหน้าเพื่อแสดงให้เห็นถึงความอบอุ่น
เพราะบทจะกลับคืนมา ก็กลับคืนมาเสียอย่างดื้อๆ
เป็นความยินยอมพร้อมใจซึ่งกันและกัน บนโต๊ะกินข้าวตัวเดิม
เหมือนกับว่า เหตุการณ์ความวุ่นวายในชีวิตส่วนตัวที่ผ่านมาตลอดทั้งคืน
ราวกับว่า ไม่เคยอะไรเกิดขี้นกับตัว เป็นเพียงฝันร้ายตื่นหนึ่ง พอเช้าวันใหม่
ก็กลับมารีสตาร์ท เริ่มต้นชีวิตใหม่กันอีกครั้ง.
ซึ่งจะว่าไป หากผกก. เลือกให้เป็นความล่มสลายของครอบครัวซาซากิ
ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ง่ายกว่า เพราะหนังมันมาในทิศทางนั้นโดยตลอดทั้งเรื่อง
การตีวกแบบ๑๘๐องศา อาจทำให้คนที่ผล่อยหลับไปช่วงท้ายอาจพลาดสิ่งดีดี
ในปรากฎการณ์ที่ไม่น่าเชื่อในโลกของภาพยนตร์โดยไม่รู้ตัว



Tokyo Sonata เป็นงานกำกับของ ผกก. คิโยชิ คูโรซาว่า
ผู้ที่มีจริตนิยมทางด้านการสร้างหนังเขย่าขวัญสั่นประสาทที่ออกฤทธิ์มึนๆ
ในช่วงท้ายเกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Kairo , Loft และSakebi
ดังนั้น จะเเปลกอะไรที่จะผกก.ท่านนี้ จะหันมาสร้างหนังดราม่าหม่นๆ
แนวครอบครัว ที่แม้จะปรับไปอีกแนวทางก็ยังไม่ถือว่าสายนัก แม้จะผ่าน
งานการกำกับมากว่าสามสิบกว่าปี ซึ่งใน Tokyo Sonata
แกก็ยังรักษาการออกฤทธิ์อย่างมึนๆ อันเป็นเสมือนลายเซ็นต์เฉพาะบุคคล
ที่ถ้าไม่ใช่แกทำแล้ว อาจเป็นงานที่ลอยทะเลเคว้งของมือของผู้กำกับคนอื่น
หรือมองในอีกแง่ อาจเป็นหนังที่ดูแบบเข้าใจได้ไม่ยาก ก็เป็นไปได้
ถือเป็นความกล้า ที่ตีแผ่ปัญหาสังคมในประเทศ
ด้วยการใช้สื่อภาพยนตร์เป็นเครื่องมือสื่อสารให้วงสาธารณะ
จะว่าเป็นหนังที่ว่าเรื่องของปัญหาก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่ที่แปลก
คือ การใช้ครอบครัวซาซากิเพียงครอบครัว เป็นเครื่องยกตัวอย่าง
ที่ไปสัมพันธ์กับอีกหลายๆปัญหาในประเทศ ได้อย่างแยบคาย
(หรือหัวอนุรักษ์ในประเทศ อาจมองว่าหยาบคาย)
แถมแตะยังไม่จบ ยังมีการขยายผลเชื่อมโยงกับปัญหาจนเรื่องราว
ของหนังไหลเป็นตัวโน็ตโซนาต้า ที่บรรเลงยาวนานกว่าเพลงป็อปตลาดทั่วไป
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด


We are like the slow-sinking boats
(เราก็ไม่ต่างจากเรือ ที่กำลังจมลงอย่างไปช้าๆ)

ส่วนมือเขียนบทก็เป็นคนเดียวที่เขียนบทและร่วมกำกับจากหนังเรื่อง
Dance of the Dragon ที่เป็นงานร่วมดาวเอเชียหลายสัญชาติ
อาทิ เจสัน สก็อต ลี ลูกครึ่งอเมริกา, จาง ฮุก จากเกาหลี และเฟย หวอง
จากสิงคโปร์ เป็นรักสามเศร้าครั้งนั้น จนมาครอบครัวเกือบเศร้าในครั้งนี้
แต่เสน่ห์ของ Tokyo Sonata สำหรับผู้เขียน คือ การล้อมวงร่วมกินข้าว
ของสมาชิกในครอบครัว ที่ดูจะเป็นเอกลักษณ์ประเทศ ไม่ใช่แค่สาย
ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ดูจะเป็นสายวัฒนธรรมของแทบโลกตะวันออก
เพียงแต่การสอดแทรกให้ดูโดดเด่น ผกก.ญี่ปุ่นดูจะเน้นเอื้อต่อการเข้าฉาก
โดยเฉพาะในซีรีย์ญี่ปุ่นที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับครอบครัวด้วยแล้ว
แทบจะเป็นสูตรวิชาบังคับที่ขาดไปเสียมิได้ ไม่ว่าจะเป็นซีรีย์อย่าง
Otousan , Summer Snow ,Grand Family ,FlowerShop without Rose
หรือ Aikurushii ปากก็กินไปพร้อมกับสอบถามสารทุกข์สุขดิบภายในครอบครัว
แม้คนเป็นลูกจะพยายามหลีกหนี ที่ไม่อยากพูดคุยด้วยก็เหอะ
แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธ ที่จะไม่ร่วมทานข้าวให้อยู่ท้องได้
ถึงขั้นมีมาตราการลงดทษให้อดข้าวกันมาแล้วก็มี
เป็นกติการตามธรรมเนียมสามัญครอบครัว ที่ปัจจุบันนี้ไม่แน่ใจว่า
การมีอาหารสะดวกซื้อและหากินเองได้นอกบ้าน จะทำให้โต๊ะกินข้าว
แลดูศักดิ์สิทธิ์ในชีวิตจริงรึไม่ ถ้าไม่แล้วทุกวันนี้โต๊ะกินข้าวจะถูกดัดแปลง
อรรถประโยชน์เหมือนกับเครื่องออกกำลังกายที่ไว้แขวนเสื้อผ้ารึเปล่า
อันนี้ก็ไม่แน่ใจอีกเช่นกัน



แต่ถึงกระนั้น Tokyo Sonata ก็ได้รับอิทธิพลจากงานในสาย Ozu เเบบเต็มๆ
อย่างยากที่จะเอ่ยคำปฎิเสธออกมาได้เต็มปาก เพราะความที่กลิ่นแนว
ดราม่าที่ใช่ว่าจะเล่นหนักเพียงสถานเดียว อย่างน้อยๆก็ยังมีเสียงตลกแหะๆ
ในการพฤติกรรมของตัวละครที่ไม่ได้มีเจตนาที่จะเล่นให้ขำก็ตาม
แม้จะมีรสตลกปนสังเวชอยู่หน่อยๆ จะว่าตลกร้ายก็ไม่แปลกนัก
เพราะเป็นความร้ายที่สอดรับการสถานการณ์อันน่าสิ่วน่าขวานของชีวิต
แบบไม่มีทางเลือกที่ดีกว่า และทางเลือกที่ว่าอาจจะไม่ดีที่สุด
แต่ก็ยังดีกว่าไม่ลงมือกระทำแล้วยังนั่งภาวนาถึงอดีตอันหวานชื่น
อีกทั้งการแบกรับปัญหาด้วยทัศนคติความเชื่อแต่ดั้งเดิมที่ว่า
คนที่เป็นพ่อ ยอมต้องเป็นหัวเรือใหญ่ที่แบกรับในทุกสถานการณ์
และมีอำนาจการบัญชาการสูงสุด
โดยไม่ได้เข้าใจสถานการณ์ที่ผันเปลี่ยนในปัจจุบัน
ที่ผู้หญิงมีสิทธิแบกรับในการหารายได้เพื่อเสริมสภาพคล่องแก่ครอบครัว
และเหล่าบรรดาลูกน้อย ที่มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นเพื่อแบ่งปัน
ความรู้สึกและหนทางร่วมในแก้ปัญหาไปด้วยกัน
ซึ่งบทของผู้เป็นพ่อนี้ เทรุยุกิ คากาวะ เล่นได้เด็ดขาดและเด็ดดวงยิ่ง
ซึ่งบทประมาณนี้แกก็ถนัดมาแต่ไหนแต่ไหน นับตั้งแต่ใน
ซีรีย์ Unfair และ Mr.Brain ที่นิยมการเอะอะมะเทิงและสื่อความเป็น
อำนาจนิยมเป็นเบื้องหน้า แต่ทว่าเรื่องน้ำใสใจจริงแล้ว
ก็ปรารถนาดีได้ไม่น้อยหน้ากว่าใครๆ
ส่วนตัวแม่ เคียวโกะ โคอิซุมิ ที่รับบทเป็นเมกุมิ
อาจจะได้รับบทที่ต่างจากเรื่องอื่นๆ ที่เคยรับเล่นก่อนหน้า
ที่มักมาตามแนวสายแม่ ที่เป็นแม่บ้านตามจารีตดีศรีสังคม
อาทิ แม่ของยาทาโระ ใน Nada SoSo หรือแม่ของมิชิโกะ ใน Love my Life
เพราะการมาครั้งนี้ของเธอ นอกจากจะอมทุกข์โศกและผิดโลกจารีตนิยม
ทางสังคมด้วยแล้ว ยังมีกระบวนการคิดอ่านที่สะท้อนความเป็นตัวแทนทาง
สังคมของแม่บ้านสมัยใหม่ ที่อยากจะปลดปล่อยพันธนาการบางสิ่งบางอย่าง
ที่คุณสามีปัจจุบันที่เมาเหล้าโซซัดโซเซยามดึก เขาไม่เข้าใจ
ซึ่งเรื่องนี้เจ๊ก็บรรเลงได้สักเต็มเหนี่ยว ไม่เหนียวฝีมือ
แต่บทลูกชายหัวปลี ที่รับเล่นโดย ยู โคยานางิ
ที่มีบทแสดงออกต่อฉาก ค่อนข้างน้อยกว่าน้องคนเล็ก
แถมไปรับเล่นหนังหรือซีรีย์เรื่องอื่นๆ ก็มักจะได้รับบทแขกรับเชิญ
หรือไม่ก็ตัวประกอบ อย่างใน Crow Zero ภาค๑และ๒ รวมทั้ง
My Boss My Hero ก็โผล่มาแค่ตอนแรกตอนเดียวสักงั้น
แต่ก็เป็นนักแสดงที่ทุ่มทุนกร่อนผมสลวยให้เลียนเตียน เพื่อเหมาะกับบท
ทหารอาสาสมัครนอกดินแดน ที่ถือว่าเขียนบทได้อินเทรนด์เข้ากับยุคสมัยที่
สภาของญี่ปุ่นมีข้อถกเถียงกับการประจำการของกองกำลังป้องกันตนเอง
ที่ช่วยไปเสริมความมั่นคงภายในตะวันออกกลาง ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญ
จำกัดการเสริมแสนยานุภาพทางกองทัพ นับตั้งแต่ที่แพ้สงครามโลกเครั้งที่ ๒
การสร้างตัวละครนี้ขึ้นมา ถือว่ากล้ามากเพราะไม่ค่อยเห็นหนังญี่ปุ่นเรื่องไหน
กล่าวถึงประเด็นนี้เท่าไรนัก
ไม่เหมือนกับคนน้องที่เล่นได้เด่นเอามากๆ ถือเป็นบทแจ้งเกิดก็ว่าได้
เล่นโดย อิโนวากิ ไค ผู้เขียนไม่คุ้นกับเจ้าเด็กคนนี้สักเท่าไร
เลยทำให้ไม่ติดบทบาทเรื่องก่อนหน้าใดใด พอทำให้เชื่อว่า
เป็นเด็กดีที่มีปัญหาชีวิตได้ไม่ยาก เห็นว่าเล่นซีรีย์กับเขาเหมือนกัน
ถ้ามีโอกาสคงได้ติดตาม ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ต้องมีคนโม่ซับให้เสร็จสรรพ
เพื่อความเข้าใจที่ดีที่ตรงกัน ไม่งั้นผู้เขียนคงเออระเหยดูต้นฉบับ
นั่งเทียนในใจเหมือนครั้งเก่าก่อน ยิ่งเป็นนักแสดงชายด้วยแล้ว
พาลให้ไม่เกินสิบนาที เผลอๆมีปิดเอาด้วยความรำคาญใจ
แต่ต้องยอมรับว่า สื่อบันเทิงญี่ปุ่นเขาแม่นในการจับคนที่ไม่เป็นเปียโน
มานั่งทำนิ้วจุ่มๆ อย่างเป็นวิชา แล้วใส่เพลงบรรเลงในช่วงมิกซ์เสียง
ให้สมจริงในเชิงเนียนจับไม่ติด จะจับได้อย่างไรสักพักพี่ท่านก็ตัดสลับ
มุมกล้องไปทางโน้นที ทางนี้ที คงมีแต่เสียงเปียโนเท่านั้นที่มีความต่อเนื่อง
อยู่โดยตลอด เห็นมาเยอะแล้วจากในซีรีย์ Nodame Cantabile,
Mr.Brain ,Otousan, และ Tokyo Sonata ก็เช่นกัน
ที่ไม่เคยนึกเคยฝันเลยว่า เพลง Clair de Lune ของ Claude Debussy
(ขอบคุณสำหรับข้อมูลจากท่านมะนาวเพคะ ที่ผู้เขียนอธิบายได้ด้วยเพียงเลียนเสียงดิ๊งด๋องๆ)
เป็นเพลงที่ถูกนำใช้ประกอบหนังก็หลายเรื่อง แต่ไม่ยักมีหนังเรื่องไหน
จงเจาะใช้เพลงนี้ในฐานะเครื่องมือชนิดหลัก ที่สยบทุกความเคลื่อนไหวของคนดู
ทั้งๆที่ไม่ได้คาดหวังอันใดว่า จะมาเจอะเพลงนี้ในฉากสุดท้าย
และดูคล้ายจะเป็นตัวแทนที่สรุปรวบยอด ของหนังเรื่องนี้ทั้งหมด
ดีดเสร็จก็จากไป เหลือไว้ในคำถามที่ว่า อ้าว!จบลงแบบนี้เลยเหรอ
แหม!หนังกำลังจะหนุกได้ทีแล้วเชียว ผู้กำกับแกก็เลิกถ่ายต่อสักงั้น



Music we play separately merge into an ending
None of us could've foreseen.
(ดนตรีที่เราเล่นอยู่ ได้แยกพวกเราไปสู่บั้นปลาย
ในที่ๆเราไม่อาจจะหยั่งรู้ได้อีกต่อไป)

คงเหมือนกับหลายๆคน ที่แสดงความเห็นเอาไว้ว่า
เป็นหนังที่อืดและเหนือยใน สองส่วนสามของความยาวทั้งหมดในเรื่อง
จนบางฉาก หากจะตัดทิ้งไป ก็จะช่วยเสริมบรรเทาความน่าเบื่อหน่าย
ที่มีให้เห็นเสียตั้งหลายฉาก แต่ถ้าใครสามารถอดรนทนได้ไปสักพักใหญ่
จนหัวเรือของเรื่อง หมุนวกตกท้ายคลื่นเข้ามากระทบฝั่งในสถานการณ์ปกติเมื่อใด
ที่เหลือก็จะนำมาสู่จุดสำคัญของเรื่อง และฉากที่แสนประทับใจ
ที่คิดว่า ถ้าไม่มีการดำเนินเรื่องที่แสนห้าวและชวนผล่อยหลับไปในหลายช่วง
เป็นตัวส่ง ความรู้สึกในระดับปริมาณของความประทับใจอาจได้ไม่มากเท่า
ภายใต้การกำกับของผกก. คูโรซาวา ก็ว่าได้
ส่วนใครที่รู้สึกว่าหนังจบ แต่คนไม่จบ นั่น
อันนี้มีความเป็นไปได้สูง เพราะตอนท้ายของหนังสรุปรวดรัดไปไกล
ผิดกับตอนเริ่มต้น ที่พยายามไล่เลาะตามเก็บทีละประเด็น
อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่สำหรับผู้เขียนแล้วจบก็คือจบ
จบแบบอโหสิกรรม เลิกแล้วต่อกัน อย่าได้หลอกหลอนซึ่งกันและกันเลย
รับการการันตีการเป็นหนังที่ดีไว้แต่เบื้องต้น
เพียงแต่ทว่า เป็นหนังดีที่ขอดูเพียงครั้งเดียว และไม่ขอเลี้ยวซ้ำแบบ
Be with You หรือ Departures ที่ประโลมโลกยิ่งกว่า แน่นอน ........ </B>

อวยข้อมูลโดย
imbb และ มารีออง@bloggang


http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=chanpanakrit&date=21-03-2010&group=3&gblog=63

Tokyo Sonata - movie clip - Clair de Lune
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...