ผู้เขียน หัวข้อ: บทสัมภาษณ์ พระไพศาล วิสาโล ในหนังสือ จิตอาสา สุขสร้างง่าย ๆ แค่ลงมือทำ  (อ่าน 2340 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ rain....

  • ศรัทธาในสิ่งที่ค้นหา มั่นคงในสิ่งที่เป็น แบ่งปันในสิ่งที่ค้นพบ
  • ทีมงานกัลยาณมิตร
  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • *
  • กระทู้: 994
  • พลังกัลยาณมิตร 379
  • สุขลึกๆในความเหงา แม้จะโดดเดี่ยวแต่ไม่เคยเดียวดาย
    • ดูรายละเอียด
 
จิตอาสาถาม ?
พระไพศาลตอบ...

“จิตที่ไม่นิ่งดูดายต่อสังคม หรือความทุกข์ยากของผู้คน และปรารถนาเข้าไปช่วย ไม่ใช่ด้วยการให้ทานให้เงิน แต่ด้วยการสละเวลา ลงแรงเข้าไปช่วย และด้วยจิตที่เป็นสุขที่ได้ช่วยผู้อื่น...”

วรรคทองที่ถูกหยิบยกมาใช้ขยายความคำว่า ‘จิตอาสา’ มากที่สุดวรรคหนึ่งจาก ‘พระไพศาล วิสาโล’ พระนักวิชาการ นักคิด นักเขียน และนักปฏิบัติธรรมที่ทำงานเพื่อสังคมอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการอนุรักษ์ป่า ทำแนวกันไฟ ดูแลป้องกันการลักลอบตัดไม้ ฯลฯ นอกจากนั้น ท่านยังมุ่งเผยแผ่ธรรมะผ่านสื่อโทรทัศน์และงานเขียนกว่าร้อยเล่ม โดยเฉพาะเรื่องการนำพุทธธรรมมาใช้พัฒนาสังคมแนวทางสันติวิธี...

ความหมายของ ‘จิตอาสา’ ทางโลกกับทางธรรม แตกต่างกันหรือไม่

พระไพศาล “จิตอาสา”ส่วนใหญ่ใช้ความหมายในทางโลก คือ การเป็นอาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือส่วนรวมหรือผู้ทุกข์ อย่างไรก็ตามคำว่า ‘จิตอาสา’ ก็มีมิติในทางธรรมด้วย เพราะเกิดจากความเมตตากรุณา การคิดถึงประโยชน์สุขของผู้อื่น ขณะเดียวกันก็เป็นการลดละตัวตน พูดได้ว่าจิตอาสาเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งในพุทธศาสนา

จิตอาสาจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีความตระหนักว่าเราเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เพราะฉะนั้นจิตอาสาไม่ได้มีความหมายแค่ว่า การช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการช่วยเหลือส่วนรวม ซึ่งเกิดจากความรู้สึกรับผิดชอบต่อสังคมด้วย พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ คนที่มีจิตอาสานอกจากจะทำงานสังคมสงเคราะห์หรือบำเพ็ญประโยชน์แบบมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งแล้ว ยังทำงานในลักษณะอื่นด้วย เช่นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงการปฏิรูปสังคมหรือช่วยให้สังคมดีขึ้น เช่น เป็นอาสาสมัครรณรงค์ส่งเสริมประชาธิปไตย ต่อต้านคอรัปชั่น อย่างนี้ก็เรียกว่าจิตอาสาทั้งสิ้น

หากพูดให้กระชับมากขึ้น จิตอาสา ก็คือ จิตที่ไม่นิ่งดูดายต่อสังคม หรือความทุกข์ยากของผู้คน และปรารถนาเข้าไปช่วย ไม่ใช่ด้วยการให้ทานให้เงิน แต่ด้วยการสละเวลา ลงแรงเข้าไปช่วย และด้วยจิตที่เป็นสุขที่ได้ช่วยผู้อื่น จุดที่ควรเน้นก็คือจิตอาสาไม่ใช่แค่การทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นหรือเพื่อส่วนรวมอย่างเดียว แต่ยังเป็นการพัฒนาจิตวิญญาณของเราด้วย

นั่นหมายความว่าเป็นคนดีแล้วก็ไม่กล้าทำดี ก็อย่าเรียกตัวเองว่าเป็น ‘คนดี’ หรือเปล่า

พระไพศาล ใช่...แต่ต้องขอขยายความว่า เป็นคนดีก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ไม่ใช่แค่ช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก ขณะเดียวกันก็มีมิติทางธรรมด้วย ประการที่หนึ่ง จิตอาสาต้องเกิดจากจิตที่มีความเมตตากรุณา รวมทั้งมีทัศนคติที่เห็นความเชื่อมโยงระหว่างเรากับสังคม เรากับเพื่อนมนุษย์ คือเห็นว่าความสุขของเราต้องแยกไม่ออกจากความสุขของผู้อื่นด้วย มองในแง่ธรรมะ นั่นก็คือ การลดอัตตาหรือตัวตน ซึ่งจะช่วยทำให้ชีวิตเติมเต็มและมีคุณค่า ฉะนั้น จิตอาสาจึง ไม่ใช่แค่การช่วยเหลือผู้อื่นเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นการทำให้ชีวิตของเรามีประโยชน์และมีคุณค่ามากขึ้น

ปัจจุบัน คนส่วนใหญ่มักจะเชื่อเรื่องการทำบุญที่วัด มากกว่าการช่วยคน

พระไพศาล นั่นเพราะเดี๋ยวนี้เราเข้าใจคำว่า ‘บุญ’ และ ‘ทาน’ แคบลง หรือเข้าใจคลาดเคลื่อน ปัจจุบันคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการทำบุญ คือ การถวายของให้พระหรือวัดเท่านั้น ความคิดนี้ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว เนื่องจากการถวายของแก่พระสงฆ์นั้น ก็ถือว่าเป็น ‘ทาน’ อย่างหนึ่ง

‘ทาน’ ในพระพุทธศาสนานั้น หมายถึง การสละสิ่งของจะให้ใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นพระ หรือฆราวาส ก็เรียกว่า ‘ทาน’ ทั้งสิ้น อย่างทานที่ถวายพระสงฆ์ก็ เรียกว่า ‘สังฆทาน’ แต่คนมักจะเข้าใจผิดว่า การให้ของแก่ฆราวาส เรียกว่า ‘ทาน’ แต่การให้ของแก่พระ เรียกว่า ‘บุญ’ อันนี้ไม่ใช่...

‘บุญ’ ในพระพุทธศาสนานั้นมี 10 อย่าง โดยมี ‘ทาน’ เป็นหนึ่งในบุญเหล่านั้น นอกจากนี้ ก็จะมีการทำบุญอีก 9 วิธีที่เราไม่จำเป็นต้องใช้เงินเลย เช่น การรักษาศีล การบำเพ็ญภาวนา การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘เวยยาวัจจมัย’ คือ บุญที่เกิดจากการทำเพื่อส่วนรวม ซึ่งใกล้เคียงกับคำว่า ‘จิตอาสา’

แต่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่า ‘บุญ’ เกิดจากการถวายของให้พระ ทำให้คนส่วนใหญ่มุ่งแต่จะถวายสิ่งของ ถวายเงินให้พระอย่างเดียว ไม่สนใจที่จะช่วยเหลือผู้อื่น ปฏิเสธที่จะเป็นจิตอาสารักษาสิ่งแวดล้อม มองข้ามการทำงานช่วยเหลือสังคม ฯลฯ

เหตุผลเพราะ ประการที่หนึ่ง เราไปเน้นการให้ด้วยเงิน ทั้ง ๆ ที่สามารถให้อย่างอื่นได้ด้วย เช่น ให้เวลา ให้แรงงาน หรีอให้ความรู้ ประการที่สอง เรามักไปเน้น ‘ผู้รับ’ ที่เป็น ‘พระ’ มากกว่าคนทั่วไป

คนในอดีตจะเข้าใจคำว่า ‘บุญ’ กว้างกว่าคนในปัจจุบัน ยกตัวอย่างง่ายๆ คนเมืองเพชรแตก่อนเวลาเขาจะปลูกต้นไม้สักต้น เขาจะมีคาถาเรียกว่า “คาถากลบดิน”คือ

‘พุทธัง ผลาผล นกเกาะได้บุญ คนกินเป็นทาน
ธัมมัง ผลาผล นกเกาะได้บุญ คนกินเป็นทาน
สังฆัง ผลาผล นกเกาะได้บุญ คนกินเป็นทาน’

จะเห็นได้ว่า การปลูกต้นไม้นั้นก็ถือเป็นการทำบุญ เป็นการให้ทานที่ไม่ต้องใช้เงินเลย แต่เกิดจากจิตที่เมตตาทั้งกับคนและสัตว์

นั่นหมายความ ‘งานอาสา’ นั้น มีบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎก

พระไพศาล ใช่ เพียงแต่ในสมัยก่อนนั้น ไม่มีคำว่า ‘อาสา’ แต่โดยแนวคิดก็ไม่แตกต่างจากคำว่า ‘อาสา’ สังเกตได้จากพุทธสุภาษิตมากมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เช่น มีพุทธพจน์ว่า “ชนเหล่าใดปลูกสวน ปลูกป่า สร้างสะพาน จัดที่บริการน้ำดื่ม และบึงบ่อสระน้ำ ให้ที่พักอาศัย บุญของชนเหล่านั้นย่อมเจริญงอกงาม ทั้งคืนทั้งวัน ตลอดทุกเวลา” นอกจากนี้ ในพระไตรปิฎกก ยังมีชาดกซึ่งเป็นเรื่องราวของ ‘มฆมานพ’ เป็นชายหนุ่มธรรมดา ที่อุทิศแรงกายช่วยเหลือส่วนรวม สร้างสะพาน ทำถนน ปลูกต้นไม้ ทำความสะอาดที่สาธารณะ ทำศาลาที่พักคนเดินทาง ฯลฯ เวลากลับบ้านดึกแล้วมีคนมาถามว่า ‘ไปไหนมา มฆมานพก็จะตอบว่า ‘ไปทำบุญมา’ เขาดำเนินชีวิตเรื่อยมา จนกระทั่งเสียชีวิต ผลบุญที่เกิดจากการทำงานอาสาทั้งหมด ทำให้มฆมานพได้กลายเป็นพระอินทร์

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแนวคิดเรื่อง ‘บุญ’ ในพระพุทธศาสนา ที่ไม่ใช่แค่การให้ทานอย่างเดียว คำว่าบุญนั้น มีความหมายกว้างขวางมาก เพียงแต่คนสมัยนี้ต่างหาก ที่เข้าใจคับแคบ และคลาดเคลื่อนไปเอง

การทำงานจิตอาสาที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นการปลูกป่า สร้างสะพาน ช่วยเหลือเด็ก หรือคนชรา ฯลฯ เหล่านี้ให้ผลบุญที่แตกต่างกันหรือไม่ หากเราพูดในเชิงความเชื่อที่ว่า ชาติหน้านั้นมีจริง...

พระไพศาล ไม่แตกต่างกัน แต่ต้องเข้าใจคำว่า ‘บุญ’ ให้ถูกต้องเสียก่อน หากเราเข้าใจไม่ถูกต้อง แล้วมัวแต่สร้างวัด สร้างโบสถ์ สร้างหอระฆัง เพื่อหวังจะเกิดเป็นเทวดาในชาติหน้าหรือเป็นเศรษฐีในชาตินี้ ถ้าคิดอย่างนี้อาจทำให้เกิดเป็นพฤติกรรมที่เรียกว่า ‘ชอบทำบุญ แต่ไร้น้ำใจ’ ซึ่งปัจจุบันนี้ มีคนประเภทนี้เป็นจำนวนมาก คือมุ่งทำบุญเฉพาะกับวัด แต่ไม่มีน้ำใจกับคน ไม่มีน้ำใจกับสัตว์ จิตไม่มีเมตตาอย่างแท้จริง เพราะถ้าจิตที่มีเมตตาอย่างแท้จริงแล้ว ต้องพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้คน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นพระ หรือฆราวาส หรือแม้แต่สัตว์

ในอดีต คนไทยส่วนใหญ่มีความเชื่อเรื่องของชาติหน้า แต่เขามีจิตเมตตากรุณา และไม่นิ่งดูดายเมื่อเห็นคนที่เดือดร้อน ซึ่งถือเป็นค่านิยมที่ส่งเสริมและถ่ายทอดกันมา แตกต่างจากปัจจุบัน แม้คนไทยจะมีความเชื่อเรื่องบุญ แต่มักจะทำบุญด้วยจิตที่เจือความโลภ คือ ไม่ได้หวังจะขึ้นสวรรค์เพียงอย่างเดียว แต่หวังอยากถูกหวย อยากมั่งมี อยากประสบความสำเร็จในชาตินี้เลย ซึ่งเป็นการทำเพื่อตัวเองแท้ๆ คือ การทำบุญด้วยจิตที่มีโลภะอยู่

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ‘ทาน’ ที่มีอานิสงส์ไม่มาก ก็คือ ทานที่ให้ด้วยใจที่มีเยื่อใย หวังสั่งสมบุญ หรือหวังเสวยสุขในภพหน้า ถ้าผู้ที่ทำบุญยังมีจิตใจแบบนั้นอยู่ ก็จะไม่ได้อานิสงส์มากเท่าที่ควรจะเป็น

แต่หากเราทำบุญ ไม่ว่าจะให้ทาน หรือช่วยเหลือใครก็ตาม เรามุ่งแต่ประโยชน์สุขของผู้รับ โดยไม่นึกถึงตัวเองว่าเราจะได้อะไร นั่นกลับเป็นบุญยิ่งกว่า นอกจากนี้ยังเป็นการขัดเกลา ลดละความเห็นแก่ตัว และลดละความยึดมั่นในตัวตนด้วย คนไทยควรทำบุญแบบนี้ให้มากขึ้น

แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจอย่างนี้ การทำบุญด้วยจิตที่ไม่มีความโลภอาจจะยากสักเล็กน้อย จึงอยากให้พระอาจารย์ช่วยชี้แนะแนวทาง

พระไพศาล อันดับแรก เราต้องเชื่อก่อนว่า‘สุขที่แท้นั้น อยู่ที่ใจ...ใจที่ลดละ ไม่ใช่ใจที่คิดจะเอา สอง เราต้องตระหนักว่า ‘บุญ’ ทำได้หลายวิธี โดยไม่ต้องใช้เงินก็ได้ เช่น ร.ต.ต.ตำรวจวิชัย สุริยุทธ ที่อุทิศเวลาในชีวิตร่วม 20 ปี ก้มหน้าก้มตาปลูกต้นไม้ทุกวัน จนทำให้อำเภอปรางค์กู่ ซึ่งเคยเป็นอำเภอที่แห้งแล้งยากจนมาก กลับร่มรื่นเขียวขจีไปด้วยต้นไม้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านต้น เขาเคยบอกไว้ว่า “เราเป็นคนจน ไม่มีเงินแสนเงินล้านจะบริจาคอย่างใครเขา แต่เราทำบุญด้วยการปลูกต้นไม้ ซึ่งถือเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่ เป็นการทำบุญให้โลก ผลบุญจะตกถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน”

จะเห็นได้ว่า ร.ต.ต.วิชัย ไม่ได้ร่ำรวย แต่ก็สามารถทำบุญได้ ซึ่งเป็นบุญเพื่อส่วนรวม และที่สำคัญเขามีความสุขกับสิ่งที่ทำ ฉะนั้น ไม่ว่าจะเจอวิกฤตเศรษฐกิจหนักหนาแค่ไหนก็ไม่ใช่อุปสรรคในการทำบุญเลย ถ้าเราเข้าใจว่า ‘การทำบุญ ไม่ต้องใช้เงินก็ทำได้’ ความจริงแล้วเศรษฐกิจและสังคมแบบนี้ เปิดโอกาสให้เราทำบุญได้มากขึ้น เพราะคนเดือดร้อนเพิ่มมากขึ้น เราก็มีโอกาสช่วยเหลือคนมากขึ้น ขณะเดียวกันยิ่งมีคนพร้อมจะช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งช่วยให้ทางบ้านเมืองฟื้นฟูเร็วขึ้น และทำให้สังคมไทยน่าอยู่ยิ่งขึ้น ฉะนั้น วิกฤตเศรษฐกิจ ประการแรก คือ มันไม่ได้เป็นอุปสรรค ตรงข้ามมันกลับส่งเสริมและเปิดโอกาสให้คนช่วยเหลือเกื้อกูลกันมากขึ้นต่างหาก

เริ่มจากหน้าบ้านเราก่อนเลยก็ได้ เราลองคิดดูว่าจะช่วยกันรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นได้อย่างไร เราจะช่วยให้มีมลภาวะน้อยลงได้อย่างไร เช่น ช่วยกวาดขยะ เก็บถุงพลาสติก รวมไปถึงเวลาขับรถก็มีน้ำใจบนท้องถนน หยุดรถ เพื่อให้คนเดินข้าม หรือเวลานั่งรถเมล์ ก็เอื้อเฟื้อที่นั่งแก่เด็ก คนชรา และคนพิการ นี่คือสิ่งที่เราทำได้เลย หรือหากมีกำลังก็ควรรวมกันเป็นกลุ่ม พากันไปสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่น ช่วยเหลือคนทุกข์ยากตามท้องถนน หรือเด็กเร่ร่อน

แม้ แต่เรื่องการเมือง หากเราเข้าใจเรื่องบุญ และมีจิตเมตตากรุณา ก็อย่าสะสมความโกรธความเกลียด อย่ามองคนในแง่ร้าย อย่าเห็นคนที่มีความคิดต่างหรือใส่เสื้อสีต่างจากเราเป็นศัตรู ถ้าเราทำได้อย่างนี้ ก็จะทำให้สังคมไทยน่าอยู่มากขึ้น

จริงๆ แล้ว บุญอยู่ทุกหนทุกแห่ง เราสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา

พระไพศาล ตราบที่เรายังมีลมหายใจ และยังมีหัวจิตหัวใจอยู่ เราสามารถทำบุญได้ตลอดเวลา เช่น การเจริญสมาธิภาวนาด้วยเมตตาจิต นั่นก็ถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ใดเจริญเมตตาจิตเพียงชั่วเวลารีดน้ำโค มีผลมากกว่าการให้ทาน ๓ ครั้ง ๆ ละ ๑๐๐ หม้อ ฉะนั้น คนที่ไม่มีเงิน หรือไม่มีเวลาจะไปวัด แต่อยากทำบุญ ก็เพียงเจริญเมตตาจิต ไม่ให้โกรธเกลียดใคร มีแต่ความรักให้แก่เขา วิธีนี้ก็ถือเป็นการทำบุญที่ได้อานิสงส์มากทีเดียว

นอกจากบุญที่เราพูดถึงแล้ว หลายครั้งการทำบุญด้วยจิตเมตตานี้ ยังส่งผลให้ได้รับสิ่งอื่นที่เรานึกไม่ถึง เช่น นักศึกษาคนหนึ่ง กำพร้าพ่อแม่ตั้งแต่ยังเล็ก รู้สึกว่าตัวเองขาดความรักมาตลอด กระทั่งวันหนึ่งมีคนมาชวนไป ‘นวดเด็ก’ ที่สถานสงเคราะห์เด็กอ่อนบ้านปากเกร็ด ทำให้เขามีโอกาสเจอเด็กที่ขาดความรักความอบอุ่นมากมาย บางคนเดินมาหาเขา มาขอให้อุ้ม ขอให้โอบกอด ตั้งแต่วันนั้นมา เขารู้สึกว่าชีวิตเขามีคุณค่า จากที่เคยรู้สึกว่าตัวเองขาดความรักมาตลอด เขารู้สึกว่าได้รับความรัก และพบว่าตัวเองมีความอ่อนโยนอยู่ในจิตใจ เขาบอกว่า “ชีวิตผมสมบูรณ์ขึ้นได้เพราะเด็ก 7 ขวบ”

ชีวิตของคนเรานั้น สามารถเติมเต็มได้ด้วยการทำความดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราคิดถึงตัวเองมากเท่าไหร่ เราก็จะรู้สึกเปล่าเปลี่ยวอ้างว้าง และรู้สึกชีวิตพร่องมากขึ้นเท่านั้น

หากเป็นเช่นนั้น เราจะสร้างแรงบันดาลใจในการทำดีได้อย่างไร ในขณะที่บางคนทำงานหนักทุกวัน จนบางทีก็ลืมไปว่า จริงๆ เราน่าจะให้คนอื่นบ้าง

พระไพศาล ต้องเริ่มจากการเปิดใจ รับรู้สัมผัสคนที่ทุกข์กว่าเรา ไม่ว่าจะเป็นเด็ก คนชรา หรือคนที่ยากไร้ อาตมาเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีความดีอยู่ในตัว แต่บางทีเราถูกครอบงำด้วยกิเลส หรือถูกครอบงำด้วยชีวิตที่เร่งรีบ แต่เมื่อใดก็ตามที่เราได้สัมผัส หรือได้เจอคนที่ทุกข์ยาก ปลุกมโนธรรมสำนึกของเราจะถูกปลุกให้ตื่นตัว และผลักดันให้เราอยู่เฉยไม่ได้ ต้องทำอะไรสักอย่าง ฉะนั้น การที่เราได้เจอคนที่ทุกข์กว่าเรา มันจะช่วยให้จิตใจของเราเกิดความเมตตากรุณาขึ้นมาได้

แต่หากเราทำอยู่คนเดียวก็อาจจะรู้สึกโดดเดี่ยวอ้างว้าง สำหรับคนที่เริ่มต้นขอแนะนำให้ทำดีเป็นกลุ่ม คือ การรวมกลุ่มกันทำความดี นอกจากเราจะทำประโยชน์ได้มากขึ้นแล้ว ยังทำให้เราสนุกด้วย เหมือนกับการออกค่ายอาสาถึงแม้จะยากลำบาก แต่ก็สนุก จึงควรทำงานเป็นกลุ่ม จะได้มีดกำลังใจทำความดีต่อไป

หัวใจสำคัญของ ‘จิตอาสา’ คืออะไร

พระไพศาล จิตที่เต็มไปด้วยความเมตตากรุณา ปรารถนาดีต่อผู้อื่น อยากให้เขาพ้นทุกข์ โดยไม่หวังประโยชน์สุขหรือผลตอบแทนให้แก่ตัวเอง เป็นจิตที่ทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ รางวัลของจิตอาสา คือ ความสุขและความภาคภูมิใจในตนเองเท่านั้น

สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรค และความล้มเหลว รวมถึงมีความอดทนที่จะรอเห็นผล เนื่องจากการทำงานอาสาส่วนใหญ่นั้น พอเจออุปสรรคนิดหน่อยก็เป็นทุกข์ เช่น มีคนถามว่า ‘ทำ...ทำไม? โง่! บ้า!’ ก็จะหวั่นไหว หรือพอช่วยคนแล้ว เขาไม่ดีขึ้น ก็รู้สึกท้อแท้ นี่คืออุปสรรคอย่างหนึ่ง

อุปสรรคของคนทำจิตอาสานั้น หนึ่ง มักจะหวั่นไหวต่อคำสรรเสริญนินทา สอง หวั่นไหวต่อความสำเร็จและล้มเหลว แต่ถ้าเราสามารถข้ามพ้น 2 ข้อนี้ไปได้ เราไม่หวั่นไหวต่อคำนินทา หรือไม่หลงใหลต่อคำสรรเสริญ จะสำเร็จหรือไม่ เราก็ยังเดินหน้าทำดีต่อไป ถ้าทำอย่างนี้ได้ เราก็จะประสบกับความสุขได้ แต่อาสาสมัครส่วนใหญ่ก็มักจะสะดุดอยู่กับ 2 ข้อนี้แหละ

ถ้าเราสามารถทำด้วยความเห็นแก่ตัวน้อยเท่าไหร่ คำสรรเสริญนินทาใดๆ หรือความล้มเหลวและสำเร็จ ก็จะไม่ทำให้เราหวั่นไหวได้เลย นั่นหมายความว่า ยิ่งทำงานอาสา กิเลส และตัวตน จะยิ่งลดละลง ไม่ใช่ทำงานอาสาแล้ว กิเลสมากขึ้น ตัวตนเพิ่มขึ้น

ฉะนั้น ถ้าเราทำงานอาสา แล้วรู้สึกว่าตัวเองได้บุญ ก็ผิด...

พระไพศาล จริงๆ ก็ไม่ผิด ถ้าทำบุญแล้วเกิดความปีตินั่นดีแล้ว แต่ถ้าเราทำเพราะหวังผลตอบแทนในอนาคตนั่นแสดงว่ายังมีความเห็นแก่ตัวอยู่ ซึ่งก็ไม่ได้เสียหายอะไร เพียงแต่คำว่า ‘อาสา’ ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่า เป็นการอาสาเข้าไปเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ด้วยจิตที่มีความเมตตากรุณา และไม่หวังผลตอบแทน

สุดท้ายนี้ อยากให้พระอาจารย์ฝากถึงคนที่อยากทำดี แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร

พระไพศาล มนุษย์ทุกคนนั้น โหยหาความดี คือ เราอยากเห็นคนดี และอยากทำความดีด้วย เพราะการทำความดีนั้นทำให้จิตใจเราอิ่มเอิบเบิกบาน แม้จะไม่มีใครเห็นก็ตาม ฉะนั้น เราควรทำดีทุกครั้งที่มีโอกาส แม้จะเหนื่อย หรือยากลำบาก แม้จะมีคนที่ไม่เข้าใจ ก็อย่าไปหวั่นไหว

ทุกวันนี้มีคนเป็นจำนวนมากที่ กล้าทำชั่ว กลัวทำดี เราต้องระวังอย่าให้เป็นอย่างนั้น ควรทำตรงข้ามคือ กล้าทำดี และกลัวความชั่ว จงทำดีทุกครั้งที่มีโอกาส อย่าไปกลัว อย่าไปอาย ใครไม่ทำก็ช่างเขา แล้วความสุข ความภาคภูมิใจก็จะมาหาเรา ขอให้ระลึกว่าความดีนั้นทำได้ทุกโอกาส ทุกเวลา และทำได้ตั้งแต่วินาทีนี้เลย...
http://www.visalo.org/columnInterview/jitAsa.htm

...........................................
"ข้าพเจ้า ขอถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่อุบัติขึ้นมาในโลก  ทุกๆพระองค์
พร้อมทั้งพระธรรม และ พระสงฆ์
ว่าเป็น  สรณะ  ที่พึ่งตลอดชีวิต" 
 

ออฟไลน์ ดอกโศก

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • *
  • กระทู้: 862
  • พลังกัลยาณมิตร 595
    • rklinnamhom
    • ดูรายละเอียด
อนุโมทนาค่ะ ^^


เราต้องสร้างจิตอาสา..ในใจตนก่อนเนอะ  :43: