7 เทคนิคง่าย ๆ หากต้องการ"รัดเข็มขัด"ให้ครอบครัว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 3 กุมภาพันธ์ 2554 00:58 น.
ในยุคที่รัฐบาลบอกว่าประเทศนี้กำลังเติบโต แต่หันมองไปทางใดก็เจอแต่ประชาชนหน้าซีด รายได้หดหาย แถมยังติดลบเมื่อเจอกับสถานการณ์ราคาข้าวของที่แพงขึ้นอย่างมหาโหด โดยที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมอะไรได้เลย วันนี้เราจึงลองมองหาเทคนิครัดเข็มขัดดี ๆ มาฝากท่านผู้อ่านที่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายของประเทศที่ กำลังเติบโตประเทศนี้กันค่ะ
1. แยกให้ออกระหว่าง ความต้องการ กับความจำเป็น
หากต้องการประหยัด ท่านผู้อ่านจำเป็นต้องแยกให้ออกระหว่างความต้องการกับความจำเป็น หากทำได้ ก็จะช่วยครอบครัวประหยัดเงินได้อีกมาก ซึ่งความแตกต่างระหว่างสองสิ่งนี้ก็คือ ความจำเป็นนั้นเป็นสิ่งที่ง่ายต่อการระบุลงไปให้ชัดเจน เช่น อาหาร เสื้อผ้า ค่ายานพาหนะ ส่วนความต้องการนั้นก็เช่น สิ่งของที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้กับบ้าน แต่อาจไม่จำเป็นต้องมีก็ได้ เช่น เครื่องออกกำลังกาย หากสามารถแยกสองสิ่งนี้ออกจากกันได้ ก็จะช่วยครอบครัวประหยัดเงินได้อีกมากเลยทีเดียว
2. มองสินค้าที่คุณภาพ
หากต้องการประหยัด บางครั้งอาจต้องเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินกันบ้าง เพราะถ้ายังมองเสื้อผ้ามียี่ห้อราคาตัวละ 1,000 บาทเป็นของดี ไม่มองเสื้อตัวละ 199 บาทว่าก็ใส่แทนได้ มีหวังช่วยครอบครัวรัดเข็มขัดไม่ไหวแน่ ๆ ขอให้คิดไว้เสมอว่า เงินที่ใช้จ่ายออกไปนั้น ก็คือเงินของครอบครัวนั่นเอง
3. ลองก่อนตัดสินใจซื้อ
การได้ทดลองใช้ ทดลองใส่ ทดลองชิม ก่อนตัดสินใจซื้อช่วยให้คุณมีสติขึ้นมา เสื้อผ้าบางตัว ซื้อมาเพราะอยากได้ แต่เมื่อทดลองใส่กลับพบว่าไม่เข้ากับตัวเอง ก็กลายเป็นของสิ้นเปลืองไปเสียเปล่า ๆ แต่ถ้าพบว่า สินค้าที่ตนเองกำลังจะซื้อไม่สามารถทดลองได้ก่อนตัดสินใจ ก่อนซื้อก็ขอให้คิดอีกทีว่า จริง ๆ แล้ว คุณจำเป็นต้องซื้อมันมากแค่ไหน ถ้ายังคิดว่าจำเป็น ก็ค่อยควักกระเป๋าค่ะ
4. จัดสมดุลให้ชีวิต
หากคุณพ่อของบ้านเคยมีความฝันอยากขี่เจ็ตสกี แต่เมื่อมองถึงภาระครอบครัว การจะหาซื้อเจ็ตสกีมาเป็นของตนเองสักเครื่อง บวกกับต้องไปหาแหล่งน้ำเพื่อขับขี่ - ค่าน้ำมัน คงเป็นเรื่องที่สิ้นเปลืองเกินไป ลองเปลี่ยนเป็นทำตามความต้องการสักครึ่งหนึ่ง เช่น ไปหาสถานที่ที่มีบริการเช่า แล้วเล่นให้สะใจ นาน ๆ ครั้ง ก็อาจช่วยให้รู้สึกดีได้เช่นกัน
5. ซื้อเยอะ ๆ เมื่อลดราคา
ของจำเป็นบางชนิด เช่น น้ำมัน น้ำตาล ผงซักฟอก สามารถซื้อตุนไว้ได้ ดังนั้น หากมีการลดราคา อาจต้องซื้อเก็บไว้ก่อน ถ้าครอบครัวจำเป็นต้องใช้
6. เลือกสินค้าที่ผลิตในประเทศ
เวลาไปจับจ่ายซื้อของแต่ละครั้ง ลองพิจารณาสินค้าที่ผลิตภายในประเทศดูก่อน เพราะของที่นำเข้าย่อมแพงกว่าของที่ผลิตได้เองในประเทศ หากละทิ้งรสนิยมเหล่านี้ไปได้ ก็อาจช่วยให้ประหยัดขึ้น
7. เปรียบเทียบราคาอย่างฉลาด
การเปรียบเทียบราคาเป็นสิ่งจำเป็นก็จริง แต่ควรฉลาดในการเปรียบเทียบ เช่น เปิดอินเทอร์เน็ต เข้าเว็บไซต์เช็คราคาก่อนออกไปซื้อ หรือบางทีเว็บไซต์ประจำที่คุณเล่นอยู่ ก็อาจมีเพื่อน ๆ มาบอกว่า ห้างไหนมีสินค้าลดราคา ฯลฯ ถ้ามีข่าวแบบนั้นค่อยเช็คราคาจะประหยัดกว่าขับรถตระเวนไปหลาย ๆ ห้างเพื่อซื้อของ
http://www.manager.co.th/Family/View...=9540000014659.