ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องดีๆมีไว้แบ่งปัน ตอน ข้อดีของการฝึกสมาธิ  (อ่าน 2745 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ lek

  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • ****
  • กระทู้: 1724
  • พลังกัลยาณมิตร 687
    • ดูรายละเอียด
การฝึกสมาธิ คือ การใช้สติกำหนดระลึกรู้ถึงลมหายใจเข้าออก
อยู่ตลอดเวลา(อานาปานสติ) เพื่อทำจิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว(สงบ)
และแน่วแน่มั่นคง ไม่ปล่อยให้จิตถูกครอบงำจากอำนาจใดๆ
และเมื่อจิตมีสติก็จะทำให้สงบและเยือกเย็น รู้จักละวาง ทำให้จิตใจ
สบาย เกิดความผ่อนคลาย ไม่วอกแวก ไม่ฟุ้งซ่าน

การฝึกสมาธิจะเกิดผลดีต่อผู้ที่กำลังเครียด ไม่สบายใจ โกรธ
หรือกังวล เพราะจะทำให้หัวใจเต้นช้าลง สมองแจ่มใส คิดแก้
ปัญหาต่างๆได้ดีกว่าเดิม และยังทำให้เครื่องเสียดแทงหัวใจ
(โทสจริต)ทั้งหลายระงับไปได้ อีกทั้งผู้ที่ฝึกหากเป็นผู้ที่อยู่ใน
วัยเรียนก็จะส่งผลให้เรียนเก่ง เพราะจิตใจจะสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน
มีสมาธิจดจ่ออยู่กับการเรียนอยู่ตลอดเวลา และมีความจำดี
อีกด้วย

การฝึกสมาธิช่วยให้ผู้ฝึกมีอายุยืน เพราะการทำสมาธิจะมีผล
ทำให้ผูฝึกนั้นจิตใจสงบ รู้สึกผ่อนคลาย ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยง
สมองได้ดี ทำให้เป็นผู้ที่มีจิตใจเบิกบาน ไม่ฟุ้งซ่าน ซึ่งจะ
ส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้ฝึกด้วย


ไม่มีอริยะใด ยิ่งใหญ่เท่าพระคุณบิดรมารดา
ไม่มีปัญญาหรือแสงสว่างใด เสมอการได้ทดแทนพระคุณบุพการี

ขอบพระคุณที่มาhttp://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=37067

ออฟไลน์ lek

  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • ****
  • กระทู้: 1724
  • พลังกัลยาณมิตร 687
    • ดูรายละเอียด
ส ม า ธิ เ ป็ น เ ค รื่ อ ง ห นุ น ปั ญ ญ า
พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน)
วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี

ปัญญานั้นหมายถึงการถอดการถอน
การคลี่คลายดูสิ่งต่างๆ ให้เห็นตามความเป็นจริง
แล้วถอนไปโดยลำดับลำดาตั้งแต่กิเลสขั้นหยาบๆ
จนกระทั่งถึงขั้นละเอียดสุด หลุดพ้น
ท่านเรียกว่าปัญญาทั้งนั้น แต่เป็นขั้นๆ ของปัญญา

สมาธิเป็นเพียงทำจิตให้สงบเพื่อจะได้พิจารณาง่ายลงไป
ผิดกับการพิจารณาทั้งที่จิตพื้นฐานแห่งความสงบไม่ได้อยู่เป็นมาก
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนให้บำเพ็ญทางสมาธิ
ท่านเรียกว่าสมาธิอบรมปัญญา

ดังที่กล่าวไว้ในอนุศาสน์ สมาธิปริภาวิตา

ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา

สมาธิเป็นเครื่องหนุนปัญญา
ให้พิจารณาสิ่งทั้งหลายที่รู้ได้แจ่มแจ้งชัดเจนโดยลำดับลำดา

ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ

ปัญญาเมื่อสมาธิได้อบรมแล้วย่อมมีความคล่องตัว
คือได้รับการอบรม ได้รับความหนุนมาจากสมาธิแล้ว
ย่อมมีความคล่องตัวในการพิจารณาแยกแยะอารมณ์ต่างๆ
จนถึงกับตัดขาดได้ หลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ

นั่นท่านว่า สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ
คือหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวงโดยชอบ
นี่หลักธรรมที่ท่านแสดงเป็นพื้นฐานอันตายตัวไว้เป็นจุดศูนย์กลางโดยแท้จริง

ท่านจึงสอนให้อบรมสมาธิเพื่อเป็นบาทเป็นฐาน
เพื่อจิตได้มีความสงบตัว มีความอิ่มตัวในอารมณ์ทั้งหลาย
อยู่ด้วยความสงบเย็นใจ

เมื่อจิตมีความสงบเย็นใจแล้ว
ย่อมพาพิจารณาอะไรเป็นการเป็นงานได้ดีกว่า
การใช้จิตพิจารณาทั้งที่จิตหาความเป็นสมาธิไม่ได้
แลกำลังหิวโหยในอารมณ์เป็นไหนๆ

การพิจารณาจิตที่ไม่เคยมีความสงบเลยให้เป็นปัญญา
มักจะเป็นสัญญาเถลไถลออกนอกลู่นอกทางอยู่เสมอๆ
ไม่ค่อยจะได้เรื่องได้ราวอะไร จนถึงกับว่าไม่ได้เรื่อง

ท่านจึงสอนสมาธิเป็นบาทเป็นฐาน
เป็นเครื่องยืนยันว่าจะได้ผลในการพิจารณาทางด้านปัญญา

เมื่อสมาธิมีอยู่ภายในจิตใจแล้ว
ใจไม่หิวโหย ใจไม่รวนเร ใจไม่กระวนกระวาย
ย่อมทำหน้าที่การงานของตนไปโดยลำดับตามสติที่บังคับให้ทำ

จนถึงกับได้ปรากฏผลขึ้นมาเป็นปัญญาโดยลำดับลดา
จนถึงขั้นปัญญาที่เห็นเหตุเห็นผลแล้ว
และหมุนตัวไปเองโดยไม่ต้องถูกบังคับ
เหมือนตั้งแต่ก่อนที่เคยบังคับนั่นเลย นี่เป็นอย่างนี้

   

(คัดลอกบางตอนมาจาก : หลักเกณฑ์การปฏิบัติ สมาธิ-ปัญญา โดย ท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์อบรมพระ ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๓ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๙, หน้า ๙-๑๑)


ขอบพระคุณที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=37018

ออฟไลน์ lek

  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • ****
  • กระทู้: 1724
  • พลังกัลยาณมิตร 687
    • ดูรายละเอียด
แนวทางการเจริญสมาธิ สติและปัญญา ในชีวิตประจำวัน
(คัดย่อ เรียบเรียง จากบางส่วนหนังสือความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม อาจารย์วศิน อินทสระ)

ความเข้าใจเกี่ยวกับสมาธิ

ถ้าจะถามว่า ตัวสมาธิที่แท้จริงคืออะไร ตอบว่าคือ ความตั้งมั่นของใจ ประเภทของสมาธิมี ๒ ประเภท คือ
๑. สมาธิที่ทุกคนมีอยู่โดยธรรมชาติ ขณะใดที่เราไม่ฟุ้งซ่าน จิตใจสงบอยู่โดยปกติ ขณะนั้นเรียกว่ามีสมาธิ เราจึงทำงานต่าง ๆ ได้ ไม่เป็นบ้า ไม่เป็นโรคจิต
๒. สมาธิที่เกิดจากการฝึก ที่เรียกว่าฝึกสมาธิ ฝึกได้ทั้งสี่อิริยาบถ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน ไม่ใช่ทำได้แต่นั่งอย่างเดียว ควรเปลี่ยนอิริยาบถจะได้ไม่เมื่อย ไม่ง่วง ถ้าจะพูดให้ถูกต้องพูดว่าทำสมถะ

สมถะ แปลว่า อุบายฝึกจิตให้สงบ เมื่อใจตั้งมั่นแล้ว สงบแล้ว จึงเรียกว่า สมาธิ
สมาธิเป็นผลของสมถภาวนา เมื่อเราเริ่มทำทีแรกจิตใจยังไม่ตั้งมั่น วอกแวก เมื่อฝึกไปใจก็ตั้งมั่นเกิดเป็นสมาธิ ตั้งมั่นชั่วขณะเรียกว่า ขณิกสมาธิ ใช้ประโยชน์ในการทำงาน เรียนหนังสือ ประกอบกิจต่าง ๆ ได้ โดยไม่ฟุ้งซ่าน ถ้าจิตตั้งมั่นเฉียด ๆ ฌานก็เป็น อุปจารสมาธิ ถ้าตั้งมั่น แน่วแน่ มั่นคง เป็น อัปปนาสมาธิ
สมาธิซึ่งเป็นผลของการฝึก เรียกว่า สมถกรรมฐาน หรือ สมถภาวนา แล้วจะมีผลเกิดขึ้นคือ สมาหิตํ แปลว่า ตั้งมั่น ปาริสุทธํ คือ บริสุทธิ์ ขาวรอบ กมฺมนิยํ ควรแก่การงาน คือพร้อมที่จะน้อมจิตไปให้ทำอะไรได้ตามที่ต้องการ จิตที่อ่อนเกินไปทำอะไรไม่ได้ จิตที่แข็งกระด้างเกินไปก็ทำอะไรไม่ได้ จิตที่ฝึกให้ดี ได้ตรงที่เป็นสมาธิควรแก่การงาน หมุนนำไปทางไหน เป็นอย่างไรก็เป็นได้ จิตที่ไม่ได้รับการฝึกมักมีโทษมาก ใช้งานอะไรไม่ได้ แต่ถ้าฝึกให้ดีแล้ว จะใช้ประโยชน์ได้คุ้ม การต้องเสียอะไรกับจิตจะมีน้อยลง การลงทุนฝึกจิตจะได้รับผลเกินคุ้ม ไม่ควรเสียดายเวลาที่เสียไปกับการลงทุนเรื่องนี้
โดยธรรมชาติของจิตเมื่อยังไม่ได้รับการฝึกนั้น มันจะดิ้นรน กวัดแกว่ง อยู่นิ่งไม่ได้ จิตจะถูกโยกคลอนด้วยโลกธรรม ๘ โลกธรรมซัดสาดให้หวั่นไหว กวัดแกว่ง ดิ้นรน แสวงหา ต้องการด้วยเรื่องลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ห่อเหี่ยวกับการเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ถูกนินทา ทุกข์ จิตถูกโยกโคลงด้วยสิ่งเหล่านี้ตลอดเวลา แต่เมื่อฝึกจิตให้ดีด้วยสมาธิแล้ว จะเห็นโลกธรรมเป็นของเด็กเล่น ไม่มีความหมายอะไรกับเรา รับอารมณ์อะไรมาก็ดูเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ตื่นเต้นอะไร จิตใจสงบ ประณีต ทำให้อยู่สบาย เป็นอิสระ เป็นตัวของตัวเอง ไม่ถูกครอบงำด้วยสิ่งเหล่านี้ จะมีที่พักอะไรที่เกษม ปลอดโปร่ง เป็นที่มั่นของจิตยิ่งไปกว่าสมาธิ ไม่ต้องโยกโคลงด้วยโลกธรรม เหนื่อยก็เหนื่อยเฉพาะกาย แต่ใจไม่เหนื่อย มีภาระหน้าที่อะไรก็ทำหน้าที่ไป

มนุษย์เรามีปัญญาสูงมาก สามารถรวบรวมพลังจิตให้ปัญญาเอาไปใช้ได้โดยสะดวก ที่เอาไปใช้ไม่ได้มากเพราะว่าไม่สามารถรวบรวมพลังได้มากเท่าไร กระแสปัญญาหรือความรู้สึกนึกคิดของแต่ละคนก็มีอยู่มาก ความสามารถที่จะทำงานก็มีมาก แต่ถูกความฟุ้งซ่าน ความย่อท้อ ฯลฯ แบ่งเอาสิ่งเหล่านี้ไป สมาธิคล้ายเป็นการรวมแสง สำหรับให้แสงพุ่งไปทางใดทางหนึ่ง เหมือนดวงปัญญา ซึ่งเมื่อฝึกสมาธิให้ดีแล้วจะใช้ดวงปัญญาได้มาก สามารถเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ หรือทำอะไร ๆ ได้มากมาย ในชีวิตประจำวัน เมื่อมีสมาธิดีแล้ว ปัญญาที่ได้รับการอบรมดีแล้ว จะทำให้การงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ... ... ... (สมาธิ สติ และปัญญาต้องทำงานร่วมกัน)

สมาธิ สติ และปัญญาต้องทำงานร่วมกัน

ในเวลาที่เราฝึกทำสมาธิ สิ่งที่ต้องใช้งานมากคือ สติ เราต้องเอาสติมาคอยควบคุมอยู่ตลอดเวลา บางท่านทำอานาปานสติกำหนดลมหายใจเข้าออก เพื่อให้จิตสงบอยู่กับลมหายใจ จึงต้องมีสติควบคุมอยู่ตลอดเวลา สติเผลอเมื่อไร จิตใจฟุ้งเมื่อนั้น สติเป็นเชือก ขาดเมื่อไรสัตว์ที่จับมาผูกไว้จะไปทันที ต้องจับมาผูกใหม่ ต้องหมั่นตั้งสติบ่อย ๆ การที่เราใช้สติมากทำให้เกิดปัญญาทั้งอย่างสามัญและโลกุตระ (super mundane) ปัญญาที่เป็นโลกียะก็มีสมาธิจิตที่ดีงาม ที่มั่นคงเป็นพื้นฐาน ช่วยแก้ไข ขัดเกลา ให้มีนิสัยสันดานสะอาดประณีตขึ้น

การที่เรามีความฟุ้งซ่านบ่อย ทำให้เรามีความก้าวร้าวบ่อยด้วย คือเอาใจไว้ไม่อยู่ ถ้าเราฝึกสติ ฝึกสมาธิ ฝึกปัญญาบ่อย ๆ จะเป็นการขัดเกลาตัวเองให้มีนิสัยสันดานดีขึ้น สงบ โปร่ง เมื่อเรามีปัญญา มีนิสัยสันดานที่สะอาดประณีตขึ้น จะมีความทุกข์น้อยลง ๆ จะมีความรู้สึกว่าเป็นทุกข์ไม่เป็น ไม่รู้ว่าจะเป็นทุกข์ไปทำไม ทำให้เป็นคนมีบุคลิกดี ไม่เหลาะแหละ ไม่มีท่าทีร้อนรน ไม่ฟุ้งซ่าน มองภาพรวมแล้วน่าเลื่อมใส แจ่มใส สงบ ประณีต อยู่เป็นสุข ทำให้ผู้เข้าใกล้พลอยเป็นสุขไปด้วย เพียงแต่ได้เห็น ได้คุยด้วยเพียงเล็กน้อย

คุมกิเลสด้วยสมาธิ ตัดกิเลสด้วยสติปัญญา

เมื่อเราสามารถควบคุมจิตใจไว้ได้ กาย วาจา ก็ถูกควบคุมไปด้วย เมื่อจิตสงบ กาย วาจา ก็สงบ เราต้องเอาปัญญามาช่วยอยู่ตลอดเวลา ปัญญาจะเป็นตัวเห็นแจ้งแทงตลอด เข้าใจอะไรทะลุปรุโปร่งสว่างไสว มองอะไรเกิดภาวะที่เรียกว่า Realization เกิดยถาภูตญาณขึ้น มีความเข้าใจรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ใจสงบจะช่วยให้เราประณีต สติปัญญาจะช่วยให้เราสว่างไสว รู้ว่าเมื่อมีปัญหาขึ้นมาควรจะจัดการกับปัญหานั้นอย่างไร จะช่วยเราได้มากในการทำงานทุก ๆ อย่าง เพราะว่าสมาธิจะช่วยควบคุมจิตใจไว้ก่อน เหมือนท่านเจองูจะตัดคองู ท่านจะทำอย่างไร ?
ท่านจะต้องหาอะไรจับงูไว้ก่อน เช่น ใช้ไม้ง่ามจับให้มันนิ่งเสียก่อน ถ้างูยังดิ้นอยู่เราจะตัดหัวได้อย่างไร อาวุธที่จะตัดหัวงูคือตัวปัญญา กระแสของกิเลสเราคุมไว้ได้ด้วยกำลังสมาธิ แต่ที่จะไปทำลายตัวกิเลสคือตัวปัญญา ท่านต้องใช้วิปัสสนาหรือปัญญามาช่วยอยู่ตลอด มิฉะนั้นแล้วจะได้ผลน้อยไป อาจจะดูเป็นคนสงบเสงี่ยม ประณีต เป็นคนดี แต่ว่าพึ่งอะไรไม่ได้ มีปัญหาขึ้นมาก็พึ่งอะไรไม่ได้

ปัญญาเป็นคุณธรรมสูงสุด

พระพุทธศาสนาถือเอาปัญญาเป็นคุณธรรมสูงสุด ซึ่งจะนำไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุด คือความหลุดพ้น (วิมุตติ) ตัวปัญญาเองมิใช่เป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด เป็นเพียงเครื่องมือขั้นสุดท้ายเท่านั้น ในการปฏิบัติโดยทั่วไปจึงเริ่มต้นจากศีล คือการควบคุมกาย วาจา ให้อยู่ในระเบียบวินัยอันดี แม้จะมีศีลดีแล้วก็ต้องประคับประคองตนไว้ด้วยความไม่ประมาท ต้องรักษาจิตด้วยสติอยู่เสมอ เช่น ระวังใจมิให้ติดในสิ่งที่ชวนให้ติด มิให้ลุ่มหลงมัวเมาในสิ่งที่ชวนให้ลุ่มหลงมัวเมา ตอนนี้ก้าวเข้ามาสู่แดนแห่งสมาธิ คือความสงบมั่นคงแห่งจิต อันเป็นอุปกรณ์สำคัญในการใช้ปัญญา เหมือนการมองดูวัตถุในน้ำใส นิ่ง ย่อมเห็นชัดเจน ในการใช้ปัญญาก็ทำนองเดียวกัน ขณะที่จิตฟุ้งซ่าน สับสน วุ่นวาย ย่อมใช้ปัญญาไม่ได้ หรือได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่เมื่อจิตบริสุทธิ์ สะอาด สงบ ตั้งมั่น ย่อมใช้ปัญญาได้อย่างดี ปัญญาที่ใช้บ่อย ๆ ทำให้เฉียบคมว่องไว พอกพูนมากขึ้น เป็นปัจจัยให้ศีลและสมาธิดีขึ้นด้วย ทั้ง ๓ อย่างนี้อาศัยกันและกัน ทำให้ชีวิตบริสุทธิ์

พุทธวิธีในการสอนของพระพุทธเจ้าแก่มวลพุทธบริษัทนั้น ก็เพื่อให้พุทธบริษัทขึ้นถึงยอดแห่งคุณธรรม คือมีปัญญาพิจารณาเห็นแจ้งด้วยตนเอง จนสามารถเป็นที่พึ่งแก่ตนได้ พระพุทธศาสนาไม่ต้องการให้บุคคลเชื่อสิ่งใดโดยปราศจากปัญญา หรือโดยที่ไม่ตรองให้เห็นด้วยปัญญาเสียก่อน จุดมุ่งหมายล้วนตะล่อมไปสู่ปัญญา ให้บุคคลประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง จนสามารถเป็นที่พึ่งแก่ตนได้ โดยอาศัยพระธรรมเป็นแนวทางดังพุทธดำรัสว่า “ท่านทั้งหลายจงมีตนและธรรมเป็นที่พึ่งอย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย” แต่ถ้าชาวพุทธส่วนใหญ่ยังสนใจพุทธศาสนาเฉพาะในแง่ที่เป็นพิธีกรรม ไม่ค่อยสนใจพุทธศาสนาในส่วนที่เป็นเนื้อหาสาระอันเป็นเครื่องมือช่วยตนในคราวมีทุกข์ แล้วพอความทุกข์เกิดขึ้นก็พะวักพะวนจับอะไรไม่ถูก บางทีก็ต้องตกเป็นเหยื่อของพวกมิจฉาชีพที่แฝงตนเข้ามาในรูปของนักบุญหรือนักบวช พุทธบริษัทเหล่านี้แหละน่าสงสารมาก ทางที่ดีพุทธบริษัทควรจะเชื่อพระพุทธเจ้า คือพยายามมีตนและมีธรรมเป็นที่พึ่งให้ได้ ในการนี้ ปัญญาเป็นตัวสำคัญอย่างยิ่ง เป็นหลักให้ศรัทธา วิริยะ สมาธิยึดเกาะ หรือทรงตัวอิงอาศัยอยู่ ดังพุทธพจน์ที่ว่า “สำหรับอริยสาวกผู้มีปัญญา ศรัทธาซึ่งเป็นธรรมคล้อยตามปัญญานั้น ย่อมทรงตัวอยู่ได้ วิริยะ สติ สมาธิ ก็เช่นกัน เป็นธรรมคล้อยตามปัญญา ย่อมทรงตัวอยู่ได้”

ปัญญาจึงเป็นคุณธรรมสูงสุดดังกล่าวมา พระพุทธองค์ทรงสอนธรรมเพื่อให้พุทธบริษัท มีปัญญาเป็นเครื่องรักษาตนและคุ้มครองตนได้ และเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายทุกระดับ ทุกขั้นตอน ..... .... ... .. .


ขอขอบพระคุณที่มา http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=37122

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด




อนุโมทนาสาธุธรรมค่ะ น้องเล็ก