ผู้เขียน หัวข้อ: วิธีัปฏิบัติวิปัสนากรรมฐาน โดย ท่านเจ้าคุณโชดก (หนทางสู่นิพพานและความดับทุกข์)  (อ่าน 5145 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ลูกพระธรรม

  • เกล็ดเมล็ด
  • *
  • กระทู้: 1
  • พลังกัลยาณมิตร 2
    • ดูรายละเอียด
การเจริญสติปัฏฐาน ๔

การเจริญสติปัฏฐาน ๔ ก็คือ การเจริญวิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง อารมณ์ของวิปัสสนากรรมฐาน ได้แก่ วิปัสสนาภูมิทั้ง ๖ คือ

๑. ขันธ์ ๕
๒. อายตนะ ๑๒
๓. ธาตุ ๑๘
๔. อินทรีย์ ๒๒
๕. อริยสัจจ์ ๔
๖. ปฏิจจสมุปบาท ๑๒


ย่อให้สั้น ได้แก่รูปกับนาม รูปกับนามนี้เกิดที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และกิเลสก็เกิดที่ตรงนี้ เช่น เวลาตาเห็นรูป รูปนามเกิดแล้ว สีเป็นรูป เห็นเป็นนาม ถ้าเห็นรูปดีใจชอบ เป็นโลภะ เห็นรูปไม่ดี ไม่ชอบใจ เป็นโทสะ เห็นแล้วเฉยๆ ไม่มีสติกำหนดรู้ เป็นโมหะ

ทางหูก็เหมือนกัน เช่น เสียง เป็น รูป หู (หมายเอาโสตประสาท) เป็นรูป ได้ยินเป็นนามได้ยินเสียงเพราะชอบใจเป็นโลภะ ได้ยินเสียงไม่เพราะ ไม่ชอบใจ เป็นโทสะ ได้ยินเสียงแล้วใจเฉยๆ และไม่มีสติกำหนดรู้ เป็นโมหะ

ทางจมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เป็นรูปนาม และเป็นเหตุ ให้ โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นในทำนองเดียวกันนี้

ตามธรรมดาของชาวโลกทั่วๆ ไป แล้ว เวลาจะดับไฟต้องเอาน้ำไปสาดหรือเทลงตรงไฟที่ไหม้นั้น จึงดับได้ เช่น ไฟกำลังไหม้บ้าน ต้องเอาน้ำไปเทรดที่บ้านนั้น ไฟจึงจะดับได้ ฉันใด ผู้ที่จะดับกิเลส ก็ฉันนั้น กิเลสเกิดทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็ให้ดับตรงที่ ตา หู เป็นต้นนั้น เช่นกัน


วิธีที่จะดับได้นั้น ต้องพร้อมด้วยองค์ ๓ คือ

๑. อาตาปี มีความเพียรเผากิเลสให้ร้อนทั่ว ได้แก่ หมั่นขยันทำกรรมฐานมิให้ขาด
๒. สติมา มีสติกำหนดรูปนามเสมอ
๓. สมฺปชาโน มีสัมปชัญญะ คือ รู้รูปนามอยู่ทุกๆ ขณะ เมื่อปฏิบัติถูกต้องตามองค์เช่นนี้ ติดต่อกันไป ภายใน ๗ วัน ๑๕ วัน ๑ เดือน หรือ ๒ เดือน เป็นต้น จึงจะสามารถละกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ได้

ภาคปฏิบัตินั้นตามสติปัฏฐาน ๔ นั้น ทำดังนี้ คือ

๑. ให้เดินจงกรม ใช้สติจับอยู่ที่เท้า เวลายกเท้าขวาขึ้นให้ภาวนาในใจว่า “ขวาย่างหนอ” ให้สติรู้ตั้งแต่เริ่มยก กลางยก สุดยก มิให้เผลอ ประมาณสัก ๓0 นาที หรือ ๑ ชั่วโมง
๒. เดินแล้วนั่งลง นั่งขัดสมาธิ ขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ตั้งตัวให้ตรงพอสมควร หลับตามให้เอาสติจับอยู่ที่ท้องเวลาท้องพองขึ้น ให้ภาวนาตามว่า “พองหนอ” เวลาท้องยุบให้ภาวนาว่า “ยุบหนอ”

๓. ในขณะที่นั่งอยู่นั้น ถ้ามีเวทนาเกิดขึ้น เช่น เจ็บ ปวด เมื่อย คัน ก็ให้ใช้สติกำหนดอารมณ์นั้นๆ คือ ให้ทิ้งพอง ยุบ ก่อน แล้ว กำหนดอาการเจ็บว่า “เจ็บหนอๆ” จนหว่าจะหายไป ถ้าอาการปวดเกิดขึ้น ก็ให้กำหนดว่า “ปวดหนอๆ” ถ้าอาการเมื่อยเกิดขึ้น ก็ให้กำหนดว่า “เมื่อยหนอๆ” ถ้าอาการคันเกิดขึ้น ก็ให้กำหนดว่า “คันหนอๆ” จนกว่าจะหายไป เมื่อเวทนาหายไปแล้ว ให้กลับมากำหนด “พองหนอ” “ยุบหนอ” ต่อไป นั่งให้ได้ประมาณสัก ๓๐ นาที ถึง ๑ ชั่วโมง แรกทำจะนั่งเพียงวันละ ๕ นาทีก่อนแล้วค่อยเพิ่มขึ้นเป็น ๑๐–๑๕–๒๐–๓๐ นาที ก็ได้

๔. เวลาใจคิดไปถึงเรื่องต่างๆ เช่น นึกถึงบ้าน นึกถึงการงาน ลูกหลานเป็นต้น ให้ใช้สติปักลงไปที่หัวใจ พร้อมกับภาวนาว่า “คิดหนอๆ” จนกว่าจะหยุดคิด
เวลาโกรธ ก็ให้กำหนดว่า “โกรธหนอๆ” จนกว่าจะหายไป เวลาดีใจ ก็ให้กำหนดว่า “ดีใจหนอๆ” เวลาเสียใจ ก็ให้กำหนดว่า “เสียใจหนอๆ” เช่นกัน

๕. เวลานอน ให้เอาสติจับอยู่ที่ท้อง ภาวนาว่า “พองหนอ” “หยุบหนอ” จนหลับไปด้วยกัน ให้คอยสังเกตดูให้ดีว่าจะหลับไปตอนพอง หรือจะหลับไปตอนยุบ ถ้าใครจับนับว่าดีมาก
 

เมื่อปฏิบัติวิปัสนากรรมฐานจะเกิดปัญญาคือวิปัสสนาญาณ 16 ขั้นได้แก่
 

ญาณที่ 1 เรียกว่า นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นญาณที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่อง รูปธรรมนามธรรม คือ มองเห็นความต่างกันของธรรมชาติ 2 อย่าง คือเห็นรูปก็เป็นลักษณะธรรมชาติอย่างหนึ่ง เห็นนามก็เป็นลักษณะธรรมชาติอย่างหนึ่ง

ญาณที่ 2 เรียกว่า ปัจจยปริคคหญาณ คือ เห็นเหตุปัจจัยของรูปนาม คือจะเห็นว่า รูปนามนี้เป็นเหตุเป็นปัจจัยซึ่งกันและกัน มีความเกี่ยวข้องเป็นปัจจัยกันเช่นขณะที่การก้าวไปๆ การคู้ การเหยียด การเคลื่อนไหวต่างๆ เป็นไปเพราะว่ามีธรรมชาติอย่างหนึ่งเป็นตัวเหตุปัจจัย คือมีจิต จิตปรารถนาจะให้กายเคลื่อนไหว กายก็เคลื่อนไหวไป จิตปรารถนาจะยืน กายก็ยืน จิตปรารถนาจะเดิน กายก็เดิน จิตปรารถนาจะนอน กายก็นอน คือลมก็ไปผลักดันให้กายนั้นเป็นไป อย่างนี้เรียกว่า นามเป็นปัจจัยให้เกิดรูป นามคือจิตใจเป็นปัจจัยให้เกิดรูป

ญาณที่ 3 สัมมสนญาณ ในสมมสนญาณนี้ก็เป็นญาณที่เห็นไตรลักษณ์ คือเห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยงของรูปนาม เห็นทุกขัง คือความทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้ของรูปนาม เห็นอนัตตา ความบังคับบัญชาไม่ได้ของรูปนาม แต่ว่าการเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในญาณที่ 3 นี้ยังเอาสมมุติบัญญัติมาปน ยังมีสุตมยปัญญา ปัญญาที่เกิดจากการได้ฟังมา เอาจินตามยปัญญาความตรึกนึกคิดมาปนอยู่ด้วย

ญาณที่ 4 คือ อุทยัพพยญาณ ในอุทยัพพยญาณนี้ ก็แบ่งเป็น 2 ตอนเป็น ตรุณอุทยัพพยญาณ อย่างหนึ่ง กับเป็น พลวอุทยัพพยญาณ อย่างหนึ่ง คือ เป็นอุทยัพพยญาณอย่างอ่อน กับอุทยัพพยญาณอย่างแก่ ญาณ ที่ 4 อย่างอ่อน คือตรุณอุทยัพพยญาณนี้ ก็จะทำให้เกิด วิปัสสนูปกิเลสขึ้น ที่จะทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง วิปัสสนูปกิเลส คือกิเลสที่จะทำให้วิปัสสนาเศร้าหมอง คือทำให้วิปัสสนาไม่เจริญขึ้น จะไม่ก้าวหน้า ส่วนใน ญาณที่ 4 อย่างแก่ก็จะเห็นความเกิดดับของรูปนาม มีความบริสุทธิ์ของการเห็น เห็นรูปเกิดขึ้นดับไป เกิดขึ้นดับไป ไม่ว่าจะเป็นทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ญาณที่ 5 เรียกว่า ภังคญาณ ในภังคญาณนี้จะเห็นแต่ฝ่ายดับ เห็นรูปนามนั้นดับไป ดับไปด้วยความเร็วเพราะรูปนามเกิดดับรวดเร็วถี่มาก

ญาณที่ 6 เรียกว่า ภยญาณ จะเห็นรูปนามที่มันดับไปนั้นแต่เกิด ความรู้สึกขึ้นในใจว่าเป็นภัยเสียแล้ว เห็นว่ามันเป็นภัย ก่อนนั้นเคยหลงไหล แต่ตอนนี้รู้สึกว่าเป็นภัย

ญาณที่ 7 อาทีนวญาณ ก็จะเกิดความรู้สึกว่าเป็นโทษ ในขณะที่เห็นรูปนามดับไป ดับไป เกิดความรู้สึกว่าเป็นโทษ นอกจากจะเห็นภัยแล้ว ยังรู้สึกว่าเป็นโทษอีก

ญาณที่ 8 คือ นิพพิทาญาณ นิพพิทาญาณนี้จะรู้สึกเบื่อหน่าย ในเมื่อรูปนามเป็นภัยเป็นโทษมันก็รู้สึกเบื่อหน่ายไม่ได้ติดใจเลยในรูปนาม นี้ มันน่าเบื่อจริงๆ แต่ก็ไม่หนี ไม่ท้อถอย ก็ยังคงดูต่อไป แต่บางคนก็อาจจะเลิกรา เบื่อมากๆ เข้า เมื่อเพียรพยายามต่อไปก็จะขึ้นญาณที่ 9

ญาณที่ 9 มุญจิตุกัมยตาญาณ คือ มีความรู้สึกใคร่จะหนีให้พ้น เมื่อมันเบื่อแล้วก็ใคร่จะหนี มีความรู้สึกอยากจะหนีไป เหมือนบุคคลที่อยู่ในกองเพลิง มันก็อยากจะไปให้พ้นจากกองเพลิงเหล่านี้ จากนั้นเมื่อเพียรพยายามต่อไปก็จะขึ้นญาณที่ 10

ญาณที่ 10 ปฏิสังขาญาณ ในปฏิสังขาญาณนี้มันจะหาทางว่าทำอย่างไร ถึงจะพ้นได้ ในเมื่อตอนแรกมันใคร่จะหนี พอถึงญาณอันนี้ก็หาทางที่จะหลุดพ้นให้ได้ เมื่อเพียรพยายามต่อไป ก็จะขึ้นถึงญาณที่ 11

ญาณที่ 11 สังขารุเปกขาญาณ สังขารุเปกขาญาณนี้ มีลักษณะวางเฉยต่อรูปนาม คือเมื่อกำหนดรู้ หาทางหนี หนีไม่พ้น ยังไงก็หนีไม่พ้น ก็ต้องดูเฉยอยู่ การที่ดูเฉยอยู่นี้ทำให้ สภาวจิตเข้าสู่ความเป็นปกติในระดับสูง ไม่เหมือนบุคคลทั่วไป บุคคลทั่วไปเวลาเกิดเห็น ทุกข์เห็นโทษเห็นภัยนี้สภาวะของจิตใจจะดิ้นรนไม่ต้องการ จะกระสับกระส่ายดิ้นรน แม้แต่ในวิปัสสนาญาณก่อนหน้าสังขารุเปกขาญาณ ก็ยังมีลักษณะความดิ้นรนของจิต คือยังมีความรู้สึกอยากจะหนี อยากจะให้พ้นๆ สภาวะของจิตยังไม่อยู่ในลักษณะที่ปกติจริงๆ มันก็หลุดพ้นไม่ได้ แต่เมื่อมันดูไปจนถึงแก่กล้าแล้วไม่มีทางก็ต้องวางเฉยได้ ซึ่งในขณะที่เห็นความเกิดดับเป็นภัยเป็นโทษน่าเบื่อหน่ายอยู่อย่างนั้นมันก็ ยังวางเฉยได้ แม้จะถูกบีบคั้นอย่างแสนสาหัส แทบจะขาดใจมันก็วางเฉยได้ เมื่อวางเฉยได้มันก็จะก้าวขึ้นสู่ญาณที่ 12

ญาณที่ 12 อนุโลมญาณ เป็นญาณที่เป็นไปตามอำนาจกำลังของอริยสัจจ์ที่จะสอดคล้องต่อไปในโลกุตตรญาณ จากนั้นก็จะก้าวขึ้นสู่ญาณที่ 13 เรียกว่า โคตรภูญาณ

ญาณที่ 13 โคตรภูญาณ คือญาณที่มีหน้าที่โอนโคตรจากปุถุชนก้าวสู่ความเป็นอริยะ ในขณะนั้นจะทิ้งอารมณ์ที่เป็นรูปนามไปรับนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ว่าโคตรภูญาณยังเป็นโลกิยะอยู่ ตัวมันเองเป็นโลกิยะ แต่มันไปมีอารมณ์เป็นนิพพาน แล้วจากนั้นก็จะเกิดมัคคญาณขึ้นมา

ญาณที่ 14 มัคคญาณ มัคคญาณนี้เป็นโลกุตตรญาณ จะทำหน้าที่ประหารกิเลสระดับอนุสัยกิเลส ทำหน้าที่รู้ทุกข์ ละเหตุแห่งทุกข์ แจ้งนิโรธความดับทุกข์ เจริญตนเองเต็มที่ คือองค์มรรค 8 มีการประชุมพร้อมกัน ทำหน้าที่ละอนุสัยกิเลสแล้วก็ดับลง มีนิพพานเป็นอารมณ์

ญาณที่ 15 ผลญาณ ผลญาณเป็นโลกุตตรญาณ เกิดขึ้นมา 2 ขณะ เป็นผลของมัคคญาณ ทำหน้าที่รับนิพพานเป็นอารมณ์ 2 ขณะ แล้วก็ดับลง

ญาณที่ 16 ปัจจเวกขณญาณ ญาณพิจารณา มรรค ผล นิพพาน เป็นโลกิยญาณ ญาณพิจารณา เหมือนคนที่ผ่านเหตุการณ์อะไรมา ก็จะกลับพิจารณาสิ่งที่ผ่านมา แต่ญาณนี้ พิจารณามรรคที่ตนเองได้ พิจารณาผลที่ตนเองได้ พิจารณาพระนิพพาน และถ้าคนมีหลักปริยัติ ก็จะพิจารณากิเลสอันใดที่ละไปได้แล้ว กิเลส อันใดที่ยังเหลืออยู่ และถ้าคนไม่มีหลักปริยัติก็พิจารณาแค่ มรรค ผล นิพพาน ในระหว่างที่ญาณก้าวขึ้นสู่อนุโลมญาณ โคตรภูญาณ มัคคญาณ ผลญาณ ปัจจเวกขณญาณนี้ ท่านก็อุปมาให้ฟังเหมือนกับบุคคลที่จะก้าวกระโดดข้ามฝั่ง


แสดงเหตุแห่งการปฏิบัติเป็นข้อๆ ดังนี้ คือ

๑. ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า ได้เจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ตามพระบาลีในพระไตรปิฏก
๒. ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ได้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
๓. ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท เพราะไม่อยู่ปราศจากสติ
๔. ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ปฏิบัติตรงและถูกต้องครบทั้ง ๓ ปิฎก ดังหลักฐานเป็นเครื่องสาธกมีอยู่ว่า

สกลํปิ หิ เตปิฏกํ พุทฺธวจนํ อาหริตฺวา
กถิยมานํ อปฺปมาทํเอว โอตรติ.

จริงอยู่ พระพุทธพจน์จบทั้งพระไตรปิฎกแม้ทั้งสิ้นที่พระนักเทศน์ พระธรรมถึก นำมาชี้แจงแสดงไขอยู่นั้นย่อมรวมลงสู่ที่แห่งเดียว คือความไม่ประมาทเท่านั้น
 
 ๕. ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า ได้บำเพ็ญอัฏฐังคิกมรรคทั้ง ๘ อันเป็น มัชฌิมาปฏิปทา หรือ ทางสายกลาง

๖. ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า ได้บำเพ็ญไตรสิกขาครบบริบูรณ์ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ขณะเดินจงกรมหรือนั่งกำหนดอยู่นั้น กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ มโนกรรม ๓ บริสุทธิ์ จัดเป็นศีล ใจไม่เผลอจากรูปนาม จัดเป็นสมาธิเห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์จัดเป็นปัญญา

๗. ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า ได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยปฏิปัตติบูชา ดังที่ได้ตรัสแกพระอานนท์เถระ ในคราวจะปรินิพพาน ซึ่งปรากฏอยู่ในพระไตรปิฏก เล่มที่ ๑๐ มหาปรินิพพานสูตร ว่า

“โย โย อานนฺท ภิกฺขุ วา ภิกฺขุนี วา อุปาสโก วา อุปาสิกา วา ธมฺมานุธมฺมปฏิปนฺโน วิหรติ” เป็นต้น แปลเป็นใจความว่า

“ดูกรอานนท์ บุคคลใด เป็นภิกษุก็ตาม เป็นภิกษุณีก็ตาม เป็นอุบาสกก็ตามเป็นอุบาสิการก็ตาม ถ้าปฏิบัติธรรมสมควรแก่นวโลกุตรธรรมทั้ง ๙ ปฏิบัติชอบยิ่งกว่าปฏิบัติตามธรรม คือ เจริญสติปัฏฐาน ๔ ได้แก่ เจริญวิปัสสนากรรมฐาน นั่นเอง จนได้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน บุคคลนั้นชื่อว่า ได้สักการะ ได้เคารพ ได้นับถือ และได้บูชาเรา ด้วยการบูชาอย่างสูงสุด” ดังนี้

๘. ผู้ปฏิบัติอย่างนี้ ชื่อว่า ได้เป็นผู้มีความจงรักภักดีต่อพระองค์มาก ดังที่ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายในเมือง ไพสาลีว่า

ภิกฺขเว มยิ สสิเนโห ติสฺสสทิโสว เป็นต้น ใจความว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดมีความรักใคร่ในเรา ผู้นั้นจงเจริญวิปัสสนากรรมฐาน เช่นกับพระติสสะนี้เถิด ถึงแม้พุทธบริษัทจะทำการบูชาด้วยของหอม และดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น ก็ยังไม่เชื่อว่า ได้บูชาเราอย่างแท้จริง เฉพาะผู้ที่เจริญวิปัสสนากรรมฐานสมควรแก่มรรค ผล นิพพานเท่านั้น จึงจะชื่อว่าได้บูชาเราอย่างแท้จริง ดังนี้


« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 07, 2011, 03:35:54 pm โดย ลูกพระธรรม »