โ ล ก กั บ ก ร ร ม ฐ า น
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)
วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ
ขณะใดที่เราวิ่งไปตามโลก
เราจะมองไม่เห็นโลกได้ถนัดนั้น
เราจำเป็นต้องหยุดวิ่งเสียก่อน
แล้วเราจึงจะมองเห็นโลกได้ชัดเจน
เมื่อโลกหมุนและเราก็หมุนด้วยอย่างนี้
จะมองเห็นกันอย่างไร
เปรียบเหมือนคนวิ่งกับคนวิ่ง
ย่อมยากที่จะมองเห็นหน้ากันได้
เราไม่หยุดวิ่ง แต่เขาวิ่ง ก็ยังพอมองเห็นกันบ้าง แต่ไม่ชัดเจน
ถ้าสองคนต่างวิ่งแล้ว ก็ยิ่งไม่แลเห็นกันเลย
ตัวอย่างเช่น เรานั่งหรือยืนอยู่เฉยๆ
มีคนๆหนึ่งแอบวิ่งมาตีหัวเราแล้วก็วิ่งหนีไป
อย่างนี้เราก็จับตัวได้อยาก
ฉะนั้นถ้าเราหมุนหรือแทรกแซงในความหมุนของโลก
เราก็จะยิ่งไม่รู้ไม่เห็นอะไรเลย
ในทางธรรมท่านจึงสอนให้เป็นผู้หยุดหมุน “สังสารจักร”
เพื่อที่จะได้ทราบโลกแจ้งชัดๆ
ใบพัดเครื่องบินหรือใบจักรใดๆก็ตาม
เมื่อมันยังหมุนอยู่
เราจะมองไม่เห็นว่าใบพัดนั้นมีรูปร่างลักษณะอย่างไร
และมีกี่ใบพัดหรือใบจักรนั้นมีความหยาบละเอียดอย่างใด
ถ้ายิ่งหมุนเร็ว เราก็ไม่เห็นรูปร่างเลย
ต่อเมื่อหมุนช้าลง หรือหยุดหมุนแล้ว
เราจึงจะมองเห็นได้ถนัดชัดเจนว่า
รูปร่างของมันเป็นอย่างไร
นี้เป็นข้อเปรียบเทียบอย่างหนึ่ง
ในการหมุนตามกระแสของโลกโลกียฺ
เป็น “โอกาสโลก” กับตัวเราที่อาศัยอยู่ในพื้นโลก
(คัดลอกบางตอนมาจาก : โลกกับกรรมฐาน โดย พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)
๙ สิงหาคม ๒๕๐๑ ณ วัดอโศการาม ใน "เรื่องของลม ธมฺมธโรอนุสรณ์ ๒๕๔๔", หน้า ๑๐)
การไม่ทำจริง เป็นเหตุให้ไม่เกิดผล
พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)
วัดอโศการาม จ.สมุทรปราการ
การไม่ทำจริง เป็นเหตุให้ไม่เกิดผล
เมื่อไม่เกิดผลก็ย่อมเกิดสนิมในใจ
คือ ความเบื่อหน่าย ท้อถอย เกียจคร้าน
แล้วในที่สุดก็เลิก
ถ้าทำจริงแล้วย่อมจะเกิดผลเป็นกำลัง
คือ พละ ๕ ประการ
คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
(คัดลอกบางตอนมาจาก : ลมกับจิต พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ (ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)
๗ สิงหาคม ๒๕๐๑ ณ วัดอโศการาม ใน “เรื่องของลม : ธมฺมธโรอนุสรณ์", ๒๕๔๔ หน้า ๘)
ขอบพระคุณ คุณกุหลาบสีชา
ขอบพระคุณที่มา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=37173