ในเมืองพาราณสี มีตระกูลหนึ่งรับหน้าที่สอนศิลปะเกี่ยวกับการฝึกช้างและการใช้ช้างให้ทำงานต่างๆ ตามที่ปรารถนา
ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าของเราเกิดเป็นลูกของตระกูลนั้น ศึกษาศิลปะเกี่ยวกับเรื่อการฝึกช้างจนจบและเชี่ยวชาญ จึงได้รับมอบหมายจากตระกูลให้ทำหน้าที่สอนศิลปะนั้นแก่ศิษย์รุ่นต่อๆ มา
อาจารย์เป็นคนมีเมตตาต่อบรรดาศิษย์มาก ตั้งใจสอนศิลปะวิทยาเป็นอย่างดีโดยไม่ปิดบังและไม่เลือกว่าศิษย์นั้นมีฐานะเป็นเช่นไร ดังนั้น จึงมีศิษย์มาสมัครเรียนศิลปะวิทยาจากทั่วสารทิศ ต่อมาได้มีชายหนุ่มคนหนึ่งมาขอศึกษาอยู่ด้วย
"เธอมาจากที่ไหน" อาจารย์ถาม
"ข้าพเจ้าเป็นชาวเมืองพาราณสีนี้เอง" ชายหนุ่มตอบ
"เธอจะเรียนไปทำไม"
"ข้าพเจ้ามาเรียนก็เพื่อเอาไว้ไปใช้ทำมาหากิน"
เมื่อทราบความประสงค์ของศิษย์อย่างนั้นแล้ว อาจารย์ก็ได้รับไว้ด้วยความเมตตาและสอนศิลปวิทยาให้จนหมดสิ้น
วันหนึ่ง หลังจากจบการศึกษาแล้ว ชายหนุ่มได้เข้าไปหาอาจารย์ อาจารย์ได้กล่าวความยินดีและชวนสนทนาถึงเรื่องต่าง ๆ รวมทั่งเรื่องราวในราชสำนักด้วย
"ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้าอยากรับราชการ" ชายหนุ่มเอ่ยขึ้นในตอนหนึ่ง
"งานราชการคืองานรับใช้พระราชสำนักเป็นงานหนักนะ" อาจารย์บอก
"ข้าพเจ้าไม่กลัวงานหนัก กลัวแต่ว่าจะไม่ได้งานทำเท่านั้น"
"ถ้าเธอต้องการจริง ๆ ฉันจะช่วยฝากให้"
อาจารย์ทำตามที่พูดไว้ หลังจากเฝ้าพระเจ้าพรหมทัต พระราชาแห่งแคว้นนกาสีแล้ว วันหนึ่งจึงได้กราบทูลว่า
"ขอเดชะ ข้าพระองค์มีลูกศิษย์ฝีมือดีอยู่คนหนึ่ง ขอฝากเขาไว้รับไช้ในราชสำนักด้วย"
"ได้ซีท่านอาจารย์" พระเจ้าพรหมทัตตรัสรับรอง "ใครก็ตาม ถ้ามาจากอาจารย์ ฉันรับหมดเพราะเชื่อฝีมือ"
"เป็นพระมหากรุณาธิคุณพระเจ้าข้า" อาจารย์ก้มลงกราบพลางขอให้พระเจ้าพรหมทัตตั้งเงินเดือนให้เขาด้วย
"ท่านอาจารย์ ฉันมีธรรมเนียมอยู่ว่าศิษย์กับอาจารย์จะได้เงินเดือนไม่เท่ากัน ศิษย์จะต้องได้น้อยกว่า อาจารย์จะต้องได้มากกว่า"
พระเจ้าพรหมทัตตรัสชี้แจง
"ข้าพระองค์คิดว่าเรื่องนี้คงไม่มีปัญหา"
"ถ้าอย่างนั้น ทุกวันนี้ฉันให้อาจารย์เดือนละ ๑๐๐ กหาปณะ ศิษย์ของอาจารย์ก็ได้ครึ่งหนึ่งคือ ๕๐ กหาปณะ"
"เป็นพระมหากรุณาพระเจ้าข้า"
อาจารย์ดีใจมากที่สามารถฝากศิษย์เข้ารับราชการได้สำเร็จตามความต้องการของศิษย์ ดังนั้นครั้นกลับถึงบ้านแล้วจึงรีบแจ้งให้ชายหนุ่มทราบทันที
"อาจารย์ดีใจด้วย พระราชารับเธอเข้ารับราชการแล้ว"
"แล้วเรื่องเงินเดือนพระราชาทรงให้เท่าไร ท่านอาจารย์" ชายหนุ่มถามอย่างกระตือรือร้น
"เห็นรับสั่งจะพระราชทานให้ครึ่งหนึ่งของฉัน" อาจารย์ ตอบตามความเป็นจริง
"ฉันได้ ๑๐๐ กหาปณะ"
"ถ้าอย่างนั้น ข้าพเจ้าก็ได้เพียง ๕๐ กหาปณะใช่ไหมอาจารย์"
"ใช่" อาจารย์พยักหน้ารับ
"ท่านอาจารย์..." ชายหนุ่มพูดขึ้นด้วยความไม่พอใจ "ข้าพเจ้ากับท่านมีความรู้เท่ากัน ก็ควรจะได้เงินเดือนเท่ากัน"
"ถ้าเธอต้องการอย่างนั้นฉันจะไปกราบทูลพระราชาดูก่อนว่าจะทรงเห็นด้วยหรือไม่" อาจารย์ยินดีรับข้อเสนอ
ต่อมา อาจารย์ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพรหมทัตและกราบทูลข้อเสนอของชายหนุ่มให้พระราชาทราบ
"ได้..ท่านอาจารย์" พระเจ้าพรหมทัตรับข้อเสนอของชายหนุ่ม และทรงมีเงื่อนไขว่า "ลูกศิษย์ของท่านจักได้เงินเดือนเท่ากับท่าน ถ้าเขามีความสามารถเท่ากับท่าน"
"พระองค์จะให้เขาแสดงศิลปะแข่งกับข้าพระองค์หรือพระเจ้าข้า" อาจารย์ทูลถาม
"ใช่แล้ว" พระเจ้าพรหมทัตพยักพระพักตร์รับ
อาจารย์ได้นำความนั้นมาแจ้งให้แก่ชายหนุ่มได้ทราบและได้รับคำตอบอย่างหนักแน่นว่า
"ได้..ท่านอาจารย์ ข้าพเจ้ายินดีจะแสดงความสามารถแข่งกับท่าน"
"ตกลง" อาจารย์รับคำ
วันรุ่งขึ้น อาจารย์ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าพรหมทัตอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งกราบทูลเรื่องที่ชายหนุ่มตกลงแสดงศิลปะแข่งกับตนให้ทรงทราบ
"เอาละ อาจารย์ พรุ่งนี้เชิญท่านกับศิษย์มาแสดงแข่งกันได้เลยที่ลานดินหน้าพระราชวัง" พระเจ้าพรหมทัตทรงนัดหมาย
"เป็นพระมหากรุณาธิคุณพระเจ้าข้า" อาจารย์ก้มลงกราบแทบพระบาท "และเป็นพระมหากรุณาธิคุณมากยิ่งขึ้นหากพระองค์จะป่าวประกาศเชิญชวนชาวเมืองมาร่วมเป็นสักขีพยาน
พรหมทัตตรัสรับคำอย่างหนักแน่น
ความจริงแล้ว อาจารย์รู้สึกสะเทือนใจที่ต้องมาแสดงฝีมือแข่งกับศิษย์เพราะคิดไม่ถึงว่าศิษย์จะกล้าท้าทายตนเช่นนี้
"เราควรจะสอนให้เขาได้สำนึกบ้าง" อาจารย์บอกกับตนเองขณะเดินทางกลับบ้าน
คืนวันนั้น ขณะที่ทุกคนหลับกันหมดแล้ว อาจารย์ก็แอบไปที่โรงช้างเรียนรู้คำสั่งและปฏิบัติการที่ตรงกันข้าม นั่นคือ เมื่อออกคำสั่งว่า "ไป" ให้ช้างเรียนรู้ว่า "ต้องถอยหลัง" เมื่อออกคำสั่งว่า "ไป" ให้ช้างเรียนรู้ว่า "ต้องถอยหลัง " เมื่อออกคำสั่งว่า "หยุดยืน" ให้ช้างเรียนรู้ว่า "ต้องนอน" และเมื่อออกคำสั่งว่า "ถือ" ให้ช้างเรียนรู้ว่า "ต้องปล่อย"
รุ่งเช้า ที่บริเวณหน้าพระราชวัง ชาวเมืองพาราณสีมาเฝ้าชมการแข่งขันประลองความสามารถระหว่างศิษย์กับอาจารย์อยู่เนืองแน่น พระเจ้าพรหมทัตประทับนั่งบนพระที่นั่งอย่างสง่างาม แล้วทันใดนั้นเอง อาจารย์กับศิษย์ก็ปรากฏตัวพร้อมด้วยช้างที่จะใช้ประลองความสามารถ
ครั้นได้เวลา อาจารย์กับศิษย์ก็ผลัดกันแสดงความสามารถในการบังคับช้าง ผลปรากฏว่าอาจารย์มีความสามารถบังคับได้อย่างไร ศิษย์ก็มีความสามารถอย่างนั้น ผู้คนที่มาเฝ้าชมต่างพากันเงียบกริบเพราะคิดว่าอาจารย์คงสู้ศิษย์ไม่ได้ อาจารย์เองก็ชื่นชมศิษย์ของตนเองอยู่ในที
ช่วงสุดท้ายมาถึงแล้ว อาจารย์ยืนสงบนิ่งอยู่ครู่หนึ่งจากนั้นจึงเสนอวิธีการประลองความสามารถครั้งสุดท้าย คือ ให้ศิษย์สั่งบังคับช้างของตนเอง
ได้..ท่านอาจารย์ ช้างของท่านก็เหมือนช้างของข้าพเจ้า"
ชายหนุ่มรับข้อเสนอของอาจารย์ทันทีแล้วตรงรี่เข้าหาช้างของอาจารย์พร้อมทั้งออกคำสั่งให้ช้างทำ แต่ผลปรากฎว่าช้างกลับทำกริยาอาการตรงกันข้ามหมดสิ้น
ถึงตอนนี้ ชายหนุ่มเริ่มหน้าถอดสีเพราะรู้สึกอับอายที่ไม่สามารถสั่งช้างของอาจารย์ให้ทำตามตนสั่งได้ ผู้คนที่เฝ้าชมซึ่งเอาใจช่วยอาจารย์อยู่ตลอดเวลา ต่างได้โอกาสลุกฮือขึ้นสาปแช่งชายหนุ่มกันเสียงอึงมี่
"ไป...ไปให้พ้น ไอ้ลูกศิษย์เนรคุณ ช่างไม่รู้จักประมาณตัวเองบ้างเลย"
ว่าแล้ว ต่างคนต่างปาก้อนดินใส่ชายหนุ่มจนได้รับบาดเจ็บอย่างแสนสาหัสและขาดใจตายในเวลาต่อมา
นิทานธรรมเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ศิษย์ที่คิดล้างครูนั้นย่อมมีแต่ความวิบัติ เหมือนชายหนุ่มกับอาจารย์ผู้มากด้วยเมตตา ผลสุดท้ายชายหนุ่มก็ได้รับผลร้ายที่เกิดจากการกระทำของตนเอง
http://www.dhammathai.org/dhammastory/story67.php