หลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่เหมาะสม ลดเสี่ยง 'โรคหัวใจและหลอดเลือด'
ที่มา เดลินิวส์
วันวาเลนไทน์กำลังจะเวียนมาถึงอีกครั้ง เป็นวันที่ทำให้เรานึกถึงและเอาใจใส่สุขภาพหัวใจกันและกัน ไม่ว่าจะเป็น คนรัก คู่ชีวิต ญาติมิตร เพื่อนฝูง พ่อแม่ และปู่ย่า ตายาย สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยที่มีภาระและต้องทำงานหนัก ไม่ว่าด้วยกำลังกายและกำลังใจ ต้องไม่ลืมคิดถึงหัวใจของตัวเองกันด้วย!
พญ.คุณสวรรยา เดชอุดม อายุรแพทย์โรคหัวใจ ประธานฝ่ายวิชาการ มูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้ความรู้ว่า หัวใจของคนเรามีลักษณะคล้ายดอกบัวตูม อยู่ที่ส่วนกลางของหน้าอกค่อนไปทางซ้าย ภายในกระดูกหน้าอกและซี่โครง โดยหัวใจแบ่งออกเป็นสี่ห้อง สองห้องบนเรียกว่า เอเทรียม ทำหน้าที่รับโลหิตจากเส้นเลือดต่าง ๆ สองห้องล่างเรียกว่า เวนตริเคิล ทำหน้าที่สูบฉีดโลหิตออกจากหัวใจ มีลิ้นหัวใจทั้งสี่ทำหน้าที่กั้นเพื่อให้โลหิตหมุนเวียนไปในทิศทางที่ถูก ต้อง และมีผนังกล้ามเนื้อกั้นหัวใจเป็นซีกซ้ายและขวา มีกล้ามเนื้อทำหน้าที่สูบฉีดโลหิต โดยจะสูบเลือดดำที่มีคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่ห้องล่างขวาพร้อมกับสูบเลือด แดงที่เต็มไปด้วยออกซิเจนจากปอดเข้าสู่ห้องล่างซ้าย ส่วนหัวใจห้องล่างทั้งสองห้องจะทำหน้าที่ฉีดเลือดพร้อมกัน โดยที่ห้องล่างขวาฉีดเลือดดำไปฟอกที่ปอด และห้องล่างซ้ายฉีดเลือดแดงไปเลี้ยงตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยปกติทั้งสองห้องนี้ผนังที่กั้นจะแยกจากกันตั้งแต่คลอดออกจากท้องแม่
ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ความก้าวหน้าด้านการแพทย์และการเปลี่ยนแปลงนโยบายสาธารณสุขได้ส่งผลดีต่อ ความเป็นอยู่ของคนนับล้านทั่วโลก แต่ โรคหัวใจและอัมพาตก็ยังคงคร่าชีวิตประชากรโลกถึง 17.1 ล้านคน ในทุก ๆ ปี โดยเฉพาะประชากรในประเทศด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนามีอัตราการเสียชีวิตเพิ่ม ขึ้นร้อยละ 82
โรคหัวใจและหลอดเลือด นับเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเป็นลำดับต้น ๆ ของประชากรไทย โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเสื่อมของผนังหลอดเลือดแดงที่เรียกว่า ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง จนทำให้หลอดเลือดแดงตีบหรือตัน ที่เรียกว่า โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง ในประเทศทางแถบตะวันตก อุบัติการณ์ของโรคหลอดเลือดหัวใจมีมากกว่าโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 4 ต่อ 1 ในทางกลับกัน แถบเอเชีย เช่น จีนและญี่ปุ่น อุบัติการณ์ เป็น 1 ต่อ 2
“ประมาณ 1 ใน 5 ของโรคหัวใจที่ทำให้ถึงแก่ชีวิต ผู้ป่วยจะไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า หรือมีอาการเพียงเล็กน้อย อาจจะเกิดขึ้นแค่ครั้งแรกเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ทั้งนี้ มีสาเหตุมาจากหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจอุดตันกะทันหันไม่ทันได้รู้ตัว โดย 4 ใน 5 ของผู้ป่วยจะมีอาการแสดงมาก่อน เช่น เจ็บหน้าอก หายใจขัด หายใจไม่อิ่มเวลาออกกำลังหรือเวลาเครียด ถ้าสงสัยให้รีบไปปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด”
การที่หลอดเลือดตีบตันที่หัวใจหรือสมองนั้น มีเหตุมาจากปัจจัยกลุ่มเดียวกัน ส่วนใหญ่จะเกิดจากพฤติกรรมของตนเองเป็นสำคัญ โดย การสูบบุหรี่ เป็นพฤติกรรมแรกที่กระตุ้นให้เกิดตะกรันในหลอดเลือดได้ อย่างชัดเจน อีกทั้งควันบุหรี่ยังมีส่วนช่วยเร่งความชราเละความเสื่อมของอวัยวะทุกส่วน ของร่างกายอีกด้วย
โรคหัวใจและหลอดเลือด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีบ-ตัน อย่างเฉียบพลัน ทำให้หัวใจพิบัติ หรืออัมพาตกะทันหัน ที่อาจถึงแก่ชีวิตหรือทุพพลภาพได้นั้น มีอัตราเกิดเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัว รวมทั้งต่อหน่วยงานเศรษฐกิจของประเทศชาติที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา พยาบาลสูง อีกทั้งอาจต้องเสียดุลการค้าจากการที่กระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วยต้องใช้ยา และเครื่องมือราคาแพงที่ไม่สามารถผลิตได้เองในประเทศเป็นส่วนใหญ่
การให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้เข้าใจถึงกลไกการเกิดโรคและความสำคัญของ ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ จะทำให้ประชาชน เรียนรู้ถึงวิธีการป้องกันเพื่อที่จะหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงหรือปรับเปลี่ยน พฤติกรรมต่าง ๆ เพื่อลดโอกาสในการเกิดโรคให้น้อยลงน่าจะเป็นวิธีที่ถูกต้องและประหยัด มากกว่าการปล่อยให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจขึ้นแล้วจึงทำการรักษาด้วยยา ทำการขยายหลอดเลือดด้วยบอลลูน หรือทำการผ่าตัดต่อเส้นเลือด
ทุกคนรวมทั้งผู้ป่วย สามารถเฝ้าระวังและป้องกันก่อนเกิดเหตุร้ายกับหัวใจได้ โดยการดูแลตนเองซึ่งอาศัยตัวเลขที่ใช้ได้ผลดี มีอยู่ 6 กลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มแรกเป็นตัวเลขของ น้ำหนักตัวที่เหมาะสม สำหรับผู้ชายไม่เกิน 100-ส่วนสูง ซม. และ 110-ส่วนสูง ซม.สำหรับหญิง ถัดมา คือ ความยาวรอบเอว ไม่ควรเกินกว่าครึ่งหนึ่งของส่วนสูง ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย กลุ่มตัวเลขของ ความดันโลหิต เป็นอีกกลุ่มตัวเลขหนึ่งที่ไม่ควรละเลย โดยตัวเลขที่พึงประสงค์ คือ 120/80 มม.ปรอท
ตัวเลขต่อมา คือ ระดับคอเลสเตอรอลชนิดดี ที่มีความหนาแน่นสูง (HDL) ต้องไม่ต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (มก./ดล.) ในผู้หญิง และ ไม่ต่ำกว่า 40 มก./ดล. ในผู้ชาย รวมทั้ง ตัวเลขของระดับ คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี ที่มีความหนาแน่นต่ำ (LDL) ต้องไม่สูงกว่า 150 มก./ดล. ในคนปกติ และไม่สูงกว่า 130 มก./ดล.ในคนที่มีโรคหลอดเลือด หัวใจ หรือเคยเป็นอัมพาต สุดท้าย คือ ระดับน้ำตาลในเลือดเมื่ออดอาหาร ต้องไม่สูงกว่า 99 มก./ดล.
พญ.คุณสวรรยา กล่าวต่อว่า การออกกำลังกาย เป็นกิจกรรมหนึ่งที่จะช่วยในการเพิ่มรายจ่ายของพลังงานออกไป ทำให้ร่างกายแข็งแรง โดยผู้สูงอายุควรเริ่มออกกำลังด้วยการเดินเร็ววันละ 20 นาที ในระยะทาง 2 กิโลเมตร โดยเริ่มเดินช้า ๆ ใน 3 นาทีแรก จากนั้น ให้เร่งเดินประมาณ 20 นาที จากนั้นให้เดินช้า ๆ ก่อนที่จะหยุด 3 นาที สำหรับคนที่หาเวลาออกกำลังกายไม่ค่อยได้หรือไม่มีเวลาว่างที่จะออกกำลังกาย แนะนำให้เดินขึ้นบันไดอย่างน้อยให้ได้เจ็ดชั้น โดยหลีกเลี่ยงการใช้ลิฟต์ในสถานที่ทำงาน เพื่อหาโอกาสออกแรง
พฤติกรรมของการกินเกินกำลัง คือ กินอาหารในจำนวนที่ให้พลังงานมากกว่าที่ได้ใช้ไปในแต่ละวัน ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และเมื่อคนเราเจริญเติบโตจนเต็มวัยแล้ว ส่วนที่เกินกำลังนั้น ร่างกายจะเก็บไว้ในรูปไขมัน รวมเป็นถุงห้อยไว้ในพุงแขวนไว้กับผนังลำไส้ เมื่อมีมากขึ้นพุงที่เก็บสะสมไขมันไว้ก็จะขยายออก ลดความคอดกิ่วของเอวที่เคยบางออกเสียหมดไปเป็นพุงกะทิ จึงพบว่า ผู้ที่อ้วนลงพุงมักจะมีระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดสูงด้วย
พฤติกรรมการกิน จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหัวใจและอัมพาตได้ ก่อนอื่นผู้ป่วยต้องรู้จักประมาณการกินให้พอเหมาะ มีความสมดุล ตามธงโภชนาการ ของกรมอนามัยกระทรวงสาธารณสุขที่ตั้งไว้ โดยเลือกน้ำมันในการปรุงอาหารที่ถูกต้องซึ่งจะช่วยลดระดับไขมันร้ายลงได้ และไม่ลดระดับไขมันดี คือ น้ำมันที่มีอัตราของน้ำมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวสูง เช่น น้ำมันเมล็ดชา น้ำมันมะกอก น้ำมันคาโนล่า น้ำมันรำข้าว และน้ำมันผสม โครงการอาหารไทยหัวใจดีมีตราสัญลักษณ์ โดยตรวจสอบสินค้าที่สมัครเข้าเป็นสมาชิกผลิตภัณฑ์อาหารรักษ์หัวใจ ซึ่งสังเกตได้จากตราเครื่องหมายถูกที่หัวใจ
อีกทั้ง เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีรายงานจากสวีเดนพบว่า สตรีที่กินเนื้อวัวแดงประมาณ 1 ขีดต่อวัน (102 กรัม) อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นอัมพาตได้ สมาคมหัวใจแห่งสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ลดอัตราการเกิดโรคหัวใจและอัมพาตโดย เลือกกินปลาสัปดาห์ละ 2 ครั้ง สำหรับคนไทยการกินปลาเป็นประจำก็ทำให้อายุยืนได้ ผักและผลไม้ 7 สี กินดีทุกวัน เพราะได้ใยอาหารช่วยการดูดซึมอาหารเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ น้ำตาลและน้ำมันวันละน้อย
การเลือกอาหารที่มีตราสัญลักษณ์รักษ์หัวใจและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นับเป็นวิธีหนึ่งในการใส่ใจดูแลหัวใจตนเองและคนใกล้ชิดได้เป็นอย่างดี.
@@ เคล็ดลับสุขภาพดี @@
ฝึกหายใจช้าๆ ช่วยคลายเครียด และลดความดัน
การหายใจปกติของคนเราเป็นอะไรที่ง่ายมากสำหรับการดำรงชีวิตประจำวัน แต่การที่เราจะหายใจอย่างไรให้ถูกต้องและได้ประโยชน์ช่วยในการรักษาโรคต่าง ๆ นั้นหลายคนอาจจำเป็นต้องฝึก วันนี้เคล็ดลับสุขภาพดี มี วิธีการฝึกหายใจช้า เบา ยาว ลึก เพื่อช่วยลดความดันโลหิตสูงและผ่อนคลายความเครียดมาฝากกันด้วยค่ะ
นพ.สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ สาขาวิชาโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความรู้ว่า โดยปกติทั่วไปแล้วคนเราหายใจประมาณ 12-20 ครั้งต่อ 1 นาทีแต่จากการศึกษาพบว่า ถ้าเราหายใจเร็วกว่า 10 ครั้งต่อ 1 นาที ระบบการทำงานของประสาทจะกลายเป็นระบบ ’สู้“ (sympathetic) ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดก็สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นการที่เราหายใจช้าลงจะลดการทำงานระบบ ’สู้“ และเพิ่มการทำงานของระบบประสาท ’พัก“ ทำให้หัวใจเต้นช้าลง ความดันเลือดก็ลดลงด้วย
เมื่อการหายใจช้าได้ประโยชน์กับการใช้ชีวิตของเรา ปัจจุบันจึงมีเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการสร้างเครื่องมือฝึกหายใจช้าขึ้น ที่เรียกว่า “Resperate” เป็นเครื่องที่ช่วยให้รู้ว่าเราหายใจกี่ครั้งต่อนาที โดยการหายใจตามเสียงเพลงเสียงหนึ่งให้หายใจเข้า อีกเสียงหนึ่งให้หายใจออก เสียงเพลงจะยาวขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้เราหายใจยาวขึ้นหรือช้าลง โดยฝึกวันละอย่างน้อย 15 นาที เป็นเวลา 2 เดือนขึ้นไปจะสามารถลดความดันเลือดตัวบนในผู้ป่วยความดันเลือดสูงได้ประมาณ 14 มิลลิเมตรปรอท ตัวล่างลดลงประมาณ 9 มิลลิเมตรปรอท
แต่ถ้าเราไม่ฝึกจากเครื่องคุณหมอแนะนำว่า เราสามารถฝึกเองได้ทุกที่ทุกเวลาโดยให้ลองจับเวลา 1 นาที แล้วเริ่มจากหายใจปกติก่อนคือ หายใจเข้า-ออก นับ 1 ครั้ง จะพบว่าเราหายใจกี่ครั้งต่อ 1 นาที บางคนเกิน 20 ครั้งต่อ 1 นาทีด้วยซ้ำไป จากนั้นลองหายใจเข้า 3 วินาที หายใจออก 4 วินาที แรก ๆ จะทำให้รู้สึกอึดอัด เหมือนหายใจไม่สุด แต่ถ้าค่อย ๆ ฝึกไปจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ โดยเริ่มจากหายใจเข้า 1 วินาที หายใจออก 2 วินาที จากนั้นเพิ่มเวลาขึ้น เช่น หายใจเข้า 1 วินาที หายใจออก 3 วินาที เป็นระดับขั้นไปจนสามารถหายใจช้า เบา ยาว ลึก ได้คือหายใจเข้า 3 วินาที หายใจออก 4 วินาที ให้ทำเช่นนี้วันละ 15 นาที จะสามารถช่วยลดความดันโลหิตสูงได้
นอกจากนี้ยังทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย สมองปลอดโปร่งทำงานดีขึ้น ที่สำคัญช่วยคลายเครียดได้ด้วย ใครที่ทราบแบบนี้แล้วลองฝึกหายใจช้ากันวันละ 15 นาทีเพื่อสุขภาพที่ดีกันนะคะ.
.
http://www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryId=486&contentId=120815.