มหาภัยบนโลกออนไลน์..อันตรายที่พ่อแม่ควรเท่าทัน!
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์
2 มีนาคม 2554 12:15 น.
ทุก วันนี้ สื่อบนโลกออนไลน์ คือสังคมเปิดกว้าง และไม่มีการตรวจสอบการป้องกันที่ชัดเจน อีกทั้งตัวกฎหมายข้อบังคับยังไม่ครอบคลุมพอ สิ่งที่พบเจออาจมีทั้งข้อเท็จจริง และหลอกลวง มีทั้งคนดี และคนไม่ดีที่แฝงตัวเข้ามาโดยใช้สื่อชนิดนี้แสวงหาผลประโยชน์จากผู้ใช้สื่อ โดยเฉพาะเด็ก ๆ ที่อาจตกเป็นเหยื่อได้ง่ายหากรู้เท่าไม่ถึงการณ์
นับเป็นเรื่องที่พ่อแม่ยุคใหม่ไม่ควรมองข้าม เพราะผู้กระทำผิดต่อเด็กทางไอซีทีมีความน่ากลัว และมีรูปแบบการล่อลวงที่แยบยลมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น หลาย ๆ ประเทศต่างประสบกับปัญหานี้เช่นกัน
เห็นตัวอย่างได้จากประเทศแคนาดาที่เด็กและเยาวชนตกเป็นเหยื่อของนัก แสวงประโยชน์ทางเพศมากขึ้น โดยมีรายงานจากศูนย์ฮอตไลน์รับเรื่องร้องเรียน Cybertip.ca พบว่า ร้อยละ 80 ของการรายงานถึงภาพลามกอนาจารของเด็กแสดงให้เห็นถึงเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 8 ขวบซึ่งมีเกณฑ์อายุที่ต่ำลงเรื่อย ๆ
ความน่าเป็นห่วงนี้ ซูซาน วิลเลี่ยม ผู้ อำนวยการเครือข่ายปกป้องคุ้มครองเด็กแห่งสถาบันระหว่างประเทศเพื่อสิทธิ และการพัฒนาเด็ก (IICRD) บอกว่า พ่อแม่หลาย ๆ ท่านไม่ได้ตระหนักรู้ถึงภัยดังกล่าว รวมถึงตัวเด็กเองที่ถูกล่อลวง และละเมิดจากความไม่รู้ โดยเฉพาะเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปที่นิยมส่งภาพของตัวเองให้คนรัก หรือคนแปลกหน้าทางออนไลน์
จากข้อมูลการศึกษาด้านการตระหนักรู้ทางสื่อในกลุ่มนักเรียนชาวแคนาดา ชั้นมัธยมปีที่ 1-5 เมื่อปี 2548 พบว่า ร้อยละ 22 เข้าใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อเปิดเว็บแคม ส่วนร้อยละ 25 ถูกขอให้พบคนแปลกหน้า ในขณะที่ร้อยละ 21 ได้พบกับคนแปลกหน้าไปแล้ว
นอกจากนี้ ร้อยละ 9 ของเยาวชน และร้อยละ 16 ของเด็กอายุ 14 ปีมีชื่อคนแปลกหน้าอยู่ในบัญชีรายชื่อเพื่อน และยังมีข้อมูลสำคัญรายงานอีกว่า เด็ก และเยาวชนร้อยละ 31 เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการสนทนาทางเพศเมื่ออยู่ในห้องสนทนา (แช็ตรูม) ขณะที่ 1 ใน 5 ส่งมีภาพไปให้คนที่ตนเองพบทางออนไลน์
"พ่อแม่หลายคนรู้ดีว่า เทคโนโลยีมันคืออะไร แต่กลับไม่รู้เลยว่า ในแต่ละวันลูกทำอะไรในสื่อไอซีที หรือเทคโนโลยีเหล่านั้นบ้าง อย่างในแคนาดา พ่อแม่จำนวนหนึ่งรู้ว่าต้องใช้เฟซบุ๊กอย่างไร แต่ไม่รู้หรอกว่าลูกสาว หรือลูกชายส่งอะไรให้ใครในรูปแบบใดบ้าง"
แต่กระนั้น คงต้องยอมรับว่า เด็กบางคนมีเรื่องบางเรื่องที่ไม่อยากให้พ่อแม่รับรู้ ซูซาน ให้แนวทางว่า คุณพ่อคุณแม่ควรสร้างความเชื่อใจ ด้วยการรับฟังลูก ไม่ก้าวก่ายพื้นที่ส่วนตัวของลูกมากเกินไป เพราะเด็กบางคนอยากมีพื้นที่ส่วนตัว เมื่อลูกเข้าใจ และเชื่อใจพ่อแม่ ถึงตอนนั้นเด็กก็พร้อมที่จะเปิดเผยเรื่องราว หรือเล่าสิ่งต่าง ๆ ที่พบเจอให้พ่อแม่ฟัง
"การจะให้พ่อแม่มาตามเทคโนโย ลีทั้งหมดคงไม่ไหว แต่อย่างน้อย ๆ ต้องทำให้ลูกเชื่อใจ และไว้ใจพ่อแม่ที่จะเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ให้ฟัง หรือถ้าเข้าไม่ถึงลูก ควรบอกให้เด็กรู้ว่า นอกเหนือจากพ่อแม่แล้ว เขาควรจะเข้าถึงใครได้บ้าง เช่น ครู หรือคนใกล้ตัวที่เชื่อใจได้" นั่นคือสิ่งที่ซูซานกำลังจะบอกว่า ทุกคนต้องช่วย ๆ กันเพื่อให้เด็กรู้เท่าทันภัยในโลกออนไลน์
ตามไปดูระบบคุ้มครองเด็กในโลกไอซีทีของแคนนาดา
อย่างไรก็ดี ประเทศแคนาดา นับประเทศที่มีการพัฒนาระบบการคุ้มครองเด็กในโลกไอซีทีที่มีประสิทธิภาพ ประเทศหนึ่ง โดยอ้างอิงได้จากข้อมูลการไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับระบบการคุ้มครองเด็กในโลกไอ ซีทีที่ประเทศแคนาดาของอ.อิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็ก และครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า ประเทศแคนาดานั้นมีองค์กรหลักอย่าง RCMP หรือ Royal Canadian Mounted Police เป็นองค์กรที่มีระบบการทำงานเกี่ยวกับการละเมิดทางเพศต่อเด็กโดยตรง ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงกับหลักสูตรการอบรมของโรงเรียนตำรวจด้านการสืบสวนสอบ สวนในระบบไอซีทีโดยเฉพาะ
นอกจากนั้น ยังมีโปรแกรม CET ซึ่งเป็นโปรแกรมในการระบุตัวผู้กระทำความผิดในโลกออนไลน์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากไมโครซอฟท์ อีกทั้งระบบการพิสูจน์ และยืนยันบุคคลผู้เสียหายเชิงรุกผ่านระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น หากลูกหายเป็นเวลานาน และมีเพียงรูปที่ถ่ายไว้ก่อนหน้านั้น นิติจิตกรอาจใช้เทคนิคการเพิ่มอายุ เพื่อช่วยในการระบุหาตัวเด็กคนนั้นได้ หรือเทคนิคการลดอายุเป็นเทคนิคที่ดีเช่นกัน ช่วยให้พนักงานสืบสวนสามารถระบุตัวเด็กได้เมื่อเขาพยายามแช็ตออนไลน์กับผู้ ใคร่เด็ก
ในขณะที่ไทยยังขาดความรู้ความ เชี่ยวชาญในการสืบสวน สอบสวนการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีซึ่งมีความซับซ้อนทางเทคนิค โดยเฉพาะการระบุตัวตนผู้กระทำความผิด และส่วนมากจะทำแบบไฟไหม้ฟางที่จะแก้ปัญหาไปตามกระแส
ด้านองค์กรด้านฐานข้อมูล และสร้างความตระหนักรู้ในสังคมนั้นแคนาดามี Canadian Centre for Child Protection เป็นองค์กรเอกชนที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของภาครัฐบาลของแคนาดา และภาคเอกชน โดยเฉพาะผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์อย่าง BELL ซึ่งมีการดำเนินการโครงการ Cyber tip มีภารกิจหลัก 2 ด้านคือ รับเรื่อง วิเคราะห์ปัญหาที่มีการร้องเรียน และการสร้างความตระหนัก การให้การเรียนรู้เท่าทันสื่อกับสังคม โดยมีหลักสูตรออนไลน์ที่มีการแพร่กระจายหลักสูตรผ่านทางระบบไอซีที และมีการขยายหลักสูตรผ่านในระบบโรงเรียน
ต่างจากของไทยที่ยังไม่มีการจัดทำแบบความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชนในการทำงาน และ ระบบการบริหารจัดการฐานข้อมูลร่วมกัน และบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เพราะใน Cyber tip สามารถส่งต่อเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมายในการบังคับ ใช้กฎหมายได้ทันที
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานในการสืบสวน สอบสวน พยานหลักฐาน ทั้งการสืบสวนสอบสวนจากเด็กผู้เสียหาย โดยหน่วยงานที่เรียกว่า ZEBRA เป็นองค์กรรัฐที่ทำงานร่วมกับตำรวจอย่างใกล้ชิดในการค้นหาพยานหลักฐานโดยการ สืบพยานจากผู้เสียหาย รวมไปถึงหน่วยงานที่ดูแลการวิเคราะห์ปัญหาที่มีความซับซ้อน ตลอดจนหน่วยงานภาควิชาการในการทำงานความรู้ด้านการคุ้มครองเด็ก ทั้งสิทธิที่ควรได้รับการแจ้ง สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครอง และความตระหนักรู้ในบริโภคสื่อ เป็นต้น
เมื่ออินเทอร์เน็ต อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนข้อมูล และภาพ การแสวงประโยชน์ทางเพศต่อเด็กย่อมมีมากขึ้น ซึ่งหากว่ากันตามจริง การละเมิดเป็นสิ่งที่สามารถรับมือได้ แต่การรับรู้เกี่ยวกับภาพที่ปรากฏในอินเทอร์เน็ตเป็นสิ่งที่ไม่อาจรับมือได้ ดังนั้นทุกฝ่ายควรช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการให้ชุดความรู้เพื่อเท่าทัน และระบบการคุ้มครองเด็กที่มีประสิทธิภาพ
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9540000027121.