ภาพธารมหาชนล้นหลามที่ไหล สู่วัดป่าบ้านตาดสะท้อนให้เห็นถึงพลังศรัทธาแห่งพุทธศาสนิกชนต่อหลวงตา มหาบัว
แม้ สังขารของพระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน จักเหลือเพียงอัฐิธาตุ แต่ข้อวัตรตลอดชีวิตสมณเพศ ย่อมประจักษ์แจ้งสืบไป
สร้อย เสียงแหบๆของหลวงตา แม้คืนวันจะผันผ่านไปอย่างไร ย่อมก้องอยู่ในมโนสำนึกของเหล่าศิษย์ เนื้อถ้อยรสธรรมของท่าน ย่อมกระตุ้นเตือนให้ไตร่ตรอง ก่อนน้อมนำไปสู่การปฏิบัติ
"เรา พิจารณาตามธรรมในสิ่งที่เราทำ เราพิจารณาหมดแล้วเราถึงลงมือทำ ไม่ใช่ทำตามอำเภอใจหรือทำตามความยาก แต่เราทำไปตามธรรมที่เราพิจารณาโดยรอบแล้ว"
หลวงตามหาบัวกล่าวถึง สมณกิจของท่านที่ทำไป ไม่ว่าจะเป็นการแสดงพระธรรมเทศนาสั่งสอนญาติโยม และการจัดตั้งผ้าป่าช่วยชาติ ทำให้เกิดกองทุนช่วยเหลือชาติบ้านเมือง อย่างที่ไม่เคยมีใครทำ และทำได้อย่างท่านมาก่อน
ช่วงแรกๆ เมื่อก่อตั้งผ้าป่าช่วยชาติ เกิดเสียงคัดค้านจากบุคคลบางฝ่าย แต่ท่านยืนยันหนักแน่นว่า "หากการช่วยชาติในคราวนี้ผิด เราจะรับผิดแต่ผู้เดียว และเมื่อผิดแล้ว หากเราจะต้องไปนรกเราก็จะไปนรกแต่ผู้เดียว เราไม่ต้องการให้คนอื่นมาผิดและไปนรกกับเราด้วย"
หลังประกาศอย่างหนักแน่น กล้าหาญ ท่านก็ลงมือทำจนสำเร็จ
ทำให้ ภาพของท่าน นอกจากเป็นพระนักเทศน์ฝีปากกล้าแล้ว ยังเป็นพระสงฆ์ที่ช่วยเหลือชาติบ้านเมืองอีกด้วย ชีวิตหลวงตามหาบัว เริ่มต้นเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2456 ที่ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี แยกจิตจากสังขารเมื่อเช้าวันที่ 30 มกราคม 2554 สิริอายุรวม 97 ปี ย่างเข้าปีที่ 98
หลวงตามหาบัวปฏิบัติดีปฏิบัติ ชอบอย่างไร ภาพผู้คนในงานพระราชทานเพลิงศพ วันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2554 ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ได้เป็นอย่างดี
ระหว่างเคลื่อนสังขารขันธ์หลวง ตามหาบัวสู่เมรุที่ตกแต่ง ประดับประดาไว้อย่างดีนั้น เหล่าศิษย์มิอาจกลั้นหยาดน้ำตาไว้ได้ ด้วยรอยอาลัยในข้อวัตรอันสง่างาม ถึงกับสะอื้นไห้ บ้างปล่อยเสียงออกมาอย่างมิอาจอัดอั้น
จริงอยู่ว่า หลวงตาเทศนาธรรมอยู่เนืองนิจว่า ให้รู้จักปล่อยวาง ให้รู้จักความเป็นไปของโลก อันมีเกิด แก่ เจ็บ และตาย แม้พุทธศาสนิกชนจะเข้าใจข้อธรรมของท่าน แต่ด้วยแรงศรัทธาอันแรงกล้า จึงมิอาจหักห้ามใจ
หลังพระราชทานเพลิงศพแล้ว อัฐิของหลวงตามหาบัว แบ่งออกมาเป็น 2 ส่วนคือ 1. เก็บไว้บรรจุในเจดีย์ เป็นอนุสรณ์กราบนมัสการสืบไป และ 2. แจกจ่ายให้กับวัดป่า ซึ่งเป็นหน่อธรรมของหลวงตา มีกระจายอยู่ทั่วไป มีประมาณ 130 วัด กำหนดจะแบ่งออกไปในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ.2554
แรงศรัทธาในหลวงตามหา บัวทำให้คลื่นพุทธศาสนิกชน เดินทางเข้าไปยังวัดป่าบ้านตาดไม่ขาดสาย การจัดเตรียมสถานที่ แม้ทางวัดจะเตรียมไว้อย่างดี แต่ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคมเป็นต้นมา ภายในวัดเนืองแน่นไปด้วยผู้คนแออัดยัดเยียด ทำให้ที่นั่ง ที่นอนแทบหาไม่ได้ ถึงกระนั้นธารศรัทธาก็หาได้บางเบา
คนเข้าร่วมงาน ถ้าเป็นงานพระอาจารย์เรืองวิทยาคม ย่อมได้ เหรียญที่ระลึก หรือไม่ก็วัตถุมงคล แต่สำหรับหลวงตามหาบัวแล้ว ท่านเป็นพระสายป่า เน้นเทศนาสั่งสอนผู้คนให้เห็นธรรม ดังนั้นพระที่ท่านให้จึงเป็น "พระธรรม" เท่านั้น
พุทธศาสนิกชนเข้าร่วมงาน สิ่งที่จะได้เก็บไว้เป็นอนุสรณ์คือ 1. สายสร้อยถักด้วยสีสดใส ห้อยรูปหลวงตามหาบัวทั้งสองด้าน เลี่ยมพลาสติกอย่างดี 2. หนังสือธรรมะ 3. แผ่นซีดีธรรมะ และ 4. ภาพหลวงตามหาบัวขนาดใหญ่
อนุสรณ์และสื่อธรรมใน งานหลวงตา แน่นอนว่ามิได้มีเป้าหมายให้ไปกราบบูชาเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ แต่เป็นสื่อธรรมที่ต้องการให้คนได้รับไปศึกษา เรียนรู้ และเตือนสติให้นึกถึงแบบอย่างอันดีงามแห่งสมณสงฆ์
ในรอยธรรมของหลวง ตามหาบัว หรืออริยสงฆ์แห่งจังหวัดอุดรธานี พบว่ามีก่อนเกิดนั้น โยมแม่ฝันว่าได้ตุ้มหูทองคำ ส่วนโยมพ่อฝันว่าได้มีดด้ามงา กาลเวลาพิสูจน์แล้วว่า ความฝันของโยมของท่าน เป็นความจริง
เรื่องนี้ ในหนังสือหลวงตามหาบัวมหัศจรรย์มหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ บันทึกไว้ว่า...ก่อนหลวงตามาเกิด โยมบิดาฝันว่าได้มีดปลายแหลม ด้ามทำด้วยงาช้าง เคลือบด้วยเงิน ฝักทำด้วยเงิน ส่วนโยมแม่ฝันว่าได้ต่างหูทองคำข้างหนึ่ง งดงามมาก เมื่อใส่หูแล้วต้องเดินไปดูที่กระจก เห็นแสงสะท้อนแวววาว สวยงามมาก
โยมตาของหลวงตาทำนายฝันว่า "ถ้าไปทางชั่ว มหาโจรสู้ไม่ได้ ยังเป็นหัวหน้ามหาโจรอีก ถ้าไปในทางดีแล้ว จะดีจนถึงที่สุด"
โชค ของพุทธศาสนิกชนชาวไทย เมื่อหลวงตาเลือกทางธรรม เข้าบวชเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2477 ณ วัดโยธานิมิต อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ หรือจูม พันธุโล เป็นพระอุปัชฌาย์
หลังบวชแล้ว แม้จะเป็นผู้ศึกษาพระธรรม และเปรียญธรรม แต่ท่านรู้ และเห็นความเป็นไปของชาติบ้านเมือง เห็นได้จากโอวาทต่อเหล่าศิษย์ว่า "เราบวชมา เราก็ไม่เคยจะมาคิดเรื่องเหล่านี้ แต่นี้เราก็เป็นลูกมนุษย์ชาติไทย จะว่าไงความเกี่ยวโยงถึงกันอยู่ ไปบวชก็เป็นลูกของพี่น้องชาวไทย บวชที่ไหนพระสงฆ์ก็เป็นพระสงฆ์ไทย ความได้ความเสียมันกระเทือนถึงกันอยู่"
ท่านบอกว่า "นั่งหลับตาอยู่ในป่า หัวใจมันหลับเมื่อไร ตาเห็นชั่วระยะนี้ ใจเห็นชั่วระยะไหน มีขอบเขตที่ไหน ทำไมจะไม่ทราบเรื่องความกระทบกระเทือน ความได้ความเสียภายในประเทศของเรา มันต้องทราบจนได้ นอกจากจะพูดหรือไม่พูดเท่านั้น"
เพราะ "เวลานี้ชาติไทยของเราเหลือแต่ชื่อแล้วนะ ดีไม่ดีเขาจะเอาธงชาติของเขามาปักตรงเมืองไทยของเรา เอาไปกินหมดแล้วไม่มีอะไรให้เขา อันนั้นก็ขายให้เขา อันนี้ก็ขายให้เขา ขายเล็กขายน้อยขายที่สุด ฟาดจนกระทั่งจะขายคลังหลวงแห่งชาติไทยของเราไป"
"เรา วาดภาพออกไปนะ ให้คิดเอาไว้ เหล่านี้ต้องคิดไว้เป็นการณ์ใกล้การณ์ไกลทุกคน มันกลืนกันอย่างนี้ เพราะอำนาจแห่งปากกว้าง พุงกลวง กินไม่อิ่ม กินไม่พอ กลืนไปกลืนมา มอบเมืองไทยกินโต๊ะกันเสียหมดเลย นั่นเป็นยังไง"
ธรรมเทศนาของท่านเน้นเสมอว่า อย่าเห็นแก่ตัว ให้เห็นแก่ชาติ
"การ ปกครองกัน ให้คำนึงถึงหลักและกฎเกณฑ์ ระเบียบ ข้อบังคับนำมาปกครองกัน อย่าเอาอารมณ์มาปกครองกัน อย่าเอาอำนาจวาสนา ศักดานุภาพว่าเราเป็นใหญ่มีอำนาจมาก อยากทำอะไรก็ทำได้มาปกครองกัน โดยหาหลักเกณฑ์ หาระเบียบ กฎข้อบังคับไม่ได้นั้นเป็นความผิด"
ท่านแนะว่า "ต่างคนต่างปกครองในฐานะพ่อแม่กับลูกจะมีความร่มเย็นเป็นสุข"
ชีวิตสมณเพศหลวงตามหาบัว นอกจากสอนให้เรารู้ธรรมแห่งพระพุทธองค์แล้ว ยังสอนให้ชาวไทยรู้อีกว่า...
แม้จะเป็นพระภิกษุสงฆ์ก็ช่วยชาติบ้านเมืองได้ และสามารถช่วยได้จริงๆ มิได้ช่วยแต่ปาก แต่อย่างใด.
http://www.thairath.co.th/today/view/153822