ผู้เขียน หัวข้อ: Post Modernism ปรัชญาหลังนวยุค จุดนัดพบระหว่างศาสนา?  (อ่าน 2430 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
Post Modernism






ไม่ได้เคลื่อนไหวเสียนาน ไม่รู้ว่าหายกันไปไหนหรือเปล่า ก็เผื่อว่าจะได้ประเทืองปัญญากันไปก่อน

ก็ขอนำบทความของอาจารย์กีรติ บุญเจือมาลงไว้ให้อ่านกันก่อนนะครับ


ปรัชญาหลังนวยุค
จุดนัดพบระหว่างศาสนา?

โดย กีรติ บุญเจือ*

ผู้วิจัยไม่ฟันธง แต่ขอทำตัวเป็นสื่อกลางนำความเห็นของฝ่ายต่างๆมาเสนอพร้อมด้วยเหตุผลของแต่ละฝ่ายให้ท่านผู้อ่านรับฟัง แล้วใช้วิจารณญาณแห่งกาลามสูตรตัดสินเอาเอง พระพุทธองค์ตรัสผ่านกาลามสูตรว่า “อย่าเชื่อข่าวลือ” แต่พระองค์มิได้ทรงห้ามฟัง มิฉะนั้นอาจจะเป็นคนตกข่าว และตกยุคในที่สุด ข่าวลือบางทีก็จำเป็นต้องรับรู้ว่าเขาลืออะไรกัน เพื่อเราจะได้ประเมินสถานการณ์และเตรียมการไว้รับมือ หากมีภัยอันตรายที่ไม่ควรเลินเล่อเผลอไผล เรื่องที่ผู้วิจัยจะเสนอต่อไปนี้อาจเป็นเพียงข่าวลือก็ควรรับฟัง หรืออาจจะมีมูลเหตุก็ควรสอบสวนมูลคดี หากเป็นจริงก็ดีไป ที่จริงแม้จะถือคติวางใจเป็นกลางในงานรายงานเชิงวิชาการ แต่ก็อดไม่ได้ที่จะมีใจลำเอียงอยากให้เป็นเช่นนั้น การศึกษาศาสนาเปรียบเทียบจะได้มีเรื่องสนุกสนานเสนอจากฝ่ายต่างๆให้รับฟังอย่างมากมายเกินคาดกว่าที่เคยทำกันมา

ผู้วิจัยได้ศึกษามาแต่ปรัชญาตะวันตกล้วนๆ ครั้นบรรจุเข้าเป็นอาจารย์สอนปรัชญาตะวันตกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ 42 ปีมาแล้ว ก็ได้รับเชิญมาบรรยายในวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง 2 แห่ง ในฐานะอาจารย์พิเศษบรรยายปรัชญาตะวันตก ได้ถือโอกาสศึกษาทั้งภาษามคธและพระพุทธศาสนา ก็รู้สึกชอบและไม่รู้สึกว่ามีอะไรขัดแย้งกับปรัชญาตะวันตกที่กระผมได้ศึกษาและค้นคว้ามาแต่ประการใด เพียงแต่รู้สึกว่าพูดกันคนละสำนวนเท่านั้น กระผมสนใจทฤษฏีภาษาคนภาษาธรรมของท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ แต่ก็ยังมองไม่เห็นทางว่าภาษาธรรมตามคำอธิบายของท่านจะเป็นจุดนัดพบของศาสนาต่างๆได้อย่างไรอย่างน่าพอใจ แม้ท่านจะเปรียบให้ฟังว่าศาสนาเป็นเหมือนลำต้นของต้นไม้ต้นหนึ่งที่มีหลายกิ่ง นั่นคือมีหลายศาสนารวมกันที่การทำดี ก็ได้เพียงแค่นี้ ยังหาทางต่อยอดไปทางไหนให้ทุกศาสนาพอใจได้ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ไม่มีศาสนาใดยอมเป็นกิ่ง ทุกศาสนาต้องการเป็นลำต้น ศาสนาใดจะมาขอเป็นกิ่งก็คงไม่ยอมให้เป็น และจริงๆก็คือไม่มีใครยอมเป็นกิ่งของใคร

ผู้วิจัยได้ไปเรียนรู้ปรัชญาหลังนวยุคเมื่อ 10 ปีมานี่เอง โดยมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญออกทุนให้ไปหาความรู้เพิ่มเติมในมหาวิทยาลัยที่วอชิงตันดีซี พอไปถึงจึงรู้ว่าเป็นแหล่งเผยแพร่ปรัชญาหลังนวยุคที่สำคัญ กระผมได้รู้จักกับ ดร.มากลีโอลา (Magliola) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญปรัชญาหลังนวยุคผู้หนึ่งและสนใจพระพุทธศาสนา ทั้งๆที่ท่านนับถือศาสนาคริสต์และอยู่ในสหรัฐอเมริกา ท่านเป็นคนแรกที่แนะนำกระผมให้รู้จักใช้ปรัชญาหลังนวยุคเข้าใจพระพุทธศาสนา ท่านว่าจะเห็นอะไรดีๆเยอะเลยทีเดียว ตัวท่านเองท่านคิดว่าพระพุทธเจ้าคิดอย่างหลังนวยุค ถ้าไม่พยายามเข้าใจคำสอนของพระองค์อย่างนักหลังนวยุค ก็จะเข้าใจได้ไม่ดีเท่าที่ควร กระผมถามท่านว่า แล้วพระอรหันต์ทุกองค์เข้าใจธรรมะแบบหลังนวยุคเช่นนั้นหรือ จึงได้บรรลุมรรคผล ท่านว่าท่านคิดอย่างนั้น เพราะท่านมั่นใจว่าถ้าไม่เข้าใจธรรมะอย่างหลังนวยุคก็มองปัญหาไม่ทะลุ กระผมถามท่านต่อไปอีกว่า แล้วตัวท่านเองท่านคิดว่าท่านเป็นพระอรหันต์หรือไม่ ท่านปฏิเสธเป็นพัลวัลว่า “ยังๆ” เพราะเป็นพระอรหันต์ต้องสิ้นกิเลส ท่านเองเพียงแต่รู้สึกว่าใช้ปรัชญาหลังนวยุคมองแล้วเข้าใจธรรมะดีกว่าเดิมเท่านั้น สาธุ! โล่งอกไปที

ท่านให้หนังสือกระผมมาอ่านเล่มหนึ่งที่ท่านเขียนเอง ชื่อ Derrida on the Mend, 1984 (แดร์ริดากำลังแก้ปัญหา) แดร์ริดา (Jacques Derrida 1930-2004) เป็นนักปรัชญาหลังนวยุคชั้นนำ แต่สำหรับ ดร.มากลีโอลานั้น แดร์ริดาเป็นสุดยอดนักคิดหลังนวยุค แดร์ริดาไม่แสดงว่าเชื่อหรือนับถือศาสนาใดเลย แต่ท่านบอกว่าแดร์ริดาคิดแบบเป็นกลางดี และท่านคิดว่าหากนักปราชญ์ของศาสนาต่างๆคิดแบบแดร์ริดา ศาสนาต่างๆจะมีจุดนัดพบร่วมกัน คือคุยกันรู้เรื่องได้อย่างดียิ่ง โดยไม่มีฝ่ายใดต้องอ่อนข้อหรือสูญเสียคุณค่าใดๆในศาสนาของตนแต่ประการใดเลย กระผมพยายามเชื่อท่านและพยายามอ่านหนังสือของท่าน แต่รู้สึกว่าความคิดค่อนข้างสับสนและเข้าใจยากมากๆ ก็เลยยังมองไม่ออกว่าคำพูดของท่านนั้นหมายความว่าอย่างไร แม้จะขอให้ท่านอธิบายให้กี่ครั้งกี่หนก็ยังไม่บรรลุสักที แต่ผมไม่ย่อท้อ คิดว่าต้องพยายามเข้าใจความคิดแบบหลังนวยุคให้ดีๆเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแดร์ริดาที่ท่านยกย่องมากๆ โดยหวังว่าจะเข้าใจความหมายของท่าน เพราะอย่างไรเสียก็ยังอดคิดไม่ได้ว่า ถ้าเป็นไปได้มันน่าจะดีมากๆ ทิ้งไว้เฉยๆก็น่าเสียดาย

ต่อมาได้อ่านหนังสือ Buddhism and Deconstructions, 2006. ซึ่งจินปาร์ค (Jin Y. Park) เป็นบรรณาธิการ เธอเองเขียนหลายบทความ เธอเป็นชาวเกาหลีใต้ เชี่ยวชาญปรัชญาหลังนวยุคและพระพุทธศาสนาเซนของเกาหลี ชื่อหนังสือก็บ่งบอกว่าเป็นการศึกษาพุทธศาสนาทุกรูปแบบโดยเทียบกับปรัชญาหลังนวยุคของแดร์ริดา มากลีโอลาก็ร่วมเขียนด้วย แสดงว่าเขาต้องรู้จักกันดีและเข้าใจความคิดของกันและกัน

จินปาร์คเป็นชาวพุทธมหายานที่สนใจปรัชญาหลังนวยุคจนสามารถใช้ปรัขญาหลังนวยุคของแดร์ริดามาทำความเข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้าได้เป็นอย่างดี อ่านคำชี้แจงของเธอแล้วค่อยรู้สึกปลอดโปร่งหน่อย พอจะเข้าใจอะไรได้บ้าง ก็อยากจะนำมาแฉเป็นภาษาไทยตามที่เข้าใจว่า ณ ขณะนี้ผู้ที่ใช้ภาษาอังกฤษสื่อความคิดกันนั้น เขาคิดว่าปรัชญาหลังนวยุคอันเป็นที่นิยมในหมู่นักคิดรุ่นใหม่ของทางตะวันตกนั้น เขาจะเข้าใจพระพุทธศาสนากันอย่างไร ฟังไว้เป็นข่าวลืออย่างหนึ่งของกาลามสูตรก็แล้วกัน ฟังไว้เพื่อรู้ทันโลกาภิวัตน์ ไม่จำเป็นต้องเชื่อตาม หากจะคล้อยตามเรื่องใดก็ขอให้เห็นว่ามีคุณค่าจริงๆ มิฉะนั้นก็ฝากไว้อยู่ในประเภท “รู้ไว้ใช่ว่า ใส่บ่าแบกหาม”

เพื่อให้ติดตามได้ตามลำดับขั้นตอน จะขอทำความเข้าใจเรื่องกระแสความคิดหลังนวยุคสักพอสมควรก่อน

นักหลังนวยุคแบ่งความคิดของมนุษย์ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์จนถึงปัจจุบันออกเป็น 5 กระบวนทรรศน์ แต่ละกระบวนทรรศน์ก็ย่อมจะมีวิธีตีความและเข้าใจคัมภีร์ศาสนาที่ตนเชื่อและไม่เชื่อตามกระบวนทรรศน์ของตน จะขอยกมาสาธยายพอเข้าใจเป็นแนวทางนำร่องเพื่อเข้าใจความคิดของจินปาร์คและคณะดังต่อไปนี้
1. กระบวนทรรศน์ดึกดำบรรพ์ มองว่าโลกไม่มีกฎ และอะไรก็ไม่มีกฎ ทุกอย่างเป็นไปตามน้ำพระทัยของเบื้องบน แม้แต่น้ำพระทัยของเบื้องบนเองก็ไม่มีกฎ จึงเผด็จการทุกอย่างได้แบบตามใจฉัน

ผู้ถือกระบวนทรรศน์แบบนี้หากมีคัมภีร์อ่านก็คงตีความตามตัวอักษรเฉพาะคำ เฉพาะประโยค และเฉพาะตอน ที่ถือว่าเป็นคัมภีร์ก็เพราะเชื่อว่าเป็นวิถีทางแสดงน้ำพระทัยของเบื้องบน ซึ่งอาจจะเพิ่มคัมภีร์ ลดคัมภีร์ หรือเปลี่ยนแปลงข้อความในคัมภีร์ได้ตามความพอพระทัย และทั้งนี้ไม่จำเป็นต้องบอกล่วงหน้า และไม่จำเป็นต้องมีการประกาศอย่างเป็นทางการว่ายกเลิกของเดิมอย่างไรและตั้งแต่เมื่อใด ความหมายขัดแย้งไม่ถือว่าสำคัญสำหรับมนุษย์ดึกดำบรรพ์ เพราะมนุษย์ดึกดำบรรพ์จะเพ่งเล็งเฉพาะหน้าเท่านั้น ข้อความบางข้อความอาจจะมีมนต์ขลังเป็นคาถาอาคมเฉพาะหน้าจนกว่าจะเสื่อมมนต์ขลัง

การตีความคัมภีร์ของมนุษย์ดึกดำบรรพ์จึงยึดเอาความเข้าใจตามตัวอักษรเป็นหลัก และเป็นที่ยอมรับเฉพาะขณะที่มีมนต์ขลัง สิ้นมนต์ขลังเมื่อไรก็ไร้ความหมายเชิงศาสนาเมื่อนั้น

2. กระบวนทรรศน์โบราณ มองว่าเอกภพมีกฎตายตัว กฎทุกกฎของเอกภพเป็นกฎนิรันดร จึงตายตัว แต่ยังไม่รู้วิธีการวิทยาศาสตร์จึงไม่มีใครกล้ายืนยันว่า ใครๆก็สามารถเข้าถึงกฎของเอกภพด้วยตนเอง ในช่วงนี้จึงมีเจ้าสำนักเกิดขึ้นราวกับดอกเห็ด ใครอยากได้ความจริงต้องยึดเจ้าสำนักที่ตนพอใจเป็นหลัก และหันหลังให้เจ้าสำนักอื่นๆทั้งหมด

ผู้ถือกระบวนทรรศน์แบบนี้ หากมีคัมภีร์ให้ตีความ ก็จะยึดหลักการตีความของเจ้าสำนักเป็นหลัก และปฏิเสธการตีความของสำนักอื่นทั้งหมด ใครเป็นศิษย์หลายสำนักถือว่าเลวมาก ถูกตำหนิว่าเหยียบเรือสองแคม ชายหลายโบสถ์ คบไม่ได้

3. กระบวนทรรศน์ยุคกลาง มองว่าเอกภพมีกฎตายตัวก็จริง แต่ให้เพียงความสุขเจือความทุกข์ จึงเชื่อตามศาสดาที่ยืนยันว่า ความสุขในโลกหน้าเท่านั้นที่เที่ยงแท้ถาวร และยินดีทำทุกอย่างเพื่อได้ความสุขในโลกหน้าตามที่ศาสดาสอน

ผู้ถือกระบวนทรรศน์แบบนี้ หากมีคัมภีร์ให้ตีความ ก็จะตีความให้เข้าล็อคดังกล่าว มิฉะนั้นก็ไม่สนใจ และถือว่าเป็นประเด็นย่อยส่งเสริมประเด็นหลัก ถ้ามองไม่เห็นก็ทิ้งไว้ก่อนจนกว่าจะเห็น

4. กระบวนทรรศน์นวยุค มองว่าเอกภพมีกฎประสานกันเป็นระบบเครือข่ายที่รู้ได้ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์และเหตุผล
ผู้ถือกระบวนทรรศน์แบบนี้ หากมีคัมภีร์ต้องตีความ ก็จะตีความให้สอดคล้องกับการค้นพบของนักวิทยาศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งของระบบเครือข่ายของความจริง หากเรื่องใดตีความให้สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ไม่ได้จริงๆ ก็จะอธิบายว่าเป็นเรื่องที่พระเจ้าแทรกไว้ในคัมภีร์เพื่อทดลองความเชื่อ ความวางใจ และความรักของผู้มีศรัทธาในพระองค์ เพื่อเป็นมาตรการคัดสรรมิให้ผู้ขึ้นสวรรค์มีมากนัก

5. กระบวนทรรศน์หลังนวยุค มองว่าเอกภพมีกฎเป็นระบบเครือข่ายที่ประกอบด้วยปมข่าย ใยข่าย และตาข่าย

ปมข่าย (netpoint) รู้ได้ด้วยวิธีการวิทยาศาสตร์
ใยข่าย (netline) รู้ได้ด้วยกฎตรรกะและกฎคณิตศาสตร์
ตาข่าย (neteye) รู้ได้ด้วยการหยั่งรู้ เพ่งญาณ หรือวิวรณ์

ผู้ถือกระบวนทรรศน์นี้ หากมีคัมภีร์ต้องตีความ ก็มีแนวโน้มที่จะตีความแบบพหุนิยม (pluralism) ไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่สนใจเจตนาของผู้เขียนเท่ากับเจตนาขององค์การศาสนาที่เลือกเอาตัวบทนั้นมาเป็นคัมภีร์ของตน และตนเองก็มีหน้าที่เข้าใจและตีความให้ได้คุณภาพชีวิตสูงสุดตามเป้าหมายของศาสนาโดยรวม คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างดีที่สุดที่ปรัชญาหลังนวยุคจะคิดได้ โดยถือว่าเป้าหมายเช่นนี้มีแฝงอยู่แล้วในทุกคัมภีร์ หากแต่ศาสนิกจะต้องพยายามเข้าถึงให้มากที่สุดโดยอาศัยศรัทธาเป็นพลังขับเคลื่อน


อ่านต่อในวารสารบัณฑิตวิทยาลัย มมร

http://puzinnian.blogspot.com/2009/12/post-modernism.html
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...