ผู้เขียน หัวข้อ: ไทยกับแผ่นดินไหว ใกล้ไกลก็ยังเสี่ยง  (อ่าน 1979 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานไตรสรณะสุจิปุลิ
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
ไทยกับแผ่นดินไหว ใกล้ไกลก็ยังเสี่ยง




แผ่นดินไหว...ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่คนทั่วโลกหวาดผวา เพราะไม่มีใครรู้ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จะสร้างความเสียหายมากขนาดไหน

ประเด็นสำคัญ...แผ่นดินไหวเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างเดียวที่ยังไม่มีเทคโนโลยีทำนายได้ล่วงหน้า สะท้อนถึงกรณีล่า...แผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์ นอกชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูง 10 เมตร

แผ่นดินไหวเกิดจากแรงเครียดภายในโลก เกิดจากอุณหภูมิที่แตกต่างกันอย่างมากระหว่างเปลือกโลกและหินหลอมเหลวในโลก

เมื่อแรงเครียดกระทำต่อหินแข็งภายในโลกจะทำให้หินแตกเป็นแนว เรียกว่า แนวรอยเลื่อน เมื่อรอยเลื่อนขยับตัว ก็จะปล่อยพลังงานออกมาในรูปของการสั่นไหว

เป็นที่มาทฤษฎีแผ่นดินไหว ที่เรียกว่า "ทฤษฎีแผ่นเปลือกโลกเลื่อน"

แม้ว่าสัณฐานทางพื้นธรณีของประเทศไทย จะไม่เอื้ออำนวยให้เกิดแผ่นดินไหว แต่ประเทศไทยก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหว

ลึกลงไปใต้พื้นแผ่นดินและน้ำ ประเทศไทยยังมีรอยเลื่อนที่อาจเป็นชนวนให้เกิดแผ่นดินไหวถึง 12 รอย ได้แก่ รอยเลื่อนแม่จันทร์, รอยเลื่อนแม่สะเรียง, รอยเลื่อนเมย, รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์, รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์, รอยเลื่อนแพร่, รอยเลื่อนเภิน, รอยเลื่อนอุตรดิตถ์, รอยเลื่อนระนอง, รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย, รอยเลื่อนท่าอุเทนและรอยเลื่อนแม่ทา

ในจำนวนรอยเลื่อนที่น่ากังวล สองรอยเลื่อนมีแนวพาดผ่านลงไปในผิวทะเลอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดคลื่นยักษ์ สึนามิ

สถิติการเกิดแผ่นดินไหว... จากศิลาจารึก พงศาวดาร จดหมายเหตุและหนังสือพิมพ์ พบว่า ประเทศไทยมีการเกิดแผ่นดินไหวตั้งแต่ 624 ปี ก่อน คริสต์ศักราช แต่เริ่มเก็บข้อมูลด้วยเครื่องมือวิทยาศาสตร์ โดยหน่วยงานต่างประเทศ ในปี 2443

พุทธศักราช 1003 เกิดแผ่นดินไหว 3 ครั้งตอนกลางคืน ทำให้โยนกนคร จมลงใต้ดินกลายเป็นหนองน้ำใหญ่...

ถัดมาอีกกว่าพันปี พ.ศ.2088 เกิดแผ่นดินไหวที่นครเชียงใหม่ ทำให้ยอดเจดีย์หลวงสูง 86 เมตร หักพังลงมาเหลือ 60 เมตร

ปี 2478 เกิดแผ่นดินไหวครั้งสำคัญ ศูนย์กลางอยู่ที่จังหวัดน่าน มีขนาด 6.5 ริกเตอร์ ใกล้กับรอยเลื่อนปัว แต่เป็นพื้นที่อยู่ในป่าเขา...ไม่มีบันทึกความเสียหาย

ปี 2518 เวลา 10.38 น. เกิดแผ่นดินไหว พรมแดนไทย...พม่า ศูนย์กลางใกล้จังหวัดตาก ขนาดความรุนแรง 5.6-5.9 ริกเตอร์ เกิดความเสียหายเล็กน้อย

ทิ้งช่วงไม่ถึงสิบปี พ.ศ.2526 ก็เกิดแผ่นดินไหวที่กาญจนบุรี รู้สึกได้เกือบทุกภาค กรุงเทพฯมีความเสียหายเล็กน้อย

ถัดมาอีกเก้าปี พ.ศ.2537 เกิดแผ่นดินไหวที่อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มีความเสียหายกับวัด โรงพยาบาลและโรงเรียนเฉพาะที่อำเภอพานอำเภอเดียว

ผ่านไปไม่ถึงปี...วันที่ 12 ก.ค.2538 เกิดแผ่นดินไหวในพม่า รู้สึกได้บริเวณภาคเหนือตอนบนและอาคารสูงในกรุงเทพฯ สิ่งก่อสร้างในจังหวัดเชียงรายเสียหายเล็กน้อย

และปลายปีเดียวกันนี้...ก็เกิดแผ่นดินไหวที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ มีผู้เสียชีวิต 1 คน ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว สิ่งก่อสร้างเสียหายเล็กน้อย

มาถึงปลายปี 2539 เกิดแผ่นดินไหวที่พรมแดนไทยลาว เกิดความเสียหายเล็กน้อยที่จังหวัดเชียงราย หลังจากนั้นก็ไม่ปรากฏว่าเกิดแผ่นดินไหวอีก

กระทั่งวันที่ 22 มกราคม 2546 เวลา 10.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยา รายงาน การเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 8 ริกเตอร์ ศูนย์กลางอยู่บริเวณเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ห่างจากกรุงเทพฯ 1,000 กิโลเมตร

แผ่นดินไหวครั้งนั้น รู้สึกได้บนอาคารสูงในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯและหลายจังหวัดในภาคใต้

สาเหตุการเกิดแผ่นดินไหว...เนื่องจากบริเวณใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของไทย เป็นรอยต่อของแผ่นเปลือกมหาสมุทร มุดตัวเข้าไปใต้แผ่นเปลือกโลกบริเวณเกาะสุมาตรา การคลายพลังงานที่สะสมจากการมุดตัว ทำให้เกิดแผ่นดินไหว...

ข้อมูลตั้งแต่ปี 41 พบด้วยว่า ประเทศไทยจะเกิดแผ่นดินไหวถึงขั้นรู้สึกได้ เฉลี่ยปีละ 5-6 ครั้ง...แล้วก็มาถึงครั้งสำคัญปลายปี 47 ผลจากแผ่นดินไหวที่เกาะสุมาตรา ก็ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิถล่ม 5 จังหวัดใต้ของไทยและหลายประเทศ

รศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) ให้ทัศนะไว้ว่า แผ่นดินไหวจะมาเร็ว...มาช้า ไม่มีใครคาดการณ์ได้ ตามสถิติการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ต้องใช้เวลาห่างกันเป็นสิบๆปี หรือไม่ก็ต้องใช้เวลาเป็นร้อยปี

หากยังจำกันได้ปี 2548 หลังเกิดแผ่นดินไหวจนทำให้เกิดคลิื่นยักษ์สึนามิเพียงแค่ 100 วัน ก็เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.7 ริกเตอร์...ระลอกสอง

เพียงแต่ว่า ระลอกนี้...ไม่เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ

ข้อมูลที่ควรรู้...แผ่นดินไหวเกิดกระชั้นขนาดนี้ เกิดจากสิ่งที่เราไม่ค่อยรู้กัน...เมื่อเกิดแผ่นดินไหวแต่ละครั้ง จะทำให้แรงบริเวณแนวรอยต่อเปลิือกโลกเปลี่ยนไป บริเวณเกิดแผ่นดินไหวครั้งนี้ เกิดบนแนวรอยต่อจุดเดียวกับแผ่นดินไหวที่ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิครั้งที่แล้ว

รศ.ดร.เป็นหนึ่ง บอกว่า แนวนี้เป็นแนวเปลือกโลกแผ่นหนึ่งมุดใต้เปลือกโลกอีกแผ่นหนึ่ง แผ่นอินโด...ออสเตรเลียนมุดใต้แผ่นยูเรเซีย เป็นแนวยาว ไล่ไปตั้งแต่พม่า ผ่านหมู่เกาะอันดามัน หมู่เกาะนิโคบา มาทางฝั่งตะวันตกเกาะสุมาตรา ระยะทางนับพันกิโลเมตร

ครั้งที่แล้ว...จุดเริ่มอยู่ทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา เปลือกโลกแตกหรือไถลตัวเป็นแนวยาวไล่จากจุดเริ่มไปทางเหนือ ใต้มหาสมุทรที่เป็นน้ำลึก ทำให้เกิดคลื่นสึนามิวิ่งไปสองทาง กระทบฝั่งไทย กับฝั่งอินเดีย...ศรีลังกา

"แผ่นดินไหว" กับ "ประเทศไทย" ดร.เป็นหนึ่ง ย้ำเสมอถึงกรุงเทพฯด้วยความเป็นห่วง เพราะตึกรามบ้านช่อง อาคารสูง สิ่งปลูกสร้างอยู่ในพื้นที่ดินอ่อน แผ่นดินไหวแรงถึงจะอยู่ไกล...ก็เลี่ยงความสั่นไหวไม่ได้

"รอยเลื่อนจังหวัดกาญจนบุรียังไม่สงบ ยังมีการเคลื่อนตัว ห่างกรุงเทพฯแค่ 200 กิโลเมตร เกิดแค่ 5 ริกเตอร์ยังไม่เป็นไร...แต่ถ้าเกิน 7 ริกเตอร์ขึ้นไปก็แย่"

แถบจังหวัดกาญจนบุรี รอยเลื่อนที่นี่ค่อนข้างมีต่อเนื่องและยาว มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวใหญ่กว่า ระหว่าง 7.3-7.5 ริกเตอร์ มีข้อมูลด้วยว่า...แนวรอยแตกไล่ยาวมาถึงกรุงเทพมหานคร แต่ไม่รู้ว่ารอยจะต่อเนื่องกันหรือเปล่า

ที่ผ่านมา...แนวรอยเลื่อนกาญจนบุรี ไม่มีสัญญาณอื่น มีเพียงแผ่นดินไหวขนาดเล็กเกิดอยู่เรื่อยๆ ให้รู้เพียงว่า...รอยเลื่อนยังไม่ตาย แต่แนวที่วิ่งเข้ากรุงเทพฯยังไม่เกิดแผ่นดินไหวก็คิดว่าน่าจะไม่ขยับตัว

กรุงเทพฯ ที่ต้องระวังคือแผ่นดินไหวขนาด 8 ริกเตอร์ ในระยะใกล้ 300–400 กิโลเมตร ความรุนแรงจะคนละเรื่องกัน

รอยเลื่อนอีกแหล่งที่ต้องจับตา รอยเลื่อนพม่าพาดผ่านจากเหนือลงใต้ไปถึงทะเลอันดามัน ทุกวันนี้มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวในทะเลที่ระดับความแรง 8 ริกเตอร์

สองกรณีนี้ ถ้าเกิดแผ่นดินไหว จุดศูนย์กลางใกล้พอที่จะกระทบต่ออาคารสูงในกรุงเทพฯ ผลจะรุนแรงกว่าที่เคยเจอมาทั้งหมด ซึ่งคำว่ารุนแรง ที่ว่านี้...อาคารอ่อนแอบางหลัง อาจจะเสียหายถึงขั้นถล่ม

แม้ว่าประเทศไทย...จะไม่เกิดแผ่นดินไหวถี่แน่ๆ แต่กับข้อกังวลเกี่ยวกับแผ่นดินไหว ดร.เป็นหนึ่ง ย้ำว่า การมองปัญหาจะต้องไม่ให้ความสำคัญเฉพาะแนวรอยเลื่อน แต่เราต้องออกแบบอาคารในพื้นที่เสี่ยงทั้งหมดให้ทนแผ่นดินไหวได้

ภาคเหนือกับกาญจนบุรี เป็นพื้นที่ที่เกิดแผ่นดินไหวในพื้นที่ได้ อาคาร...สิ่งปลูกสร้างมีความเสี่ยงที่จะสั่นสะเทือนรุนแรงในระยะเผาขน ยิ่งใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวก็เสียหายมาก...ยิ่งใกล้เมืองมากเท่าไหร่ก็ยิ่งมีปัญหา

กรุงเทพฯ แม้จะเกิดแผ่นดินไหวห่างไกล อย่างไรเสียก็มีผลได้จาก 2 ปัจจัย...ดินอ่อน กับ ตึกสูง

ดินอ่อนจะขยายความสั่นสะเทือนแรงกว่าดินปกติ 3 เท่า...แผ่นดินไหวที่ดูเหมือนจะอ่อนแรงไปแล้วเมื่อกระจายออกมาไกลๆ เจอดินอ่อนคลื่นจะแรงขึ้นมาใหม่ ผนวกกับจังหวะการโยกของตึกสูง ถ้าคลื่นเสริมกัน ตึกสูงก็จะยิ่งสั่นมาก

"พื้นดินเขย่า 1 หน่วย ยอดตึกอาจโยกแรง 5–10 เท่า ดังนั้น...คนอยู่บนยอดตึกจึงไวต่อการเกิดแผ่นดินไหวมาก"

ย้ำว่า...ที่กังวล คือ แผ่นดินไหวขนาด 8 ริกเตอร์ ในทะเลอันดามัน...ห่างกรุงเทพฯ 400 กิโลเมตร หรือ 7.5 ริกเตอร์เกิดที่กาญจนบุรี...ห่างกรุงเทพฯ 200 กิโลเมตร สองกรณีนี้...ยังไม่เกิดขึ้น แต่มีความเป็นไปได้ที่จะเกิด

อีกสักกี่ปีไม่มีใครรู้?...จะมาเร็วมาช้า ไม่มีใครคาดการณ์ได้? ที่ทำได้คือการออกแบบอาคารให้ต้านทานแผ่นดินไหว.
 
http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/155587
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...