ใครบางคนเขียนลงในทวิตเตอร์วันก่อนว่า “กรุงเทพฯ ครึ้มอย่างนี้ เคยเห็น แต่ครึ้มและหนาวอย่างนี้ ไม่เคยเห็น...”
อีกคนเขียนเสริมว่า “...และเป็นปลายมีนาฯ แบบนี้ ไม่เคยเห็นแน่ๆ...”
อีกคนหนึ่งเขียนทวีตว่า “หน้าร้อนนี้หนาวทั้งวี่ทั้งวัน...”
ทวีตอีกข้อความหนึ่งอ่านได้ความว่า “ถ้าสงกรานต์อากาศเย็นแบบนี้ คนไทยเตรียมทำพินัยกรรมได้เลย...”
ต่อท้ายด้วยความเห็นของเพื่อนอีกคนว่า “ถ้ามันหนาว ยังจะเล่นสงกรานต์กันอีกหรือ?”
ก่อนนี้ คนไทยสักกี่คนจะเชื่อว่าอากาศจะ “หนาว” ในวันสงกรานต์?
ไม่ต้องสงสัยว่าข้อความในทวิตเตอร์จากคนใต้ในช่วงวันสองวันที่ผ่านมา บอกกล่าวความน่ากลัวของธรรมชาติที่แปรปรวนปรากฏการณ์ฝนตกหนัก น้ำท่วมและพายุแรงอาจไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่
แต่ที่ทั้งสามอย่างนี้รวมตัวกันแสดงอิทธิฤทธิ์ไปทั่วทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้นั้นไม่เคยมีให้เห็นเช่นกัน
นักข่าวถามไถ่ชาวบ้านที่โดนน้ำท่วมหนักหน่วงไม่ว่าจะเป็นที่นครศรีธรรมราช หรือสุราษฎร์ธานี ก็ได้รับคำตอบละม้ายกันว่า “อย่างนี้ไม่ค่อยได้เคยเห็นเหมือนกัน...”
ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลของ “ภาวะโลกร้อน” (global warming) หรือไม่ แต่สิ่งที่เราประสบพบเห็นในระยะหลัง ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง ภัยหนาว แผ่นดินไหว และสึนามิ ที่ตามมาด้วยอุบัติภัยโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่นย่อมจะเป็นการยืนยันสำหรับคนไทยแล้วว่า...
ต่อแต่นี้ไปคนไทยจะไม่มองเรื่องลมฟ้าอากาศและภัยธรรมชาติเป็นเรื่อง “ไกลตัว” อีกต่อไป
และจะเป็นครั้งแรกที่คนไทยจะไม่เห็นเรื่องคำเตือนภัย อันเกิดจากความวิปริตของสภาพอากาศ และความแปรปรวนของเรื่องที่ “ไม่เกี่ยวกับฉัน” อีกต่อไปเช่นกัน
เพราะจากนี้ไปจะไม่มีใครปลอดจากอันตรายที่มากับความผิดเพี้ยนของธรรมชาติอีก
แผ่นดินไหวในพม่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตามมาด้วยการสั่นไหวของแผ่นดินในไทยด้วย มิใช่เป็นแค่ after shocks จากพม่า...ยิ่งทำให้คนไทยได้สำเหนียกว่าเรามิได้เป็น “ข้อยกเว้น” ของอันตรายอันเกิดจากความผันผวนของปรากฏการณ์ธรรมชาติอีกต่อไป
กรณีญี่ปุ่นสอนให้เรารู้ว่า แม้ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีประสบการณ์ของการตั้งรับกับแผ่นดินไหว และภัยพิบัติธรรมชาติมาหลายร้อยปี ก็ยังต้องช็อกกับความรุนแรงของธรรมชาติที่เริ่มด้วยแผ่นดินไหวระดับ 9 ริกเตอร์ ซึ่งหนักหน่วงที่สุดในหลายสิบปี ตามมาด้วยสึนามิที่ยืนยันภายหลังว่าทำให้เกิดคลื่นสูงถึง 13 เมตร และซ้ำร้ายยังกระเทือนถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จนกลายเป็นวิกฤติไปทั้งสังคมโลก
ใครจะเชื่อว่าญี่ปุ่นที่สร้างความร่ำรวย จากความพินาศของสงครามโลกครั้งที่สอง จนกลายเป็นเศรษฐกิจอันดับสองของโลก (เพิ่งถูกจีนแซงหน้าไปเมื่อไม่กี่เดือนก่อน) วันนี้จะต้องขอความช่วยเหลือจากประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า ที่เคยรับเงินทองและความช่วยเหลือจากเขามาก่อน?
ใครจะเชื่อว่าวันนี้มีคำถามว่า “ญี่ปุ่นจะสามารถฟื้นจากความร้ายแรงครั้งนี้กลับมาสู่ภาวะปกติได้อีกหรือไม่? และถ้าได้ จะต้องใช้เวลาอีกกี่ปี?”
คนไทยไม่เคยรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจกับความแปรปรวนของธรรมชาติ เพราะไม่เคยมีผลทางด้านลบมากมายนัก...หากจะเกิดก็เป็นเรื่องนานๆ ครั้ง และแต่ละครั้งก็ไม่หนักหนาสาหัสเท่ากับประเทศอื่นที่สภาพภูมิศาสตร์ทำให้ต้องรับผลด้านนี้มากกว่าไทย
วันนี้ ประเทศไทยไม่ได้อยู่ในสภาพจะอ้าง “สิทธิพิเศษ” จากธรรมชาติได้อีกต่อไปแล้ว
ถึงขั้นที่เรือหลวงจักรีนฤเบศร ซึ่งเป็นเรือรบใหญ่ที่สุดของประเทศต้องออกมาทำหน้าที่ช่วยกู้ภัยเช่นนี้ย่อมผิดจากการคาดการณ์ใดๆ ที่เคยเชื่อกันมาก่อน
ทั้งหมดนี้ย่อมแปลว่านโยบายทั้งระดับชาติจนถึงเด็กระดับประถมจะต้องปรับตัวให้เป็นสมาชิกของสังคมที่ต้องตื่นตัวกับภัยพิบัติทุกรูปแบบ จะต้องมีคณะกรรมการป้องกันและรับมือภัยพิบัติระดับชาติที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือกันสร้างกลไกให้พร้อมเพรียง
ความตื่นตัวของประชาชนทุกบ้านช่องเกี่ยวกับอันตรายที่เกิดจากภัยธรรมชาติจะต้องเป็นนโยบายระดับต้นๆ ของทุกรัฐบาล และทุกคำเตือนจะต้องได้รับความสนใจทุกบ้านช่อง
ต่อไปนี้ เราจะต้องไม่เห็นภาพผู้คนยังเล่นน้ำทะเล ขณะที่มีธงแดงเตือนภัยปักอยู่ต่อหน้าต่อตา
วลี “ไม่เป็นไร ฉันไม่เกี่ยว” จะต้องถูกปลดทิ้งไปจากวิถีชีวิตของคนไทยตลอดไป
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/opinion/suthichaiyoon/20110331/384597/คนไทยต้องปรับวิถีชีวิต-รับภัยธรรมชาติทุกรูปแบบ.html