จิตใจที่สงบเป็น สุขอย่างยิ่ง นักปฏิบัติบางคนหรือหลายคนกลับกลัว กลัวติดสุข ไม่กล้าทำสมาธิมาก (ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยสุขเท่าไร) อย่างนี้คือความคิดผิดเหมือนกัน เครื่องรับประกันความปลอดภัยมีอยู่แล้วคือ สติ และปัญญา ถ้าเราระมัดระวัง มีสัมมาทิฐิ ระลึกได้เสมอว่า ความสุขจากสมาธิ สุขจริงแต่ยังเป็นสังขารอยู่ คือยังเป็นของไม่แน่ ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด เป้าหมายสูงสุดอยู่เหนือสุข แต่หนทางต้องผ่านสุข รู้อยู่อย่างนี้ไม่ต้องติดสุขก็ได้ หรือถ้าติดติดไม่นาน ความเห็นชอบ สติ และความจริงใจจะเข้ามาช่วย ขอให้สังเกตว่าการเสวยสุขกับการติดสุขไม่เหมือนกัน สุขแล้วชอบ ให้สักแต่ว่าชอบก็ใช้ได้ ยังไม่ติด คำว่าติดสุขหมายถึงพอใจแค่นั้น ต้องการแค่นั้น คือยึดติดส่วนหนึ่งของมรรคเป็นตัวผลเสียเลย
พระพุทธองค์ตรัสว่า ความสุขที่เกิดจากความสงบนั้น นักปฏิบัติทั้งหลายอย่าพึงกลัว ท่านสอนให้มีสติรู้เท่าทัน แล้วมันไม่เป็นพิษเป็นภัย ตรงกันข้าม ปีติและสุขที่เกิดจากความสงบหล่อเลี้ยงจิตทำให้กระตือรือร้นในการปฏิบัติ ไม่เบื่อ ไม่มีคำอ้างว่าเช้าเกินไป ดึกเกินไป ร้อนเกินไป หนาวเกินไป หิวเกินไป อิ่มเกินไปเหมือนแต่ก่อน ความสุขที่เกิดจากสมาธิภาวนานั้นถูกต้องและมีประโยชน์ต่อเรามาก เพราะว่าทุกคนต้องการความสุขมากกว่าสิ่งอื่น ทุกคนในโลกไม่ว่าชาติไหน ชั้นไหน วรรณะไหน ล้วนแต่ต้องการสิ่งเดียวกันคือความสุข เพราะฉะนั้น เราควรแสวงหาความสุขด้วยปัญญา ได้ความสุขจากสมาธิดีกว่าได้จากที่อื่น
สำหรับผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติ ความสุขมีอยู่เหมือนกัน แต่ข้อบกพร่องคือมันยังคับแคบ ไม่มั่นคง และไม่รู้จักอิ่ม ส่วนมากจะเป็นความสุขที่เกิดจาก รูป เสียง กลิ่น รส การสัมผัส เรียกว่ากามสุข มันคับแคบเพราะซ้ำซาก ไม่มั่นคงเพราะเราบังคับไม่ได้และเป็นความสุขที่ไม่รู้จักอิ่ม เหมือนการใช้ยาเสพติด เริ่มแรกคืนละเม็ดก็เมาทั้งคืน อยู่ไปอยู่มาเม็ดเดียวไม่พอ ต้องเพิ่มเป็นสองเม็ด สองกลายเป็นสาม สามเป็นสี่ มันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กามสุขทุกอย่างก็เป็นอย่างนี้
แน่ละ มนุษย์เราไม่ได้หาความสุขจากการเสพวัตถุอย่างเดียว คนจำนวนมากได้ความสุขจากการทำความดีต่างๆ เช่นการทำหน้าที่ต่อครอบครัวอย่างดี การให้ทาน การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก การรักษาศีล เป็นต้น ความสุขที่เกิดจากการทำความดี สะอาดและน่าอนุโมทนา โลกเราอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ เพราะคนส่วนใหญ่ยังรักความดีพอสมควร อย่างไรก็ตามถ้าเราดูให้ดี เราจะเห็นว่าความสุขนี้ยังไม่ลึกซึ้ง มันเป็นส่วนสำคัญของชีวิตที่ดีงาม ช่วยทำให้สังคมมนุษย์อยู่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ไม่สามารถลบล้างความรู้สึกภายในว่าหิวโหย หรือขาดอะไรสักอย่าง ซึ่งสิงสถิตอยู่ในใจมนุษย์ปุถุชนตลอดเวลา เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนติดอบายมุขมาก เมื่อมีความสุขที่สะอาดเป็นบุญพอเป็นพื้นฐานแล้ว พระพุทธองค์จึงต้องการให้เราก้าวต่อไปในกระบวนวิวัฒนาการชีวิต ด้วยการอบรมจิตใจ
คนดีที่ยังมีกิเลสเป็นคนดีตลอดเวลาไม่ได้ คนที่ยังไม่ถึงดีก็ยังไม่ต้องพูดถึง ความต้องการสุข เวทนามีอำนาจเหนือจิตใจคนเรามากเหลือเกิด หลายสิ่งหลายอย่างที่เรารู้ว่าไม่ดี แต่ก็ปล่อยไม่ได้เพราะเสียดายความสุขที่ได้จากมัน การแก้ไขจึงไม่ได้อยู่ที่การยอมรับว่าสิ่งไม่ดีทั้งหลายมีโทษอย่างเดียว ปัญหาสำคัญคือทำอย่างไรเราจึงจะยอมหาความสุขที่ดีกว่าจากสิ่งเสพติดที่มีมาก มายก่ายกอง แต่มีจุดรวมอยู่ที่สุขเวทนา ไม่มีใครที่ไหนติดเฮโรอีน ยาบ้า ฯลฯ หรอก สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่สื่อเท่านั้น สิ่งที่คนเราติดอย่างเหนียวแน่นคือความสุขที่ได้จากมัน
หลักการมีอยู่ว่า คนเราจะกล้าปล่อยวางความสุขที่เกิดจากสิ่งที่ไม่ดีหรือเกิดจากสิ่งมีโทษได้ ต่อเมื่อมีความสุขอย่างอื่นที่มั่นใจว่าเลิศว่าทดแทน หรืออย่างน้อยที่สุดเมื่อได้ชิมรสของความสุขนั้น และมีหวังว่าต่อไปจะได้มากขึ้น ทั้งนี้เพราะว่าคนเราส่วนมากขี้ขลาด กลัวจะขาดความสุข กลัวจะไม่มีอะไร จึงไม่ยอมปล่อยวาง แต่เมื่อเราได้ความสุขที่ดีกว่า เราก็กล้า มีกำลังใจ พระกรรมฐานหลายรูป ตอนวัยรุ่นก่อนบวช เคยสูบกัญชา แต่เมื่อมานั่งสมาธิภาวนาแล้ว ท่านเห็นว่าการสูบกัญชากับการฝึกจิตเข้ากันไม่ได้ ท่านกล้าเลิกในสิ่งที่ให้ความสุขกับชีวิต เพราะเห็นว่าการฝึกจิตดีกว่า สูงกว่าและเชื่อมั่นว่ามีแก่นสาร
หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของสมาธิคือการให้ความสุขแก่ชีวิตเรา ความสุขประเภทที่ท่านเรียกว่า นิรามิสสุข คือความสุขที่ไม่ขึ้นต่ออามิส ไม่ยุ่งด้วยวัตถุ ด้วยกาม เป็นความสุขที่ละเอียดอ่อน เมื่อเราได้สัมผัสกับความสุขอย่างนี้แล้ว เราจะกล้าเสียสละความสุขในสิ่งที่มีโทษ ในสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย ที่เราเคยยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น เพราะเห็นชัดว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อความสุขที่ดีกว่า
เรารู้ว่าอะไรดีอะไรชั่วพอสมควร แต่ความรู้กับการกระทำมักจะไม่ลงรอยกัน อย่างเช่นการสูบบุหรี่ ทุกวันนี้เรารู้กันดีว่าอันตรายต่อสุขภาพ แต่ทำไมคนจำนวนมากยังสูบกัน รวมถึงหมอบางคนด้วย ความสงบเป็นสิ่งที่นำความสุขมาสู่จิตใจ และมันเป็นความสุขที่ทำให้เรากล้าปล่อยวางสิ่งที่เราเคยยึด สิ่งที่เคยฉุดลากจิตเราลงไปสู่สิ่งที่ต่ำทราม ไม่ให้ขึ้นไปสู่สิ่งสูง สิ่งเลิศ สิ่งประเสริฐได้
ทีนี้ในการฝึกจิตให้สงบระงับ จิตใจก็ได้อยู่เหนืออำนาจของนิวรณ์ จิตใจที่อยู่สามารถเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า อานิสงส์ของสมาธิคือ ยถาภูตญาณทัศนะ คือ การรู้เห็นตามความเป็นจริง ถ้านิวรณ์อยู่ในจิตใจของเรา นอกจากจะทำให้จิตใจของเรากวัดแกว่ง และเศร้าหมองแล้ว ก็ยังเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายปัญญาของเรา มองไม่เห็นว่าอะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ อะไรถูก อะไรผิด
เมื่อจิตใจสงบแล้ว เราไม่ต้องสนใจว่าได้สมาธิชั้นไหน หลวงพ่อชาสอนว่า เหมือนเรารู้รสของผลไม้ โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักชื่อของมัน รู้อาการของจิตในปัจจุบันก็พอ ถ้านิ่งแน่วแน่ก็รู้ มีความคิดบ้างเล็กน้อยแต่ไม่รบกวนก็รู้ ตั้งมั่นพอสมควรแล้วน้อมจิตพิจารณากายก็ง่าย คล่องแคล่ว และจิตที่พิจารณาด้วยพลังสมาธิจะผิดจากจิตปกติตรงที่เป็นกลางโดยไม่ได้ ตั้งใจ เรียกว่าไม่ยินดียินร้าย ไม่เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็น ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตาของสิ่งทั้งหลาย จะเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ คือ คนเรายังไม่ได้รับการฝึกอบรม เราก็...ขอโทษนะ...ไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉานเท่าไหร่ ทำไม เพราะจุดเด่นของสัตว์เดรัจฉานคือ การอยู่ใต้สัญชาตญาณ มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐเพราะสามารถอยู่เหนือสัตชาตญาณด้วยการฝึกอบรม แต่ถ้าไม่ฝึก ความเป็นสัตว์ประเสริฐย่อมไม่เกิด ความแตกต่างจากสัตว์อื่นก็ไม่ปรากฏ
เรามักประเมินบทบาทของเหตุผลในชีวิตของเราสูงเกินไป เราอยากเชื่อว่าเราเป็นตัวของตัว แล้วเลยมองข้ามหลักฐานที่ฟ้องว่าไม่ใช่ สังเกตดูซิว่า สิ่งที่ทำ พูด คิด ในแต่ละวันเป็นแค่ปฏิกิริยาต่อสิ่งที่สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มากน้อยแค่ไหน หลายเปอร์เซ็นต์ใช่ไหม บางวันอารมณ์ดีเชียว ใครถามสาเหตุก็ตอบไม่ถูก อาจจะยิ้มตอบเฉยๆ ที่จริงเป็นผลจากเรื่องเล็กน้อยเช่นการได้ที่จอดรถง่าย หรือมีข่าวว่าทีมฟุตบอลที่ชอบได้ชนะ บางวันหน้าบึ้งทั้งวันเรื่องจุกจิก จิตถูกเชิดตลอดเวลา เขาสรรเสริญเราก็ดีใจ เขานินทาเราก็เสียใจ เจอการสัมผัสที่เราชอบ เราก็มีความสุข เจอสิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็ทุกข์
เมื่อเป็นอย่างนี้ ความสุขความทุกข์ของเราถูกกำหนดด้วยสิ่งเกิดดับนอกตัวเราเสียส่วนใหญ่ พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ชีวิตของเราส่วนใหญ่เป็นไปตามกรรมเก่าหรืออาจจะพูดว่าชีวิตเป็นไปตามดวงก็ ได้ ชีวิตถูกกำหนด ชีวิตถูกลิขิต ชีวิตถูกบังคับ เพราะเรายังไม่ได้ฝึกอบรมตัวเอง ผู้ปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่แล้วเท่านั้นที่มีโอกาสอยู่เหนือดวง ผู้ที่ปฏิบัติแล้วพ้นจากภาวะที่ชีวิตเป็นแค่ปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสิ่งที่มากระทบ กลายเป็นชีวิตที่กอปรด้วยการปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ด้วยสติปัญญา เจอสิ่งใดแล้วเกิดความสุข สัญชาตญาณชวนให้พอใจยินดีในสิ่งนั้น ทั้งๆ ที่เราอาจจะรู้สึกลึกๆ ว่าไม่ดีก็ได้ แต่รสชาติมันอร่อยเหลือเกิน เราเลยอดเพลินกับมันไม่ได้ ติดใจ สิ่งใดทำให้เรารู้สึกทุกข์ เราก็จะไม่พอใจ ยินร้ายในสิ่งนั้น พยายามห่างจากสิ่งนั้นให้ได้ พยายามทำลายจนได้
(มีต่อ ๕)