ผู้เขียน หัวข้อ: อาจารย์ใหญ่หมอสงวน วีรบุรุษ 30 บาท  (อ่าน 1946 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด



 

สี่โมงเย็น...วันที่ 2 เมษายน 2554 ร่างของผู้ชายคนหนึ่ง...จะถูกเผาไปบนเชิงตะกอนของวัดชลประทานรังสฤษฏ์ จ.นนทบุรี ซึ่งก็คงจะไม่มีความหมายอะไร...เพราะศพแล้ว ศพเล่าก็เคยถูกเผาบนเชิงตะกอนนี้มาก่อนหน้านั้นแล้ว

แต่วันนี้ "ไม่ใช่" เพราะศพที่กำลังจะถูกเผา เป็นร่างของ "อาจารย์ใหญ่" ที่ชื่อ นายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ นายแพทย์ที่เคยสร้างประวัติศาสตร์ให้คนไทยทั้งประเทศมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

18 มกราคม 2551 คุณหมอสงวน เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอด ขณะอายุได้เพียง 56 ปี ในตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ...หลังจากต่อสู้กับโรคมะเร็งร้าย ควบคู่ไปกับการสร้างงานด้านหลักประกันสุขภาพ นานกว่า 5 ปี

หลังจัดงานศพเสร็จสรรพ นพ.สงวนอุทิศร่างเป็นอาจารย์ใหญ่ให้กับนักศึกษาคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี สถาบันที่ก่อร่างสร้างให้เขาเป็น "หมอ" อย่างเต็มตัว





"ขณะที่กำลังมุ่งมั่นอยู่กับงานที่รัก และใฝ่ฝันให้เกิดขึ้นมาตลอดชีวิต เวลาหนึ่งกลับได้รับรู้ว่า ตัวเองป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ผ่านวันเวลาแห่งการต่อสู้กับมะเร็งมาอย่างเข้มข้นทั้งเจ็บปวด ทุกข์ และชนะ" นพ.สงวนเขียนไว้ในบทนำหนังสือ "เปลี่ยนมะเร็งเป็นพลัง"

"วันนี้ ผมอยากพูดเรื่องมะเร็งในฐานะผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งจริงๆว่า เป็นมะเร็งไม่ใช่ความตายทันที มันอาจทำให้เราตายก็ได้ มันอาจทำให้เราไม่ตายก็ได้ เป็นมะเร็งไม่ใช่เราจะสูญสิ้นทุกสิ่ง ในทางกลับกันมันคือเงื่อนแห่งการเปลี่ยนแปลงในชีวิต มะเร็งคือพลังอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้ผมเลือกทำสิ่งดีๆ ให้เร็วขึ้นและมากขึ้น...ผมอยากให้คุณมองมะเร็งว่าเป็นเงื่อนไขที่มีพลัง..."

และดูเหมือนว่า "มะเร็ง" จะกลายเป็นพลังที่ผลักดันให้คุณหมอมุ่งมั่นทำงานอย่างหนัก โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ หรือที่คุณหมอสงวน มักพูดถึงบ่อยๆว่า เป็นงาน...Health Care Reform ให้กับสังคมไทย

อพภิวันท์



คุณหมอสงวนเป็นบุคคลที่มีส่วนสำคัญต่อการสร้างสิ่งที่เรียกว่า "หลักประกันสุขภาพ" โดยเริ่มต้นจากการเข้าไปมีส่วนร่วมในการวางรากฐานระบบบริการการแพทย์ของระบบประกันสังคม ที่ต้องใช้เวลานานกว่า 30 ปี กว่าที่สังคมไทยจะได้ เห็นหน้าตาของระบบประกันสังคมซึ่งเกิดขึ้นในสมัยรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยเริ่มให้บริการทางการแพทย์ในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2534

อาจกล่าวได้ว่า นพ.สงวน เป็นหัวขบวนที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "หลักประกันสุขภาพ"...สิ่งที่คุณหมอมักพูดอยู่บ่อยๆ ก็คือแนวคิดเรื่องการ "เฉลี่ยทุกข์ เฉลี่ยสุข"

ซึ่งก็คงไม่ต้องตั้งคำถามว่า ใครได้อะไรมากกว่าใคร เพียงแต่เฉลี่ยให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด คนจนเวลาเจ็บป่วยไม่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัว นั่นคือหลักการสำคัญ

โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เกิดขึ้นจากฝีมือของคุณหมอสงวน เมื่อเขานำโครงการนี้ไปเสนอ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น และได้รับการขานรับ จนกลายมาเป็นนโยบายประชานิยม...ชิ้นเอกของพรรคไทยรักไทยในเวลานั้น





ในช่วงแรกที่มีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การดำเนินงานเหมือนเป็นการลองผิด ลองถูก เริ่มต้นจากคิดกันว่า จะเก็บเงินเท่าไหร่ 70 บาท หรือ 40 บาท และสุดท้ายก็จบลงที่ 30 บาท...เป็นที่มาของ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค!

งบประมาณในโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เริ่มต้นจาก 1,202.40 บาท ต่อคนในปี 2545 จนมาเป็น 2,600 กว่าบาท ต่อคนในปัจจุบัน

คุณหมอสงวนให้สัมภาษณ์ในช่วงปลายปี 2550 ว่า รัฐบาลควรจัด 2,200 บาทต่อคนต่อปี โครงการจึงจะดำเนินการไปได้ ซึ่งถ้าคิดตามอัตราเงินเฟ้อ จากปี 2550 ถึงปัจจุบัน งบประมาณเหมาจ่ายรายหัวที่รัฐจัดสรรให้ ไม่ได้ต่างไปจากที่คุณหมอสงวนเคยคาดประมาณไว้มากนัก

"การพูดถึง รพ.ขาดทุนจะค่อยๆหมดไป คงต้องมาพูดเรื่องการจะทำให้อย่างไรให้ประชาชนได้เข้าถึงโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูงๆ หรือโรคที่รักษายากๆ โดยไม่ต้องล้มละลาย" คุณหมอสงวนให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อก่อนที่จะเสียชีวิตไม่นาน





อีกสิ่งหนึ่งนอกเหนือจากการบุกเบิกงานหลักประกันสุขภาพแล้ว คุณหมอสงวน ยังเป็นนักต่อสู้คนสำคัญ สมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ที่รามาธิบดี เคยดำรงตำแหน่ง นายกสหพันธ์นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ที่เข้าร่วมในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ปี 2519

นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ พูดถึงคุณหมอสงวน ในบทความไว้อาลัย ตอนหนึ่งว่า "สงวนเป็นหนึ่งในหัวขบวนนิสิตนักศึกษาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ตัดสินใจไม่เข้าป่า แต่สงวนก็ไม่เคยแปรธาตุเปลี่ยนสี หรือละทิ้งอุดมการณ์ คือ ความใฝ่ฝันอันงดงามในวัยหนุ่มสาว แต่ตลอดชีวิตได้ทุ่มเทอุทิศให้แก่การสร้างสรรค์บ้านเกิดเมืองนอน โดยเฉพาะคือ งานสาธารณสุข เพื่อประเทศชาติ และประชาชน

เริ่มจากสมัยเป็นนักศึกษาแพทย์ในคณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี ท่ามกลางการต่อสู้อันแหลมคมระหว่างอุดมการณ์สองขั้ว ที่ต่อสู้กันอย่างถึงเลือดถึงเนื้อ และหลายกรณีถึงชีวิต ดังกรณี อมเรศ ไชยสะอาด ที่ถูกลอบสังหาร ขณะออกฝึกงานที่อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา แสง รุ่งนิรันดรกุล ที่ถูกยิงตาย ขณะยืนรอรถเมล์ในกรุงเทพฯ และ นิสิต จิระโสภณ ที่ตกรถไฟตายอย่างมีเงื่อนงำ

สงวนเป็นนักศึกษาแพทย์ที่ต่อสู้อย่างโดดเด่นอยู่แถวหน้า จนได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งช่วงนั้นนักศึกษามหิดลได้รับการประเมินจากทุกฝ่ายว่า มีนักศึกษาหัวก้าวหน้ามากที่สุดทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ยืนหยัดต่อสู้ในเกือบทุกเวทีและสถานการณ์อย่างไม่เป็นรองใคร ในที่สุดสงวนต้องเป็นหนึ่งในผู้นำนักศึกษาที่เผชิญเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 มาอย่างเจ็บปวด





หลังจบแพทย์จากรามาธิบดี คุณหมอสงวนตัดสินใจไปเป็นแพทย์ประจำที่โรงพยาบาลราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งคุณหมอวิชัยเล่าว่า หลายคนคงจำได้ ถึงข่าวการถูกคุกคามระหว่างใช้ชีวิตเป็นแพทย์ชนบท โดยเฉพาะที่อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เคราะห์ดีที่ทางการฝ่ายความมั่นคงขณะนั้น มีความฉลาดและอดทนเพียงพอ ไม่ตัดสินชะตากรรมคุณหมอสงวนเหมือนที่ตัดสินกับผู้นำนิสิตนักศึกษา กรรมกร ชาวนา และปัญญาชนหลายๆคน

ทำให้คุณหมอสงวนรอดจากชะตากรรมอันเลวร้าย กลับเข้าสู่กรุงเทพฯ และสามารถทำงานใหญ่ในระดับประเทศได้ต่อมาตราบจนวาระสุดท้ายของชีวิต"

หลังจากเสียชีวิต งานมากมายที่ นพ.สงวนฝากไว้ได้รับการสานต่อจากกัลยาณมิตรในสถานะต่างๆกัน โดยเฉพาะภรรยา ร.อ.ทญ.อพภิวันท์ นิตยารัมภ์พงศ์ ส่วนหนึ่งในโครงการที่ดำเนินการมาถึงวันนี้ "กองทุนมิตรภาพบำบัด" ที่พัฒนามาจาก โครงการเพื่อนช่วยเพื่อน หรือ จิตอาสา ที่คุณหมอสงวนตั้งใจจะให้เกิดขึ้น

ก่อนเสียชีวิต คุณหมอสงวนปรารภว่า อยากทำโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน หรือ "จิตอาสา" เพื่อให้คนไข้ที่ป่วยและหายแล้วให้กำลังใจที่มีจิตใจความเป็นมนุษย์ ช่วยเหลือเพื่อนที่ยังเจ็บป่วยให้หายจากโรคต่างๆได้ ก็เกิดโครงการเพื่อนช่วยเพื่อน มีเครือข่ายโรคมะเร็งเกิดขึ้น และกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้ง "กองทุนนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เพื่องานมิตรภาพบำบัด เพื่อนช่วยเพื่อน"

"กองทุนนี้เป็นสิ่งที่หมอสงวนตั้งใจในขณะที่ยังป่วยอยู่ คืออยากทำให้ประชาชนและคนที่เจ็บป่วยมีโอกาสในการรักษา ยิ่งตัวเองป่วยก็ยิ่งเข้าใจและเห็นใจคนไม่มีโอกาส ขณะที่ครอบครัวของเราถือว่าพร้อม แต่ก็ยังรู้สึกทุกข์มากมายถึงเพียงนี้ จึงเกิดคำถามถึงคนไข้ที่ไร้โอกาส ว่าคงจะยิ่งทุกข์มากกว่าหลายเท่า กองทุนนี้จึงเป็นงานสุดท้ายที่คุณหมอตั้งใจอยากทำให้ผู้ป่วยได้มีโอกาสเข้าถึงการรักษา และยังดูแลไปถึงเรื่องของจิตใจด้วย"

ร.อ.ทญ.อพภิวันท์ เล่าถึงความตั้งใจสุดท้ายของสามีพร้อมกับบอกว่า การทำงานคือชีวิตและความสุข เมื่อใดที่ลงมือทำงาน คุณหมอจะไม่รู้สึกว่าป่วยและเจ็บใดๆเลย และครอบครัวก็พร้อมจะสนับสนุนอุดมการณ์และสานต่องานของคุณหมอให้สำเร็จ

คุณหมอได้สั่งเสียลูกชาย  ลูกสาว ไว้ว่า..."ให้เป็นคนดีและรักษาความดีไว้  เพราะเป็นสิ่งที่คนรอบข้างจะยอมรับและนับถือ  เหมือนกับที่คุณหมอทำให้ลูกเห็นเสมอว่า   คนรอบข้างรักคุณหมอจากการที่คุณหมอทำงานเพื่อคนอื่น"





สำหรับชาว สปสช. ซึ่ง นพ.สงวนพูดเสมอว่า เป็นบ้านหลังที่สองของท่าน ก่อนเสียชีวิตท่านได้ฝากคำพูดถึงทุกคนว่า "...วันที่ผมรู้สึกตัววันแรก พวกเขาเฮกันใหญ่ เพราะตอนแรกคิดว่าคงจะหมดสติแล้ว อาจจะไม่มีสติอีก ชีวิตก็เป็นอย่างนี้แหละนะ มันมีขึ้นมีลง

ถ้าเราสามารถที่จะทำให้ชีวิตมีคุณค่า แล้วก็ทำให้ช่วงชีวิตที่จะลงมีคุณค่าด้วย เราก็คงภาคภูมิใจ...ขอให้ยืนหยัดต่อสู้ แม้จะหนักจะเหนื่อยก็ตาม ให้ตั้งใจว่า เมื่อเรายังหนุ่มยังแน่นยังสาว ยังทำประโยชน์ให้กับประเทศได้อีกมาก เพราะฉะนั้นก็อย่าท้อถอย..."

2 เมษายน 2554 จะไม่มีสังขาร อันเป็นสิ่งปรุงแต่งในชีวิต นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์   อีกแล้ว   เป็นการปิดฉากชีวิตนิรันดร์ของบุคคลที่ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า   การเป็นวีรบุรุษนั้น   บางครั้งอาจไม่จำเป็นต้องพึ่งสถานการณ์ใดๆ.
 
http://www.thairath.co.th/column/pol/page1scoop/160499
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...