ผู้เขียน หัวข้อ: “สติระลึกรู้อะไร ?” เขมรํสี ภิกขุ  (อ่าน 2440 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด



“สติระลึกรู้อะไร ?”
พระครูเกษมธรรมทัต (เขมรํสี ภิกขุ)
วัดมเหยงคณ์
ต.หันตรา อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา

นมตฺถุ รตนตฺยสส
ขอถวายความนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
ขอความผาสุกความเจริญในธรรม จงมีแต่ญาติสัมมาปฏิบัติธรรมทั้งหลาย

ต่อไปนี้ก็พึงตั้งใจฟังธรรมะ อันเป็นหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา
เกี่ยวกับ คุณประโยชน์ของการปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรมนั้น ให้คุณประโยชน์ทั้งปัจจุบัน และในอนาคต
คุณประโยชน์ หรือผลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็คือ ขณะที่กำลังเจริญสติขึ้น
การปรากฏแจ้งชัดของปัญญา ก็จะสามารถกำจัดกิเลส
ชำระจิตให้สะอาดบริสุทธิ์ขึ้นไปตามลำดับจนถึงขั้นปัญญาในโลกุตตระ
ซึ่งจะประหารกิเลส
ที่นอนเนื่องอยู่ในขันธสันดาน
คืออนุสัยกิเลสให้ขาดสิ้นอย่างเด็ดขาด เป็นสมุทเฉท
คือ ไม่มีฟื้นขึ้นมาในจิตใจได้อีก


แต่ถึงแม้ว่าในระยะที่ปัญญาในขั้นโลกุตตระยังไม่เกิดขึ้น
ถ้าผู้ปฏิบัติอาศัยการมีสติระลึกรู้อยู่บ่อยๆ ปัญญาในส่วนวิปัสสนาญาณ
ซึ่งเป็นโลกียปัญญา ก็จะเกิดขึ้นได้เป็นขณะๆ เป็นช่วงๆ
เมื่อพิจารณาบ่อยๆ ละไปบ่อยๆ กิเลสก็ค่อยๆ อ่อนกำลังลงไป

แต่ถ้าเราไม่ปฏิบัติเลย ก็จะไม่มีอะไรไปตัดกำลังของกิเลส
จะเป็นคนที่มีกิเลสหนาแน่น โลภจัด โกรธจัด ฟุ้งซ่านจัด
อะไรเกิดขึ้นก็กลายเป็นคนทุกข์มาก ทุกข์กาย ทุกข์ใจมาก
ที่สุดก็กลายเป็นคนโรคประสาท

เพราะถ้ากิเลสเกิดมาก ใจฟุ้งซ่านเร่าร้อนมาก
สมองก็เครียด เมื่อสมองเครียด ร่างกายต่างๆ ก็เสียหายไปหมด
นี้คือคนไม่ปฏิบัติธรรม ก็จะมีชีวิตอยู่ในกองทุกข์ อยู่ในเพลิงทุกข์ เพลิงกิเลส

แต่คนที่ปฏิบัติธรรม เขาสามารถชำระจิตใจให้ผ่อนคลายออกจากความทุกข์ได้
เพราะมีสติสัมปชัญญะคอยดู คอยรู้ คอยพิจารณาอย่างปกติ อย่างปล่อยวางอยู่
เมื่อวางเฉยได้ ความทุกข์จะคลี่คลายเป็นระยะๆ เป็นขณะๆ


สิ่งเหล่านี้ผู้ปฏิบัติสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง
คำสอนในทางพระพุทธศาสนานั้น สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นสัจธรรม
คือ เป็นความจริง เป็นธรรมที่มีเหตุมีผล
เป็นคำสอนที่พิสูจน์ให้เห็นจริงได้จริงๆ ว่าเมื่อลงมือประพฤติปฏิบัติแล้ว
ทำให้จิตใจผ่องใส ปลอดโปร่งสงบเยือกเย็น สามารถคลี่คลายความทุกข์ได้จริง


ไม่ใช่ปฏิบัติแล้วมีแต่ความทุกข์ใจ ถ้าปฏิบัติแล้วยิ่งทุกข์ใจมากขึ้นนี้ไม่ถูกทางแล้ว
หรือถ้าปฏิบัติไปแล้วมีแต่ความเคร่งเครียด อย่างนี้ก็ไม่ถูกอีก

ถ้าเจริญสติสัมปชัญญะอย่างถูกต้อง จิตใจจะต้องปลอดโปร่งขึ้น
ผ่อนคลายขึ้น สงบระงับขึ้น
เพราะฉะนั้น ต้องอาศัยความเข้าใจในวิธีการปฏิบัติ
และอาศัยความเพียรในการฝึกหัด
จึงต้องมีความเข้าใจในหลักมหาสติปัฏฐานสี่
ว่าที่ตั้งของสติคืออะไร มีอะไรบ้าง
ขั้นต่อไปก็เพียรตั้งใจใส่ใจ มีสติระลึกตัวอยู่เสมอๆ เพียรพยายามไว้
สำรวมเข้าไว้ สำรวมใจไว้ด้วยสติอยู่เสมอ

เมื่อจิตคอยจะเตลิดออกไปข้างนอก
เช่น คอยไปคิดนอกตัว ก็พยายามสำรวจให้จิตมารู้อยู่ในตน คือให้มาอยู่ที่กายที่ใจ
ให้เข้ามารับรู้รับทราบอยู่ในตัวเองไว้ ถ้าส่งจิตออกนอกตัวเมื่อไหร่
ก็ถือว่าเผลอแล้วไม่ถูกแล้ว ยิ่งถ้าจงใจปล่อยจิตคิดออกไปเอง
ตั้งใจออกไปเองอย่างนั้น
ก็ยิ่งไปกันใหญ่ แต่ถ้าเมื่อได้สติขึ้นมาก็ต้องกลับเข้ามา
น้อมเข้ามา โอปะนะยิโก คือ พึงน้อมเข้ามาใส่ตน รู้ในตน

การปฏิบัติธรรมนั้นเมื่อรับรู้ออกไปข้างนอก ก็ต้องรู้กลับเข้ามาข้างใน

จริงอยู่ ชีวิตประจำวันเราจะต้องมีการมองมีการฟัง มีการรับรู้สิ่งต่างๆ ภายนอก
แต่ว่าเราจะต้องน้อมสัมผัสสัมพันธ์เข้ามาสู่ข้างใน ดูอะไรข้างนอก ก็ดูเพื่อเป็นคติ
เป็นสิ่งที่เป็นเรืองเตือนใจ เป็นสิ่งที่จะเป็นข้อเปรียบเทียบ
แล้วก็น้อมเข้ามาหาข้างในไว้ดู แล้วให้เกิดการพิจารณาเข้ามาข้างใน
อย่าคิดเลยไปข้างนอก อย่างบางคนดูใบไม้ร่วงหล่น
เขาพิจารณาแล้วว่ามันไม่เที่ยง ใบไม้ที่สุดก็หลุดจากขั้ว ใบสดมีใบแห้งก็มี

ชีวิตเราก็เปลี่ยนแปลงไป ไม่จีรังยั่งยืนเช่นเดียวกับใบไม้เหล่านี้
แล้วก็น้อมเข้ามาหาสู่ข้างใน กำหนดเข้ามาสู่ข้างใน ในกายในจิต
ชีวิตเราก็เปลี่ยนแปลงไป ไมจีรังยั่งยืนเช่นเดียวกับใบไม้เหล่านี้
แล้วก็น้อมเข้ามาสู่ข้างใน กำหนดเข้ามาสู่ข้างใน ในกายในจิต
เรียกว่าประสบการณ์ภายนอก เป็นเครื่องเตือนใจ น้อมเข้ามาหาภายใน

หรือเมื่อไปเห็นสิ่งต่างๆ ภายนอก เช่น เห็นคนแก่ เห็นคนเจ็บ เห็นคนตาย
ก็พิจารณาให้เกิดความสลดสังเวชว่า ตัวเราก็หนีความเป็นอย่างนี้ไปไม่พ้น
เราก็ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเหมือนกัน ก็น้อมเข้ามาสู่ข้างใน
อย่าคิดเรื่อยไปจนลืมเนื้อลืมตัว ลืมกายลืมใจตนเอง
การพิจารณาธรรมภายนอกนี้ ก็พิจารณาเพื่อเป็นเครื่องเตือนจิตสะกิดใจ
จะได้ไม่เป็นผู้ประมาท พิจารณาให้เกิดความสังเวชสลดใจ แล้วก็น้อมเข้ามาสู่ข้างใน

การนึกออกไปข้างนอกนั้นเป็นเรื่องสมมติ
เป็นเรื่องสัตว์ บุคคล เป็นเรื่องอดีต อนาคต

แต่การปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของการมีสติอยู่กับปัจจุบัน
อยู่ข้างใน ดูกันไปข้างใน ในกายในจิต

เพราะฉะนั้น กาย และใจของใครก็ของใคร
ต่างคนก็ต่างดูกาย ดูใจของตนเอง ไม่ใช่ไปดูกาย ดูใจของคนอื่น
อย่าไปพยายามดูจิตใจของคนอื่นว่าคนนั้นเขาคิดอย่างไร นึกอย่างไร

แต่จิตใจของตนเองกลับไม่รู้ ไม่ได้ดู รู้ใจคนอื่นสักเท่าไรก็ละกิเลสไม่ได้
เราจึงไม่จำเป็นต้องไปรู้ใจคนอื่น แต่หัดเข้ามารู้ใจของตนเอง รู้บ่อยๆ รู้เนืองๆ
ว่าจิตใจของตนเองกำลังเกิดอะไรขึ้นมา เกิดกิเลสอะไร

เช่น ราคะเกิดขึ้นก็ให้รู้ โทสะเกิดขึ้นก็ให้รู้ โมหะเกิดขึ้นก็ให้รู้
หรือใจสงบระงับจากราคะ สงบจากโทสะ สงบจากโมหะ
จิตมีความผ่องใส มีปิติ มีความอิ่มเอิบ มีความสุข มีสมาธิก็ให้รู้
คือให้ดูในจิตของตนเอง ดู.. สังเกต.. พิจารณา..

ให้เห็นความเกิดขึ้น ความจาง ความคลาย ความหายไป ความหมดไปสิ้นไป

เมื่อหมดไปแล้วก็แล้วไป ก็ดูสิ่งใหม่ที่ปรากฏขึ้นและก็ดับไปอีกอย่างนี้
ฝึกปฏิบัติใหม่ๆ ก็อาจะยังเห็นได้ไม่ชัด แม้บางครั้งเห็นไม่ชัดก็ให้มันผ่านไป.....
ก็ผ่านไปดูสิ่งใหม่ รู้สิ่งใหม่ๆ เวลามันจะปรากฏชัดมันก็จะชัดเอง
ฉะนั้นจิตใจจะต้องปลอดโปร่ง ไม่ใช่นั่งหลับสัปหงกมืดมัวอยู่
สติปัญญาจะเกิดได้นั้นต้องไม่ง่วง
จิตใจต้องแจ่มใสปลอดโปร่ง ต้องตื่นอยู่ทั้งกายและใจ

ต่อเมื่อมีความเพียรเจริญสติอย่างต่อเนื่อง
สติสัมปชัญญะจะสะสมได้มากขึ้น ดีขึ้น
ก็จะชำระความง่วง ความมัวกายมัวใจก็จะหมดไป
กลายเป็นความตื่น....ตื่นกาย ตื่นใจ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
คือจิตจะตื่นตัวเต็มที่ รู้ทั่วพร้อมทั้งกายทั้งใจ ไม่ใช่นั่งง่วงอยู่
ถ้านั่งง่วงอยู่ก็บรรลุธรรมไม่ได้ จึงต้องทำให้หายง่วง
ถ้านั่งหลับสัปหงก ฝืนไม่อยู่ วิธีก็คือ ต้องลืมตาขึ้น ลืมตาปฏิบัติ
ทดลองเจริญสติแบบลืมตา แล้วปรับให้เป็นปกติ
ลืมตาแต่ไม่ลืมใจ คือดูเข้าไปข้างใน


แต่ถ้าลืมตาปฏิบัติแล้วยังไม่หายง่วง ก็ให้ลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ
เป็นอิริยาบถเดิน เดินจงกรมไป เดินกลับไปกลับมา
ถ้าเดินแล้วยังง่วงอยู่ก็ให้เดินมองอย่างธรรมดา อย่ามองนิ่งอยู่อย่างเดียว
ทดลองใช้สายตามองสิ่งต่างๆ อย่างธรรมดา จะช่วยให้หายง่วงได้
หรือลองกำหนดจิตดูว่า เวลาตื่นจิตจะมีความรู้สึก

แต่เวลาหลับจิตจะหมดความรู้สึก พอจิตมีความรู้สึกก็ดูความรู้สึกตื่น

ดูความรู้สึกในจิตที่ตื่นอยู่ เมื่อหลับไปก็ดูว่าจิตหมดความรู้สึก
ถ้าดูได้บ่อยๆ อย่างนี้ จิตจะตื่นจะหายง่วง และก็เป็นวิปัสสนาด้วย
เพราะเป็นการระลึกตรงไปที่ลักษณะของจิต คือระลึกพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธรรมคือ ความง่วงที่ปรากฏภายในจิต
เอาชนะความง่วงด้วยความเพียร


ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานดอกแก้วกลิ่นธรรม
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: “สติระลึกรู้อะไร ?” เขมรํสี ภิกขุ
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: เมษายน 23, 2011, 02:51:04 pm »



เมื่อมีความพากเพียรกำหนดซ้ำๆอย่างต่อเนื่อง จิตก็รวมตัวเป็นสมาธิ
ความง่วงก็กระจายไปเอง หรือเมื่อปฏิบัติไปแล้ว
เกิดความรู้สึกท้อถอย ท้อแท้ เบื่อหน่าย ก็ประคองจิตไว้
ดูความเบื่อ ดูความท้อถอยนั่นแหละ ดูอาการในจิตว่ามันท้อมันถอยในจิตอย่างไร
ดูไปๆ ว่ามันเกิด มันคลาย หรือมันหายไป
หรือเมื่อฟุ้งซ่านหงุดหงิด ก็กำหนดดูความฟุ้งซ่าน
ดูความหงุดหงิดที่ปรากฏในจิต ดูอาการที่ฟุ้งว่ามีปฏิกิริยาอย่างไร

เวลาฟุ้งมันร้อนใจ ไม่สบายใจอย่างไร อาการจะแรงขึ้นหรือจะเบาลง
จางลงก็ดูไป ความฟุ้งซ่านก็เป็นสภาวธรรม เป็นอกุศลธรรมที่ปรากฏอยู่
เมื่อกำหนดพิจารณาดูความฟุ้งซาน ก็เป็นธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เป็นการพิจารณาธรรมในธรรมเช่นกัน

สติสัมปชัญญะ
ที่เข้าไประลึกดูความฟุ้งซ่านนี้ จะต้องดูอย่างวางเฉย
ให้หัดดูความฟุ้งซ่านอย่างวางเฉย
แม้จิตจะหงุดหงิดจะร้อนใจ ก็ไม่ว่าอะไร ทำใจให้วางเฉย
เมื่อผู้ดู คือสติสัมปชัญญะเขาวางเฉย เขาแยกตัวออกมาต่างหาก
ความฟุ้งซ่านเหลานั้นก็จะแปรสภาพจางคลายให้ดู และหายไปในที่สุด

เพราะฉะนั้นให้ดูอย่างผู้ดู ดูสักแต่ว่าดู
รู้สักแต่ว่ารู้ อย่าไปวุ่นวายกับมันด้วย สักแต่ว่าเข้าไว้

สักแต่ว่าฟุ้ง จะฟุ้งก็ไม่ว่าอะไร ไม่หายฟุ้งก็ไม่ว่าอะไร
จะเกิดอีกก็ไม่ว่าอะไร จะจางไปก็ไม่ว่าอะไร
จะแรงขึ้นก็ทำใจไม่ว่าอะไร ไม่พยายามบังคับให้หายฟุ้ง
เพราะเข้าใจแล้วว่า ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นก็ดีแล้ว เกิดขึ้นมาก็จะได้ดู

เพราะความฟุ้งก็เป็นสภาวธรรม เกิดขึ้นเป็นธรรมชาติ ธรรมดา
แต่ก็ตั้งอยู่ไม่ได้นาน ถ้าสติสัมปชัญญะเข้าไปดูอย่างวางเฉย
ความฟุ้งซ่านนั้นจะแปรสภาพเป็นจางคลายหายไป


นอกเสียจากว่าเราดูอย่างบังคับ ดูอย่างมีความเกลียดชัง
ดูด้วยความอยาก คืออยากจะสงบ ดูแบบอยากสงบๆ
ถ้าเราดูอย่างเกลียดชัง ไม่เอา ไม่ชอบ หงุดหงิด เกลียดเหลือเกินความฟุ้งซ่านนี้
ก็เหมือนกับไปใส่เชื้อความฟุ้งซ่านให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น อย่างนี้เรียกว่าปฏิบัติไม่ถูก
จิตมีกิเลสเจือกำกับ จิตไม่บริสุทธิ์ คือมีตัณหา มีโลภะ มีโทสะกำกับ
หรือเรียกว่าจิตมี อภิชฌา และ โทมนัส

แต่สติสัมปะชัญญะเป็นธรรมฝ่ายบริสุทธิ์
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนให้พึงละอภิชฌา
และโทมนัสในโลกเสียให้พินาศ
หมายความว่า
เวลาปฏิบัติเมื่อกำหนดกาย เวทนา จิต หรือ ธรรม อย่างเช่นกำหนดความฟุ้ง
ให้วางเฉยไว้ อย่าไปอยากสงบ ทำใจว่าสงบก็ได้ แม้ไม่สงบก็ทำใจไม่ว่าอะไร
สอนใจตนเองว่าจะปฏิบัติเพื่อไม่เอาอะไร
อะไรจะเกิดขึ้นมาในกายในใจ
ก็จะเป็นผู้ไม่ว่าอะไรจริงๆ แต่เรามักคอยจะเอาอย่างนั้น คอยจะไม่เอาอย่างนี้
แล้วก็หงุดหงิด วุ่นวายเสริมเข้าไปอีก

จิตที่ไม่มีกิเลสเข้าไปบงการ จิตที่วางเฉยอยู่ไม่ว่าอะไรนั้นแหละ
คือการมีสติอย่างถูกต้อง แล้วผู้ปฏิบัติก็จะค่อยๆ เห็นธรรมชาติความเป็นจริง
ว่าธรรมทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นความสงสัย ความฟุ้งซ่าน ความง่วง ความท้อถอย
หรือจะเป็นราคะ โทสะ โมหะเหล่านี้ ล้วนมีความเกิดดับเป็นธรรมดา
คือเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็เปลี่ยนแปลง จางไป คลายไป หายไป ไม่ตั้งอยู่

แล้วก็คอยสังเกตอีกว่า ลักษณะที่มันคลายหายไปมันมีอะไรเกิดขึ้นต่อ
ก็ดูกันต่อไปอีก ไม่ว่าจะเป็นที่กาย หรือที่ใจ
รวมแล้วก็เป็นการปฏิบัติอยู่ในมหาสติปัฏฐานสี่
ทำสติปัฏฐานทั้งสี่ให้สมบรูณ์
บางครั้งรู้กาย บางครั้งรู้เวทนา
บางครั้งรู้จิต บางเวลารู้ธรรมในธรรม
แล้วแต่ว่าธรรมใดปรากฏเด่นชัด ก็ระลึกรู้ธรรมนั้น


ฝึกใหม่ๆ ก็ฝึกเป็นขั้นเป็นตอนก่อน ดูลมหายใจ ดูอิริยาบถ
คือหัดดูกายไปก่อน แล้วก็เริ่มสังเกตสภาวธรรมทั่วๆ กาย คือความรู้สึกเวทนา
จนกระทั่งน้อมเข้าไปถึงจิตใจ รู้จิต รู้ใจ
พอดูทั้งกายทั้งใจเป็นขั้นตอนไปไม่เลือกแล้ว
สิ่งใดปรากฏสติก็ระลึกรู้ รู้ทันๆ แล้วก็ฝึกปล่อยวาง

รู้อะไรก็ปล่อยให้หมด ไม่ยึดถือ ไม่เอาอะไรทั้งหมด
แต่ก็ยังรู้อยู่ ยังดู ยังพิจารณาอยู่

การปล่อยจึงไม่ใช่การปล่อยแบบทิ้งขว้างไป ปล่อยแต่ต้องมีการสังเกตด้วย
สติเป็นตัวระลึก สัมปชัญญะเป็นตัวสังเกต
การสังเกตก็ต้องมี การระลึกก็ต้องมี
การปล่อยวางก็ต้องมี ปัญญา สมาธิ ความเพียรก็ต้องมี
มีอยู่ให้ผสมกันไปทั้งปล่อยวาง ทั้งสมาธิ ปัญญา ความเพียร
ทั้งการระลึกและการสังเกต


สังเกตอะไร สังเกตความเปลี่ยนแปลง สังเกตความเกิดขึ้นความหมดไป
หรือสังเกตว่าบังคับไม่ได้
สังเกตเฉพาะที่เป็นปัจจุบัน อย่าไปคิดถึงอดีต อนาคตให้ยืดยาว

ปฏิบัติไปก็ให้เป็นไปด้วยกัน คือ มีทั้งรู้-ทั้งละ ผสมกลมกลืนเป็นกลาง
ค่อยๆเจริญสติไปจนจิตใจมีความผ่องใสเบาเป็นปกติ
จะเห็นว่าสภาวธรรมทั้งหลาย ทั้งทางกาย ทั้งทางใจ มีแต่หมดไป สิ้นไป
นี้คือการปฏิบัติที่เรียกว่า “เจริญวิปัสสนากรรมฐาน

แต่การจะทำให้ได้ทันทีทันใดอย่างใจคงไม่ได้
ผู้ปฏิบัติจะต้องค่อยๆ ปลูกสร้างสะสมเหตุปัจจัยไปทุกๆวัน
จนกว่า สติ สมาธิ ปัญญา ความเพียรมีกำลังขึ้น

ถ้ายังไม่ได้สะสม ไม่ได้ฝึกให้มาก ก็ยังไม่มีกำลัง
หรือบางทีมีกำลังแต่ก็ไม่สม่ำเสมอกัน เราก็ต้องมาปรับให้สม่ำเสมอกันอีก
สังเกตดูอย่าให้ตึง อย่าให้หย่อนเกินไป ถ้ารู้สึกว่าจดจ้องเพ่งเล็ง
บังคับจับอารมณ์เกินไปก็ให้รู้จักปล่อยวางออก
แต่ถ้าปล่อยเกินไปก็จะไม่รู้เนื้อรู้ตัวเลย ไม่คอยสังเกต ก็จะกลายเป็นหย่อนเกินไป
กลายเป็นเผลอเป็นหลับ การปล่อยโดยไม่รู้นี้ทำให้หลับได้

บางคนพอนั่งปฏิบัติก็หลับ พอทำจิตใจปล่อยวาง หลับไปเลย
แสดงว่ามันหย่อนไม่พอดีกัน แต่บางคนก็เพ่งจนเคร่งตึง นี้ก็เกินไป
บังคับเกินไป มันก็เคร่งตึง ก็ให้รู้จักปรับลงมา
คนไหนที่หนักไปในทางเคร่งตึง แสดงว่าการใส่ใจตั้งใจมากไป

ก็ควรลดการจดจ้องเพ่งเล็งอยากได้ลง แล้วมาเพิ่มการปล่อยวางให้มากขึ้น
บางคนเขาปล่อยวางจนไม่ต้องตั้งใจดู ตั้งใจปล่อยท่าเดียว
เพราะดูอยู่แล้วจนเคยชินในการกำหนดดูๆ ถึงไม่ตั้งใจดูมันก็จะดู
สติสัมปะชัญญะที่เคยชินจะมีกำลัง แม้ไม่ตั้งใจจะดู แต่จิตก็ดูอยู่
เราจึงควรมาเพิ่มการปล่อยวาง ปล่อย.....

จนพอได้ส่วนขึ้นมา จิตก็จะรวมตัวลงไป
จิตจะไม่ไปไหน จะรู้อยู่แต่ข้างใน เข้าไปรู้สภาวะในกายในใจได้อย่างละเอียด
ผู้ปฏิบัติก็จะรู้ได้ด้วยตนเอง แต่ถ้าจิตไม่ลงตัว ก็คอยแต่จะออกข้างนอก
จึงต้องคอยปรับให้พอดีไว้ นี้เป็นเรื่องที่ผู้ปฏิบัติจะต้องหัดสังเกต
และพิจารณาด้วยตนเอง ไม่มีใครมาวัดใจเราได้
เราต้องฟังและคอบปรับเทียบเคียงเอาเอง ฝึกหัดเอาเอง
ก็จะได้รับคุณประโยชน์จากการปฏิบัติธรรมตามสมควร

วันนี้ขอยุติเพียงเท่านี้ ขอความสุขความเจริญในธรรม จงมีแด่ทุกท่านเทอญ...


คัดย่อจาก.. พระธรรมเทศนาเรื่อง “สติระลึกรู้อะไร
โดย เขมรํสีภิกขุ



ที่มา : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=13357
นำมาแบ่งปันโดย.. baby@home
Pics by : Google
สุขใจดอทคอม * อกาลิโกโฮม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ