อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > มาลาบูชาครู

หลับตาทำไม ชยสาโร ภิกขุ

<< < (2/2)

ฐิตา:


ถ้ามองในแง่ความ รู้สึกล้วนๆ สุขดีกว่าทุกข์ แต่ถ้ามองในแง่ผลต่อคุณภาพจิต มันมีค่าเท่ากัน เพราะไม่ว่ายินดีในสุขหรือยินร้ายในทุกข์ จิตใจเสียหลักทั้งนั้น ถูกกำหนดด้วยสิ่งนอกตัว ถูกกำหนดด้วยกรรมเก่า ไม่เป็นอิสระ นี่เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่ยังไม่ได้ศึกษา สรุปว่าความยินดียินร้ายเป็นอาการบ่งบอกว่าจิตเราเสียรู้เวทนาแล้ว

อานิสงส์ของการทำสมาธิภาวนาข้อหนึ่ง คือการค่อยๆ พ้นจากภาวะนั้น เพราะอะไร เพราะการกำหนดอารมณ์กรรมฐานของเรา คือการฝึกไม่ยินดียินร้ายกับอารมณ์ เช่น ดูลมหายใจเข้า ลมหายใจออก แทนที่จะวิ่งตามความรู้สึกว่าชอบไม่ชอบที่เกิดข้น ตามสัญชาตญาณ ตามความเคยชิน เราก็พยายามกำหนดสติรู้เท่าทันแล้วก็ปล่อยวาง รู้แล้วก็ปล่อย รู้แล้วก็ปล่อย รู้แล้วก็ปล่อย ทุกครั้งที่รู้แล้วปล่อย นั่นแหละคือการเสริมสร้างนิสัยใหม่ นิสัยที่เป็นอิสระจากอารมณ์ เป็นงานที่ต้องใช้เวลานาน ต้องทำบ่อยๆ เพราะเราเคยสั่งสมความเคยชินที่จะยึดมั่นในสิ่งต่างๆ เอาจริงเอาจังกับมัน สำคัญมั่นหมายมันมาก

ที่นี้ในการฝึกจิตในด้านการทำสมาธิภาวนา คือฝึกในทางตรงข้าม คือไม่เอาแล้ว เรื่องตะครุบเอาสิ่งที่ชอบ แล้วก็ผลักไสพยายามไล่ออกสิ่งที่ไม่ชอบไป โดยไม่คิดว่าถูกหรือผิด แต่เราจะเปลี่ยนนิสัยโดยความคิดเฉยๆ ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ อ่านปรัชญาหรือว่าฟังเทศน์ ตัดสินใจแล้วว่าไม่ จะไม่ยินดีในสิ่งนั้นอีกแล้ว ไม่ดี และเราจะไม่ยินร้ายกับสิ่งนั้นอีกแล้ว เป็นนิสัยเสียไม่เอาอีกแล้ว เรื่องยินดียินร้าย บังคับตัวเองไม่ได้อย่างนั้น มันเป็นเอง มันเร็วเกินไป สติเราตามไม่ทัน เราจะทำได้ต้องฝึกจิตและต้องใช้เวลา เริ่มต้นใหม่ด้วยความใจเย็น

ท่านเตือนย้ำให้เราไม่ประมาท เพียรพยายาม ใจเด็ดใจเดี่ยว นี่สำคัญ ความไม่ประมาทก็คือ ไม่เหลาะๆ แหละๆ ไม่ทำสบายๆ เหมือนเป็นงานอดิเรก แต่ละครั้งที่นั่งไม่ต้องคิดเอาอะไรมากหรอก เอาแค่สองอย่างก็พอ คือเอาจริงกับเอาจัง ได้สองอย่างนี้รวยอริยทรัพย์แน่ แต่ถ้าไม่มุ่งมั่นเดี๋ยวจะคล้ายกับชาวประมงที่ชอบทอดแหเก่าๆ ที่ขาดๆ ไม่ได้อะไรกินแล้วก็ชักสงสัยว่าที่นี่ไม่มีปลา ทอดไปทอดมา ผลสุดท้ายก็ทอดอาลัยจะต้องพิถีพิถันพอสมควร เช่นดูลมหายใจเข้า ลมหายใจออก มันไม่เหมือนการสอบไล่ในโรงเรียน ถ้าทางโลกนี้สอบได้ ๘๐ % ก็จะได้เกรดเอ อาจได้เกียรตินิยม ทางธรรมนี่ต้อง ๑๐๐ % จึงจะสอบผ่าน เช่นดูลมหายใจเข้า ลมหายใจออก สมมติว่า ๑๐๐ ลมหายใจ ถ้ามีสติแค่ ๘๐ ใน ๑๐๐ สอบไม่ผ่านนะ สอบตก ทางโลก ๘๐ ใน ๑๐๐ ถือว่าเก่ง แต่ทางธรรมไม่ได้ ถ้าไม่ได้ ๑๐๐ เรียกว่าสมาธิไม่เกิด เพราะสมาธิต้องต่อเนื่อง ไม่ให้ขาดแม้แต่น้อย

เราต้องตั้งอกตั้งใจ มุ่งมั่น กำหนดจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ต้องดูอยู่รู้ตลอดเวลา ตลอดลมหายใจเข้า ตลอดลมหายใจออก ตั้งแต่ต้นลม กลางลม จนถึงปลายลม การแยกลมเป็นสามส่วนอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า ต้องตามลมเข้าไปข้างใน ตามลมออกมาข้างนอก แต่หมายถึงว่ารู้ต้นลม กลางลม และปลายลมในจุดที่เราเลือกกำหนดดูลม อย่างเช่นที่ปลายจมูกเป็นต้น ต้นลมก็รู้ กลางลมก็รู้ ปลายลมก็รู้ รู้อยู่ตรงจุดนั้น รู้อยู่ทุกขณะจิต ให้มีพุทโธเป็นที่พึ่งตลอดเวลา ถึงแม้ว่าไม่ได้บริกรรมพุทโธพร้อมกับลมก็ตามที แต่ต้องมีพุทธภาวะอยู่ภายใน

พุทธภาวะคือ ภาวะจิตที่ รู้ ตื่น เบิกบาน เรากำหนดสิ่งใดก็ตาม ต้องตั้งตัวรู้ไว้แล้วไม่ให้อ่อนลง หลวงพ่อชาท่านสอนว่าในการเจริญอานาปานสติมี ๓ อย่างที่จะต้องปรากฏพร้อมกัน หนึ่งคือลม สองคือสติ สามคือจิต ในที่นี้ จิตหมายถึงความรู้ตัวหรือจะเรียกว่าสัมปชัญญะก็ได้ คือรู้ตัว สติคือไม่ลืม ไม่ลืมลม มีลมแล้วก็ไม่ลืมลม ต้องมีการรู้ตัว ระลึกลมได้ไม่ลืม แต่ขาดความรู้ตัว มันจะกลายเป็นการตกภวังค์ได้

ฉะนั้น ต้องทำนุบำรุงพุทธภาวะ บริกรรมพุทโธอยู่บ่อยๆ ด้วยความตั้งใจ รู้ ตื่น เบิกบาน อยู่ในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ เราตื่นอยู่ในปัจจุบันก็มีส่วนแห่งพุทธภาวะ

คำว่า พุทธะ ไม่ใช่ภาษาบาลีอย่างเดียว แต่ปรากฏอยู่ในภาษารัสเซียเหมือนกัน โดยหมายถึงนาฬิกาปลุก ปลุกเหมือนกันแต่ของเราไม่มีนาฬิกาปลุก มีสติปลุก มีความตั้งใจเป็นการปลุกจิตให้ตื่น ระหว่างการทำสมาธิ เราควรสังเกตตัวเอง ว่าเราตื่นไหม การกำหนดคมชัดไหม พอดี ไม่ตึงไม่หย่อนไหม ต้องมีการคอยติดตามการทำงานของเรา เรายังอยู่กับลมไหม หรือว่าเราลืมลมเสียแล้ว ถ้าลืมเรียกว่าสติขาด ไม่เป็นไร ไม่ต้องน้อยใจ ไม่ต้องท้อใจ แต่รีบตั้งต้นใหม่ ถึงจิตใจยังอยู่กับลม ก็ยังประมาทไม่ได้ เพราะถ้าไม่ตื่น ไม่รู้ตัว อย่างแจ่มแจ้ง เริ่มจะเคลิบเคลิ้มแล้ว ต้องระวังเดี๋ยวจะเป็น สมาธิหัวตอ การฝึกจิตสนุกดีอย่างนี้ มีอะไรท้าทายตลอดเวลา ผู้อยู่ในปัจจุบันเป็น ย่อมประจักษ์เลยว่ามันสุขเยือกเย็นจริงๆ

การกล่าวว่า ความสุขไม่ได้อยู่ที่อื่นไกล ความสุขอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ความสุขที่แท้จริงเกิดเองในจิตใจที่บริสุทธิ์ ไม่ได้อยู่ที่การเสพวัตถุ คนเข้าวันก็ คุ้นหู พอสมควร แต่ต้อง คุ้นใจ จึงจะซึ้ง

ความสุขไม่ได้อยู่ในสิ่งที่สัมผัส หากอยู่ที่ตัวผู้สัมผัส ถ้าเราสามารถให้ลูกหลานเราเห็นความจริงนี้ได้จะเป็นบุญอย่างยิ่ง เพราะการพ้นความหลงใหลในวัตถุ และภัยอันตรายที่ตามมาทั้งแก่ตัวเองและสังคม จะเกิดได้ก็ด้วยการศึกษาเรื่องธรรมชาติของความสุข การทำสมาธิภาวนาที่ได้ผลต้องใช้เวลา ฉะนั้น ต้องติดตามผลงาน จึงจะรักษากำลังใจไว้ได้

ถ้ามีเวลาจำกัดนั่งสมาธิตอนเช้าดีกว่าตอนกลางคืน ถ้าเรามีเวลานั่งทั้งเช้าทั้งเย็นได้จะดีที่สุด แต่ถ้าเกิดไม่มีโอกาส ต้องเลือก เลือกตอนเช้าดีกว่า เพราะผู้ที่ชอบนั่งสมาธิก่อนนอน มักจะนอนก่อนสมาธิ ดึกแล้ว ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่ม เหนื่อยจากการทำงานแล้ว ร่างกายต้องการพักผ่อน นั่งก็เป็นเรื่องธรรมดาว่าไม่กี่นาทีก็อยากหลับ ไม่ชำนาญหรือไม่ตั้งใจจริงๆ ก็จะแพ้ อยู่ไปอยู่มา การนั่งสมาธิกลายเป็นการกล่อมประสาทก่อนนอนเฉยๆ ดีเหมือนกันสำหรับผู้นอนไม่หลับ ดีกว่าทานยา แต่มันไม่ดีสำหรับผู้ต้องการความตื่นในปัจจุบัน ยิ่งร้ายอาจจะทำให้มีนิสัยนั่งแล้วสัปหงก

ถ้าจะให้ดีกว่านั้น ควรจะลองนั่งสมาธิตอนเช้า ตื่นแต่เช้าหน่อย ล้างหน้าล้างตา ไหว้พระแล้วนั่ง เช้ามืดก็เงียบดี ไม่มีอะไรรบกวน ไม่มีใครโทรมา เลือกแล้วไปอาบน้ำเตรียมตัวไปทำงาน ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่นานก็จะเห็นว่าเยือกเย็นกว่าแต่ก่อน...สบาย ถ้าเก่งแล้วจะเหมือนจิตใจอยู่ในห้องติดแอร์ อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่ใช่เฉยเมยนะ ไม่ใช่ว่าอะไรๆ ก็ได้ อันนั้นก็ไม่ใช่เหมือนกัน ไม่กลุ้มใจกับปัญหา ไม่ประมาทกับปัญหา ก้าวไปทีละก้าวอย่างมีสติ ไม่เกิดอาการตระหนกตกใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ยืดหยุ่นมั่นคง

(มีต่อ ๖)

แปดคิว:
ยาวไปหน่อยแต่ก็ละเอียดดีครับสาธุ :07: :45: :45:

ดอกโศก:
จำได้ว่าตอนอ่านหนังสือเล่มนี้ครั้งแรกที่วัด ชอบมากค่ะ

และเป็นจุดเริ่มต้นของการอ่านเล่มอื่นๆตามมา แล้วก็เรื่อยไปถึงการฟังธรรมของท่านเพิ่มมากขึ้นค่ะ ^^

ขอบคุณพี่แป๋มที่นำมาปันให้อ่านเป็นธรรมทานค่ะ
และขออนุโมทนาสาธุกับกุศลผลบุญจากทานในครั้งนี้ของพี่แป๋มด้วยค่ะ

 :13:

ฐิตา:



เกิดวิกฤติอะไรขึ้นมา ปุ๊บปั๊บอย่างไม่คาดคิดว่าจะเป็นได้ คนที่มีจิตใจไม่ตั้งมั่นก็มักนึกไม่ออก วุ่นวาย ตัดสินไม่ถูก ทำไม่ถูก พูดไม่ถูก หรือถ้าทำอะไรมักผิดพลาด ส่วนผู้ที่ระงับอารมณ์ได้เป็นผู้ที่รู้สึกพร้อมที่จะรับทุกเรื่องที่เกิด ขึ้น จิตใจไม่วิ่งไปตามอารมณ์ เช่นไม่กลัวเพื่อนตำหนิ ไม่กลัวขายหน้าลูกน้องเป็นต้น นักปฏิบัติก็มีความรู้สึกเหมือนกัน ไม่ใช่ก้อนหิน แต่จิตใจไม่ได้เข้าไปยึดหมายมั่นมัน มันก็เป็นแค่ของระคายนิดๆ มันไม่เหมือนแต่ก่อน สามารถใช้ความรู้ความสามารถของตนอย่างรอบคอบ โดยอารมณ์ไม่ทับถม

อากาศย่อมมีผลกระทบต่อคนทำงานอยู่กลางแจ้ง นาย ฤ. (ในหนังสือเล่มนี้ นาย ก. ขอพักผ่อน เป็นตัวอย่างในหนังสือหลายเล่มแล้วเหนื่อย) ทำสวน วันไหนร้อนมากก็เป็นทุกข์ วันไหนฝนตกก็ลำบาก นาง ฑ. ทำงานในสำนักงาน เขามองเห็นอากาศภายนอกผ่านกระจก ฝนตกเขาก็รู้ แสงแดดจ้าเขาก็รู้ แต่ก็สักแต่ว่ารับรู้เท่านั้น อุณหภูมิในที่ทำงานไม่เปลี่ยนตามเพราะทำงานอยู่ในห้องแอร์ ฉันใดก็ฉันนั้น คนที่ไม่ได้ฝึกจิตเหมือนกับอยู่กลางแจ้ง ฝนตกก็เปียก แดดออกก็ร้อนเหงื่อออก อะไรจะเกิดขึ้นก็รับผลกระทบทันที เพราะไม่มีที่หลบหลีก ส่วนนักปฏิบัติ เย็นตลอดเหมือนติดแอร์

ชีวิตของเราเป็นของไม่แน่นอน ไม่มีสูตรสำเร็จรูปที่ไหน ที่เราสามารถจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าเพื่อจัดการปัญหาต่างๆ โดยอัตโนมัติ นี้คือข่าวร้าย ข่าวดีก็คือผู้มีสติ จิตไม่วอกแวก สำรวมระวัง สามารถวางตัวให้พอดีกับปัญหาได้ บางเรื่องเราแก้ไม่ได้หรอก ต้องยอมรับ ต้องอดทน สู้ก็ไม่เกิดประโยชน์เหนื่อยเปล่า ต้องอดทน แต่บางครั้งเรื่องไม่ควรอดทน ต้องรีบแก้ไข บางเรื่องต้องต่อสู้ บางเรื่องเกิดความไม่เข้าใจกันแล้วควรจะชี้แจง ทำความเข้าใจ บางเรื่องดูก่อน อย่าเพิ่งพูดดีกว่า บางทีข้อมูลเราไม่ครบ อาจจะมีบางสิ่งบางอย่างที่เราเข้าใจผิดก็ได้ ก็ค่อยๆ เก็บข้อมูลให้มากกว่านี้หน่อยจึงค่อยพูด บางเรื่องไม่พูดเลยดีกว่า พูดอย่างไรเขาจะไม่เชื่อ เขาจะเอาคำอธิบายของเราเป็นคำแก้ตัว ปากเราคันก็ให้มันคันไปเถอะ ไม่เคยมีใครตายเพราะปากคัน

เป็นนักปฏิบัติต้องยกสติปัญญาสูงกว่าอารมณ์ พอจิตใจวางความวุ่นวายได้จะละเอียดอย่างนี้ คือจะไม่หมายมั่นปั้นมืออย่างแข็งกระด้าง เวลาควรเป็นผู้นำก็นำได้ โอกาสบอกว่าเดี๋ยวนี้ควรจะเป็นผู้คล้อยตามก็คล้อยตามได้ โดยไม่ต้องมีอัตตาตัวตนว่าเราต้องเป็นผู้นำเสมอ หรือว่าไม่มีอัตตาตัวตนว่าเราเป็นผู้น้อย ต้องเป็นผู้ตามอยู่เสมอ เอาความถูกต้องเป็นที่พึ่ง

จิตใจของเราจะค่อยมีความรู้สึกต่อสิ่งเหมาะสม สิ่งไม่เหมาะสม มีความรู้สึกต่อสิ่งที่พอดี สิ่งที่ไม่พอดี มันเป็น sense อย่างหนึ่งที่ปรากฏ และเราจะสัมผัสอารมณ์ของคนอื่นได้ดีด้วย โดยไม่ทิ้งหลัก “ไม่แน่” ไม่เลิกการเชิดชูความไม่ประมาทตลอดเวลา ไม่เอาสัญญาเก่าไปประทับตราคนอื่นง่ายๆ คือ สมมุติว่าเคยมีเรื่องทำให้ระแวงนาย ฒ. ไม่ใช่ว่าจะระแวงเขาตลอดไป เราเอาแค่ระวังก็พอ ไม่อย่างนั้นจิตจะขาดสติต่อความเป็นจริงของนาย ฒ. ในปัจจุบัน เขาอาจจะกลับตัวแล้วก็ได้ เราไม่รู้ ควรให้โอกาสเขาก่อน โดยถือว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะมีข้อมูลชัดเจนว่ามีความผิด อย่างนี้ก็ยุติธรรมกว่า และจิตใจเราจะเป็นกุศล

ถ้าจิตใจเราสงบ ไม่คิดปรุงแต่ง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วุ่นวาย อะไรจะเกิดขึ้นในจิตใจเราต้องรู้อยู่ เหมือนกับศาลานี้ ถ้าว่าง ใครจะเดินเข้ามาเราก็รู้ทันที นั่งอยู่ตรงนี้ ลืมตาอยู่ ใครจะเดินเข้าเดินออก เราก็เห็น แต่จิตไม่สงบเหมือนศาลาเต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ หรือสิ่งของหรือมีคนนั่งเต็มศาลาคุยกันแซด ใครจะเดินเข้าเดินออกอาจจะไม่เห็นหรือไม่สังเกต หลวงพ่อชาท่านเคยสอนเราว่า ผู้มีสติเหมือนกับเจ้าของร้านขายของ กลุ่มวัยรุ่นเข้ามาในร้านเมื่อไหร่เจ้าของก็ระวังเป็นพิเศษ ระวังของ กลัวมันหาย เด็กก็เลยไม่กล้าทำอะไร

ผู้มีสติจะระวังคุณงามความดีของตนไว้อย่างนี้เหมือนกัน ไม่ให้กลุ่มกิเลสมีโอกาสแอบขโมยมันไป จะคิดอยู่เสมอว่าทำอย่างไรจิตใจเราจะได้ดำรงอยู่ในสภาพที่เป็นกุศล ทำอย่างไรบาปอกุศลทั้งหลายไม่ครอบงำ เขาจะหาอุบายอันแยบคายเพื่อรักษาความรู้สึกผิดชอบไว้อยู่ทุกขณะจิต มีสติมีความเพียรพยายาม นี่คือหลักความไม่ประมาท การทำสมาธิภาวนาทุกวันๆ เป็นส่วนสำคัญของชีวิตที่สมบูรณ์ เปรียบเหมือน การเว้นวรรคตอน เราเขียนหนังสือ เขียนหนังสือโดยไม่เว้นวรรคตอนเลย ไม่ย่อหน้าเลย ก็ดูไม่งาม ดูไม่ดี ความหมายก็ไม่ชัดเจน ชีวิตคนเราต้องมีการเว้นวรรคอยู่บ้าง เหมือนกับเรา มีหน้าที่กันมาก หน้าที่เป็นพ่อหรือเป็นแม่เขาบ้าง หน้าที่ที่เป็นลูกเป็นหลานเขาบ้าง เป็นพี่เขาบ้าง เป็นน้องเขาบ้าง เป็นเจ้านายเขาบ้าง หน้าที่เราเยอะ แต่การทำหน้าที่เป็นประจำ ทำไปเรื่อยๆ ก็เป็นเหตุให้เราหลงได้เหมือนกัน มันมักชวนให้เรายึดติดหรือเอาศักดิ์ศรีของเรา เอาความรู้สึกว่าอัตตาตัวตนไปผูกพันกับหน้าที่นั้น

การทำสมาธิภาวนาคือการพัก ในชีวิตประจำวันต้องสวมหน้ากากนั้นหน้ากากนี้อยู่ตลอดเวลา นั่งสมาธิก็คือการถอดหน้ากากออกทั้งหมด กลับมาหาธรรมชาติของตนเอง ธรรมชาติของตนเองคืออะไร คือร่างกายและจิตใจ มีร่างกายนั่งอยู่ตรงนี้ หายใจเข้า หายใจออก มีความรู้สึกนึกคิด เกิดขึ้น ดับไป นี่คือธรรมชาติของเรา และขอให้สังเกตว่าจิตใจเราเริ่มสงบ ไม่คิด ไม่ปรุงอะไร ความจำได้หมายรู้ต่างๆ ก็ค่อยจางไป แม้จนกระทั่งความรู้สึกว่าเราเป็นชื่อนั้นชื่อนี้ ความคิดว่าเป็นผู้ชาย หรือเราเป็นผู้หญิง เราเป็นนั่นเป็นนี่ ไม่ปรากฏ จิตใจสงบแล้ว มีแต่สติ มีแต่สัมปชัญญะ ความระลึกได้ ความรู้ตัวอยู่ในปัจจุบัน มีแต่ พุทธภาวะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

ในพระพุทธศาสนาเรามีหลักการว่า ความจริงมีสองระดับ ระดับแรกคือความจริงของธรรมชาติซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง เป็นอกาลิโก ระดับที่สองคือความจริงที่เกิดจากการตกลงกัน เช่นเราตกลงว่าเมืองนี้ชื่อเมืองอุบลฯ ประเทศนี้ชื่อเมืองไทย ธรรมชาติไม่เคยบอกหรอกว่าที่นี่คือเมืองไทย ที่นี่ลาว ที่นี่เขมร เป็นเรื่องที่คนเราบัญญัติเอง เรียกว่าเป็นความจริงโดนสมมุติ ความจริงนี้เปลี่ยนแปลงได้ มนุษย์เราชอบสับสนระหว่างความจริงสองระดับนี้ ห่างไกลจากธรรมชาติของตัวเอง มักจะยึดมั่นถือมันในสมมุติว่าจริงแท้ เลยทุกข์ไม่มีจบสิ้น การฝึกจิตช่วยให้เราเห็นว่าอะไรเป็นอะไร

อุปมาเหมือนเรานั่งในโรงหนัง แล้วหันกลับไปดูข้างหลัง เห็นที่มาของเรื่องบนจอซึ่งกำลังชวนให้เราหัวเราะและร้องไห้ ทั้งหมดเกิดจากแสงที่ออกจากเครื่องฉายหนังภาพยนตร์ คือชีวิตของเราในสังคม ชวนให้เราหัวเราะและร้องไห้ทุกวัน ถ้าเราสามารถหันไปดูแสงที่เป็นที่มาของมัน เราะจะไม่หลง

การนั่งสมาธิเป็นการบริหารสติ การฝึกดูความจริงของชีวิตช่วยให้เราปล่อยวาง เมื่อเห็นสิ่งต่างๆ ในชีวิตตามความเป็นจริงมากขึ้น เราจะไม่วิตกกังวลเรื่องต่างๆ จนเกินไป ไม่หวังนั่นหวังนี่จนเกินไป เราจำได้ว่ามันเป็นเพียงแค่นั้นแหละ เป็นแค่ภาพยนตร์ชีวิต เราเป็นทั้งผู้ดูและพระอกหรือนางเอก ให้รู้เท่าทัน เราทำงานอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราไม่ระวัง เรามักหมกมุ่นแต่ในรายละเอียดของงานหรือข้อปลีกย่อย เลยเสียเวลา หรืออุดตันไปเสียเลย เพราะไม่สามารถถอยออกมามองภาพรวม ปล่อยให้การสร้างเหตุขัดกับผลที่ต้องการ การทำงานอะไรทุกอย่างจึงต้องหาความพอดีระหว่างการเอาจริงเอาจังกับข้อปลีก ย่อยหรือรายละเอียด กับการระลึกถึงภาพรวม เป้าหมาย จุดหมายปลายทาง และหนทางที่ตรงที่สุดต่อผลที่พึงประสงค์

ตัวชีวิตของเราก็เหมือนกัน เราต้องมีการถอยตัวออกมาพิจารณาภาพรวมเป็นครั้งคราว การทำสมาธิจะช่วยให้เราได้ทำอย่างนั้นได้ คือ ถอยออกจากอารมณ์สักหน่อยหนึ่ง เป็นประจำทุกวัน สัมผัสธรรมชาติภายในที่ละเอียดลึกซึ้ง นอกเขตความคิด เหนือภาษา เพื่อจะไม่หลงใหลกับมายาของโลก และไม่ลืมเป้าหมายของชีวิต

การทำสมาธิจึงช่วยได้ตั้งแต่เรื่องธรรมดาๆ หรือง่ายๆ ในชีวิตประจำวันตลอดจนถึงเรื่องสูงสุด คือการบรรลุมรรคผล นิพพาน การพ้นทุกข์ในระดับสูงเกิดจากปัญญาระดับวิปัสสนา ปัญญาระดับวิปัสสนานั้นเกิดจากจิตใจที่สงบ ไม่มีนิวรณ์ จิตใจที่พ้นนิวรณ์ คือจิตใจที่ได้รับการฝึกอบรมทางสมาธิภาวนา

(มีต่อ ๗)

ฐิตา:



ฉะนั้น ผู้ที่ต้องการพ้นทุกข์ไม่ว่าระดับไหนก็ตาม ควรสนใจการทำสมาธิภาวนา บางคนถามว่าเอาแต่เจริญสติในชีวิตประจำวันได้ไหม ถ้าทำสติมีความรู้อยู่ทุกอิริยาบถไม่ทำสมาธิได้ไหม ? ไม่ได้ คือต้องทำ ถ้าไม่ทำ สติเราจะไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของกิเลส และจิตใจจะไม่เข้มแข็งพอที่จะปฏิเสธการสำออยของมัน จิตใจที่มีสมาธิย่อมมีกำลังมาก ผู้ที่มีบารมีมาแต่ปางก่อนบางท่าน ทำสมาธิแล้วเกิดปาฏิหาริย์ต่างๆ เช่น รู้วาระจิตของคนอื่นบ้าง รู้เรื่องอนาคตบ้าง มีตาทิพย์ หูทิพย์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีจริง เป็นผลพลอยได้จากการฝึกจิตในขั้นสูง นักภาวนาที่ไม่มี ไม่ควรตื่นเต้นในเรื่องนี้ หรือเอาเป็นเป้าหมายในการปฏิบัติของตน คติธรรมที่ควรจะได้คือสิ่งอัศจรรย์เหล่านี้พิสูจน์อย่างชัดเจนว่า จิตที่ได้รับการฝึกอบรมที่ดีแล้ว มีกำลังและสมรรถภาพเหนือวิสัยสามัญ

พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะเป็นเพื่อนสนิทกัน ต่างคนต่างเป็นพระอรหันต์ด้วยกัน และเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวาของพระพุทธองค์ พระสารีบุตรได้ญาณสมาบัติครบถ้วน รูปฌาน อรูปฌาน นิโรธสมาบัติ ได้หมดเลย แต่ไม่มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แม้แต่น้อย ส่วนพระโมคคัลลานะ ท่านเป็นสาวกที่ยอดเยี่ยมในการมีฤทธิ์มีเดช พระสารีบุตรเคยพลาดพลั้งบางครั้งเหมือนกัน อย่างเช่นวันหนึ่งเจอพระหนุ่มรูปหนึ่ง เห็นว่าพระรูปนี้ท่าทางเก่งมีแวว ท่านจึงเมตตาแสดงธรรมที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเพียรของพระรูป นี้ ที่พระสารีบุตรไม่ทราบก็คือ พระรูปนี้เป็นพระอรหันต์เรียบร้อยแล้ว พระสารีบุตรถึงแม้จะเป็นพระอรหันต์ แต่ก็ดูไม่ออก ท่านไม่มีความสามารถทางด้านนี้

อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ เราจะเอาเป็นเครื่องวัดความสำเร็จของการฝึกจิตไม่ได้ ถ้าได้อิทธิปาฏิหาริย์ พระพุทธเจ้าตรัสว่าดี เพราะผู้มีปัญญาสามารถเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่น โดยเฉพาะการรู้วาระจิตคนอื่น แต่สำหรับปุถุชนคนธรรมดา ได้แล้วอันตรายเหมือนกัน ทำให้เพลิดเพลินและหลงตัว ยกตนข่มท่านด้วยเชื่อว่าเก่งขนาดนี้คิดผิดไม่ได้ สิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ไม่เป็นเครื่องหมายแน่นอนของพระอริยะ พระเทวทัต สมาธิท่านดี อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ท่านเก่งมาก ก็ทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูหลงเลื่อมใส สุดท้ายก็ฆ่าพ่อ เพราะเชื่ออาจารย์วิเศษที่บอกว่าไม่บาป

ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรกำลังนั่งสมาธิ ยักษ์นักเลงตัวเบ้อเร่อเบ้อร่าไปทุบศีรษะท่านอย่างแรง แต่เนื่องจากสมาธิของท่านหนักแน่นมาก ท่านก็นั่งต่อโดยไม่รู้สึกอะไร พอดีพระโมคคัลลานะก็อยู่ตรงนั้น และท่านมีฤทธิ์สามารถเห็นการรังแกของยักษ์ได้ พอพระสารีบุตรเลิกจากการนั่งสมาธิ พระโมคคัลลานะถามว่า เมื่อกี้นี้เป็นอย่างไรไหม ตอนนั่งสมาธิมีความรู้สึกผิดปกติอะไรบ้างไหม พระสารีบุตรตอบว่าไม่มีอะไร มีปวดศีรษะนิดๆ อยู่พักหนึ่ง พระโมคคัลลานะชอบใจชมว่า น่าอัศจรรย์ พระสารีบุตรน่าเลื่อมใสจังเลย สมาธิแน่วแน่เหลือเกิน ขนาดยักษ์ตนใหญ่มารังแกก็ยังไม่รู้สึกอะไร น่าอัศจรรย์

พระสารีบุตรบอกเพื่อนว่าไม่ใช่หรอก พระโมคคัลลานะต่างหากที่เก่ง สามารถเห็นสิ่งพรรค์นี้ได้ทุกอย่าง ผมนี้ไม่มีสิทธิ์เห็นเลย ไม่เคยเห็นสักที พวกยักษ์ ยักขินี เหล่าเทวดามารพรหม ไม่เคยเห็น แต่ท่านเห็นได้หมด น่าอัศจรรย์จริงๆ พระสารีบุตรก็ว่าอย่างนั้น ต่างคน ต่างชมเชยซึ่งกันและกัน ตามประสาของผู้เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน พระสารีบุตรไม่น้อยใจ ไม่อิจฉาว่าพระโมคคัลลานะมีฤทธิ์มีเดชแต่ตัวเองไม่มี ส่วนพระโมคคัลลานะก็ไม่เคยปรากฏว่าอิจฉาปัญญาหรือผลสำเร็จใดๆ ของพระสารีบุตร ต่างคนต่างชมเชย ยินดีอนุโมทนาในความดีของซึ่งกันและกัน นี่เราควรเอาเป็นตัวอย่างของเพื่อนที่ดี

หลักการสำคัญที่ขอย้ำไว้ที่นี่ ก็คือสมาธิเป็นเครื่องข่มกิเลสไว้ ไม่ใช่เป็นตัวทำลายกิเลส แต่ก็จำเป็น เพราะการข่มกิเลสไว้ทำให้ปัญญามีโอกาสทำงานคล่องแคล่ว เหมือนหมดผ่าตัด ต้องวางยาสลบก่อนผ่า ไม่วางยาสลบจะผ่าตัดยากเพราะคนไข้เจ็บแล้วต้องดิ้น สมาธิเหมือนยาสลบ สิ่งที่สลบไปก็คือ ความรู้สึกยินดียินร้าย ความหลงใหลตามสิ่งที่ปรากฏอยู่ในจิต ด้วยความพอใจและไม่พอใจ เมื่อจิตไม่เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ มีการรับรู้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็จะเห็นชัดขึ้นซึ่ง อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความบกพร่อง ความไม่สบบูรณ์ และ อนัตตา ความไม่มีเจ้าของหรือแก่นสารในสิ่งเกิดดับ

คำว่า ทุกขัง ไม่ได้หมายถึงความ เจ็บปวดทางกาย หรือความทรมานใจอย่างเดียว ทุกขังแปลว่าไม่สมบูรณ์ก็ได้ มีความบกพร่องเป็นนิจก็ได้ คือสิ่งใดที่เกิดแล้ว ตั้งอยู่ ดับไป ถือว่าไม่สมบูรณ์ด้วยเหตุผลว่า อะไรที่สมบูรณ์แล้วก็ไม่ต้องแปรเปลี่ยนและเปลี่ยนไม่ได้ ต้องอยู่นิ่งอิ่มของมันอยู่ตลอดกาลนาน แต่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ไม่เป็นอย่างนั้น มันไม่มีที่พัก ไม่มีที่หยุดได้ เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกเวลานาที ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่ง ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ไม่รู้เสื่อม เสื่อมทั้งนั้นไม่เร็วก็ช้า ฉะนั้น ท่านจึงทรงชี้ให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายขาดความสมบูรณ์ ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ ไม่ว่าโลกภายนอกหรือโลกภายใน ที่เรียกว่าดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องแปรปรวนเป็นอย่างอื่น มันอดเปลี่ยนไม่ได้ เพราะถูกธรรมชาติบังคับให้เปลี่ยน พระพุทธองค์ตรัสว่าผู้ได้บรรลุความจริงข้อนี้ได้ ก็จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในสังขาร ถ้าจิตใจสงบนิ่งดิ่งลงไป เข้าสมาธิแน่วแน่แล้ว ถอนออกมาดูความเกิดดับของอารมณ์ อารมณ์ที่เกิดดับอยู่ในขณะนั้น เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ความรู้สึกนึกคิดในตอนนั้นละเอียดพอสมควร แต่ถึงจะไม่ทรมานใจ ไม่ทุกข์ในความหมายสามัญ ยังคงเป็นทุกข์ในความหมายว่าไม่สมบูรณ์ มีความพร่องเป็นนิจ อย่างชัดเจ เพราะความรู้สึกนึกคิดอะไรก็แล้วแต่ มันทนอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่งไม่ได้ มันต้องเปลี่ยนเพราะเหตุปัจจัยให้เปลี่ยน

โดยปรกติคนเราเชื่อว่าเราเป็นผู้คิด เราเป็นผู้รู้สึก แต่ที่นี่ความจริงจะปรากฏว่า แม้ความเชื่อนั้นเป็นสักแต่ว่าส่วนหนึ่งของกระแสของเหตุปัจจัย ไม่มีตัวเราที่ไหนที่ฝืนธรรมชาติได้ อุปมาว่า เรือชีวิตไม่ได้อยู่ในกรรมสิทธิ์ของเรา เราเป็นแค่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราคิดพิจารณาด้วยสติปัญญาสามัญ เราก็พอเข้าใจอยู่ ทำให้เกิดศรัทธา แต่จะให้ทะลุปรุโปร่งต้องอาศัยจิตพ้นจากนิวรณ์ จิตสงบจึงก้าวเลยศรัทธา แต่จะให้ทะลุปรุโปร่งต้องอาศัยจิตพ้นจากนิวรณ์ จิตสงบจึงก้าวเลยศรัทธาได้ เห็นจริงรู้แจ้ง จนกิเลสทั้งหลายไม่อยู่ เพราะมันอาศัยอาหารคือการหลงสำคัญผิดว่าสิ่งที่สุขล้วนสมบูรณ์และมีแก่นสาร จริง

สมาธิ ทำไมต้องนั่งหลับตา ทำไมเราต้องทำสมาธิ ถ้าไม่ทำสมาธิจิตใจไม่สงบ ไม่ทำสมาธิจิตไม่มีกำลัง ไม่ทำสมาธิ จิตใจไม่เข้มแข็ง ไม่มีความสุข ไม่ทำสมาธิ ปัญญาไม่เกิด ปัญญาไม่เกิดแล้ว เราไม่เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ดับทุกข์ ดับกิเลสไม่ได้ ต้องถูกบังคับให้ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างซ้ำซากไม่มีที่สิ้นสุด

ฉะนั้น ผู้ที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา เชื่อว่าชีวิตจะดีงามมีค่าก็ด้วยการศึกษา ต้องมุ่งมั่นพัฒนาชีวิตในทุกๆ ด้าน ด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ ด้านปัญญา ท่านจึงให้เราแบ่งเวลาในแต่ละวัน ให้นั่งหลับตานอกบ้าง เพื่อให้ลืมตาใน คือตาที่เห็นทางไปสู่ความเป็นอิสระอย่างแท้จริง

>>>>> จบ >>>>>




ที่มา : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9500
Pics by : Google
สุขใจดอทคอม * อกาลิโกโฮม
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version