ผู้เขียน หัวข้อ: 'ปี๋ใหม่เมือง' ของยายมูล  (อ่าน 1390 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
'ปี๋ใหม่เมือง' ของยายมูล
« เมื่อ: เมษายน 14, 2011, 09:01:39 am »



ยายมูล อินตา


ก่อเจดีย์ทราย




ฟังเลคเชอร์ปี๋ใหม่เมือง ฉบับมุขปาฐะจากล้านนารุ่นย่า ไม่เคร่งขรึม ซ้ำสนุกสนานมีชีวิตชีวา ชวนเก็บกระเป๋าไปฉลองสงกรานต์เมืองเหนือขึ้นมาตะหงิดๆ

 
ปี๋ใหม่เมือง หรือเทศกาลสงกรานต์ปีนี้ ใครจะคิดอย่างไรไม่รู้ แต่สำหรับยายมูล อินตา หญิงชราวัย 80 ปี  แห่งชุมชนวัดศรีมาราม  หมู่2 ต.สันกลาง อ.สันกำแพง จ .เชียงใหม่แล้ว  "ปี๋ใหม่เมือง" มีความสำคัญมากสำหรับยาย

ประการหนึ่งในแง่เศรษฐกิจ  ยายจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจากการรับจ้างทำกระทงเครื่องสังเวย  ที่คนจะมาสั่งซื้อไปใช้ประกอบพิธีกรรมขึ้นท้าวทั้ง4ในวันสงกรานต์  ซึ่งปัจจุบัน คนทำ อาชีพนี้แทบไม่มีแล้ว เพราะคนรุ่นใหม่มองข้าม ทั้งยังเป็นงานที่ต้องอาศัยความรู้ภูมิปัญญาเดิมร่วมกับฝีมือการประดิษฐ์ประดอยที่ละเอียดละออ

 "ยายมูล"  อาศัยอยู่ในชุมชนวัดศรีมาราม ชุมชนชาวไทเขินที่บรรพบุรุษอพยพกันมาจากแถบสิบสองปันนา  เชียงตุงและเชียงแสน   เข้ามาปักหลักสร้างถิ่นฐานอยู่ร่วมกับชาวมอญในตำบลข้างเคียงเหมือนพี่น้อง ซึ่งเข้ามาตั้งรกรากอยู่ร่วมกันที่จ.เชียงใหม่ไม่ต่ำกว่า 200 ปีแล้ว

 ลูกหลานชาวเขินในชุมชนวัดศรีมารามประกอบอาชีพเกษตรกรรม  มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย  พอเลิกการทำนาในยุครัฐบาลฟองสบู่แตกสมัยพลเอกชาติชาย ชุณหวัณ อดีตนายกรัฐมนตรี ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยพากันขายที่ดินให้แก่นายทุนไปทำที่ดินจัดสรร

 แต่ชุมชนนี้ยังคงจุดเด่นเอาไว้ตรงที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังทำธุรกิจขนาดเล็ก  เปิดร้านค้า  ร้านขายของชำ  บางรายขี่รถจักรยานยนต์นำพืชผักสวนครัว  ผักพื้นบ้านและดอกไม้ที่ปลูกเองตามหลังบ้านไปขายที่ตลาดวโรรส(กาดหลวง)  บางรายแม้จะเลิกทำนาแต่ก็ยังปลูกผัก เช่นตำลึง  ตะไคร้  ถั่ว  ผักเซียงดา  ผักคาวตอง ฯลฯ  ไว้เพื่อทำอาหารพื้นเมืองทางเหนือไปวางขาย เช่น ข้าวกั้นจิ๊น  ข้าวหนุกงา  ไข่ป่าม  ขนมกน  เรียกว่ายังคงวิถีชีวิตที่เรียบง่ายไว้อย่างมั่นคง
 ชาวบ้านที่นี่ยังใช้วัดเป็นศูนย์รวมในการพบปะพูดคุยทำกิจกรรมต่างๆ   ใครจะขึ้นบ้านใหม่  ทำครัว  สืบชะตาก็จะมาโอภาปราศรัย   ยังมีความรักสามัคคีช่วยเหลือเผื่อแผ่กันอย่างเหนียวแน่น  เมื่อไม่ได้ทำนาชาวบ้านส่วนใหญ่ยังยึดโยงอยู่กับอาชีพทำงานฝีมือที่อยู่บนฐานของภูมิปัญญาท้องถิ่นและวิถีเดิม  ที่โดดเด่นได้แก่ รับทำกรวยดอกไม้  สานก๋วยตี๋นช้าง(สังฆทานบ่เก่า) ซึ่งเป็นสังฆทานแบบจักรสานที่ไม่ใช้ถังเหลืองแบบชาวเมือง  รับทำโคม  ว่าวไฟ ผางประทีป  การตีสลุงเงินและเครื่องเขิน  ซึ่งใช้ทักษะฝีมืองานช่างสูง   แต่ละปีจะมียอดสั่งทำจากต่างจังหวัดทั้งสุโขทัย  กรุงเทพฯ  และภาคใต้เข้ามาไม่ขาดสาย   
 เฉพาะ "ยายมูล"  ก่อนถึงเทศกาลสงกรานต์เชียงใหม่  จะมียอดสั่งทำกระทงเครื่องสังเวยท้าวทั้ง4  ซึ่งแต่ละกระทงประกอบไปด้วย  เครื่อง9 ได้แก่ บุหรี่ขี้โย  จับเมี่ยงเป็นคำ  พลู  หมาก  ปูน  กล้วยอ้อย  ข้าวแต๋น  ใบไม้มงคล เช่นใบบ่โจ้ก หรือไม้มงคล  รวมถึงนำตุงหรือธง ไปปัก เครื่องสังเวยดังกล่าวนี้ 1 ชุดต้องทำขึ้นมาทั้งหมด 6 กระทง คนเหนือจะสั่งซื้อไปใช้ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามบ้านและในวัด  ในวันสงกรานต์วันแรกและวันสุดท้ายคือวันสังขารล่องและวันปากปี(ปากปี๋)ซึ่งตรงกับวันที่ 13และ16 เมษายนของทุกปี 

 ยายมูลบอกว่าปีนี้เริ่มมียอดสั่งทำเข้ามาแล้ว  ยายจะต้องเหน็ดเหนื่อยในการตระเตรียมสิ่งของเครื่องเซ่น  แต่ทำคนเดียวก็ไม่ไหว เพราะสังขารเป็นอุปสรรค  พักหลังเมื่อลูกค้าสั่งทำเข้ามามาก  ต้องว่าจ้างลูกหลานแท้ๆ มาเป็นลูกมือ  ช่วยจีบหมากจีบพลู ปอกอ้อยทำเมี่ยงเย็บกระทง  โดยยายทำหน้าที่กำกับดูแล และถือโอกาสถ่ายทอดความรู้ในวิชาชีพให้ลูกหลานซึมซับไปในตัว

 สงกรานต์ปีก่อนมียอดสั่งทำเข้ามามากจนทำแทบไม่ทัน  แต่ได้ราคาดีปีนี้ก็คาดว่ายอดสั่งทำจะมากเช่นเคย

 "ปีนี้อาจต้องปรับราคาเพราะต้องจ่ายค่าแรงญาติและข้าวของแพงขึ้น" ยายมูลบอกเล่าด้วยรอยยิ้ม เมื่อได้คุยถึงงานถนัด ถือเป็นความสุขใจแถมได้เงิน
 
 
"สังขารล่อง- วันปากปี๋" ที่เปลี่ยนไป
 ความหมายของ "ปี๋ใหม่เมือง" ต่อยายมูลที่สำคัญอีกประการคือ ความสบายใจ  เพราะไม่เพียงแต่ยายเท่านั้น  คนเก่าแก่ ทั้งหมู่บ้านและพื้นที่ต่าง ๆของเชียงใหม่  เชื่อตรงกันว่าเมื่อเทศกาลสงกรานต์มาถึง  ผู้คนจะได้ปัดเป่าเคราะห์ร้ายและสิ่งอัปมงคลในชีวิตในปีเก่าทั้งหมดให้ผ่านพ้นไป 

 หญิงสูงวัยเพื่อนรักของยายมูล  ซึ่งมีทั้งยายออ  ยายจันดี  ยายอรพรรณและยายวันนา ที่อายุน้อยสุดในกลุ่มคือ 65 ปี   ได้มานั่งรวมกันที่ศาลาวัดศรีมารามอีกครั้ง  ทุกคนผลัดเปลี่ยนกันบอกเล่าถึงจารีตและความทรงจำดีๆ ของประเพณี

ปี๋ใหม่เมืองเมื่อ 50-60 ปีก่อน ด้วยบรรยากาศสนุกสนาน
 คุณยายผลัดเปลี่ยนกันเล่าให้ฟังว่า   ตามธรรมเนียมที่ยึดถือสืบทอดกันมา  ข้อปฏิบัติตัวในวันสงกรานต์นั้น  เริ่มจากวันแรกคือ  13 เมษายน  เรียกว่า "วันสังขารล่อง"  ชาวเหนือถือว่าเป็นวันสุดท้ายของปีเก่า  ก่อนไปวัดทุกบ้านจะปัดกวาดทำความสะอาดบ้าน  ซักผ้า  ใช้น้ำขมิ้นส้มป่อยชำระล้างร่างกาย  จุดประทัดให้แล้วเสร็จ  จากนั้นจะนำเอาเสื้อผ้าเก่าหากเป็นเสื้อผ้าที่สวมใส่แล้วไม่ได้ซักของทุกคนในบ้าน ติดขี้ไคลได้ยิ่งดีนำมารวมกันใส่ไว้ในถุง
 มีการเตรียมเครื่องหมากพลู ซึ่งก็คือกระทงเครื่องสังเวยท้าวทั้ง4 ที่สั่งซื้อจากยายมูล หรือบางบ้านก็ตระเตรียมขึ้นเองในแบบชุดเล็ก แต่ละบ้านจะนำไปรวมกันที่วัดในตอนเช้ารอให้พระให้ศีลให้พร  เมื่อเสร็จ พิธีการจะนำเสื้อผ้าเหล่านี้มาสะบัดปัด เคราะห์ออก   พิธีกรรมดังกล่าวเท่ากับเป็นการฟาดเคราะห์ให้ล่องไปกับปีเก่า

 สงกรานต์วันที่สอง ตรงกับวันที่ 14 เมษายน  ชาวเหนือเรียกว่า "วันเนาว์"  หรือวันเน่าซึ่งเป็นวันดา(ตระเตรียมข้าวของ)  วันนี้ห้ามมิให้พูดไม่ดี ดุด่าเฆี่ยนตีเด็ก  พยายามทำจิตใจให้ผ่องใส  พูดจาไพเราะ  แต่งกายสวยงาม  มิเช่นนั้นจะเป็นอัปมงคลแก่ตัวเอง 

 ในอดีตวันนี้ชาวบ้านจะลุกขึ้นมาตระเตรียมอาหารคาวหวาน ได้แก่ ขนมกน(คล้ายกาละแม)  ขนมจ่อก  ห่อนึ่ง(ห่อหมก)  แคบหมู   เพื่อเตรียมนำไปทำบุญให้กับญาติผู้ล่วงลับ  วันนี้จะมีการขนทรายเข้าวัดซึ่งอาจทำตั้งแต่วันแรกคือสังขารล่องก็ทำได้  วิธีการขนทรายเข้าวัด  ของชาวเหนือแต่ก่อนจะใช้น้ำคุ(ถังน้ำ)ไปหาบช่วยกันขนทรายจากที่นาไปยังวัดเพื่อก่อเป็นเจดีย์  นำช่อ(ธงเล็ก)  ตุงราศี  ตุงไจย  ตุงไส้หมู    จากนั้นนำใบเขื่อง  ใบต้นเต่าร้างหรือต้นไม้ที่มีลักษณะแตกหน่อได้ง่ายและเพิ่มจำนวนมากมาปักไว้   ระหว่างขนทรายจะมีการแห่ฆ้อง กลอง หญิงสาวชายหนุ่มจะแต่งกายสวยงามเข้าร่วมขบวน  หญิงมักจะเกล้าผมสูงเหน็บดอกเอื้องสวมเสื้อแขนกระบอกนุ่งซิ่นมีดอกหรือซิ่นพื้นเมือง  ส่วนชายสวมเสื้อม่อฮ่อมพื้นเมืองแล้วมาเล่นสาดน้ำกันในช่วงขนทรายเข้าวัดอย่างสนุกสนาน
 
ยายมูล เล่าเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสภาพการณ์เปลี่ยนไป  ท้องนาเริ่มหดหาย  วิธีการขนทรายเข้าวัดยุคใหม่ได้เปลี่ยนไปเป็นการลงขัน จ่ายเงินสั่งซื้อทรายจากร้านเข้ามาเทไว้ในวัด  จากนั้นจึงทำเป็นเสวียนกองไว้นำไม้ไผ่มาล้อมรอบและก่อเป็นทรงเจดีย์แล้วให้คนนำตุงมาปัก ตามข้อจำกัดที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา  แต่ความหมายของการขนทรายเข้าวัดยังคงความหมายเดิมอยู่คือนำทรายกลับไปคืนสู่ขันธสีมา  หลังจากที่ตลอดปีผู้คนได้เหยียบย่ำเอาทรายติดเท้าออกไปจากวัด  จึงต้องนำกลับมาคืนไว้ที่เดิม 

 สงกรานต์วันที่สาม ตรงกับวันที่ 15 เมษายน  ชาวเหนือเรียกว่า "วันพญาวัน"  ตอนเช้าผู้คนจะไปวัดเพื่อทำบุญใส่บาตรพระ  รวมถึง การตาน ขันข้าวหรือถวายอาหารให้บรรพบุรุษผู้ล่วงลับ  หลังเสร็จพิธีชาวบ้านจะแยกย้ายกันกลับไปกินข้าวที่บ้านแล้วกลับมาที่วัดอีกครั้ง เพื่อฟัง ธรรมเพื่ออานิสงส์ในปีใหม่ และสรงน้ำพระประธาน  ไม้ก๊ำสะหลี  สรงน้ำพระธาตุ โบสถ์วิหารและทุกอย่างที่เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในวัด จากนั้นจะพากันกลับบ้านไปรดน้ำดำหัวคนเฒ่าคนแก่  พอช่วงบ่ายชาวบ้านจะพากันไปแห่ฆ้องแห่กลอง  แห่ไม้ก๊ำสะหลี

 ในส่วนพิธีการรดน้ำดำหัวผู้สูงวัยนั้น ตามธรรมเนียมเดิม ลูกหลานจะจัดเตรียมขันข้าว(สำรับข้าว)ที่ประกอบไปด้วยอาหารการกิน  ทั้งของคาวของหวานเช่น ข้าวแต๋นที่ลูกหลานช่วยกันกดเป็นแผ่นทำเองจากมือ  จัดหาเสื้อผ้าใหม่ๆ ซึ่งมักทอกันเองใต้ถุนบ้านมามอบให้ผู้สูงวัย พร้อมกับมอบห่อหมาก ห่อปูน พร้อมกับจัดเตรียมน้ำขมิ้นส้มป่อย ซึ่งเดิมจะทำขึ้นเองโดยใช้ขมิ้นสดเอามาตำใส่น้ำแล้วใช้ผ้ากรอง เพื่อให้ได้น้ำขมิ้นแท้ จากนั้นจะนำส้มป่อยใส่ลงไปสักฝักสองฝักพร้อมดอกคำฝอยหรือดอกสารภี เพิ่มความหอมชื่นใจ

 แต่ปัจจุบันยึดความสะดวกเป็นหลัก การดำหัวลูกหลานยุคใหม่  มีการนำน้ำขมิ้นส้มป่อยที่มีจำหน่ายเป็นชุดสำเร็จรูปมาผสมน้ำใส่ขัน เครื่องถวายแก่ผู้สูงวัยก็จะมีเพียงชุดเสื้อผ้า กรวยดอก และเงิน จากนั้นให้ผู้เฒ่าปั๋นปอน(อวยชัยให้พร)   

 สงกรานต์วันที่4 ซึ่งเป็นวันสุดท้าย เรียกว่า "วันปากปี" หรือปากปี๋  ช่วงเช้าแต่ละบ้านจะนำเอาเสื้อผ้าใหม่อย่างดีที่ต่างจากวันแรก   พร้อมกระทงเครื่องสังเวยท้าวทั้ง4ที่ประกอบไปด้วยเครื่อง9มาที่วัด โดยให้พระสงฆ์ให้พรเพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคล  ช่วงบ่ายคนในหมู่บ้านจะมารวมตัวกันที่วัด เพื่อทำพิธีสงเคราห์หรือสืบชะตาบ้าน มีการผูกโยงสายสิญจน์จากบ้านมายังวัด ซึ่งพิธีการนี้ต้องตระเตรียมข้าวของ  และอาหารการกินในการประกอบพิธีชุดใหญ่  เมื่อทำพิธีที่วัดเสร็จ  เครื่องสงเคราะห์ในพิธีที่มีทั้งข้าวปลาอาหารทั้ง  ของสุกและดิบและเครื่องสังเวยทั้งหมดจะถูกยกนำไปทิ้งไว้ยังป่าร้าง  และถือว่าวันปากปี๋เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่อย่างแท้จริง

 เมื่อถามยายมูลว่า  "สงกรานต์แต่ก่อนกับตอนนี้อันไหนดีกว่ากัน?.."    ยายมูลนิ่งคิดไปพักใหญ่  ก่อนตอบแบบลังเลว่า   เมื่อ ก่อนดีกว่า อย่างน้อยตอนไปขนทรายเข้าวัดเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ยายได้ไปพบรักกับตาสอน สามีที่เป็นคนในหมู่บ้านเดียวกัน (เสียชีวิตไปหลายปีแล้ว)  และถือเป็นช่วงที่ดีเพราะคนในหมู่บ้านจะได้มาพบปะและมีกิจกรรมร่วมกัน  ทั้งงานบุญ  ร่วมกันทำครัว และ ร่วมเฉลิมฉลอง

   "แต่สงกรานต์เดี๋ยวนี้ก็ดีนะ... "   ถึงตรงนี้ทำเอาคุณยายอีกคนที่นั่งอยู่ด้วยกัน  โพล่งออกมากลางวง  "ถึงสงกรานต์ยายมูลก็จะได้ รับทรัพย์จากการรับทำกระทงเครื่องสังเวยส่งขายไงล่ะ"  จากนั้นเสียงหัวร่อกระเซ้ายายมูลหลายระลอกก็ตามมา  กลบอาการคิดถึงตาสอน สามีที่ล่วงลับ ไปได้แบบทันควัน 
 
 
ใหม่ก็เอาเก่าก็บ่ละ 

 หลังนั่งฟังเรื่องเล่าวันสงกรานต์ในอดีต  นายกอบต.สันกลางอย่าง สมศักดิ์ จีนสกุล จึงผุดความคิดดีๆ ขึ้นมาทันที 
 "ปี๋ใหม่เมืองปีนี้  ผมจะทำโครงการ  'พลิกฟื้นวิถีฐานถิ่นตำบลสันกลาง'  มีการรณรงค์และจัดประกวดการแต่งกายพื้นเมืองสงกรานต์แบบเดิม เพื่อเป็นการอนุรักษ์ประเพณีเดิมเอาไว้  ข้อกำหนดคือผู้เข้า  ร่วมประกวดต้องเป็นคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งจะไปเชิญชวนผู้สูงวัยของแต่ละหมูบ้านในตำบลสันกลางมาร่วมประกวดให้คึกคักและทั่วถึง   

และจะถือโอกาสในช่วงเชิญผู้สูงวัยมาร่วมงานนี้  ให้ลูกหลานได้มีโอกาสมาแสดงออกการขอสุมาคาระวะผู้เฒ่าผู้แก่ในคราวนี้ด้วย ที่ขาดไม่ได้ คือ การแข่งขันการทำลาบเพื่อให้คนบ้านใกล้เรือนเคียงได้ออกมามีกิจกรรมร่วมกัน" ปี๋ใหม่เมืองทุกปีชาวบ้านจะรวมตัวกันออกแรงทำลาบกินเพื่อความสนุกสนานและหวังให้ประสบโชคลาภตามความหมาย

 ถึงตรงนี้ยายมูลและผองเพื่อนรุ่นเดียวกันที่นั่งอยู่ถึงกับเผยรอยยิ้มออกมา โดยเฉพาะที่นายกอบต.บอกว่า "ถ้าเกล้าผมสูงแล้วเหน็บดอกเอื้องแบบยายมูล ตรงสเปคของผู้เข้าประกวดพอดี" 

 สอดคล้องกับที่ ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานคณะกรรมการโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา  ซึ่งร่วมอยู่ในวงสนทนาได้กล่าว เสริมว่า ประเพณี สงกรานต์หรือปีใหม่เมืองแม้จะเปลี่ยนไป  แต่เราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลง เพราะหวนกลับไปไม่ได้  แต่อยากให้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมในแบบ "ใหม่ก็เอา เก่าก็บ่ละ"  อยากให้เป็นการผสมผสานให้มีความงดงามและเหมาะสม  ให้ผู้คนเข้าใจถึงคุณค่าและความหมาย และเป้าหมายที่แท้จริงของประเพณีปี๋ใหม่เมือง

"ปี๋ใหม่เมืองมันมีความหมายอยู่ตรงที่ถือเป็นการเปลี่ยนราศีชำระล้างสิ่งเก่า  ใครโกรธหรือคิดไม่ดีก็ให้หายไป  นำสิ่งดีๆเข้ามาอยู่กับตัว   และยังเป็นการสุมาคาราวะคนแก่คน แสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่ต่อผู้หลักผู้ใหญ่  ขออภัยในสิ่งที่เคยตั้งใจและไม่ตั้งใจขออโหสิกรรม  ทำให้เกิดมิติสัมพันธ์ของคนในครอบครัว  ส่วนรูปแบบก็ว่ากันไปแต่ให้คงความหมายเดิม" ใหม่ก็เอา เก่าก็บ่ละ ของชัชวาล

http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20110413/386093/ปี๋ใหม่เมือง-ของยายมูล.html
" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...