ผู้เขียน หัวข้อ: ประเพณีวันสงกรานต์  (อ่าน 1528 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
ประเพณีวันสงกรานต์
« เมื่อ: เมษายน 13, 2011, 11:39:18 am »



ประเพณีวันสงกรานต์

          ตำนานของสงกรานต์นี้มีปรากฎในศิลาจารึกที่วัดพระเชตุพน โดย ย่อว่า มีบุตรของเศรษฐีคนหนึ่งชื่อ ธรรมบาลกุมาร เป็นผู้ที่รู้ภาษานกแล้ว เรียนไตรเพทจบ เมื่ออายุได้เจ็ดขวบ ได้เป็นอาจารย์บอกมงคลต่างๆ แก่มนุษย์ทั้งปวง ซึ่งในขณะนั้น โลกทั้งหลายนับถือท้าวมหาพรหมและกบิลพรหมองค์หนึ่งว่า เป็นผู้แสดงมงคลแก่มนุษย์ทั้งปวง เมื่อกบิลพรหมทราบ จึงลงมาถาม ปัญหาธรรมบาลกุมาร ๓ ข้อ สัญญาไว้ว่า ถ้าแก้ปัญหาได้จะตัดศีรษะบูชา ถ้าแก้ไม่ได้จะตัดศีรษะธรรมบาลกุมารเสีย   ปัญหานั้นว่า

          ข้อ ๑.เช้าราศีอยู่แห่งใด
          ข้อ ๒.เที่ยงราศีอยู่แห่งใด
          ข้อ ๓. ค่ำราศีอยู่แห่งใด


          ธรรมบาลขอผลัด ๗ วัน ครั้นล่วงไปได้ ๖ วัน ธรรมบาลกุมารก็ยังคิดไม่ได้ จึงลงจากปราสาทไปนอนอยู่ใต้ต้นตาลสองต้น  มีนกอินทรี ๒ ตัวผัวเมียทำรังอาศัยอยู่บนต้นตาลนั้น ครั้งเวลาค่ำนางนกอินทรีจึงถามสามีว่า พรุ่งนี้จะได้อาหารแห่งใด สามีบอกว่า จะได้กินศพธรรมบาลกุมาร ซึ่งท้าวกบิลพรหมจะฆ่าเสีย เพราะทายปัญหาไม่ออก นางนกถามว่า ปัญหานั้นอย่างไรสามีจึงบอกว่า ปัญหาว่าเช้าราศีอยู่แห่งใด เที่ยงราศีอยู่แห่งใด ค่ำราศีอยู่แห่งใด นางนกถามว่า จะแก้อย่างไร สามีบอกว่า เช้าราศีอยู่หน้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างหน้า เวลาเที่ยงราศีอยู่อก มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาเครื่องหอมประพรมที่อก เวลาค่ำราศีอยู่เท้า มนุษย์ทั้งหลายจึงเอาน้ำล้างเท้า
          ครั้งรุ่งขึ้นท้าวกบิลพรหมมาถาม ปัญหาธรรมบาลกุมารก็แก้ตามที่ได้ยินมา ท้าวกบิลพรหมจึงตรัสเรียกเทพธิดาทั้ง ๗ อันเป็นบริจาริกาพระอินทร์มาพร้อมกัน แล้วบอกว่า เราจะตัดศีรษะบูชาธรรมบาลกุมาล ศีรษะของเราถ้าจะตั้งไว้บนแผ่นดินไฟก็จะไหม้ทั่วโลก ถ้าจะทิ้งขึ้นบนอากาศ ฝนก็จะแล้ง ถ้าจะทิ้งไว้ในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้งเจ็ดนั้นเอาพานมารับศีรษะ แล้วก็ตัดศีรษะส่งให้ธิดาผู้ใหญ่ นางจึงเอาพานมารับพระเศียรบิดาไว้แล้ว แห่ทำประทักษิณ รอบเขาพระสุเมรุ ๖๐ นาที แล้วก็เชิญประดิษฐานไว้ในมณฆปถ้ำคันธุลีเขาไกรลาศ บูชาด้วยเครื่องทิพย์ต่างๆ พระเวสสุกรรมก็นฤมิตรแล้วด้วย แก้วเจ็ดประการชื่อ ภควดีให้เป็นที่ประชุมเทวดา เทวดาทั้งปวงก็นำเอาเถาฉมุลาด ลงมาล้างในสระอโนดาตเจ็ดครั้งแล้วแจกกันสังเวยทุกๆ พระองค์ครั้งถึงครบกำหนด ๓๖๕ วัน โลกสมมติว่า ปีหนึ่งเป็นสงกรานต์นางเทพธิดาเจ็ดองค์ จึงผลัดเวรกันมาเชิญพระเศียรท้าวกบิลพรหม ออกแห่ประทักษิณเขาพระสุเมรุทุกปี แล้วกลับไปเทวโลก ซึ่งลูกสาวทั้งเจ็ดของท้าวกบิลพรหมนั้น เราสมมติเรียกว่า นางสงกรานต์ มีชื่อต่างๆ ดังนี้ ทุงษ, โคราค, รากษส, มัณฑา, กิริณี, กิมิทา และ มโหทร

          คำว่า "สงกรานต์" มาจากภาษาสันสฤกตว่า สํ-กรานต แปลว่า ก้าวขี้น ย่างขึ้น หรือก้าวขึ้น การย้ายที่ เคลื่อนที่ คือพระอาทิตย์ย่างขึ้น สู่ราศีใหม่ หมายถึงวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งตกอยู่ในวันที่ ๑๓,๑๔,๑๕ เมษายนทุกปี แต่วันสงกรานต์นั้นคือ วันที่ ๑๓ เมษายน เรียกว่า
วันมหาสงกรานต์ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศก

ความหมายของคำที่เกี่ยวข้องกับสงกรานต์ มีดังนี้

          สงกรานต์ ที่แปลว่า "ก้าวขึ้น" "ย่างขึ้น" นั้นหมายถึง การที่ดวงอาทิตย์ ขึ้นสู่ราศีใหม่ อันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกเดือน ที่เรียกว่าสงกรานต์เดือน แต่เมื่อครบ ๑๒ เดือนแล้วย่างขึ้นราศีเมษอีก จัดเป็นสงกรานต์ปี ถือว่าเป็น วันขึ้นปีใหม่ทางสุริยคติ ในทางโหราศาสตร์

          มหาสงกรานต์ แปลว่า ก้าวขึ้นหรือย่างขึ้นครั้งใหญ่ หมายถึงสงกรานต์ปี คือปีใหม่อย่างเดียว กล่าวคือสงกรานต์หมายถึง ได้ทั้งสงกรานต์เดือนและสงกรานต์ปี แต่มหาสงกรานต์ หมายถึง สงกรานต์ปีอย่างเดียว

          วันเนา แปลว่า "วันอยู่" คำว่า "เนา" แปลว่า "อยู่" หมายความว่าเป็นวันถัดจากวันมหาสงกรานต์มา ๑ วัน วันมหาสงกรานต์เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ย่างสู่ราศีตั้งต้นปีใหม่ วันเนาเป็นวันที่ดวงอาทิตย์เข้าที่เข้าทาง ในวันราศีตั้งต้นใหม่เรียบร้อยแล้ว คืออยู่ประจำที่แล้ว

          วันเถลิงศก แปลว่า "วันขึ้นศก" เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ การที่เปลี่ยนวันขึ้นศกใหม่มาเป็นวันที่ ๓ ถัดจากวันมหาสงกรานต์ ก็เพื่อให้หมดปัญหาว่า การย่างขึ้นสู่จุดเดิม สำหรับต้นปีนั้นเรียบร้อยดี ไม่มีปัญหาเพราะอาจมีปัญหาติดพันเกี่ยวกับชั่วโมง นาที วินาที ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ที่จะเปลี่ยนศกถ้าเลื่อนวันเถลิงศกหรือวันขึ้นจุลศักราชใหม่มาเป็น วันที่ ๓ ก็หมายความว่า อย่างน้อยดวงอาทิตย์ได้ก้าวเข้าสู่ราศีใหม่ ไม่น้อยกว่า ๑ องศาแล้วอาจจะย่างเข้าองศาที่ ๒ หรือที่ ๓ ก็ได้

          วันสงกรานต์เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชใหม่ ซึ่งกษัตริย์สิงหศแห่งพม่า ทรงตั้งขึ้นเมื่อปีกุนวันอาทิตย์ พ.ศ. ๑๑๘๑ โดยกำหนดเอาดวงอาทิตย์เข้าสู่ราศีเมษได้ ๑ องศา ประกอบกับไทยเราเคยนิยมใช้จุลศักราช สงกรานต์จึงเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยอีกด้วย   ในปีแรกที่กำหนดเผอิญเป็นวันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่วันที่ ๑๓ เมษายนทุกปี แต่เมื่อเป็นประเพณี ก็จำเป็นต้องเอาวันนั้นทุกปี เพื่อมิให้การประกอบพิธี ซึ่งมิได้รู้โดยละเอียดต้องเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา วันที่ ๑๓ จึงเป็นวันสงกรานต์ของทุกปี

          ปกติวันสงกรานต์จะมี ๓ วัน คือ เริ่มวันที่ ๑๓ เมษายน ถึงวันที่ ๑๕ เมษายน วันแรกคือวันที่ ๑๓ เป็นวันมหาสงกราต์ วันที่พระอาทิตย์ต้องขึ้นสู่ราศีเมษ วันที่ ๑๔ เป็นวันเนา (พระอาทิตย์คงอยู่ที่ ๐ องศา) วันที่ ๑๕ เป็นวันเถลิงศกใหม่ และเริ่มจุลศักราชในวันนี้ เมื่อก่อนจริงๆ มีถึง ๔ วัน คือวันที่ ๑๓ -๑๖ เป็นวันเนาเสีย ๒ วัน (วันเนาเป็นวันอยู่เฉยๆ) เป็นวันว่าง พักการงานนอกบ้านชั่วคราว
          จะเห็นได้ว่า วันสงกรานต์เป็นวันขึ้นปีใหม่ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย จนถึง พ.ศ.๒๔๘๓ ทางราชการจึงได้เปลี่ยนไหม่ โดยกำหนดเอาวันที่ ๑ มกราคม เป็นวันขึ้นปีใหม่ เพื่อให้เข้ากับ หลักสากลที่นานาประเทศนิยมปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการเปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่ ประชาชนก็ยังยึดถือว่า วันสงกรานต์มีความสำคัญ


ข้อควรปฏิบัติในวันสงกรานต์- การเตรียมงาน

          วันตรุษและวันสงกรานต์เป็นเทศกาลสำคัญที่คนไทยยังถือว่าวันตรุษคือวันสิ้นปี วันสงกรานต์คือวันขึ้นปีใหม่ดังกล่าว ดังนั้น จึงต้องตระเตรียมงานกันเป็นการใหญ่ จนมีคนที่พูดกันติดปากว่า "ส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่" สิ่งที่ตระเตรียมกันนั้น จึงเป็นเรื่องที่จะต้องกระทำกันเป็นพิเศษตามลำดับ ดังนี้

          ๑. เครื่องนุ่งห่มเพื่อใส่ในโอกาสไปทำบุญที่วัด ตลอดจนเครื่องประดับตกแต่งร่างกายอย่างค่อนข้างจะพิถีพิถัน
          ๒. ของทำบุญ เมื่อใกล้จะถึงวันงานก็เตรียมของทำบุญเลี้ยงพระ และที่เป็นพิเศษของที่จะทำขนมพิศษ ๒ อย่างได้แก่ ข้าวเหนียวแดงในวันตรุษ และขนมกวน หรือ กะละแมในวันสงกรานต์ นอกจากจะทำขึ้นเพื่อทำบุญแล้ว ยังแลกเปลี่ยนแจกกันในหมู่บ้านใกล้เคียง เพื่อแสดงอัธยาศัยไมตรีในวันสำคัญ
          ๓. การทำความสะอาดบ้านเรือนที่อาศัยตลอดจนบริเวณใกล้เคียง เพื่อให้ดูเรียบร้อยโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่บูชาพระและที่เก็บอัฐิบรรพบุรุษ แม้เสื้อผ้าที่ใช้สอยก็ต้องซักฟอก ให้สะอาดหมดจดโดยถือว่า กำจัดสิ่งสกปรกให้สิ้นไปพร้อมกับปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ด้วยความบริสุทธ์ผุดผ่อง
          ๔. สถานที่ทำบุญ วัดเป็นสถานที่ทำบุญสวดมนต์เลี้ยงพระ และทำต่อเนื่องกันหลายวัน นอกจากจะทำความสะอาดกุฎิที่อาศัยแล้ว ยังต้องทำความสะอาดหอสวดมนต์ โบสถ์วิหาร ศาลาการเปรียญ ตลอดจนลานวัด เพราะต้องใช้ทำกิจกรรมหลายอย่าง ได้แก่ การทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา สรงน้ำพระ ก่อพระเจดีย์ทราย และงานรื่นเริงต่างๆ ด้วย



ออฟไลน์ ฐิตา

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7459
  • พลังกัลยาณมิตร 2236
    • ดูรายละเอียด
Re: ประเพณีวันสงกรานต์
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: เมษายน 13, 2011, 11:40:58 am »


การทำบุญ

          การทำบุญในวันสงกรานต์มีทั้งพิธีหลวงและพิธีราษฎร์

๑. พิธีหลวง พระราชพิธีสงกรานต์ (คัดจากปี ๒๕๓๑)

          วันที่ ๑๕ เมษายน ในเวลาเช้า ๑๐.๓๐ น. พระสงฆ์ที่รับอาราธนามาเจริญพระพุทธมนต์ที่พระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จสรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปสำคัญต่างๆ ที่หอพระสุราลัยพิมาน แล้วเสด็จหอพระบรมอัฐิที่หอพระธาตุมณเฑียร สรงน้ำพระ พระบรมอัฐิและพระอัฐิ ถวายสักการะพระสยามเทวาธิราชที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จออกพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล พระสงฆ์จำนวน ๖๗ รูป เท่าจำนวนพระบรมอัฐิ และพระอัฐิที่อาราธนาจากวัดที่เกี่ยวข้อง กับพระบรมอัฐิและพระอัฐิ เจริญพระพุทธมนต์ ฉันภัตตาหารเพล
เสร็จแล้วอัญเชิญพระบรมอัฐิ จากหอพระธาตุมณเฑียรเป็นกระบวนแห่ มีประโคมสังข์ แตร กลองชนะ ตั้งแต่เวลาเชิญออก จนกระทั่งถึงบนราชบัลลังก์นพปฏลมหาเศวตฉัตร ในพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัย ทรงจุดธูปเทียนราชสักการะ พระพุทธรูปประจำพระชนมวารของพระบรมอัฐิ ทรงจุดธูปเทียน ถวายสักการะพระบรมอัฐิและพระอัฐิ ทรงทอดผ้าคู่ (ถือผ้าขาว ๒ ผืน นุ่งผืน ๑ ห่มผืน ๑) มีขวดน้ำหอม ๑ ขวด พระสงฆ์นั่งสดับปกรณ์ตามลำดับวัดประจำพระบรมอัฐิ


        เวลา ๑๖.๓๐ น. เสด็จสรงน้ำพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรพระ พุทธสัมพรรณี พระชัยหลังช้าง พระพุทธรูปฉลองพระองค์รัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒ เสด็จสรงน้ำพระคันธราษฎร์ สรงน้ำ พระโพธิ์ พระนิโครธ พระพุทธเจดีย์ทอง พระไตรปิฎกฉบับทองทึบ พระนาคที่วิหารขาวสดับปกรณ์ พระบรมอัฐิกรมพระราชวังบวรสถานมงคล และพระอัฐิเจ้านายต้นราชสกุลต่างๆ
          เปิดปราสาทพระเทพบิดรวันที่ ๑๓ ๑๔ ๑๕ ๑๖ เมษายน เพื่อให้ประชาชนถวายสักการะ พระบรมรูปบูรพมหากษัตริยาธิราช
          เมื่อก่อน การบำเพ็ญพระราชกุศลในพระบรมมหาราชวังมี ๔ วัน คือวันที่ ๑๓-๑๖ เมษายน ปัจจุบันมีเฉพาะวันที่ ๑๕ เมษายน วันเดียว ซึ่งในเช้าวันที่ ๑๕ เมษายน โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานนิมนต์พระ ๑๕๐ รูป เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตรทีในพระบรมมหาราชวัง
          เวลา ๑๐.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่ง จากพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิตไปยังพระมหามณเฑียร ในพระบรมมหาราชวัง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ พระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ สรงน้ำพระพุทธรูปสำคัญที่หอพระสุลาลัยพิมาน ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการ แล้วเสด็จฯ ไปทรงจุดธูปเทียนบูชาพระสยามเทวาธิราช ที่พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เสด็จฯ ไปยังหอพระธาตุมณเฑียร ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะและสรงน้ำพระบรมอัฐิ พระอัฐิ แล้วเสด็จออกพระที่นั่งอัมรินทร์วินิจฉัยทางพระทวารเทวราชมเหศวร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียน เครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๗๑ รูปเจริญพระพุทธมนต์การ พระราชพิธีสงกรานต์ จบแล้วทรงประเคนภัตตาหาร เมื่อพระสงฆ์รับพระราชทานฉันเสร็จ เจ้าพนักงานเชิญพระบรมอัฐิและพระอัฐิออกประดิษฐานบนพระราชบัลลังก์ ภายใต้นพปฏลมหาเศวตฉัตรและบนที่นั่งกงภายใต้ฉัตรขาวลายทอง ๕ ชั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะถวายบังคมพระอัฐ แล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทอดผ้าคู่ พระสงฆ์สดับปกรณ์ พระบรมอัฐิและพระอัฐิ แล้วถวายอนุโมทนาถวายอดิเรก ถวายพระพรลา เสด็จพระราชดำเนินประทับรถยนต์พระที่นั่ง ที่พระที่นั่งทวารเทเวศรรักษาเสด็จพระราชดำเนินกลับ

          เวลา ๑๖.๓๐ น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนิน ไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้าพนักงานกราบบังคมทูล รายงานเครื่องราชสักการะที่ทรงพระราชอุทิศ พระราชทานให้กระทรวงมหาดไทยเชิญไป ถวายเป็นพุทธบูชา เจดียสถานต่างๆ แล้ว เสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่พระอุโบสถ ทรงพระสุหร่ายสรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร พระสัมพุทธพรรณี พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก พระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงจุดธูปเทียนถวายนมัสการ แล้วเสด็จพระราชดำเนิน ไปสรงน้ำปูชนียวัตถุตามเจดียสถานในพระอารามนี้ แล้วเสด็จพระราชดำเนินเข้าสู่หอพระนาก ทรงจุดธูปเทียน ถวายสักการะพระอัฐิ ๕ รูป สดับปกรณ์แล้วทรงทอดผ้าพระสงฆ์อีก ๕๐ รูป สดับปกรณ์พระอัฐิพระราชวงศ์ พระสงฆ์ถวายอนูโมทนา ถวายดิเรก เป็นเสร็จการ

๒. พิธีราษฎร์

          การทำบุญ
ในวันสงกรานต์ อาจจะทำการตักบาตรทำบุญได้ ๒ แห่งคือ ที่วัดหรือในบริเวณงานที่จัดไว้แล้ว วิธีตักบาตร ใช้วิธีเรียงแถว และนิมนต์พระเดินตามลำดับ โดยชายตักบาตรด้วยข้าว หญิงตักบาตรด้วยของคาวหวาน ถ้าเต็มบาตรก็ถ่ายใส่ภาชนะอื่น และนิมนต์ท่านรับจนทั่ว เสร็จแล้วอาจนิมนต์ท่านฉัน ณ สถานที่จัดงาน หรือให้ท่านนำไปฉันที่วัดก็ได้
          ในเวลาตักบาตรพระสงฆ์จะสวดถวายพรพระคือ พาหุง พอเสร็จ ก็ช่วยกันยกอาหารคาวหวานไปถวายพระ ขณะพระฉัน จะมีการอ่านประกาศสงกรานต์กันในตอนนี้ บางคนก็อาจจะอยู่ฟังอนุโมทนา เป็นอันเสร็จพิธี

          การก่อเจดีย์ทราย จะทำในวันใดวันหนึ่ง ของวันที่ ๑๓-๑๕ เมษายนก็ได้ ผู้ทำบุญจะช่วยกันขนทราย มาก่อเป็นเจดีย์ขนาดต่างๆ ในบริเวณวัด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ ให้ใช้ก่อสร้าง หรือถมพื้นที่ เป็นเรื่องที่ถือว่าได้บุญและสนุกสนาน แต่ไม่มีข้อจำกัดว่าต้องทำทุกวัด
          การปล่อยนกปล่อยปลา เป็นการทำบุญเพื่อแสดงความกรุณาต่อสัตว์ นิยมทำในวันสงกรานต์และไม่จำกัดว่าจะทำในวัดเท่านั้น
          การสรงน้ำพระ มีทั้งสรงน้ำพระพุทธรูปและภิกษุ สามเณร เพื่อความเป็นศิริมงคลในโอกาสขึ้นปีใหม่อันเป็นเวลาที่อากาศร้อน
          การรดน้ำผู้ใหญ่ เป็นเรื่องของการแสดงคารวะต่อผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ผู้ร่วมพิธีควรน้ำผ้า ๑ สำรับ คือ ผ้านุ่ง ๑ ผืน ผ้าห่ม ๑ ผืน ไปมอบให้ท่านพร้อมกับ ดอกไม้ธูปเทียน การรดน้ำผู้ใหญ่ดังกล่าวมานี้ มักจะรดหรืออาบท่านจริง ๆ จึงต้องมีผ้าไปมอบให้ ปัจจุบันบางแห่งรดเฉพาะที่ฝ่ามือ โดยจะเอาน้ำหอมเจือในน้ำด้วย แต่ก็ยังคงมีผ้านุ่งห่ม ๑ สำรับและดอกไม้ธูปเทียนไปแสดงคารวะ และขอพรท่านก็จะให้ศีลให้พรให้มีความสุขปีใหม่ คือตั้งแต่วันสงกรานต์เป็นต้นไป
          การทำบุญอัฐิ เป็นเรื่องที่นิยมทำแบบนิมนต์พระ ชักบังสุกุลอัฐิของญาติที่ล่วงลับไปแล้ว แล้วอุทิศส่วนกุศลให้ โดยนิมนต์พระไปยังสถานที่เก็บหรือบรรจุอัฐิ หรือถ้าไม่มีอัฐิจะเขียนชื่อผู้ที่ล่วงลับไปแล้วก็ได้ เมื่อบังสุกุลแล้วก็เผากระดาษแผ่นนั้นเสีย เหมือนเผาศพ การทำบุญอัฐิจะทำในวันไหนก็ได้สุดแต่จะนัดหมายกัน การรื่นเริง จัดขึ้นเพื่อเชื่อมความสามัคคีในหมู่คณะ เป็นการอนุรักษ์ประเพณีต่างๆ ในท้องถิ่นไว้ด้วย
          การสาดน้ำ เป็นการสนุกสนานรื่นเริงอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสงกรานต์ คือ สาดน้ำกันโดยมากจะเริ่มต้นในวันสรงน้ำพระ แต่บางแห่งพอเริ่มสงกรานต์ ก็เริ่มสาดน้ำกันทีเดียว ส่วนใหญ่แล้วใช้น้ำสะอาดมีน้ำอบน้ำหอม หรือแป้งหอมผสมบ้างก็ได้ และไม่ถือเป็นเรื่องเสียหาย
          การแห่นางแมว บางแห่งอาจมีการแห่นางแมวเพื่อขอฝนด้วย ซึ่งเป็นเรื่องสนุกสนานรื่นเริงเหมือนกัน แต่ก็หวังผลในทางเกษตรกรรมด้วย กล่าวคือ ถ้าเกิดฝนแล้งก็แห่นางแมวกันในช่วงวันทำบุญสงกรานต์ เช่นเดียวกัน

สิ่งที่ได้จากการทำบุญสงกรานต์
 
๑. เป็นการแสดงความเคารพบูชาต่อสิ่งที่ตนเคารพ ต่อบิดามารดา และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ
๒. เป็นการชำระจิตใจ และร่างกายให้สะอาด
๓. เป็นการรักษาประเพณีมาแต่เดิม
๔. เป็นการสนุกสนานรื่นเริงในรอบปี และพักจากงานประจำชั่วคราว เพื่อจะไปพักผ่อนหย่อนใจ
๕. เป็นการเตือนสติว่ามนุษย์นั้นผ่านไป ๑ ปีแล้วและในรอบปีที่ผ่านมา เราได้ทำอะไรบ้างและควรจะทำอะไรต่อไปในปีที่กำลังจะมาถึง
ู๖. เป็นการเตรียมตัวบวช ถ้าเป็นผู้ชายโดยเอาระยะเวลานี้บวชกัน เพราะหลังสงกรานต์ต้องเตรียมตัวทำนาแล้ว
๗. เป็นการทำความสะอาดพระ โต๊ะบูชา บ้านเรือน ทั้งในและนอกบ้าน





ที่มาจาก  banfun.com/culture/newyearthai.html
: http://www.kaweeclub.com/b6/%27%27-1649/msg12966/
Pics by : Google
ขอบพระคุณที่มาทั้งหมดมากมาย
อนุโมทนาสาธุค่ะ