“ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน” ผลงานของ
มาโนชญ์ เพ็งทอง บทบาทของพระรัตนตรัย
1. พระรัตนตรัยในฐานะแม่แบบความสมบูรณ์สูงสุดโลกและชีวิตเมื่อแบ่งองค์ประกอบที่สำคัญออกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์กันแล้วจะมีอยู่ 3 ส่วน คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม
เมื่อทั้งสามส่วนทรงตัวอยู่อย่างสมดุลกัน โลกและชีวิตจึงดำเนินไปถึงความสมบูรณ์สูงสุดได้ มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นศูนย์กลางแห่งส่วนทั้งสาม เพราะมนุษย์สามากระทำการต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ และกระทำทุกอย่างด้วยเจตนา เลือกปฏิบัติต่อตนเองและส่วนอื่น ๆ ได้คุณค่าแห่งการกระทำของมนุษย์ จึงเกิดขึ้นมาบนมาตรฐานตัดสินว่า การกระทำอย่างใดถือว่า ดี กระกระทำอย่างใดถือว่า ไม่ดี หรือชั่ว ตรงกับคำว่าบุญหรือบาป
มนุษย์ประกอบขึ้นด้วยกายกับจิต มีชีวิตดำเนินไปในท่ามกลางธรรมชาติและสังคม จึงกลายเป็นผู้มีพันธกรณี หรือหน้าที่ที่จะต้องพัฒนาตนเองไปสู่ความสมบูรณ์สูงสุด ด้วยการเข้าใจในธรรมชาติอย่างถูกต้อง และนำสังคมอันเป็นผลรวมแห่งความสัมพันธ์ของมนุษย์ในแง่มุมต่าง ๆ ไปอย่างกลมกลืน ซึ่งจะต้องพัฒนาตนเองก่อนส่วนอื่น ๆ
ธรรมชาติ คือ สิ่งแวดล้อมตัวมนุษย์ หรือระบบนิเวศนั่นเอง เมื่อแยกมนุษย์ออกเป็นส่วนเฉพาะต่างหากแล้ว ส่วนที่เป็นสิ่งแวดล้อมก็คือธรรมชาติ อันที่จริงธรรมขาติเป็นสิ่งที่สัมพันธ์กับมนุษย์อย่างแยกจากกันไม่ได้ เพราะมนุษย์ก็คือธรรมชาติ และต้องอิงอาศัยธรรมชาติอยู่อย่างมีอิทธิพลต่อกันไม่ยิ่งหย่อนกล่าวคือ ในภาคปฏิบัติมนุษย์ มนุษย์แม้จะเลือกกระทำต่อธรรมชาติได้แต่จำเป็นต้องรู้เท่าทัน และปฏิบัติต่อธรรมชาติด้วยความฉลาด ไม่ให้ธรรมชาติเสียดุลต่อมนุษย์ เพราะว่าเมื่อใดธรรมชาติเสียดุลต่อมนุษย์ ผลร้ายก็จะตามมากระทบมนุษย์และสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สังคม คือ กลุ่มความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่อกันในหลายระบบ เช่น ในระบบเศรษฐกิจ การเมือง กฎหมาย ความเชื่อ การศึกษา และวัฒนธรรม เป็นต้น ความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มารวมกันนี้ ย่อมแสดงออกตามคุณภาพของจิตใจแต่ละคน มนุษย์ยิ่งอยู่รวมมากเท่าไหร่ ความซับซ้อนแห่งความสัมพันธ์ก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น และแสดงตัวออกมาในรูปธรรมในฐานะสถาบันต่าง ๆ เป็นจุดศูนย์ประสานโยงหน่วยความสัมพันธ์ของมนุษย์ที่มีต่อกัน เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันเศรษฐกิจ สถาบันการเมือง สถาบันศาสนา เป็นต้น รวมเรียกว่าความสัมพันธ์ทางสังคม
มนุษย์ในฐานะเป็นส่วนที่มีการกำหนดบทบาทของตนได้ จะต้องทำหน้าที่ คือการประสานอย่างกลมกลืน ส่วนทั้ง 3 นี้ เมื่อเข้ามาผูกพันเป็นส่วนหนึ่งของแต่ละส่วนแล้ว จะทำให้เกิดผลดีและผลร้ายที่เรียกว่า ทำให้ขาดความสมดุลกันขึ้นได้ ซึ่งจะเป็นผลกระทบต่อมนุษย์โดยตรง มนุษย์จะต้องพัฒนาทุกส่วนในลักษณะองค์รวมอย่างเอกภาพ เพื่อบรรลุความสมบูรณ์สูงสุด
2. พระรัตนตรัยในฐานะองค์รวมสูงสุดมนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม ตามที่กล่าวมาแล้ว มีส่วนสุดยอดตรงกันในแต่ละอย่าง องค์ที่ต่างกันกับ 3 ส่วนนั้นก็คือพระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ มนุษย์พัฒนาสูงสุดแล้วเป็นพระพุทธ ธรรมชาติเมื่อเราเข้าถึงแล้ว ตัวความจริงของธรรมชาติที่ปรากฏแก่มนุษย์คือ ธรรมะ หรือพระธรรม และสังคมที่พัฒนาถึงขั้นอุดมคติแล้ว ก็เป็นหมู่ชนที่เรียกว่าพระสงฆ์
จึงอาจกล่าวได้ว่า หลักของพระพุทธศาสนาที่เรียกว่าพระรัตนตรัย ก็คือองค์แห่งความสมบูรณ์ในระดับแห่งพัฒนาการสูงสุดแห่งส่วนทั้งสามของโลก และชีวิต กล่าวคือ พระพุทธเจ้าก็คือมนุษย์ผู้พัฒนาสมบูรณ์แล้ว โดยได้ค้นพบพระธรรมแบะเปิดเผยแก่สังคม เพราะทรงมีการพัฒนาแล้ว 4 ด้าน กล่าวคือ
1. มีการพัฒนากายคือ พัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ ไม่เฉพาะพัฒนาร่างกายให้เข็มแข็งมีสุขภาพดี หรือพัฒนาทักษะเท่านั้น
2. มีการพัฒนาศีล คือการอยู่ร่วมกันด้วยดีในสังคม เป็นการพัฒนาการในด้านความสัมพันธ์ทางสังคม
3. มีจิตพัฒนา คือ พัฒนาการจิตใจให้เป็นอิสระจากพันธนาการของกิเลสทั้งปวง (วิมุติ)
4. มีพัฒนาการทางปัญญา ที่เรียกว่าตรัสรู้ดังนั้น พระพุทธเจ้าจึงได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ผู้พัฒนาตนที่สมบูรณ์ ได้ค้นพบธรรมะ และเปิดเผยธรรมแก่สังคมพระธรรมคือตัวความจริงของธรรมชาติที่เปิดเผยขึ้น โดยการค้นพบ และประกาศของพระพุทธองค์ พระสงฆ์ คือสังคมมนุษย์ที่พัฒนาตนแล้วด้วยการปฏิบัติ หรือเข้าถึงธรรมตามอยางพระพุทธเจ้า ความเป็นเอกภาพของพระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ เป็นในลักษณะอิงอาศัยกัน ถ้าไม่มีพุทธะ ธรรมะก็ไม่ปรากฏ และสงฆ์ก็ไม่อาจจะพัฒนาให้เกิดสังฆะได้ถ้าไม่มีธรรมะ มนุษย์ก็ไม่พัฒนาเป็นพุทธะและสังฆะก็ไม่อาจเกิดขึ้น ถ้าไม่มีสังฆะก็ไม่มีเครื่องยืนยันความเป็นพุทธและธรรมก็คงไม่ปรากฏอยู่ต่อไป แสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปตามกฏปฏิจจสมุปบาท3. พระรัตนตรัยในฐานะองค์ความสัมพันธ์ของโลกและชีวิต
ความสัมพันธ์ระหว่างพระรัตนตรัยกับโลกและชีวิตอธิบายได้ดังนี้
1. พระพุทธเจ้าทรงพระคุณ 3 ประการ คือ พระปัญญาคุณ พระกรุณาคุณ และพระบริสุทธิ์คุณ ซึ่งเป็นคุณสมบัติแสดงให้เห็นว่า พระพุทธเจ้าสัมพันธ์กับธรรมชาติและสังคม คือ
ก. ทรงสัมพันธ์กับธรรมชาติ โดยมีปัญญารู้เข้าใจค้นพบความจริงในธรรมชาติ และได้ตัวธรรมะขึ้นมาด้วยปัญญาซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพระพุทธกับพระ ธรรมในพระรัตนตรัย
ข. การที่ทรงค้นพบธรรมะในธรรมชาติด้วยปัญญาคุณนั้น ทำให้พระองค์หลุดพ้นจากความทุกข์ หลุดพ้นจากกิเลส และความชั่วทั้งปวง ทั้งทางกาย วาจา และทางใจ เป็นคุณสมบัติข้อที่สอง คือ พระปริสุทธิคุณประจำพระองค์
ค. เมื่อทรงค้นพบธรรมะก็กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ ด้วยการหลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิงแล้วก็เกิดมีคุณธรรมต่าง ๆ ขึ้น คุณธรรมเหล่านี้แสดงออกต่อสังคมโดยผ่านคุณธรรมที่เป็นตัวนำ แสดงออกต่อสังคม ซึ่งทำให้เกิดพระสงฆ์มีรูปแบบอยู่ได้เพราะหลักการใหญ่ 3 ประการคือ
1. พระวินัย คือฐานและเป็นตัวควบคุมให้ก่อเป็นรูปสงฆ์ได้
2. สามัคคี คือ พลังยึดเหนี่ยว
3. กัลยาณมิตร คือ เนื้อหาของสงฆ์ เพราะพระสงฆ์ประกอบด้วยบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร ในเมื่อเนื้อหาของสงฆ์ก็คือตัวบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร สงฆ์จึงเป็นแหล่งของกัลยาณมิตร ที่คนในสังคมจะต้องเข้าพบหา แล้วก็ได้รับประโยชน์เป็นตัวช่วยนำมนุษย์ให้เข้าถึงธรรมะ และมาร่วมกันเป็นสมาชิกของสงฆ์ต่อ ๆ ไป
ดั้งนั้น หลักของสงฆ์จึงมีวินัยเป็นพื้นฐาน มีความสามัคคีเป็นพลังยึดเหนี่ยว แล้วมีกัลยาณมิตรธรรม 7 ประการ เป็นเนื้อหา
กัลยาณมิตรธรรมคือ
3.1 น่ารัก คือเข้าใจถึงจิตใจ สร้างความรู้สึกสนิทสนมเป็นกันเอง ชวนให้ผู้สมาคมอยากเข้าไปปรึกษาหารือ
3.2 น่าเคารพ คือ มีความประพฤติสมควรแก่ฐานะ ทำให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นใจเป็นที่พึ่งได้และปลอดภัย
3.3 น่าเจริญใจ คือ ความรู้จริง ทรงภูมิปัญญาแท้จริง และเป็นผู้ฝึกฝนปรับปรุงตนเองอยู่เสมอเป็นที่น่ายกย่องควรเอาอย่าง ทำให้ผู้คบหาเอ่ยอ้าง และรำลึกถึงด้วยความซาบซึ้งใจ มั่นใจและภาคภูมิใจ
3.4 รู้จักพูดให้ได้ผล คือ พูดเป็นรู้จักชี้แจงแสดงธรรมให้เข้าใจ รู้ว่าเมื่อไหร่ควรพูดอะไรอย่างไร คอยให้คำแนะนำว่ากล่าวตักเตือนเป็นที่ปรึกษาที่ดี
3.5 ทนต่อถ้อยคำ คือพร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษา ซักถาม แม้จุกจิก ตลอดจนคำล่วงเกินและคำตักเตือนวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ อดทนฟังได้ไม่เบื่อหน่าย ไม่เสียอารมณ์
3.6 แถลงเรื่องสำคัญได้ คือกล่าวชี้แจงเรื่องต่าง ๆ ที่กลิ้งซับซ้อนให้เข้าใจได้และนำประชาชนให้ได้เรียนรู้เรื่องราวที่ลึกซึ้งขึ้นไป
3.7 ไม่ชักนำในอฐานะ คือไม่ชักจูงในทางเสื่อมเสีย หรือเรื่องเหลวไหลไม่สมควร
4. พระรัตนตรัยสัมพันธ์กับมนุษย์
ความสัมพันธ์ระหว่างพระรัตนตรัยกับมนุษย์สามารถอธิบายได้ดังนี้มนุษย์มีความสัมพันธ์กับพระพุทธเจ้าโดยที่ว่า พระพุทธเป็นแม่แบบที่ทำให้มนุษย์เชื่อในศักยภาพของมนุษย์ พระพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ที่พัฒนาตนจนกระทั่งบรรลุถึงความสมบูรณ์สูงสุดได้ จึงทำให้มนุษย์ทุกคนเกิดความมั่นใจว่ามนุษย์แต่ละคนเป็นสัตว์ฝึกฝนได้ มีศักยภาพในตัวเองที่สามารถพัฒนาไปจนกระทั่งเป็นพระพุทธเจ้าได้ ศรัทธาในองค์พระพุทธก็หมายถึงการศรัทธาในศักยภาพของตนเอง (ตถาคตโพธิสัทธา) คือเชื่อในปัญญาที่ทำให้มนุษย์ตรัสรู้กลายเป็นพุทธะซึ่งโยงความสามารถของตัว มนุษย์เองว่าด้วยมนุษย์เราสามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นพระพุทธะได้ ให้เป็นคนสมบูรณ์