อริยะสงฆ์ผู้ปฏิบัติธรรมอันดี > สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

ชีวิตลิขิตได้ด้วยตนเอง

(1/7) > >>

lek:
คำคมที่ว่า "ลิขิตฟ้า หรือจะสู้มานะตน"
ผลเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่...
อ่านคำตอบในเนื้อหาดังต่อไปนี้...
"ชีวิตลิขิตได้ ด้วยตนเอง" บทนิพนธ์ใน
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช
สกลมหาสังฆปริณายก...
หนังสือเทิดพระเกียรติคุณสังฆราช
ทรงเจริญพระชนมายุครบ 8 รอบ 96 พรรษา

มูลนิธิจิตอิ่มบุญบารมี จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ดำเนินการส่งเสริม
และสนับสนุนสันติสุขให้บังเกิดมีแก่สังคมทุกระดับ ทุกเชื้อชาติ ศาสนา
ส่งเสริมและสนับสนุนการเผยแผ่พระพุทธศาสนา  การอ่านหนังสือธรรมะ
จะสำเร็จประโยชน์ เกิดความรู้ความเข้าใจนั้น ผู้อ่านควรอ่านแบบ
โยนิโสมนสิการ คือ อ่านอย่างมีสติ ค่อยๆคิด ค่อยๆอ่าน ไม่ต้องรีบร้อน
ถ้ายังไม่เข้าใจก็อ่านใหม่ อ่านหลายๆรอบ ปัญญาจักคมขึ้น สามารถเข้าใจ
ธรรมะได้อย่างทะลุปรุโปร่ง เปรียบเหมือนการเคี้ยวอาหาร ต้องค่อยๆเคี้ยว
ค่อยๆขบ ยิ่งเคี้ยวนาน เคี้ยวให้ละเอียด รสชาติก็ยิ่งโอชากลมกล่อม
ก่อคุณประโยชน์แก่ร่างกายอย่างเต็มที่

"อ่านสิบรอบ คิดสิบหน ฝึกฝนปัญญา ฉลาดใช้ เฉลียวคิด ชีวิตสนุก สุข สงบ เย็น"

การให้ธรรรม ชนะการให้ทั้งปวง ผู้ให้ธรรมทั้งด้วยการให้หนังสือธรรม และทั้งปฏิบัติ
ด้วยตนเองให้ปรากฎเป็นแบบอย่างที่ดีงาม เป็นแบบอย่างของสัตบุรุษ กล่าวว่า
เป็นผู้ให้เหนือกว่าการให้ทั้งปวง เพราะการพยายามช่วยให้คนเป็นผู้มีธรรม
ก็เท่ากับพยายามช่วยคนบนดินคือต่ำเตี้ยให้เข้าใกล้ฟ้าคือสูงส่ง พูดง่ายๆว่า
ช่วยคนให้เป็นคนดีนั้นเอง ....พระวรคติธรรม สมเด็จพระญาณสังวรฯ

คติทางพระพุทธศาสนามีอยู่ว่า ทุกชีวิตที่เกิดมาล้วนเป็นไปตามอำนาจของบุญและบาป
เป็นผลมาจากการกระทำที่เรียกว่า กรรม...ผลของกรรมดีเรียกว่าบุญ เช่น
บุคคลหนึ่งเกิดมาในตระกูลเศรษฐี มีผิวพรรณผ่องใส อยากได้อะไรก็ได้ดังใจนึก
เรียกคนเช่นนี้ว่า คนมีบุญ  ส่วนผลของกรรมชั่วนั้นเรียกว่าบาป เช่น คนบางคนพอเกิดมา
ก็มีร่างกายพิกลพิการ เรียกคนเช่นนี้ว่า คนมีบาป หรือคนมีกรรมเป็นต้น

พระนิพนธ์เรื่องนี้ทรงมุ่งสอนให้คนเรานั้น ตระหนักถึงผลของกรรมดีและกรรมชั่วว่าจะส่งผล
ต่อชีวิตของผู้ทำแตกต่างกันอย่างไร และทรงย้ำว่าสิ่งต่างๆที่แต่ละคนประสบพบผ่านนั้น
ล้วนแล้วเกิดจากกรรมคือการกระทำของเขาเองทั้งสิ้น ดังความตอนหนึ่งในบทพระนิพนธ์ว่า
"อันเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นนั้น นับว่าเป็นกรรมของคน หมายความว่า การที่คนทำขึ้น
และไม่ใช่ว่ากรรมเก่าอะไรที่คนไม่รู้ แต่เป็นกรรมคือการกระทำที่รู้ๆกันอยู่นี่แหละ เมื่อก่อขึ้น
ด้วยกิเลสก็เป็นเหตุทำลายล้าง เมื่อก่อขึ้นด้วยธรรมก็เป็นเหตุเกื้อกูลให้มีความสุข
ในฐานะเช่นนี้ผู้เป็นศิษย์ของพระพุทธเจ้า ย่อมใช้ศรัทธาในกรรม และการให้ผลของกรรม
ทำกรรมที่ผิดไว้ก็ต้องรับผิดต่างๆ ทำกรรมที่ชอบไว้ก็ต้องรับชอบต่างๆ จะเลือกเอาอย่างหนึ่ง
อย่างใดหาได้ไม่"

lek:
วงจรชีวิต ใครลิขิตให้เราเกิด
อะไรทำให้เราเกิด-ตายไม่รู้จบ

ปัญหาข้อหนึ่งที่คนชอบตั้งคำถามกัน
ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์มาจนถึงทุกวันนี้
คือ ตายเกิด หรือ ตายสูญ
พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ความจริงในข้อนี้
จึงสิ้นปัญหาในสิ่งที่รู้แล้ว ดังที่ได้ตรัสว่า

กรรม เป็นเหมือนนา (กมฺมํ เขตฺต์)
วิญญาณ เป็นเหมือนพืชที่หว่านลงในนา (วิญฺญานํ พีชํ)
ตัณหา เป็นเหมือนยางเหนียวมีอยู่ในพืช อันจะทำให้พืชนั้น
ปลูกงอกงามขึ้นได้* (ตณฺหา สิเนโห)

เพราะฉะนั้น เมื่อยังมีกรรม วิญญาณและ
ตัณหาอยู่ ก็ยังจะต้องไปเกิดในภพต่างๆ

*ในคัมภีร์อรรถกถาอังคุตตรนิกาย ติกนบาต นวสูตร
พระอรรถกถาจารย์(อาจารย์ผู้แต่งหนังสืออธิบายความบาลี
ในพระไตรปิฏก) อธิบายเรื่องความเกิดขึ้นในภพภูมิต่างๆ
ของสัตว์โลกไว้ว่า "กรรม คือ กุศลกรรมและอกุศลกรรม
เป็นเหมือนนา เพราะเป็นสถานที่เกิดขึ้นแห่งร่างกายเพื่อรับผลกรรม,
วิญญาณ คือ อภิสังขารวิญญาณที่เกิดพร้อมกับกรรม เป็นเหมือนพืช
เพราะเป็นเหตุให้เกิดขึ้น, ตัณหา คือ ความอยาก เป็นเหมือนยางเหนียว
เพราะเป็นเครื่องผูกใจสัตว์ให้ติดอยู่ในภพ ทำให้การเกิดในภพใหม่ยังมีอยู่ต่อไป"

จากคำอธิบายสรุปได้ว่า เราเกิดมาได้ด้วยอำนาจของตัณหาความอยากในใจของเราเอง
เพราะเมื่อตัณหาเกิดขึ้น จะเป็นแรงผลักดันให้ทำกรรมต่างๆดีบ้าง ชั่วบ้าง เมื่อชีวิตนี้
สิ้นสุดลงก็จะชักนำวิญญาณให้ไปปฏิสนธิใหม่เพื่อรับผลของกรรมที่ทำไว้ ท่านจึงเปรียบ
ตัณหาว่าเป็นเหมือนยางเหนียวที่ยึดเอาความเกิดในภพชาติต่อๆไปอย่างไม่สิ้นสุด
แต่พระอรหันต์ที่ท่านหมดตัณหาคือหมดยางเหนียวแล้ว จึงไม่มีการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป
(เสริมสาระโดย ไพยนต์ กาสี คณาจารย์สำนักพิมพ์เลี่ยงเชียง)

lek:
เราเกิดมาจาก 3 พร้อม

ในการเกิด หมายถึง ในการตั้งครรภ์ของมารดานั้น
ได้มีกล่าวไว้ว่า เพราะประชุมแห่งองค์3 จึงมีการตั้งครรภ์ คือ
1. มารดา บิดา สันนิบาต หมายความว่า อยู่ด้วยกัน
2. มารดามีระดู หมายความว่า ในระดู
3. คันธัพพะ ท่านอธิบายว่า สัตว์ผู้เข้าถึงครรภ์ คือสัตว์ผู้จะเกิดปรากฎ

เพราะความประชุมแห่งองค์3 เหล่านี้ ครรภ์จึงตั้งขึ้น
มารดาบริหารครรภ์ 9-10 เดือนก็คลอดบุตร
และโดยปกติก็เลี้ยงด้วยโลหิตคือน้ำนมของตน
องค์ที่3 น่าจะเป็นปัญหาที่วิชาการแพทย์ในปัจจุบัน
ไม่อาจอธิบายได้ เพราะเป็นเรื่องทางวิญญาณจิตใจโดยตรง

กำเนิดของมนุษย์ คัมภีร์สุตตันตปิฏก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
ว่ามีองค์ประกอบอยู่ 3 ประการ คือ
1. บิดามารดาอยู่ร่วมกัน คือ มีการสมสู่กันระหว่างชายกับหญิงผู้เป็นพ่อแม่
2. มารดามีระดู คือ มีการตกไข่ขึ้นในครรภ์ของแม่ (และมีสเปิร์มของพ่อไปผสม)
3. สัตว์ที่จะมาเกิดในครรภ์ คือ ปฏิสนธิวิญญาณปรากฎ
องค์ประกอบที่3 พระเดชพระคุณพระธรรมวิสุทธิกวี(พิจิตร ฐิตวณฺโณ) ท่านอธิบายไว้
ในหนังสือตายแล้วไปไหน หน้า10 ความว่า "มีสัตว์มาเกิด หมายถึง มีจุติจิต
หรือจุติวิญญาณ เคลื่อนมาปฏิสนธิจึงเกิดเป็นปฏิสนธิวิญญาณขึ้น และปฏิสนธิวิญญาณ
นี้เอง เป็นจิตดวงแรกที่เกิดในชาติใหม่ และจัดเป็นส่วนนามที่สืบต่อมาจากภพชาติก่อนๆ
โดยนำเอาบุญ บาป กรรม กิเลสติดมาด้วย" องค์ประกอบทั้ง 3 ประการนี้จะขาดข้อใด
ข้อหนึ่งไม่ได้ มิเช่นนั้นจะไม่มีการเกิดขึ้นของชีวิตได้เลย (เสริมสาระโดยไพยนต์ กาสี)

lek:
เราสร้างความอยากเอง=เราสร้างความเกิดใหม่อีก

ทางพระพุทธศาสนา ปัญหาเรื่องตายแล้วเกิดใหม่อีกหรือไม่
เป็นเรื่องประกอบเท่านั้น เพราะมุ่งสอนให้คนละความไม่ดี
ให้ทำความดีในชาตินี้ แต่ส่วนมากก็อดสงสัยมิได้ในเรื่องเกิดตาย
และกล่าวได้ว่า ส่วนมากเชื่อว่าตายแล้วเกิดอีก

สรุปความในตอนนี้ว่า เรื่องตาย เกิดหรือไม่เกิด ใครจะเชื่อหรือไม่
อย่างไร ไม่สำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่า ความจริงเป็นอย่างไร
ตายแล้วเกิดอีกหรือไม่เกิด ปัญหาจึงมีว่า ใครจะเป็นผู้บอกได้
จะรู้จริงได้อย่างไร...ตอบได้ว่า ผู้บอกมีอยู่แล้ว คือ พระพุทธเจ้า
ท่านตอบไว้ในหลักอริยสัจสี่ ถอดความมาสั้นๆว่า
มีตัณหา(ความอยาก) ก็มีชาติ(ความเกิด) สิ้นตัณหา ก็สิ้นชาติ"

แต่จะรู้จริงด้วยตนเองได้นั้น มีผู้แนะว่าต้องทำสมาธิจนได้ดวงตาชั้นใน
มองเห็นความจริงได้ด้วยตนเอง จึงจะสิ้นสงสัย ถ้ายังไม่ได้ดวงตาชั้นใน
อย่างดีก็ต้องอาศัยศรัทธาต่อพระพุทธเจ้าไปก่อน...

ในครั้งพุทธกาล มีแม่ทัพใหญ่ผู้หนึ่งชื่อ ท่านสีหะ ไปเฝ้ากราบทูลถามว่า
จะทรงอาจบัญญัติแสดงผลทานที่มองเห็นได้ในปัจจุบันได้หรือไม่...

พระพุทธเจ้าตรัสว่า ได้ คือ เป็นที่รักของชนมาก, เป็นที่คบหาของคนดี,
มีเสียงพูดถึงในทางดีงาม, กล้าเข้ามาหมู่คนชั้นต่างๆ, ตายไปสุคติ(ไปดี)โลกสวรรค์

ท่านแม่ทัพสีหะกราลทูลว่า 4 ข้อต้น ไม่ต้องถึงความเชื่อต่อพระพุทธเจ้า
เพราะรู้ได้ด้วยตนเอง ส่วนข้อหลังไม่รู้ แต่ก็ถึงความเชื่อต่อพระพุทธเจ้าในข้อนั้น

ท่านแม่ทัพเป็นทหาร ทราบทูลตรงๆ รู้ว่ารู้ ไม่รู้ว่าไม่รู้ แต่ก็มีศรัทธาต่อพระพุทธองค์มั่นคง
ฉะนั้น ถึงไม่รู้ แต่มีผู้รู้เป็นผู้นำทาง และมีความเชื่อฟังผู้รู้ ก็ย่อมเดินถูกทางแน่





เราเกิดมาทำไม
ตอบปัญหานี้ได้ต้องอาศัยการอนุมานและการศึกษา

เราเกิดมาทำไม ปัญหานี้ถ้าตั้งขึ้นคิด ก็น่าจะจน
เพราะขณะเมื่อทุกคนเกิดนั้น ไม่มีใครรู้
มารู้เมื่อเกิดมาและพอรู้เดียงสาแล้วว่า
มีตัวเราขึ้นคนหนึ่งในโลก

แต่ทุกๆคนย่อมมีความไม่อยากตาย กลัวความตาย
อยากจะดำรงชีวิตอยู่นานเท่านาน นอกจากนี้
ยังมีความอยากในสิ่งต่างๆอีกมากมาย คล้ายกับว่า
ความที่ต้องเกิดมานี้ ไม่อยู่ในอำนาจของตนเอง
มีอำนาจอย่างหนึ่งทำให้เกิดมา ตนเองจึงไม่มีอำนาจ
หรือไม่มีส่วนที่จะตั้งวัตถุประสงค์แห่งความเกิดของตนว่า
เกิดมาเพื่อทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ หรือเพื่อเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

ดูล้ายๆกับจะเป็นดังที่ว่ามานี้ ที่ว่าดูคล้ายๆก็เพราะความไม่รู้
หรือจะเรียกว่า "อวิชชา" ก็น่าจะได้

แต่ถ้าจะยอมจำนนต่อความไม่รู้ก็ดูจะมักง่ายมากไป
น่าจะลองทำตามหลักอันหนึ่งที่ว่า อนุมาน และศึกษา
คือสิ่งที่ประจักษ์แก่สายตาก็รู้ได้ง่าย แต่สิ่งที่ไม่ประจักษ์
แก่สายตาก็ใช้อนุมาน โดยอาศัยการสันนิษฐานและ
ใช้การศึกษาในถ้อยคำของท่านผู้ตรัสรู้

lek:
เกิดมาเพื่อสนองความอยาก
และสนองกรรมของตนเอง

พระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ ได้ตรัสไว้แปลความว่า
"ตัณหา(ความอยาก)ยังคนให้เกิด" และว่า
"โลก คือ หมู่สัตว์ ย่อมเป็นไปตามกรรม"

ลองอนุมานดูตามคำของท่านผู้ตรัสรู้นี้
ดูตามความอยากในกระแสปัจจุบันก่อนว่า
สมมติว่า อยากเป็นผู้แทนราษฎร ก็สมัครรับเลือกตั้ง
และทำการหาเสียง เมื่อได้ชนะคะแนน ก็ได้เป็น

นี้คือ ความอยาก เป็นเหตุให้ทำกรรม คือ ทำการต่างๆ
ตั้งต้นแต่การสมัคร การหาเสียง เป็นต้น ซึ่งเป็นเหตุ
ให้ได้รับผล คือได้เป็นผู้แทน หรือแม้ไม่ได้เป็น ถ้าจะ
ตัดตอนเอาเฉพาะความเกิดมาในช่วงแห่งชีวิตตอนนี้
ก็จะตอบปัญหาข้างต้นนั้นได้ว่า "เกิดมาเพื่อเป็นผู้แทน"

ตัวอย่างนี้เป็นรายละเอียดเฉพาะเรื่อง ถ้าจะตอบให้
ครอบคลุมทั้งหมดก็ควรจะตอบได้ว่า
"เกิดมาเพื่อสนองความอยาก และสนองกรรมของตนเอง"




ทุกคนมีความอยากฝังในจิตสันดาน

แต่การกล่าวดังนี้ เป็นการกล่าวครอบคลุมทั้งหมด
เหมือนอย่างที่เรียกกันว่า พูดอย่างกำปั้นทุบดิน
เพราะยังอาจกล่าวจำแนกออกไปได้อีกหลายลักษณะ
หลายประการ และถ้าจะแย้งว่า ตอบอย่างนั้นมันพอฟังได้
สำหรับกระแสชีวิตปัจจุบัน แต่เมื่อเกิดมาทีแรกยังมองไม่เห็น
เพราะไม่รู้จริงๆ ถ้าแย้งดังนี้ ก็ต้องตอบว่า ฉะนั้นจึงว่า
ต้องใช้วิธีอนุมานโดยสันนิษฐาน ถ้ารู้จริงแล้วจะต้องอนุมานทำไม
และอาศัยคำของท่านผู้ตรัสรู้เป็นหลัก ดังจะลองอนุมานต่อไปว่า
จริงอยู่ เมื่อเกิดมาไม่รู้ แต่เมื่อรู้ขึ้นแล้ว ก็มีความกลัวตาย
อยากดำรงชีวิตอยู่นานเท่านาน แสดงว่า ทุกคนมีความอยาก
ที่เป็นตัวตัณหานี้ เพราะความตาย เป็นความสิ้นสุดแห่งชีวิต
ในภพชาติอันหนึ่งๆ เมื่อยังมีความอยากดำรงชีวิตอยู่ในจิตสันดาน
ก็เท่ากับความอยากเกิดอีก เพื่อให้ดำรงอยู่ตามที่อยากนั้น
ทั้งต้องเกิดตามกรรม เป็นไปตามกรรม จึงสรุปได้ว่าเราเกิดมา
ด้วยตัณหา คือ ความอยาก และ กรรม เพื่อสนองตัณหาและกรรม
ของตนเอง ตัณหาและกรรมจึงเป็นตัวอำนาจหรือผู้สร้างให้เกิดมา

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

ตอบ

Go to full version