ผู้เขียน หัวข้อ: อริยทรัพย์ (หลวงปู่ขาว อนาลโย)  (อ่าน 2139 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ ซุปเปอร์เบื๊อก

  • ต้นกล้า
  • **
  • กระทู้: 67
  • พลังกัลยาณมิตร 21
    • ดูรายละเอียด


อริยทรัพย์
   พระธรรมเทศนา โดย หลวงปู่ขาว อนาลโย
   วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู
       

   การเจ็บปวดเมื่อนั่งสมาธิ พระพุทธเจ้าว่าให้สู้กับมัน มันจึงจะเห็นทุกขเวทนา นั่งสมาธิมันเจ็บให้ดูมัน มันเกิดมาจากไหน เวทนามันก็เวทนาต่างหากไม่มีตัว เราก็พิจารณาให้รู้เท่านั้นแหละ ของไม่มีตนมีตัว มันเกิดขึ้นก็เกิดจากร่างกายเนื้ออย่างหนึ่ง แล้วก็มันรู้สึกถึงจิต รู้ถึงกัน จิตก็ไปยึด ยึดมันก็เจ็บ หนักเข้าก็ไม่สู้มัน ต้องสู้มัน มันจะเห็น
   

   พระพุทธเจ้าว่ากำหนดให้รู้ทุกข์ ทุกข์มาจากไหน ทุกข์มาจากเหตุ คืออยากเป็น อยากมี ความอยากเป็นอยากมี ความอยากมันเกิดมาแต่เหตุ เหตุมันเกิดมาจากไหน เหตุมาจากความไม่รู้ ไม่รู้เท่ากาย
   

   จนกระทั่งความคิดทั้งหลายเข้ามามันก็ไม่รู้ทั้งนั้น คือมันโง่เรียกว่าอวิชชา เป็นเหตุให้สัตว์ผู้ไม่รู้เท่าเกิดความยินดียินร้าย เกิดความพอใจ ไม่พอใจ เกิดความอยากเป็นอยากมี เป็นเหตุให้วนเวียนเรียกว่าสังสารจักร์วัฏฏกา เวียนอยู่อย่างนั้น เป็นเหตุให้เราเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในภพน้อยภพใหญ่
   

   กรรมดีเหมือนพวกคุณหมอก็ดี ไม่เจอะทุกข์ปานใด เกิดมาไม่เสียชาติเกิดเป็นมนุษย์ มิหนำได้เกิดมาพบโอวาทคำสอนของพระพุทธเจ้า เกิดมาในปฏิรูปประเทศ ประเทศอันสมควร คือประเทศมีพระพุทธศาสนา ประเทศมีนักปราชญ์อาจารย์เพื่อนแนะนำสั่งสอน ประเทศอย่างนี้ พระพุทธเจ้าท่านว่าเป็นมงคล
   

   พวกท่านทั้งหลาย ท่านเป็นผู้ไม่ประมาท อตฺตสมฺนา ปณิธิ ผู้ตั้งตนไว้ในที่ชอบ อาชีพเลี้ยงชีพภายนอกดีโดยชอบธรรม โอวาทคำสั่งสอนก็ไม่ประมาททุกสิ่งทุกอย่าง มีการจำแนกแจกทาน มีการสดับรับฟัง แล้วก็ปฏิบัติตามดำเนินตามโอวาทคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
   

   ธรรมทั้งหลายมีกายกับใจเท่านั้นแหละ ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า ใจที่มันรู้เท่าแล้วก็มีความหน่ายต่อสิ่งทั้งปวง ทางความชั่วมันก็รู้เท่า แล้วมันก็เอาอยู่นั่นแหละ ไปยึดภพน้อยภพใหญ่อยู่นั่นแหละ พวกเรายังนับว่าไม่เสียที แม้ยังไม่มีความเบื่อหน่ายก็ยังเป็นผู้ฉลาด เป็นผู้เอาทรัพย์สมบัติ คืออริยทรัพย์ให้ได้ให้เกิดให้มีอยู่ในหมู่ของตน อยู่ในสันดานของตนสะสมไว้
   

   อัตภาพร่างกายเป็นของไม่มีสาระแก่นสาร ทรัพย์ภายนอกก็ไม่มีสาระแก่นสาร ชีวิตของพวกเรา ความเป็นอยู่ก็ไม่มีสารแก่นสาร เรามาพิจารณารู้อย่างนี้แล้ว เราเป็นผู้ไม่ประมาท รีบเร่งทำคุณงามความดีประกอบขึ้น รีบเร่งสะสมอริยทรัพย์ ศีลของเราก็บริบูรณ์ไม่มีด่างพร้อย ตามภาวะของตน ศีล ๕ ศีล ๘ เดี๋ยวนี้พวกท่านกำลังอบรมสมาธิ กำลังจะเอาทรัพย์อันนี้ เรียกว่าอริยทรัพย์ ศีลก็เป็นอริยทรัพย์อันหนึ่ง สมาธิก็เป็นอริยทรัพย์
   

   หมั่นอบรมจิตใจ ปัญญาก็เป็นอริยทรัพย์ หมั่นอบรมจิตใจ เวลาเราเข้าสมาธิ จงให้สติประจำใจ กำหนดสติให้แม่นยำ รักษาจิตใจของเราให้อยู่กับที่ และให้จิตใจปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง กิจการงานของเราเคยทำมาอย่างไรก็ดี เวลาเข้าที่ให้ปล่อยวางให้หมด ความรัก ความชัง อดีต อนาคต วางปล่อยวาง ไม่ให้เอาใจใส่เรื่องนั้นๆ ให้มีสติประจำ ไม่ให้มันไปตามอารมณ์เหล่านั้น


   ครั้นควบคุมสติได้แล้ว จิตมันอยู่คงที่แล้ว อยู่กับกายของตนแล้ว ให้มันเห็นกายของตนนั่นแหละ สิ่งอื่นอย่าให้มันมาเป็นอารมณ์ของใจ ครั้นจะเพ่งเอาอารมณ์ ก็ต้องเพ่งเอาอัตภาพสกณธ์กายของตนนี้ ให้มันเห็น มันกรรมฐาน ๕ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง พระพุทธเจ้าแจกไว้หมดแล้ว
   

   ไม่ใช่คน ไม่ใช่คน แต่ไปยึดถือมัน ผมไม่ใช่คน ขนไม่ใช่คน เล็บไม่ใช่คน เราจะมาถือว่า ตัวว่าตนอย่างไรล่ะ ฟันก็ไม่ใช่คน ฟันมันต้องเจ็บต้องคลอน ต้องโยก ต้องหลุด อันนี้มันไม่ใช่ของใคร
   

   สิ่งเหล่านี้เป็นของกลางสำหรับให้เราใช้ เราต้องหมายเอาใจไว้เสียก่อน แท้ที่จริงก็ไม่ใช่ของเราอีกนั่นแหละ ถ้าใจเป็นของเราแล้ว เราบอกว่าเราบังคับคงจะได้ อันนี้ไม่อยู่ในบังคับบัญชาของใคร แล้วแต่มันจะไป ถึงคราวมันจะเป็นมันถือกำเนิดขึ้น มันยังไงมันก็ไม่พัง จะตีมันก็ไม่พังอีกแหละ
   

   เพราะเหตุนั้นมันจึงไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เราต้องรู้เท่ามัน เวลาเราภาวนา อย่าให้มันอะไรเข้ามาเป็นอารมณ์นอกจากสังขารตัวนี้ มันก็ให้เห็นเป็นอนิจจัง ให้เห็นไตรลักษณ์ ผม ขน เล็บ หนัง ฟัน กระดูก เห็นเป็นไตรลักษณ์ แล้วก็ให้เห็นเป็นปฏิกูลสัญญาของโสโครกน่าเกลียด ให้เห็นมันเป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา
   

   แล้วก็ไม่ใช่จริงๆ ผม ขน เล็บ หนัง ฟัน กระดูก ไต หัวใจ ตับ ม้าม พังผืด อาหารใหม่ อาหารเก่า มันไม่ใช่เราทั้งนั้น ถ้าแจกออกไปไม่ต้องไปยึดถือนะ ไม่ใช่นะ พระพุทธเจ้าว่า
   

   เรายังไม่ยึดถือว่าผมของเรา ขนของเรา เล็บของเรา ฟันของเรา อันนั้นแหละห้าม บางทีจิตของเราใจของเราถูกกับอันหนึ่งอันใด ก็เอาอันเดียวเท่านั้นแหละพระพุทธเจ้าแจกไว้ แต่ว่าจริตของคนนิสัยของคน มันถูกอันไหนก็เอาอันนั้นแหละ จิตมันหยุดจิตมันสงบกับพุทโธ จิตใจกับพุทโธ มันก็อยู่กับพุทโธ
   

   อาตมามันถูกกับพุทโธ ตั้งใจเอาไว้ ปล่อยทุกสิ่งทุกอย่าง กำหนดเอาสติรักษาใจไว้ เอาพุทโธไม่เผลอสติ ให้เห็นพุทโธตั้งอยู่กลางใจนี้ ไม่สบายเลยหาย อาตมานิสัยถูกกับพุทโธ บริกรรมอัฐิกระดูก บางทีมันก็ถูก ถูกมันก็ปรากฏเห็นกระดูกหมดทั้งสกนธ์กาย
   

   พระพุทธเจ้าต้องการให้จิตมันเห็นจิต มันไม่เห็นให้บริกรรมให้เห็น ต้องการให้มันเบื่อหน่าย ให้มันเห็นว่าไม่ใช่ตน สิ่งเหล่านี้ ธาตุทั้ง ๑๘ ก็ดี ล้วนตกอยู่ในไตรลักษณ์ทั้งนั้น อายตนะก็ดีตกอยู่ในไตรลักษณ์หมดทั้งนั้น เรามาสำคัญว่าหู ว่าจมูก ว่าตา ว่าลิ้น ว่ากาย ว่าใจเป็นของเรา เป็นเหตุให้ยึดมั่นถือมั่น นั่งก็ให้มีความเจ็บ เจ็บบั้นเอว ปวดหลัง ปวดเอว ปวดขาอะไรนั้น สมาธิก็ต้องออก ท่านจึงให้สู้มัน ไม่ต้องหลบมัน เราจะสู้ข้าศึกก็ต้องอย่างนั้นแหละ ต้องมีขันติความอดทน ทนสู้กับความเจ็บปวดทุกขเวทนา ดูมัน จิตมันถูกอันใดอันหนึ่ง
   

   เมื่อเราสกัดกั้นไม่ให้มันแส่ส่ายไปตามอารมณ์ภายนอก มีรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นต้น เรียกว่ากามคุณ ๕ ไม่ให้ไปจดจ่ออยู่กับสิ่งเหล่านั้นแล้ว มันจะอยู่ที่ มันก็ว่างอารมณ์ ไม่มีอารมณ์เข้ามาคลุกคลีดวงจิตแล้ว จิตตั้งมั่นเรียกว่าจิตว่าง ไม่มีอะไรมาพลุกพล่าน เหมือนกันกับน้ำในขัน หรือน้ำอยู่ที่ไหนก็ตาม เมื่อมันไม่กระเพื่อมแล้วมันนิ่ง ก็เห็นสิ่งทั้งปวงอยู่ในก้นขัน ต้องเห็น เห็นอันนี้ เห็นแล้วเราต้องสละปล่อยวาง มันจะเห็นโลภะ โทสะ โมหะ ราคะ
   

   เรามี เราจะได้พยายามละถอนสิ่งเหล่านี้ออก ปล่อยจิตว่างแล้วจิตสบาย เพราะจิตเป็นหนึ่ง ไม่ขุ่นมัว เพราะไม่มีอารมณ์มาฉาบทาดวงจิตแล้ว ดวงจิตใส ดวงจิตขาว จิตก็เย็น มีแต่ความสบาย มีความสุขรู้เท่าสังขาร รู้เท่าสิ่งทั้งปวง รู้เท่าความเป็นจริงแล้ว เกิดอันใดอันหนึ่งก็ดี หรือไม่ก็ครบรอบก็ดี เมื่อพิจารณาอันใดอันหนึ่งแล้ว จิตของเราไม่มีความหวั่นไหวต่อสิ่งทั้งปวง ถึงมรณะจะมาถึงก็ตาม ทุกขเวทนาเจ็บปวดมาถึงก็ตาม ไม่มีความหวั่นไหวต่อสิ่งเหล่านั้น
   

   เมื่อรู้เท่าความเป็นจริงแล้ว ความติฉินนินทาก็ตาม ไม่มีความหวั่นไหวต่อสิ่งเหล่านั้น เสื่อมลาภก็ตาม เสื่อมยศก็ตาม เสื่อมสรรเสริญรักชอบก็ตาม ไม่เอาใจใส่เอามาเป็นอารมณ์ มันก็มีความสุขเท่านั้น
   

   จะหาความสุขใส่ตนก็มีแต่ฝึกฝนทรมานตนนั่นแหละ
   

   พระพุทธเจ้าท่านว่า สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ ให้ทรมานจิตฟอกฝนจิตของเรา ฝนจิตให้มันว่าง ให้มันรู้เท่าความเป็นจริง ไม่ยึดมั่นถือมั่น จิตนั่นแหละจะทำประโยชน์มาให้ในชาตินี้ คือนำความสุข คือนิพพานมาให้ หรือจิตเรายังไม่พ้น ก็จะนำสวรรค์มาให้ นำเอาความสุขมาให้ตราบเท่าตลอดเวลา ตราบเท่าชีวิต แล้วมีสติคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป

   
 
  คัดลอกจากหนังสือ "ประหนึ่งเพชรส่องสกาว หลวงปู่ขาว อนาลโย"

http://agaligohome.fix.gs/index.php?topic=2156.0
[/color]