คลังธรรมปัญญา > หนังสือธรรมะ
เรื่องย่อ มหากาพย์ มหาภารตะ
ฐิตา:
กฤษณะ...อรชุน...กลางสนามรบ
- - ยุทธนาการเริ่มขึ้น
ภีษมะเปรียบเทียบอรชุนผู้ไม่มีใครเอาชนะได้กับ “ผู้ทำลายตัวเอง ณ จุดสิ้นยุค” ในการเผชิญหน้ากันครั้งหนึ่ง อรชุนผ่าคันศรของภีษมะออกด้วยศรสี่ดอก ภีษมะสรรเสริญอรชุนว่า “โอ โอรสแห่งปาณฑุ ประเสริฐยิ่งนัก! หม่อมฉันยินดีกับพระองค์ในความสำเร็จที่น่าจดจำเยี่ยงนี้ จงรบกับหม่อมฉันให้สุดความสามารถของพระองค์เถิด” อย่างไรก็ตาม อรชุนไม่อาจเอาชัยภีษมะได้ หลังการสู้รบเก้าวันเหล่าปาณฑุเสด็จเยี่ยมภีษมะกลางราตรี และตรัสแก่ภีษมะว่า นอกจากภีษมะถึงมรณกรรมในสนามรบ การเข่นฆ่าอย่างโหดร้ายทารุณจักดำเนินต่อไปจนกว่าจะสิ้นโลก
เมื่อเหล่าปาณฑพตรัสถามว่าจะเอาชัยต่อภีษมะได้อย่างไร ภีษมะแนะนำให้จัดสิขันติไว้ในแนวหน้า ตรงจุดที่สิขันติจะสามารถยิงภีษมะได้โดยไม่มีอะไรขวางกั้น สิขันตินี้ที่จริงเป็นสตรี คืออำภาผู้ซึ่งภีษมะปฏิเสธการแต่งงานด้วยและสาบานว่าจะฆ่าภีษมะ อำภาบำเพ็ญตบะอย่างเคร่งครัดโดยยืนบนปลายหัวแม่เท้าข้างเดียวในหิมะเป็นเวลาสิบสองปี เพื่อเรียนรู้ความลับแห่งมรณกรรมของภีษมะ อำภากระโดดตายในกองไฟแล้วเกิดใหม่จากเปลวไฟเป็นราชบุตรีองค์ที่สองของทรุปาทะ ต่อมาแลกเปลี่ยนเพศกับปิศาจอสูรตนหนึ่งจึงกลายเพศเป็นบุรุษ
วันต่อมาเมื่อเผชิญหน้ากับสิขันติ ภีษมะปฏิเสธการสู้รบกับสตรีจึงทิ้งอาวุธเสีย คลื่นห่าลูกศรเป็นพันๆ ดอกโจมตีภีษมะเป็นระรอก ปักเข้าไปในร่างของภีษมะ จนไม่มีที่ว่างตรงไหนหนาเกินกว่านิ้วมือสองนิ้วให้แทรกผ่านไปได้ ภีษมะหล่นลงจากรถม้าศึก และนอนอยุ่บนลูกศรที่เสียบตรึงร่างไว้นั้นโดยไม่มีร่างกายส่วนใดสัมผัสพื้นดินเลย ภีษมะยังไม่ถึงแก่กรรมทันทียังมีชีวิตต่อไปอีกตามความประสงค์ของตน และยังนอนอยู่บนเตียงลูกศรอย่างนั้นจนกระทั่งสงครามสิ้นสุดลง...
ภีษมะ
ฐิตา:
- - โทรณะรับบัญชาการ
โทรณะจัดกองทัพในรูป “กลจักรพยุหะ” ซึ่งเป็นความลับเฉพาะตนเท่านั้น กลพยุหะนี้ไม่มีใครรู้วิธีตีให้แตกหรือทำลายได้นอกจากอรชุน ถ้าเพียงแต่ขับอรชุนออกไปจากใจกลางสนามรบได้ โทรณะให้คำมั่นว่าจะได้ชัยชนะเป็นแน่แท้ อรชุนมีโอรสอายุสิบห้าพรรษาองค์หนึ่งนามอภิมันยุ ผู้ซึ่งได้ยินเสียงของบิดาตั้งแต่อยู่ในคัพภะของมารดา จึงได้เรียนรู้วิธีโจมตีทะลวงกลพยุหะของโทรณะ ในขณะที่อรชุนรบห่างออกไปจากการประจัญบานเพราะต้องกลยุทธวิธีของฝ่ายเการพ ยุธิษฐิระจึงมอบภารกิจความรับผิดชอบให้แก่อภิมันยุตีกลพยุหะจานเหล็กของโทรณะให้แตกจงได้ อภิมันยุทำได้สำเร็จแต่เมื่อภีมะและยุธิษฐิระตามเข้าไปในช่องกลพยุหะที่แตกนั้น ชยทรัถ น้องเขยของเหล่าเการพ เข้ามาขวางไว้ช่องกลพยุหะที่แตกนั้นจึงปิดตามหลังอภิมันยุผู้เยาว์วัยประสานกันเข้าเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่กล้าหาญอภิมันยุก็ถึงแก่มรณกรรมในสนามรบ
ก่อนหน้านั้นระหว่างการเนรเทศ ชยทรัถพยายามลักพาเทราปทีไป นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ภราดาปาณฑพเกลียดชังชยทรัถ
เมื่ออรชุนกลับมาถึงค่ายท้าวเธอเดือดดาลคลั่งแค้นด้วยความเสียใจ ยิ่งเมื่อเห็นร่างของอภิมันยุโอรสน้อยจึงสาบานว่าต้องสังหารชยทรัถให้ได้ก่อนตะวันตกดินในวันรุ่งขึ้น ท้าวเธอสาบานอย่างเคร่งเครียดว่าจะกระโดดสังเวยกองไฟตายเสียหากทำไม่สำเร็จ แม้แต่กฤษณะก็ยังตื่นตระหนกต่อคำสาบานที่น่ากลัวของอรชุนนี้ วันต่อมาชยทรัถออกรบพร้อมทหารแวดล้อมอารักขาอย่างหนาแน่น อรชุนจึงไม่อาจเข้าถึงองค์ชยทรัถได้ จนเกือบสิ้นแสงตะวันรอมร่อ กฤษณะจึงเนรมิตสุริยคราสชั่วขณะขึ้น ฝ่ายข้าศึกนั้นเข้าใจว่าสิ้นทิวาแล้วจึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าอรชุนต้องประกอบอัตวินิบาตกรรมอย่างแน่นอนตามคำสาบานของตนต่างก็วางอาวุธเสียสิ้น ปล่อยให้ชยทรัถตกเป็นเป้าลูกธนูของอรชุนพร้อมกับลำแสงสุดท้ายแห่งตะวันที่สาดมาหลังสุริยคราสชั่วขณะจากการเนรมิตของกฤษณะ
บิดาของชยทรัถสาปแช่งบุคคลที่สังหารบุตรของตนว่าใครก็ตามที่เป็นเหตุให้ศีรษะบุตรชายของตนหล่นลงพื้นดินแล้วจะต้องตายด้วยอำนาจมนตรา อรชุนเนรมิตให้ลูกธนูที่แผลงไปนั้นตัดศีรษะของชยทรัถและลอยเลยไปไกล พาศีรษะของชยทรัถไปตกลงบนตักของบิดาขณะสวดมนต์อยู่ บิดาของชยทรัถไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นจึงลุกโผงผางขึ้นมา ทำให้ศีรษะของชยทรัถหล่นลงพื้น ดังนั้นจึงตายตามคำสาปของตน
อรชุนยิงศรตัดหัวท้าวชยัทรถจนขาดกระเด็น...ตามสัตย์ปฏิญาณ
หลังชยัทรถ เป็นตัวการสำคัญขวางไม่ให้พวกปาณฑพ
ฝ่าเข้าไปช่วย อภิมัณยุ ในกระบวนจักรพยุหะได้...จนเป็นเหตุให้อภิมัณยุ
ถูกรุมสังหารอย่างทารุณ...โดยพระกฤษณะใช้จักรสุทัศน์
บังดวงตะวันไว้ชั่วขณะ จนชยัทรถคิดว่าตะวันตกดินไปแล้ว...จึงลำพอง
เผยตัวออกมา จากมวลทหารที่รายล้อมอยู่....
วันต่อมากรรณะพุ่งเข้าสู่สนามรบ กุณตีพยายามชักจูงกรรณะให้มาอยู่กับฝ่ายปาณฑพแต่กรรณะก็ไม่ยอมผ่อนปรนเอาเสียเลย อย่างไรก็ตามกรรณะสัญญากับกุณตีว่าจะสังหารอรชุนองค์เดียวเท่านั้น เพราะว่าปาณฑพองค์ใดองค์หนึ่งต้องตายอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นหลังสงครามกุณตีจะยังมีโอรสอยู่ห้าองค์เหมือนเดิม
กรรณะมีหลาวอาคมเป็นของขวัญจากอินทราใช้สังหารได้ทุกชีวิตแต่ใช้ได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น และกรรณะเก็บหลาวเล่มนั้นไว้ใช้กับอรชุนเป็นการเฉพาะแต่เพื่อจัดการสยบฤทธิ์หลาวเล่มนั้น กฤษณะจึงเรียก ฆโตคัตฉะ บุตรภีมะและนางรากษสเข้าสู่สนามรบแห่งมหากาพย์ท่ามกลางราตรี ฆโตคัตฉะสู้รบกับกรรณะผู้ซึ่งสามารถสังหารปิศาจอสูรได้โดยอาศัยหลาวอาคมเท่านั้น ฆโตคัตฉะตายในสนามรบแต่กฤษณะกระโดดโลดเต้นดีใจ เพราะหลาวอาคมได้ใช้ไปแล้ว กรรณะสิ้นฤทธิ์ อรชุนจึงสังหารกรรณะได้
โทรณะท้าทายกองทัพปาณฑพต่อไปโดยการสังหารโหดทหารฝ่ายปาณฑพเป็นพันๆ แต่ปาณฑพทราบจุดอ่อนของโทรณะดี นั่นคือโทรณะรักอัศวัตฐามะบุตรชายคนเดียวสุดสวาทขาดใจ ภีมะสังหารช้างเชือกหนึ่งชื่อว่าอัศวัตฐามะเช่นกัน แล้วหลอกโทรณะให้เข้าใจว่าเป็นมรณะกรรมแห่งบุตรชายของโทรณะ โทรณะสงสัยว่าเป็นการโกหกจึงถามเอาความจริงกับยุธิษฐิระว่า บุตรของตนถึงแก่มรณกรรมแล้วจริงหรือไม่ โทรณะจักวางอาวุธเสียในวันที่บุรุษผู้ซื่อสัตย์กล่าวคำโกหก กฤษณะบอกยุธิษฐิระว่า “ในเหตุการณ์แวดล้อมเยี่ยงนี้ ความเท็จเป็นที่น่าปรารถนากว่าความจริง การโกหกเพื่อเอาชีวิตรอด ไม่ผิดบาปแต่อย่างใด” ยุธิษฐิระจึงอ้อมแอ้มบอกกึ่งโกหกว่า “อัศวัตฐามะ-(แล้วทำเสียงอู้อี้งึมงำอยู่ในลำคอ)ช้าง-ตายแล้ว” ก่อนโกหกรถม้าศึกของยุธิษฐิระกระดอนขึ้นจากพื้นสี่นิ้ว แต่พอตรัสเสร็จจมกลับลงไปในดิน โทรณะจึงวางอาวุธของตน ธฤษตทยุมนะ โอรสแห่งทรุปาทะจึงตัดศีรษะของโทรณะได้ ตามคำสาบานแก้แค้นที่ทำให้บิดาของตนอับอายขายหน้า
ขณะนั้นภีมะเห็นทูศาสนะใกล้เข้ามาเกือบถึงตน ภีมะเคยสาบานดื่มเลือดของอริองค์นี้เพื่อแก้แค้นสิ่งที่ทำไว้กับเทราปที ภีมะฟาดทูศาสนะลงบนพื้นด้วยคทา แหวะอกทูศาสนะออกมาแล้วดื่มเลือดของทูศาสนะพร้อมกับบอกว่ารสชาติดีกว่าน้ำนมมารดา ภีมะผู้ซึ่งสังหารรากษสเสียหลายตน (แถมมีบุตรชายตนหนึ่งกับนางรากษสด้วย) มักสำแดงพฤฒิกรรมเหมือนยักษ์กินคนเสียเอง ดูจากมรณกรรมเลือดของกิจาคะและทูศาสนะซึ่งภีมะแก้แค้นให้เทราปทีทั้งสองกรณี ภีมะคือผู้อารักขาที่ใช้ความรุนแรงที่สุดของเทราปที ภีมะสังหารเจ้าชายฝ่ายเการพเกือบหนึ่งร้อยองค์ ซึ่งที่จริงคือปิศาจอสูรในร่างมนุษย์
ฐิตา:
กรรณะลงไปเข็นล้อรถศึกที่ติดหล่มโคลน..
พร้อมกับขอพักการรบชั่วคราวโดยอ้างถึงคุณธรรมนักรบ...
- - มรณกรรมแห่งกรรณะ
ทุรโยธน์ขอร้องให้กรรณะแก้แค้นแทนทูศาสนะน้องชายในที่สุดกรรณะพบกับอรชุนในการเผชิญหน้ากันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
อรชุนและกรรณะทั้งคู่ต่างก็มีอาวุธสวรรค์ (เช่น คนหนึ่งแผลงศรเป็นไฟ อีกคนแผลงศรเป็นน้ำไปดับไฟ) กรรณะมีศรดอกหนึ่งที่มีวิญญาณของนาคา(นาค)ซึ่งไม่พอใจอรชุนสิงอยู่ (ครอบครัวของนาคาตายสิ้นในป่าซึ่งอัคนีเผาผลาญทำลาย) เมื่อกรรณะยิงศรไปยังอรชุนสารถีรถม้าศึกของกรรณะเตือนว่ากรรณะเล็งเป้าสูงเกินไป แต่กรรณะไม่ฟังเสียงศรดอกนั้นจึงยิงไปถูกมงกุฏเล็กๆ ที่อรชุนสรวมอยู่เท่านั้น เมื่อศรวิญญาณสิงย้อนกลับมาหากรรณะและบอกกรรณะให้พยายามใหม่ครั้งนี้จะไม่ผิดเป้าหมาย กรรณะไม่ยอมรับความล้มเหลวจึงยิงศรดอกเดิมซ้ำสองครั้ง ถ้าแม้นว่ามีอรชุนถึงหนึ่งร้อยองค์ก็สังหารได้สิ้น
ในขณะที่การสู้รบดำเนินอยู่นั้นเกิดแผ่นดินแยก และรถม้าศึกของกรรณะหล่นลงไปในรอยแยกและติดอยู่ในหล่มนั้น เพื่อให้เป็นไปตามคำสาบแช่ง ด้วยความท้อแท้สิ้นหวังกรรณะพยายามวิงวอนให้สุดยอดอาวุธของตนให้มีฤทธิ์ขึ้นมาอีก แต่มนตราที่มีอยู่นั้นเสื่อมเสียแล้ว กรรณะจำคำของปรศุรามได้ดีว่า “เมื่อชีวิตท่านขึ้นอยู่กับอาวุธที่ทรงพลานุภาพที่สุดของท่านแล้วท่านไม่สามารถเรียกร้องอะไรได้อีก”
ในวาระสุดท้ายของชีวิตกรรณะสงสัยความเชื่อของตนว่า “ผู้รู้ธรรมะมักกล่าวกันเสมอว่า‘ธรรมะย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม’ แต่เนื่องจากล้อรถของเราติดหล่มวันนี้เราคิดว่าธรรมะไม่ช่วยคุ้มครองเสมอไปดอก”
ขณะดิ้นรนพยายามเข็นรถม้าศึกขึ้นจากหล่ม กรรณะร้องเสียงดังแก่อรชุนว่า “อย่าโจมตีผู้ไร้อาวุธ ขอให้รอจนกระทั่งข้าฯ เข็นรถม้าศึกขึ้นจากหล่มได้เธอเป็นนักรบที่ไร้ผู้ต่อกร อย่าลืมจรรยาบรรณสงครามเสีย” แต่กฤษณะตรัสเสียดสีกรรณะว่า “มนุษย์ที่มีปัญหาเศร้าโศกกังวลใจมักเรียกหาความมีศีลธรรม โดยลืมการกระทำชั่วร้ายของตนเองเสียสิ้น โอ กรรณะเอ๋ย ความมีศีลธรรมของท่านอยู่ที่ใดเมื่อพวกเขาจิกหัวเทราปทีลากดึงร้องไห้อยู่ในที่ประชุมมุขมนตรี ศีลของท่านอยู่ไหนเล่าเมื่อพวกเขาปล้นราชอาณาจักรของยุธิษฐิระไป” กรรณะคอตกพูดอะไรไม่ออกพร้อมกับพยายามเข็นรถม้าศึกขึ้นจากหล่มอยู่ กฤษณะบัญชาให้อรชุนยิงและกรรณะก็ถึงแก่มรณกรรม รัศมีแสงสดใสวาวโรจน์พุ่งวาบออกจากกายของกรรณะเข้าสู่ตะวัน
ดื้อดึงแต่ซื่อสัตย์และในฐานะเชษฐาองค์ใหญ่ของปาณฑพ กรรณะมีสิทธิ์ขึ้นเป็นกษัตริย์ได้แต่ก็ยังคงอยู่กับฝ่ายเการพ กรรณะสู้รบอย่างยุติธรรมและรักษาสัจจะสัญญาที่ให้ไว้กับกุณตีว่าจะไม่สังหารอนุชาองค์อื่นใดเลยนอกจากอรชุน การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นของทั้งคู่สะท้อนให้เห็นถึงความขัดแย้งในเทพนิยายโบราณนี้ ระหว่างอินทราและสูรยาเทพบิดร
ฐิตา:
ทุรโยธน์ และ โทรณาจารย์
- - มรณกรรมแห่งทุรโยธน์
ตลอดสงครามสิบแปดวัน ทุรโยธน์เห็นนายพลและกองทัพฝ่ายเการพล้มลงต่อฝ่ายปาณฑพ แต่ถึงที่สุดแล้วทุรโยธน์ปฏิเสธการยอมจำนน หลบซ่อนตัวอยู่ในน่านน้ำของทะเลสาบแห่งหนึ่ง ซึ่งผนึกแข็งตัวจากอำนาจมนตราของทุรโยธน์
ยุธิษฐิระ นักการพนันตลอดกาลตรัสแก่ทุรโยธน์ว่า ให้เลือกต่อสู้กับปาณฑพองค์ใดองค์หนึ่งก็ได้และหากชนะ ทุรโยธน์จะได้ราชอาณาจักรกลับไปครองอีกครั้ง
ในเรื่องบอกเป็นนัยแก่ทุรโยธน์ให้ต่อสู้กับภีมะแทนต่อสู้กับปาณฑพองค์ใดองค์หนึ่งซึ่งอ่อนแอกว่าภีมะ ในการต่อสู้กันครั้งสุดท้ายตัวต่อตัวเสมอภาคกัน ภีมะชนะอย่างน่าเคลือบแคลงเพียงเพราะตีที่ขาของทุรโยธน์ ซึ่งเป็นกฎต้องห้ามในสงคราม
กัณธารีร่ายมนตร์คุ้มครองทุรโยธน์ทั่วร่างกายแต่เนื่องจากทุรโยธน์มีผ้าพัน เนื้อตะโพกแต่น้อยอยู่ก่อนโคนขาทั้งสองข้างของทุรโยธน์จึงไม่ได้รับการคุ้มครองจากอำนาจมนตรา
ทุรโยธน์กล่าวหากฤษณะที่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างไม่ยุติธรรมและยุให้ภีมะทรยศ (ไม่เคารพกฎสงคราม)กฤษณะตอบโต้ว่า “การใช้กลลวงในสงครามเพื่อต่อสู้กับอริที่มีกลลวงนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แม้กระทั่งอินทราก็ยังใช้กลลวงเพื่อพิชิตวิโรจน์และวริตราอสูรที่ทรงฤทธิ์”
ผู้เห็นเหตุการณ์คนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า “ภีมะได้สังเวยอธรรมะเพื่อจุดมุ่งหมายให้ได้มาซึ่งวัตถุ นี่ไม่สามารถนำไปสู่ความสำเร็จและความสุขได้เลย” กฤษณะตอบว่า "ภีมะเพียงแต่รักษาคำที่สาบานไว้เท่านั้นเอง เพราะนั่นเป็นหน้าที่ซึ่งอุทิศให้แก่พระผู้เป็นเจ้า ไม่มีความไม่ยุติธรรมใดเลยในองค์ภีมะ ภีมะทำตามสัญญาของเขาให้ลุล่วง และทดแทนหนี้แค้นศัตรูของเขา ขอให้ทราบไว้ด้วยว่ายุคกาลีที่น่าสะพรึงกลัวใกล้เข้าถึงมาแล้ว สัญญาณการกระทำที่อำมหิตและการสูญเสียแห่งธรรมะ”
ทุรโยธน์โต้ตอบอย่างกล้าหาญว่า “บัดนี้ ข้าฯ กำลังตายด้วยความตายที่รุ่งโรจน์ จุดจบซึ่งนักรบที่เที่ยงธรรมแสวงหาอยู่เสมอเป็นของข้าฯ ใครจักโชคดีเยี่ยงข้าฯ ข้าฯจักขึ้นสู่สรวงสวรรค์พร้อมน้องของข้าทั้งหมด ในขณะที่พวกเจ้า ปาณฑพจักดำรงอยู่ที่นี่ จมอยู่ในความโศกเศร้าเสียใจและทนทุกข์ทรมานต่อไป”
ในขณะที่ทุรโยธน์กำลังถึงแก่มรณกรรมอยู่นั้น อัศวัตฐามะ บุตรโทรณะบอกทุรโยธน์ว่าในตอนกลางคืนได้ลอบเข้าไปในค่ายของปาณฑพซึ่งได้ชัยชนะเพื่อก่อบาปฆาตกรรมหมู่อย่างน่าขยะแขยง โดยสังหารนักรบที่รอดชีวิตอยู่และเด็กทั้งหมดขณะหลับ เหลือไว้แต่ภราดาปาณฑพที่ไร้ผู้สืบสกุล ในทางตรงข้ามกับความยินดีที่ได้ยินข่าวนั้นทุรโยธน์ถึงแก่มรณกรรมด้วยหัวใจร้าวรานแหลกสลาย เพราะเหตุว่าเผ่าพันธุ์แห่งกุรุไม่มีอนาคตต่อไปอีกแล้ว ดังนั้นทั้งสองฝ่ายตายทั้งหมดในสงคราม ยกเว้นภราดาปาณฑพทั้งห้า
เมื่อยุธิษฐิระทราบถึงการฆาตกรรมหมู่ก็ทรงโศกเศร้าเสียใจว่า “เราผู้พิชิต กลับถูกพิชิตเสียแล้ว”
เมื่อฝ่ายปาณฑพหาทางแก้แค้น อัศวัตฐามะปล่อยอาวุธสวรรค์ที่น่าสะพรึงกลัวที่สุดในคลังแสงสรรพวุธของตน อรชุนตอบโต้ด้วยอาวุธของตนซึ่งโทรณะได้ฝึกอบรมสั่งสอนทั้งคู่ไว้ อาวุธนี้ของอรชุนมีไว้เพื่อใช้ต่อต้านบุคคลที่มาจากสวรรค์เท่านั้น หรือมิฉะนั้นมันจะทำลายล้างโลกให้สิ้นสลายไป
อัศวัตฐามะหันอาวุธของตนเข้าใส่ครรภ์ของเหล่าสตรีปาณฑพที่รอดชีวิตมาจากสงคราม ทำให้ตั้งครรภ์โดยไม่ต้องอาศัยเชื้อ แต่กฤษณะสัญญาว่าไม่ว่าอย่างไรอรชุนจะมีผู้สืบสกุล เพื่อเป็นการลงโทษอัศวัตฐามะถูกสาปให้เนรเทศ โดยเร่ร่อนไปทั่วโลกเป็นเวลาสามพันปี
ฐิตา:
- - เหตุการณ์หลังสงคราม
หนังสือเล่มที่ 11-18 บรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังสงครามและคำสอนของภีษมะ
หลังสงคราม เมื่อกฤษณะลงจากรถม้าศึก รถนั้นระเบิดไฟลุกท่วมสิ้น ร่างแฝงของกฤษณะเท่านั้นที่รักษาอาวุธสวรรค์ไว้จากการทำลายตั้งแต่ต้น กฤษณะเปิดเผยว่าทวยเทพเห็นด้วยกับสงครามครั้งนี้ เพื่อผ่อนคลายภาระอันยิ่งใหญ่ของโลก (เหมือนกับ ทรอย) ทุรโยธน์ คือร่างทรงของกาลี จ้าวแห่งยุคที่สี่
ยูธิษฐิระรายงานยอดความสูญเสียได้หกล้านศพ ท้าวเธอตื่นตระหนกกับความสูญเสียมโหฬารเช่นนั้น จึงมีช่วงวิกฤติส่วนตนคล้ายกับอรชุนก่อนยุทธนาการ ท้าวเธอไม่ประสงค์ขึ้นครองราชย์ เนื่องจากจำเป็นต้องใช้อำนาจและความรุนแรงมากขึ้น ทรงเห็นว่าชีวิตเป็นความเจ็บปวดทรมานเสียเองเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์มักแสวงหาอำนาจและความมั่งคั่งทางวัตถุแต่ไม่เคยพึงพอใจเลย บุคคลผู้ซึ่งได้รับรางวัลทองคำและรางวัลดินโคลนต่างก็มีความสุขที่สุดเท่าเทียมกัน ส่วนคนอื่นกลับโน้มน้าวท้าวเธอว่าต้องครองราชย์และทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์
ยูธิษฐิระ เห็นยุคต่อไปที่กำลังมาถึง “ข้าฯ เห็นยุคหนึ่งที่กำลังมาถึง ในยุคนั้นกษัตริย์ป่าเถื่อนปกครองโลกที่แตกสลายเสื่อมทราม ในโลกนั้นมนุษย์มีแต่ความยากลำบาก เต็มไปด้วยความหวาดกลัวและอ่อนแอ อายุขัยสั้นผมหงอกตั้งแต่อายุสิบหก สมสู่กับสัตว์ หญิงกลายเป็นโสเภณีไปหมด ทำรักด้วยปากอันตะกละหิวกระหาย แม่วัวผอมแห้ง ต้นไม้แคระแกร็นไม่มีดอกอีกต่อไป ไม่มีความบริสุทธิ์ใดหลงเหลืออยู่อีกต่อไป ผู้คนเต็มไปด้วยความทะเยอทะยานมักใหญ่ไฝ่สูง ฉ้อราษฎร์บังหลวง ยุคกาลี ยุคแห่งความมืดมนอนธกาล”
ภีมะถามว่าทำไมยุธิษฐิระถึงได้คิดและมาละได้เอาป่านฉะนี้เล่า เฉกเช่นบุรุษผู้ป่ายปีนต้นไม้ขึ้นไปตีรังผึ้งแต่ปฏิเสธการลิ้มรสน้ำผึ้งรวงนั้น หรือบุรุษผู้อยู่บนเตียงกับสตรีแต่ปฏิเสธการร่วมรัก เทราปทีสงสัยความเป็นลูกผู้ชายของยุธิษฐิระว่าเป็นแต่เพียงบัณเฑาะก์ผู้มุ่งแสวงหาความสงบและหลีกเลี่ยงความรุนแรงเท่านั้น อรชุนตรัสว่า การปฏิเสธขึ้นครองราชย์จะเป็นแต่เพียงสาเหตุให้เกิดความโกลาหลอลหม่าน และก่อกรรมมากมายมหาศาลอันเลวยิ่ง ให้ยุธิษฐิระไปชดใช้ในชาติหน้าที่เกิดมาในวรรณะต่ำต้อยเท่านั้นเอง เราควรยอมรับบทบาทของเรา ขึ้นอยู่กับว่าในชีวิตนี้เราอยู่ที่ไหน กล่าวคือ บิดามีภาระหน้าที่ผูกพันอยู่กับครอบครัวของตนเมื่อบุตรยังเยาว์ เฉกเช่นเดียวกับกษัตริย์ต้องครองราชย์เสียก่อนแล้วบั้นปลายของชีวิตจึงอาจสละโลกไป แต่การกระทำเยี่ยงนั้นเสียแต่เนิ่นเป็นพฤฒิการณ์ของความเห็นแก่ตัว
ขณะกำลังถึงแก่มรณกรรมภีมะบอก ยุธิษฐิระว่า ในยุคที่สี่ (ยุคปัจจุบันของเรา) “ธรรมะกลายเป็นอธรรมะและอธรรมะเป็นธรรมะ” ภีมะกล่าวต่ออย่างค่อนข้างขัดแย้งกันว่า “หากใครสู้รบกับการใช้กลโกง บุคคลก็ควรสู้รบกับเขาด้วยกลโกงแต่หากใครสู้รบตามกฎกติกา บุคคลก็ควรตรวจสอบเขาด้วยธรรมะ…บุคคลควรเอาชนะความชั่วร้ายด้วยความดี ความตายพร้อมด้วยธรรมะดีกว่าชัยชำนะด้วยการกระทำเลว”
เนื่องจากโอรสทั้งหมดพึ่งถึงแก่กรรมไป แววเนตรของกัณธารีจึงมีแต่ความเศร้าโศกเสียใจอาลัยฉายอยู่ เห็นได้จากใต้ผ้าคาดตา ความรู้สึกของพระนางไหม้เกรียมไปด้วยเนื้อเท้าของทุรโยชน์ พระนางสาปแช่งกฤษณะผู้ซึ่งพระนางโยนความรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมทั้งหมดที่บังเกิดขึ้นไปให้ ว่าราชอาณาจักรแห่งปาณฑพจักล่มสลายภายในสามสิบหกปี แม้กระทั่งกฤษณะเองก็จะตายจะมีคนแปลกหน้าคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้ผ่านทางมาสังหารกฤษณะเสีย กฤษณะยอมรับคำสาปแช่งโดยดุษณี แล้วจึงตรัสแก่พระนางว่า "แสงสว่างได้รับการพิทักษ์แล้ว แม้กระทั่งพระนางก็ไม่สามารถเห็นแสงสว่างนั้น"
ยุธิษฐิระยอมรับขึ้นครองราชย์ สามสิบสองปีผ่านไปและยุธิษฐิระเดินทางไปถึงประตูสวรรค์ จูงสุนัขของพระองค์ไปด้วยตัวหนึ่ง พี่น้องและเทราปที ผู้สละโลกเดินทางไปด้วยกัน ต่างหล่นจากภูเขาลงสู่ขุมนรกตามรายทางที่ผ่านไป ทวารบาลประตูสวรรค์ขอให้ยุธิษฐิระทิ้งสุนัข หากว่าประสงค์จะเข้าสู่สวรรค์ ท้าวเธอปฏิเสธไม่ประสงค์ทิ้งสัตว์ซื่อสัตย์ที่นำไปด้วยและขอให้อนุญาตเข้าสู่สวรรค์ เพราะนี่เป็นการทดสอบ สุนัขนั้นคือธรรมเทพจำแลงมา ในสวรรค์ ยุธิษฐิระยังพบความประหลาดใจรออยู่อีกต่อไป อริราชศัตรูของพระองค์ชุมนุมกันอยู่ที่นั่น ยิ้มสรวลเบิกบานสำราญใจ และพึงพอใจในสิ่งที่เป็นอยู่ อีกฟากหนึ่ง ดูเหมือนว่าพี่น้องปาณฑพและเทราปทีตกทุกข์ได้ยากทรมานอยู่ในสถานที่แห่งหนึ่ง ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ยุธิษฐิระตัดสินใจอยู่กับบุคคลผู้เป็นที่รักในขุมนรกดีกว่าไปเสวยสุขสำราญ ยินดีในสวรรค์กับศัตรู นี่ก็เป็นการทดสอบอีกเช่นกันและเป็น “มายาภาพสุดท้าย” แล้วทั้งหมดได้รับอนุญาตให้เข้าสู่สวรรค์
ในความคิดของชาวฮินดูทั้งสวรรค์หรือนรกไม่เป็นอมตะแต่เป็นเพียงช่วงคั่นระหว่างการเกิดใหม่ในชาติภพต่างๆ เท่านั้น แรกสุดทุกคนต้องเสวยสวรรค์ก่อนช่วงระยะเวลาหนึ่ง (หรือตกนรกขุมใดขุมหนึ่งก่อน เนื่องจากมีหลายขุม) เพื่อชดใช้บาปกรรมของชาติภพก่อนหน้าที่ติดกับปัจจุบันชาติ ยุธิษฐิระ ต้องผ่านนรกระยะเวลาหนึ่งก่อน เนื่องจากคำโกหกของท้าวเธอต่อโทรณะ สวรรค์ต้อนรับผู้กระทำกรรมดีแต่เพียงระยะเวลาจำกัดเท่านั้นจนกว่าคุณงามความดีที่สะสมไว้นั้นหมดสิ้นไป
ในธรรมเนียมคติของชาวอินเดียมีโลก(การดำรงอยู่ของชีวิต)ที่อยู่เหนือโลกมนุษย์ ขึ้นไปอีกหกชั้นและโลก(นรก)ที่อยู่ต่ำกว่าลงไปอีกเจ็ดชั้น อย่างไรก็ตามไม่มีการกระทำใดเกิดขึ้นได้เลยในโลกอื่นที่กล่าวถึงนี้ เนื่องจากกรรมของบุคคลหนึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไป จนกว่าเขาจะกลับคืนมาสู่โลกมนุษย์ “การกระทำที่ประกอบขึ้นโดยสอดคล้องกับข้อห้ามในพระคัมภีร์…นำผู้ประกอบการกระทำนั้นไปสู่โลกที่เลอเลิศเพื่อเพลิดเพลินในโลกีย์วิสัยที่ยาวนานขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อระยะเวลาแห่งความศรัทธาอันแรงกล้าสิ้นสุดลง เขาต้องกลับคืนสู่โลกมนุษย์เช่นเดียวกันกับบุคคลเดินทางกลับจากการพักผ่อนในวันหยุด และดำเนินงานของตนต่อไป”
~ อวสาน ~
ขอบพระคุณที่มาจาก :
http://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=ludwig&month=10-2007&date=06&group=20&gblog=5
http://agaligohome.fix.gs/index.php?topic=536.0
miracle of love
Pics by : Google
อกาลิโกโฮม * สุขใจดอทคอม
ใต้ร่มธรรมดอทเน็ต
อนุโมทนาสาธุที่มาทั้งหมดมากมายค่ะ
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
[*] หน้าที่แล้ว
Go to full version