บุรพาจารย์แห่งเซน ได้วิจารณ์ให้เห็นเค้าเรื่องถึงความบริสุทธิ์และถูกต้องเที่ยงตรงถึงการเป็นอยู่อย่างเซนของท่านซุยกัน “มังกรยินดีในแก้วมณี” น่าพิศวงขนาดไหนที่ท่านซุยกันอาศัย ชื่นชมยินดี และใช้ “มัน” ในตัวท่าน โดยเรียกและขานรับด้วยตัวท่านเอง น่าพิศวงเช่นเดียวกับ มังกร รักและยินดี ในแก้วมณี
วิญญาณแห่งเซนที่ลุ่มลึกและกระจ่างชัด ในการเป็นอยู่ ความร่าเริง การใช้ “มัน” ในตัวเขาไม่ควรตีความผ่านๆอย่างผิวเผินแค่ตามตัวหนังสือเพียงระดับศีลธรรม คือการตรวจสอบตัวเองเท่านั้น
ทำไมท่านอาจารย์ซุยกันจึงใช้ชีวิต ร่าเริง ใช้”มัน”อย่างเคร่งครัดเช่นนั้น เราไม่ควรมองข้ามความกรุณาที่ล้นหลั่งไปสู่อนุชนรุ่นหลัง รวมทั้งเซนของท่านที่เต็มไปด้วยความชัดแจ้งจนมองเห็นได้ด้วยตา นั่นเป็นเหตุผลให้ท่านมูมอนนำโกอานบทนี้มาสอนสานุศิษย์ พูดสั้นๆ ท่านอาจารย์ของท่านซุยกันคืออาจารย์ของเธอ ของฉัน ที่นี่และเดี๋ยวนี้
มีโกอานอีกบทที่สืบเนื่องจากโกอานบทนี้ วันหนึ่ง ภิกษุรูปหนึ่งมาพบอาจารย์เกนชา “อาจารย์เกนชาถามพระว่า “เมื่อเร็วๆนี้เธออยู่ที่ไหน?” พระตอบว่า “อยู่กับอาจารย์ซุยกันครับ ท่าน” ท่านอาจารย์จึงถามต่อว่า “ใช่ อาจารย์ซุยกันสอนศิษย์อย่างไร ?” ภิกษุรูปนั้นกล่าวอย่างละเอียดถึงเหตุการณ์ทุกวันที่อาจารย์ซุยกันถามและตอบตนเอง เมื่อได้ยินดังนั้น อาจารย์เกนชาจึงถามต่อว่า “ทำไมเธอจึงไม่เรียนต่อไปกับอาจารย์ซุยกัน?” พระภิกษุตอบ “ท่านซุยกันมรณภาพแล้ว” ต่อคำตอบนี้ อาจารย์เกนชาจึงตั้งคำถามที่คิดไม่ถึงว่า “หากเธอถามท่านซุยกันเดี๋ยวนี้ “ท่านอาจารย์” ท่านซุยกันจะตอบหรือไม่?” โชคไม่ดี ภิกษุได้แต่เงียบ ไม่พูดตอบแม้แต่คำเดียว
ท่านซุยกันมรณภาพแล้ว และท่านเกนชาก็ถามว่า “หากเธอถามท่านซุยกันเดี๋ยวนี้ “ท่านอาจารย์” ท่านซุยกันจะตอบหรือไม่?” ทำไมท่านจึงอาจหาญตั้งคำถามเช่นนั้น เซนของท่านเกนชาทำงานอยู่เบื้องหลังคำถามนี้ ท่านพยายามปลุกพระให้ตื่นขึ้นมาพบอาจารย์(หรือนาย)ที่แท้ที่อยู่เหนือกาล,เวลา,เธอ,ฉัน,ชีวิต และความตาย น่าเสียดายที่พระไม่สามารถตอบสนองความกรุณาของท่านเกนชาได้ถูกต้อง
ในยุคสงครามกลางเมืองในญี่ปุ่น มีขุนนางท่านหนึ่งนามว่า โอตะ โดกัน ได้สร้างคฤหาสน์หลังงามในเอโด หรือโตเกียวในปัจจุบัน ท่านเรียนเซนกกับท่านอุนโกะ ซึ่งอาศัยอยู่ในวัดใกล้กันชื่อว่า เซอิโชจิ และขยันในการปฏิบัติเซนมาก ท่านอุนโกะให้โดกันขบโกอาน “ท่านอาจารย์ของซุยกัน” และให้โดกันปฏิบัติอย่างหนัก ท่านปฏิบัติอย่างจริงจังและจริงใจเป็นเวลานาย และในวันหนึ่งก็แทงทะลุสู่แก่นของ “ท่านอาจารย์”
ท่านอุนโกะต้องการทดสอบผลการปฏิบัติ จึงถามว่า
“ขณะนี้ บัดเดี๋ยวนี้ “ท่านอาจารย์” อยู่ที่ไหน?”
ขุนเขาตอบ
เสียงระฆังจากวัด
ท่ามกลางแสงจันทร์
เป็นคำตอบจากโดกันในทันทีทันใด และท่านอุนโกะก็ยอมรับ
บทร้อยกรองของโดกันเหมือนกับการตอบตนเองของท่านซุยกันหรือไม่ หรือต่างกัน อาจารย์ที่แท้คงอยู่ตลอดไป กับท่านซุยกันหรือโดกันก็ได้ ขณะนี้ หรือในอดีต ท่านเป็นความคิดรวบยอดที่ไม่มีชีวิต แน่นอนว่าท่านอาจารย์อยู่ที่นี่ในขณะนี้เสมอ และตื่นอยู่ในขณะแห่งการยืนและนั่งของเธอ เธอผู้มีตา(แห่งเซน)จงมองท่านเสียในบัดนี้ เธอผู้สามารถใช้ท่าน จงใช้ท่านเสียตรงๆ ท่านมูมอนกระตุ้นเราดังนี้
ไขปริศนา คำวิจารณ์ของท่านมูมอน
ท่านมูมอนวิจารณ์ “ท่านอาจารย์ผู้เฒ่าขายเองซื้อเอง ท่านมีหน้ากากปีศาจมากมายไว้เล่น ทำไม? Nii(ไน้) อันที่เป็นผู้เรียก อันที่เป็นผู้ขานรับ อันที่เป็นผู้ตื่น อันที่ไม่ให้ใครหลอก ถ้าเธอคิดว่าเป็นเรื่องจริง เธอกำลังเข้าใจผิด หากเธอเลียนแบบท่านอาจารย์ซุยกัน เธอยังเข้าใจแบบสุนัขจิ้งจอก”
คำวิจารณ์นี้แบ่งได้เป็นสามส่วน ส่วนแรกเหมือนกับท่านมูมอนใส่ร้ายท่านซุยกัน”ทุกๆวัน ท่านเรียกตนเองและตอบตนเอง” “ท่านขายเองแล้วก็ซื้อเอง การแสดงเดี่ยวของท่านหมายความว่าอย่างไร ที่ไปเล่นเอาปีศาจทุกชนิดมาแสดงบนเวทีทีละตัวทีละตัวอย่างนั้น ?” ท่านมูมอนไล่ต้อนท่านซุยกัน นี่เป็นวิธีการที่นิยมใช้เพื่อยกย่องแบบเซน ที่จริงแล้วท่านยกย่องเซนของท่านซุยกัน
“nii(ไน้)” เป็นคำอุท่านเพื่อเน้นย้ำความหมาย มันมีความหมายว่า “นั่นไง” “จงมองดูซิ” คาดคั้นเอาคำตอบ เมื่อท่านพูดพาดพิงถึงปีศาจ มีความเชื่อของชาวบ้านว่า เมื่อใช้ป้ายตัวอักษร nii(ไน้) ปิดเหนือประตูบ้านแล้ว จะขับไล่อัปมงคลทั้งปวงได้
เราจะต้องมองให้เห็นความเท่าทันของท่านมูมอน เมื่อท่านซุยกันเป็นท่านอาจารย์เสียเองอย่างเต็มที่ และนำไปทุกที่ทั้งขณะมาและไป นั่งและนอน
ส่วนที่สองคือ “อันที่เป็นผู้เรียก อันที่เป็นผู้ขานรับ อันที่เป็นผู้ตื่น อันที่ไม่ให้ใครหลอก ถ้าเธอคิดว่าเป็นเรื่องจริง เธอกำลังเข้าใจผิด” ท่านพูดถึงพฤติกรรมต่างๆของท่านซุยกัน เดี๋ยวก็เรียกตนเอง เดี๋ยวก็ขานรับตนเอง เดี๋ยวก็บอกให้ตนเองตื่น เดี๋ยวก็พูดว่าจะไม่ให้ใครหลอก “จงอย่ายึดมั่นถือมั่นกับหลากหลายใบหน้าเหล่านี้” ท่านมูมอนเตือนสานุศิษย์อย่างเข้มงวด โดยพื้นฐาน ท่านอาจารย์ ก็คือ ท่านอาจารย์ ไม่ว่าจะปรากฏในรูปแบบไหน ปราชญ์โบราณวิจารณ์ว่า “ลาอยู่ในบ้านทางตะวันออก ม้าอยู่ในบ้านทางตะวันตก” อยู่กับต้นหลิวมันก็ปรากฏเป็นสีเขียว อยู่กับดอกไม้มันก็ปรากฏเป็นสีแดง ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ก็เป็นสัจจะที่แท้เสมอ และไม่เคยพลาดจากความเป็นท่านอาจารย์เลย ด้วยคำวิจารณ์เต็มไปด้วยความกรุณา ท่านมูมอนพยายามผลักดันให้เหล่าสานุศิษย์มองเห็นสาระในเซนของท่านซุยกัน
ประโยคสุดท้าย “หากเธอเลียนแบบท่านอาจารย์ซุยกัน เธอยังเข้าใจแบบสุนัขจิ้งจอก” บางคนอาจสรุปว่า ท่านอาจารย์หมายถึงสัจจะสมบูรณ์ที่อยู่เหนือคำบรรยายทั้งปวง สิ่งที่ควรทำคือ เพียงแต่เรียก “ท่านอาจารย์! ท่านอาจารย์! “ หากพวกเขาเลียนแบบท่านซุยกันทำนองนี้ โดยปราศจากเซน ก็เป็นความเข้าใจที่ตายไปแล้ว เป็นความเข้าใจเซนที่ผิดและไร้ชีวิตจิตใจ เรียกว่า เซนสุนัขจิ้งจอก หลังจากกั้นรั้ว(กันศิษย์ออกนอกทาง)แล้ว ท่านมูมอนก็แสดงสัจจะที่แท้แก่เหล่าศิษย์ ท่านมูมอนว่ากล่าวตักเตือนด้วยความกรุณาที่แท้จริง
ไขปริศนา บทร้อยกรองของท่านมูมอน
ผู้แสวงหามรรคไม่เห็นธรรมแท้
พวกเขาเห็นแต่วิญญาณอย่างเก่าๆ
ทำให้เวียนวนอยู่ในวัฏฏะไม่มีที่สิ้นสุด
แต่คนยังคงหลงจับฉวยแทนมนุษย์แต่ดั้งเดิม
บทร้อยกรองนี้แต่งโดยท่านอาจารย์โชสะ มูมอนนำมากล่าวโดยไม่ได้ดัดแปลงแก้ไขแม้น้อยนิด ใช้มันเป็นคำแนะนำโกอานบทนี้ด้วยความสามารถในเซนของท่านเอง “มนุษย์แต่ดั้งเดิม” ตรงกับ “ท่านอาจารย์” ของท่านซุยกัน มูมอนใช้บทร้อยกรองนี้อย่างเปี่ยมด้วยความกรุณา พยายามบดขยี้ความฝันลวงๆของประชาชนผู้ยังติดกับความคิดแบบแบ่งแยกโดยเห็นเป็นมนุษย์แต่ดั้งเดิม ซึ่งเป็นเหตุแห่งอวิชชาโดยแท้จริง
ในวัยแห่งการฝึกเซนของฉัน ฉันสวดบทร้อยกรองนี้ต่อหน้าอาจารย์ของฉัน ยากที่จะจบบรรทัดแรกโดยไม่พูดอะไรต่อเติม “ผู้แสวงหามรรคไม่เห็นธรรมแท้” ท่านก็รุกเร้า “ปล่อยบทร้อยกรองไว้ตามเดิม บอกธรรมแท้ของเธอมาเดี๋ยวนี้!” ฉันจำได้ว่าได้แต่เงียบกริบภายหลังถูกบีบบังคับด้วยคำถามของท่าน
คำว่า ธรรมแท้ หมายถึงแก่นแห่งเซน
และก็เป็นจิตวิญญาณของบทร้อยกรองนี้ด้วย
พูดอีกอย่าง จากคำนี้ ท่านอาจารย์ มนุษย์แต่ดั้งเดิม จึงเกิดมีขึ้น
ผู้แสวงหามรรคมากมายไม่รู้แจ้งท่านอาจารย์ที่แท้จริง เพราะพวกเขายึดมั่นอยู่กับอาลัยวิญญาณ ซึ่งคิดว่าเป็นต้นธารของชีวิตของพวกเขา แท้จริงแล้วนี่คือเหตุแห่งการเวียนว่ายในวัฏฏะอย่างไม่มีที่สิ้นสุด และควรจะบดขยี้ถอนรากถอนโคนไม่ให้เหลือเชื้อ น่าเศร้าเพียงใดที่เห็นพวกเขาหลงผิดเห็นเป็น ท่านอาจารย์ที่แท้ มนุษย์แต่ดั้งเดิม ด้วยบทร้อยกรองนี้ท่านมูมอนหวังให้เราเปิดดวงตาแห่งสัจจธรรมสู่ ท่านอาจารย์ที่แท้ อย่างสมบูรณ์
ถ้าใครบ่งชี้ถึง ท่านอาจารย์ที่แท้ และตั้งหลักเกณฑ์ว่ามีอยู่นอกตัวเขาแล้ว
นั่นก็เป็นอุปาทานและเหตุแห่งอวิชชาโดยแท้ อาจารย์เซนแต่โบราณ
ได้ตักเตือนอนุชนรุ่นหลังด้วยบทร้อยกรองต่อไปนี้
นกน้ำมาแล้วไป
ไม่เหลือร่องร่อย
แต่มันก็รู้
หนทางของตนเอง
เริ่มแปล วันจันทร์ที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑แปลเสร็จ วันอังคารที่ ๑๙ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๕๑