แสงธรรมนำใจ > ศิษย์โง่ไปเรียนเซ็น

ฮยากุโจและหมาป่า "เซ็น" วิถีแห่งการรู้แจ้ง

<< < (3/5) > >>

ฐิตา:



            อาจารย์โกโซ โฮเอนเล่าเรื่องนี้ และถามว่า “ใครคือตัวจริง”  ท่านไม่ได้ถามแบบชาวบ้านธรรมดาอย่างในเรื่องนี้  ซึ่งเป็นอะไรคล้ายเรื่องภูตผีปีศาจ  ท่านพูดถึงเซนโจะซึ่งเดิมมีร่างเดียวแล้วกลายเป็นสอง เพื่อสอนเหล่าศิษย์ให้เปิดดวงตาสู่เซน
            อาจารย์มูมอน อยู่ข้างเดียวกับอาจารย์โกโซ และถามเหล่าศิษย์ว่า “ใครคือตัวจริง”  ท่านกดดันเหล่าศิษย์ให้แทงทะลุจิตวิญญาณแห่งเซนเพื่อเข้าถึงสิ่งนี้  ฉันขอเตือนท่านว่า คำถามของท่านอาจารย์ยังคงปรากฏอยู่เฉพาะหน้าคุณแม้ในปัจจุบันนี้

            ถ้าเราเหลียวมองตนเอง  เราเห็นหรือไม่ว่าเราทุกคนล้วนตกอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต่างจากกรณีของเซนโจะ พร้อมด้วยวิญญาณที่แยกจากกัน   มี “ฉัน” ที่ต้องการทำอย่างที่ “ฉัน” ชอบ  พยายามทำความพอใจให้แก่ความปรารถนาของ  “ฉัน” หาความเพลิดเพลินแก่ชีวิตเต็มที่เท่าที่เป็นไปได้  และมีอีกหนึ่ง “ฉัน” ที่เดียวดายในชีวิตแห่งการแสวงหาความเพลิดเพลินกระทั่งรู้สึกว่าสุดทน  ใครคือ  “ฉัน” ตัวจริง
            ท่านชินรัน ผู้ก่อตั้งนิกายสุขาวดีในญี่ปุ่น ผู้มีชื่อเสียงด้วยคำรำพันแสดงความเศร้าโศกว่า “บาปฉันหนักและหนา กิเลสฉันก็ดกดื่น  ปลายทางฉันคือนรก” ชินรันผู้วิพากษ์ตนเองอย่างรุนแรงและดิ้นรนหาความรอด “สิ่งที่ต้องเปิดเผยคือการมีชีวิตเป็น “ตัวตนที่แท้”รูปแบบหนึ่งในกาลเทศะหนึ่ง  การตายเป็น “ตัวตนที่แท้” ในอีกรูปแบบในอีกกาลเทศะหนึ่ง  การมีชีวิตและการตาย แตกต่างจากกัน

           

            อาจเหมือนกับคลื่นใหญ่เล็กในมหาสมุทร  “ตัวจริง” หรือ ความจริงแท้  อาจเปรียบได้กับน้ำ ที่พักอาศัยเปรียบได้กับคลื่น  น้ำสามารถแสดงตนเป็นลูกคลื่นหลายแบบ คลื่น  หรือระลอกคลื่น เทียบได้กับน้ำ  คลื่นแต่ละลูกคือน้ำในต่างๆขณะ แต่ท้ายสุดความจริงว่า คลื่นทั้งหลายล้วนคือน้ำไม่เคยเปลี่ยนไป  อาจารย์โดเกนจึงสอนเราว่า “ถ้ามี ”พุทธะ” ในชีวิตและความตาย  ย่อมไม่มีความตาย”  “พุทธะ”  ในที่นี้คือ “ตัวจริง” ซึ่งไม่เคยเปลี่ยนแปลงตลอดกาล
            คำวิจารณ์ของมูมอนมีต่อไปว่า  “ในกรณีที่คุณยังไม่รู้แจ้งก็จงอย่ารีบร้อนจนหน้ามืดตามัว” ท่านกล่าวต่อไปว่า “ถ้าคุณยังไม่สามารถจับฉวย “ของจริง” ทั้งที่มีคำไขปริศนาให้แล้วอย่างนี้ ก็อย่าวุ่นวายเที่ยวหาจากหลักปรัชญาโน้นบ้างนี้บ้าง  คำสอนโน้นบ้างนี้บ้าง จงหยุดสิ่งเหล่านี้เสีย แล้วทุ่มเทจิตใจทั้งหมดไปค้นว่า “อะไรคือ “ของจริง” กระโจนตรงๆสู่มัน”  แล้วพูดต่อไปอีกว่า “ทันทีทันใดที่ธาตุทั้งสี่เสื่อมสลาย คุณจะเป็นเหมือนปูที่ถูกโยนใส่น้ำเดือด ดิ้นรนด้วยแขนทั้งเจ็ดและขาทั้งแปด”

            คนในสมัยก่อนคิดว่าร่างของคนประกอบด้วยธาตุทั้งสี่  “เมื่อธาตุทั้งสี่เสื่อมสลาย” จึงหมายถึงตาย  อาจารย์มูมอนเตือนเสียงกร้าว “พวกของคุณส่วนที่ยังไม่ตื่นสู่ “ของจริง” พวกของคุณส่วนที่ยังไม่พบสันติพื้นฐานของใจ จะไม่ตายไปอย่างสงบหากเกิดต้องตายอย่างกะทันหัน แต่จะทรมานอย่างปูที่ถูกโยนใส่น้ำเดือด  แขนขาตะกุยตะกายเอาชีวิตรอด” ท่านวิจารณ์ต่อไปว่า “อย่าพูดทีหลังว่าฉันไม่ได้เตือนคุณ” และไม่ลืมที่จะเตือนต่อไปด้วยความกรุณาว่า “ขณะกำลังจะตายคุณอาจจะเสียดายอาลัยอาวรณ์ว่า คุณยังไม่บรรลุถึง “ของจริง” แต่มันก็สายไปเสียแล้ว” นี้เป็นคำแนะนำด้วยความเมตตาและสำคัญยิ่งชีวิตต่อคุณแม้ในปัจจุบันนี้ด้วย  เช่นกัน

คำไขปริศนา บทร้อยกรองของท่านมูมอน 
    ความเหมือนอยู่นี่  ดวงจันทร์กลางหมู่เมฆ
    ความต่างอย่างนี้   ขุนเขาและหุบเหว
             ช่างน่าอัศจรรย์        น่าชมเสียจริง
             นี่เป็นหนึ่งเดียวหรือ   เป็นคู่

            เปรียบ “ของจริง” กับดวงจันทร์ท่ามกลางหมู่เมฆ  ของลวงตากับขุนเขาและหุบเหว มูมอนประพันธ์ว่า “เหมือนเดิมตลอดกาลคือดวงจันทร์ท่ามกลางหมู่เมฆ ความแตกต่างคือ ขุนเขาและหุบเหว  พระจันทร์ยังคงเป็นเช่นเดิมไม่ว่าจะมองจากที่ไหน  ทิวทัศน์ของโลกเปลี่ยนแปลงไปจากเหวนี้สู่เขาโน้น  หากคุณรู้ว่าความสวยของเหวเกิดจากเหตุอย่างเดียวคือดวงจันทร์ คุณจะรู้ว่าเป็นการโง่เพียงใดที่จะถกเถียงเรื่องความเหมือนและความต่างของจริงและของลวงตา เซนโจะข้างในหรือข้างนอก  ปล่อยให้มันเป็นอย่างที่มันเป็น  ทุกสิ่งทุกอย่างที่คุณ เห็น รู้ ได้ยิน ล้วนน่าสรรเสริญ  มันไม่เป็นทั้ง 'หนึ่งเดียว' หรือเป็น 'คู่ '  ชีวิตจริงของเราทั้งหลาย ตามที่มันเป็นอยู่ ล้วนน่าเคารพสรรเสริญ, เป็นชีวิตที่เราใช้ทำงานและร่าเริงยินดี, ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่กับพระสังฆปรินายกทั้งหลาย จะมีอะไรน่าอัศจรรย์ควรให้ความสำคัญเท่านี้บ้าง

           

            ท่านกิโด เขียนบทประพันธ์สำหรับบทร้อยกรองนี้ว่า
                        กิ่งพีชและกิ่งอ้ออยู่เบื้องหน้า
                        กระดาษเงินตามหลังในงานศพ
                        สาวกของท่านนักบวชจากต่างถิ่น
                        คุณจะไม่ไปสู่ปรโลก

            สองบรรทัดแรกบรรยายถึงงานศพของคนจีน  ผู้อยู่ข้างหน้าถือกิ่งต้นพีชและกิ่งอ้อเพื่อกันปีศาจ หลังศพมีคนถือกระดาษเงินเอาใจเหล่าปีศาจ  นี้เป็นพิธีงานศพ  เมื่อกล่าวว่าชีวิตและความตายเป็นหนึ่งเดียว คุณเป็นอยู่น่าละอายใจเช่นไร  มารร้ายโจมตีคุณได้หรือไม่
            บรรทัดที่สามท่านกิโดพูดถึงศิษย์ของท่านโพธิธรรม หรือ นักปฏิบัติเซนที่ควรแก่การกล่าวถึง  นักบวชจากต่างถิ่นหมายถึง ท่านโพธิธรรม บรรทัดที่สี่ท่านพูดจริงจังว่า “คนเหล่านั้นจะไม่ไปสู่ปรโลก ปรโลกมีนัยสำคัญอย่างไร

            ท่านโฮเอนกล่าวแรกสุดว่า “เซนโจะและวิญญาณของเธอแยกจากกัน อันไหนเป็น “ตัวจริง” “ ด้วยความกรุณาท่านไม่สามารถหยุดเตือนเราว่า อย่าจับฉวย “ตัวจริง”ชนิดเหมือนกันแบบโดดๆ หรือว่างอย่างไม่มีอะไรเลย ดังนั้นท่านมูมอนจึงกล่าวพาดพิงถึงท่านโฮเอนเสียงเดียวว่า “น่าอัศจรรย์แท้ น่าสรรเสิญอย่างยิ่ง นี่เป็นหนึ่งเดียวหรือเป็นคู่”
            สำหรับผู้เปิดดวงตาเห็นเซนแล้ว ทุกสิ่ง  ตามที่มันเป็น เป็น  “มัน”  ถ้าเขายืน ที่ที่เขายืนอยู่ เป็น “มัน” ถ้าเขานั่ง  ที่ที่เขานั่งอยู่เป็น “ของจริง”   มันเป็น ตามที่มันเป็น  ทั้งจักรวาล


:http://www.dhamma4u.com
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนวชิรเบญทัศ (สวนรถไฟ)
ถนนนิคมรถไฟสาย ๒ แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ ๑๐๙๐๐
โทรศัพท์: ๐-๒๙๓๖-๒๘๐๐ โทรสาร: ๐-๒๙๓๖-๒๙๐๐ อีเมล์ :info@bia.or.th

ฐิตา:



ลำดับเรื่อง(ในต้นฉบับ) ๖
ลำดับการแปล ๒
ชื่อเรื่อง :พระพุทธองค์ทรงชูดอกบัว
โกอาน

สมัยหนึ่ง เมื่อพระผู้มีพระภาคและสาวกหมู่หนึ่งประทับอยู่บนเขาคิชฌกูฏ พระองค์แสดงธรรมโดยชูดอกบัวขึ้นต่อหน้าหมู่สงฆ์   เหล่าสาวกพากันเงียบกริบ  มีแต่พระมหากัสสปเพียงท่านเดียวที่ยิ้มอยู่อย่างสงบ  พระองค์จึงทรงตรัสว่า “เราทรงธรรมที่แท้อันขจรขจายไปทั่ว พระนิพพานอันหาสิ่งใดเปรียบเทียบไม่ได้ คำสอนที่ลึกซึ้งไร้รูปลักษณะ ไม่ขึ้นกับตัวอักษร และถ่ายทอดนอกคัมภีร์ใดๆ  บัดนี้เรามอบต่อมหากัสสปแล้ว”

คำวิจารณ์ของมูมอน
พระโคตมพุทธะผู้มีพระพักตร์เหลืองร้ายกาจอย่างแท้จริง พระองค์ทำนักปราชญ์ให้กลายเป็นคนชั้นต่ำ หลอกขายเนื้อหมาด้วยคำโฆษณาว่าเป็นเนื้อแกะ  ฉันคิดว่ามีบางสิ่งที่น่าสนใจ อย่างไรก็ดี  ในที่ประชุมนั้น หากภิกษุทุกรูปยิ้มกันหมด ถามว่าธรรมที่แท้ถูกถ่ายทอดให้ใคร หรือ หากพระมหากัสสปไม่ได้ยิ้ม ธรรมนี้ถูกถ่ายทอดหรือไม่ หากเธอคิดว่าธรรมะที่แท้สามารถถ่ายทอดกันได้ พระผู้มีพระพักตร์เหลืองกลายเป็นคนหลอกลวงตบตาแม้ชาวบ้านธรรมดาๆ หากเธอคิดว่าธรรมะที่แท้ไม่สามารถถ่ายทอดกันได้ ทำไมพระมหากัสสปจึงยิ้ม

                 
บทร้อยกรองของมูมอน
            ดอกบัวถูกชูขึ้น
            และความลับก็เปิดเผย
            พระมหากัสสปเผยอยิ้ม
            ที่ประชุมสงฆ์ล้วนไม่ได้อะไร

ไขปริศนา โกอาน
            “พระผู้มีพระภาค” คำที่ใช้เรียกพระโคตมพุทธะ พระองค์ประสูติเป็นเจ้าชายชื่อสิทธัตถะแห่งวงศ์ศากยะเมื่อ ๕๖๕ ปี ก่อนคริสตศักราช ทรงออกบรรพชาเมื่อพระชนมายุ ๒๙ พรรษา และบรรลุพระโพธิญาณเมื่อพระชนมายุได้ ๓๕ พรรษา  ทรงดับขันธปรินิพพานเมื่อ ๘๐ พรรษา หลังจากทรงประดิษฐานพุทธศาสนาแล้ว
            เขาคิชฌกูฏ เป็นเขาลูกหนึ่งอยู่ใกล้เมืองหลวงของแคว้นมคธ เป็นที่ซึ่งพระองค์แสดงธรรมหลายครั้ง เพราะรูปร่างคล้ายอีแร้ง เขาลูกนี้จึงได้ชื่อเช่นนี้

            พระมหากัสสป เป็นหนึ่งในสิบอันดับแรกของอัครสาวกของพระพุทธองค์ ท่านได้รับการเคารพในฐานะผู้เคร่งต่อวินัย หลังจากพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้ว ท่านเป็นผู้นำที่ขวนขวายแห่งหมู่สงฆ์ ได้รับการเคารพว่าเป็นทายาทของพระพุทธองต์
            เซนรักษาหลักการแห่งการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงทางธรรมะโดยตรง และแก่นของเซนก็อยู่ที่การถ่ายทอดนี้แหละ  ดังนั้นจริงๆแล้วการถ่ายทอดโดยตรงเกิดขึ้นอย่างไร ในพุทธศาสนาแบบเซน โกอานบทนี้คือ พระพุทธองค์ทรงชูดอกบัว มีความสำคัญมากในฐานะที่มันเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนและหนักแน่นแก่เรา ถึงหลักการถ่ายทอดธรรมะที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน  ก่อนจะไขปริศนา ควรจะเข้าใจเบื้องหลังของเรื่องนี้เสียก่อน

            ในจีนมีตำรามากมายที่มีโกอานคล้ายๆกันนี้ ล้วนมีชื่อว่า “พระพุทธองค์ทรงชูดอกบัว” ราวกับว่าเป็นเรื่องจริงที่สามารถสืบสาวราวเรื่องได้ มีต้นเรื่องอยู่ในตำราเล่มหนึ่ง แต่ไม่มีในต้นฉบับภาษาสันสกฤต และกล่าวกันในหมู่ผู้รู้ว่าตำรานี้แต่งขึ้นในภายหลังในจีนโดยไม่มีพื้นฐานทางประวัติศาสตร์
            แม้มีความจริงว่าเรื้องนี้ไม่มีข้อสนับสนุนทางประวัติศาสตร์ แต่ไม่ควรปฏิเสธเรื่องการถ่ายทอดธรรมระหว่างอาจารย์กับศิษย์ ผู้เคยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการถ่ายทอดธรรมควรแปลความหมายของการถ่ายทอดธรรมได้ดี เช่นที่มีในโกอานบทนี้ ความสำคัญของโกอานไม่ได้เสียหายเพราะขาดข้อสนับสนุนทางประวัติศาสตร์แต่อย่างใด

            ไม่จำเป็นต้องกล่าวว่า หลักสำคัญของเซนคือการมีประสบการณ์โดยผู้ปฏิบัติเป็นการเฉพาะตัว ตั้งแต่เริ่มแล้ว ที่การสวดมนต์ พิธีกรรมต่างๆ และตำราเป็นสิ่งที่เซนปฏิเสธ การถ่ายทอดแบบเซนมีพื้นฐานอยู่บนประสบการณ์จริงเฉพาะตนของแต่ละบุคคล และขณะเดียวกันประสบการณ์ของอาจารย์และศิษย์ก็ต้องเป็นอันเดียวกัน นี่คือเหตุที่ว่า ทำไมขณะที่เซนยืนยันถึงความจำเป็นในการยืนอยู่กับประสบการณ์เฉพาะตนของตน  ก็ยังยึดมั่นในความสำคัญของการถ่ายทอดโดยตรงจากอาจารย์สู่ศิษย์  และเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก หากละเลยเรื่องนี้ไป แสงแห่งสัจจธรรม ธรรมเนียมที่มีชีวิตจริงของเซนก็จะตายไปในทันทีทันใด ดังนั้น การถ่ายทอดโดยตรงจากอาจารย์สู่ศิษย์ในเซนจึงเรียกอีกชื่อว่า “จากจิตสู่จิต” และมีความสำคัญและธรรมเนียมเฉพาะตัว


ฐิตา:



            แม้ว่าจะเป็นจากจิตสู่จิต แต่คำว่า ”ถ่ายทอด” มีหมายความทั่วไปว่ามีการถ่ายทอดจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งในเวลาหนึ่งๆ สำหรับเซนซึ่งขึ้นเฉพาะต่อประสบการณ์จริง ปฏิเสธการสืบทอดจากอดีต การอภิเษก(ส่งให้จากอาจารย์-ผู้แปล) ในรูปแบบใดๆ และมักเข้าใจคำว่าการถ่ายทอดกันผิดๆอย่างให้อภัยไม่ได้ คำใหม่จึงเกิดขึ้นเพื่ออธิบายคำนี้ “การถ่ายทอดสิ่งที่ถ่ายทอดไม่ได้”  หรือ “การถ่ายทอดคือการชี้ตรงไป” กล่าวอีกอย่าง “การถ่ายทอดจากอาจารย์สู่ศิษย์” ในเซนหมายถึง “การชี้ตรงลงไป(ระหว่างอาจารย์-ศิษย์)”  ซึ่งประสบการณ์ของอาจารย์และศิษย์ ตรงกันอย่างสมบูรณ์ เป็นความตรงกันระหว่างธรรมที่แท้หนึ่งเดียวกัน

            นับแต่แรกเริ่มเนิ่นนานมาแล้ว กล่าวกันว่า “มันเหมือนกับรินน้ำจากเหยือกหนึ่งไปสู่อีกเหยือกหนึ่งซึ่งมีน้ำเหมือนๆกันอย่างสิ้นเชิง” ประสบการณ์ของศิษย์ต้องได้รับการยอมรับจากอาจารย์เสมอ เป็นลักษณะเฉพาะตัวของการถ่ายทอดแบบเซนที่ การยืนยันจากอาจารย์นับว่าสำคัญมากขนาดนั้น เพราะนี่ทำให้หัวใจของเซนคงอยู่ตลอดไป   
            ไม่ว่าเรื่อง“พระพุทธองค์ทรงชูดอกบัว” จะมีความจริงทางประวัติศาสตร์หรือไม่ก็ตาม ก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับธรรมเนียมเซนในการถ่ายทอดระหว่างอาจารย์กับศิษย์แต่อย่างใด หรือกล่าวได้ว่า การถ่ายทอดในเซนอยู่เหนือเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ ในความหมายนี้ โกอานนี้จึงมีความสำคัญต่อเราแม้ในทุกวันนี้

            โกอานบทนี้กล่าวว่าเมื่อนานมาแล้ว ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่บนยอดเขาคิชฌกูฏท่ามกลางหมู่สงฆ์ ต่อหน้าหมู่สงฆ์ผู้รอฟังพระธรรม พระองค์ได้ทรงชูดอกบัวขึ้นโดยไม่ตรัสแม้แต่คำเดียว  พระพุทธองค์ทรงชูดอกบัว  พระองค์ทรงแสดงธรรมหรือไม่  มันเกิดขึ้นในทันทีที่ดอกบัวถูกชูขึ้น
            ฉันคือดอกบัว  ทั้งจักรวาลคือดอกบัว  หากมโนวิญญาณเกิดขึ้น มันก็หายไปแล้ว ท่านกูเตอิชูหนึ่งนิ้ว  ท่านโจชูส่งเสียง “มู”  สิ่งเหล่านี้เหมือนหรือต่างกัน? ผู้รู้ย่อมรู้ในชั่วขณะเดียว ผู้สามารถเห็นย่อมเห็นในทันที ทุกอย่างถูกบรรยายอย่างหมดจด  ธรรมบรรยายที่ยอดเยี่ยมอะไรเช่นนั้น

           โบราณาจารย์แห่งเซนกล่าวว่า
            เท่าที่ฉันเห็นด้วยจิตที่มิใช่จิต
            มันคือ ฉันเอง ที่เป็นดอกบัวดอกนั้น
เราไม่ควร สรุปด้วยความคิดของเราว่า ฉันและโลกเป็นสิ่งเดียวกัน

มีประโยคหนึ่งในสัทธรรมปุณฑริกสูตร  “เป็นความจริงแท้แน่นอนที่สุด ที่การประชุมสงฆ์ที่เขาคิชฌกูฏปรากฏที่นี่”  นี่หมายความว่า การแสดงธรรมที่เขาคิชฌกูฏเกิดขึ้นที่นี่อย่างชัดแจ้ง ต่อหน้าพวกเรา  ประโยคนี้จึงถามเราให้รับฟังธรรมที่พระพุทธองค์ทรงชูดอกบัวตรงๆ ที่นี่และเดียวนี้  ไม่ขึ้นกับกาลเทศะ ใช่หรือไม่  เป็นคำถามให้เราจับฉวยหัวใจแห่งสัจจธรรมก่อนวิญญาณ[1(หมายถึง  วิญญาณขันธ์)]จะเกิดขึ้นใช่หรือไม่
อย่างไรก็ตาม ณ ที่นั้น ไม่มีใครจะสามารถเข้าใจธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแสดง หมู่สงฆ์พากันเงียบและปราศจากการตอบสนองใดๆ  มีแต่พระมหากัสสปที่เผยอยิ้มแต่ผู้เดียว มีแต่พระมหากัสสปผู้เดียวที่ซาบซึ้งต่อธรรมบรรยายที่ไร้คำพูดและตอบรับด้วยรอยยิ้ม

รอยยิ้มนี้กระตุ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วสังคมเซน และก่อให้เกิดความเห็นต่างๆนานา
พูดโดยไร้คำพูด ได้ยินโดยปราศจากเสียง พระมหากัสสปได้รับอะไรจากดอกบัวที่พระพุทธองค์ทรงชูขึ้น  หรือกล่าวอย่างสรุปว่า การยิ้มของพระมหากัสสปมีความสำคัญอย่างไร นี้คือแก่นสำคัญของคำถาม และประสบการณ์จริงของนักปฏิบัติเซนแต่ละท่านคือกุญแจไขปัญหานี้

อาจารย์เซนท่านหนึ่งกล่าวว่า “เด็กน้อยไม่ใส่ใจความน่าเกลียดของแม่” ทำไมการชูดอกบัวของพระพุทธองค์จึงน่าเกลียด ดวงตาแห่งเซนต้องถูกเปิดออกก่อนจะเข้าใจคำถามนี้ อีกคำถามคือ พระพุทธองค์กล้าทำอะไรที่น่าเกลียดหรือ?  เพราะพระมหากรุณาอย่างสุดทนทานที่ทำให้พระองค์ทรงทำเช่นนั้น พระมหากัสสปเข้าใจความน่าเกลียดของพระพุทธองค์และประทับใจ และรอยยิ้มของท่านทำให้ปริศนา”การชี้ตรงลงไป(ระหว่างอาจารย์-ศิษย์)” จบลงด้วยดี  พระพุทธองค์-พระบรมครู และ  พระมหากัสสป-ศิษย์ มีส่วนร่วมในความน่าเกลียดแห่งครอบครัวเดียวกัน  บอกฉันมาว่า  “ความน่าเกลียดในครอบครัว” นี้คืออะไร ?  นี่คือจุดที่บรรจุความลับของ “ชูดอกบัว”  และ “ยิ้ม” ซึ่งเป็นการชี้ตรงลงไป(ระหว่างอาจารย์กับศิษย์)ที่สมบูรณ์
อาจารย์อีกท่านกล่าวว่า “พ่อขโมยแกะ และลูกก็ยอมรับ” ประโยคนี้เริ่มแรกใช้บรรยายความซื่อแบบเซ่อๆ  หมายถึง พ่อทำชั่วและลูกก็แฉ(อย่างไม่มีที่ปิดบัง-ผู้แปล) น่าสนใจที่พ่อและลูกเข้ากันได้อย่างเป็นปี่เป็นขลุ่ยแม้ว่าจะอยู่ในฐานะต่างกัน  เราจะต้องเข้าใจว่า  “ขโมยแกะ”  มีความหมายจริงๆอย่างไร

ท้ายที่สุด โดยปราศจากประสบการณ์ที่กระจ่างแจ้งของเราทั้งหลาย เราจะไม่สามารถซาบซึ้งสิ่งที่โบราณาจารย์แห่งเซนพูดหรือทำได้เลย เป็นเพียงแค่ดอกบัว   เป็นเพียงแค่ไม้เท้า เป็นอย่างนั้นและอย่างนั้น แล้วจักรวาลจะไปอยู่ที่ไหน? บัดนี้จงพูดกับฉัน เธออาจเงียบ อาจยิ้ม ตามความประสงค์ และนี่เป็นครั้งแรกที่เธอจะจับฉวยโกอานบทนี้ได้
มีบทสนทนาที่พาดพิงถึง “พระพุทธองค์ทรงชูดอกบัว”  วันหนึ่งผู้ว่าราชการท่านหนึ่งถามอาจารย์อุนโกะ “มีเรื่องเล่าว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโดยปกปิดเป็นความลับ(ไม่พูด-ผู้แปล) เพียงแต่ชูดอกบัวขึ้น   และพระมหากัสสปเพียงแค่ยิ้ม ทำให้ความลับรั่วไหล นี่หมายความว่าอย่างไร” อาจารย์อุนโกะ ตอบว่า“ท่านผู้ว่าราชการ”  “ครับ ท่านอาจารย์” ท่านผู้ว่าฯ ตอบ  “เธอเข้าใจไหม?”อาจารย์อุนโกะ ถาม เมื่อผู้ว่าฯตอบว่า “ไม่ ท่านอาจารย์”  อาจารย์จึงกล่าวต่อไปว่า “ถ้าเธอไม่เข้าใจ  มันหมายความว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโดยปกปิดเป็นความลับอย่างแท้จริง ถ้าเธอเข้าใจ ก็หมายความว่า พระมหากัสสปทำให้ความลับรั่วไหลโดยแท้จริง”

โกอานบทนี้ช่างน่าสนใจเสียนี่กระไร ในบัดนี้ ถ้าดอกบัวที่ถูกชูขึ้นโดยพระพุทธองค์จะหอมกรุ่นไปทั่วทั้งจักรวาล  ขณะนี้ คำตอบของท่านผู้ว่าฯ “ครับ ท่านอาจารย์” ก็สะท้อนดังก้องไปทั่วโลกเช่นกัน  และบุคคลผู้รับมันได้  จงรับไปเถิด(ธรรมจากพระพุทธองค์-ผู้แปล)
ต่อรอยยิ้มของพระมหากัสสป พระพุทธองค์ทรงยืนยันความถูกต้องและประกาศต่อหน้าหมู่สงฆ์ “เราทรงธรรมที่แท้อันขจรขจายไปทั่ว พระนิพพานอันหาสิ่งใดเปรียบเทียบไม่ได้ คำสอนที่ลึกซึ้งไร้รูปลักษณะ ไม่ขึ้นกับตัวอักษร และถ่ายทอดนอกคัมภีร์ใดๆ  บัดนี้เรามอบต่อมหากัสสปแล้ว” พระองค์ให้การเป็นพยานต่อเรื่อง “การถ่ายทอดธรรมสู่พระมหากัสสป”  แล้ว
ตั้งแตโบราณกาลมาแล้วที่การถ่ายทอดสิ่งที่ถ่ายทอดไม่ได้ ถูกเรียกขานต่อๆกันมาว่า  “การเป็นพยาน(ยืนยันความจริง)จากพระพุทธะสู่พระพุทธะ” นี่ไม่ใช่การส่งมอบจากพระพุทธองค์สู่พระมหากัสสป แต่เป็นการส่งมอบจากพระศากยมุนีพุทธสู่พระศากยมุนีพุทธ ไม่ใช่การส่งต่อจากพระมหากัสสปสู่พระพุทธองค์  แต่เป็นการส่งต่อจากพระมหากัสสปสู่พระมหากัสสป
การถ่ายทอดจากอาจารย์สู่ศิษย์ในเซนเป็นไปได้ในลักษณะนี้ และความถูกตรงระหว่างอาจารย์-ศิษย์ได้รับการยืนยันในลักษณะของการชี้ตรงลงไปอย่างนั้น ที่คือเหตุที่ว่า ทำไมการถ่ายทอดจึงเป็นการชี้ตรงลงไป และได้รับชื่อว่าเป็น  “การถ่ายทอดของสิ่งที่ถ่ายทอดไม่ได้”


ฐิตา:


                   

ดังนั้น  ธรรมที่แท้จึงต้องถ่ายทอดโดยการไม่ถ่ายทอด อยู่เหนือการระบุและมโนคติทั้งปวง  มันควรเป็น “สิ่ง” ที่  “ไม่สามารถเรียกชื่อได้”  น่าขันที่พระพุทธองค์ทรงให้ความหมายของสิ่งที่ไม่สามารถเรียกชื่อได้นี้ อย่างยาวเหยียด “ เราทรงธรรมที่แท้อันขจรขจายไปทั่ว พระนิพพานอันหาสิ่งใดเปรียบเทียบไม่ได้ คำสอนที่ลึกซึ้งไร้รูปลักษณะ ไม่ขึ้นกับตัวอักษร และถ่ายทอดนอกคัมภีร์ใดๆ ” ชั่วขณะที่เราถูกทำให้หลงทางเพราะชื่อ มันก็หายไปแล้ว อย่างไรก็ตาม เราก็ได้เห็นพระกรุณาอย่างหาที่สุดไม่ได้ของพระพุทธองค์  ที่มีต่ออนุชนรุ่นหลัง อาจจะช่วยได้หากฉันจะอธิบายบางคำเสียก่อน

            ธรรมที่แท้  หมายถึง  ความเป็นเช่นนั้นเอง  ตถาตา ที่ซึ่งมโนวิญญาณไม่ทำงาน เป็น  “มัน” ที่อยู่เหนือกาลเทศะ
            ขจรขจายไปทั่ว  หมายถึงแหล่งแห่งความสร้างสรรค์และการงานที่มหัศจรรย์ เป็นความอิสระอย่างเต็มเปี่ยม ความสมบูรณ์เพียบพร้อม ไม่มีสิ้นสุด และสุดประมาณ
            พระนิพพานอันหาสิ่งใดเปรียบเทียบไม่ได้ คือสัจธรรมที่ไม่เคยเกิด ไม่เคยตาย(เสื่อมสลาย) เป็นอัตวิสัยที่แสดงตนและกระทำภารกิจโดยอิสระในทุกสถานการณ์
            ไร้รูปลักษณะ ลักษณะต้องมีรูปร่าง และมีรายละเอียดปลีกย่อย เมื่อไม่มีรายละเอียด ก็ไม่มีรูปลักษณะ   และรูปลักษณะที่ไร้รูปลักษณะนี้แหละคือรูปลักษณะที่แท้แห่งธรรมที่แท้ มันเป็นการแสดงออกของ “มู”
            ไม่ขึ้นกับตัวอักษร  ธรรมที่แท้ไม่มีที่ว่างให้ความคิดเข้ามาเกี่ยวข้อง ความจริงจากประสบการณ์ไม่เกี่ยวข้องกับตรรกะและความคิดแบบใดๆ
            ถ่ายทอดนอกคัมภีร์ใดๆ   การพูดธรรมะ แม้ว่าจะดีเยี่ยมสักปานใด แต่ก็คงเป็นเพียงซากศพของมโนคติเท่านั้น ความจริงจากประสบการณ์เป็นรากฐานของคำสอนและหลักการต่างๆ มันไม่ถูกจำกัดด้วยคำสอนและหลักการใดๆ มีชีวิตชีวา และสร้างสรรค์

คำอธิบายเกี่ยวกับชื่อและคำต่างๆ  อาจจะมีประโยชน์แต่ก็เป็นเพียงมโนคติและการชี้ให้เห็นอะไรบางอย่างเท่านั้น เราไม่ควรหลงทางเพราะสิ่งเหล่านี้  พูดในแง่ลบ ไม่มีแม้แต่อนุภาคของ “มัน”  พูดในแง่บวก ธรรมะที่แท้แผ่ขยายไปทั่วโลก  ดังนั้นตามที่มันเป็น “มัน”เป็นอยู่แล้วที่นี่เดี๋ยวนี้  ธรรมะที่แท้สว่างไสวอยู่แล้วที่นี่และเดี๋ยวนี้
สิ่งที่พระศากยมุนีพุทธเจ้าบรรลุใต้ต้นโพธิไม่ใช่สิ่งอื่นนอก นอกจากสิ่งนี้ ธรรมะที่ถ่ายทอดต่อกันมาจากพุทธะสู่พุทธะ อาจารย์สู่อาจารย์ไม่ใช่สิ่งอื่นนอกจากสิ่งนี้ เราควรเข้าใจอย่างกระจ่างชัดว่า ปราศจากความจริงจากประสบการณ์และการทดสอบยืนยันจากพวกเราแล้ว  ก็ไม่มีธรรมเนียมอื่นใดในการถ่ายทอดเซน

ไขปริศนา คำวิจารณ์ของท่านมูมอน
            ท่านมูมอนกล่าวว่า “พระโคตมพุทธะผู้มีพระพักตร์เหลืองร้ายกาจอย่างแท้จริง พระองค์ทำนักปราชญ์ให้กลายเป็นคนชั้นต่ำ หลอกขายเนื้อหมาด้วยคำโฆษณาว่าเป็นเนื้อแกะ  ฉันคิดว่ามีบางสิ่งที่น่าสนใจ อย่างไรก็ดี  หากในที่ประชุมนั้น หากภิกษุทุกรูปยิ้มกันหมด ถามว่าธรรมที่แท้ถูกถ่ายทอดให้ใคร หรือ หากพระมหากัสสปไม่ได้ยิ้ม ธรรมะที่แท้ถูกถ่ายทอดหรือไม่ หากเธอคิดว่าธรรมะที่แท้สามารถถ่ายทอดกันได้ พระผู้มีพระพักตร์เหลืองก็คือคนหลอกลวงตบตาแม้ชาวบ้านธรรมดาๆ หากเธอคิดว่าธรรมะที่แท้ไม่สามารถถ่ายทอดกันได้ ทำไมพระมหากัสสปจึงได้รับการรับรอง”
 ท่านอาจารย์มูมอน ด้วยความพยายามชี้ความสำคัญของโกอานบทนี้ ให้คำวิจารณ์ที่เป็นเอกลักษณ์และอิสระของตัวเอง ตามปกติคำวิจารณ์ของท่านแหลมคมมาก แต่หากเรามองอย่างผิวเผินความหมายที่แท้ก็จะหายไป เราจึงต้องจับฉวยความหมายที่แท้ให้ได้

“ข้าแต่พระโคตมพุทธะผู้มีพระพักตร์เหลือง “  ท่านพูดถึงพระพุทธเจ้าอย่างล้อเลียน  “พระองค์ไม่ควรเหลวไหล พูดอะไรไร้สาระ เมื่อพูดกับคนชั้นสูง กลับเรียกเขาอย่างเหยียดหยาม  คนต้องการเหล้าองุ่นแต่พระองค์กลับให้น้ำส้ม หยุดหลอกลวงผู้คนเช่นนั้นเสียเถิด อาจจะดีขึ้นบ้างหรือดีแน่ๆ หากหยุดทำเรื่องเหลวไหลออกนอกเรื่องเช่นนั้น” ท่านมูมอนกล่าวถึงพระพุทธองค์  ซึ่งมีพระพักตร์เหลืองเพราะทรงตรัสรู้แล้ว ท่านพูดต่อว่า “เมื่อคนต้องการเหล้าองุ่น พระองค์ให้น้ำส้ม” คือใช้คำว่า “ธรรมที่แท้ซึ่งขจรขจายไปทั่ว”   แล้วทรงชูดอกบัวขึ้น คำวิจารณ์นี่ไม่ควรคิดว่าเป็นคำพูดตลกๆธรรมดาๆ ด้วยการลบหลู่พระดำรัสของพระพุทธองค์ ที่แท้กลับเป็นการสรรเสริญอย่างสูง
ท่านกำลังพูดว่า “ตามที่ฉันเห็นทุกคนเป็นคนชั้นสูงและร่ำรวยด้วยธรรมชาติแห่งพุทธะ ทำไมถึงปฏิบัติต่อทุกคนต่ำช้าเช่นนั้น แล้วยกย่องพระมหากัสสปเพียงท่านเดียว นอกจากนี้ พระองค์แกล้งตรัสธรรมะที่ลึกซึ้ง หากแต่เพียงทรงชูดอกบัว พระองค์หลอกคนมากเกินไปเสียแล้ว ใช่หรือไม่?” ด้วยถ้อยคำกล่าวร้ายเช่นนั้น ท่านมูมอนยกย่องการแสดงธรรมด้วยการไม่พูดเป็นอย่างสูง


ฐิตา:


คำวิจารณ์ของท่านมูมอนเฉียบคมยิ่งขึ้น “นี้นับว่าโชคดี ที่พระมหากัสสปเพียงท่านเดียวที่เข้าใจและยิ้ม หากทุกคนเข้าใจและยิ้มบ้าง จะเป็นการส่งมอบธรรมได้อย่างไร หรือถ้าพระมหากัสสปไม่ยิ้มเล่า ธรรมะที่แท้จะถูกถ่ายทอดต่อไปหรือไม่ ?”  ท่านมูมอนเร่งความเข้าใจเรื่องการถ่ายทอดสิ่งที่ถ่ายทอดไม่ได้ของเราทั้งหลาย ท่านยังถามต่อจนจบว่า ถ้าพระองค์พูดว่ามีการถ่ายทอดในเซน ก็เป็นการหลองลวงผู้คน และพูดต่อว่า “ถ้าหากพระองค์พูดว่า ไม่มีการถ่ายทอดในเซน ทำไมจึงตรัสว่าพระองค์ส่งมอบแก่พระมหากัสสปเพียงท่านเดียว?” โดยการเน้นเช่นนั้น ท่านมูมอนพยายามยกอุทาหรณ์แสดงความสำคัญของการถ่ายทอดในเซน และแสดงว่าการถ่ายทอดจากอาจารย์สู่ศิษย์เป็นจริงได้

อาจารย์ฮะกูอินไขปริศนาดังนี้ “ทุกคน หญิงหรือชาย มีธรรมะที่แท้ พระศากยมุนีพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ส่งมอบแก่มหากัสสปแต่ท่านเดียว  แน่นอนที่พระองค์หลอกลวงผู้คน ฉันจะไม่กล่าวว่า ไม่มีการถ่ายทอด บัดนี้ฉันจะชูแส้อย่างนี้ สัจจะที่พระธรรมดาจับฉวยไม่ได้  พระมหากัสสปจับฉวยได้ ดังนั้นท่านจึงยิ้ม มีไม่มากที่จะเข้าใจยิ้มอย่างนี้  เมื่อเข้าใจได้ ก็มีการถ่ายทอดที่แท้”  ท่านควรฟังสิ่งที่ท่านฮะกูอินและมูมอนพูด และเข้าใจถึงการถ่ายทอดในเซน


ไขปริศนา บทร้อยกรองของท่านมูมอน
            ดอกบัวถูกชูขึ้น
            และความลับก็เปิดเผย
            พระมหากัสสปเผยอยิ้ม
            ที่ประชุมสงฆ์ล้วนไม่ได้อะไร

            ในบรรทัดที่สองของบทร้อยกรอง  คำว่า “ความลับ”  มีความหมายอื่นๆว่า “ใบหน้าที่อยู่ภายหลังหน้ากาก”  ซึ่งคือความลับที่อยู่เหนือถ้อยคำและตัวอักษร ในบทร้อยกรองนี้ ท่านมูมอนวิจารณ์การทรงชูดอกบัวของพระพุทธองค์ “กระผมรู้กลของพระองค์  พระองค์หลอกกระผมไม่ได้” ท่านมูมอนมองเห็นความลับของการถ่ายทอดสิ่งที่ถ่ายทอดไม่ได้  มูมอนแสดงความลุ่มลึกแห่งประสบการณ์ของตน  “พระองค์อาจหลอกใครๆได้ แต่จะหลอกกระผมไม่ได้เลย” ท่านมูมอนทูลพระพุทธองค์
            บอกฉันมาว่าดอกบัวที่ถูกชูโดยพระพุทธองค์คืออะไร  เป็นดอกบัวที่เผาไฟก็ไม่ไหม้  เป็นดอกบัวที่ไม่ใหญ่หรือเล็ก ในทุ่งหญ้าหรือป่าเขายิ่งเบิกบานสดชื่น ทั้งในอดีตหรือปัจจุบัน และขณะเดียวกันก็เป็นดอกบัวที่จะหายวับทันทีที่บุคคลยึดติดกับถ้อยคำและตรรกะหรือหลงด้วยมโนคติ

สองบรรทัดสุดท้ายของบทร้อยกรอง ท่านมูมอนกล่าวซ้ำว่า “พระมหากัสสปเพียงท่านเดียวเผยอยิ้มโดยความกระจ่างแจ้งในใจ  ส่วนที่เหลือล้วนไม่ได้อะไร”  ฉันได้ยินท่านมูมอนพูดกับเหล่าสาวก   “มันไม่ใช่เรื่องโบร่ำโบราณ หากเป็นเรื่องของท่านทั้งหลายในบัดนี้”  ความจริงแล้วท่านมูมอนพูดว่า “พวกท่านทุกคน ชูดอกบัวอมตะอยู่ในมือ  หรือไม่ก็เป็นดอกบัวเสียมากกว่า  แล้วทำไมจึงไม่เปิดดวงตาเสียที”

โบราณาจารย์แห่งเซนท่านหนึ่งได้วิจารณ์โกอานด้วยบทร้อยกรองบทหนึ่ง
เมื่อคืนฝนตก และทำให้ดอกบัวกระจัดกระจายไปทั่ว
กลิ่นหอมจากคฤหาสน์ล้อมรอบด้วยสายน้ำไหล
เราจะไขรหัสหาแก่นแห่งเซนจากบทร้อยกรองไพเราะๆนี้ได้อย่างไร

มันหมายถึงว่า ทุกคนยิ้มหรือไม่ก็ตาม ล้วนอาศัยอยู่ท่ามกลางสัจจธรรมเดียวกันใช่หรือไม่ ? แน่นอนว่าไม่มีที่ใดที่แสงอาทิตย์ส่องไปไม่ถึง  หากน่าสงสารที่คนตาบอดก็ยังคงอยู่ในความมืด
ขอวิจารณ์เพิ่มเติมอีกเล็กน้อย ในหนังสือเล่มหนึ่งที่ฉันได้อ่าน ได้วิจารณ์โกอานบทนี้ว่า “เพราะท่านมูมอนสายตามัวซัว จึงมองไม่เห็นความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนที่พระพุทธองค์และพระมหากัสสปแสดงต่อกัน และซ่อนอยู่เบื้องหลังโกอานบทนี้ “ นี่เป็นความเข้าใจผิดที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง สิ่งที่โกอานแสดงต่อเราคือ การถ่ายทอดเซนโดยการชี้ตรงไป(ระหว่างอาจารย์และศิษย์) และประเด็นทางจริยธรรมเช่นนั้นไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญของโกอานบทนี้ เพราะเซนชี้ตรงไปที่การเห็นแจ้งธรรมะซึ่งเป็นต้นกำเนิดแห่งจริยธรรมและมนุษยธรรมทั้งหลาย



หมายเหตุ คำว่า ถ่ายทอด   แปลความหมายทั่วไป  คือการ
ส่งสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากคนหนึ่งสู่คนหนึ่งเหมือนสิ่งของ
แต่ในเซนคือการที่อาจารย์และศิษย์เข้าใจตรงกัน
หลังจากการปฏิบัติจริงๆ  และเกิดการหยั่งรู้จริง  อาจารย์ก็เพียงแต่รับรองศิษย์
“การรับรอง” นี่เองที่เรียกว่า การถ่ายทอด การส่งมอบ ในเซน


นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[#] หน้าถัดไป

[*] หน้าที่แล้ว

ตอบ

Go to full version