ผู้เขียน หัวข้อ: เนื้อนาบุญน้อยๆ นาม "สามเณร"  (อ่าน 1586 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ มดเอ๊กซ

  • ทีมงานพัฒนาข้อมูล
  • ต้นสักทองเรืองรองฤทธิ์
  • *
  • กระทู้: 7167
  • พลังกัลยาณมิตร 1518
    • ดูรายละเอียด
เนื้อนาบุญน้อยๆ นาม "สามเณร"
« เมื่อ: พฤษภาคม 25, 2011, 09:51:48 pm »







เช้าวันหนึ่ง สามเณรราหุลกำทรายขึ้นมาหนึ่งกำมือ ตั้งความปรารถนาว่า

   
   
      “วันนี้ ข้าพเจ้าพึงได้รับคำสั่งสอนจากสำนักพระบรมศาสดา สำนักพระอุปัชฌาย์ แลสำนักพระอาจารย์ทั้งหลายให้ได้ประมาณเท่าเม็ดทรายในกำมือของข้าพเจ้านี้”
     
      เวลาผ่านไปกว่าสองพันห้าร้อยปี...
     
      สามเณรกลุ่มใหญ่เดินลงบันไดโบสถ์มาเป็นแถว จัดแจงใส่สมุดและปากกาลงในย่าม ก่อนเดินเข้าห้องเรียนไปด้วยความปรารถนาเดียวกับสามเณรรูปแรกแห่งพุทธศาสนา นั่นคือ ปรารถนาแห่งปัญญาและการพัฒนาตนเอง
     
      เดือนเมษายน แม่น้ำปัวลดระดับลงตามฤดูกาล ยามน้ำเหือดดินแห้งเช่นนี้เป็นที่รู้กันว่า จะปลูกเมล็ดพันธุ์ใดก็ไม่ใคร่งอกงาม  ยกเว้นการปลูก “เมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะ” ลงในจิตใจของเด็กๆ ลูกหลานไทย
     
      เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กชายตัวเล็กๆ ที่มีใจใฝ่เรียนรู้ ได้บวชเรียนในทางธรรมและทางโลก โรงเรียนพระปริยัติธรรมวัดปรางค์ อ.ปัว จ.น่าน จึงได้จัดโครงการบรรพชาสามเณรศาสนทายาท จำนวน 40 รูปขึ้น โดยถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
     
      เนื่องจากเป็นงานบุญใหญ่ประจำปี บรรยากาศในวัดวันนี้จึงเต็มไปด้วยญาติโยมที่ต่างพาบุตรหลานมาบวชเรียนในสำนักพระบรมศาสดากันอย่างคลาคล่ำ แม้อากาศจะร้อนแดดจะแรง แต่ทุกคนก็ตั้งใจเดินทางมาร่วมงานบุญครั้งนี้ด้วยใบหน้าที่ผ่องใส ส่วนบนศาลาริมน้ำ เด็กชายกลุ่มใหญ่ในชุดขาว ศีรษะเกลี้ยงเกลา กำลังซักซ้อมกล่าวคำขอบรรพชาอย่างพร้อมเพรียงกัน พิธีกรรมทางศาสนาในวันนี้มีความสำคัญต่อพวกเขาและพ่อแม่นัก เพราะเป็นการแสดงถึงช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านจากชีวิต “เด็กชาย” คนหนึ่งที่ชอบวิ่งเล่นสนุกสนาน มาเป็น “สามเณร” ผู้รักษาศีลรักษาธรรมและมุ่งปฏิบัติตนตามธรรมวินัย
     
      เณรคำ หรือ สามเณรพรชัย สมบูรณ์ไพรวัลย์ เล่าย้อนให้ฟังถึงวันแรกที่ตัดสินใจเปลี่ยนเครื่องแบบชุดนักเรียนมาห่มผ้าไตรจีวรว่า
     
      “ผมเป็นชนเผ่าลั้วะ บ้านผมอยู่บนดอย พอเรียนจบ ป.6 ก็ตั้งใจจะเรียนต่อทางโลก ตอนนั้นพี่ชายเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย พ่อแม่เลยไม่มีเงินส่งผมเรียน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร พอดีอาจารย์มหายุทธนาท่านไปแนะแนวว่า โรงเรียนพระปริยัติธรรมเรียนฟรีทุกอย่าง ขอแค่มาบวชเณร ผมก็ตัดสินใจวันนั้นเลยว่าจะบวช”
     
      เณรมีความใฝ่ฝันไหม โตขึ้นอยากเป็นอะไร
     
      "อนาคตผมอยากเป็นพระที่เรียนมหา อยากบวชเรียนจนถึงที่สุด จะได้ช่วยเผยแผ่พระศาสนาด้วย"
     
      มูลนิธิเด็ก เป็นหน่วยงานหนึ่งที่เห็นความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษาของสามเณร จึงจัดกิจกรรมการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อนอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้ได้ดำเนินการร่วมกับวัดและโรงเรียนพระปริยัติธรรมจำนวน 17 แห่ง บรรพชาสามเณรจำนวน 963 รูป และบวชศีลจาริณีอีก จำนวน 900 คน นอกจากนั้นยังกิจกรรมการศึกษาสามเณร ซึ่งมีเป้าหมายปฏิรูปการเรียนรู้ของสามเณร พัฒนาสามเณรให้เติบโตขึ้นเป็นศาสนทายาทที่ดีมีคุณภาพ สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น
     
      และเนื่องในวาระเฉลิมอายุ 72 ปี พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตโต) ในปี 2554 มูลนิธิเด็กยังได้จัดโครงการ “นิทานธรรมจากหลวงตา...สู่สามเณรในชนบท” ขึ้น เพื่อเชิญชวนให้ผู้มีจิตกุศลซื้อสมุดบันทึกนิทานประจำปี 2554 โดยมีนิทานธรรมประจำเล่มคือ "เด็กชายนกกับคางคกตัวดำ" เพื่อถวายแด่สามเณร ซึ่งขณะนี้สมุดบันทึกนิทานหลายร้อยเล่มได้เดินทางถึงมือน้อยๆ ของผู้รับเรียบร้อยแล้ว
     
      จากประสบการณ์หลายปีที่ทำงานร่วมกับโรงเรียนพระปริยัติธรรมหลายแห่ง ไกรพ วงศ์อมรอัครพันธ์  เจ้าหน้าที่มูลนิธิเด็ก มองภาพรวมการศึกษาของสามเณรด้วยสายตาของพุทธศาสนิกชนและสายตาของผู้ใหญ่คนหนึ่งในสังคมว่า
     
      “สามเณรในชนบทก็เป็นเด็กและเยาวชนกลุ่มหนึ่งที่ขาดโอกาสทางการศึกษา จึงใช้ประเพณีดั้งเดิมของไทยคือการบวชเรียน มาชดเชยโอกาสที่ไม่ได้รับ มูลนิธิเด็กซึ่งทำงานเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนมาโดยตลอด ได้ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรของโรงเรียนพระปริยัติธรรมทั้งหลาย โดยช่วยเหลือเกื้อกูลสามเณรบนพื้นฐานของการร่วมทำในสิ่งที่เห็นร่วมกัน"
     
      สมาชิกในสังคมทุกคนสามารถให้การสนับสนุนสามเณรได้เช่นกัน โดยเริ่มจากการมีทัศนคติที่ดี มองว่าสามเณรก็คือเด็กและเยาวชนในสังคมที่เข้ามาบวชเพื่อศึกษาวิชาทางโลกและพัฒนาตนเอง รวมถึงศึกษาทางธรรมเพื่อสืบต่อพระพุทธศาสนา สามเณรจึงต้องอาศัยญาติโยมอุปถัมภ์ค้ำจุน แม้สามเณรจะถือศีลไม่เท่าพระสงฆ์ แต่สามเณรก็กำลังแบกรับภารกิจสำคัญคือการสืบต่อพระศาสนา การอุปถัมภ์สามเณรต้องเริ่มจากทัศนคติที่ดีเป็นพื้นฐานก่อน
     
      หากการบวชคือการปลูกเมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะในจิตใจของสามเณรน้อย แรงเกื้อหนุนจุนเจือจากผู้คนร่วมสังคมก็คงไม่ต่างอะไรกับการรดน้ำเมล็ดพันธุ์นั้นให้งอกงาม

   
     
      เพราะทุกคนก็คงมีความหวังไม่ต่างกันว่า วันหนึ่งเนื้อนาบุญรูปน้อยๆ เหล่านี้จะเติบโตเป็นเนื้อนาบุญอันไพศาลแห่งพระศาสนา... สืบไป
     
     
     
     
      http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/hi-life/20110525/392200/เนื้อนาบุญน้อยๆ-นาม-สามเณร.html

" มันเป็นสัจธรรมพื้นฐาน
ความเฉยชา คือ ผู้พิฆาต ความคิดดีนับร้อยพันและแผนการอันวิเศษ
ณ บัดหนึ่ง มีผู้มุ่งมั่นตั้งใจลงมือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมอำนวยชัย

มิว่าสู ทำสิ่งใด หรือ ฝันจะทำอะไร ทำ ณ บัดนี้
ความทรนงองอาจ มีพรสวรรค์ พลังอำนาจ และ มหัศจรรย์แห่งตน "

เกอเธ่...