ประวัติหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ อ.ภาษีเจริญ จ.ธนบุรี
พระนิพนธ์ของ สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ)
สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม กรุงเทพมหานคร
บทความเบื้องต้น
เมื่อการบำเพ็ญกุศลทักษิณานุปทานสัตตมวาร และปัญญาสมวารล่วงแล้ว มีท่านที่เคารพนับถือมาขอร้องให้พิมพ์ประวัติของเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี แจกจ่ายแก่ท่านที่เคารพนับถือและศิษยานุศิษย์เพื่อเป็นอนุสรณ์ต่อไป และบางท่านก็ปรารถนาจะร่วมการกุศลในการพิมพ์นั้นด้วย
เมื่อความต้องการของส่วนมากเป็นเช่นนั้น เห็นว่าจำต้องรวบรวมความเป็นไปตั้งแต่ต้นจนอวสาน จดเหตุการณ์อันเป็นจริงเท่าที่รู้และได้เห็น และต้องวางตนเป็นกลางไม่ให้มีคำยกย่องจนผิดความจริง แม้ความจริงนั้น ๆ ถ้าเขียนไว้อาจเป็นเหตุกระทบกระเทือนแก่ผู้อื่นก็จำต้องงด
ผู้เขียนประวัตินี้ ได้อยู่รับใช้เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนีมาตั้งแต่ครั้งเป็นเด็กวัด เป็นสามเณร และเป็นพระภิกษุ ติดต่อกันมาตลอดกาล แม้ต่างคนอยู่แล้ว ก็ยังติดต่อและทราบเหตุการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมากทราบจากถ้อยคำที่ เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี เล่าให้ฟัง ท่านจะทำกิจการใด ๆ เกี่ยวแก่ส่วนรวม ท่านชอบออกความเห็นให้ฟังเป็นเรื่องของอนาคต เมื่อฟังแล้วบางเรื่องก็หนักใจแทน แต่ครั้นแล้วเหตุการณ์ก็ย่อมเป็นไปตามที่ท่านได้ปรารภไว้เป็นอันรับรองว่าท่านมิได้ฝันเพื่อสร้างวิมานในอากาศ
เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี ผู้มีความสำคัญในประวัตินี้ ศิษยานุศิษย์ท่านที่เคารพนับถือเรียกว่า "หลวงพ่อวัดปากน้ำ" ในที่ลับหลัง ถ้าต่อหน้าก็ชอบใช้คำแทนชื่อท่านว่า "หลวงพ่อ" ไม่มีใครใช้คำว่า เจ้าคุณ หรือ พระเดชพระคุณ มากนัก เป็นทั้งนี้ก็น่าจะเรียกกันมาจนชินปาก ถ้าใครออกชื่อว่า เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนีแล้ว แทบจะไม่มีใครรู้จัก เพราะชื่อนั้นท่านได้รับพระราชทาน เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ นับว่าเป็นเวลาอันสั้น จึงไม่ขึ้นปากขึ้นใจของท่านที่เคารพนับถือ ได้หันเข้าหาความสะดวกออกนามท่านว่า หลวงพ่อ ในที่ต่อหน้า เรียกนอกวัดในที่ลับหลังว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำ เพื่อความสะดวกแก่ผู้อ่าน ต่อไปจะออกนามเจ้าคุณพระมงคลเทพมุนีว่า "หลวงพ่อวัดปากน้ำ" จนจบประวัติ
ประวัติก่อนบวช
เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี (สด) ท่านเกิดวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๒๗ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีวอก ฉศก จุลศักราช ๑๒๔๖ ณ บ้านสองพี่น้อง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี บ้านตำบลนี้อยู่ฝั่งใต้ ตรงกันข้ามกับวัดสองพี่น้อง เป็นบุตรนายเงิน นางสุดใจ มีแก้วน้อย สกุลของท่านทำการค้าขาย มีพี่น้องร่วมมารดาบิดา ๕ คน คือ:-)
๑. นางตา เจริญเรือง
๒. เจ้าคุณพระมงคลเทพมุนี (สด มีแก้วน้อย)
๓. นายใส มีแก้วน้อย
๔. นายผูก มีแก้วน้อย
๕. นายสำรวย มีแก้วน้อย
ญาติพี่น้องของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำแทบทุกคนนั้น คนสุดท้องตายก่อนแล้วเลื่อนมาตามลำดับชั้น คนโตหัวปีตายทีหลังแทบทุกคน เช่นพี่น้องหลวงพ่อวัดปากน้ำคนที่ ๕ ตายก่อนแล้วถึงคนที่ ๔ คนที่ ๓ แล้วตัวหลวงพ่อสด อันดับที่ ๓ นั้นเพิ่งตายก่อนหลวงพ่อสดไม่ถึงเดือน คล้ายกับว่าจะรักษาระเบียบแห่งการตายไว้ มัจจุราชไม่ยอมให้ลักลั่นเป็นการผิดระเบียบ จนบัดนี้เหลือแต่คนที่ ๑
การศึกษาเมื่อเยาว์วัย
เรียนหนังสือวัดกับพระภิกษุน้าชายของท่าน ณ วัดสองพี่น้อง เมื่อพระภิกษุน้าชายลาสิกขาบทแล้ว ได้มาศึกษาอักขรสมัย ณ วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม ในปกครองของพระอาจารย์ทรัพย์ เพราะชาติภูมิของบิดาอยู่ที่บางปลา ปรากฏว่าหลวงพ่อเรียนได้ดีสมสมัย และการศึกษาขั้นสุดท้ายของเด็กวัดในสมัยนั้น ก็คือเขียนอ่านหนังสือขอมได้คล่องแคล่ว อ่านหนังสือพระมาลัยซึ่งเขียนเป็นอักษรขอมเป็นบทเรียนขั้นสุดท้าย อ่านกันไปคนละหลาย ๆ จบ จนกว่าจะออกจากวัด ซึ่งจะเรียกกันสมัยนี้ว่าจบหลักสูตรการศึกษาก็ได้ การศึกษาของหลวงพ่อวัดปากน้ำอยู่ในลักษณะนี้ ท่านมีนิสัยจริงมาแต่เล็ก ๆ คือตั้งใจเรียนจริง ๆ ไม่ยอมอยู่หลังใคร
การอาชีพ
เมื่อเสร็จการศึกษาแล้ว ออกจากวัดช่วยมารดาบิดาประกอบอาชีพเกี่ยวแก่การค้าขาย โดยซื้อข้าวบรรทุกเรือต่อล่องมาขายให้แก่โรงสีในกรุงเทพฯ บ้าง ที่นครชัยศรีบ้าง เมื่อสิ้นบุญบิดาแล้ว ได้รับหน้าที่ประกอบอาชีพสืบต่อมา ท่านเป็นคนรักงานและทำอะไรทำจริง ทั้งขยันขันแข็ง อาชีพการค้าจึงเจริญโดยลำดับ ทั้งวงศ์ญาติก็อุปการะ แทบจะพูดได้ว่าการค้าไม่ต้องลงทุนอะไรมากนัก เพราะว่าตีราคาข้าวเปลือกตกลงราคากันแล้วขนข้าวลงเรือโดยยังไม่ต้องชำระเงินก่อน เมื่อขายข้าวแล้วจึงชำระเงินกันได้ อันเกี่ยวแก่การเชื่อใจกัน ท่านประกอบอาชีพนี้ตลอดมา จนปรากฏในยุคนั้นว่า เป็นผู้มีฐานะดีคนหนึ่ง
ท่านเป็นคนมีนิสสัยชอบก้าวหน้า มุ่งไปสู่ความเจริญ ท่านพบกับญาติหรือคนชอบพอแล้วถามถึงการประกอบอาชีพ ถ้าทราบว่าผู้ใดเจริญขึ้นก็แสดงมุทิตาจิต เมื่อทราบว่าทรงตัวอยู่หรือทรุดลงท่านก็จะพูดว่า หากินอย่างไก่ หาได้ไม่มีเก็บ อย่างนี้ต้องจนตาย ควรหาอุบายใหม่
เมื่ออายุ ๑๙ ปี ระหว่างที่ทำการค้าอยู่นั้น ความคิดอันประกอบด้วยความเบื่อหน่ายเกิดแก่ท่าน เป็นทั้งนี้ก็น่าจะลำบากใจอันเกี่ยวแก่อาชีพ เพราะต้องเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงทำงานเลี้ยงมารดา และรับผิดชอบในกิจการต่าง ๆ โดยเกิดธรรมสังเวชขึ้นในใจว่า การหาเงินเลี้ยงชีพนั้นลำบาก บิดาของเราก็หามาอย่างนี้ ต่างไม่มีเวลาว่างกันทั้งนั้น ถ้าใครไม่รีบหาให้มั่งมีก็เป็นคนชั้นต่ำ ไม่มีใครนับหน้าถือตา เข้าหมู่เพื่อนบ้านก็อับอายไม่เทียมหน้าเขา บุรพชนต้นสกุลก็ทำมาอย่างนี้เหมือนกัน จนถึงบิดาเราและตัวเราในบัดนี้ ก็คงทำอยู่อย่างนี้ ก็บัดนี้บุรพชนทั้งหลายได้ตายไปหมดแล้ว แม้เราก็จักตายเหมือนกัน เราจะมัวแสวงหาทรัพย์อยู่ทำไม ตายแล้วเอาไปไม่ได้ บวชดีกว่า เมื่อได้โอกาสท่านได้จุดธูปเทียนบูชาพระ อธิษฐานว่า "ขอเราอย่าได้ตายเสียก่อนเลย ขอให้ได้บวชเสียก่อน เมื่อบวชแล้วจะไม่ลาสิกขา ขอบวชไปจนตลอดชีวิต" นี้ท่านบอกว่าเริ่มอธิษฐานมาตั้งแต่อายุ ๑๙ ปี
หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ท่านเล่าต่อไปว่า เมื่อตกลงใจบวชไม่สึกแล้ว จิตคิดเป็นห่วงมารดาเกิดขึ้น จึงขะมักเขม้นทำงานสะสมทรัพย์เพื่อให้มารดาเลี้ยงชีพไปจนตลอดชีวิต เมื่อจะเทียบราคาเงินในบัดนี้กับสมัยก่อน ๕๐ ปีที่ล่วงมานั้น ไกลกันมาก เพราะเมื่อก่อน ๕๐ ปี กล้วยน้ำว้า ๑๐๐ หวี เป็นราคา ๕๐ สตางค์ สมัยก่อนใช้อัฐ เรียกว่า ๑๐๐ ละ ๒ สลึง บางคราว ๑๐๐ เครือ ต่อเงิน ๒.๕๐ บาท เพราะเงินจำนวนชั่งที่หลวงพ่อสด วัดปากน้ำหาให้มารดานั้น ก็ย่อมมีราคาสูงสุดในสมัยนั้น และย่อมเป็นน้ำเงินที่อาจเลี้ยงชีวิตจนตายได้จริง ถ้าหากน้ำเงินไม่มีราคาต่ำลงเช่นปัจจุบันนี้ แต่ก็ประหลาดที่มารดาของท่านมีอายุยืนมาจนถึงยุคกล้วยน้ำว้าหวีละบาทกว่า
อุปสมบท
เดือนกรกฎาคม ๒๔๔๙ ต้นเดือน ๘ ท่านได้อุปสมบท เวลานั้นอายุย่างเข้า ๒๒ ปี บวช ณ วัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี มีฉายาว่า จนฺทสโร พระอาจารย์ดี วัดประตูศาล อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌายะ พระครูวินยานุโยค (เหนี่ยง อินฺทโชโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์โหน่ง อินฺทสุวณฺโณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ คู่สวด อยู่วัดเดียวกัน คือวัดสองพี่น้อง อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เมื่ออุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่วัดสองพี่น้อง ๑ พรรษา ปวารณาพรรษาแล้ว เดินทางมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพน กรุงเทพฯ เพื่อเล่าเรียนพระธรรมวินัยต่อไป
การศึกษาของภิกษุสามเณรสมัยนั้น การเรียนบาลีต้องท่องสูตรก่อน เมื่อท่องจบสูตรเบื้องต้นแล้ว จึงเริ่มจับเรียนมูล เริ่มแต่เรียนสนธิขึ้นไป หลวงพ่อวัดปากน้ำเริ่มต้นโดยวิธีนี้แล้ว เรียน นาม สมาส ตัทธิต อาขยาต กิตก์ แล้วเริ่มขึ้นคัมภีร์ จับแต่พระธรรมบทไป ท่านเรียนธรรมบทจบทั้ง ๒ บั้น เมื่อจบ ๒ บั้นแล้วกลับขึ้นต้นใหม่ เรียนมงคลทีปนีและสารสังคหะคามความนิยมของสมัย จนชำนาญและเข้าใจและสอนผู้อื่นได้
เมื่อกำลังเรียนอยู่นั้น ท่านต้องพบกับความลำบากมาก สมัยนั้นเรียนกันตามกุฏิ ต้องเดินไปศึกษากับอาจารย์ตามวัดต่าง ๆ เมื่อฉันเช้าแล้วข้ามฟากไปเรียนที่วัดอรุณราชวราราม กลับมาฉันเพลที่วัด เพลแล้วไปเรียนวัดมหาธาตุ ตอนเย็น ไปเรียนที่วัดสุทัศน์บ้าง วัดสามปลื้มบ้าง กลางคืนเรียนที่วัดพระเชตุพน แต่ไม่ได้ไปติด ๆ กันทุกวัน มีเว้นบ้าง สลับกันไป
สมัยที่ท่านศึกษาอยู่นั้น กำลังนิยมใช้หนังสือขอมที่จารลงในใบลาน และนักเรียนที่ไปขอศึกษากับอาจารย์นั้น บทเรียนไม่เสมอกันต่างคนต่างเรียนตามสมัครใจ กล่าวคือบางองค์เรียนธรรมบทบั้นต้น บางองค์เรียนบั้นปลาย ยิ่งนักเรียนมาก หนังสือที่เอาไปโรงเรียนก็เพิ่มจำนวนขึ้น เช่นนักเรียน ๑๐ คน เรียนหนังสือกันคนละผูก นักเรียนที่ไปเรียนนั้นก็ต้องจัดหนังสือติดตัวไปครบจำนวนนักเรียน เป็นทั้งนี้ก็เพราะนอกจากเรียนตามบทเรียนของตนแล้วเอาหนังสือไปฟังบทเรียนของคนอื่นด้วย ช่วยให้ตนมีความรู้กว้างขวางขึ้น ฉะนั้นปรากฏว่านักเรียนต้องแบกหนังสือไปคนละหลายผูก แบกจนไหล่ลู่ คือว่าหนังสือเต็มบ่า
หลวงพ่อวัดปากน้ำ เป็นนักเรียนประเภทดังกล่าว ท่านพยายามไม่ขาดเรียน แบกหนังสือข้ามฟากลงท่าประตูนกยูงวัดพระเชตุพนไปขึ้นท่าวัดอรุณฯ เข้าศึกษาในสำนักนั้น ท่านเล่าให้ฟังว่าลำบากอยู่หลายปี ความเพียรของท่านจนชาวประตูนกยูงเกิดความเลื่อมใสได้ปวารณาเรื่องภัตตาหาร คืออาราธนาท่านรับบิณฑบาตเป็นประจำและขาดสิ่งใดขอปวารณา ระยะนี้ท่านเริ่มมีความสุขขึ้น เรื่องภัตตาหารมีแม่ค้าขายข้าวแกงคนหนึ่งจัดอาหารเพลถวายเป็นประจำ แม่ค้าคนนี้ชื่อนวม เมื่อหลวงพ่อย้ายมาวัดปากน้ำ แม่ค้าผู้นี้ทุพพลภาพลงเพราะความชราขาดผู้อุปการะ ท่านได้รับตัวมาอยู่วัดปากน้ำได้อุปการะทุกวิถีทาง เมื่อสิ้นชีวิตก็ได้จัดการฌาปนกิจศพให้ หลวงพ่อว่าเป็นมหากุศล เมื่อเราอดอยาก อุบาสิกานวมได้อุปการะเรา ครั้นอุบาสิกานวมยากจน เราได้ช่วยอุปถัมภ์ ที่สุดต่อที่สุดมาพบกันจึงเป็นมหากุศลอันยากที่จะหาได้ง่าย ๆ
ท่านเดินทางไปศึกษาในสำนักต่าง ๆ อยู่หลายปี ครั้นต่อมามีผู้เลื่อมใสในตัวท่านมากขึ้น พวกข้าหลวงในวังกรมหมื่นพิชัยมหินทโรดม ซึ่งชาวบ้านใกล้เคียงเรียกว่า วังพระองค์เพ็ญ เลื่อมใสในท่าน เวลาเพลช่วยกันจัดสำรับคาวหวานมาถวายทุกวัน นับว่าเป็นกำลังส่งเสริมให้สะดวกแก่การศึกษาเป็นอย่างดี เมื่อได้กำลังในด้านส่งเสริมเช่นนี้ หลวงพ่อจึงจัดการตั้งโรงเรียนขึ้นที่วัดพระเชตุพน โดยใช้กุฏิของท่านเป็นโรงเรียน สมัยนั้นโรงเรียนวัดพระเชตุพนมีหลายแห่ง ใครมีความสามารถก็ตั้งได้ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำสมัยนั้น ท่านได้พระมหาปี วสุตตมะ เปรียญ ๕ ประโยคเป็นครูสอน โดยท่านจัดหานิตยภัตถวายเอง มหาปี วสุตตมะ ผู้นี้มาจากวัดมหาธาตุ จังหวัดพระนคร ติดตามพระสมเด็จพุฒาจารย์ (เข้ม ธมฺมสโร) มา เมื่อคราวสมเด็จฯ จากวัดมหาธาตุมาเป็นเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ท่านตั้งโรงเรียนเองและเข้าศึกษาด้วยตนเอง ด้วยเรียนขึ้นธรรมบทใหม่ ท่านว่าฟื้นความจำทบทวนให้ดีขึ้น มีภิกษุสามเณรเข้าศึกษา ๑๐ กว่ารูป
ต่อมาการศึกษาทางบาลีเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยนิยม ทางคณะสงฆ์จัดหลักสูตรการศึกษา เริ่มให้เรียนไวยากรณ์ วัดพระเชตุพนดำเนินตามแนวนั้น และได้รวมการศึกษาเป็นกลุ่มเดียวกัน การศึกษาตามแบบเก่าต้องยุบตัวเองเพื่อให้เข้ายุคไวยากรณ์ โรงเรียนที่กล่าวถึงนี้ก็ระงับไป
หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ได้ตั้งใจศึกษาจนเข้าใจตามหลักสูตรนั้น ๆ แต่ไม่ได้แปลในสนามหลวง แม้การสอบเปลี่ยนจากแปลด้วยปากมาเป็นสอบด้วยการเขียนตอบ ท่านก็ไม่ได้สอบ เพราะการเขียนของท่านไม่ถนัดมากนักและอีกประการหนึ่งท่านไม่ปราถนาด้วย แต่สำหรับผู้อื่นแล้วท่านส่งเสริมและให้กำลังใจ โดยพูดเสมอว่าการศึกษานั้นเปลี่ยนชีวิตผู้ศึกษาให้สูงกว่าพื้นเดิม คนที่มีการศึกษาดีจะได้อะไรก็ดีกว่า ประณีตกว่าผู้อื่น คนมีวิชาเท่ากับได้สมบัติจักรพรรดิ ใช้ไม่หมด