ผู้เขียน หัวข้อ: วิธีแก้ความดื้อรั้นของเด็ก  (อ่าน 2512 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 2 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

ออฟไลน์ lek

  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • ****
  • กระทู้: 1724
  • พลังกัลยาณมิตร 687
    • ดูรายละเอียด
วิธีแก้ความดื้อรั้นของเด็ก
« เมื่อ: มกราคม 29, 2011, 08:57:38 pm »
พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีแก่ลูก
 
 
 
          ในบางขณะเด็กของท่านกำลังสนใจด้วยอะไรๆ อยู่ เอาใจจดจ่อกับสิ่งนั้น
ลืมนึกถึงอะไรทั้งหมด เขากำลังมีสมาธิอยู่กับสิ่งนั้นๆ ท่านต้องการให้
เขาทำอะไรให้ท่านหรือว่าต้องการให้เขามาหาท่านด้วยกิจธุระ
ท่านก็ร้องเรียกเขา...คำหนึ่งก็เฉย เรียกสองคำก็เฉย ท่านคงนึกโกรธ
และพูดว่าลูกอะไรทำหูทวนลมไปได้ เรียกตั้งสองสามคำก็ไม่มา
ถ้าท่านเป็นคนเจ้าโทสะก็คงเฆี่ยนตีลูกของท่าน เด็กจะเจ็บตัวเปล่าๆ
เพราะผู้ใหญ่ทำไม่ถูกโดยแท้
 
          โปรดเข้าใจไว้เถิดว่า ใจของเด็กเป็นสมาธิง่ายกว่าของผู้ใหญ่
ถ้าเขาทำอะไรอยู่เขาก็ไม่คิดถึงเรื่องอื่น กำลังขลุกอยู่กับอะไรของเขา
ใครมาเรียกก็ไม่ได้ยิน อย่าไปโกรธเขา แต่จงโกรธตัวท่านเอง...
ที่ขาดการทำอะไรโดยไม่รอบคอบ จะพูดอะไรกับเด็กต้องดูเสียก่อนว่า
เด็กกำลังทำอะไรอยู่ ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าไปพรากเขาออกจากความสนใจ
ที่เขามีต่อสิ่งนั้นเลย ถ้าจำเป็นจะต้องใช้เขาก็จงเข้าไปหาเขาใกล้ๆ
แล้วดึงความสนใจจากวัตถุมาสู่ตัวท่าน เมื่อได้แล้วก็ขอให้เขาทำอะไรต่อไปได้
เด็กของท่านเขาก็จะไม่น้อยใจเสียใจต่อท่าน เหตุการณ์ก็เรียบร้อยดีขึ้น
 
          เด็กบางคนมักทำอะไรตามใจตัวเอง การกระทำของเขาในรูปนี้
มิใช่เป็นการแกล้งทำ แต่เขายังไม่เข้าใจถึงความผิดถูกของโลก
เขาทำไปตามประสาซื่อของเขา ผู้ใหญ่อาจจะรำคาญต่อพฤติการณ์ของเด็กในรูปนี้
และอาจเกิดอาการไม่ชอบใจเพราะเห็นว่าเด็กคนนี้ซนเสียนี่กระไร
บางทีท่านอาจห้ามเขาด้วยคำว่า "หยุด! อย่า! เงียบ! มานี่! เจ้านี่ซนจริงๆ"
 
          การกระทำในรูปนี้เป็นความผิด เพราะคำพูดแบบนี้ออกจากใจ
ที่เศร้าหมอง คนใจเศร้าหมองหน้าตาก็เศร้าหมอง การกระทำก็หยาบคาย
ตามใจที่เศร้าหมอง เป็นการแสดงภาพเสียให้เด็กของท่านได้พบเห็น
เขาอาจจำแบบนี้ไว้และทำท่าเหมือนกับที่ท่านทำในภายหลังก็ได้
อีกประการหนึ่ง การกระทำเช่นนี้เป็นการยั่วโทสะของเด็ก ไม่มีประโยชน์อะไร
แก่เด็กและแก่ตัวท่าน นอกจากระบายไฟพิษออกมาจากใจของท่านเท่านั้น
โปรดงดเว้นการกระทำในรูปนี้เสียเถิด ถ้าเห็นลูกของท่านทำอะไรไม่ดีไม่ควร
จงพูดกับเขาดีๆ จงเอาความรักออกมาแสดงก่อน แล้วพูดให้เขาเข้าใจ
ปกติของเด็กนั้นมีความใคร่ในทางดีอยู่แล้ว จงส่งเสริมน้ำใจของเขาเถิด
 
          พ่อแม่บางคนชอบใช้คำยกย่องให้เด็กเสียคน เช่น เวลามีแขกมาหาท่านที่บ้าน
เพราะท่านไม่เคยอบรมเด็กของท่านไว้ก่อน หรือเพราะท่านให้เด็กของท่าน
อยู่ใกล้ท่านตลอดเวลา เรื่องของเด็กจะให้นิ่งเป็นหุ่นนั้นเป็นไปไม่ได้
ขณะที่ท่านเพลินกับการสนทนากับแขก เด็กก็เริ่มทำอะไรตามวิสัยของเขา
ท่านอาจพูดให้แขกฟังว่า โอ้...ไม่ไหวหลานคนนี้ซุกซนเต็มทีบ้าง
หรือพูดว่าเจ้าหนูคนนี้เก่งจังเลย คำพูดแบบนี้ทำให้เด็กเกิดอารมณ์โกรธได้
หรือเกิดคิดว่าท่านอยากให้เขาเป็นเช่นนั้นก็ได้มีเสียมากกว่าดี...
ขออย่าได้ทำเป็นอันขาด
 
          มารดาบิดาบางคนชอบฝึกเด็กให้มีนิสัยรับสินบน เช่น ในเวลาเด็กโกรธร้องไห้
ทำอาการกระฟัดกระเฟียดต่างๆ ท่านรำคาญในเสียงร้องของเด็ก ท่านไม่รู้จะทำอย่างไร
ให้เขาหยุดร้องไห้ ก็ติดสินบนให้แก่เด็ก นิ่งเสียเถอะลูก...แม่จะพาไปดูหนังบ้าง
นิ่งเสียเถอะลูก...แม่จะให้กินขนมบ้าง เด็กก็เกิดความพอใจว่าจะได้ไปดูหนัง
พอใจว่าจะได้กินขนมก็หยุดร้องไห้และได้ของที่ต้องใจ หรือบางท่านลืมคำสัญญา
ที่ทำไว้กับเด็ก ผลที่เกิดมีสองทาง ถ้าเขาได้ตามสัญญาเขาก็เกิดนิสัยอยากได้เรื่อยไป
ถ้าไม่ได้ตามสัญญานั้น...เขาก็คงนึกว่าท่านไม่มีสัจจะขาดทุนทั้งสองประการ
จึงใคร่เตือนท่านว่าอย่าได้ให้สินบนกับเด็กเลย...เด็กจะเสียคน เหมือนที่คนไทย
มีนิสัยกินสินบนกันอยู่ในสมัยนี้ อันนี้เป็นเรื่องน่าขายหน้าสำหรับเมืองไทยประการหนึ่ง
 
 
 
          ถ้าหากลูกของท่านเริ่มมีนิสัยมักโกรธ มีอารมณ์ฉุนเฉียวเกิดขึ้นบ่อยๆ
จงหาทางแก้ไขโดยเร็ว เพราะถ้าปล่อยไว้...
ความโกรธจะติดอยู่ในใจลูกของท่านและเอาออกได้ยาก
 
          การที่จะแก้นั้นสำคัญอยู่ที่ตัวอย่างในครอบครัว คือ พ่อแม่ พี่เลี้ยง
และคนอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เด็กให้ทุกคนระมัดระวัง...อย่าได้แสดงอาการโกรธเคืองให้เด็กเห็น
อย่าได้โต้เถียงกันให้เด็กได้ยิน เป็นการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมภายในครอบครัวเสียก่อน
ต่อจากนั้นให้ค้นหาสาเหตุที่ทำให้เด็กเกิดความโกรธให้พบ ซึ่งหวังว่าเป็นเรื่องพอค้นหาได้
เพราะว่ามักมีอยู่ภายในครอบครัวของท่านเองแล้ว จงพยายามเรียนรู้
ถึงความต้องการของเด็กให้มาก เพื่อได้ปฏิบัติให้สอดคล้องกับความปรารถนาของเด็ก
ดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า การขัดใจเด็กบ่อยๆ ทำให้เด็กเป็นคนเจ้าโทสะ
เด็กจะไม่รู้จักโกรธ ถ้าผู้ใหญ่ไม่สอนให้เขาเป็นคนมักโกรธ
นี่เป็นหลักใหญ่ที่พ่อแม่พึงสำเหนียกไว้ก่อน
 
          แต่พึงระวังไว้อีกประการหนึ่ง คือการตามใจเด็กมากเกินไป...
ก็อาจทำให้เสียได้ เพื่อแบ่งให้พอดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ จงปล่อยให้เขามีเสรีในการกิน...
เล่นของเขาบ้าง ปล่อยให้เขาอยู่ตามลำพัง หรือได้ร่วมสนุกสนานกับเพื่อนฝูงของเขาบ้าง
 
          ขณะใดที่เขาได้พักได้เล่นกับเพื่อนฝูงนั้นผู้ใหญ่อย่าเข้าไปยุ่งกับเขาให้มากนัก
เพียงแต่คอยกำหนดอาการของเขาเอาไว้เหมือนคนเฝ้าเครื่องยนต์
เมื่อทำให้เครื่องเดินไปเป็นปกติแล้วไม่ต้องไปยุ่งอะไรอีก เพียงแต่คอยฟังเสียงว่า
มันเดินเป็นปกติดีอยู่ไหม ถ้าเห็นว่าปกติก็ปล่อยตามเรื่อง ต่อเมื่อติดขัด
ก็เข้าไปแก้ไขเสียหน่อย ฉันใด ผู้ใหญ่กับเด็กก็อย่างนั้น ถ้าไม่จำเป็น
อย่าไปยุ่งกับเขาได้เป็นดี แต่ถ้าเขาต้องการให้เข้าไปยุ่งกับเขาเมื่อใด
ต้องเข้าไปยุ่งด้วยอารมณ์เย็น ด้วยความเมตตากรุณาต่อไป ให้เขาเห็นว่าเรา
เป็นผู้คอยให้ความช่วยเหลือเขาเท่านั้น และถ้าเห็นว่าอะไรจะนำความเสียหายมาสู่เด็ก
ก็จงทำหรือพูดให้เขาเข้าใจว่าการกระทำในรูปนั้นๆ เป็นสิ่งไม่เหมาะไม่ควร
พ่อแม่ไม่ชอบใจ เด็กก็พอจะเข้าใจเหตุผล ประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควรได้
 
          จงจำไว้ในใจว่า เด็กจะทำอะไรตามตัวอย่างที่เขาได้พบเห็นเสมอ
ไม่ว่าตัวอย่างนั้นจะดีหรือเสีย ผู้ใหญ่จึงควรให้ตัวอย่างที่ดีๆ แก่เด็กตลอดเวลา
ขณะใดอารมณ์ของท่านไม่ดี ขออย่าได้เข้าใกล้เด็กของท่านเป็นอันขาด
เพราะอารมณ์ไม่ดีอาจทำอะไรที่ไม่เหมาะไม่ควรกับเด็กได้ ความรักความเมตตา
เป็นเครื่องมือสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เด็กของท่านเป็นคนดี โดยรับเอาตัวอย่างที่ดี
จากพ่อแม่ได้ พ่อแม่ควรภูมิใจในการที่ท่านได้มีโอกาสทำคนให้เป็นคนดีอย่างแท้จริง
ฐานะหรือการงานของท่านมิใช่เครื่องกีดกั้นมิให้ท่านได้กระทำความดีในเรื่องนี้
จงหันความสนใจของท่านมาสู่ผู้เป็นทายาทของท่านให้มากสักหน่อย
เขาจะทำให้ท่านมีความสดชื่นเบิกบานในการกระทำอันดีของเขา
 
          ตัวท่านพ่อแม่...เป็นกระจกเงาบานใหญ่ที่ฉายแสงสะท้อน
ให้ลูกของท่านได้มองเห็น จงเช็ดกระจกให้สะอาด
และแสดงภาพที่ดีให้ลูกของท่านได้จดจำไว้เถิด
 
          ประเทศไทยกำลังต้องการคนใจดี ใจงาม เพื่อสร้างชาติประเทศต่อไป
พ่อแม่ทุกท่านมีเกียรติอันนี้ ขอท่านจงรักษาเกียรติภูมิของท่านในฐานะเป็นพ่อแม่ไว้ด้วยดีเถิด....
 
 
 
 
 
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ขอบพระคุณคุณv
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 29, 2011, 09:05:54 pm โดย lek »

ออฟไลน์ weetput180

  • เกล็ดเมล็ด
  • *
  • กระทู้: 1
  • พลังกัลยาณมิตร 1
    • ดูรายละเอียด
    • รับแปลเอกสาร
Re: วิธีแก้ความดื้อรั้นของเด็ก
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มิถุนายน 15, 2011, 03:39:29 pm »
เป็นความรู้ที่ดี

ออฟไลน์ สายลมที่หวังดี

  • ทีมงานกัลยาณมิตร
  • ต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดมั่นคงดั่งภูผา
  • *
  • กระทู้: 840
  • พลังกัลยาณมิตร 319
    • ดูรายละเอียด
Re: วิธีแก้ความดื้อรั้นของเด็ก
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มิถุนายน 16, 2011, 09:57:47 pm »
 :yoyo108: ขอบคุณนะค่ะคุณเล็ก จะจำไปใช้กะหลานๆ ท่าจะดีไม่ใช่น้อย